PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เครียดและต้องใช้เวลา แต่จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไปหรอก เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปเคร่งเครียดและพยายามยัดข้อมูลต่างๆ ใส่หัวในช่วงเวลาสั้นๆ และด้วยการทำสิ่งง่ายๆ สักสองสามอย่างไว้ล่วงหน้า คุณก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าเมื่อถึงเวลาสอบ ตัวคุณเองก็จะรู้สึกมั่นใจและพร้อมสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณจะต้องเจอในข้อสอบ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 5:

เตรียมความพร้อมสำหรับการอ่านหนังสือ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. กำหนดเวลาเอาไว้เยอะๆ ให้ตัวเองได้ทบทวนเนื้อหาที่ครอบคลุมในชั้นเรียน คุณอาจจะต้องประเมินดูว่าตัวเองควรจะเริ่มทบทวนเนื้อหาที่เรียนเร็วแค่ไหน โดยให้วัดจากความเยอะของเนื้อหาที่คุณจะต้องทบทวน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะต้องทบทวนเนื้อหาที่เรียนหมดทั้งเทอม คุณอาจจะต้องเริ่มอ่านหนังสือสักสองสามอาทิตย์ก่อนสอบ แต่ถ้าคุณต้องทำข้อสอบที่ครอบคลุมแค่เนื้อหาเพียงไม่กี่บท แค่หนึ่งสัปดาห์ก่อนสอบ หรือแม้แต่สามถึงสี่วันก่อนสอบก็น่าจะเพียงพอแล้ว [1]
    • มีแค่คุณเท่านั้นที่จะรู่ว่าตัวเองต้องใช้เวลาอ่านหนังสือนานแค่ไหน ฉะนั้น คุณคือผู้ตัดสินที่ดีที่สุดที่จะบอกได้ว่าตัวเองควรจะเริ่มต้นทบทวนหนังสือตอนไหน
    • หากเนื้อหาที่เรียนเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคุณมากๆ ให้คุณรีบอ่านตั้งแต่เนิ่นๆ โดยให้กำหนดเวลาให้ตัวเองมีเวลามากพอที่จะทำความเข้าใจเนื้อหา ทำแบบฝึกหัด และทบทวนเนื้อหาอีกรอบ
    • คุณต้องนอนให้เต็มอิ่มในคืนก่อนสอบ เพราะสมองของคุณจำเป็นต้องใช้เวลาในการดูดซับข้อมูลต่างๆ ที่คุณได้ใส่เข้ามาให้อยู่กับตัวคุณไปนานๆ ฉะนั้น ให้อ่านทบทวนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องอดนอนทั้งคืน [2]
  2. อ่านสิ่งที่คุณจดโน้ตไว้ที่คุณคาดว่าน่าจะอยู่ในข้อสอบให้ละเอียด. วิธีนี้จะทำให้คุณนึกเนื้อหาต่างๆ ออกมาได้ และช่วยทำให้คุณจดจำสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้มาด้วย นอกจากนี้ วิธีนี้ยังช่วยให้คุณรู้ข้อมูลทั้งหมดที่ตัวเองจดเอาไว้ด้วยว่าตรงไหนของสมุดหรือกระดาษโน้ตมีเนื้อหาอะไรบ้าง และนั่นก็จะทำให้คุณรู้ว่าจะต้องดูข้อมูลต่างๆ จากตรงไหน และมีอะไรที่อาจจะตกหล่นไปจากโน้ตที่คุณจดไว้บ้าง ที่สำคัญให้พิจารณาดูด้วยว่าโน้ตที่คุณจดไว้นั้นเพียงพอสำหรับการอ่านเพื่อสอบหรือเปล่า คุณเข้าเรียนครบทุกคาบหรือเปล่า? มีโน้ตที่จดไว้หายไปบ้างหรือไม่? ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น คุณอาจจะต้องยืมโน้ตของคนอื่นแล้วล่ะ
  3. หากคุณไม่ใช่คนที่ถนัดในการจดโน้ต หรือหากในเนื้อหาที่คุณจดไว้มีข้อมูลสำคัญที่ตกหล่นไปเยอะ ให้คุณลองถามเพื่อนของคุณดูว่าคุณจะขอถ่ายเอกสารจากเขาได้หรือเปล่า เพราะว่าโน้ตที่ดีจะสามารถสร้างความแตกต่างในตอนที่คุณอ่านมันได้ ซึ่งโน้ตที่ดีนั้นสามารถช่วยอธิบายสิ่งที่หนังสือไม่ได้อธิบายเอาไว้ดีพอ หรือช่วยเน้นข้อมูลต่างๆ และทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการจดจำมากขึ้นได้
    • หากกระดาษโน้ตที่คุณจดไว้มีแค่ 5 แผ่น แต่เพื่อนของคุณมี 20 แผ่น นั่นแสดงว่าคุณอาจจะพลาดเนื้อหาสำคัญบางอย่างไป ฉะนั้น ให้เทียบโน้ตตัวเองกับโน้ตของเพื่อนคุณด้วย เพื่อดูว่าในโน้ตของคุณมีอะไรตกหล่นไปบ้าง
  4. ถามอาจารย์ของคุณเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะออกสอบ. วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งในการเริ่มต้นอ่านหนังสือก็คือ การถามอาจารย์เลยว่าจะออกสอบเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ก็มักจะให้แนวข้อสอบมาว่าเนื้อหาที่จะออกและไม่ออกมีอะไรบ้าง ซึ่งการที่คุณรู้ว่าการสอบจะครอบคลุมเนื้อหาส่วนไหนบ้าง จะทำให้คุณสามารถโฟกัสอยู่กับเนื้อหาหลักที่คุณจะต้องอ่านได้
    • อาจารย์ส่วนใหญ่มักจะไม่บอกตรงๆ หรอกว่าในข้อสอบจะมีอะไรบ้าง แต่เขาอาจจะบอกแนวมาด้วยการหยิบคู่มือประกอบการเรียน (study guide) ให้คุณดู หรือไม่ก็อาจจะแจ้งเลยว่าการสอบครั้งนี้จะครอบคลุมเนื้อหาส่วนไหนบ้าง [3]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 5:

ทบทวนข้อมูลต่างๆ ใหม่อีกรอบ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในขั้นตอนนี้ให้คุณเอาโน้ตที่จดไว้มาอ่านทำความเข้าใจอีกรอบ หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คุณจะต้องอ่านทบทวนโน้ตที่ตัวเองจดไว้นั่นเอง โดยให้คุณเริ่มต้นจากข้อมูลที่เป็นพื้นฐานของเรื่องที่คุณจะอ่านก่อน เช่น ถ้าคุณกำลังจะอ่านหัวข้อที่เป็นประวัติศาสตร์ศิลป์เกี่ยวกับยุคอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) คุณก็ต้องดูว่าความหมายของคำว่าอิมเพรสชันนิสม์คืออะไร และศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมีใครบ้าง
    • ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร สำหรับหัวข้อ/ประเด็นที่คุณจะอ่านเพื่อไปสอบ
    • คุณอาจจะอ่านข้อมูลต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตด้วยก็ได้ แต่ข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับการอ่านสอบก็คงจะต้องเป็นข้อมูลที่อาจารย์สอนในห้องเรียนนั่นแหละ เพราะว่าคำตอบต่างๆ ในข้อสอบจะต้องมาจากเนื้อหาที่เรียนในห้องอยู่แล้ว จำไว้ว่า บางครั้งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็อาจจะแตกต่างไปจากข้อมูลที่คุณเรียนในห้องก็ได้
    • หากคุณคิดจะอ่านจากข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ให้คุณเลือกเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .edu หรือ .gov
  2. ใช่แล้วล่ะ เราอยากให้คุณจดโน้ตเพิ่มเติมอีก หรือคุณอาจจะไฮไลต์และขีดเส้นใต้เอาก็ได้ แต่จำไว้ว่าการเขียนข้อมูลต่างๆ ออกมาจะช่วยทำให้ข้อมูลเหล่านั้นคงอยู่ในความจำคุณได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น อย่าลืมเขียนคอนเซปต์ต่างๆ ของเนื้อหาที่ยากสำหรับคุณหรือตรงส่วนที่คุณจำไม่ค่อยได้ออกมาด้วย [4]
    • แยกประเด็นที่ยากๆ ออกเป็นขั้นและส่วนย่อยๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพยายามจะจำลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ก็ให้คุณเขียนลิสต์เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ออกมาเรียงลำดับตามเวลาที่เกิดขึ้น เช่น ในตอนแรก ไลนัส พอลิง (Linus Pauling) ค้นพบ DNA และสิ่งที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ เขาได้รับรางวัล ฉะนั้น ให้คุณเขียนกรอบเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ขึ้นมา การที่คุณได้จดโน้ตเพิ่มเติมขึ้นมาแบบนี้จะช่วยทำให้คุณจดจำข้อมูลต่างๆ ได้ เพราะว่าวิธีนี้ช่วยเพิ่มระดับความเข้าใจให้คุณนั่นเอง
  3. ประมวลการสอน คือ สิ่งที่บอกว่าในวิชานั้นๆ คุณควรจะได้เรียนเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งมันเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้คุณเข้าใจแนวคิดและประเด็นหลักๆ ที่คุณจะต้องเรียนในวิชานั้น ฉะนั้น ให้อ่านประมวลการสอนนั้นแล้วไฮไลต์หัวข้อและหัวเรื่องย่อยเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อย่างน้อยคุณจะต้องทวนเพื่อให้มั่นใจว่าตัวคุณเองได้เข้าใจคอนเซปต์ใหญ่ๆ ที่อยู่เบื้องหลังหัวข้อเหล่านั้นแล้ว
    • อาจารย์บางคนอาจจะให้หมายเลขหน้าหรือบทมาในประมวลการสอนที่ตรงกับเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนของคุณด้วย ฉะนั้น ให้คุณจดโน้ตจากหน้าเหล่านั้นเอาไว้ด้วย เพราะคุณจะต้องอ่านทบทวนเนื้อหาที่อยู่ในหน้าเหล่านั้นอย่างแน่นอน
  4. เขียนหัวข้อและประเด็นหลักๆ ที่คุณได้จากประมวลการสอน. จากนั้น ให้คุณกลับไปดูโน้ตที่คุณจดเอาไว้ว่าโน้ตที่คุณมีนั้นครอบคลุมหัวข้อเหล่านั้นหมดหรือเปล่า ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าหากคุณมีเนื้อหาไม่ครบ ก็ให้คุณขอยืมโน้ตในส่วนที่คุณขาดจากเพื่อนๆ ดู และให้อ่านเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนให้ตรงตามหัวข้อที่มีอยู่ในประมวลการสอนนั้น จำไว้ว่า อะไรก็ตามที่อยู่ในประมวลการสอนย่อมถือว่าเป็น “สิ่งที่ยอมรับได้” สำหรับเนื้อหาที่จะต้องอ่านเพื่อเอาไปสอบ
  5. ทบทวนดูคู่มือประกอบการเรียนและเนื้อหาแต่ละส่วน. ในหนังสือบางเล่มนั้นแต่ละบทจะมีบทสรุปสั้นๆ เอาไว้ด้วย ซึ่งส่วนนี้ถือว่าดีมาก เพราะคุณสามารถทบทวนและทำความเข้าใจกับใจความสำคัญของเนื้อหาแต่ละส่วนได้ และแน่นอน ถ้าเกิดว่าคุณอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจว่าบทสรุปนั้นสื่อถึงอะไร หรือคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นความจำของตัวเอง ก็ให้คุณดูคู่มือประกอบการเรียนที่อยู่ด้านหลังของหนังสือแบบเรียน จากนั้นให้อ่านบทต่างๆ หรือเนื้อหาส่วนต่างๆ ในหนังสือที่คุณจำไม่ค่อยได้ซ้ำอีกครั้ง
    • คุณอาจจะเสิร์ชดูคู่มือประกอบการเรียนเอาในอินเทอร์เน็ตเพื่อดูเนื้อหาที่คุณกำลังจะอ่านทบทวนก็ได้ หากคุณไม่สามารถขอจากอาจารย์ของคุณได้จริงๆ
  6. ทุกหัวข้อจากหนังสือที่มีเขียนอยู่ในประมวลการสอนนั้นคุณควรจะทบทวนให้หมด เพื่อที่คุณจะได้ดึงข้อมูลสำคัญออกมาได้ และในขณะที่คุณกำลังอ่านทบทวนเนื้อหาสำคัญเหล่านั้นอยู่ ก็ให้คุณจำแนวคิดหลักๆ ที่คุณจะต้องเรียนรู้จากเนื้อหาส่วนนั้นเอาไว้ในใจเสมอ แล้วเขียนรายละเอียดที่สำคัญต่างๆ ออกมาในขณะที่อ่านทบทวนด้วย
    • ให้จดชื่อบทและชื่อหัวข้อของเนื้อหาที่คุณอ่านเอาไว้ด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่จะชี้ให้คุณเห็นถึงคอนเซปต์หลักๆ ที่ครอบคลุมเนื้อหาส่วนนั้น
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 5:

เตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลังจากที่คุณได้จดโน้ตเพิ่มเติมจากการที่คุณอ่านทบทวนเนื้อหาทั้งหมดแล้ว ทั้งจากหนังสือแบบเรียนและจากโน้ตที่จดไว้ก่อนหน้านี้ ก็ให้คุณใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาทำเป็นแฟลชการ์ด (ใช้กระดาษการ์ดใบเล็กๆ หรือจะตัดกระดาษธรรมดาเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อทำเป็นแฟลชการ์ดก็ได้) โดยให้เอาประโยคบอกเล่าที่อยู่ในเนื้อหามาตั้งเป็นคำถาม
    • ตัวอย่างเช่น หากประโยคนั้นคือ ไลนัส พอลิง เป็นหนึ่งในผู้ค้นพบ DNA ก็ให้คุณเขียนคำถามบนแฟลชการ์ดว่า “หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทหลักในการค้นพบ DNA คือใคร?” โดยให้เขียนคำถามด้านหนึ่ง และคำตอบอีกด้านหนึ่ง [5]
    • บางครั้งคำถามหนึ่งคำถามก็เป็นสิ่งที่สามารถจุดประกายไอเดียสำหรับคำถามต่อๆ ไปได้อีกด้วย เพราะเวลาที่คุณทำแฟลชการ์ด คุณจะรู้สึกได้ว่าอาจจะยังมีบางเรื่องที่คุณลืมคิดไป ตัวอย่างเช่นคำถามที่ว่า “มีใครที่อยู่ในกลุ่มผู้ค้นพบ DNA อีกบ้าง?” ซึ่งคำถามนี้เกิดขึ้นมาจากประโยคที่เกี่ยวกับ ไลนัส พอลิง เพราะคำว่า “ผู้ที่มีบทบาทหลัก” ในคำถามก่อนหน้านี้นั่นเอง และนั่นก็เป็นสิ่งที่ช่วยเตือนคุณว่ายังมีคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบ DNA อีก
    • หากคุณไม่รู้ว่าคำถามต่อมาต้องตอบอะไร ให้คุณค้นหาข้อมูลเอาเลย และทำแฟลชการ์ดคำถามจากข้อมูลเหล่านั้นด้วย
    • ให้คุณเริ่มต้นทำแฟลชการ์ดสำหรับข้อมูลที่คุณไม่ค่อยเข้าใจหรือจำไม่ค่อยได้ก่อน เพราะข้อมูลส่วนนี้คือข้อมูลที่คุณจะต้องทบทวนให้มากที่สุด จากนั้นก็ค่อยเปลี่ยนไปเป็นข้อมูลที่คุณเข้าใจดีอยู่แล้ว
    • การทำสำเนาแฟลชการ์ดเผื่อเอาไว้เป็นสิ่งที่เราแนะนำให้คุณทำ เพราะคุณต้องเขียนคำถามและคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งการเขียนซ้ำๆ จะช่วยทำให้คุณจดจำข้อมูลต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณยังสามารถพกแฟลชการ์ดติดตัวเอาไว้ได้ด้วย และจะหยิบขึ้นมาใช้ตอนไหนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตที่คุณสามารถสร้างแฟลชการ์ดแบบออนไลน์ได้ อย่างเช่น cram.com
  2. เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกเขียนลงไปบนแฟลชการ์ดแล้ว ก็ให้คุณทดสอบความรู้ตัวเองด้วยแฟลชการ์ดพวกนั้นได้เลย และให้ทวนคำถามที่ตัวเองตอบผิดอยู่เรื่อยๆ จนกว่าคุณจะตอบถูก คุณอาจจะพกแฟลชการ์ดติดตัวเอาไว้ และทดสอบตัวเองเวลาที่อยู่บนรถไฟฟ้าหรือนั่งอยู่ในรถด้วยก็ได้ โดยคุณอาจจะทดสอบความรู้ตัวเองสักประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วพักสมอง และทดสอบตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะตอบถูกหมดทุกคำถาม [6]
    • หากคุณยังตอบคำถามเดิมผิดซ้ำๆ ให้คุณกลับไปทบทวนโน้ตและหนังสือแบบเรียนอีกครั้ง เพื่อดูว่ามีอะไรบางอย่างที่คุณยังไม่เข้าใจหรือเปล่า
  3. วิธีนี้มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับวิชาคณิตศาสตร์ ฉะนั้น ให้กลับไปฝึกทำแบบฝึกหัดในหนังสือที่อาจารย์เคยสั่งเป็นการบ้าน และทำคำถามพิเศษที่อยู่หลังหนังสือด้วย โดยให้ทำข้อที่คุณทำผิดซ้ำหลายๆ รอบ และพยายามพิจารณาดูว่าทำไมคุณถึงได้ตอบผิด และฝึกทำโจทย์เหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะรู้สึกคุ้นเคยกับเนื้อหาเหล่านั้น
    • หากคุณยังมีเวลามากพอก่อนที่จะถึงวันสอบ ให้คุณลองขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากอาจารย์หรือเพื่อนดู
  4. ในวันสอบจริง ให้คุณตั้งนาฬิกาปลุกไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนสอบ. นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการพักผ่อนแบบเต็มอิ่ม คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทำคะแนนออกมาได้ดีขึ้น [7] ฉะนั้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนสอบ ให้คุณพยายามนึกถึงประเด็นและหัวข้อย่อยต่างๆ ขึ้นมาในหัว และเช่นเคย ถ้าคุณติดขัดส่วนไหน ก็ให้คุณกลับไปเช็คดูในโน้ตที่จดเอาไว้ นอกจากนี้ ให้ใช้แฟลชการ์ดเพื่อช่วยให้ตัวเองจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดด้วยหากคุณยังไม่ได้จำรายละเอียดพวกนั้นเอาไว้ และที่สำคัญ ให้คุณหยุดทบทวนข้อมูลต่างๆ อย่างน้อย 15 นาทีก่อนเวลาสอบ แต่ระยะเวลาที่ดีที่สุดก็คือ 1 ชั่วโมงก่อนสอบ จำไว้ว่า หากคุณให้เวลาตัวเองอ่านหนังสือมากพอ เมื่อถึงเวลานั้นคุณก็ควรจะรู้สึกพร้อมและผ่อนคลายได้แล้ว
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 5:

พิจารณาคำถามที่น่าจะอยู่ในข้อสอบ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณมีเพื่อนที่เคยทำข้อสอบวิชานี้ในปีหรือเทอมก่อนๆ ให้คุณลองขอดูข้อสอบจากเพื่อนคุณดู แล้วจดคำถามที่มีคำตอบแล้วเอาไว้ รวมไปถึงคำตอบที่อาจารย์ตรวจว่าถูกและผิดด้วย และถ้าหากคุณกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็คงจะมีบางมหาวิทยาลัยที่เก็บข้อสอบเก่าเป็นแฟ้มเอาไว้ ถ้าที่มหาวิทยาลัยคุณมี ให้คุณลองติดต่อกับอาจารย์เพื่อขอดูข้อสอบเหล่านั้นก็ได้
    • ถึงแม้ว่าการดูข้อสอบเก่าอาจจะไม่ได้ทำให้คุณรู้คำถามที่แน่นอนในข้อสอบของคุณ แต่นั่นจะช่วยทำให้คุณได้ไอเดียว่าเนื้อหาต่างๆ น่าจะออกประมาณไหน
    • นอกจากนี้ วิธีนี้ยังจะช่วยทำให้คุณรู้ถึงวิธีการให้คะแนนด้วย คุณจะรู้ว่าตัวเองควรจะตอบละเอียดแบบยาวๆ หรือว่าควรจะตอบแบบสั้นๆ ตรงประเด็นกันแน่ และถ้าหากคุณได้มีโอกาสดูข้อสอบเก่าที่มีคำตอบด้วย ให้คุณดูคำตอบที่ได้คะแนนเยอะๆ เอาไว้ดีๆ รวมไปถึงคำตอบที่ได้คะแนนน้อยด้วย นอกจากนี้ ให้ดูสิ่งที่อาจารย์เขียนอธิบายเอาไว้ตรงขอบกระดาษด้วยว่าทำไมถึงถูกหักคะแนน
  2. การดูข้อสอบเก่าจะช่วยทำให้คุณเข้าใจรูปแบบของข้อสอบวิชานั้น ว่ามันจะเป็นข้อสอบแบบมีชอยส์ให้เลือก หรือเขียนตอบแบบสั้นๆ หรือว่าต้องตอบเป็นความเรียง นอกจากนี้ วิธีนี้ยังช่วยทำให้คุณมีไอเดียว่าควรจะทบทวนเนื้อหาในลักษณะไหน ข้อสอบวิชานี้ถามถึงข้อมูลเฉพาะอย่างวันและเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหรือเปล่า? หรือเป็นข้อสอบที่ต้องการจะทดสอบแนวความคิดใหญ่ๆ พร้อมกับการอธิบายในรูปแบบของความเรียงหรือเปล่า?
    • หากคุณเข้าใจรูปแบบของข้อสอบแล้ว คุณก็จะรู้เองว่าควรจะต้องดึงข้อมูลอะไรออกมาบ้าง และมันน่าจะต้องลงรายละเอียด หรือต้องการคำตอบที่เป็นความคิดเห็นของผู้สอบเองมากแค่ไหน
    • นอกจากนี้คุณยังสามารถที่จะประเมินเกณฑ์การให้คะแนนได้ด้วย เช่น คะแนนของส่วนความเรียงนั้นมากกว่าส่วนที่เป็นชอยส์หรือเปล่า? ซึ่งด้วยวิธีการดูข้อสอบเก่าแบบนี้ คุณก็จะสามารถประเมินในสิ่งที่ตัวเองอ่านมาแล้วได้ รวมไปถึงการประเมินใหม่อีกครั้งด้วยว่าควรจะต้องเน้นอะไรบ้าง
  3. ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ก็มักจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบในหนึ่งหรือสองวันก่อนที่จะถึงวันสอบจริง ซึ่งบางครั้ง นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่บอกคุณตรงๆ อยู่แล้วว่าในข้อสอบจะมีและไม่มีเรื่องอะไรบ้าง แต่นั่นก็ไม่เสมอไป นอกจากนี้ อาจารย์ของคุณอาจจะให้คู่มือประกอบการเรียนกับนักเรียนมา เพื่อให้นักเรียนได้เอาไว้เป็นแนวทางเวลาที่ตัวอาจารย์เองกำลังจะบอกข้อมูลต่างๆ ให้กับนักเรียน ซึ่งถ้าหากคุณไม่เข้าเรียน คุณก็อาจจะพลาดส่วนนั้นไป
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 5:

รวมกลุ่มกันติวหนังสือ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้คุณรวมกลุ่มกับเพื่อน หรือไม่ก็คนอื่นๆ ในชั้นเรียนแล้วมาติวหนังสือด้วยกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องจับกลุ่มติวกันแบบเคร่งเครียดหรอก คุณอาจจะแค่ขอยืมดูโน้ตที่คนอื่นจด เพื่อดูว่าตัวเองพลาดตรงไหนไปบ้าง จากนั้นก็ลองพูดคุยเกี่ยวกับคอนเซปต์ต่างๆ ที่คุณคิดว่าน่าจะออกในข้อสอบ
  2. ให้ถามกันเองด้วยคำถามที่น่าจะใกล้เคียงกับในข้อสอบ อาจจะใช้แฟลชการ์ดเพื่อทดสอบความรู้ให้กัน หรือไม่ก็ขอให้เพื่อนของคุณตั้งคำถามขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณยังไม่ได้นึกถึงก็ได้ และถึงแม้ว่าจะใช้คำถามเดิมที่คุณเคยเขียนลงไปในแฟลชการ์ดแล้ว แต่คุณก็จะรู้สึกว่ามันแตกต่างไปจากเดิมหากคนที่ถามเป็นเพื่อนของคุณ ซึ่งก็น่าจะแน่นอนว่าถ้าคนถามคือเพื่อนของคุณ พวกเขาก็จะต้องให้คุณรับผิดชอบในการตอบคำถามนั้นแต่เพียงผู้เดียวอยู่แล้ว
  3. บางครั้งคุณก็สามารถเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมได้จากการพูดคุยเกี่ยวกับคอนเซปต์ของเนื้อหากับใครสักคนนอกเหนือจากอาจารย์ของคุณ ซึ่งวิธีนี้อาจจะช่วยทำให้คุณมองเห็นข้อมูลเหล่านั้นในแบบที่แตกต่างออกไป และนั่นอาจจะยิ่งทำให้คุณเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีก ฉะนั้น ให้คุณนัดติวเป็นกลุ่มและพกของว่างไว้กินเล่นกันในกลุ่มด้วย หรือไม่ก็นัดเจอกันที่ร้านกาแฟก็ได้ และอย่าลืมทำให้การจับกลุ่มติวหนังสือรู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และสนุกเข้าไว้ด้วยล่ะ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • พักเบรกให้ได้บ่อยๆ เพราะนั่นจะช่วยให้คุณได้พักผ่อนสมอง
  • หากคุณทบทวนเนื้อหาได้ครบถ้วนและนอนหลับอย่างเพียงพอ นั่นก็จะทำให้คุณสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในสมองได้ดียิ่งขึ้น
  • ใช้เวลาอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กให้น้อยลง (เช่น Facebook, Twitter, Instagram และอื่นๆ )
  • อย่าพยายามเร่งรัดอ่านหนังสือ เพราะการอ่านทบทวนเนื้อหาแบบไม่เร่งรีบจะช่วยทำให้คุณจดจำเนื้อหาต่างๆ ได้ดีกว่า
  • อย่าลืมพักเบรกให้สม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้สมองของคุณประมวลผลข้อมูลเข้ามาได้ดี
  • กินของที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอในทุกคืนก่อนวันสอบ
  • อย่ารอจนนาทีสุดท้ายแล้วค่อยเริ่มอ่านหนังสือ เพราะนั่นจะทำให้คุณเครียด และไม่พร้อมที่จะสอบ นอกจากนี้ สมองของคุณก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการประมวลผลข้อมูลด้วย และนั่นต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร
  • ดึงส่วนที่สำคัญในโน้ตออกมาจดใหม่เสมอ วิธีนี้จะช่วยทำให้คุณจดจำส่วนสำคัญเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
  • ใจเย็นๆ และทำไปตามขีดความสามารถของตัวเองเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคอนเซปต์ที่ตัวเองกำลังเรียนรู้อยู่
  • ใช้เวลาอย่างน้อย 30-45 นาทีในการอ่านหนังสือ แล้วพักสัก 5-10 นาที
  • พยายามหาคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญๆ ของคำนิยามต่างๆ และของเนื้อหาที่อยู่ในโน้ต เพื่อที่คุณจะได้จำมันได้ง่ายขึ้น
  • ใช้สี โน้ต และแผนผังในการทบทวนบทเรียนหากคุณเป็นคนประเภทที่เรียนรู้ทางสายตา (visual learner)
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าอ่านทั้งคืนจนไม่ได้นอน เพราะการเร่งอ่านเอาในตอนกลางคืนไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย ฉะนั้น คุณต้องนอนหลับให้เพียงพอในคืนก่อนวันสอบ
  • อย่าหักโหม หาบาลานซ์ระหว่างเรื่องเรียนและเรื่องเล่นให้ได้ และจัดสรรเวลาให้กับทั้งสองเรื่อง
  • อย่าอ่านหนังสือแบบรวดเดียวจบ เพราะคุณจะเรียนรู้ได้ดีกว่าหากคุณอ่านทีละน้อยๆ สะสมไปทุกๆ วัน
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 21,659 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา