ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเรียบเรียงเรซูเม่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ และกระบวนการนี้ก็ยิ่งทำให้หวั่นใจขึ้นไปอีกเมื่อต้องใส่รายวิชาที่เกี่ยวข้องลงไปในเรซูเม่ด้วย ซึ่งสำคัญเป็นพิเศษหากคุณเป็นเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน คุณอาจจะสงสัยว่า แล้วฉันจะใส่รายวิชาที่เกี่ยวข้องลงไปตรงไหนดีล่ะ ฉันควรใส่รายวิชาทั้งหมดหรือเลือกใส่แค่บางวิชาดี แล้วต้องใส่ GPA ด้วยไหม กุญแจสำคัญของการใส่รายวิชาลงไปในเรซูเม่ก็คือ ต้องแน่ใจว่ารายวิชาที่ใส่ไปนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณสมัคร และแสดงถึงทักษะและความสามารถของคุณได้ดีที่สุด

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

ระบุรายวิชาที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจว่าทำไมคุณถึงควรใส่รายวิชาลงไปในเรซูเม่. การกล่าวถึงรายวิชาในเรซูเม่เป็นการทำให้นายจ้างในอนาคตรู้ว่าคุณมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และมีความรู้ที่คุณกำลังได้มาจากการศึกษาในปัจจุบัน คุณควรใส่เฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณสมัครลงในเรซูเม่เท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้จัดการที่เป็นผู้จ้างงานรู้ว่า คุณเข้าใจงานหรือตำแหน่งที่คุณสมัคร และมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานนั้นๆ
    • นายจ้างส่วนใหญ่จะดูที่รายวิชาเพื่อให้รู้ระดับความเชี่ยวชาญในสาขาหรือวิชานั้นๆ นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานหรือนักศึกษาปัจจุบันที่ต้องการสร้างเรซูเม่ผ่านการฝึกงานควรใส่รายวิชาที่เกี่ยวข้องลงไปในเรซูเม่เสมอ รายวิชาของคุณสามารถชดเชยการขาดประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้
  2. เขียนรายการปริญญาบัตรและรายวิชาที่สอบผ่านทั้งหมด. เริ่มจากการเขียนรายการปริญญาบัตรและรายวิชาที่คุณสอบผ่านทั้งหมด วิธีนี้จะทำให้คุณแน่ใจได้ว่าคุณไม่ได้ลืมบางวิชาที่คุณเคยเรียนและจะได้เห็นภาพประวัติการศึกษาของตัวเองได้กว้างขึ้นด้วย จากนั้นคุณจะสามารถตัดบางรายวิชาออกให้เหลือแต่วิชาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานได้ เขียนรายการปริญญาบัตรที่คุณได้หลักๆ ก่อน ตามด้วยการเรียนเฉพาะทางเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยที่คุณได้รับปริญญาบัตร และที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เช่น
    • บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
    • ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ขั้นสูง มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ
  3. เขียนรายการปริญญาบัตรหรือรายวิชาที่คุณกำลังลงทะเบียนเรียนหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษา. คุณอาจจะอยู่ในช่วงกำลังจะจบปริญญาโทหรือเพิ่งเริ่มเข้ารับการฝึกอบรม เขียนรายวิชาที่กำลังเรียนอยู่ลงไปเสมอและใส่วันที่ที่คาดว่าจะเรียนรายวิชานั้นจบหรือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญานั้นๆ เช่น [1]
    • บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ วันที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา: มิถุนายน 2560
    • ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ขั้นสูง มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ วันที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา: มิถุนายน 2561
  4. พอคุณเขียนรายการประวัติการศึกษาและรายวิชา คุณอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีน้ำหนักหรือไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณสมัครเท่าไหร่ แต่คุณต้องไม่โกหกหรือกุรายวิชาลงไปในเรซูเม่ เพราะนายจ้างอาจจะถามเกี่ยวกับรายวิชานี้ และคุณก็อาจจะอยู่ในจุดที่ต้องไม่ซื่อสัตย์ในระหว่างการสัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะทำให้คุณไม่ได้งานเนื่องจากไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ยืนยันการศึกษาที่เป็นเท็จของคุณ [2]
    • แทนที่จะพยายามใส่รายวิชาหรือหนังสือรับรองที่คุณไม่ได้เรียนจริงๆ ลงไปในเรซูเม่ ให้ใช้รายวิชาขั้นสูงที่คุณได้เรียนในระหว่างเรียนปริญญามาทำให้เรซูเม่ของคุณดูน่าสนใจขึ้น เน้นไปที่การเพิ่มน้ำหนักของปริญญาและรายวิชาที่คุณเรียนมาแทนที่จะนำเสนอตัวเองอย่างผิดๆ ให้กับนายจ้างในอนาคต
  5. เลือกรายวิชาที่คุณรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับงานที่คุณสมัคร. มองไปที่รายการประวัติการศึกษาอย่างละเอียด พิจารณาว่ารายวิชาไหนที่สอดคล้องกับตำแหน่งหรืองานที่คุณส่งเรซูเม่ไปสมัคร อย่าใส่ทุกรายวิชาที่คุณเรียนหรือปริญญาทุกใบที่มี แต่ให้คัดเลือกส่วนที่เป็นประวัติการศึกษาให้สอดคล้องกับตำแหน่งและเลือกเฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องมากที่สุดเท่านั้น
    • เช่น ถ้าคุณเรียนเอกสื่อสารมวลชนและกำลังสมัครฝึกงานด้านโซเชียลมีเดียและเคยเรียนวิชาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียมาก่อน ก็ถือว่าวิชาที่เรียนกับตำแหน่งงานเกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าคุณเรียนวิศวกรรมแต่ไปสมัครงานที่ร้านพิซซ่า รายวิชาที่คุณเรียนส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับงานเท่าไหร่และไม่สอดคล้องกับการสมัครงานในตำแหน่งนั้น
    • จำไว้ว่าหลักสูตรปริญญาหลักอาจจะรู้สึกไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่รายวิชาที่คุณเรียนในฐานะส่วนหนึ่งของหลักสูตรหรือวิชาเลือกเสรีที่คุณเลือกระหว่างเรียนก็สามารถแสดงให้นายจ้างเห็นได้ว่าคุณมีทักษะสำหรับงานนั้นๆ เช่น ถ้าคุณมองหาตำแหน่งงานด้านทรัพยากรบุคคลในบริษัท การที่คุณเรียนเอกทรัพยากรบุคคลและเคยเรียนวิชาการเงินและเงินเดือนก็อาจทำให้คุณเหมาะสมกับตำแหน่ง เช่น ฝ่ายค่าจ้าง เงินเดือน และผลประโยชน์เกื้อกูลในแผนกทรัพยากรบุคคล
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

เพิ่มรายวิชาที่เกี่ยวข้องลงไปในเรซูเม่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในเรซูเม่ให้แยกส่วนที่เป็นประวัติการศึกษาไว้ต่างหาก. เขียนรายละเอียดด้านการศึกษาก่อนประสบการณ์ทำงานหากการศึกษาของคุณดูหนักแน่นและเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานมากกว่า
    • ชื่อหัวข้อในส่วนนี้: การศึกษาและรายวิชาที่เกี่ยวข้อง
  2. รูปแบบเรซูเม่ตามมาตรฐานจะให้เขียนรายวิชาหรือปริญญาที่คุณได้รับล่าสุดก่อน จากนั้นค่อยเขียนรายการอื่นๆ ตามลำดับเวลา แต่ถ้าคุณมีรายวิชาที่เคยเรียนมาก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานมากกว่าหรือแสดงให้เห็นว่าคุณมีทักษะขั้นสูงในสาขานั้นๆ มากกว่า ให้เขียนรายการพวกนี้ก่อน เพราะจะทำให้นายจ้างในอนาคตเห็นหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรก
    • เช่น คุณอาจจะได้ปริญญาสาขาภาษาอังกฤษแต่ตอนนี้กำลังเรียนกราฟฟิกดีไซน์ที่วิทยาลัยชุมชนอยู่ ถ้าคุณสมัครงานในบริษัทกราฟฟิกดีไซน์ ให้เขียนประสบการณ์การศึกษาด้านนี้ก่อนปริญญาด้านภาษาอังกฤษ
    • ไม่จำเป็นต้องเขียนแต่ละรหัสวิชาลงไป เพราะนายจ้างมักจะไม่รู้ว่าเลขพวกนี้หมายความว่าอะไร เขียนชื่อรายวิชาให้สั้นและกระชับ
    • ตัวอย่างรายการปริญญาและรายวิชาบนเรซูเม่ของคุณอาจเป็นแบบนี้ :

      หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพันธุวิศวกรรม
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
      วันที่คาดว่าจะจบการศึกษา: 05/2560
      รายวิชาที่เกี่ยวข้อง: การทดสอบและรายงานผลในห้องปฏิบัติการ การจัดการพันธุกรรม ความเกี่ยวข้องทางสังคมต่อพันธุวิศวกรรม

    • อีกตัวอย่างของการเขียนรายวิชาแทนที่จะเป็นปริญญาบัตรอาจเป็น :

      การศึกษาขั้นสูงในสาขาการตลาดและโฆษณา
      มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอนแก่น
      วันที่คาดว่าจะจบการศึกษา: 05/2558

  3. คุณควรใส่วันที่จบการศึกษาก็ต่อเมื่อคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ไม่เกิน 1-3 ปีหรือถ้าคุณกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในระดับปริญญาหรือรายวิชานั้นๆ นายจ้างในอนาคตของคุณสนใจที่ตัวปริญญามากกว่าจะอยากรู้ว่าคุณจบมาตอนไหน และนี่จะยิ่งมีผลมากหากคุณเรียนจบมา 5-10 ปีแล้ว เพราะคุณต้องไม่ให้นายจ้างคิดว่าการศึกษาของคุณไม่สดใหม่หรือล้าสมัยแล้ว
    • นอกจากนี้คุณยังไม่จำเป็นต้องใส่เกรดเฉลี่ยรวมที่ได้จากปริญญาหรือรายวิชาด้วย เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเกรด แต่ถ้าคุณจบมาด้วยเกียรตินิยม เช่น เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือ เกียรตินิยมอันดับสอง ให้ใส่ไปในเรซูเม่ด้วย คนที่ดูเรซูเม่ของคุณจะเห็นว่าคุณได้เกียรตินิยมและน่าจะประทับใจ
    • ตัวอย่างก็เช่น :

      ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
      มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอนแก่น รายวิชาที่เกี่ยวข้อง: หัวข้อขั้นสูงทางมานุษยวิทยาสังคม การวิจัยและการสำรวจ การศึกษาขั้นสูงด้านเมืองโบราณ

  4. ใช้การฝึกงานและตำแหน่งอาสาสมัครเพื่อเพิ่มน้ำหนักรายวิชา. ถ้าคุณรู้สึกว่าเรซูเม่ของคุณมีรายวิชาที่ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับตำแหน่งหรืองาน ให้ใส่ประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องหรือประสบการณ์ด้านสาขานั้นๆ ในรูปแบบของการฝึกงานหรือการเป็นลูกมือฝึกหัด ซึ่งอาจจะเป็นงานอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยร่วมกับองค์กรหนึ่งที่คุณทำในช่วงปีการศึกษาสุดท้าย หรือการฝึกงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณสมัคร
    • เช่น ถ้าคุณสมัครตำแหน่งงานที่บริษัทวิศวกรรมการบินและอวกาศ คุณอาจจะใส่ประสบการณ์ฝึกงานที่ศูนย์วิจัยด้านการบินและอวกาศ หรือถ้าคุณสมัครตำแหน่งด้านโซเชียลมีเดียที่บริษัทการตลาด คุณก็อาจจะใส่ประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการด้านโซเชียลมีเดียงานเทศกาลในชุมชนลงไปก็ได้
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,459 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา