PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ด้วยความก้าวหน้าในคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการถ่ายทำวิดีโอ ทำให้การสร้างมิวสิควิดีโอแบบมือสมัครเล่นนั้นทำได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ก็เหมือนกับการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งหลายแหล่ที่กระบวนการบันทึกมิวสิควิดีโอนั้นเป็นได้ทั้งการให้ผลรางวัลตอบกลับมา ทำให้หงุดหงิด สนุก คิดลองโน่นนี่ เหนื่อยใจ และตื่นเต้น บางทีก็ทุกความรู้สึกรวมกันเลย มิวสิควิดีโอนั้นมีข้อจำกัดเพียงแค่จินตนาการกับงบประมาณของคุณเท่านั้น ในบทความนี้ เราจะมาค้นหาพื้นฐานทางเทคนิคและกระบวนการความคิดสร้างสรรค์เพื่อจะทำมิวสิควิดีโอ จากการถ่ายด้วยกล้องมือถือเทคเดียวไปจนถึงการผลิตที่ซับซ้อนกว่านั้น

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 5:

พัฒนาแนวคิด

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. มิวสิควิดีโอเจ๋งๆ นั้นไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือยุ่งยากอะไรเลย มิวสิควิดีโอที่สร้างสรรค์และน่าจดจำหลายๆ ตัวในประวัติศาสตร์ก็มีงานผลิตเรียบง่ายหรืองบรัดตัวเสียด้วยซ้ำ [1] บางตัวก็อาจลงทุนไปเป็นล้าน [2] การรู้ว่าเรามีเงินจะใช้เท่าไหร่ล่วงหน้าจะช่วยทำให้คุณไม่ใช้เงินเกินงบที่ตั้งไว้
  2. คุณไม่จำเป็นต้องใช้อะไรที่มันแปลกตา เป็นระบบดิจิตอลหรือมีราคาแพง แค่อะไรสักอย่างให้คุณสามารถรวบรวมความคิด จดบันทึกลงไป และสเก็ตภาพร่างคร่าวๆ ขอแค่ดินสอกับยางลบติดกับสมุดบันทึกไว้ติดตัวตลอดกระบวนการถ่ายทำ ไอเดียอาจเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่คุณไม่ทันได้คาดคิดถึงมันก็ได้
  3. พวกเขาอาจมีไอเดียว่าอยากเห็นมิวสิควิดีโอของตนมีหน้าตาเป็นอย่างไร บางความคิดอาจยอดเยี่ยมมาก บางทีอาจเจ๋งสุดยอดเลยก็ได้ บางความคิดอาจต้องใช้ตัวแสดงนับพัน หรือเอฟเฟกต์ตระการตา ระดับปีเตอร์ แจ็คสันมาเอง ถ้าคุณมีงบไม่อั้น สิ่งที่จะทำได้ก็ไม่มีข้อจำกัดเช่นกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณล่ะว่าไอเดียจากศิลปินตัวไหนที่เหมาะจะอยู่ในวิดีโอของคุณ พยายามยึดหลักความเป็นจริง รู้ว่าไอเดียไหนเป็นจริงได้ ไอเดียไหนไม่มีทาง และไอเดียไหนมันห่วย
    • ถ้าหากคุณบังเอิญเป็นสมาชิกของวงที่จะใช้ทำมิวสิค คุณอยู่ในตำแหน่งที่ทั้งท้าทายและได้ผลประโยชน์เต็มๆ คุณจะเป็นคนที่ได้เข้าถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานของทางวงด้วยตนเอง ในทางตรงกันข้าม การทำมิวสิควิดีโอนั้นสามารถก่อให้เกิดความเครียด ระวังไว้ว่ามันอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งทางส่วนตัวและทั้งในแง่การสร้างสรรค์งานของคุณ
  4. อย่าเพิ่งทำอะไรในตอนแรก แค่ฟังเพลงอย่างเดียว จากนั้นค่อยฟังซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ฟังร่วมกับศิลปินหรือสมาชิกคนอื่นในวง ถึงแม้ว่าคุณจะรู้จักเพลงนั้นชนิดปรุโปร่ง ก็ลองพยายามฟังมันเหมือนเพิ่งได้ยินเป็นหนแรก มันทำให้คุณรู้สึกอย่างไร? ทำให้คุณอยากออกมาเต้น ร้องไห้ ทำตัวบ้าๆ บอๆ หรือตรงดิ่งเข้าบาร์? หรือมันทำให้คุณรู้สึกแปลกแยกด้วยอารมณ์ที่ผสมปนเปกัน? จดบันทึกปฏิกิริยาของคุณ
    • เพื่อให้ได้ผลจากประสบการณ์การฟังอย่างเต็มที่ ลองอ่านคำแนะนำเรื่องการฟังเพลงแบบมืออาชีพของเรา
  5. หลังจากที่คุณมีไอเดียถึงแก่นอารมณ์ของเพลง ก็ควรสุมหัวหาไอเดียในการทำวิดีโอ ถ้าได้มีการขอคำปรึกษากับสมาชิกทีมงานในช่วงนี้ก็จะเป็นประโยชน์มาก พวกเขาจะได้รู้ว่าตรงไหนที่ถ่ายทำง่ายและตรงไหนน่าจะเป็นเรื่องยาก
    • ไอเดียในการทำมิวสิควิดีโอสามารถนำเสนอออกมาตรงๆ โดยยังคงได้อารมณ์ด้วย ยกตัวอย่าง ไอเดียสำหรับเพลงคันทรี่เกี่ยวกับผู้คนที่ได้พบเจอระหว่างการเดินทางอย่าง “ถ่ายตามผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังขับรถไปตามถนน พบเจอผู้คนในร้านของชำหรือปั๊มน้ำมันประจำเมืองเล็กๆ ระหว่างการเดินทางนั้นสะท้อนตามเนื้อหาของเพลง” สามารถออกมายอดเยี่ยมได้ถ้าหากมีการเตรียมงานที่ดี
    • เติมรายละเอียดเล็กๆ ที่จำเป็นสามารถทำให้วิดีโอของคุณน่าจดจำหรือกระทั่งเป็นที่กล่าวขวัญ รายละเอียดต่อไปนี้ได้ให้บุคลิกจำเพาะกับตัวงานมากกว่าคำอธิบายลอยๆ ด้านบน: “ตัวละครหลักขับรถเชฟวี่เปิดประทุนปี ’57 ไปตามถนนทอดยาวสู่ตะวันตก ชาวนาในร้านขายของชำในเนื้อร้องท่อนแรก ทหารบนรถฮัมเมอร์ในปั๊มน้ำมันระหว่างเนื้อร้องท่อนที่สอง สาวสวยในเนื้อท่อนที่สาม (ใช้ดาราดังรับเชิญมาแสดงดีไหม?) กระโดดขึ้นรถไปกับพระเอกของเราในขณะที่เพลงบรรเลงไป เนื้อเรื่องย่อยแบบตลกๆ หน่อย: ให้มีนักธุรกิจทำซุ่มซ่ามน่าหัวร่อในแต่ละฉาก: อย่างบีบมัสตาร์ดโดนเสื้อในท่อนแรก ขับรถปอร์เช่มาชนท้ายรถฮัมเมอร์แล้วเผลอทำน้ำมันรดรองเท้าราคาแพงของตนในฉากปั๊มน้ำมันของท่อนที่สอง เข้าไปจีบหญิงสาวคนนั้นอย่างเงอะงะงุ่มง่ามในท่อนที่สาม”
    • ไอเดียประหลาดที่แสนจะดูเป็นนามธรรมสามารถใช้ในมิวสิควิดีโออย่างได้ผลได้ ภาพไม่จำเป็นต้องสะท้อนตามเนื้อร้อง การให้ภาพและเนื้อเพลงตัดกันอาจสร้างความน่าสนใจขึ้นมา วิดีโอบางเพลงอาจดูหลุดโลกหรือเพี้ยนหาเหตุผลไม่ได้เสียด้วยซ้ำ [3] อย่ากลัวที่จะสร้างความงงงวยหรือช็อคคนดูถ้าคุณคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่เหมาะกับวิดีโอของตน การได้ต่อสู้กับความเคยชินของคนดูนั้นเยี่ยมยอดเสมอ
  6. ก่อนจะเริ่มต้นถ่ายทำ คุณจำเป็นต้องรู้แน่ชัดว่าจะถ่ายที่ไหน บางครั้งแนวคิดของวิดีโออาจจำเป็นต้องออกไปถ่ายทำกันในสถานที่ห่างไกลหรือต้องสร้างฉากขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างเช่น วิดีโอเพลงคันทรี่ในตัวอย่างของเราอาจง่ายต่อการถ่ายทำถ้าอยู่ในรัฐไวโอมิง แต่ถ้าเราอยู่ในนิวยอร์ก เราก็คงจำเป็นต้องวางแผนการถ่ายล่วงหน้า
    • ติดต่อเจ้าของหรือฝ่ายจัดการของสถานที่ใดก็ตามที่คุณอยากใช้ ให้แน่ใจว่าพวกเขายินดีให้คุณถ่ายทำ บางทีถ้าคุณโชคดี อาจได้พวกเขามารับบทในเรื่องด้วยเลยก็ได้ (ถ้าพวกเขายินยอม)
    • เป็นความคิดที่ดีถ้าหากจะบอกกล่าวคนละแวกนั้นถึงการถ่ายทำล่วงหน้า มิเช่นนั้น พวกเขาอาจสับสนหรือไม่พอใจการถ่ายทำของคุณ รู้ข้อจำกัดทางเสียงล่วงหน้าเพื่อคุณจะได้เตรียมตัวหากเกิดมีใครแจ้งตำรวจ
  7. เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวางแผนทำวิดีโอมากที่สุดตัวหนึ่งก็คือการทำสตอรี่บอร์ด สตอรี่บอร์ดก็คือภาพร่างในแต่ละช็อตของวิดีโอเพื่อจะกำกับฉากการแสดงของเรื่อง
    • มิวสิควิดีโอนั้นมักต้องการมุมกล้องที่แหวกแนว [4] หรือเทคนิคทางภาพแบบพิเศษ [5] เพื่อสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่น ถ้าคุณวางแผนจะใช้มันทั้งคู่ในวิดีโอ แน่ใจว่าต้องเขียนอธิบายไว้ในสตอรี่บอร์ดด้วย
    • สตอรี่บอร์ดไม่จำเป็นต้องหวือหวา มันสามารถเรียบง่ายบอกแค่ตำแหน่งของตัวละครกับสิ่งของประกอบฉาก หรือจะละเอียดลงลึกระดับการแสดงอารมณ์และทิศทางการเคลื่อนไหวของแต่ละตัวละครก็ได้ ถ้าคุณแค่วาดเส้นตรงยังเบี้ยว ไม่ต้องกังวลไป ทำสตอรี่บอร์ดแบบใช้ข้อความเอาก็ได้ ตราบเท่าที่คุณมีไอเดียว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละช็อต และสามารถอธิบายให้ลูกทีมเข้าใจ แค่นี้ก็พอลุยโลดได้แล้ว
    • พยายามแตกวิดีโอของคุณเป็น “ฉาก” ที่ตรงกับภาพฝันของคุณ คุณสามารถร่นระยะเวลาถ่ายทำหากคุณถ่ายฉากที่ใช้สถานที่เดียวกันทั้งหมดในคราวเดียว (ถึงมันจะไปปรากฎอยู่คนละจุดในวิดีโอตัวที่เสร็จแล้วก็ตาม) วางแผนการถ่ายทำเพื่อคุณจะได้เดินทางอย่างคุ้มค่าเงิน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 5:

ทีมงานถ่ายทำ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขึ้นอยู่กับสเกลของงานถ่ายทำ คุณอาจต้องพึ่งแค่ตัวเองกับนักแสดงเพียงลำพัง หรืออาจต้องใช้ทีมงานทีมใหญ่ นี่คือตำแหน่งที่คุณอาจต้องพิจารณามองหาตามงานที่จำเป็นต้องทำ:
    • ผู้กำกับ นั่นน่าจะเป็นคุณเอง คุณจะต้องจัดการส่วนต่างๆ ของการถ่ายทำ ตั้งแต่อธิบายภาพในหัวให้นักแสดงและทีมงาน ประนีประนอมข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายแสงกับฝ่ายเสียง แน่ใจว่ารถเติมน้ำมันมาพอและสถานที่ถ่ายทำได้รับการอนุญาตมาครบถ้วนแล้ว คุณเป็นเจ้านายใหญ่ แต่ก็ต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นๆ
    • ตากล้อง ตากล้องจะเป็นคนรับผิดชอบการถ่ายภาพให้ได้ด้วยกล้องหนึ่งตัวหรือมากกว่านั้น คุณจะเป็นผู้ออกแบบฉาก แต่เขาจะเป็นคนที่จับภาพของฉากนั้น ต้องทำงานร่วมกับช่างไฟเพื่อให้มั่นใจว่าฉากถูกจัดแสงได้เหมาะสม และให้ฝ่ายเสียงรู้ว่าต้องวางไมค์ไว้ตรงไหน
    • ช่างไฟ ใครคนหนึ่งที่ต้องแน่ใจว่าไฟทุกดวงใช้งานได้ มองเห็นนักแสดง และทุกอย่างได้แสงเงาตามการถ่ายทำ คนๆ นั้นก็คือช่างไฟนั่นเอง
    • ช่างเสียง ในการถ่ายภาพยนตร์นั้น เขาจะเป็นคนที่ติดไมโครโฟนให้นักแสดงและตามสถานที่ ในวิดีโอที่มักจะไม่ต้องใช้บทสนทนานั้น เขาจะเป็นคนที่คอยเปิดเพลงตามคิวเพื่อนักแสดงจะได้แสดงตามบท ในระหว่างการกดปุ่ม “เปิด” และ “ปิด” และ “ย้อนกลับ” เขาอาจต้องไปหาเครื่องดื่ม พิซซ่า หรือของทานเล่นมาให้ทีมงาน
    • ผู้ช่วย นี่คือผู้โชคดีที่จะต้องตามเก็บสายไฟ หลอดไฟทั้งหมด อุปกรณ์ เก้าอี้ โต๊ะ อุปกรณ์ประกอบฉาก และทุกอย่างที่นำมาสร้างฉาก มันจะทำให้ถ่ายง่ายขึ้นถ้าคุณมีใครสักคนคอยดูแลเรื่องพวกนี้ในขณะที่คุณต้องคอยดูภาพรวม
    • ฝ่ายเสื้อผ้า ขึ้นอยู่กับงบ คุณอาจแค่บอกตัวแสดง (“นุ่งยีนส์กับเสื้อคับๆ หน่อย”) หรือตัดเสื้อผ้าให้นักแสดงเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะแบบไหน ถ้าหากต้องมีการผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้แน่ใจว่ามีใครสักคนคอยดูแลระหว่างฉาก และนักแสดงมีพื้นที่ส่วนตัวในการเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
    • ฝ่ายฉาก อีกล่ะ มันอาจเป็นคุณเองก็ได้ แต่ต้องมีใครสักคนคอยหายานพาหนะที่ต้องใช้ หรือสิ่งที่นักแสดงหรือฉากนั้นต้องการ อาทิ ขวดมัสตาร์ดที่สามารถบีบออกมาได้ตามคิว หรืออะไรก็ตามที่ตัวแสดงต้องหยิบจับหรือวางลงที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น
    • ฝ่ายดูแลความต่อเนื่อง เว้นเสียแต่ว่าคุณจะถ่ายฉากตั้งแต่เริ่มต้นจนจบภายในเทคเดียว ก็จำเป็นต้องมีใครสักคนคอยดูแลว่าจุดที่ตัวแสดงจะเริ่มต้นแสดงเป็นจุดเดียวกับที่หยุดถ่ายไปก่อนหน้า นี่คือสิ่งที่ฝ่ายดูแลความต่อเนื่องทำ พวกเขาจะบันทึกตำแหน่งโดยความช่วยเหลือของกล้อง พวกเขาจะดูแลว่าคราบมัสตาร์ดบนสูทในฉากแรกนั้นยังคงอยู่ตรงนั้นในอีกสามวันถัดมาของการถ่ายฉากสุดท้าย (หรือในทางตรงกันข้าม คราบมัสตาร์ดต้อง “ไม่” อยู่ตรงนั้นถ้าหากฉากที่ถ่ายทีหลังเป็นฉากก่อนเลอะมัสตาร์ด)
  2. ทำลิสต์ตัวละครทั้งหมดในวิดีโอ วิดีโอของคุณอาจไม่จำเป็นต้องมีฉากวงดนตรีกำลังเล่น แต่หากต้องมี คุณก็ต้องรับผิดชอบการแสดงของพวกเขาด้วย ถ้าหากวิดีโอของคุณเป็นแบบเล่าเรื่อง ให้เขียนตัวละคร อธิบายว่าพวกเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร และต้องทำตัวแบบไหน จัดทดสอบหน้ากล้องและเลือกตัวแสดงที่เหมาะกับบทบาทที่สุด สำหรับมิวสิควิดีโอเพลงคันทรี่ที่เราใช้เป็นตัวอย่างนั้น เราอาจมองหานักแสดงที่มารับบทเหล่านี้:
    • นักเดินทาง เขาไม่จำเป็นต้องพูด แต่จำเป็นต้องดูเท่ มีความมั่นใจและเหมาะแก่การขับรถท่องไปตามชนบทด้วยรถเปิดประทุน ใส่ยีนส์ แว่นกันแดด และเสื้อเชิ้ต?
    • ชาวนา มีอายุ ดูกร้านแดด หมวกกับยีนส์เก่าๆ ไม่ยัดเสื้อเข้าในกางเกง มีรอยยิ้มเป็นมิตร ด้วยความที่ออกหน้ากล้องเพียงแวบเดียว ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้มืออาชีพ
    • ทหาร ยังหนุ่ม สูง มีกล้าม ตัดผมเกรียน ดูแข็งแกร่งและมีความมั่นใจกว่าพระเอกของเราแต่ก็ยังดูถ่อมตัว
    • เด็กปั๊ม ขี้ก้าง? หรืออ้วนจ้ำม่ำ? เสื้อช่างซ่อมที่เปื้อนคราบน้ำมัน ดูเป็นมิตรแม้ในท่าทีลึกลับ กรอกตาไปมาได้คล่อง
    • นักธุรกิจ ดูเป็นชาวกรุง เกือบจะหล่อแต่ยังไม่ถึงขั้น ไว้ผมเรียบแปร้แต่ดูยุ่งเมื่ออยู่กลางแดด เสื้อผ้าดูมีราคา มีรถยนต์ ท่าทางงุ่มง่าม เห็นปุ๊บก็ไม่มีทางนึกชอบ
    • หญิงสาว ดูเป็นผู้หญิงที่แข็งแรงพึ่งตัวเองได้ ดูมั่นใจในรูปร่างของตน จึงจำเป็นต้องสวย ผมสีบรูเนตต์ มั่นใจ รักอิสระ ผิวแทน มีอารมณ์ขันและมีรอยยิ้มตรึงตาเมื่อแรกเห็น ไม่เคยทำให้นักธุรกิจเสียใจ แค่ยั่วเขา แอบปิ๊งกับนักเดินทาง
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 5:

แสงพร้อม กล้องพร้อม แอคชั่น!

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตอนนี้คุณมีทุกอย่างพร้อมเสร็จสรรพ เหล่านักแสดงก็ซักซ้อมกันมาดี ลูกทีมก็ร่ำเบียร์กันพอกรึ่ม ตอนนี้ก็ได้เวลาจัดเตรียมฉากสำหรับถ่ายวิดีโอ เลือกฉากที่จะถ่าย ในตัวอย่างนี้ เราจะเลือกฉากสุดท้ายของวิดีโอเพลงคันทรี่ โดยนักธุรกิจจะสะดุดล้ม นักเดินทางช่วยพยุงตัวเขา และสาวเจ้าคนสวยกระโดดขึ้นรถไปกับนักเดินทาง
    • นำรถยนต์และอย่างอื่นๆ ที่อยู่ในฉากมาอยู่ตามตำแหน่งที่กำหนด ให้นักแสดงยืนตามจุดที่วางไว้
    • จัดไฟ เพราะนี่เป็นการถ่ายทำนอกสถานที่ ถ้าหากคุณไม่มีเครื่องปั่นไฟก็อาจจำเป็นต้องใช้ “รีเฟลคเตอร์” ซึ่งก็คือแผ่นผ้าหรือกระดาษขาวขนาดใหญ่ใช้สะท้อนแสงอาทิตย์ ช่วยลบเงาให้จางลงและช่วยให้ฉากสว่างขึ้น หากจะให้แสงมีความเด่นชัดตามต้องการยิ่งขึ้น ต้องใช้รีเฟลคเตอร์หลายแผ่น หรือกระทั่งกระจกก็ได้ ผู้ช่วยจะคอยจัดการให้ตามการกำกับของคุณถ้าคุณมีเงินจ้าง
    • จำไว้ว่าตัวละครหลักบนจอภาพจะเป็นคนที่เด่นสว่างที่สุดบนภาพเสมอ เมื่ออยู่ข้างนอก พยายามให้หลังตัวละครอยู่ทางดวงอาทิตย์ เว้นแต่ว่าดวงอาทิตย์กำลังอยู่กลางท้องฟ้า ด้วยวิธีนี้จะทำให้รีเฟลคเตอร์สะท้อนแสงใส่ใบหน้าและลำตัวด้านหน้าของนักแสดง แม้จะมีหลายวิธีที่จะจัดแสงอย่างได้ผล มันก็คุ้มค่าถ้าคุณต้องการงานวิดีโอคุณภาพสูง
  2. คุณอาจต้องการถ่ายวิดีโอบางส่วนบนขาตั้งกล้องในฉากที่ต้องการความนิ่ง กล้องที่สั่นไปมาบางทีก็ทำให้คนดูละความสนใจไปจากวิดีโอเหมือนกัน ในบางคราวคุณอาจจำเป็นต้องใช้กล้องสเตดดิแคมมือถือเพื่อถ่ายฉากเคลื่อนไหว หรือกล้องที่ “ถือแล้วสั่น” แบบอิสระเต็มที่เพื่อฉากที่เร้าอารมณ์ยิ่งขึ้น ถ้าคุณมีทีมงานกับงบเพียงพอ การถ่ายทำผสมกันทั้งมุมกล้องและสไตล์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในตอนตัดต่อ
  3. ถ้าพวกเขาต้องอยู่ในฉากทันทีที่กล้องเริ่มถ่าย ให้พวกเขาจดจำจุดที่ยืน ถ้าหากพวกเขาต้องเดินเข้ามาในฉาก ก็วางจุดที่จะเข้าฉากให้เขา
  4. ให้ฝ่ายเสียงเตรียมท่อนเพลงที่ต้องการในเพลง และมีท่อนเล่นก่อนเวลาเพื่อนักแสดงจะได้ “แสดงตรงกับ” ดนตรี ในตอนแรกก็ให้ยาวกว่าเอาไว้ก่อน ถ้าหากคุณต้องถ่ายหลายเทค คุณอาจต้องตัดให้ช่วงนี้สั้นลง เมื่อฝ่ายเสียงพร้อมและเล่นเพลง เขาจะตะโกนว่า “เร่ง!” (เป็นอากัปกิริยาที่ย้อนไปสมัยเมื่อการอัดเสียงในฉากต้องทำด้วยเทปแม่เหล็กที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน ซึ่งต้องใช้เวลาครู่หนึ่งถึงจะเร่งความเร็วได้) ฝ่ายเสียงอาจต้องการให้อัดเสียงเข้าไปในวิดีโอด้วย เพื่อจะเป็นแทร็คอ้างอิงสำหรับการตัดต่อภายหลัง
  5. ให้ช่างไฟทุกคนอยู่ประจำตำแหน่ง และเปิดไฟทุกดวง
  6. ตากล้องจะเป็นคนกดปุ่มบันทึกภาพ และเริ่มถ่ายทำฉากนั้น
  7. คุณก็รู้นี่ว่ามันเป็นไง เวลาบอก “แอคชั่น!” นักแสดงก็จะเริ่มแสดงบทบาทในฉาก
  8. ในตอนท้าย คุณอาจมีเทคหลายเทค มุมกล้องหลายมุม มีเทคที่เด็ดดวง และเทคห่วยแตก ความสนุกมันเริ่มที่ตรงนี้ล่ะ!
    • การทำหนังนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียดซึ่งไม่อาจอธิบายได้หมดในบทความเดียว ลองหาคำแนะนำจากที่อื่นมาประกอบด้วยก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 5:

โพสต์โปรดัคชั่น

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยทั่วไปก็ใช้ USB, Firewire หรือปลั๊กต่ออื่นๆ ไม่ว่าจะทำทางไหน ก็ต้องโหลดทุกอย่างลงในคอมพิวเตอร์และเก็บไว้ในที่เดียวกัน
  2. ใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Sony Vegas, iMovie, Adobe Premiere, Final Cut Pro, หรือ Avid ที่หรูหราราคาแพง มหัศจรรย์จะเริ่มต้นที่ตรงนี้แหละ
  3. ดูวิดีโอที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ดูทุกเทคแล้วเลือกเฉพาะเทคที่ดีที่สุด
    • ใช้แถบเสียงหยาบๆ ในวิดีโอมาเป็นตัวกำหนดท่อนที่จะตัดต่อเข้ากับดนตรี แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงรบกวนในแถบเสียงนั้น มันไม่ได้เอามาใช้ในวิดีโอขั้นตอนสุดท้าย
  4. เมื่อใส่ดนตรีเข้ามาแล้ว ให้เช็คดูว่าไอ้ที่คุณตัดต่อกับเพลงนั้นมันซิงค์กันไหม ส่วนใหญ่มันจะใกล้เคียงแต่ไม่ถึงกับพอดีเป๊ะ เว้นเสียแต่คุณจะโชคดี ปรับแต่งแต่ละคัทให้มันลงตัวอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่าถ้าเป็นฉากที่วงดนตรีกำลังเล่นเพลงนั้น
    • ถ้าหากใช้ฟุตเทจของวงตอนกำลังเล่น ให้เตรียมปกปิดข้อผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามือกีตาร์กำลังทำทีว่าเล่นเพลง "Stairway to Heaven" ในวิดีโอระหว่างฉากที่เขากำลังเล่นโน้ตตัวเดียวไปตลอด ให้ตัดไปยังสมาชิกคนอื่นในวง หรือกลับไปหาฉากอื่นระหว่างช่วงเวลานั้น
    • พยายามเพลาการตัดต่อ การซอยฉากย่อยๆ มาวางต่อกันทำให้ผู้ชมตามเรื่องไม่ทันได้ ในขณะที่การวางภาพยาวโดยไม่ตัดต่อก็ทำให้มันดูหลอกตา ถ้าตัดต่อไม่ได้เรื่องมันจะเห็นผลอย่างชัดเจน ใช้เวลาของคุณพิจารณาตัดสินให้ดีที่สุด
  5. มันเคยเป็นมาตรฐานว่าชื่อเพลง ศิลปิน ต้นสังกัด และผู้กำกับมิวสิควิดีโอจะปรากฎเป็นข้อความตอนต้นและท้ายวิดีโอ แต่ปัจจุบันนี้ ศิลปินบางรายเลือกจะตัดข้อมูลเหล่านี้ออกหรือไม่ก็หันไปหาวิธีนำเสนอชื่อเรื่องและเครดิตใน “แบบภาพยนตร์” คุยกับนักแสดง ทีมงานและวงดนตรีดูว่าพวกเขาคิดยังไงกับวิธีที่คุณเลือก
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 5:

เรียนรู้จากบรรดามือฉมัง

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก็เหมือนศิลปะแขนงอื่นๆ การสร้างมิวสิควิดีโอก็มีชิ้นงานระดับ “ขึ้นหิ้ง” เหมือนกัน วิดีโอเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิดีโอของศิลปินและผู้กำกับรุ่นหลัง ควรรู้ด้วยว่ามิวสิควิดีโอในตำนานเหล่านี้มีความยิ่งใหญ่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง บางชิ้นโดดเด่นด้านภาพ บ้างก็มีมุมมองที่เฉียบคม และบ้างก็เข้ากับตัวเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยการทำความเข้าใจว่าเหตุใดวิดีโอเหล่านี้ถึงมีอิทธิพลนัก จะทำให้คุณมีมุมมองว่าจะทำวิดีโอให้เป็นที่จดจำอย่างไรได้ดีขึ้น
  2. มิวสิควิดีโอที่เป็นที่ชื่นชอบหลายชิ้นบอกเล่าเรื่องราวที่มีทั้งตลกขบขัน ชวนช็อค เศร้า หรือกระตุ้นอารมณ์ชนะ เรื่องเล่าที่ยอดเยี่ยมจะคงอยู่ในหัวของผู้ชมเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือกระทั่งเป็นปี
    • อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมิวสิควิดีโอที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลก็ว่าได้ ผลงานที่จอห์น แลนดิสกำกับเพลง “Thriller” ของไมเคิล แจ็คสันนั้นบอกเล่าเรื่องราวแสนคลาสสิค [6] วิดีโอตัวนี้ยังยาวมากเกินมาตรฐานความยาวเพลงปกติ มันใช้ได้ผลในที่นี้ แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง การใช้ดนตรีน้อยไปนิดและใช้วิดีโอมากไปหน่อยรวมกันแล้วอาจได้ความน่าเบื่อกลับมาแทน
    • วิดีโอเพลง “Just” ของวง Radiohead กำกับโดยเจมี่ ทราเวส ก็บอกเล่าเรื่องราวยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แม้จะใช้การเล่าเรื่องคนละโทนเลย [7] วิดีโอตัวนี้ใช้ตัวแสดงเป็นพวกคนทำงานที่คาสต์ตัวได้อย่างสุดยอดและตอนจบเปิดกว้างต่อการตีความถึงความว่างเปล่าของชีวิตคนทำงานชั้นกลาง มันเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับเนื้อเพลงของธอม ยอร์ค
  3. มิวสิควิดีโอเป็นที่ทางสำหรับการประชันนวัตกรรมและลูกเล่นทางภาพได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้ว วิดีโอเปิดโอกาสให้ได้ใช้ภาพในแบบนามธรรม ใช้เอฟเฟกต์ไม่เหมือนใคร หรือใช้อนิเมชั่นที่โทนภาพเข้ากันกับเนื้อเพลง งานภาพไม่จำเป็นต้อง “มีเหตุผลรองรับ” ในแบบที่เราคุ้นเคยด้วยซ้ำ ตราบเท่าที่มันสะดุดสายตาและไปกันได้ดีกับตัวเพลง มันก็จะสร้างความประทับใจได้แล้ว
    • วิดีโอที่สตีฟ บาร์รอนทำให้กับเพลง “Take On Me” ของวง A-ha นั้นเป็นเรื่องราวรักโรแมนติกที่ใช้คนแสดงจริงผสมผสานไปกับอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคโรโตสโคปไตล์ภาพร่าง [8] ทางเลือกที่มีสไตล์เฉพาะตัวนี้เข้ากันได้กับโทนของเพลงที่สะดุดหูชวนให้หลงรักได้อย่างเหมาะเหม็ง จนทำให้มันเป็นงานภาพที่ไม่รู้ลืม
    • วิดีโอสำหรับเพลง "Seven Nation Army" ของวง The White Stripe (กำกับโดยคู่หูอเล็กซ์กับมาร์ติน) ใช้ลูกเล่นทางภาพทำให้เกิดภาพลวงตาเหมือนการซูมภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดความยาวสี่นาที [9] เมื่อบวกกับการเลือกใช้สายฟ้าฟาด มันได้สร้างเอฟเฟกต์ที่ทำให้ตัววิดีโอมีบรรยากาศดำมืดถูกใจ
    • โปรดดูวิดีโอเพลง "Stockholm Syndrome" ของ Muse [10] และเพลง "Money for Nothing." ของ Dire Straits < [11]
  4. การอ้างอิงเชิงวัฒนธรรมถูกใช้อยู่บ่อยๆ ในมิวสิควิดีโอ บางครั้งวิดีโอทั้งเรื่องเป็นการแสดงความเคารพหรือล้อเลียนวัตถุดิบต้นเรื่องที่ถูกนำมาอ้างอิง ถ้าหากอารมณ์ขันนั้นเข้าท่า ผลที่ได้อาจถึงขั้นขึ้นหิ้ง ถ้าหากตัวศิลปินเองไม่ได้กังวลในภาพลักษณ์ของตัวเองนักก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก ผู้คนรักนักดนตรีที่ถ่อมตนมากพอที่จะทำตลกกับตัวเอง
    • วิดีโอที่ไฮพ์ วิลเลี่ยมส์กำกับให้ 2Pac และ Dr. Dre ในเพลง "California Love" เป็นการล้อเลียนหนังเรื่อง Mad Max [12] การล้อเลียนนี้รับใช้สองวัตถุประสงค์ นอกเหนือจากมันโคตรตลกแล้ว มันยังชี้ชวนให้เห็นว่าแคลิฟอร์เนียในช่วงทศวรรษ 1990s นั้นเป็นเสมือนสนามเด็กเล่นที่ไร้ซึ่งกฏหมาย ออกแนวไม่เล่นเขาเราก็ตาย มีแต่คนที่แกร่งที่สุดถึงจะอยู่รอดได้ ไม่ต่างจากภาพโลกอนาคตหลังวันสิ้นโลกอย่างที่ปรากฏในหนัง Mad Max
    • มิวสิควิดีโอล้อเลียนที่ขำขันยิ่งกว่าก็คือวิดีโอเพลง "Sabotage" ของคณะ Beastie Boys ที่กำกับโดยสไปค์ จอนซ์ [13] เขาให้สมาชิกในวงแสดงเป็นตัวละครอย่างที่เห็นตามซีรี่ส์ตำรวจบ้าระห่ำในยุคทศวรรษ 1970s จอนซ์ทำวิดีโอชิ้นนี้ได้หลุดโลกไม่รู้ลืมซึ่งมันเข้ากับตัวเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  5. มันอาจสร้างความบันเทิงเริงใจกับเพียงแค่ทุ่มเงินลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไปถ่ายในสถานที่ห่างไกลและแปลกตา วางแผนใช้ฉากที่ต้องใช้นักเต้นประกอบฉากจำนวนมหาศาล จ้างนางแบบระดับซูเปอร์โมเดล มิวสิควิดีโอชั้นยอดอาจเป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่ตระการตาชะมัดก็ได้
    • วิดีโอที่ไฮพ์ วิลเลี่ยมส์กำกับให้เพลง "Big Pimpin'" ของ Jay Z เป็นตัวอย่างแสนคลาสสิคในเรื่องความตระการตา [14] ตัวเนื้อเรื่องแทบจะไม่มีอะไร ก็แค่หนุ่มเจย์-ซีมีความสุขอยู่บนเรือยอชท์ขนาดใหญ่ท่ามกลางเพื่อนฝูง ปาร์ตี้ในวิลล่าเขตร้อน และโปรยเงินใส่ฝูงชน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกลางหมู่สาวสวย เป็นการแสดงออกถึงความร่ำรวยและขี้โอ่ แต่มันส่งผลกระทบน่าดู
    • เลดี้กากา ก็เป็นศิลปินดังอีกคนที่เด่นในเรื่องมิวสิควิดีโอ วิดีโอที่สตีฟ ไคลน์กำกับให้เธอในเพลง "Alejandro" ใช้ฉากโลกอนาคตแบบเผด็จการดิสโทเพียที่พิลึกและแทรกไปด้วยกามารมณ์ เติมรายละเอียดด้วยฉากและเครื่องแต่งกายที่บ้าหลุดโลก (แต่เข้ากับเรื่อง) [15] มันเป็นงานสร้างที่ทุ่มทุนและชวนตะลึง
  6. ในทางตรงกันข้าม มิวสิควิดีโอที่ดีหลายตัวกลับดำเนินรอยตามปรัชญา “น้อยคือมาก” มิวสิควิดีโอเหล่านี้จะปล่อยให้ผู้ชมได้โฟกัสไปตรงสิ่งที่เกิดขึ้น (และอารมณ์ที่สัมพันธ์กับตัวเพลง) โดยไม่มีอะไรมากวนสายตา วิดีโอแบบมินิมอลนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้กำกับที่มีงบจำกัด
    • วิดีโอที่แซมทำให้กับเพลง "Islands" ของ The XX's ใช้ช็อตนักเต้นสั้นๆ ซ้ำๆ กันจนได้ผลที่เยี่ยมยอด [16] โดยการเปลี่ยนท่วงท่าของนักเต้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละช็อตที่ฉายซ้ำ เราสามารถเห็นร่องรอยถึงเรื่องรักแสนเศร้าที่กำลังเผยออกมา ความเปลี่ยนแปลงที่คลี่คลายออกมาในที่สุดทำให้ช็อตสุดท้ายนั้นชวนตะลึงยิ่งขึ้น
    • วิดีโอตัวแรกๆ ของวง OK GO ใช้ท่าเต้นที่สร้างสรรค์มาทำให้เกิดวิดีโออันเป็นที่น่าจดจำในงบประมาณจำกัดจำเขี่ย วิดีโอเพลง "Here it goes again" (กำกับโดยทริช ซีและสมาชิกในวง) เป็นตัวอย่างวิดีโอที่ทำได้ดีโดยแทบไม่ต้องใช้อะไร [17] วิดีโอถูกถ่ายในช็อตนิ่งยาวต่อเนื่องภายในห้องที่ไม่ต้องตกแต่งอะไร อุปกรณ์ประกอบฉากมีเพียงลู่วิ่งไฟฟ้าแปดตัว เนื่องด้วยท่วงท่าการเต้นที่เยี่ยมยอดบวกกับแนวคิดที่แปลกใหม่ทำให้วิดีโอตัวนี้กลายเป็นงานฮิตแพร่ระบาดไปทั่วโลกในตอนที่มันออกฉายในปี 2006
    โฆษณา


เคล็ดลับ

  • ให้แน่ใจว่ากล้องวิดีโอไม่ได้ตั้งถ่ายประจันหน้ากับดวงอาทิตย์หรือกล้องตัวอื่น ดวงอาทิตย์สามารถทำให้ฮาร์ดแวร์ที่ใช้เก็บภาพข้างในนั้นเสียหายได้
  • กลยุทธที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการถ่ายวิดีโอคือถ่ายวิดีโอแตกต่างกันสามแบบแล้วนำคลิปที่ได้มาตัดต่อ “รวมกัน” เป็นวิดีโอชุดเดียว
  • สำหรับวิดีโอใน YouTube คุณจะต้องใส่เครดิตในบริเวณ “รายละเอียดเพิ่มเติม” ไม่งั้นเพลงของคุณอาจถูกปิดเสียงหรือถอดวิดีโอออกเลยเพราะไปละเมิดลิขสิทธิ์!
  • ใส่ข้อความด้านลิขสิทธิ์ลงไปในเครดิตเสมอ เพื่อรักษาสิทธิทางปัญญาของคุณ
  • ใส่ข้อความด้านลิขสิทธิ์ลงไปในเครดิตเสมอ เพื่อรักษาสิทธิทางปัญญาของคุณ
    • ถ้าหากคุณมั่นใจในคุณภาพงานมาก ลองแบ่งปันให้สถานีวิทยุหรือช่องรายการเพลงในโทรทัศน์ได้ดูสิ พวกเขาอาจนำมาแชร์ในเว็บไซต์หรือนำไปออกอากาศเลยก็เป็นได้
  • ปิดเสียงวิดีโอให้เงียบเมื่อคุณเอาตัวเพลงใส่เข้าไป เพื่อที่เสียงฉากหลังจะได้ไม่มารบกวน
  • ถ้าคุณไม่สามารถหาสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการถ่ายทำมิวสิควิดีโอได้หมด ลองถามทีมงานหรือเพื่อนดูสิว่าเขาพอมีสิ่งนั้นหรือไม่
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • เพลงที่เข้าท่า
  • นักแสดง
  • กล้องและตากล้อง
  • กล้องถ่ายภาพนิ่ง (อาจเป็นโทรศัพท์มือถือก็ได้)
  • ช่างไฟและผู้ช่วย
  • วิศวกรบันทึกเสียง
  • คอมพิวเตอร์
  • ซอฟต์แวร์สำหรับตัดต่ออย่าง Windows Movie Maker (PC), iMovie or Final Cut Pro (สำหรับ Macs), หรือ Sony Vegas สำหรับทั้งสองระบบปฏิบัติการ
  • นักเต้น
  • ศิลปิน
  • ฉากหลัง


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 34,810 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา