ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ในชีวิตของพวกเราอย่างน้อยก็ต้องเคยเจอใครสักคนที่มีเสียงพูดไพเราะน่าฟัง จนทำให้เราเพลิดเพลินไปกับเสียงพูดของเขา ถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ได้ฟังว่าเขากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม และแม้ว่าการออกเสียงสูงต่ำและการเลือกใช้คำให้สมบูรณ์แบบอาจจะเป็นอะไรที่เราต้องพัฒนามันไปเรื่อยๆ ตลอดช่วงชีวิตของตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ในเรื่องของการทำเสียงพูดให้ฟังดูลื่นหูนั้นเราสามารถฝึกมันให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และการที่คุณจะทำแบบนั้นได้ สิ่งที่คุณต้องมีก็คือ แนวทางเล็กๆ น้อยๆ และความมุ่งมั่นที่จะขยันฝึกฝนเท่านั้นเอง ฉะนั้น ถ้าคุณต้องการพัฒนาเสียงพูดที่เพอร์เฟกต์ให้ตัวเอง ให้คุณทำตามตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

พัฒนานิสัยการพูดที่ดีให้ตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพูดให้คนอื่นได้ยินนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ฉะนั้น เราอยากให้คุณพูดให้ดังขึ้นกว่านี้! เพราะถ้าคุณชอบพูดแบบกระซิบ พูดพึมพำ หรือพูดแบบก้มหน้า คนอื่นก็อาจจะขัดจังหวะหรือแย่งคุณพูด หรือไม่ก็อาจจะมองข้ามคุณไปเลยก็ได้
    • นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องตะโกนเวลาพูดนะ แต่คุณควรจะปรับระดับความดังเวลาพูดให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ไป ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพูดกับคนกลุ่มใหญ่อยู่ คุณก็จำเป็นต้องพูดให้ดังๆ เพื่อที่คุณจะได้เปล่งเสียงออกมาให้ทั่วถึงได้
    • แต่สิ่งที่คุณไม่จำเป็นต้องทำก็คือ การพูดเสียงดังเวลาที่พูดคุยกันแบบปกติในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าคุณทำแบบนั้น คนอื่นอาจจะมองคุณในแบบผิดๆ ได้
  2. การพูดเร็วเกินไปนั้นจัดว่าเป็นนิสัยการพูดที่ไม่ค่อยดีเท่าไร และอาจจะทำให้คนอื่นตามไม่ทันหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพูดอีกด้วย นอกจากนี้ คนฟังก็อาจจะเลิกสนใจและหยุดฟังคุณพูดไปเลยก็ได้
    • และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการพูดให้ช้าลงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน ฉะนั้น ให้คุณพูดแต่ละคำออกมาให้ช้ากว่านี้ และเว้นช่องว่างระหว่างประโยคด้วย เพราะวิธีนี้จะเป็นการช่วยเน้นย้ำสิ่งที่คุณกำลังพูดอยู่ แถมยังเป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้พักหายใจอีกด้วย!
    • แต่อีกนัยหนึ่ง การพูดช้าเกินไปก็คงไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไร เพราะการพูดช้าเกินไปอาจทำให้คนฟังเบื่อ จนบางทีพวกเขาอาจจะทนไม่ไหวและเลิกฟังคุณไปในที่สุดได้
    • เรทความเร็วของการพูดที่ดีควรจะอยู่ที่ระหว่าง 120 ถึง 160 คำต่อนาที อย่างไรก็ตาม หากสิ่งที่คุณกำลังพูดนั้นเป็นการพูดแบบกล่าวสุนทรพจน์ การคอยปรับสปีดของการพูดให้เข้ากับแต่ละจังหวะของการพูดก็เป็นไอเดียที่ดีเหมือนกัน เพราะการพูดช้าๆ จะเป็นการช่วยเน้นย้ำในประเด็นที่คุณพูด ในขณะที่การพูดให้เร็วขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนฟังรู้สึกถึงความมุ่งมั่น และความกระตือรือร้นของตัวคุณได้ [1]
  3. การพูดออกมาให้ชัดเจนอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาเสียงพูดที่ดีเลยก็ได้ ฉะนั้น เวลาที่พูด คุณจะต้องใส่ใจกับคำทุกคำที่พูดออกมา และออกเสียงให้เต็มและถูกต้องด้วย
    • อย่าลืมเปิดปาก ผ่อนคลายริมฝีปาก และให้ลิ้นกับฟันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเวลาที่คุณพูดด้วย เพราะวิธีนี้อาจจะช่วยกำจัดหรือแก้ไขอาการพูดไม่ชัดของคุณได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ทำ คุณอาจจะรู้สึกแปลกๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าคุณพยายามฝึกออกเสียงให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ไม่นานคุณก็จะพูดได้เองโดยธรรมชาติ [1]
  4. ฝึกหายใจลึกๆ . การหายใจลึกๆ คือส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้คุณมีเสียงพูดที่เต็มและน่าฟัง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะชอบหายใจเร็วเกินไปและไม่ลึกพอเวลาที่ตัวเองพูด ทำให้เสียงพูดที่ออกมาฟังดูไม่เป็นธรรมชาติและขึ้นจมูก
    • ลมหายใจของคุณควรจะออกมาจากกะบังลม ไม่ใช่จากหน้าอก และถ้าคุณอยากจะรู้ว่าตัวเองหายใจถูกวิธีหรือเปล่า ก็ให้คุณกำมือวางไว้ที่ท้องที่ตรงช่วงใต้ซี่โครงซี่สุดท้ายของคุณ หากคุณหายใจถูกวิธี ท้องของคุณจะขยายตัวและไหล่ของคุณก็จะยกขึ้นและลดต่ำลงไปตามจังหวะที่คุณหายใจ
    • การฝึกหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้อากาศเข้ามาเติมเต็มในช่องท้องคุณได้ ซึ่งวิธีการฝึกก็คือ ให้คุณหายใจเข้า 5 วินาที แล้วหายใจออกอีก 5 วินาที จากนั้นก็ทำตัวเองให้คุ้นเคยกับวิธีหายใจแบบนี้ แล้วทำวิธีนี้ให้เข้ากับการพูดในชีวิตประจำวันของตัวเองซะเลย
    • จำไว้ว่า การนั่งหรือยืนตัวตรงพร้อมกับเชิดคางขึ้นและดึงไหล่ไปข้างหลังนั้น จะช่วยทำให้คุณหายใจได้ลึกกว่าเดิม และทำให้คุณควบคุมการเปล่งเสียงของตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ วิธีนี้ยังช่วยทำให้รู้สึกมั่นใจในขณะที่พูดด้วยอีกต่างหาก
    • ให้คุณพยายามหายใจตอนจบประโยคให้ได้ทุกประโยค เพราะถ้าคุณจะใช้วิธีการหายใจลึก คุณก็ควรจะเก็บลมเอาไว้ให้มากพอสำหรับประโยคต่อไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยุดพักเพื่อหายใจ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้คนฟังมีเวลาซึมซับข้อมูลที่คุณกำลังพูดออกมาด้วย
  5. ระดับของเสียงพูดนั้นมีผลต่อคุณภาพการพูด และยังมีผลต่อคนฟังอีกด้วย ซึ่งถ้าคุณพูดเสียงแบบสั่นเครือและไม่คงที่ คนอื่นก็อาจจะคิดว่าคุณประหม่าได้ ในขณะที่การพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งและสม่ำเสมอนั้นจะฟังดูสงบและชวนโน้มน้าวใจได้มากกว่า [2]
    • และถึงแม้ว่าคุณไม่ควรจะพยายามไปเปลี่ยนเสียงธรรมชาติของตัวเองให้กลายเป็นแบบอื่น (ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนจนเหมือนกับเสียงของดาร์ธ เวเดอร์นะขอร้องล่ะ) แต่คุณควรจะพยายามควบคุมการใช้เสียงของตัวเองให้ได้ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความประหม่ามาเอาชนะตัวคุณ และพยายามทำเสียงของตัวเองให้ออกมาเต็มและลื่นไหลกว่าเดิมให้ได้
    • คุณอาจจะลองฝึกควบคุมระดับเสียงของตัวเองด้วยการฮัมทำนองเพลงออกมา หรือว่าจะใช้วิธีอ่านข้อความในหนังสือออกมาดังๆ ก็ได้ และให้จำไว้ว่าบางครั้ง เราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เสียงนิ่งหรือเรียบอยู่ตลอดเวลา เพราะสำหรับคำบางคำ เราก็ควรต้องใช้เสียงที่สูงขึ้นเพื่อช่วยเน้นคำนั้นด้วย [3]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ฝึกการพูดของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การฝึกบริหารเสียงเป็นวิธีดีๆ ที่จะช่วยพัฒนาเสียงธรรมชาติของคุณได้ ซึ่งสำหรับวิธีนี้แล้ว ถ้าเกิดคุณฝึกพร้อมกับการมองที่หน้ากระจก มันก็จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นเดียวกับวิธีการต่างๆ ที่อยู่ด้านล่างนี้ด้วย
    • พยายามอย่าเกร็งปากและผ่อนคลายเส้นเสียงของตัวเองเข้าไว้ โดยคุณสามารถทำวิธีนี้ได้ด้วยการอ้าปากค้างกว้างๆ และขยับกรามจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งสลับกันไปมา รวมถึงให้ฮัมทำนองเพลงออกมา และใช้นิ้วค่อยๆ นวดกล้ามเนื้อที่ลำคอของตัวเองด้วย
    • เพิ่มความจุอากาศที่ได้จากการหายใจให้ปอด และระดับเสียงด้วยการหายใจออกให้สุดจนกว่าอากาศข้างในจะถูกขับออกจากปอดจนหมด จากนั้นก็ให้หายใจเข้าลึกๆ ค้างไว้สัก 15 วินาทีก่อนที่จะหายใจออกอีกครั้ง
    • พยายามปรับปรุงระดับเสียงของตัวเองด้วยการร้องเสียง “อา” ออกมา โดยในครั้งแรกให้คุณร้องในระดับเสียงปกติก่อน จากนั้นค่อยๆ ลดระดับเสียงให้ต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้วิธีนี้กับตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวได้ด้วย [1]
    • ให้คุณลองฝึกเล่นคำที่มีสัมผัสอักษรอย่างเช่น
      • ระนอง ระยอง ยะลา
      • ชามเขียวคว่ำเช้า ชามขาวคว่ำค่ำ
      • กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน กินทั้งมันกินทั้งเผือก ติดทั้งเหงือกติดทั้งฟัน
  2. การที่คุณจะออกเสียง เว้นจังหวะ และควบคุมความดังของเสียงพูดของตัวเองให้ดีได้นั้น การฝึกอ่านออกเสียงดังๆ ก็เป็นไอเดียดีๆ ไอเดียหนึ่งที่คุณควรนำไปใช้
    • ให้คุณเลือกข้อความจากหนังสือหรือนิตยสาร หรือหาบทพูดสุนทรพจน์ที่โด่งดังมา อย่างเช่น สุนทรพจน์ของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (ซึ่งมีคนแปลเป็นภาษาไทยไว้บ้างแล้ว คุณสามารถเสิร์ชหาได้เลย) จากนั้นก็เอามาฝึกอ่านออกเสียงดังๆ ดู
    • จำไว้เสมอว่าเวลาพูด คุณจะต้องยืนตัวตรง หายใจให้ลึกๆ และเปิดปากให้สุด โดยคุณอาจจะฝึกวิธีนี้กับหน้ากระจกด้วยก็ได้ หากคุณรู้สึกว่ามันช่วยทำให้การฝึกนั้นง่ายขึ้น
    • ฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะพอใจกับเสียงที่ตัวเองได้ยิน แล้วจากนั้นก็ให้ลองปรับใช้เทคนิคเดียวกันนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพูดในชีวิตประจำวันของคุณซะ
  3. แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบฟังเสียงตัวเองพูดสักเท่าไร แต่การอัดเสียงพูดของตัวเองไว้ฟังก็เป็นวิธีดีๆ ที่จะช่วยคุณได้
    • วิธีนี้จะช่วยทำให้คุณรับรู้ถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ปกติแล้วคุณอาจจะมองไม่เห็นตรงจุดนั้น อย่างเช่น การออกเสียงผิด และปัญหาเรื่องความเร็วในการพูดและระดับเสียงของตัวเอง
    • ทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือเกือบทุกรุ่นนั้นสามารถบันทึกเสียงได้แล้ว ฉะนั้น คุณสามารถบันทึกเสียงตัวเองเพื่อเอาไว้ฟังได้ หรือคุณจะใช้กล้องถ่ายวิดีโอก็ได้เหมือนกัน (การถ่ายวิดีโอจะทำให้คุณสามารถเช็คท่าทาง การสบตา และการเคลื่อนไหวของปากตัวเองได้)
  4. หากคุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการปรับปรุงเสียงพูดของตัวเองเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นจากการที่คุณจะต้องพูดโต้วาที พูดปราศรัย หรือพูดนำเสนออะไรบางอย่าง ทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้ ก็น่าจะเป็นการขอนัดปรึกษากับครูสอนการใช้เสียงสักคน เพราะคนที่ทำอาชีพนี้ จะสามารถชี้จุดบกพร่องในการพูดของแต่ละคนได้ และยังช่วยแนะนำหรือแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย
    • นอกจากนี้ การขอคำปรึกษาจากครูสอนการใช้เสียงก็เป็นความคิดที่เข้าท่าอีกเหมือนกัน หากคุณเป็นคนที่ชอบพูดติดสำเนียงท้องถิ่นและพยายามจะแก้ไขสำเนียงนั้นอยู่ ซึ่งการกำจัดสำเนียงเดิมของตัวเองนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเสียด้วย ฉะนั้น การปรึกษากับมืออาชีพก็น่าจะเป็นอะไรที่ช่วยคุณได้เยอะ
    • หากคุณรู้สึกว่าการที่จะต้องไปหาครูสอนการใช้เสียงนั้นเป็นเรื่องที่ดูเกินความจำเป็นไปมาก คุณอาจจะฝึกออกเสียงต่อหน้าเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวก็แทนก็ได้ เพราะบางทีพวกเขาอาจจะช่วยชี้จุดบกพร่อง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณได้ นอกจากนี้ วิธีนี้ยังจะช่วยทำให้คุณรู้สึกมั่นใจกับการที่จะต้องพูดต่อหน้าคนอื่นมากขึ้นด้วย [4]
  5. คนอื่นจะชื่นชอบคุณและสิ่งที่คุณพูดมากขึ้นหากคุณใช้โทนเสียงที่เปิดกว้าง เป็นมิตร และโทนเสียงแบบเสริมกำลังใจ (ซึ่งจะตรงกันข้ามกับโทนเสียงแบบดุดัน ประชดประชัน หรือโทนเสียงแบบไร้อารมณ์)
    • วิธีการดีๆ ที่จะช่วยทำให้โทนเสียงของคุณดูเป็นมิตรและอบอุ่นได้มากขึ้นก็คือ ให้คุณยิ้มในขณะที่พูด ซึ่งจะต้องไม่ใช่การยิ้มในแบบที่เยอะจนเกินไปด้วย ฉะนั้น ระวังไว้ด้วยล่ะ และจำไว้ว่า แม้แต่การยกมุมปากขึ้นเล็กน้อยก็สามารถทำให้เสียงพูดของคุณน่าฟังมากขึ้นได้แล้ว และถึงแม้ว่าจะเป็นการพูดทางโทรศัพท์ เสียงคุณก็ยังน่าฟังอยู่ดี
    • แน่นอนว่าการยิ้มเวลาพูดคงไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์แน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณกำลังพูดคุยกันในประเด็นที่ซีเรียสอยู่ แต่เราก็อยากให้คุณจำไว้ด้วยว่า การใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในน้ำเสียง (ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกไหนก็แล้วแต่) นั้นสามารถให้ผลที่น่ามหัศจรรย์ได้เสมอ [5]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • หากเป็นไปได้ ให้คุณฝึกวิธีเหล่านี้ในห้องที่ปิดสนิทที่ไม่มีพรม เพื่อที่คุณจะได้ได้ยินเสียงของตัวเองได้ชัดขึ้น
  • ลองฝึกเทคนิคการร้องเพลงให้หลากหลายเทคนิค เพราะมันคือวิธีที่ดีที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้วิธีการหายใจและการใช้เสียงที่ถูกต้องได้
  • เช็คให้แน่ใจด้วยว่าตัวเอง วางท่าทางในแบบที่ถูกต้อง แล้วจริงๆ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณมีเสียงพูดที่ดีได้
  • เวลาที่เส้นเสียงของคุณสร้างเสียงออกมา คุณควรจะรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนที่หน้าอก หลัง คอ และศีรษะของคุณด้วย การสั่นสะเทือนนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างเสียงก้องกังวานออกมา และทำให้คุณมีเสียงพูดที่เต็มและน่าฟังได้ ซึ่งนี่แหละ คือสิ่งที่คุณต้องพยายามทำให้สำเร็จ ฉะนั้น ให้คุณใช้เวลาผ่อนคลายพื้นที่ของร่างกายส่วนนี้ให้มากๆ
  • กรามและริมฝีปากของคุณคือส่วนสำคัญที่สุดที่คุณควรจะต้องทำให้ผ่อนคลายเข้าไว้ เพราะว่าตรงพื้นที่ส่วนนั้นจะเป็นสิ่งที่สร้างพื้นที่เก็บเสียงสะท้อนเอาไว้ ซึ่งก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กับซาวด์โฮล (sound hole) ของตัวกีตาร์นั่นแหละ และถ้าเกิดคุณเกร็งหรือปิดปากมากเกินไป คุณก็จะต้องออกแรงเยอะขึ้นไปอีก เพียงเพื่อที่จะได้เสียงที่อยู่ในระดับความดังเดียวกันกับในแบบที่คุณต้องการ ซึ่งถ้าคุณทำให้กรามและริมฝีปากผ่อนคลายและเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก นั่นก็จะทำให้เสียงของคุณฟังดูธรรมชาติมากขึ้น และดูไม่เกร็งหรืออู้อี้อยู่ในลำคอด้วย
  • อย่าเพิ่งเครียดไป หากเสียงพูดที่ออกมายังไม่ทำให้คุณพอใจสักที จำไว้ว่า ระดับของเสียงพูดที่คนเรามักจะคุ้นหูกันมากที่สุดนั้น จะมีอยู่ตั้งแต่ในช่วงระดับเสียงสูงไปจนถึงเสียงต่ำ รวมถึงในระหว่างสองช่วงเสียงนี้ด้วย
  • พยายามพูดออกมาให้ดังๆ หากคุณไม่พูดออกมาให้เสียงดังพอ คนอื่นก็อาจจะไม่ได้ยินเสียงคุณก็ได้ นอกจากนี้มันยังจะเป็นการช่วยพัฒนาเสียงพูดของคุณได้ด้วย และคนอื่นก็จะได้สามารถได้ยินเสียงคุณได้ชัดเจนมากขึ้นอีก
  • ให้คุณทำไหล่ให้ผ่อนคลายเข้าไว้เวลาที่ต้องพูด เพราะมันจะทำให้โทนเสียงของคุณนุ่มขึ้น และทำให้คุณดูเป็นคนที่ดูเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมด้วย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 85,244 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา