ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเลี้ยงดูเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อย เพราะพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีเทคนิคเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากเด็กทั่วไป มิฉะนั้นแล้ว คุณจะเสี่ยงต่อการที่ต้องคอยขอโทษขอโพยผู้อื่น หรือไม่ก็ต้องมาลงโทษเด็กจนเกินไปในภายหลัง ทั้งนี้ คุณจำเป็นต้องรับมือกับหน้าที่อันสุดโต่งทั้ง 2 ด้านดังกล่าว ให้มีความสมดุลลงตัวมากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นนั้น ต่างยืนยันว่า การควบคุมดูแลเด็กที่มีภาวะดังกล่าว ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ปกครอง ผู้รับเลี้ยงดู พี่เลี้ยงเด็ก คุณครู หรือใครก็ตามที่มีหน้าที่ต้องดูแลเด็กๆ เหล่านั้น ก็ยังพอที่จะสามารถฝึกระเบียบวินัยให้แก่พวกเขาได้ ขอเพียงใช้ความอดทนและความเสมอต้นเสมอปลายร่วมด้วย [1]

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

การจัดการและเสริมสร้างกิจวัตรประจำวัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. กำหนดความจำเป็นอันเร่งด่วน ลงในตารางกิจวัตร และการจัดการทั่วไปภายในครอบครัว. เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นนั้น จะมีปัญหาในการวางแผน การคิดตามแบบแผน การบริหารเวลา และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ระบบการบริหารโครงสร้างกิจวัตรอย่างรัดกุม จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน สำหรับชีวิตประจำวันของครอบครัวคุณ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การเสริมสร้างกิจวัตรประจำวันที่ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้ต้องมานั่งเคี่ยวเข็ญเรื่องระเบียบวินัยกันมากนักในภายหลัง เนื่องจากมันจะช่วยให้เด็กที่อยู่ในความดูแลของคุณ มีโอกาสในการทำผิดระเบียบน้อยลงไปเอง
    • ความประพฤติบางอย่างของเด็ก อาจเกิดจากนิสัยอันขาดการจัดการที่ดี จนนำไปสู่สถานการณ์วุ่นวาย ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งอันชัดเจนประการหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นระหว่างเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นกับผู้ปกครองของเขาหรือเธอนั้น ก็คือเรื่องการทำงานบ้านทั่วไป รวมถึงการเก็บกวาดห้องนอนของตัวเอง และการทำการบ้านของเด็กด้วย ปัญหาเหล่านั้นจะสามารถป้องกันได้ ถ้าหากว่า เด็กคนดังกล่าวอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีโครงสร้างและการจัดการอันรัดกุม ซึ่งช่วยให้เกิดอุปนิสัยที่ดี อันจะเป็นรากฐานให้พวกเขามีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในลำดับต่อไป
    • สภาพการณ์อันเป็นปัญหาดังกล่าว ยังมักเกิดขึ้นในช่วงกิจวัตรประจำวันตอนเช้า ช่วงที่เด็กทำการบ้าน ช่วงที่พวกเขาเข้านอน และอาจรวมถึงช่วงที่เด็กๆ ต้องการเล่นวิดีโอเกมส์ด้วย
    • คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้สั่งงานพวกเขาด้วยความ ชัดเจน เช่น คำว่า "ทำความสะอาดห้อง" อาจจะฟังดูคลุมเครือไปหน่อย ซึ่งอาจทำให้เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นเกิดความสับสนว่า จะเริ่มทำหรือปฏิบัติงานจากจุดไหนดี ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มหมดความตั้งใจไปเสียก่อน ดังนั้น จะเป็นการดีกว่า หากว่าคุณแยกรายละเอียดย่อยออกมาให้ชัดเจน เช่น "เก็บของเล่น" "ดูดฝุ่นเศษขยะ" "ทำความสะอาดกรงเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์" หรือ "เอาเสื้อผ้าไปเก็บในตู้เสื้อผ้า" เป็นต้น
  2. คุณต้องกำหนดความคาดหวังและกฎระเบียบทุกอย่างให้ชัดเจน เพื่อนำมาใช้ภายในครอบครัวของคุณ เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักจะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง คุณจึงต้องสื่อสารให้ชัดเจนเกี่ยวกับความคาดหวังของคุณ และระบุสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำในแต่ละวันด้วย
    • ตัวอย่างเช่น หลังจากที่จัดตารางการทำงานบ้านของแต่ละสัปดาห์เสร็จแล้ว ก็ควรนำตารางดังกล่าว ไปติดไว้ที่ห้องของเด็ก คุณอาจจะใช้ไวท์บอร์ดและทำให้มันดูน่าสนุกมากขึ้น ด้วยการละเลงสีสัน ติดสติ๊กเกอร์ และใช้อุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ร่วมด้วย จงพยายามอธิบายและชี้ให้พวกเขาเห็นรายละเอียดในตารางดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อให้เขาหรือเธอเข้าใจมันได้ในหลากหลายแง่มุม
    • กำหนดกิจวัตรสำหรับงานในแต่ละวันทุกประเภท รวมถึงการทำการบ้าน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาหลักสำหรับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นส่วนใหญ่ คุณต้องแน่ใจว่า เขาหรือเธอได้จดการบ้านไว้ในตารางงานของตัวเองทุกวัน โดยคุณควรจัดสรรเวลาและสถานที่ประจำ ให้พวกเขาใช้สำหรับทำการบ้านด้วย รวมถึงควรนำการบ้านของพวกเขามาอ่านดูก่อนที่จะให้พวกเขาทำ และนำกลับมารีวิวอีกครั้งหลังจากพวกเขาทำเสร็จแล้ว [2]
  3. ผู้ปกครองควรเข้าใจด้วยว่า นิสัยความไม่มีระเบียบ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นนั้นมักเป็นผลพวงจากการถูกรุมเร้าด้วยสิ่งต่างๆ ภายนอกที่มากระทบประสาทการรับรู้ของพวกเขา [3] จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเรา ที่จะต้องใช้วิธีมอบหมายงานชิ้นใหญ่ๆ ให้พวกเขา เช่น การสั่งให้ไปทำความสะอาดห้องหรือการเก็บเสื้อผ้าไปซักแห้ง ด้วยการจำแนกรายละเอียดของงานเหล่านั้นออกมา ให้เป็นหน้าที่ยิบย่อยในแต่ละขั้นตอน เพียงครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น
    • ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการซักรีดนั้น คุณอาจจะขอให้เด็กเริ่มด้วยการไปหาถุงเท้าของเขาหรือเธอมาก่อน จากนั้น จึงบอกให้พวกเขานำไปเก็บให้เรียบร้อย คุณอาจจะทำให้มันดูเหมือนเป็นเกมที่น่าสนุก ด้วยการเปิดเพลงประกอบ และท้าทายให้พวกเขาพยายามค้นหาถุงเท้าทั้งหมด ก่อนที่จะนำไปใส่ลิ้นชักอย่างถูกต้องให้ได้ ก่อนที่เพลงแรกจะจบลง และหลังจากทำหน้าที่ดังกล่าวสำเร็จแล้ว คุณก็กล่าวชื่นชมเขาหรือเธอที่สามารถทำได้อย่างถูกต้อง จากนั้น คุณค่อยร้องขอให้เขาหรือเธอไปเก็บชุดชั้นใน ชุดนอน หรือชุดใดๆ ก็ตามของตนเองต่อไป จนกว่างานที่มอบหมายทั้งหมดจะเสร็จสิ้น
    • การแตกย่อยหน้าที่ใหญ่ๆ ออกเป็นงานชิ้นย่อยๆ ให้พวกเขาทำภายในกรอบเวลาที่กำหนดนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาเกิดพฤติกรรมที่เกิดจากความคับข้องใจ แต่ยังสามารถช่วยผู้ปกครองให้มีโอกาสได้กล่าวชื่นชมเด็กๆ มากขึ้นด้วย ในขณะที่ตัวเด็กเอง ก็มีโอกาสมากมายที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ ในการทำหน้าที่ให้สำเร็จลงได้ ทั้งนี้ ยิ่งพวกเขาได้สัมผัสกับความสำเร็จและผลรางวัลของมันมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งจะมองเห็นความสำเร็จในตนเอง แถมยังได้มีระดับความนับถือตนเองเพิ่มขึ้น อันจะช่วยให้พวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า ความสำเร็จครั้งหนึ่งๆ มักต่อยอดความสำเร็จครั้งต่อไปได้เสมอ [4]
    • คุณยังอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องให้คำแนะนำแก่เด็ก ในเรื่องกิจวัตรประจำวันด้วย เพราะภาวะซนสมาธิสั้นนั้น จะทำให้พวกเขามีปัญหาในการโฟกัส การควบคุมสมาธิจดจ่อ และการพยายามทำหน้าที่อันน่าเบื่อให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรลองปล่อยให้พวกเขาทำงานบ้านเองบ้าง อย่างไรก็ดี ความคาดหวังในการที่เขาหรือเธอจะทำหน้าที่เหล่านั้นให้สำเร็จลงได้เองนั้น อาจจะเกินเลยความจริงไปหรือไม่ก็ได้ เพราะเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองด้วย ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่าที่เราจะต้องทำหน้าที่เหล่านั้นร่วมกับพวกเขา ด้วยการยอมรับและพยายามทำให้มันเป็นประสบการณ์เชิงบวกแก่พวกเขา แทนที่จะคาดหวังมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดความคับข้องใจและการโต้เถียงกันได้
  4. การเสริมสร้างกิจวัตรให้แก่เด็ก สามารถพัฒนาไปเป็นนิสัยอันจะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิตได้ แต่ก็มีความจำเป็นที่คุณจะต้องมีการจัดระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับกิจวัตรเหล่านั้นด้วย ลองพยายามช่วยเขาหรือเธอจัดระเบียบห้องดูก่อนก็ได้ จำไว้ว่า ความกดดันที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น เกิดจากการที่พวกเขารับรู้สิ่งเร้าภายนอกจำนวนมากๆ มาสุมกันในคราวเดียว ดังนั้น ยิ่งพวกเขาสามารถจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ ได้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งจัดการรับมือกับสิ่งของมากมายเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น [5] [6]
    • เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น จะตอบสนองได้ดีต่อการใช้กล่องใส่ของ ชั้นวางของ ที่แขวนบนกำแพง หรืออุปกรณ์ใดๆ ในลักษณะดังกล่าว อันจะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดหมวดหมู่สิ่งของต่างๆ และก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงหรือรกรุงรังน้อยที่สุด [7] [8]
    • การใช้สีสัน รูปภาพ และสลากป้ายต่างๆ แทนรหัสช่วยจำบางอย่าง จะช่วยให้ความเครียดหรือความกดดันของพวกเขา อันเกิดจากสิ่งเร้าภายนอกลดน้อยลง จำไว้ว่า เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักเกิดความตึงเครียดจากการที่ประสาทสัมผัสของพวกเขา รับรู้สิ่งต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในคราวเดียว ดังนั้น ยิ่งพวกเขาสามารถจัดหมวดหมู่สิ่งของต่างๆ ได้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งจัดการรับมือกับสิ่งเร้าอันมากมายเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น [9] [10]
    • จัดการกับสิ่งของที่กองพะรุงพะรัง นอกเหนือจากการจัดระเบียบสิ่งต่างๆ โดยรวมแล้ว การจัดการ “ของจุกจิก” ซึ่งอาจรบกวนสมาธิของเด็ก จะช่วยให้สภาพแวดล้อมรอบตัวดูสงบลงด้วย นี่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องทำให้ห้องดังกล่าวเวิ้งว้างว่างเปล่าทั้งหมด อย่างไรก็ดี การเก็บกวาดของเล่นที่กองพะเนิน เสื้อผ้าที่พวกเขาไม่ได้ใส่ และการทำความสะอาดชั้นวางของจุกจิกประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ มากสักเท่าไหร่ ก็ถือเป็นวิธีที่ดีในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมลงตัวได้มากขึ้น
  5. ในฐานะผู้ใหญ่ คุณจำเป็นต้องแน่ใจก่อนว่า เด็กในความดูแลของคุณ ใส่ใจในคำพูดของคุณ ก่อนที่จะร้องขออะไรจากพวกเขา รวมถึงก่อนที่จะให้คำแนะนำหรือออกคำสั่งแก่พวกเขา เพระหากพวกเขาไม่หันมา "จูนให้ติด" กับคุณเสียก่อน ก็จะไม่มีผลสำเร็จอันใดเกิดขึ้นแน่ๆ ทั้งนี้ เมื่อเขาหรือเธอเริ่มลงมือปฏิบัติงานใดๆ แล้ว คุณก็ไม่ควรจะไปรบกวนสมาธิของพวกเขา ด้วยการออกคำสั่งเพิ่มเติม หรือพูดคุยเรื่องใดๆ ที่อาจเป็นการแทรกแซงความสนใจของพวกเขา [11]
    • คุณต้องแน่ใจว่า เขาหรือเธอกำลังมองมาที่คุณ และคุณเองก็ต้องคอยสบตาพวกเขาด้วย แม้ว่านั่นอาจจะไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความใส่ใจอย่างเต็มที่ของพวกเขา แต่ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ในการที่พวกเขาจะรับรู้ถ้อยคำของคุณมากกว่า
    • การโมโห คับข้องใจ หรือการพูดจาในเชิงลบ ย่อมมีโอกาสที่จะ "เล็ดลอดออกมา" ได้บ้าง ซึ่งมักเกิดจากสัญชาตญาณการปกป้องตนเองของเด็ก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักทำให้ผู้อื่นเกิดความหงุดหงิดคับข้องใจในตัวพวกเขา จึงทำให้พวกเขากลัวว่าจะถูกตำหนิในเรื่องที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บางครั้งหากเราตะคอกใส่พวกเขา ก็จะ "ไม่ได้" รับความสนใจจากพวกเขาเลย
    • เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น จะตอบสนองได้ดีต่อเรื่องที่น่าตื่นเต้น เหนือความคาดหมาย และสนุกสนาน การโยนลูกบอลเล่น จึงมักดึงความสนใจของพวกเขาได้ โดยเฉพาะหากโยนมันเด้งกลับไปกลับมาสักพัก ก่อนที่จะเด้งไปหาพวกเขาตามที่ต้องการ ทั้งนี้ การแกล้งพูดทักทายว่า "ก๊อกๆ" และการใช้มุกขำขันต่างๆ ก็อาจได้ผลดีเช่นเดียวกัน รวมถึงการคิดค้นรูปแบบวิธีเรียกและขานชื่อกับพวกเขา นำมาใช้เชื่อมโยงกับการปรบมือเรียกเป็นจังหวะ ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเช่นกัน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เป็นการละเล่นที่มักจะถูกใจพวกเขา
    • การโฟกัส เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ดังนั้น เมื่อพวกเขาเริ่มโฟกัสอยู่กับสิ่งใดแล้ว จงเปิดโอกาสให้พวกเขาทำมันต่อไป โดยไม่ไปรบกวน หรือดึงความสนใจของพวกเขาออกจากงานที่อยู่ตรงหน้า
  6. เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น จะทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดี หากพวกเขาได้ทำกิจกรรมทางกายประกอบด้วย เพราะกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยให้สมองของพวกเขาได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องการอยู่แล้ว
    • เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ควรจะได้รับโอกาสในการทำกิจกรรมทางร่างกาย ประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นอย่างน้อย ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ ศิลปะป้องกันตัว การว่ายน้ำ การเต้น ยิมนาสติก และกีฬาประเภทที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบต่างๆ
    • นอกจากนี้ คุณอาจให้พวกเขาทำกิจกรรมทางกาย แม้แต่ในวันที่ไม่ได้มีตารางการออกกำลังกายเหล่านั้นด้วยก็ได้ เช่น พาไปเล่นชิงช้า ขี่จักรยาน หรือเล่นในสวนสาธารณะ เป็นต้น
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

วิธีมองปัญหาในเชิงสร้างสรรค์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจจะเริ่มต้นด้วยการให้รางวัลที่จับต้องได้ (สติ๊กเกอร์ อมยิ้ม และของเล่นเล็กน้อย) ทุกครั้งที่เขาหรือเธอทำสำเร็จ เมื่อผ่านไปสักพัก จึงค่อยๆ ลดลงเหลือเพียงการชื่นชมอย่างกระตือรือร้น ("เยี่ยมมากเลยจ้ะ" หรือเข้าไปสวมกอดพวกเขา) เพียงแต่ต้อง ให้ผลตอบรับในเชิงบวกแก่พวกเขาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เขาหรือเธอพัฒนาอุปนิสัย ซึ่งก่อให้เกิดความสำเร็จได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว [12] [13]
    • การทำให้เด็กในความดูแลของคุณ รู้สึกดีกับสิ่งที่พวกเขาทำได้ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง ในการหลีกเลี่ยงสภาวการณ์ที่จะต้องมาเคี่ยวเข็ญพวกเขาในภายหลัง
  2. จงใช้น้ำเสียงต่ำและหนักแน่น ในเวลาที่คุณต้องการฝึกวินัยบางอย่างให้พวกเขา ส่วนเวลาจะบอกกล่าวหรือแนะนำอะไร ก็ควรพยายามทำน้ำเสียงให้คงที่และไม่เจือปนด้วยอารมณ์ พูดให้กระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งคุณพูดยืดเยื้อเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งจำได้น้อยลงเท่านั้น
    • ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกล่าวแนะนำว่า ผู้ปกครองควร "เน้นการกระทำ อย่าบ่นซ้ำซาก" การเทศนาเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ในขณะที่การแสดงให้พวกเขาเห็นผลของการกระทำ จะสื่อแทนคำพูดได้ทุกประการ [14]
    • หลีกเลี่ยงการตอบสนองโดยใช้อารมณ์ หากคุณฉุนเฉียวหรือตะคอกใส่พวกเขา จะทำให้พวกเขาเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น และยิ่งเป็นการตอกย้ำให้พวกเขาเชื่อว่า ตนเองเป็นเด็กไม่ดีและไม่เคยทำสิ่งใดถูกเลย นอกจากนี้ มันยังอาจไปกระตุ้นความรู้สึกของพวกเขาที่ว่า ตัวเองเป็นผู้ถือไพ่เหนือกว่า ที่สามารถทำให้คุณระเบิดอารมณ์ออกมาได้ [15]
  3. เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ย่อมต้องมีการฝึกระเบียบวินัยมากกว่าเด็กทั่วไป ไม่ใช่น้อยกว่า ถึงแม้ว่าบางครั้ง คุณอาจจะรู้สึกอยากผ่อนปรนระเบียบวินัยกับพวกเขา ด้วยความที่เข้าใจว่าพวกเขามีภาวะอาการซนสมาธิสั้นก็ตาม แต่ในความเป็นจริง มันจะยิ่งส่งผลให้พฤติกรรมเหล่านั้นดำเนินต่อไปอีก
    • เหมือนอย่างเช่น สิ่งอื่นๆ ในชีวิตเรา หากเราเพิกเฉยกับเรื่องใด มันมักจะกลายมาเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลร้ายมากขึ้นภายหลัง ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คุณควรจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาตั้งแต่ครั้งแรกที่มันเกิดขึ้นโดยทันที พยายามฝึกระเบียบวินัยให้พวกเขาโดยทันทีที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา เพื่อให้พวกเขาเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้น เข้ากับการถูกลงโทษและการตอบสนองของคุณด้วย อันจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้เมื่อเวลาผ่านไปสักพักว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลลัพธ์เช่นใด ซึ่งก็เป็นที่คาดหวังได้ว่า พวกเขาจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้ในเวลาต่อมา
    • เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักจะมีแรงกระตุ้นภายในมาก จนมักมองข้ามผลของการกระทำของตนเอง และพวกเขามักจะไม่เข้าใจว่า ตนเองทำอะไรผิด วงจรซ้ำซากเช่นนี้ จึงทำให้หากยิ่งปล่อยไว้ พฤติกรรมดังกล่าวก็จะยิ่งแย่ลง ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะให้เห็นในจุดนี้ และให้พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความผิดของตนเอง รวมถึงผลที่อาจเกิดขึ้น หากยังดื้อดึงทำพฤติกรรมเดิมต่อไป
    • จงยอมรับว่า เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น จำเป็นต้องเสริมสร้างความอดทน คอยได้รับคำแนะนำ และให้การฝึกฝนมากกว่าเด็กทั่วไป หากคุณนำเด็กเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับเด็ก "ปกติ" ก็มีแนวโน้มที่คุณจะเกิดความคับข้องใจได้ง่าย เพราะคุณจำเป็นต้องใช้เวลา พลังงาน และความคิดทั้งหลายในการรับมือกับเด็กประเภทนี้มากกว่าปกติ ดังนั้น จงหยุดเปรียบเทียบเขาหรือเธอกับเด็กอื่นๆ ที่ "เลี้ยงง่ายกว่า" ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญมาก หากคุณต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์และผลลัพธ์ในเชิงบวก รวมถึงมีประสิทธิผลในการเลี้ยงดูพวกเขามากกว่าเดิม
  4. ผู้ปกครองจะเลี้ยงดูเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นให้สำเร็จได้ ก็ด้วยวิธีที่เน้นในการให้รางวัลพฤติกรรมเชิงบวก มากกว่าที่จะไปลงโทษพฤติกรรมในเชิงลบของพวกเขา ดังนั้น จงเลือกที่จะกล่าวชื่นชมในสิ่งที่เด็กๆ ของคุณสามารถทำได้ถูกต้อง มากกว่าการคอยตำหนิในสิ่งที่พวกเขาทำผิด [16]
    • ผู้ปกครองหลายท่าน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านลบของเด็ก เช่น มารยาทบนโต๊ะอาหารที่ไม่เหมาะสม ให้สำเร็จลงได้ด้วยการหันมาโฟกัสที่การชื่นชม และหนุนใจพวกเขาในเชิงบวกทุกครั้งที่เด็กเหล่านั้นทำได้อย่างถูกต้อง แทนที่จะลงโทษพฤติกรรมการนั่งเล่นชองพวกเขาในเวลารับประทานอาหาร คุณควรเปลี่ยนมาใช้วิธีการกล่าวชื่นชมทุกครั้ง เวลาที่พวกเขาสามารถใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงเวลาที่พวกเขาเชื่อฟังจะดีกว่า เพราะมันจะช่วยให้เขาหรือเธอใส่ใจต่อการกระทำของตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะให้ตนเองได้รับคำชื่นชมจากคุณอีก
    • พยายามทำทุกอย่างให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ให้แน่ใจว่า เด็กที่คุณดูแลอยู่ ได้รับการบอกกล่าวในทางบวกมากกว่าทางลบ บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องพยายามกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เพื่อ "มองหาพฤติกรรมด้านบวก" ของพวกเขา แต่ประโยชน์ของวิธีการเน้นชื่นชมให้มากกว่าลงโทษ ก็มีค่ามากมายจนไม่สามารถประเมินได้ [17]
  5. มีเทคนิคมากมายที่เราสามารถนำมาชักนำให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งผลรางวัลที่เรามอบให้แก่เด็กๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการขู่เข็ญด้วยไม้เรียว ตัวอย่างเช่น หากเด็กในความดูแลของคุณ สามารถแต่งตัวและมาเตรียมพร้อมทานอาหารเช้าที่ครัวได้ทันเวลา เขาหรือเธอก็ควรจะมีสิทธิ์ได้เลือกว่า จะกินวาฟเฟิลแทนซีเรียลเป็นอาหารเช้าหรือไม่ การให้พวกเขามีสิทธิ์เลือก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ เพื่อหนุนใจในเชิงบวกแก่เด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลของคุณ เวลาที่พวกเขาประพฤติตัวดี
    • ลองคิดค้นระบบพัฒนาพฤติกรรมในเชิงบวกขึ้นมาใช้ เพื่อให้เด็กในความดูแลของคุณ สามารถเก็บแต้มหรือแลกของรางวัลได้ เช่น การให้โบนัสค่าขนม การให้ออกไปเล่นข้างนอกเป็นกรณีพิเศษ หรืออะไรในทำนองนั้น และในทางกลับกัน เมื่อพวกเขาประพฤติตัวไม่ดี ก็ควรจะมีการหักลบคะแนนออกไป ซึ่งจะสามารถเรียกคืนมาได้ ด้วยการทำงานบ้านเพิ่มขึ้นหรือทำกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวชดเชย [18]
    • ระบบการให้คะแนน จะสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจอันเป็นสิ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องการ ให้แก่พวกเขาเองได้ เช่น หากบุตรชายของคุณไม่มีแรงจูงใจในการเก็บกวาดของเล่นก่อนเข้านอน การที่เขาได้รู้ว่าจะได้รับคะแนนเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาหันมาเชื่อฟังคุณได้ ส่วนที่ดีที่สุดของวิธีการนี้ คือ ตัวผู้ปกครองจะไม่จำเป็นต้องรับบทผู้ร้ายอีกต่อไป กรณีที่เด็กไม่ได้รับสิทธิพิเศษ พวกเขาจะเริ่มกุมชะตาชีวิตของตัวเองเอาไว้ และต้องรู้จักรับผิดชอบต่อทางเลือกของตนเองด้วย
    • คุณควรตระหนักด้วยว่า เด็กจะประสบความสำเร็จจากระบบการให้คะแนนนี้ได้ ก็ต่อเมื่อมีการจัดทำเช็คลิสท์ ตาราง และกำหนดเวลาที่ระบุให้พวกเขารู้อย่างชัดเจนด้วย [19] [20]
    • คุณต้องระวังว่า การใช้เช็คลิสท์และตาราง ก็มีขีดจำกัดของมันเหมือนกัน กล่าวคือ อาการของภาวะซนสมาธิสั้นนั้น ทำให้แม้แต่เด็กที่มีแรงจูงใจ ก็ยังอาจมีปัญหาในการปฏิบัติงานของตัวเองไปจนกว่าจะสำเร็จลุล่วง ดังนั้น หากความคาดหวังของคุณสูงเกินไป หรือไม่เหมาะสมกับตัวพวกเขา พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงลงได้ และระบบดังกล่าวก็ไร้ประโยชน์โดยปริยาย
      • ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาในการเขียนเรียงความเป็นการบ้าน และต้องใช้เวลามากเกินไปในการทำเรื่องดังกล่าว จึงทำให้เขาหรือเธอ ไม่มีเวลาฝึกซ้อมไวโอลิน ซึ่งในกรณีนี้ ย่อมทำให้เด็กได้รับผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน
      • อีกหนึ่งตัวอย่างคือ เด็กที่มีปัญหากับกรอบพฤติกรรมที่วางเอาไว้ และไม่เคยได้สติ๊กเกอร์ดาวจากคุณเพื่อแลกของรางวัล เมื่อปราศจากการหนุนใจในเชิงบวกดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลให้เขาหรือเธอแกล้งเสแสร้งทำตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ แทนที่พวกเขาจะเชื่อฟังมันจริงๆ
  6. พยายามมองทุกเรื่องให้เป็นเชิงบวก แทนที่จะเป็นเชิงลบ. แทนที่จะตำหนิเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ให้หยุดพฤติกรรมแย่ๆ ลงเสีย คุณควรจะบอกแก่เขาหรือเธอว่า สิ่งใดที่ควรทำ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักจะไม่สามารถคิดได้เองโดยทันทีว่า จะเอาพฤติกรรมดีๆ ไปแทนที่พฤติกรรมแย่ๆ ได้อย่างไร ดังนั้น มันจึงยากที่พวกเขาจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวลงได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้แนะนำ คุณมีหน้าที่ในการสื่อให้เขาหรือเธอรู้ว่า ความประพฤติที่ถูกต้องเหมาะสม ควรเป็นเช่นไร นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ยังอาจไม่ได้ใส่ใจหรือได้ยินคำว่า “อย่า” ในประโยคที่คุณพูดด้วย ดังนั้น สมองของพวกเขาจึงไม่ได้ประมวลคำพูดของคุณอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น:
    • แทนที่จะตำหนิเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น “อย่ากระโดดเล่นบนโซฟา” ควรเปลี่ยนเป็นการพูดว่า “โซฟามีไว้สำหรับนั่งนะ”
    • สอนเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นว่า "ต้องเล่นกับแมวเหมียวอย่างอ่อนโยนนะ"แทนที่จะพูดว่า “อย่าดึงหางแมว”
    • สอนเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นว่า "นั่งให้เรียบร้อยนะจ้ะ" แทนที่จะพูดว่า "อย่าลุกไปไหนอีกนะ"
    • การโฟกัสไปที่นัยยะเชิงบวก ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการออกแบบกฎเกณฑ์ในครอบครัวให้ดีได้เช่นกัน เช่น เปลี่ยนจากคำว่า “ห้ามเล่นฟุตบอลในบ้านนะ” มาเป็น “ลูกฟุตบอลมีไว้สำหรับเล่นกันนอกบ้านจ้ะ” และคุณอาจจะพบว่า การพูด “เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่นต้องค่อยๆ เดินนะ” ได้ผลมากกว่าการพูดว่า “อย่าวิ่ง” [21]
  7. ความสนใจจากคุณ ไม่ว่าจะในทางบวกและทางลบ ต่างก็ถือเป็นรางวัลสำหรับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นทั้งสิ้น ดังนั้น คุณควรให้ความสนใจกับเด็กในความดูแลของคุณมากๆ เวลาที่พวกเขามีพฤติกรรมที่ดี และควรจำกัดความสนใจให้น้อยลง สำหรับพฤติกรรมแย่ๆ ของพวกเขา เพราะพวกเขาอาจจะเห็นมันเป็นรางวัลไปเสียอีก [22]
    • ตัวอย่างเช่น หากลูกสาวของคุณ ลุกขึ้นมาเล่นกลางดึก คุณควรพาเธอกลับไปยังที่นอน โดยไม่ต้องกอดหรือแสดงท่าทีใส่ใจมากนะ คุณอาจจะริบของเล่นมาด้วยก็ได้ แต่อย่าเสียเวลาไปว่ากล่าวตักเตือนทันที มิฉะนั้น ลูกสาวของคุณอาจจะรู้สึกเหมือนกับได้รางวัลเป็นความสนใจจากคุณ หรืออาจเห็นมันเป็นโอกาสในการต่อรองเรื่องกฏระเบียบ ทั้งนี้ หากคุณเมินเฉยพฤติกรรมแย่ๆ ของพวกเขาไปสักพัก ไม่นานนักพฤติกรรมเหล่านั้นน่าจะหมดไปได้เอง
    • หากเด็กที่อยู่ในความดูแลของคุณ นำสมุดระบายสีมาตัดเล่น คุณก็ควรจะหยิบสมุดและกรรไกรดังกล่าวออกไป พร้อมพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “สมุดไม่ได้มีเอาไว้ตัดเล่น“ แค่นั้นก็พอ
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

การกำหนดผลของการกระทำและความเสมอต้นเสมอปลาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผู้ปกครองจำเป็นต้องเป็นฝ่ายควบคุม แต่บ่อยครั้งที่ความดื้อด้านของเด็ก อาจสามารถทำลายเจตนารมณ์ดังกล่าวของผู้ปกครองลงได้ [23]
    • ลองนึกถึงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่คอยเรียกร้องจะดื่มแต่น้ำอัดลมมากถึง 6 ครั้งภายใน 3 นาทีดูสิ หากเป็นขณะที่คุณหรือผู้ปกครองกำลังคุยธุระทางโทรศัพท์อยู่ หรืออาจกำลังดูแลเด็กเล็กคนอื่นๆ รวมถึงอาจกำลังเตรียมอาหารค่ำอยู่ บางครั้งผู้ปกครองจึงอาจจะรู้สึกว่า การยอมตามใจเด็กคนดังกล่าวไปก่อน คงจะง่ายกว่า หรือนึกประมาณว่า "เอาล่ะ อยากทำอะไรก็เชิญ จะได้เลิกวุ่นวายกับฉันเสียที" อย่างไรก็ตาม การยอมให้เช่นนั้น ย่อมเป็นการสื่อให้พวกเขาเชื่อว่า ความดื้อด้านสามารถเอาชนะทุกสิ่งได้ รวมถึงอาจเกิดความคิดที่ว่า พวกเขาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่ผู้ปกครอง
    • เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น จะไม่ค่อยเชื่อฟังการลงโทษในทางลบ เด็กเหล่านี้ต้องการๆ ชี้แนะ และการตีกรอบด้วยความรัก บวกกับความหนักแน่น ดังนั้น การโต้เถียงเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ รวมถึงการพยายามอธิบายเหตุผลที่ต้องมีกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้ มักจะไม่ได้ผลกับพวกเขา ผู้ปกครองบางคนอาจมีความรู้สึกอึดอัดที่จะใช้วิธีดังกล่าวนี้ในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ดี การรักษากฎเกณฑ์อย่างหนักแน่น สม่ำเสมอ และเต็มไปด้วยความรัก ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องโหดร้ายหรือป่าเถื่อนเลย
  2. หลักการสำคัญก็คือว่า การบังคับใช้ระเบียบวินัยใดๆ ก็ตาม ต้องมีความเสมอต้นเสมอปลาย ทันต่อสถานการณ์ และทรงพลัง การลงโทษแต่ละอย่างนั้น ควรที่จะสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมแย่ๆ ดังกล่าวด้วย [24]
    • อย่าลงโทษเด็กๆ ของคุณ ด้วยการปล่อยให้พวกเขาอยู่ในห้องของตัวเอง เพราะเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น อาจจะยิ่งไปสนใจกับของเล่นและสิ่งของต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความสนุกสนานมากกว่า จึงทำให้การลงโทษดังกล่าว กลับกลายเป็นการให้รางวัลไปเสีย นอกจากนี้ การไล่ให้พวกเขากลับไปอยู่ในห้อง ยังถือเป็นการพาพวกเขาออกไปจากสถนการณ์ความผิดซึ่งหน้า และไม่ได้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับความผิดนั้นๆ เลย จึงอาจส่งผลให้พวกเขา ไม่ได้เชื่อมโยงพฤติกรรมแย่ๆ ดังกล่าวเข้ากับการลงโทษ และไม่ได้เรียนรู้ที่จะไม่กระทำความผิดเดิมซ้ำอีก
    • การลงโทษหรือผลลัพธ์ของการกระทำที่คุณกำหนดไว้ ควรจะแสดงออกมาให้ทันต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตัวอย่างเช่น หากคุณสั่งให้เด็กในความดูแลของคุณ เอาจักรยานไปเก็บและกลับเข้ามาในบ้าน แต่เขาหรือเธอยังคงขี่เล่นต่อไป คุณก็ควรจะลงโทษด้วยการไม่ให้ขี่จักรยานในวันรุ่งขึ้น เพราะการลงโทษที่ล่าช้าย่อมถือว่าไร้ประโยชน์ หรือได้ผลเพียงเล็กน้อยกับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” เท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาน พวกเขาจะไม่สามารถเชื่อมโยงได้เลย ดังนั้น คุณควรริบจักรยานมาโดยทันที จากนั้น จึงค่อยบอกเขาหรือเธอว่า จะอธิบายวิธีทำให้ได้จักรยานคืนมาในภายหลัง
  3. ผู้ปกครองจะเห็นผลลัพธ์ของความประพฤติที่ดีขึ้น ก็ต่อเมื่อพวกเขาตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กได้อย่างมีความสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น หากคุณนำระบบการให้คะแนนมาใช้ ก็ควรใช้อย่างสมเหตุสมผล และมีความสม่ำเสมอในการให้หรือหักคะแนนพวกเขา จงหลีกเลี่ยงการทำตามใจชอบ โดยเฉพาะเวลาที่คุณกำลังโกรธหรือหัวเสีย มันต้องอาศัยระยะเวลาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บวกกับการเสริมสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ กว่าที่พวกเขาจะรู้ว่า ต้องประพฤติตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม [25] [26]
    • พยายามจดจำสิ่งที่คุณได้ว่ากล่าวหรือพูดขู่เด็กเอาไว้ อย่าตักเตือนหรือพูดขู่ลอยๆ บ่อยเกินไป หากคุณคาดโทษพวกเขาแบบขอไปที หากคุณ กล่าวเตือนหรือให้โอกาสพวกเขาบ่อยเกินไป ก็ต้องกำหนดระดับของผลลัพธ์ในแต่ละการกระทำไว้ด้วยว่า มีโอกาสเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 2 หรือ ครั้งที่ 3 เป็นต้น โดยให้มีการคาดโทษหรือกำหนดมาตรการลงโทษเอาไว้ด้วย มิฉะนั้น พวกเขาจะเริ่มทดสอบเพื่อท้าทายดูว่า คราวต่อไปพวกเขาจะได้รับโอกาสอีกกี่ครั้ง
    • ต้องแน่ใจดีกว่า ผู้ปกครองทั้งคู่ มีการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน เด็กของคุณจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากผู้ปกครองทั้งสองฝั่ง ในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง [27]
    • ความเสมอต้นเสมอปลาย ยังรวมถึงการที่ต้องทำให้เด็กตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อเขาหรือเธอกระทำความผิด โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นในสถานที่ใด เพราะผู้ปกครองบางคนอาจกลัวที่จะลงโทษเด็กในสถานที่สาธารณะ ด้วยความกังวลว่าผู้อื่นจะมองอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแสดงให้เด็กของคุณรู้ว่า การกระทำผิดย่อมมีผลที่ตามมาเสมอ ไม่ว่าจะกระทำที่ไหน
    • อย่าลืมขอความร่วมมือจากทางโรงเรียน สถานรับเลี้ยง หรือโรงเรียนติวพิเศษในวันหยุด เพื่อพูดคุยกับผู้ดูแลเด็กในสถานที่แต่ละแห่ง ให้แน่ใจว่า ทุกฝ่ายได้มีการบังคับใช้บทลงโทษที่เสมอต้นเสมอปลาย ทันต่อเหตุการณ์ และทรงพลังเช่นเดียวกับมาตรการที่คุณใช้ที่บ้าน เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่สับสนกับมาตรการเหล่านั้น
  4. พยายามอย่าปล่อยให้เกิดการโต้เถียงระหว่างคุณกับเด็กๆ หรืออ่อนปวกเปียกในการกระทำของคุณเองด้วย [28] [29] พวกเขาจำเป็นต้องตระหนักว่า คุณเป็นเจ้านาย นั่นคือบรรทัดสุดท้าย ไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้
    • ทันทีที่คุณอยู่ในเปิดโอกาสให้มีการโต้เถียง หรือผ่อนปรนให้แก่พวกเขา มันจะเป็นการสื่อให้พวกเขานึกว่า คุณปฏิบัติต่อพวกเขา ดังเช่นเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขามีโอกาสที่จะชนะการโต้เถียงได้ ดังนั้น พวกเขาจะนำมันมาเป็นเหตุผลในการทำตัวดื้อดึง รวมถึงโต้เถียงเพื่อเอาชนะคุณต่อไป
    • จงว่ากล่าวตักเตือนหรือชี้แนะอย่างจำเพาะเจาะจง และมีความหนักแน่น ให้พวกเขารู้สึกว่าต้องปฏิบัติตาม
  5. การให้เวลานอกแก่เด็กๆ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาหรือเธอได้สงบสติอารมณ์ โดยการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แทนที่จะเผชิญหน้าระหว่างกันและท้าทายว่า ฝ่ายไหนจะระเบิดอารมณ์ได้รุนแรงกว่ากัน คุณควรจะจัดสรรพื้นที่บางมุมเอาไว้ให้เด็ก ได้ไปนั่งๆ ยืนๆ สักพักเพื่อสงบอารมณ์ลง ก่อนที่จะพากลับมาพูดคุยถึงปัญหากันต่อไป โดยคุณต้องชี้ให้พวกเขาเห็นว่า การให้ไปใช้เวลานอกอยู่กับตัวเองเช่นนี้ ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง [30]
    • การให้เวลานอก เป็นรูปแบบการลงโทษที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มันสามารถนำไปใช้ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เพื่อให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงกับการกระทำของตัวเอง เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น มักเกลียดการที่ต้องอยู่นิ่งเฉยเงียบๆ ดังนั้น มันจึงถือเป็นการตอบสนองที่ใช้ได้ผลดี ในเวลาที่พวกเขาประพฤติตัวแย่
  6. เรียนรู้วิธีคาดการณ์ปัญหาและวางแผนล่วงหน้า. พยายามพูดคุยในเรื่องที่คุณกังวลกับเด็กของคุณ และวางแผนรับมือเรื่องเหล่านั้นร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ หลักการนี้จะมีประโยชน์มากเป็นพิเศษ กรณีที่เด็กของคุณอยู่ในที่สาธารณะ จงพยายามหารือร่วมกับพวกเขา ในการกำหนดผลรางวัลและมาตรการลงโทษด้วย จากนั้น ก็ให้เขาหรือเธออ่าน หรือพูดทวนข้อตกลงดังกล่าวออกมาดังๆ [31] [32]
    • ตัวอย่างเช่น หากครอบครัวของคุณจะออกไปทานอาหารค่ำกันนอกบ้าน คุณอาจกำหนดมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวว่า จะมีรางวัลสำหรับการทำตัวดี ในรูปแบบของการให้สิทธิแก่พวกเขาสั่งของหวานมากินได้ ในขณะที่บทลงโทษเมื่อกระทำผิด ก็อาจจะเป็นการพาเขาหรือเธอกลับบ้านและพาเข้านอนโดยทันที หากพวกเขาเริ่มจะทำตัววุ่นวายขณะอยู่ในร้านอาหาร การกล่าวเตือนอย่างอ่อนโยน (เช่น “หากคืนนี้ทำตัวดีๆ ลูกจะได้รางวัลอะไรเอ่ย”) และหากจำเป็น ก็ตามด้วยการเตือนครั้งที่ 2 (เช่น “ลูกคงอยากจะเข้านอนเร็วๆ สินะคืนนี้”) เพียงเท่านี้ ก็น่าจะทำให้เด็กสงบลงได้แล้ว
  7. อย่าลืมกล่าวย้ำกับเด็กอยู่เสมอว่า คุณรักเขาหรือเธอเสมอ ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น และบอกพวกเขาด้วยว่า พวกเขาเป็นเด็กดี แต่การกระทำทุกอย่างต้องมีผลที่ตามมาเสมอ
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

เข้าใจและจัดการกับภาวะซนสมาธิสั้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจความแตกต่างของเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น. เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น อาจจะมีท่าทีเชื่อฟัง ก้าวร้าว ต่อต้านระเบียบ ไม่สนกฎเกณฑ์ เจ้าอารมณ์มากเกินไป มีความตั้งใจแรงกล้า หรืออาจจะเป็นคนขาดความยับยั้งชั่งใจก็ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาเป็นระยะเวลานาน วงการแพทย์ได้สันนิษฐานว่า เด็กที่มีอาการเหล่านี้ เป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงดูที่แย่ของผู้ปกครอง แต่เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 บรรดานักวิจัยก็เริ่มเพ่งเล็งไปที่การทำงานของสมอง อันน่าจะเป็นสาเหตุของภาวะซนสมาธิสั้น [33]
    • นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาโครงสร้างทางสมองของเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น และพบว่า สมองบางส่วนมีขนาดเล็กกว่าปกติ หนึ่งในบริเวณดังกล่าวก็คือ เบซัลแกงเกลีย (basal ganglian) ซึ่งทำหน้าที่ปรับความสมดุลการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ รวมถึงหน้าที่ในการกำหนดว่า กล้ามเนื้อจะต้องถูกใช้ในกิจกรรมใดและเมื่อใดที่มันควรได้รับการพักผ่อน สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ที่กำลังนั่งอยู่ อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหวมือและเท้า แต่ด้วยความที่เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้นมีสมองส่วนนี้เล็กกว่าปกติ พวกเขาจึงไม่สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวอันไม่จำเป็นดังกล่าวได้ นั่นคือสาเหตุที่พวกเขามีปัญหาในการนั่งอยู่กับที่เฉยๆ [34]
    • พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น สมองจะขาดการถูกกระตุ้นบางอย่าง และมีความสามารถในการควบคุมแรงผลักดันของตัวเองต่ำ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องพยายามมากกว่าปกติ หรือ “ขยับแข้งขยับขา” อยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองบริเวณดังกล่าว [35]
    • เมื่อผู้ปกครองตระหนักได้ว่า เด็กที่พวกเขาดูแลอยู่ ไม่ได้ตั้งใจที่จะซุกซนหรือกระทำสิ่งใดด้วยความไม่ยั้งคิด โดยเข้าใจว่า สมองของเด็กเหล่านี้แค่ทำงานแตกต่างจากเด็กทั่วไป จากการที่มีภาวะซนสมาธิสั้นเท่านั้น ผู้ปกครองก็จะสามารถรับมือกับพฤติกรรมของเด็กได้ง่ายขึ้น ความเห็นอกเห็นใจที่เกิดขึ้นจากการรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความอดทนมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะปรับตัวเข้าหาเด็กๆ ของพวกเขาต่อไป [36]
  2. เข้าใจสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น ประพฤติตัวไม่ดี. ปัจจัยปัญหาอื่นๆ อาจจะยิ่งทำให้ผู้ปกครองที่ต้องเผชิญกับภาวะซนสมาธิสั้นของเด็ก ให้หนักใจมากขึ้นอีก เพราะยังอาจต้องรับมือกับความบกพร่องอื่นๆ ที่มาพร้อมกับภาวะซนสมาธิสั้นด้วย
    • ตัวอย่างเช่น ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ที่มีภาวะซนสมาธิสั้นนั้น มักจะมีอาการอารมณ์สองขั้วหรืออาการซึมเศร้าร่วมด้วย ในขณะที่อีกร้อยละ 33 จะมีภาวะดื้อและต่อต้าน รวมถึงภาวะพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วย [37] นอกจากนี้ เด็กๆ หลายคนที่มีภาวะซนสมาธิสั้น จะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือมีภาวะอาการวิตกจริตตามมาด้วย [38]
    • ความผิดปกติที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเหล่านี้ อาจทำให้หน้าที่ในฐานะผู้ดูแลเด็กของคุณ ยากลำบากมากขึ้นอีก และจะยิ่งลำบากมากขึ้นหากเด็กคนดังกล่าวต้องทานยาหลายขนาน จนอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นตามมามากมายให้กังวลอีก นอกเหนือไปจากการคอยดูแลพฤติกรรมของพวกเขา
  3. อย่ารู้สึกคับข้องใจ เวลาที่พวกเขามีพฤติกรรมไม่ปกติ. ไม่มีสิ่งใดจะชี้วัดได้ว่า แบบไหนถึงจะเรียกว่า “ปกติ” เพราะแนวคิดหรือคำนิยามของคำว่า “พฤติกรรมปกติ” เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและขึ้นอยู่กับตัวบุคคล รวมถึงปัจจัยอื่นด้วย ภาวะซนสมาธิสั้นเป็นเรื่องของความสามารถที่บกพร่องบางอย่าง จึงทำให้เด็กที่มีภาวะดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการตักเเตือนและปรับตัวมากหน่อย [39] อย่างไรก็ตาม มันถือเป็นภาวะที่ไม่ได้ต่างอะไรกับเด็กที่มีปัญหาการมองเห็น ซึ่งต้องอาศัยแว่นตา หรือเด็กที่มีปัญหาในการได้ยิน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังเลย
    • เด็กที่มีอาการต่างๆ ของภาวะซนสมาธิสั้น ถือว่าสภาพการณ์เหล่านั้น เป็นเรื่อง “ปกติ” สำหรับพวกเขา มันเป็นปัญหาที่เราสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเด็กที่มีภาวะดังกล่าวก็สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขสมบูรณ์ต่อไป
    โฆษณา

คุณพอจะหวังสิ่งใดได้บ้าง

  • หากคุณได้ลองทำตามกลยุทธ์ที่อ่านมาทั้งหมดแล้ว ก็ย่อมจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับพฤติกรรมของเด็กบ้าง เช่น เขาหรือเธออาจจะงอแงน้อยลง หรือสามารถทำหน้าที่เล็กน้อยตามที่คุณร้องขอได้
  • จำไว้ว่า กลยุทธ์ที่กล่าวมา ไม่สามารถที่จะกำจัดพฤติกรรมบางอย่าง อันเชื่อมโยงกับภาวะซนสมาธิสั้นได้ เช่น การขาดความสนใจ หรือการที่พวกเขามีพลังงานล้นเหลือ
  • คุณอาจจำเป็นต้องลองผิดลองถูกไปสักพัก ก่อนที่จะดูว่า วิธีใดเหมาะสมกับเด็กของคุณมากที่สุด ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนอาจตอบสนองได้ดีต่อระบบการให้เวลานอก ในขณะที่มันใช้ไม่ได้ผลกับเด็กบางคน

เคล็ดลับ

  • กุญแจสำคัญ ของความสำเร็จ ในการรับมือกับเด็กที่มีภาวะซนสมาธิสั้น คือ การปลูกฝังรากฐานทางจิตอันมั่นคง เพื่อใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาต่อไป ซึ่งรวมถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และการให้อภัย คุณต้องแสดงความรักให้พวกเขาเห็นเสมอ แม้ในยามที่พวกเขาประพฤติตัวไม่ดีก็ตาม รวมถึงการให้รางวัลอย่างสมควรแก่พฤติกรรมที่ดี การเสริมสร้างระบบการจัดการทั่วไป อันสอดคล้องกับโหมดการทำงานของสมองพวกเขา นอกจากนี้ ต้องลงโทษอย่างหนักแน่น ทันเหตุการณ์ และเสมอต้นเสมอปลายทุกครั้ง เมื่อพวกเขาทำผิด
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  2. Putting On The Brakes: Young People’s Guide to Understanding Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) by Patricia O. Quinn & Judith M. Stern (1991).
  3. Why Is My Child’s ADHD Not Better Yet? Recognizing The Undiagnosed Secondary Conditions That May Be Affecting Your Child’s Treatment by David Gottlieb, Thomas Shoaf, and Risa Graff (2006).
  4. Organize Your ADD/ADHD Child: A Practical Guide For Parents by Cheryl R. Carter (2011).
  5. Putting On The Brakes: Young People’s Guide to Understanding Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) by Patricia O. Quinn & Judith M. Stern (1991).
  6. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  7. Putting On The Brakes: Young People’s Guide to Understanding Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) by Patricia O. Quinn & Judith M. Stern (1991).
  8. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  9. Putting On The Brakes: Young People’s Guide to Understanding Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) by Patricia O. Quinn & Judith M. Stern (1991).
  1. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  2. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  3. Organize Your ADD/ADHD Child: A Practical Guide For Parents by Cheryl R. Carter (2011).
  4. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005)
  5. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  6. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999).
  7. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999)
  8. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999)
  9. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  10. Organize Your ADD/ADHD Child: A Practical Guide For Parents by Cheryl R. Carter (2011).
  11. Why Is My Child’s ADHD Not Better Yet? Recognizing The Undiagnosed Secondary Conditions That May Be Affecting Your Child’s Treatment by David Gottlieb, Thomas Shoaf, and Risa Graff (2006).
  12. Organize Your ADD/ADHD Child: A Practical Guide For Parents by Cheryl R. Carter (2011).
  13. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  14. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999).
  15. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999)
  16. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999)
  17. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  18. Dr. Larry’s Silver’s Advice to Parents on ADHD by Larry N. Silver (1999).
  19. Organize Your ADD/ADHD Child: A Practical Guide For Parents by Cheryl R. Carter (2011).
  20. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  21. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  22. Taking Charge of ADHD: The Complete, Authoritative Guide For Parents by Russell A. Barkley (2005).
  23. Why Is My Child’s ADHD Not Better Yet? Recognizing The Undiagnosed Secondary Conditions That May Be Affecting Your Child’s Treatment by David Gottlieb, Thomas Shoaf, and Risa Graff (2006)
  24. The ADHD Update: Understanding Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder by Alvin and Virginia Silverstein and Laura Silverstein Nunn (2008)
  25. Why Is My Child’s ADHD Not Better Yet? Recognizing The Undiagnosed Secondary Conditions That May Be Affecting Your Child’s Treatment by David Gottlieb, Thomas Shoaf, and Risa Graff (2006).
  26. 2. The ADHD Update: Understanding Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder by Alvin and Virginia Silverstein and Laura Silverstein Nunn (2008).
  27. Brainstorms: Understanding and Treating the Emotional Storms of Attention Deficit Hyperactivity Disorder from Childhood Through Adulthood by H. Joseph Horacek, Jr. (1998).
  28. Why Is My Child’s ADHD Not Better Yet? Recognizing The Undiagnosed Secondary Conditions That May Be Affecting Your Child’s Treatment by David Gottlieb, Thomas Shoaf, and Risa Graff (2006).
  29. The ADHD Update: Understanding Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder by Alvin and Virginia Silverstein and Laura Silverstein Nunn (2008).
  30. Brainstorms: Understanding and Treating the Emotional Storms of Attention Deficit Hyperactivity Disorder from Childhood Through Adulthood by H. Joseph Horacek, Jr. (1998).

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 14,550 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา