PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

เมื่อนั่งทบทวนบทเรียน เราจะนำข้อมูลมากมายมหาศาลจากหนังสือและสิ่งที่จดไว้มาเก็บในสมองได้อย่างไร เราต้องฝึกตนเองให้มีพฤติกรรมที่ดีในการทบทวนบทเรียนก่อน โดยเริ่มต้นจากพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนของตนเองอย่างจริงจังจนกระทั่งกลายเป็นนิสัย แล้วในที่สุดเราก็จะสามารถทบทวนบทเรียนได้ง่ายขึ้น

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

เตรียมตัวทบทวนบทเรียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. จัดเวลา . เขียน ตารางประจำสัปดาห์ และหาเวลาทบทวนบทเรียนวันละหนึ่งชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้ผลการเรียนของเราดีขึ้นได้ ระยะเวลาการทบทวนก็จะขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเรียนระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัยและวิชาที่จะทบทวน เราต้องทำตามตารางเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็อย่ากลัวที่จะออกนอกแผนไปบ้าง เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนบทเรียนมากขึ้น และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึง แผนทบทวนบทเรียนต้องทำได้จริงและเป็นไปได้ อย่าลืมจัดเวลาให้กับทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่การกิน การแต่งตัว การเดินทาง ไปจนถึงการเข้าห้องทดลอง และการเข้าเรียนวิชาต่างๆ [1]
    • เราต้องจัดเวลาให้การเรียน การทำงาน และการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรสมดุลกัน ถ้ากำลังประสบปัญหาด้านการเรียน เราอาจต้องยกเลิกการทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนหรือกิจกรรมนอกหลักสูตรไปก่อน จนกว่าผลการเรียนของเราจะดีขึ้น เราจะต้องจัดเวลาตามลำดับความสำคัญ พึงระลึกไว้ว่าการศึกษานั้นสำคัญที่สุดเพราะเป็นรากฐานแห่งอนาคต [2]
    • ถ้ากำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็ควรจัดเวลาทบทวนบทเรียนโดยดูจากความยากง่ายและจำนวนหน่วยกิตของวิชานั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเรียนวิชาฟิสิกส์ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และเห็นว่าเป็นวิชาที่ยากมากทีเดียว เราอาจต้องจัดเวลาทบทวนวิชานี้ 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จำนวนชั่วโมงเรียน 3 ชั่วโมง x 3 ซึ่งแทนระดับความยากมาก) ถ้าเราเรียนวิชาวรรณกรรม 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และเห็นว่าเป็นวิชาที่ยากเล็กน้อย เราอาจต้องจัดเวลาทบทวนวิชานี้ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จำนวนชั่วโมงเรียน 3 ชั่วโมง x 2 ซึ่งแทนระดับความยากปานกลาง)
  2. ดูสิว่าเราทบทวนบทเรียนได้เร็วระดับไหนและปรับระยะเวลาให้เหมาะสม ถ้าเราถนัดหรือเข้าใจบางบทหรือบางวิชาดีอยู่แล้ว เราก็จะทบทวนวิชาเหล่านั้นได้เร็วขึ้น บางวิชาอาจใช้เวลาทบทวนนานเป็นสองเท่า ใช้เวลาเท่าที่จำเป็นและทบทวนบทเรียนตามความเร็วที่เหมาะสมกับเรา
    • การเรียนแบบพักทุก 20 นาทีจะช่วยให้เราจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
    • ถ้าเราไม่ถนัดหรือเข้าใจบทเรียนใดบทเรียนหนึ่งหรือบางวิชา เราจะต้องใช้เวลาในการทบทวนบทเรียนวิชานั้นมากขึ้น
  3. เราต้องจัดเวลา นอนให้เพียงพอด้วย นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม ทุกคืนและเราจะทบทวนบทเรียนได้ดี การพักผ่อนให้เพียงพอนั้นสำคัญมากในตอนที่เราเตรียมตัวสอบ และสำคัญอย่างยิ่งก่อนที่จะเข้าสอบในวันรุ่งขึ้น ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับเป็นผลดีต่อการสอบเพราะช่วยให้มีความจำดีขึ้นและมีสมาธิมากขึ้น การนั่งทบทวนบทเรียนตลอดคืนอาจฟังดูเข้าท่าแต่อย่าคร่ำเคร่งเกินไป ถ้าเราหมั่นทบทวนบทเรียนทุกสัปดาห์ เราไม่จำเป็นต้องคร่ำเคร่งก่อนสอบมากนัก การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้เราทำข้อสอบได้ดีด้วย [3]
    • ถ้าสุดท้ายแล้วเราเผลอคร่ำเคร่งกับการทบทวนบทเรียนมากจนนอนไม่เต็มอิ่ม งีบหลับสักนิด ก่อนทบทวนบทเรียน นอนสักประมาณ 15-30 นาที หลังจากตื่นก็ให้ออกกำลังกาย (อย่างที่เราชอบทำช่วงพัก) ก่อนเริ่มทบทวนบทเรียน
  4. ทำจิตใจให้ว่าง ไม่คิดอะไรก็ตามที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่กำลังทบทวน. ถ้าเรามีเรื่องต้องคิดมากมายในหัว ให้ใช้เวลาสักครู่เขียนความคิดและความรู้สึกออกมาก่อนที่จะเริ่มทบทวนบทเรียน วิธีนี้จะช่วยทำให้จิตใจของเราว่างและนึกถึงแต่การทบทวนบทเรียนเท่านั้น
  5. สิ่งหนึ่งที่รบกวนการทบทวนบทเรียนมากที่สุดคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีสื่อสังคม ถ้าเปิดทิ้งไว้ ก็มักจะมีเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มาหาเรา เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ใช้เข้าอินเทอร์เน็ตได้ ฉะนั้นให้ปิดเสียงมือถือหรือเก็บใส่ไว้ในกระเป๋า จะได้ไม่มีเสียงรับสายหรือเสียงข้อความดังรบกวนเรา อย่าเปิดคอมพิวเตอร์หรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถ้าทำได้
    • ถ้ากลัวจะยับยั้งชั่งใจตนเองไม่ได้ รู้สึกอยากเข้าไปดูเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์อื่นๆ ตลอดเวลา ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีเพื่อช่วยปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ามารบกวนในคอมพิวเตอร์ เมื่อทบทวนบทเรียนเรียบร้อย ค่อยปลดการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อจะได้เข้าสะดวกเหมือนเคย [4]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

ปรับสถานที่ให้เหมาะสมกับการทบทวนบทเรียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เราต้องเป็นคนเลือกสถานที่ทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง เราควรรู้สึกสบายใจ ถึงจะทบทวนบทเรียนได้สนุกขึ้น ถ้าไม่ชอบนั่งทบทวนในห้องสมุด ก็ให้เลือกสถานที่ซึ่งเราชอบ เช่น โซฟา หรือเก้าอี้เม็ดโฟม พยายามใส่เสื้อผ้าที่สบายตัวอย่างเสื้อสเว็ตเชิ้ตที่อบอุ่นสบายหรือกางเกงโยคะ [5] สถานที่ซึ่งจะใช้ทบทวนบทเรียนควรปลอดสิ่งรบกวนและค่อนข้างเงียบ [6]
    • อย่าเลือกสถานที่ซึ่งสะดวกสบายมากเกินไป เพราะเราอาจเผลอหลับได้ เราต้องการความสะดวกสบายก็จริง แต่ไม่ใช่มากจนทำให้อยากหลับ ฉะนั้นเมื่อเราเหนื่อย อย่าเลือกเตียงนอนเป็นที่ทบทวนบทเรียน
    • เสียงการจราจรนอกหน้าต่างและเสียงพูดคุยกันเบาๆ ในห้องสมุดไม่ใช่เสียงที่รบกวนเรา แต่พี่น้องที่เข้ามาขัดจังหวะและเสียงเพลงที่ดังกระหึ่มข้างห้องนั้นจะรบกวนการทบทวนบทเรียนของเรา เราอาจต้องเลือกสถานที่ซึ่งไม่มีใครมารบกวนเราได้
  2. บางคนชอบทบทวนบทเรียนอย่างเงียบๆ บางคนชองฟังเพลงระหว่างนั้นไปด้วย เพลงอาจมีประโยชน์ต่อการทบทวนบทเรียนของเรา ช่วยให้จิตใจเราสงบ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าชอบฟังเพลงไปด้วย ให้เลือกเพลงบรรเลง เพลงที่ไม่มีคนร้อง เช่น เพลงคลาสสิก เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงแนวแทรนซ์ หรือดนตรีบาโรก [7]
    • ถ้าเห็นว่าไม่รบกวนการทบทวนบทเรียน อาจฟังเพลงของนักร้องที่เราชื่นชอบก็ได้ แต่ถ้าเสียงเพลงเป็นสิ่งที่รบกวนเรา ก็อย่าเปิดเพลงระหว่างที่ทบทวนบทเรียน บางคนอาจฟังเพลงร็อกระหว่างนั้น แต่ถ้าฟังเพลงป๊อบอาจไม่มีสมาธิ ลองดูสิว่าเราเหมาะที่จะทบทวนบทเรียนแบบไหน ต้องเปิดเพลงไปด้วยหรือไม่ แล้วเพลงแบบไหนช่วยให้เราทบทวนบทเรียนได้ดี
    • เปิดเพลงเบาพอสมควร เพลงที่ดังเกินไปจะรบกวนสมาธิเรา แต่เพลงเบาๆ ช่วยเราในการทบทวนบทเรียนได้
    • ปิดวิทยุ โฆษณาและเสียงดีเจอาจทำให้เราเสียสมาธิในการทบทวนบทเรียน [8]
  3. เสียงธรรมชาติช่วยให้เรา "มีสมาธิ" และจดจ่อกับการทบทวนบทเรียนโดยไม่ถูกรบกวน เสียงธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำตก เสียงฝน เสียงฟ้าร้อง และเสียงภายในป่านั้นดังสม่ำเสมอพอที่จะทำให้เราจดจ่อกับการทบทวนบทเรียนและไม่สนใจเสียงอื่นๆ เราสามารถหาเสียงพวกนี้ฟังได้จากเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต เช่น ยูทูบ [9]
  4. การเปิดทีวีระหว่างที่ทบทวนบทเรียนไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะเราจะมีโอกาสไขว้เขวได้มากและผลคืออาจทำให้เราเลือกที่จะดูทีวีหรือภาพยนตร์แทนการอ่านหนังสือ นอกจากนี้เสียงต่างๆ จากทีวีจะทำให้เราเสียสมาธิ เพราะเสียงพวกนี้มีผลต่อศูนย์ภาษาของสมองเรา [10]
  5. ถ้าเกิดหิวระหว่างที่ทบทวนบทเรียน ให้กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพ กินอาหารที่ให้พลังงานอย่างผลไม้ หรืออาหารที่ทำให้รู้สึกอิ่มอย่างผักและถั่วเปลือกแข็ง ถ้าอยากกินของหวานๆ ให้เลือกกินช็อกโกแลตดำ ดื่มน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และจะดื่มชาก็ได้ ถ้าต้องการคาเฟอีนมากระตุ้นร่างกายสักหน่อย
    • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มันฝรั่งทอด และลูกกวาด อย่าดื่มเครื่องดื่มชูกำลังและน้ำอัดลม เพราะมีน้ำตาลในปริมาณสูง จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรา ถ้าเลือกดื่มกาแฟ อย่าดื่มแบบที่ใส่น้ำตาลมาก [11]
    • มีของว่างไว้กินตอนเริ่มทบทวนบทเรียนด้วย เราจะได้ไม่หิวแล้วเอาแต่คิดเรื่องกินระหว่างนั้น
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

ใช้เทคนิคช่วยในการทบทวนบทเรียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. นี้คือวิธีทบทวนบทเรียนด้วยการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้เราเข้าใจและเรียนรู้เรื่องที่อ่าน ถ้าเราใช้วิธีนี้ เราจะได้ดูเนื้อหาก่อนที่จะอ่านอย่างจริงจัง ฉะนั้นเราก็จะมีความพร้อมมากขึ้นเมื่อต้องการอ่านบทเรียนสักบทหรือบทความสักบทความ
    • เริ่มด้วย "Survey" หรือสำรวจ หมายถึงการอ่านอย่างคร่าวๆ กวาดตาดูตาราง รูปภาพ หัวเรื่อง และคำที่เป็นตัวหนาซึ่งปรากฏในเนื้อหา
    • จากนั้น "Question" หรือตั้งคำถาม นำหัวเรื่องแต่ละหัวเรื่องมาตั้งเป็นคำถาม
    • "Read" หรืออ่านเนื้อหาและพยายามหาคำตอบให้กับคำถามที่ตั้งไว้
    • "Recite" หรือท่องคำตอบเหล่านั้นด้วยปากเปล่าและท่องข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่เราจำได้จากบทเรียนนั้น
    • "Review" หรือทบทวนบทเรียนนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเราเก็บสาระหลักครบถ้วน จากนั้นลองคิดสิว่าทำไมสาระหลักนี้ถึงมีความสำคัญ
  2. เมื่อเริ่มทบทวนบทใหม่ เทคนิคนี้จะช่วยให้เราเก็บข้อมูลสำคัญได้มากและทบทวนบทเรียนนั้นได้ง่ายขึ้น ถ้าอ่านบทเรียนนั้นคร่าวๆ โดยใช้เทคนิค THIEVES
    • เริ่มด้วยการอ่าน หัวข้อ หัวข้อนั้นบอกอะไรเกี่ยวกับเนื้อหา บทความ หรือบทเรียนนั้นบ้าง เรารู้อะไรบ้างในหัวข้อนั้น เราควรจะได้อะไรขณะที่อ่าน วิธีนี้จะช่วยเราวางขอบเขตการอ่านของตนเอง
    • เปลี่ยนไปอ่าน บทนำ บทนำนั้นบอกอะไรเกี่ยวกับบทเรียนนั้นบ้าง
    • อ่านหัวข้อใหญ่และ หัวข้อย่อย อย่างคร่าวๆ หัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยบอกอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่านบ้าง นำหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยมาตั้งเป็นคำถามเพื่อช่วยเป็นแนวทางในการอ่านของเรา
    • อ่าน ประโยคแรกของทุกย่อหน้า ส่วนใหญ่ประโยคแรกจะเป็นประโยคใจความหลักและช่วยให้เรารู้ว่าย่อหน้านั้นเกี่ยวกับอะไร
    • ดู สิ่งที่เห็นและคำศัพท์ ดูตาราง กราฟ และแผนภาพที่มีในบทเรียนนั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคืออย่าลืมดูคำที่ทำเป็นตัวหนา ตัวเอน และคำที่ขีดเส้นใต้ คำหรือย่อหน้าที่ทำเป็นสีต่างๆ และรายการที่มีลำดับกำกับ
    • อ่าน คำถามท้ายบท แนวคิดอะไรที่เราควรรู้จากการอ่านบทเรียนนี้ เราจะได้นึกถึงคำถามนี้ขณะที่อ่าน
    • ดูที่ สรุปประจำบท เพื่อจะได้รู้ว่าบทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก่อนที่จะอ่านทั้งบท
  3. ใช้ปากกาเน้นข้อความหรือใช้ปากกาธรรมดาขีดเส้นใต้ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเนื้อหาของบทนั้น เราจะได้สังเกตเห็นง่ายเมื่อถึงเวลาทบทวน [12] อย่าเน้นไปหมดทุกอย่าง การทำแบบนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ของการเน้นข้อความ ให้ใช้ปากกาเน้นเฉพาะถ้อยคำและคำที่สำคัญมากที่สุด [13] จะใช้ดินสอเขียนสรุปหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญเป็นคำพูดของตนเองสั้นๆ ไว้ที่ริมกระดาษของหน้านั้นก็ได้
    • เราอาจแค่อ่านข้อความเหล่านี้ก็ได้ จะได้ทบทวนเนื้อหาได้เร็วขึ้นในตอนที่เรายังจำได้ดีและช่วยให้ประเด็นสำคัญเหล่านั้นซึมเข้าสู่สมอง
    • ถ้าหนังสือเรียนเป็นสมบัติของโรงเรียน เราอาจใช้กระดาษโน้ตกาวที่เป็นสีต่างๆ หรือกระดาษโน้ตกาวธรรมดาแปะไว้ข้างประโยคหรือย่อหน้าที่สำคัญ จดข้อความสั้นๆ ที่กระดาษโน้ตกาวและแปะไว้ข้างย่อหน้าสำคัญนั้น
    • ทบทวนด้วยการอ่านข้อความที่เราใช้ปากกาเน้นเอาไว้เป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองจดจำประเด็นสำคัญที่อ่านได้อยู่ ถ้าเราต้องจดจำเนื้อหามากมายเพื่อใช้ในระยะยาวเช่น จำเนื้อหาเพื่อสอบปลายภาค สอบประมวล สอบจบแบบปากเปล่า หรือเข้าสู่แวดวงวิชาชีพของตนเอง
  4. การเขียนสิ่งที่ได้จากการจดและอ่านให้ออกมาเป็นคำพูดของตนเองก็เป็นวิธีการทบทวนบทเรียนที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะเราจะต้องนึกถึงเนื้อหาโดยใช้คำพูดของตนเอง แทนที่จะใช้ภาษาของตำรา รวบรวมสรุปต่างๆ ของเราให้เป็นข้อความสั้นๆ ถ้ามีเนื้อหาบางอย่างเกี่ยวโยงกัน อาจสรุปเนื้อหาโดยย่อก็ได้ ให้มีแค่ประเด็นหลักและประเด็นย่อยที่สำคัญเท่านั้น [14]
    • ถ้าเราทบทวนบทเรียนในบริเวณที่มีความเป็นส่วนตัว ลองท่องสิ่งที่ตนเองสรุปออกมาดังๆ เพื่อจะได้จดจำเนื้อหานั้นได้ดีขึ้น ถ้าเราเป็นคนที่ถนัดเรียนรู้ผ่านการฟังหรือจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าพูดเนื้อหานั้นออกมา วิธีนี้อาจช่วยให้เราทบทวนบทเรียนได้ดีขึ้น
    • ถ้าไม่ถนัดเขียนสรุปบทเรียนให้ออกมาในแบบที่ตนเองสามารถจดจำได้ง่าย ให้ลองสอนผู้อื่นดู สมมติว่าเรากำลังสอนใครสักคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องที่อ่านนั้นเลย หรือเขียนเป็นบทความลงเว็บไซต์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น อาจเขียนหลักในการจำจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยก็ได้
    • เมื่อเขียนสรุปโดยใช้ปากกาสีต่างๆ สมองจะจำข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น ถ้าได้เห็นข้อความสีต่างๆ นั้น
  5. ให้ทำบัตรเล็กๆ ขึ้นมาหลายใบ เขียนคำถาม ถ้อยคำ หรือแนวคิดลงไปที่ด้านหน้าของบัตรนั้น ส่วนด้านหลังเขียนคำตอบ การทำเป็นบัตรคำนั้นสะดวกเพราะเราสามารถพกติดตัวไปด้วยได้และใช้ทบทวนบทเรียนเมื่อต้องรอรถประจำทาง รอเข้าเรียน หรือรอทำกิจกรรมต่างๆ [15]
    • อาจดาวน์โหลดโปรแกรมบัตรคำก็ได้เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่จัดเก็บและค่าใช้จ่ายซื้อบัตรคำ จะใช้แค่กระดานธรรมดามาพับครึ่ง (ในแนวตั้ง) ทำเป็นบัตรคำก็ได้ ให้เขียนคำถามในด้านที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อพับกระดาษ พอคลี่ออกมาก็จะเห็นคำตอบอยู่ข้างใน ใช้บัตรคำมาเป็นแบบฝึกหัดถามตอบตนเองไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะตอบถูกทั้งหมด พึงระลึกไว้ว่า "การหมั่นฝึกฝนจะทำให้เราเชี่ยวชาญ"
    • ถ้าเราใช้การจดโน้ตแบบคอร์เนล เราสามารถนำเนื้อหาที่เราจดไว้มาทำเป็นบัตรคำได้ ดึงคำสำคัญออกมาจากโน้ตของเราก่อน นำคำสำคัญนั้นมาตั้งเป็นคำถามโดยที่ปิดโน้ตไว้ และพยายามจำสิ่งที่จดไว้ด้วยการมองแค่คำสำคัญเท่านั้น
  6. วิธีเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือนำเนื้อหานั้นไปเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่เดิมในสมอง การใช้เทคนิคช่วยจำช่วยเราให้จดจำข้อมูลยากๆ หรือปริมาณมากได้
    • นำเนื้อหามาทำให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง คิดสิว่าอะไรที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วและจำได้ง่าย เพลงหรือเปล่า พวกท่าเต้นต่างๆ ใช่ไหม รูปภาพใช่หรือเปล่า นำสิ่งเหล่านี้มาช่วยในการทบทวนบทเรียน ถ้าเราจดจำเนื้อหาบางอย่างไม่ได้ ลองนำเนื้อหามาแต่งเป็นเพลงที่ฟังติดหู หรือเขียนเนื้อเพลงให้เข้ากับทำนองของเพลงที่เราชื่นชอบ คิดและออกแบบท่าเต้นที่ตรงกับเนื้อหาที่ทบทวน วาดออกมาเป็นการ์ตูนก็ได้ ยิ่งใช้วิธีการที่ตรงกับรูปแบบการเรียนของตนเอง ก็ยิ่งทำให้เราจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น เพราะไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ
    • ใช้ เทคนิคช่วยจำ . จัดเรียงข้อมูลให้เป็นลำดับที่เราสามารถจดจำได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการจำโน้ตดนตรีของบรรทัดกุญแจซอล เราก็จะใช้เทคนิคช่วยจำคือ "Every Good Boy Deserves Fudge" เมื่อดึงแค่อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ออกมาก็จะได้ชื่อของตัวโน้ตนั้นคือ E G B D F การจำเป็นประโยคง่ายกว่าจำเป็นชุดตัวอักษรที่ไร้แบบแผน [16] เราอาจสร้างวังแห่งความจำ (memory palace) ก็ได้ อาจใช้ห้องโรมัน (Roman room) เพื่อจดจำรายชื่อต่างๆ เช่น สิบสามรัฐแรกของอเมริกาตามลำดับเวลา แต่ถ้ารายการที่ต้องจำมีไม่มาก ให้นำของในรายการนั้นมาเชื่อมโยงกันด้วยการนึกภาพในหัว
    • จัดข้อมูลให้เป็นระเบียบด้วยการเขียนออกเป็นแผนที่ความคิด แผนที่ความคิดที่ออกมาควรมีโครงสร้างคล้ายใยแมงมุม คำและแนวคิดต่างๆ เชื่อมโยงกัน
    • ใช้การนึกภาพ สร้างภาพยนตร์ซึ่งแสดงถึงเนื้อหาที่เรากำลังพยายามจดจำในหัวและฉายภาพนี้ซ้ำหลายครั้ง ลองนึกถึงรายละเอียดเล็กๆ ทุกอย่าง ใช้ประสาทสัมผัสของเราด้วย มีกลิ่นอะไร เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร ได้ยินเสียงอะไร และมีรสอะไร
  7. วิธีทบทวนบทเรียนวิธีหนึ่งคือแตกหัวข้อใหญ่เป็นหัวข้อย่อย การทำแบบนี้จะช่วยให้เราได้ศึกษาข้อมูลไปทีละนิดแทนที่จะพยายามทำความเข้าใจทั้งหมดในคราวเดียว เราอาจแยกกลุ่มตามหัวข้อ คำสำคัญ หรือด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ทำให้เราเข้าใจบทเรียน สิ่งที่สำคัญคือการลดปริมาณข้อมูลที่เราต้องรับในหนึ่งครั้ง เราจะได้จดจ่อกับการทบทวนเนื้อหาส่วนนั้นก่อนที่ย้ายไปทบทวนเนื้อหาส่วนอื่น
  8. พยายามย่อเนื้อหาที่เราจำเป็นต้องรู้ไว้ในกระดาษแผ่นเดียวหรือสองแผ่นก็ได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ นำติดตัวไปด้วยและให้ดูช่วงที่ว่างหลายวันก่อนสอบ นำสิ่งที่จดและบทเรียนมาจัดเป็นหัวข้อที่มีความเกี่ยวโยงกันและดึงแนวคิดที่สำคัญที่สุดออกมา [17]
    • ถ้าใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ชีททบทวน เราจะสามารถจัดหน้าได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนขนาดตัวอักษร ระยะจากขอบกระดาษ หรือการแสดงรายการต่างๆ ได้สะดวก วิธีนี้จะช่วยเราทบทวนบทเรียนได้ดีขึ้น ถ้าเราเป็นคนที่เรียนรู้ผ่านทางการมองเห็นได้ดี
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

เพิ่มประสิทธิภาพในการทบทวนบทเรียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าเลือกทบทวนบทเรียนครั้งละสองสามชั่วโมงแล้ว ให้พักสัก 5 นาที ทุกครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้นก็ได้ เราจะได้ขยับตัวบ้างหลังจากนั่งมานานสักพักใหญ่ อีกทั้งการหยุดพักยังทำให้จิตใจผ่อนคลายขึ้นด้วย จึงช่วยให้เราจำบทเรียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเราไม่ให้เสียสมาธิด้วย
    • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ ร่างกายได้เคลื่อนไหว เพื่อให้เลือดไหลเวียนและทำให้เราตื่นตัวมากขึ้น กระโดดตบแบบจั๊มปิ้งแจ็ค (jumping jacks) วิ่งรอบบ้าน เล่นกับสุนัข ทำท่าสควอท (squats) หรืออะไรก็ตามที่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังให้เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายตื่นตัว แต่ไม่ใช่ออกกำลังอย่างหนักจนหมดแรง
    • พยายามยืนทบทวนบทเรียน อาจเดินรอบโต๊ะขณะที่กำลังท่องเนื้อหาหรือยืนพิงผนังขณะอ่านสิ่งที่ตนเองจดอยู่ [18]
  2. หาคำสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทบทวนอยู่ เมื่อไรก็ตามที่เสียสมาธิ เริ่มวอกแวก หรือใจลอยไปคิดเรื่องอื่น ให้เริ่มพูดคำสำคัญซ้ำๆ ในใจจนกว่าจะสามารถกลับมาจดจ่อกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าได้ คำสำคัญนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคำเดียวและคำเดิมเท่านั้น ให้เปลี่ยนไปตามวิชาหรือเนื้อหาที่ทบทวน จะเลือกคำสำคัญคำไหนก็ได้ ขอให้เป็นคำที่ทำให้เรารู้สึกว่าพอเอ่ยออกไปแล้วทำให้กลับมาจดจ่อกับบทเรียนได้
    • ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอ่านบทความเรื่องกีตาร์อยู่ เราอาจเอ่ยคำว่า "กีตาร์" เพื่อช่วยเรียกสมาธิก็ได้ ขณะที่กำลังอ่านบทความ เมื่อไรก็ตามที่เริ่มวอกแวก อ่านไม่รู้เรื่อง หรือขาดสมาธิ ให้เอ่ยคำสำคัญนั้นในใจว่า "กีตาร์ กีตาร์ กีตาร์ กีตาร์ กีตาร์" จนกว่าจิตใจจะกลับมาจดจ่อกับบทความและสามารถเริ่มอ่านต่อไปได้
  3. เมื่อกำลังอยู่ในชั่วโมงเรียน เราต้องจดสิ่งที่เรียนไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การจดสิ่งที่เรียนให้ดีไม่ได้หมายถึงว่าต้องจดให้เรียบร้อยหรือเขียนทุกประโยคที่คุณครูสอนลงไป เราต้องจับข้อมูลสำคัญให้ได้ บางครั้งเราอาจต้องจดคำศัพท์ที่คุณครูกล่าวถึง จากนั้นพอกลับถึงบ้าน ค่อยคัดลอกคำอธิบายจากตำราลงไป พยายามเขียนลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
    • การจดโน้ตจะช่วยให้เรายังคงตื่นตัวและตั้งใจฟังทุกอย่างที่คุณครูสอน อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เราเผลอหลับในห้องเรียนด้วย
    • จดเป็นอักษรย่อ จะช่วยให้เราจดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องพะวงเรื่องตัวสะกด พยายามหาคำเต็มมาสร้างเป็นอักษรย่อในแบบของเราเอง หรือใช้ที่มีอยู่แล้วก็ได้อย่างเช่น "ม.ค." ย่อมาจาก "มกราคม" "พ.ศ." ย่อมาจาก "พุทธศักราช" "พ.รบ." ย่อมาจาก "พระราชบัญญัติ" "กก." ย่อมาจาก "กิโลกรัม"
    • ถามทันทีเมื่อเกิดความสงสัยหรือสนับสนุนให้มีการอภิปรายกันในห้องเรียน วิธีที่จะถามหรือเชื่อมโยงข้อมูลคือจดไว้ที่ขอบกระดาษของโน้ตก่อน เราจะได้ค้นหาคำตอบเมื่อกลับถึงบ้านหรือสามารถปะติดปะติดเนื้อหาเข้าด้วยกันได้เมื่อเรียนตอนนั้น [19]
  4. เมื่อกำลังจดเนื้อหาที่ครูสอน ให้เน้นบันทึกข้อมูลมากกว่าทำความเข้าใจหรือจดเนื้อหาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากจบชั่วโมงเรียนแล้ว ให้นำเนื้อหาที่จดไว้มาเขียนใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับยังอยู่ในสมอง ฉะนั้นถ้าขาดตกบกพร่องอะไรไป เราก็สามารถใช้ความทรงจำที่มีเติมส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์ได้ การเขียนโน้ตขึ้นมาใหม่เป็นวิธีการทบทวนบทเรียนที่ได้ผลดี ช่วยให้เราได้นำข้อมูลมาเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจเสียสมาธิได้ง่าย ถ้าเราเอาแต่อ่านอย่างเดียว การเขียนทำให้ต้องนึกข้อมูลไปด้วย [20]
    • นี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรพยายามทำความเข้าใจเรื่องที่ครูสอนหรือจดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แค่ไม่อยากให้เสียเวลาและพะวงกับสิ่งที่สามารถทำหรือจัดการทีหลังได้ เราสามารถกลับมาทำความเข้าใจหรือเขียนโน้ตใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยที่บ้านได้ นึกว่าโน้ตที่จดในชั่วโมงเรียนเป็น "ร่างอย่างคราวๆ" ก็ได้
    • เราอาจมีสมุดจดไว้สองเล่มเพื่อความสะดวก เล่มแรกไว้จดแบบ"ร่างคร่าวๆ " อีกเล่มไว้เขียนโน้ตใหม่
    • บางคนอาจใช้วิธีพิมพ์สิ่งที่จดลงคอมพิวเตอร์ บางคนอาจเขียนใหม่ด้วยลายมือตนเองเพราะเห็นว่าช่วยให้จำเนื้อหาได้ดีขึ้น
    • ยิ่งพยายามเขียนออกมาเป็นถ้อยคำของตนเอง ยิ่งดี การวาดรูปก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังเรียนเรื่องกายวิภาคศาสตร์ ให้ลอง "วาด" ระบบต่างๆ ภายในร่างกายซึ่งได้เรียนออกมาเป็นรูป
  5. การอ้างเหตุผลตามตรรกะไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากทบทวนบทเรียน บางทีการคิดว่า "ถ้าฉันตั้งใจเรียน ฉันจะได้เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และได้งานดีๆ ทำ" อาจไม่ได้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราอยากทบทวนบทเรียน ฉะนั้นลองหาซิว่าบทเรียนที่กำลังทบทวนอยู่นั้นมีอะไรน่าสนใจบ้าง พยายามหาสิ่งที่น่าสนใจของแต่ละวิชาให้พบ และที่สำคัญที่สุดคือพยายามนำสิ่งนั้นมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันและสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจ
    • เราอาจนำบทเรียนมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ โดยตั้งใจ เช่น การแสดงปฏิกิริยาเคมี การทดลองทางฟิสิกส์ หรือการคำนวณทางคณิตศาสตร์ด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์สูตรสักสูตรหนึ่ง หรืออาจเชื่อมโยงโดยไม่ตั้งใจ เช่น กำลังเดินเล่นที่สวนสาธารณะ แล้วไปเห็นใบไม้เข้า ก็อาจคิดว่า "ลองมานึกทบทวนเรื่องส่วนประกอบของใบไม้ที่เรียนไปเมื่อสัปดาห์ทีแล้วดีกว่า"
    • นำข้อมูลมาแต่งเป็นเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ พยายามแต่งเรื่องจากบทเรียนที่เรากำลังทบทวนอยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังทบทวนภาษาอังกฤษ ลองเขียนเรืองขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งโดยภาคประธานประโยคทั้งหมดขึ้นต้นด้วยตัว S ภาคกรรมทั้งหมดขึ้นต้นด้วยตัว O และอย่าใช้กริยาที่มีตัว V พยายามสร้างเรื่องราวให้เชื่อมโยงกันด้วยคำศัพท์ บุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หรือคำสำคัญอื่นๆ [21]
  6. เริ่มทบทวนวิชาหรือบทที่ยากก่อน เราจะได้มีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาและทำความเข้าใจ อีกทั้งเรายังมีความกระตือรือร้นและความตื่นตัวอยู่ เก็บวิชาง่ายๆ ไว้ทบทวนทีหลัง [22]
    • ทบทวนเนื้อหาส่วนที่สำคัญก่อน อย่าอ่านทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าเพิ่งจำเนื้อหาทุกอย่างที่อ่าน เราจะรับข้อมูลใหม่ได้ง่ายขึ้นเมื่อมาสามารถนำมาปะติดปะต่อกับข้อมูลเก่าที่เรามีอยู่ในหัวอยู่แล้วได้ อย่าเสียเวลาไปมากกับการอ่านเนื้อหาที่จะไม่ออกสอบ ให้ทุ่มเทพลังทบทวนเนื้อหาส่วนที่สำคัญก่อน
  7. หารายการคำศัพท์หรือคำที่เป็นตัวหนาในบทนั้น ดูสิว่าตำราของเรามีหมวดคำศัพท์ อภิธานศัพท์ หรือรายการคำศัพท์ไหม และพยายามทำความเข้าใจคำเหล่านี้ให้แตกฉาน ไม่จำเป็นต้องจำ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการกล่าวถึงแนวคิดสำคัญในวิชาต่างๆ ก็จะมีการใช้คำศัพท์เฉพาะเหล่านี้เพื่ออ้างถึงแนวคิดสำคัญนั้น ฉะนั้นเราต้องศึกษาคำศัพท์ต่างๆ ให้เข้าใจ จนสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ในที่สุดเราก็จะเริ่มเชี่ยวชาญวิชานั้นเอง
  8. ชักชวนเพื่อนหรือเพื่อนร่วมห้องสัก 3-4 คนและขอให้ทุกคนเอาบัตรคำของตนเองมา ใช้บัตรคำนั้นมาสลับกันถามตอบ ถ้ามีเพื่อนคนไหนไม่เข้าใจ ให้คนอื่นๆ ผลัดกันอธิบาย อาจปรับการทบทวนบทเรียนให้อยู่ในรูปแบบเกมสนุกๆ เช่น ปริศนาฟ้าแลบหรือแฟนพันธุ์แทนก็ได้
    • แบ่งเนื้อหาให้แต่ละคนในกลุ่มมาสอนหรืออธิบายเนื้อหาส่วนนั้นให้เพื่อนคนที่เหลือฟัง
    • แบ่งกลุ่มกันสรุปแนวคิดสำคัญ ทุกคนในกลุ่มช่วยกันเสนอหรือเขียนสรุปโดยย่อหรือสรุป 1 หน้ามาแจกกลุ่มที่เหลือ
    • พยายามทบทวนบทเรียนเป็นกลุ่มทุกสัปดาห์ ใช้เวลาทุกสัปดาห์ทบทวนบทเรียนและศึกษาบทเรียนล่วงหน้า ควรทำแบบนี้ตลอดเทอมดีกว่าทำแค่ตอนปลายเทอม
    • เลือกเพื่อนที่อยากทบทวนบทเรียนจริงๆ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • นอกเหนือจากพยายามจำเนื้อหาในบทเรียนให้ได้แล้ว เราควรพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาให้มากพอที่จะสามารถอธิบายให้คนที่ไม่มีพื้นฐานเลยเข้าใจได้
  • การทบทวนบทเรียนกับเพื่อนที่ตั้งใจเรียนจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราขยันมากขึ้น แบ่งช่วงการทบทวนออกเป็นช่วงต่างๆ ทบทวนเนื้อหาที่จดมา สรุปเนื้อหาบทนั้น และอภิปรายแนวคิดต่างๆ (พยายามแลกเปลี่ยนความคิดและอธิบายให้กันและกันฟัง จะได้เข้าใจเนื้อหาทั้งคู่)
  • อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เริ่มทบทวนบทเรียนแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ไม่เครียดในภายหลัง อย่าผัดวันประกันพรุ่ง นี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี การทบทวนบทเรียนแต่เนิ่นๆ จะเป็นผลดีต่อเรามากกว่าการมาเริ่มทบทวนในช่วงใกล้สอบ
  • ตำราเรียนส่วนใหญ่จะมีบททบทวนให้ที่ท้ายบท เราควรอ่านบททบทวนและลองใช้เนื้อหาตรงนั้นถามตอบตนเอง คุณครูบางท่านใช้คำถามเหล่านี้มาออกข้อสอบ
  • เราต้องเข้าใจแนวคิดที่กำลังเรียนอยู่ ไม่อย่างนั้นเราอาจทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนอยู่ได้ยากขึ้น
  • เมื่อกำลังจดเนื้อหาที่คุณครูอธิบาย พยายามจดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และใช้ปากกาสี เมื่อกลับมาถึงบ้านและเห็นข้อความที่น่าอ่าน เราจะได้อยากทบทวนบทเรียนมากขึ้น
  • จัดพื้นที่ให้เป็นระเบียบและวางสิ่งที่เราต้องมีไว้ข้างตัว เราจะได้ไม่ต้องลุกไปหยิบหรือเสียเวลาหา
  • ปิดโทรศัพท์มือถือขณะทบทวนบทเรียน
  • บางคนเรียนรู้ได้ดีที่สุดมากกว่าหนึ่งแบบ ฉะนั้นเราอาจเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้านำวิธีการเรียนรู้มาผสมผสานกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสามารถเรียนรู้ผ่านการเห็นและการฟังได้ดี เราอาจเลือกทบทวนบทเรียนโดยการดูวีดีโอ นอกจากจะทำให้การทบทวนบทเรียนน่าสนใจแล้ว ยังทำให้จิตใจของเราจดจ่อกับการทบทวนบทเรียน และน่าจะจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
  • ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เพื่อที่จะสอบได้คะแนนดีเท่านั้น เพราะถ้าเราศึกษาวิชาใดก็ตามจนมีความรู้และมีความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เราก็ย่อมสอบได้คะแนนดีอยู่แล้ว
โฆษณา

คำเตือน

  • ระวังไม่ให้ตนเองผัดวันประกันพรุ่ง ตัวอย่างเช่น เราคิดจะใช้เวลาที่ควรทบทวนบทเรียนไปทำอย่างอื่นหรือเปล่า ถ้าคิดแบบนี้ความพยายามทั้งหมดของเราจะไม่สัมฤทธิ์ผล และถ้าเราเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่ง เราจะมีเวลาทบทวนบทเรียนน้อยลง
  • ถ้าไม่มีสมาธิทบทวนบทเรียนเพราะเครียดมากเกินไปหรือมีเรื่องวิตกกังวล ต้องพยายาม ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ให้ได้ก่อนที่จะทบทวนบทเรียน ถ้าไม่อาจคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลลงได้ เราอาจต้องปรึกษาคุณครู
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 14,853 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา