PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่อะไรนิดอะไรหน่อยก็ร้องไห้ โกรธเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือวิตกกังวลตลอดเวลาหรือเปล่า แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร คุณควรเริ่มทำความเข้าใจว่า ประสบการณ์ทางอารมณ์ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ การมีความรู้สึกถึงอารมณ์อะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่เรื่องที่ “ผิด” แต่อย่างใด [1] คุณไม่จำเป็นต้องกำจัดหรือทำเป็นไม่รู้สึกอะไรเพื่อรับมือกับอารมณ์ [2] การจะเป็นคนที่มีความเข้มแข็งทางอารมณ์ได้นั้นก็เหมือนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย คุณต้องเริ่มจากการฝึกช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ สร้างความอึด และเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

รับมือกับอารมณ์ในขณะนั้น

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่และปรับความสนใจใหม่. ในขณะที่อารมณ์กำลังเดือดปะทุ อารมณ์ที่คุณกำลังรู้สึกก็อาจจะถาโถมเข้าใส่คุณไม่ยั้ง ถ้ามันเป็นอารมณ์ด้านบวกคุณก็จะรู้สึกดีกับตัวเองมากๆ แต่ถ้ามันเป็นความเศร้าหรือความกังวล มันก็อาจจะโจมตีรวดเร็วมากคุณจนคุณควบคุมไม่ได้ หยุดทำในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่สักพักและเอาใจไปไว้ที่ประสาทสัมผัสทั้งห้า วิธีนี้จะช่วยเตือนให้คุณอยู่กับปัจจุบันและช่วยให้คุณควบคุมความกังวลหรือความโกรธได้มากขึ้น [3]
    • ลองหยุดแล้วสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายโดยที่ไม่ต้องตัดสินมัน เช่น ถ้าอยู่ๆ คุณก็รู้สึกกังวลขึ้นมา ให้ลองคิดว่าร่างกายของคุณกำลังรู้สึกอย่างไร “ตัวของฉันร้อนผ่าว หัวใจเต้นเร็วมาก ฉันหายใจไม่ทั่วท้องเลย มือก็สั่นด้วย” ไม่ต้องไปใส่ใจกับความรู้สึกเหล่านี้ แค่เฝ้าดูมันและปล่อยให้มันผ่านไป [4]
    • การเอาใจไปอยู่กับปัจจุบันยังช่วยลด “ปฏิกิริยาอัตโนมัติ” ได้อีกด้วย เพราะสมองสร้างนิสัยการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าซึ่งได้แก่ประสบการณ์ทางอารมณ์ต่างๆ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสิ่งเร้าเช่นความกังวลหรือความโกรธเข้ามา สมองก็จะสั่งการให้รูปแบบปฏิกิริยาเหล่านี้ทำงานทันที การมุ่งความสนใจไปที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าที่คุณกำลังเผชิญอยู่จะทำลายรูปแบบอัตโนมัติที่ว่านี้ออกจากสมอง ถ้าคุณฝึกปรับใจให้มาอยู่กับประสาทสัมผัสทั้งห้าที่กำลังเกิดขึ้นบ่อยๆ เข้า สมองของคุณก็จะเริ่มสร้าง “นิสัย” ใหม่ขึ้นมา [5]
    • “การสังเกตตนเอง” คือการฝึกสำรวจการรับรู้และประสบการณ์ของจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณคลายปมจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวได้ เช่น หลายคนไม่รู้ว่า “การรับรู้” นั้นประกอบด้วยเส้นทางข้อมูลหลายเส้นทาง บ่อยครั้งที่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเราเกิดจากการรวมตัวกันของอารมณ์และประสาทสัมผัสต่างๆ ที่เข้ามาในคราวเดียวกันจนเราแทบแบกรับมันไม่ไหว การทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลงและปรับความสนใจมาอยู่ที่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น คุณกำลังเห็นอะไร ได้ยินอะไร และได้กลิ่นอะไรนั้นจะช่วยให้คุณปรับโครงสร้างนิสัยเก่าในสมองได้ใหม่และเรียนรู้วิธีที่จะทำความเข้าใจกับ “กระแสข้อมูล” ที่แตกต่างกันเหล่านี้ [6]
  2. เมื่อร่างกายของคุณเผชิญกับอารมณ์ที่บีบคั้น ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยา “การตอบสนองต่อความเครียด” ความรู้สึก “สู้หรือหนี” จะเกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทซิมพาเธติกถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนอย่างอะดรีนาลีน อัตราการเต้นของหัวใจคุณจะพุ่งทะยาน คุณจะหายใจเร็วขึ้นและตื้นขึ้น กล้ามเนื้อจะตึงและเกร็ง [7] การหายใจลึกๆ ช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายขึ้นและช่วยให้คุณกลับเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” ได้ [8] [9]
    • หายใจจากช่องท้อง ไม่ใช่จากหน้าอก แล้วคุณจะรู้สึกว่าช่องท้องช่วงล่างของคุณพองขึ้นเวลาที่คุณหายใจเข้า และยุบลงเมื่อคุณหายใจออก [10]
    • วิธีที่ช่วยให้คุณหายใจได้อย่างถูกต้องก็คือ วางมือข้างหนึ่งไว้บนหน้าอก อีกข้างหนึ่งวางไว้บนช่องท้อง ยืนตัวตรง นอนราบ หรือนั่งหลังตรงเพื่อให้หน้าออกเปิดออก ค่อยๆ หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ผ่านรูจมูก รวมสมาธิไว้ที่ปอดและช่องท้องที่กำลังขยายตัวขึ้นขณะที่คุณหายใจเข้า จากนั้นหายใจออกผ่านรูจมูกหรือปาก พยายามหายใจให้ได้ 6-10 ครั้งใน 1 นาที [11]
    • รวมสมาธิไปที่การหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย (และช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคุณออกจากภาวะอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย) [12]
  3. ตอนแรกๆ มันอาจจะรู้สึกฝืนๆ แต่จากการวิจัยพบว่าการยิ้มทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ [13]
    • การยิ้มช่วยคลายความเครียดได้ พยายามยิ้มโดยใช้กล้ามเนื้อใบหน้าทุกส่วนไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ปาก รอยยิ้มที่ใช้กล้ามเนื้อทั้งใบหน้าและสะท้อนไปถึงดวงตาให้ความรู้สึกถึงรอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของคุณรู้สึกถึงพลังด้านบวกได้มากขึ้น [14]
  4. การสร้างภาพประสบการณ์ที่สงบและผ่อนคลายช่วยให้คุณกลับมาควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้อีกครั้ง [15] คุณอาจจะรู้สึกว่าเทคนิคนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนสักหน่อย แต่มันช่วยให้คุณเปลี่ยนความคิดที่เคร่งเครียดไปสู่ความคิดที่คุณสามารถรับมือได้อย่างสบายใจมากขึ้น [16]
    • เริ่มต้นจากการเลือก “ที่ปลอดภัย” คุณจะคิดถึงที่ไหนก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและใจสงบ อาจจะเป็นชายทะเล สปา ยอดดอย หรือที่ไหนก็ได้ที่คุณคิดว่ามันทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย
    • หาสถานที่ที่คุณสามารถฝึกวาดภาพในจินตนาการได้ ถ้าจะให้ดีควรเป็นที่ที่เงียบสงบและสะดวกสบายที่คุณสามารถใช้จินตนาการได้ และควรเป็นที่ที่ไม่มีใครมารบกวนสัก 3-4 นาที
    • หลับตาแล้ววาดภาพตัวเองอยู่ในสถานที่ปลอดภัย จินตนาการว่าสถานที่นั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นที่นั่น กลิ่นรอบข้างเป็นอย่างไร ได้ยินเสียงอะไรบ้าง พยายามแทรกซึมตัวเองเข้าไปในสถานที่ปลอดภัย
    • หายใจช้าๆ และสม่ำเสมอ พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อถ้ามันตึง ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดใจหรือกระวนกระวายก็อย่าไปตัดสินตัวเองที่ตรงนั้น พยายามวาดภาพตัวเองอยู่ในสถานที่ที่ผ่อนคลายและรวบรวมสมาธิไปที่การทำใจให้สบาย
    • จินตนาการว่าอารมณ์ในแง่ลบนั้นเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แรกๆ คุณอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่พยายามฝึกอย่างสม่ำเสมอ จินตนาการว่าอารมณ์ในแง่ลบต่างๆ เป็นเหมือนสิ่งของที่คุณสามารถกำจัดออกไปจากสถานที่ปลอดภัยที่คุณจินตนาการขึ้นมาได้ เช่น คุณอาจจะวาดภาพความโกรธเป็นเหมือนไฟ ไฟลุกโชนไม่ได้ถ้าไม่มีออกซิเจน จินตนาการถึงความโกรธว่าเป็นดั่งไฟและนั่งมองมันมอดดับลง หรือคุณอาจจะจินตนาการความเครียดว่าเป็นเหมือนแท่งไม้ คุณสามารถโยนแท่งไม้ออกไปจากชายทะเลที่ปลอดภัยของคุณได้และจินตนาการว่าความเครียดก็ออกจากใจคุณตามแท่งไม้นั้นไป
  5. เวลาที่คุณเครียด คุณจะรู้สึกว่าตัวเองแทบจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลย แม้ว่าการตัดทุกสิ่งที่ทำให้คุณเครียดออกไปจากชีวิตอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่คุณก็สามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดที่เกิดจากสิ่งเหล่านั้นได้ วิธีที่จะช่วยให้คุณสงบสติอารมณ์ได้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้แก่: [17]
    • หายใจลึกๆ 5 ครั้ง หายใจเข้าทางจมูก กลั้นหายใจในร่างกายสักพักแล้วค่อยหายใจออกทางปาก การจดจ่อไปที่ลมหายใจจะช่วยให้คุณรวบรวมสติขึ้นมาได้และทำให้ใจของคุณสงบขึ้น
    • นับ 1 ถึง 10 เวลามีเรื่องเครียดๆ ให้เวลาตัวเองรวบรวมสติ 10 วินาที ถ้าคุณต้องการเวลาเพิ่ม ให้นับเป็น ‘มหาสารคาม 1 มหาสารคาม 2 มหาสารคาม 3...’ ไปเรื่อยๆ
    • เดินออกมาจากตรงนั้น การทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหนีปัญหา แต่มันช่วยให้คุณได้เดินออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น สูดลมหายใจ และพิจารณาหาวิธีแก้ไข ถ้าคุณกำลังรับมือกับคนที่ทำให้คุณเครียด บอกเขาหรือเธอว่าคุณต้องการเวลารวบรวมความคิดสักหน่อยด้วยการออกไปเดินเล่น
  6. ทำความรู้จักกับกระบวนการทางความคิดที่บิดเบือน. ในบางช่วง คุณอาจจะเผลอกลับไปมีปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบเดิมๆ แม้มันจะไม่ดีกับตัวคุณเองก็ตาม ปฏิกิริยาทางอารมณ์เหล่านี้มักจะรวมตัวกันทำให้คุณถูกอารมณ์ของตัวเองจู่โจมจนรู้สึกรับมือไม่ไหว การทำความรู้จักกับ “กับดัก” ที่คุณมักพลาดตกลงไปจะช่วยให้คุณดึงสติออกจากอารมณ์ได้ดีขึ้น การคิดว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว การคิดแบบเหมารวม และการมองโลกแบบขาวกับดำคือความคิดบิดเบือนที่พบได้บ่อยมาก [18]
  7. ตระหนักรู้และท้าทายความคิดที่ว่า ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว. ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์หรือประสบการณ์บางอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เริ่มจะใหญ่เกินกว่าที่เป็นอยู่ ความคิดของคุณก็จะเริ่มคดเคี้ยวจนเหนือการควบคุม แล้วคุณก็จะวาดภาพถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้คุณรู้สึกโกรธ เศร้า หรือกังวล [19]
    • เช่น ลองนึกภาพว่าคุณโทรศัพท์ไปหาคนรักแล้วเขา/เธอไม่รับสายคุณ 2-3 นาที หลังจากนั้นคุณก็โทรศัพท์ไปอีกแต่ปรากฏว่าเสียงปลายสายก็ยังให้คุณฝากข้อความไว้เหมือนเดิม ที่นี้ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นและทำให้เหตุการณ์ใหญ่เกินจริง: “เขา/เธอไม่รับสายฉัน สงสัยจะโกรธฉันแน่ๆ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันทำอะไรผิด ไม่เห็นเขา/เธอจะบอกฉันเลยว่าฉันทำอะไรผิด เขา/เธอคงไม่อยากคุยกับฉัน บางทีเขา/เธออาจจะเบื่อฉันแล้วก็ได้”
    • ท้าทายความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วด้วยการไม่ปล่อยให้ใจกระโดดจากความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิดหนึ่งจนกว่าคุณจะวิเคราะห์หลักฐานเพื่อมาสนับสนุนการสันนิษฐานของคุณได้ เช่น จากตัวอย่างนี้ การท้าทายความคิดที่บิดเบี้ยวนี้อาจจะเป็น: “แฟนไม่รับโทรศัพท์ฉันเลย แต่เขา/เธอก็ไม่ได้โกรธอะไรฉันมาก่อนนี่นา เพราะฉะนั้นตอนนี้เขา/เธอก็คงไม่ได้โกรธอะไรฉันหรอกมั้ง ถ้าเขา/เธอโกรธ ก็ค่อยถามเขา/เธอทีหลังก็ได้ว่าโกรธเรื่องอะไร แล้วค่อยคุยกันทีหลัง” คุณอาจจะเตือนตัวเองด้วยว่ามีเหตุผลมากมายร้อยแปดที่จะทำให้คนเราไม่ได้รับโทรศัพท์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น: ยุ่งอยู่ ขับรถอยู่ ไม่เห็น/ไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ [20]
  8. การคิดแบบเหมารวมก็คือการที่คุณเหมาคิดไปเองว่า เหตุการณ์นี้จะต้องเป็นแบบนี้ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละสถานการณ์กัน การคิดแบบเหมารวมจะทำให้คุณยึดติดกับความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวคุณ (และไม่ถูกต้องด้วย) [21]
    • เช่น ลองนึกภาพคุณไม่ได้งานหลังจากที่ไปสัมภาษณ์มาแล้ว การคิดแบบเหมารวมที่มีผลต่อมุมมองของคุณในสถานการณ์นี้ก็เช่น “ฉันนี่มันห่วยจริงๆ เลย ตอนสัมภาษณ์ฉันทำทุกอย่างพังไปหมด นี่ฉันต้องไม่มีวันได้งานแน่ๆ”
    • ท้าทายความคิดแบบเหมารวมด้วยการยึดหลักฐานและรายละเอียดตามสถานการณ์เป็นหลัก คุณไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าคุณ “ห่วย” เหตุผลทั่วไปที่ทำให้คุณไม่ได้งานก็เช่น ทักษะที่คุณมีมันอาจจะไม่เข้ากับบริษัท หรือบุคลิกของคุณอาจจะไม่เข้ากับพนักงานคนอื่น คุณอาจจะทำพลาดตอนสัมภาษณ์จริงๆ หรืออาจจะไม่ก็ได้ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ไม่ได้สะท้อนมุมมองความเป็นคุณในทุกๆ ด้าน พยายามมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายสถานการณ์ไป และมุ่งความสนใจไปที่ว่าคุณจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้ในอนาคตได้อย่างไร: “ฉันว่าตอนสัมภาษณ์ฉันยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ฉันประหม่าจริงๆ ครั้งหน้าฉันจะฝึกสัมภาษณ์งานกับเพื่อนก่อนไปสัมภาษณ์งานจริงๆ” [22]
  9. การมองโลกแบบขาวกับดำทำให้คุณไม่สามารถให้ตัวเอง (หรือบางครั้งก็คนอื่นๆ ด้วย) อยู่ตรงกลางได้ ถ้าอะไรๆ มันออกมาไม่สมบูรณ์แบบก็เท่ากับว่ามันล้มเหลว การมองโลกแบบขาวกับดำจะทำให้คุณรับมือกับคำวิจารณ์ได้ยากแม้จะเป็นการติเพื่อก่อ นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณรู้สึกเศร้ากับตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะคุณตั้งมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้และไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง [23]
    • เช่น สมมติว่าคุณกำลังควบคุมอาหาร คุณออกไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนแล้วตบท้ายมื้ออาหารด้วยเค้ก 1 ชิ้น การมองโลกแบบขาวกับดำจะทำให้คุณมองว่านี่คือความล้มเหลว และอาจทำให้คุณวิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรงว่า: “แผนพังหมดก็เพราะฉันกินเค้กนี่แหละ ฉันกะแล้วว่าตัวเองจะต้องทำตามแผนใหม่นี้ไม่ได้ ต่อไปนี้ฉันว่าอยากกินอะไรก็กินไปเลยดีกว่า”
    • ท้าทายการมองโลกแบบขาวกับดำด้วยการรักตัวเองให้มากๆ คุณจะวิจารณ์เพื่อนแรงขนาดนั้นไหมถ้าเพื่อนกินเค้กไปชิ้นนึง ไม่หรอกใช่ไหม แล้วทำไมคุณถึงต้องว่าตัวเองแรงขนาดด้วยล่ะ เลิกมองความสำเร็จในมุมที่ว่า ถ้าไม่ชนะก็แพ้ ที่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผนถึงจะบรรลุเป้าหมายได้ พยายามมองความสำเร็จให้เป็น ระหว่างทาง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่กำลังทำให้เกิดการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง: “ฉันกินเค้กชิ้นนั้นเข้าไป ซึ่งถึงมันจะไม่ได้ช่วยให้ฉันทำตามแผนควบคุมอาหารที่ฉันวางไว้ได้ แต่ มันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เดี๋ยวมื้อเย็นฉันค่อยกลับไปกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้ฉันกลับมาควบคุมอาหารได้เหมือนเดิมก็แล้วกัน” [24]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

รู้จักและรักตัวเอง

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ไม่ใช่การทำให้ตัวเองไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดเลย ที่จริงแล้วความเปราะบางถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้คุณได้พัฒนาความสามารถในการเชื่อมโยงตัวเองกับผู้อื่น ได้รับประสบการณ์อย่างเต็มเปี่ยม และยอมรับตัวเอง [25] ความเปราะบางหมายถึงการเปิดรับประสบการณ์ต่างๆ และการยอมรับว่าทุกสิ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจเราหวังเสมอไป
    • ถ้าไม่มีความเปราะบาง คุณก็อาจจะไม่สามารถเปิดรับประสบการณ์ที่มีรากฐานมาจากความไม่มั่นคงได้ เช่น ความรัก ความเชื่อใจ และความคิดสร้างสรรค์ [26]
    • พยายามอย่าเป็นพวกสมบูรณ์แบบนิยม สมบูรณ์แบบนิยมมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับความทะเยอทะยานที่เสริมแรงหรือความปรารถนาที่จะให้ตัวเองเป็นเลิศ แต่ในความเป็นจริง สมบูรณ์แบบนิยมมักมีรากฐานมาจากการกลัวความเปราะบาง และความปรารถนาที่จะให้ตนเป็นคน “สมบูรณ์แบบ” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้หรือความกลัว สมบูรณ์แบบนิยมยึดคุณไว้กับมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้ และตอกย้ำว่าคุณจะต้องได้รับการยกย่องจากผู้อื่น ความเปราะบางจะทำให้คุณปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าความพ่ายแพ้เกิดขึ้นได้เสมอ [27]
  2. ในการที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ให้กับตัวเองนั้น คุณต้องเข้าใจว่าความคิดของคุณที่มีต่อตัวเองและต่อโลกนั้นเป็นอย่างไร ความคิดเหล่านี้ก่อตัวมาเป็นระยะเวลานานและหล่อหลอมปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคุณ บางครั้งความเชื่อที่เป็นแก่นของชีวิตคุณมันอาจจะตึงเกินไปจนทำให้คุณไม่สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ให้กับตัวเองได้ [28]
    • พยายามมองหาว่าตัวเองมีความเชื่อประเภท เสมอ หรือ ไม่เลย หรือเปล่า สถานการณ์ส่วนใหญ่ของชีวิตจะไม่โอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งแบบสุดขั้ว เพราะฉะนั้นการน้อมนำเอาความเชื่อที่มีพื้นฐานการมองโลกแบบขาวกับดำมาเป็นแก่นของชีวิตอาจจะทำให้คุณไม่สามารถหลุดพ้นไปจากการพยายามไปให้ถึงมาตรฐานที่ไม่มีวันเป็นจริงได้
    • เช่น คุณมีความเชื่อเรื่องความรับผิดชอบอย่างไร คุณคิดว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและพฤติกรรมของคุณหรือไม่ ถ้าใช่ นั่นเป็นความคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง แล้วคุณเชื่อว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและพฤติกรรมของคนอื่นด้วยหรือเปล่า ไม่แปลกเลยที่เราจะเชื่อว่า เราต้องรับผิดชอบต่อการจัดการกับประสบการณ์และพฤติกรรมของทุกคนที่อยู่รอบตัวเราเหมือนที่เรารับผิดชอบตัวเราเอง แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นความคิดที่ผิด [29]
  3. ไตร่ตรองเรื่องที่คุณคิดว่าคุณ “ควร” ทำในชีวิตของคุณ. Clayton Barbeau นักจิตวิทยาพูดถึงวลีที่ว่า "ฉันควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้" ว่าเป็นกระบวนการคิดบิดเบี้ยวที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง ความรู้สึกนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณเปรียบเทียบการกระทำหรือความรู้สึกของตัวเองกับมาตรฐานภายนอก [30] การที่คุณพูดว่าคุณ “ควรจะ” อาจทำให้คุณต้องมานั่งรู้สึกผิดและละอายใจ แทนที่จะมีพลังไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในแบบที่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เผชิญหน้ากับความคิดที่ว่าฉัน “ควรจะ” ให้ไตร่ตรองให้ดีว่า ทำไม คุณถึงรู้สึกว่าคุณ “ควรจะ” ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ [31]
    • เช่น ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะควบคุมอาหารเพราะว่าคุณ “ควร” ลดน้ำหนัก ลองถามตัวเองว่าทำไมคุณถึง “ควร” ทำอย่างนั้น เพราะว่าคุณมีเป้าหมายเรื่องสุขภาพในใจ หมอเคยคุยเรื่องน้ำหนักตัวกับคุณหรือเปล่า คุณ อยากมีรูปร่างแบบที่คุณอยากให้เป็นหรือเปล่า หรือว่าคุณรู้สึกว่าคุณ “ควร” ลดน้ำหนักเพราะคุณรู้สึกได้ถึงความกดดันจากคนอื่นว่าจะมองมาหรือมีปฏิกิริยาต่อคุณอย่างไร
    • สังคมมักสร้างความกดดันให้กับคนในสังคมด้วยคำว่า “ควร” ในหลายๆ เรื่องที่อาจทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องยอมรับมันไปโดยปริยาย: คุณควรจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนในนิตยสารนะ คุณควรใส่เสื้อผ้าไซส์นี้นะ คุณควรมีเซ็กส์บ่อย/ไม่มีเซ็กส์เลย คุณควรจะมีความสุขนะ คุณควรเป็นคนรัก/พ่อแม่/ญาติพี่น้อง/นักเรียน/ลูกจ้าง/นายจ้าง “ที่ดี” นะ การยอมรับความกดดันจากคนอื่นเข้ามาในชีวิตมากกว่าการทำในสิ่งที่เข้ากับค่านิยมของเราเพื่อตัวเราเองอาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยใจได้
  4. บางครั้งคนเราก็จิตใจอ่อนแอเพราะความกลัวเกี่ยวกับตัวเองที่ถาโถมเข้ามาจนอยู่เหนือความคิดอื่นๆ เช่น การมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก การยอมรับ และความสุข ความกลัวเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวล (“คนอื่นจะยอมรับฉันไหม”) และความกดดัน (“ฉันไม่มีค่าพอสำหรับสิ่งใดเลย”) การฝึกรักตัวเองจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ที่จะรักและยอมรับตัวเอง ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ง่ายขึ้นเวลาที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่น [32] นักจิตวิทยากล่าวว่า การรักตัวเองนั้นประกอบด้วย 3 สิ่งคือ: การมีเมตตาต่อตัวเอง การเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเรา และการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน [33]
  5. สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เรามักจะถูกสอนให้มองหาความสมบูรณ์แบบ และความไม่สมบูรณ์แบบคือความล้มเหลว แต่มันจะดีกับตัวเองมากกว่าไหมถ้าคุณมองตัวเอง (และคนอื่น) ว่าเป็น "ผลงานที่กำลังดำเนินการอยู่" งานวิจัยกล่าวว่า สมบูรณ์แบบนิยมคือสิ่งที่รั้งคุณไว้จากความสำเร็จที่แท้จริง [34] [35]
    • ความแข็งแกร่งทางอารมณ์มาจากการที่คุณแผ่ขยายความเข้าใจให้กับตัวคุณเองในแบบที่คุณมีต่อเพื่อน เช่น ถ้าเพื่อนสนิทของคุณทำผิดพลาด คุณก็อาจจะรับรู้ถึงความผิดนั้น แต่คุณก็ยังให้อภัยและรักเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นทำแบบนี้กับตัวคุณบ้าง
  6. สิ่งนี้ตรงข้ามกับการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว คนเรามักจะเชื่อว่ามีแต่เราเท่านั้นที่ประสบพบเจอกับความเจ็บปวดจากความผิดพลาดและประสบการณ์ในชีวิต ราวกับว่าไม่มีใครในโลกนี้เคยผ่านความเจ็บปวดหรือทำผิดพลาดเช่นเดียวกันกับเรามาก่อน การรับรู้ความเป็นมนุษย์ในตัวเราหมายถึงการตระหนักว่า ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานนั้นเป็นประสบการณ์หนึ่งที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน และการตระหนักรู้นี้จะทำให้คุณเผชิญหน้ากับประสบการณ์ในชีวิตได้โดยที่ตัดสินตัวเองน้อยลง [36]
    • เช่น คนเรามักจะพลาดตกหลุมพรางของการว่าร้ายตัวเองที่แยกตัวเราและประสบการณ์ของเราออกจากคนอื่น เช่น "คงไม่มีใครสนใจใยดีพวกขี้แพ้อย่างฉันหรอก" สิ่งที่คุณพูดกับตัวคุณเป็นความคิดเหมารวมที่ไม่ยุติธรรมต่อตัวเองเลย: คุณไม่ใช่ "พวกขี้แพ้" เพียงเพราะคุณล้มเหลวในบางเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการไม่ยอมรับความจริงที่ว่า ทุกคน ต่างก็เคยผิดพลาด ความคิดนี้ทำให้คุณวางมาตรฐานของคุณสูงเกินกว่าของใครๆ ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับตัวเอง (หรือคนอื่นๆ) เลย [37]
    • ลองเปลี่ยนมาพูดกับตัวเองใหม่ว่า "ฉันไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างที่ฉันวางแผนไว้ แต่ใครๆ ก็เคยล้มเหลวกันทั้งนั้น รวมทั้งตัวฉันด้วย"
  7. การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันตรงข้ามกับการหมกมุ่นในตัวเอง แทนที่จะจมอยู่กับวังวนของการปฏิเสธหรือจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เป็นลบ การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะทำให้คุณตระหนักและยอมรับอารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามที่คุณประสบโดยไม่ตัดสินมัน
    • เช่น ถ้าคุณคิดอยู่บ่อยๆ ว่า “ฉันน่าเกลียดจะตาย คงไม่มีใครอยากมาเป็นแฟนกับฉันหรอก” ก็ลองเปลี่ยนมาพูดกับตัวเองใหม่ผ่านมุมมองของการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันว่า: “ฉันกำลังคิดว่าฉันน่าเกลียด นี่เป็นหนึ่งในความคิดจากหลายๆ ความคิดและความรู้สึกที่เข้ามาในหัวฉันในวันนี้”
    • อีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยฝึกการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันคือการทำสมาธิแบบวิปัสสนา การทำสมาธิแบบนี้เป็นการเอาใจจดจ่อไปที่ “การมีสติรู้ตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข” เช่น การตระหนักรู้และยอมรับว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในช่วงขณะจิตนั้น วิธีนี้ช่วยบรรเทาความกังวลและช่วยให้คุณตระหนักได้มากขึ้นว่า คุณเข้าถึงประสบการณ์ของคุณอย่างไร [38]
    • สถาบันวิจัยส่งเสริมการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันของ UCLA ได้จัดทำคลิปแนะแนวการทำสมาธิให้ดาวน์โหลดกันได้ฟรี [39] คลิปจะจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ตามสถานการณ์ เช่น การมีสติรู้อยู่กับร่างกาย การเตรียมตัวนอน เป็นต้น แต่ละคลิปจะมีความยาวอยู่ที่ 3-19 นาที นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อีกมากมายที่แนะแนวทางการนั่งสมาธิแบบฉบับย่อ เช่น Calm
  8. งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การจินตนาการภาพตัวเองในจุดที่ “คุณจะไปได้ไกลที่สุด” ช่วยเพิ่มความรู้สึกที่เป็นบวกและทำให้ใจเป็นสุข [40] สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อหาจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่: การจินตนาการภาพ "อนาคต" ของคุณที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และการคิดว่าคุณสมบัติอะไรที่คุณจะต้องมี (หรือพัฒนา) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น [41]
    • เริ่มจากการจินตนาการถึงช่วงเวลาในอนาคตที่คุณเป็น “คุณ” ในแบบที่คุณอยากเป็น ลองคิดว่าการพัฒนาในด้านไหนที่มี ความหมาย กับคุณ (สิ่งสำคัญก็คือ ภาพที่คุณคิดไว้ต้องเป็นตัวคุณในแบบที่ คุณ อยากเป็น ไม่ใช่คนที่คุณรู้สึกว่าต้องเป็นหรือ “ควรจะ” เป็น)
    • การจินตนาการถึงจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดในแง่บวก วาดภาพทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น คุณอาจจะมองว่ามันเป็นเหมือนการจินตนาการถึงฝันที่เป็นจริง เป็นจุดสำคัญในชีวิต หรือเป็นเป้าหมายใหญ่อื่นๆ สำหรับตัวคุณเอง เช่น ถ้าจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดคือการเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ลองนึกภาพว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างไร คุณจะมีลูกจ้างกี่คน คุณจะเป็นเจ้านายแบบไหน คุณจะทำงานมากน้อยเท่าไหร่ คุณจะขายหรือคิดค้นอะไร
    • จดรายละเอียดทุกอย่างที่คุณจินตนาการออกมา คิดว่าอะไรคือคุณสมบัติที่คุณต้องใช้เมื่อคุณไปถึงจุดที่ไกลที่สุดแล้ว เช่น ถ้าคุณเปิดธุรกิจ คุณก็น่าจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา การสร้างเครือข่าย และความมานะอุตสาหะ
    • นึกถึงคุณสมบัติที่คุณมีอยู่แล้ว คุณอาจจะประหลาดใจในตัวเองก็ได้! จากนั้นลองคิดว่ายังมีคุณสมบัติอะไรที่คุณต้องพัฒนาอีก แล้วนึกว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสร้างทักษะและคุณสมบัติเหล่านั้นได้
    • สิ่งสำคัญก็คือระหว่างที่คิดอย่าตัดสินตัวเอง อย่าตัดสินตัวเองจากสิ่งที่คุณเป็นในตอนนี้! แล้วไปจินตนาการถึงคนที่คุณอยากจะเป็นแทน
  9. อย่าเก็บเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของตัวเอง. คุณไม่สามารถควบคุมความคิดหรือการกระทำของคนอื่นได้ แต่คุณสามารถควบคุมปฏิกิริยาของตัวเองได้ จำไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำนั้นมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณ แต่มันเป็นเรื่องของเขาและเป็นภาพสะท้อนความจริงของตัวเขาเอง [42] การเก็บเรื่องของคนอื่นมาใส่ใจเป็นการอนุญาตให้คนอื่นมีอำนาจเหนือคุณทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ควรได้รับสิทธิ์นั้นเลย [43]
    • “การตำหนิตัวเอง” เป็นกระบวนการคิดบิดเบือนที่พบเห็นได้ทั่วไป การตำหนิตัวเองเกิดขึ้นเมื่อคุณตีความทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่ามีผลพวงมาจากตัวคุณเองโดยตรง กระบวนการคิดแบบนี้อาจทำให้คุณรู้สึกไปเองว่าคนอื่น “ไม่ชอบ” คุณ และนอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณไม่ได้ก่อด้วย [44]
    • เช่น ถ้ามีคนขับรถปาดหน้าคุณ คุณอาจจะเลือกที่จะใส่อารมณ์และโกรธว่าทำไมเขาถึงได้หยาบคายกับคุณขนาดนี้ หรือคุณอาจจะตีความว่ามันเป็นความผิดของคุณที่ “ปล่อยให้” เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ความคิดทั้งสองแบบนี้เป็นความคิดที่มีพื้นฐานมาจากการตำหนิตัวเองซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับตัวคุณ การจะมีปฏิกิริยาที่แข็งแกร่งกว่าเดิมได้นั้นคุณต้องจำไว้ว่า คุณไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมหรือการกระทำของคนขับรถคนนั้นได้ และคุณก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมเขา/เธอถึงทำแบบนั้น บางทีคนขับรถคนนั้นเขาอาจจะเพิ่งผ่านวันแย่ๆ มา หรือบางทีเขาอาจจะเป็นคนไม่แยแสความรู้สึกของคนอื่น แต่ที่แน่ๆ คือคุณไม่ได้เป็น ต้นเหตุ ของพฤติกรรมนี้
    • การไม่ตำหนิตัวเองไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไม่เจ็บปวดเวลาที่คนอื่นพูดถึงคุณ แต่การปฏิเสธที่จะโทษตัวเองจะช่วยให้คุณเอาตัวเองออกห่างจากปฏิกิริยาที่เป็นลบในขณะนั้น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

เสริมสร้างและรักษาลักษณะนิสัยที่ดีต่อตัวคุณ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. แรกๆ มันอาจจะรู้สึกเชยๆ หน่อย แต่การยืนยันตัวเองซ้ำไปซ้ำมาเป็นการฝึกการรักตัวเอง ขณะที่กำลังแปรงฟันหรือเตรียมตัวไปทำงาน ท่องบทสวดหรือคำพูดที่มีความหมายกับคุณและแสดงเมตตาจิตต่อตนเอง [45]
    • เช่น คุณอาจจะพูดว่า “วันนี้ฉันยอมรับตัวเองในแบบที่ฉันเป็น” หรือ “ฉันรักตัวเองอย่างหมดหัวใจ”
    • ถ้าคุณมีจุดอ่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น มีความกังวลหรือมีปัญหาเรื่องรูปร่าง ให้ลองยืนยันตัวเองในเรื่องเหล่านี้ เช่น ถ้าคุณเป็นคนขี้กังวล การยืนยันตัวเองที่มีประโยชน์กับตัวคุณอาจจะเป็น “ฉันจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ในวันนี้ ฉันไม่สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว ฉันไม่สามารถควบคุมการกระทำของคนอื่นได้” ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องรูปร่าง ลองเปลี่ยนไปให้ความสนใจกับเรื่องดีๆ แทน เช่น: “วันนี้ฉันจะเมตตารูปร่างของฉัน เพราะว่าฉันสมควรได้รับความเมตตา” หรือ "วันนี้ฉันดูมีความสุขแล้วก็สุขภาพดีด้วยนะ."
  2. ความมั่นใจคือกุญแจสำคัญของความแข็งแกร่งทางอารมณ์ การมั่นใจว่าคุณเป็นคนที่ไม่เหมือนใครและมีคุณค่าจะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น พอมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น ให้เตือนตัวเองว่าคุณสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม [46]
    • เตือนตัวเองว่าแม้แต่ความยากลำบากที่คุณผ่านมานั้นก็เป็นประสบการณ์ชีวิต คุณสามารถดึงจุดแข็งและความกล้าหาญจากการที่คุณรู้ว่าคุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และคุณก็จะต้องผ่านมันไปได้อีกครั้ง [47]
    • เขียนรายการถึงสิ่งที่คุณชอบเกี่ยวกับตัวเอง อาจจะเป็นทักษะ จุดแข็งส่วนบุคคล ความสำเร็จ...อะไรก็ได้ อย่าตีค่าความสามารถและคุณสมบัติที่ดีในตัวเองคุณต่ำเกินไป ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าคุณชอบอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้างก็ลองให้เพื่อนช่วยคิดก็ได้ ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะมองเห็นความเจ๋งในตัวคุณที่แม้แต่ตัวคุณเองก็ยังไม่รู้ก็ได้ [48]
    • ตั้งเป้าหมาย (ที่สมเหตุสมผล) แล้วพุ่งชน เช่น คุณอาจจะหัดทำอาหารให้เพื่อนกิน ฝึกท่าโยคะท่าใหม่ๆ หรือหัดถ่ายรูปอาร์ตๆ ถ้าคุณชอบออกกำลังกาย ลองซ้อมวิ่งสำหรับการวิ่งแข่ง 5 หรือ 10 กิโลเมตรดู ถ้าบรรลุเป้าหมายแล้วก็ฉลองเลย! เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของคุณ ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยสำหรับคุณแค่ไหนก็ตาม
    • อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นคือหนทางสู่การทำลายล้างความมั่นใจ บนโลกนี้มีแค่คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็น ตัวคุณ ได้ คนเดียวที่คุณจะต้องขออนุมัติก่อนจะทำอะไรก็คือตัวคุณ ตั้งเป้าหมายที่มีความหมายกับคุณ และอย่าไปคิดมากถ้ามันไม่ใช่เป้าหมายเดียวกับคนอื่น [49]
  3. สุขภาพร่างกายมีผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตใจ และสุขภาพจิตใจก็มีผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย [50] การรักษาร่างกายให้แข็งแรงช่วยคลายความเครียดให้คุณได้ นอกจากนี้ยังทำให้คุณรู้สึกสบายอกสบายใจมากขึ้นและทำให้คุณสามารถรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย [51]
    • การออกกำลังกายคือส่วนสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดี เวลาที่คุณออกกำลังกาย ร่างกายของคุณจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินที่ทำให้คุณรู้สึกมีความสุข คราวหน้าเวลาที่ไม่สบายใจ ให้ออกไปเดินเล่น วิ่ง หรือเข้าฟิตเนส เพราะจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายปานกลางอย่างสม่ำเสมอช่วยให้คุณจิตใจสงบและมีความสุขมากขึ้น [52]
  4. คุณสามารถพัฒนาความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ด้วยการเอาใจจดจ่อไปที่อารมณ์ด้านบวกอย่างความเห็นอกเห็นใจหรือการสำนึกบุญคุณ [53] การรักษาทัศนคติที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจหรือการสำนึกในบุญคุณของคนอื่นจะช่วยให้คุณเข้าใจว่า คนอื่นก็ต้องต่อสู้กับความกลัวและความกังวลเช่นเดียวกันกับคุณ ซึ่งจะทำให้คุณมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
    • จากงานวิจัยพบว่า คนที่ฝึกกตัญญูต่อผู้อื่นจะมีความแข็งแกร่งในการรับมือกับความบอบช้ำทางจิตใจได้ดีกว่า [54] นอกจากนี้ ความกตัญญูยังอาจช่วยให้คุณตีความความทุกข์และเรื่องร้ายๆ ในชีวิตว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้หรือการเอาชีวิตรอดที่ทำให้คุณเป็นคุณมาได้จนถึงทุกวันนี้ ความกตัญญูช่วยให้คุณไม่ตัดสินคนอื่น [55]
    • ความกตัญญูนั้นเป็นมากกว่าการ รู้สึก ขอบคุณ บ่อยครั้งที่เราควบคุมไม่ได้ว่าความรู้สึกไหนจะเกิดขึ้น และการพยายามควบคุมความรู้สึกก็เป็นเรื่องที่หนักหนาเกินไปสำหรับพวกเรา แท้จริงแล้ว ความกตัญญูคือการ แสดง ถึงความตระหนักรู้และดื่มด่ำไปกับสิ่งดีๆ [56] การเขียนบันทึกขอบคุณ การสวดบทสวดแห่งความกตัญญูตามความเชื่อทางศาสนาของคุณ และการหยุดเพื่อชื่นชมประสบการณ์ที่สวยงามหรือเรื่องราวดีๆ ก็สามารถช่วยให้คุณฝึกความกตัญญูได้ [57]
  5. การฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและดีกับทั้งสองฝ่ายได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณได้พัฒนาวิธีการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของคุณเองได้อีกด้วย [58]
    • จากการศึกษาพบว่า “การแผ่เมตตา” หรือการทำสมาธิกรรมฐานแบบ “การเจริญความรักความเมตตา” เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น [59] การแผ่เมตตาไม่เพียงแต่เพิ่มความรู้สึกของคุณที่มีต่อผู้อื่น แต่ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย [60] การฝึกแผ่เมตตานั้นทำได้หลายแบบ แม้ว่าวิธีการส่วนใหญ่จะมีรากฐานมาจากศาสนาพุทธ [61]
    • อ่านนิยาย เรื่องแต่งกระตุ้นให้คุณจินตนาการถึงประสบการณ์ทางอารมณ์และสถานการณ์ที่คุณไม่เคยพบเจอมาก่อน จากการศึกษาพบว่า การอ่านนิยายช่วยเพิ่มความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ [62]
    • อย่าด่วนสรุป จากการศึกษาพบว่า เวลาที่เราคิดว่าใคร “สมควรได้รับ” สิ่งที่ไม่ดี นั่นหมายความว่าเราเห็นอกเห็นใจเขาน้อยลง พยายามอย่าตัดสินว่าใคร “สมควรได้รับ” หรือต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตามมาให้ได้ไม่ว่ามันจะทุกข์แค่ไหน ทั้งนี้คุณก็ต้องเลิกบอกว่าตัวเองสมควรได้รับสิ่งที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น [63]
  6. ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นสาเหตุของปัญหาทางอารมณ์ต่างๆ มากมาย การไม่สามารถอยู่กับความไม่เที่ยงได้นั้นจะทำให้คุณกังวล คอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือพึ่งพากำลังใจจากคนอื่นมากเกินไปอยู่ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนคือความจริงของชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คุณสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ด้วยการฝึกยอมรับความไม่แน่นอน [64] [65] [66]
    • “การไม่สามารถทนอยู่กับความไม่แน่นอนได้” สร้างความกังวลใจอย่างใหญ่หลวง ถ้าคุณมีความอดทนต่อความไม่แน่นอนต่ำ คุณจะทำใจยอมรับว่าอาจมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นได้ยากมาก คุณอาจจะถามตัวเองว่า “แล้วถ้า...” หรือประเมินความเสี่ยงและผลที่จะตามมาของสถานการณ์หรือเหตุการณ์เลวร้ายเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก ซึ่งจะทำให้คุณถูกความกังวลกัดกินใจ [67]
    • เขียนบันทึกเวลาที่คุณรู้สึกไม่มั่นคงหรือวิตกกังวลในแต่ละวัน เขียนให้เจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่าอะไรที่กระตุ้นอารมณ์ให้คุณรู้สึกแบบนั้น แล้วคุณรับมือกับมันอย่างไร [68]
    • ให้คะแนนความรู้สึกไม่มั่นคง พยายามให้คะแนนเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจหรือวิตกกังวลตั้งแต่ 0-10 เช่น คุณอาจจะให้ “การไปช้อปปิ้งโดยไม่มีรายการของที่ต้องซื้อ” 2 คะแนน แต่ถ้าเป็น “ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการแทนคนอื่นที่ทำงาน” คุณก็อาจจะให้คะแนนสัก 8 หรือ 9 [69]
    • ฝึกอดทนต่อความไม่แน่นอน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ปลอดภัยก่อน เรียนรู้ที่จะจัดการกับความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่แน่นอนในระดับที่ปลอดภัยและจัดการได้ เช่น ถ้าคุณกินข้าวอยู่ร้านเดียวเพราะกลัวว่าถ้าไปกินร้านอื่นแล้วจะไม่ถูกปาก ให้พยายามเลือกร้านใหม่มาหนึ่งร้านแล้วสั่งอาหารที่คุณไม่เคยกินมาก่อน คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบอาหารจานนั้นก็ได้ แต่นั่นก็เท่ากับว่าคุณได้พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นแล้วว่า คุณสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้และสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ได้แย่อะไร จากนั้นค่อยๆ ฝึกเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในระดับที่ใหญ่ขึ้น [70]
    • บันทึกปฏิกิริยาของตัวเอง เวลาที่คุณลองทำสิ่งที่ไม่แน่นอน จดบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณทำสิ่งนั้น คุณทำอะไร คุณรู้สึกอย่างไรตอนที่คุณทำแบบนั้น แล้วผลที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร ถ้าผลไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ (ซึ่งมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ) คุณมีปฏิกิริยาต่อมันอย่างไร คุณสามารถรับมือกับผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดได้หรือไม่ [71]
  7. การคิดมากเป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่มีต่ออารมณ์หลายประเภทด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความรู้สึกเศร้าหรือโกรธ [72] เวลาที่คุณคิดมาก ใจคุณกำลังหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่ง คุณอาจจะคิดถึงสถานการณ์ ความคิด หรือความรู้สึกซ้ำไปซ้ำมา ไม่ต่างอะไรกับซีดีหักที่เล่นเพลงท่อนเดิม 5 วินาทีตลอดเวลา [73] การคิดมากจะทำให้คุณคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ไม่ออก และอาจจะดึงคุณให้ติดอยู่ในวังวนความคิดลบที่นำไปสู่ความหดหู่และความเครียด [74]
    • สมบูรณ์แบบนิยมทำให้เกิดการคิดมาก เช่นเดียวกับ “การให้ความสำคัญเชิงความสัมพันธ์มากเกินไป” ซึ่งก็คือการที่คุณให้ค่ากับความสัมพันธ์ของคุณมากจนถึงขนาดที่ว่าคุณยอมทำ ทุกอย่าง เพื่อรักษามันไว้ แม้ว่าจะต้องแลกกับอะไรมากมายหรือไม่ดีต่อตัวคุณเองเลยก็ตาม [75]
  8. ส่วนหนึ่งของวังวนการคิดมากคือการติดอยู่กับความคิดลบเดิมๆ แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองคิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ลองท้าทายความคิดลบเหล่านั้นดูสิ! พยายามปรับมุมมองความคิดลบให้กลายเป็นบวก [76]
    • เช่น ถ้าคุณเพิ่งเลิกกับแฟนหรือสามีภรรยา มันก็มีแนวโน้มที่คุณจะให้ความสนใจไปที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันผิดพลาด ซึ่งความคิดเหล่านี้มันก็จะเริ่มเกินจริงขึ้นทุกทีจนถึงจุดที่คุณคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณทั้งหมด คุณอาจจะเริ่มถามตัวเองไปมาว่า “แล้วถ้า...” คุณอาจจะรู้สึกว่าคุณมันห่วย ทำอะไรก็ผิดไปเสียทุกเรื่อง
    • แทนที่จะคิดแบบนั้น ลองเปลี่ยนมาคิดให้มันเป็นบวกเข้าไว้และมองตามความเป็นจริง เช่น: “ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับคนคนนั้นได้จบลงแล้ว ฉันก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นหรอกนะ แต่ฉันก็ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงขึ้นใหม่ได้ ฉันสามารถนำสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากความสัมพันธ์ในครั้งนี้ไปสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับคนรักคนต่อไปได้”
  9. การคิดมากมักเป็นการเอาใจเข้าไปจดจ่อกับคำถามนามธรรมที่ไม่มีใครตอบได้ เช่น “ทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้กับฉันอยู่เรื่อย” หรือ “นี่ฉันเป็นอะไรไปเนี่ย” แทนที่จะจดจ่ออยู่กับความคิดใหญ่ไม่เป็นรูปเป็นร่างที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงด้วยซ้ำ พยายามคิดเจาะจงไปว่า คุณจะสามารถทำอะไรเพื่อจัดการปัญหานี้ได้บ้าง [77]
    • เช่น ถ้าคุณกังวลว่างานที่ทำอยู่มันไปได้ไม่ค่อยดี ให้เจาะจงเขียนรายการสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อจัดการกับปัญหานี้ โทรศัพท์หาเพื่อนหรือใครสักคนที่คุณไว้ใจเพื่อขอความช่วยเหลือถ้าคุณคิดเองไม่ออก
    • เช่นเดียวกับอีกตัวอย่างที่ยกไปว่า บางทีคุณอาจจะคับข้องใจเพราะว่าความสัมพันธ์ของคุณจบแบบซ้ำๆ อยู่เรื่อย ลองคิดอย่างเจาะจงว่าลักษณะนิสัยแบบไหนที่คุณค้นหาในตัวคนรัก คนแบบไหนที่ดึงดูดคุณ เวลาคุณคบกับพวกเขาคุณมีแนวโน้มที่จะทำอะไร พวกเขา มีแนวโน้มที่จะทำอะไร แล้วเรื่องพวกนี้มันมีผลต่อการเลิกราหรือไม่
  10. การรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์อ่อนแออาจยิ่งทำให้คุณแสดงความรู้สึก ความคิด และความต้องการให้คนอื่นรับรู้ได้ยากขึ้น การฝึกการสื่อสารอย่างมั่นใจจะช่วยให้คุณทบทวนว่า คุณได้บอกความจำเป็นและความต้องการให้คนอื่นได้รับรู้อย่างชัดเจนไปแล้ว และอาจจะทำให้คุณมั่นใจในตัวเองมากขึ้น [78]
    • การแสดงออกอย่างมั่นใจไม่เหมือนกับการหยิ่งทะนง การแสดงออกถึงอารมณ์ของตัวเองอย่างมั่นใจไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ตรงกันข้ามคือคุณเคารพอารมณ์และความต้องการของคนอื่น และคุณก็เคารพอารมณ์และความต้องการของตัวเองด้วย การสร้างการสื่อสารที่มีพื้นฐานมาจากความเคารพซึ่งกันและกันและความเปิดเผยจะทำให้คุณเป็นนักสื่อสารที่แข็งแกร่งขึ้น
    • คนที่ทะนงตนมักจะวางจุดแข็งและความมั่นใจบนพื้นฐานของปัจจัยภายนอก เช่น คนอื่นจะคิดอย่างไรกับเขา และสิ่งนี้อาจทำให้คนที่ทะนงตนคำนึงถึงความรู้สึกของตัวเองก่อนความรู้สึกของคนอื่น การแสดงออกอย่างมั่นใจคือการที่คุณรู้ว่าคุณมีคุณค่าในตัวเอง คุณสามารถสื่อสารอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และนอบน้อมเพราะคุณไม่ได้กังวลว่าคนอื่นจะตัดสินคุณอย่างไร [79]
    • ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” วิธีนี้จะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ได้โดยไม่ต้อง “อ่านใจ” หรือทำให้คนอื่นรู้สึกผิด เช่น ถ้าคนรักลืมวันเกิดของคุณ อย่าไปคิดเอาเองว่านี่ต้องแปลว่า เขา/เธอไม่สนใจเราเลยแล้วแสดงออกตามความรู้สึกนั้น ให้ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” เพื่อบอกว่าคุณรู้สึกอย่างไร : “ฉันเสียใจนะที่คุณลืมวันเกิดฉัน ฉันอยากจะคุยกับคุณเรื่องนี้สักหน่อย” แทนที่จะกล่าวโทษและทำให้อีกฝ่ายต้องตั้งรับ คุณต้องแสดงความรู้สึกออกมาและเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายร่วมรับรู้ความรู้สึกของคุณด้วย
  11. ถ้าคุณรอจนกว่าคุณจะ รู้สึก ว่าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านอารมณ์ บอกเลยว่าคุณอาจจะต้องรอนานหน่อย การฝึกพฤติกรรมว่า ฉันเป็นคน... ก็เท่ากับว่าคุณได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว การเรียนรู้ที่จะทนอยู่กับความอึดอัดใจและความไม่แน่นอนด้วยวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ๆ เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณแข็งแกร่งทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น [80]
    • เช่น ถ้าคุณรู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าซึมเพราะว่าคุณมักจะขี้อายและไม่ค่อยเข้าหาคนใหม่ๆ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมดู ในตอนแรกคุณอาจจะไม่ “รู้สึกอยาก” ที่จะเดินเข้าไปหาหรือเริ่มบทสนทนาก่อน แต่พอฝึกไปสักพักคุณก็จะรู้สึกดีขึ้น และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณจะรู้ว่าตัวเองกำลังกลายเป็นคนที่มีอารมณ์แข็งแกร่งและแข็งแรงขึ้นไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว
  12. คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า คนที่จะเข้ารับการบำบัดนั้นมีแต่คนที่มีปัญหา "หนักๆ" จนถึงขั้นที่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเข้ารับการบำบัด ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย นักบำบัดหรือที่ปรึกษาสามารถช่วยให้คุณเรียนรู้ที่จะเข้าใจและกลั่นกรองอารมณ์ของตัวเองได้ พวกเขาช่วยให้คุณเรียนรู้เทคนิคการรับมือและวิธีที่จะทำให้คุณเป็นคนที่แข็งแกร่งและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น [81]
    • วิชาชีพสายสุขภาพนั้นมีหลายประเภท โดยมากมักจะมีแต่จิตแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจิตเวชเท่านั้นที่สามารถจ่ายยาได้ และพวกเขาก็อาจจะมีบริการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์คลินิกที่มีใบประกอบวิชาชีพ นักบำบัดด้านชีวิตคู่และครอบครัวที่มีใบประกอบวิชาชีพ และที่ปรึกษามืออาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถให้บริการด้านการปรึกษาได้ [82]
    • มีบริการหลายที่ที่รับปรึกษาและบำบัด คุยกับแพทย์หรือบริษัทประกันเพื่อหาที่รับบริการใกล้บ้าน
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ข้ามผ่านเหตุการณ์ยากๆ ในชีวิต

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การหลีกหนีอารมณ์ของตัวเองอาจจะช่วยให้คุณโล่งใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเพิกเฉยหรือปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ไข จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เลี่ยงการกลั่นกรองอารมณ์ของตัวเองจะทรุดหนักเร็วกว่าคนไข้ที่ยอมรับและทำความเข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร [83] กลยุทธ์การวิ่งหนีอารมณ์ของตัวเองก็เช่น:
    • ทำให้ตัวเองยุ่งจนไม่มีเวลาคิดถึงปัญหา
    • ทำเหมือนว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
    • เพิกเฉยต่อปัญหาหรือไม่ยอมพูดถึงมัน
    • ใช้สิ่งอื่นมาเบี่ยงเบนอารมณ์ของตัวเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น (เช่น ทีวี แอลกอฮอล์ อาหาร การพนัน)
    • นึกถึงแต่เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้
  2. เรียนรู้ว่า การทำความเข้าใจอารมณ์เกิดขึ้นอย่างไรหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ยากๆ ไปแล้ว. อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ยากๆ หรือฝังใจในชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเริ่มหาจุดที่จะทำความเข้าใจความรู้สึกลึกๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจอารมณ์นั้นมีอยู่ 4 ระยะที่เราทุกคนต้องก้าวผ่านเพื่อที่จะเริ่มฟื้นฟูตัวเอง [84]
    • ‘’ระยะตัดวงจร’’ ขั้นตอนนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต บางครั้งก็เหมือนเป็นความรู้สึก “เฉยชา” หรือ “ช็อก” เมื่อร่างกายของคุณรับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ไหว ระบบก็จะปิดการทำงาน สมองจะสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานจากจุดสูงสุดถึง 50-90% [85] ระบบอื่นๆ ของร่างกายก็อาจจะปิดการทำงานด้วย เพราะฉะนั้นคุณก็จะมีอาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับหรือปวดหัวทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็น และคุณก็อาจจะสังเกตว่าอาการอื่นๆ ทุเลาไป เช่น ข้ออักเสบหรือแม้กระทั่งสิว
    • ‘’ความรู้สึกกลับมา’’ เมื่อความรู้สึกเฉยชาเริ่มหายไป ซึ่งจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ความรู้สึกต่างๆ ก็จะกลับมาอีกครั้ง มันอาจจะค่อยๆ กลับมาหรืออาจจะโจมตีคุณจากทั่วสารทิศในคราวเดียว ในระยะนี้สภาวะอารมณ์ต่างๆ ของคุณอาจจะแปรปรวนมาก ความรู้สึกของคุณอาจจะเปลี่ยนแปลงไปทุกวันหรือแม้กระทั่งทุกช่วงเวลา
    • ‘’ทำสิ่งใหม่เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น’’ ระยะนี้เชื่อมโยงกับระยะที่ 2 อย่างชัดเจน 2 ระยะนี้เติมเต็มกันและกัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่เผชิญกับ 2 ระยะนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน พอคุณเริ่มเข้าถึงความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ให้ทำสิ่งใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูตัวคุณให้รู้สึกถึงอำนาจและความหมาย เช่น ถ้าคุณเคยมีความสัมพันธ์ที่คุณถูกทำร้ายจิตใจตลอดเวลา คุณก็อาจจะอยากไปเป็นอาสาสมัครสถานสงเคราะห์สตรีใกล้บ้าน การลงมือทำสิ่งใหม่ที่มีความหมายต่อคุณจะช่วยต้านทานความรู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอกหรือการสูญเสียการควบคุมที่มักซ่อนอยู่ในความเปราะบางทางอารมณ์
    • ‘’กลับคืนสู่วิถีชีวิต’’ ระยะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าจะผ่านทั้ง 3 ระยะในข้างต้นมาแล้ว ในระยะนี้ คุณจะเข้าถึงอารมณ์และค่านิยมของตัวเองมากขึ้น คุณเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของ “ค่านิยมที่สอดคล้องกัน” ซึ่งก็คือการที่คุณใช้ชีวิตตามความเชื่อหลักของคุณ (เช่น ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความกล้าแสดงออก)
  3. การที่คุณแสดงความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้นั้นคุณจะต้องทำความเข้าใจกับมันด้วย แต่การทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองนั้นแตกต่างจากการแค่บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง บางครั้งคนเราก็พูดถึงประสบการณ์ที่ทุกข์ทรมานหรือเลวร้ายในชีวิตที่ประสบมาแบบไม่ปะติดปะต่อ ราวกับว่าเรื่องที่กำลังพูดถึงนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และการแสดงออกทางอารมณ์แบบไม่ปะติดปะต่อนี้เองที่ทำให้คุณไม่สามารถทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง [86]
    • เทคนิคการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้คุณอยู่กับปัจจุบัน ณ ขณะที่คุณกำลังเล่าถึงเหตุการณ์ทุกข์ทรมานหรือเรื่องเลวร้ายในชีวิต การใช้เทคนิคการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์เพื่อที่ใจคุณจะได้ไม่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ มันจะช่วยไม่ให้คุณคิดมากหรือ "หมกมุ่น" กับความรู้สึกหรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยลดความกังวลและอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้คุณทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองได้ง่ายขึ้น [87] ย้อนกลับไปดูวิธี 1 เพื่อฝึกฝนเทคนิคมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน
    • การรักษาความเครียดหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตก็เช่น พยายามให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายในแบบที่ควบคุมได้เพื่อช่วยให้พวกเขาได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้น [88]
    • แม้ว่าบางคนแค่ได้คุยกับเพื่อนๆ หรือครอบครัวก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับบางคนการขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบอาชีพด้านการดูแลสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย! ที่ปรึกษาและนักบำบัดคอยให้ความช่วยเหลือและยอมรับคุณอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณสามารถซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองได้อย่างแท้จริง
  4. การแสดงออกถึงตัวตนไม่ว่าจะผ่านทางศิลปะ ดนตรี การเต้น การเขียน หรือการพูดคุยกับคนอื่นๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อการเยียวยาหัวใจหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น การที่เราพยายามเข้าถึงอารมณ์ของตัวเองมากกว่าหนึ่งช่องทางจะกระตุ้นให้เราได้สำรวจและเข้าใจมันมากขึ้น [89]
    • จดจ่อไปที่กิจกรรมที่คุณรู้สึกปลอดภัยและปลอบประโลมใจคุณ การสำรวจอารมณ์ด้านลบในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นบวกจะช่วยให้คุณทำความเข้าใจกับอารมณ์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้นและช่วยฟื้นฟูอารมณ์ของคุณเอง [90]
    • ถ้าคุณอึดอัดหรือไม่แน่ใจว่าจะแสดงอารมณ์ของตัวเองผ่านวิธีการเหล่านี้ได้อย่างไร อย่างน้อยขั้นแรกคุณควรไปปรึกษานักบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยศิลปะเพื่อการสื่อสาร มีที่ปรึกษาและนักบำบัดมืออาชีพหลายคนที่ได้รับการฝึกอบรมในด้านนี้ [91]
  5. สร้างเครือข่ายให้กำลังใจและใช้มันให้เป็นประโยชน์. การต่อสู้กับจิตใจที่บอบช้ำหรือความเครียดตัวคนเดียวอาจหนักหนาเกินไปสำหรับคุณ งานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าพิสูจน์แล้วว่า แรงสนับสนุนจากสังคมและส่วนตัวสามารถช่วยฟื้นฟูคนที่เผชิญกับปัญหาทางอารมณ์ได้ [92] การได้พูดคุยกับเพื่อนสนิทและครอบครัว นักบำบัดหรือที่ปรึกษามืออาชีพ คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน และ/หรือกลุ่มให้กำลังใจล้วนเป็นวิธีที่ดีที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากผู้อื่น
    • หาแรงสนับสนุนจากคนที่ยอมรับคุณในแบบที่คุณเป็น เพราะถ้าคุณมีบาดแผลทางอารมณ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำก็คือการเปิดใจและเปลือยความเปราะบางของคุณให้คนที่เขาตัดสินคุณเห็น แบ่งปันความรู้สึกกับคนที่คุณไว้ใจ คนที่เขารักคุณและสนับสนุนคุณอย่างไม่มีเงื่อนไข
  6. เวลาที่คุณนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ให้มองว่ามันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้และเป็นที่มาของความแข็งแกร่งแทนที่จะเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อน แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ยากลำบากและกดดันก็ยังสอนให้คุณได้พัฒนาความยืดหยุ่นทางอารมณ์และตอบโต้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต [93] คำถามต่อไปนี้คือคำถามที่คุณควรถามตัวเอง: [94]
    • ประสบการณ์หรือเหตุการณ์แบบไหนที่มันสร้างความเครียดให้ฉันมากที่สุด
    • ปฏิกิริยาของฉันที่มีต่อประสบการณ์เหล่านี้เป็นอย่างไร
    • ประสบการณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อฉันในแง่ไหน
    • ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองและฉันมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไรหลังจากประสบเหตุการณ์นี้
    • การได้ช่วยให้คนอื่นทำความเข้าใจกับประสบการณ์แบบเดียวกันจะมีประโยชน์ต่อฉันไหม
    • ฉันเอาชนะอุปสรรคที่ผ่านมาได้อย่างไร
    • ฉันจะเอาวิธีที่ฉันเอาชนะอุปสรรคในครั้งนั้นมาปรับใช้กับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร
    โฆษณา


  1. http://www.apa.org/topics/anger/control.aspx
  2. http://healthland.time.com/2012/10/08/6-breathing-exercises-to-relax-in-10-minutes-or-less/
  3. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  4. http://www.scientificamerican.com/article/smile-it-could-make-you-happier/
  5. http://www.theatlantic.com/health/archive/2012/07/study-forcing-a-smile-genuinely-decreases-stress/260513/
  6. http://www.apa.org/topics/anger/control.aspx
  7. http://www.calmclinic.com/anxiety/treatment/visualization
  8. http://www.heart.org/HEARTORG/GettingHealthy/StressManagement/FourWaystoDealWithStress/Four-Ways-to-Deal-with-Stress_UCM_307996_Article.jsp
  9. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  10. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  11. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  12. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  13. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  14. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  15. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  16. https://www.ted.com/talks/brene_brown_on_vulnerability/transcript?language=en
  17. http://www.forbes.com/sites/danschawbel/2013/04/21/brene-brown-how-vulnerability-can-make-our-lives-better/
  18. http://www.forbes.com/sites/danschawbel/2013/04/21/brene-brown-how-vulnerability-can-make-our-lives-better/
  19. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  20. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  21. https://www.psychologytoday.com/blog/inviting-monkey-tea/201304/stop-shoulding-yourself-death-0
  22. https://www.psychologytoday.com/blog/inviting-monkey-tea/201304/stop-shoulding-yourself-death-0
  23. http://www.willmeekphd.com/developing-self-compassion/
  24. http://self-compassion.org/what-is-self-compassion/the-three-elements-of-self-compassion.html
  25. http://www.psychologicalscience.org/index.php/publications/observer/2012/march-12/the-price-of-perfectionism.html
  26. https://www.psychologytoday.com/blog/shift-mind/201105/the-problem-perfection
  27. http://self-compassion.org/the-three-elements-of-self-compassion-2/#3elements
  28. http://self-compassion.org/exercise-5-changing-critical-self-talk/
  29. https://www.psychologytoday.com/blog/the-courage-be-present/201001/how-practice-mindfulness-meditation
  30. http://marc.ucla.edu/body.cfm?id=22
  31. http://mina.education.ucsb.edu/janeconoley/ed197/documents/sheldonincreaseandsustainpositiveemotion.pdf
  32. https://www.psychologytoday.com/blog/what-matters-most/201303/what-is-your-best-possible-self
  33. http://blogs.psychcentral.com/leveraging-adversity/2014/10/want-to-be-mentally-tough-stop-doing-these-five-things/
  34. https://www.psychologytoday.com/blog/in-flux/201408/how-stop-taking-things-personally
  35. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  36. http://www.huffingtonpost.com/sahaj-kohli/a-guide-to-building-emotional-strength_b_5586433.html
  37. http://www.helpguide.org/mental/mental_emotional_health.htm
  38. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_a_challenging_past_can_lead_to_a_happier_present
  39. https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201205/building-confidence-and-self-esteem
  40. http://www.forbes.com/sites/womensmedia/2014/10/07/how-you-can-build-your-confidence-and-keep-it/
  41. http://www.takingcharge.csh.umn.edu/enhance-your-wellbeing/health/thoughts-emotions/how-do-thoughts-emotions-impact-health
  42. http://www.mayoclinic.org/healthy-living/stress-management/in-depth/exercise-and-stress/art-20044469
  43. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20479481
  44. http://www.huffingtonpost.com/sahaj-kohli/a-guide-to-building-emotional-strength_b_5586433.html
  45. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/can_giving_thanks_help_heal_from_trauma
  46. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_gratitude_can_help_you_through_hard_times
  47. http://greatergood.berkeley.edu/topic/gratitude/definition#how_to_cultivate
  48. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/ten_ways_to_become_more_grateful1/
  49. http://greatergood.berkeley.edu/topic/empathy/definition#how_to_cultivate
  50. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18365029
  51. http://news.harvard.edu/gazette/story/2012/11/meditations-positive-residual-effects/
  52. http://www.contemplativemind.org/practices/tree/loving-kindness
  53. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/chaning_our_minds
  54. http://greatergood.berkeley.edu/article/research_digest/do_our_brains_think_some_people_deserve_to_suffer/
  55. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  56. http://www-psychology.concordia.ca/fac/dugas/downloads/en/Intolerance_of_uncertainty.pdf
  57. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  58. http://www-psychology.concordia.ca/fac/dugas/downloads/en/Intolerance_of_uncertainty.pdf
  59. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  60. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  61. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  62. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  63. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  64. http://psychcentral.com/blog/archives/2011/01/20/why-ruminating-is-unhealthy-and-how-to-stop/
  65. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  66. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  67. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  68. http://psychcentral.com/blog/archives/2011/01/20/why-ruminating-is-unhealthy-and-how-to-stop/
  69. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  70. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  71. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  72. http://psychcentral.com/lib/9-myths-and-facts-about-therapy/0009331
  73. http://www2.nami.org/Content/ContentGroups/Helpline1/Mental_Health_Professionals_Who_They_Are_and_How_to_Find_One.htm
  74. http://www.simplypsychology.org/emotion-focused-coping.html
  75. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  76. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  77. https://drkathleenyoung.wordpress.com/2011/06/09/talking-vs-processing-in-trauma-therapy/
  78. https://www.psychologytoday.com/blog/the-art-now/201404/using-mindfulness-trauma-survivors
  79. http://www.ptsd.va.gov/professional/treatment/overview/mindful-PTSD.asp
  80. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  81. https://www.psychologytoday.com/blog/arts-and-health/201203/trauma-informed-expressive-arts-therapy
  82. http://www.trauma-informedpractice.com/
  83. https://www.uic.edu/classes/psych/psych270/PTSD.htm
  84. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_a_challenging_past_can_lead_to_a_happier_present
  85. http://www.apa.org/helpcenter/road-resilience.aspx

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,996 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา