ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ลูกหมาเกิดใหม่นี่แหละแหล่งซ่องสุมของหมัด ทั้งดูดเลือดทั้งวางไข่เพลินเลย หมัดพวกนี้ (หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Ctenocephalides canis ) ทั้งอันตรายและน่ารำคาญสำหรับน้องหมา เพราะทำให้ผิวหนังคันคะเยอและระคายเคือง ถ้าหนักหน่อย ลูกหมาอาจเกิดภาวะโลหิตจางได้เพราะหมัดกัดจนเสียเลือด ที่แย่คือเวลาลูกหมามีหมัดแล้วกำจัดยากชะมัด เพราะร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานยาฆ่าแมลงในยากำจัดหมัด เลยต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอาบน้ำทำความสะอาดให้แทน พร้อมกำจัดหมัดที่ตัวแม่ รวมถึงเบาะนอนและเฟอร์นิเจอร์ที่ลูกหมาเคยไปขลุกอยู่ ว่าแล้วก็เลื่อนลงไปอ่านขั้นตอนที่ 1 ข้างล่างได้เลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

กำจัดหมัดที่ลูกหมา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทำไมยากำจัดหมัดทั่วไปถึงใช้กับลูกหมาไม่ได้. ร่างกายของลูกหมาเกิดใหม่เป็นที่อยู่อาศัยในอุดมคติของหมัด เพราะตัวอุ่น มีความชื้น และมีเลือดให้ดูดกิน แถมที่ยุ่งคือผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดทั้งหลายนั้นแรงไปสำหรับลูกหมาเกิดใหม่ เพราะอวัยวะภายในของลูกหมานั้นบอบบางกว่าของหมาโต ถ้าใช้ยากำจัดหมัดทั่วไปมักเกิดผลข้างเคียงอันตราย
    • ผลข้างเคียงที่ว่าก็ต่างกันไปตามตัวยา เช่น น้ำลายไหลเยิ้ม อาเจียน มีปัญหาด้านการหายใจ และไวต่อสิ่งเร้าผิดปกติ หรืออีกทีคือซึมเศร้าไปเลย
    • ยากำจัดหมัดบางตัวจะเขียนไว้ชัดเจนที่ฉลากเลยว่าห้ามใช้กับลูกหมา เพราะส่วนใหญ่ไม่เคยมีการทดสอบใช้รักษาลูกหมา ผู้ผลิตก็จะไม่แนะนำให้ใช้งาน
    • นอกจากนี้ให้ระวังผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ permethrins อันตรายมากเพราะระบบเผาผลาญของลูกหมาไม่แข็งแรงพอจะสลาย permethrins ทำให้สะสมในร่างกาย จนเป็นอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการตัวสั่น น้ำลายไหล กระตุกเกร็ง ไปจนถึงอัมพาต
    • ยากำจัดหมัดที่ไม่ได้ผสม permethrin จะไม่ค่อยเห็นผล เลยทำให้เสียเงินเปล่า
  2. ในเมื่อทั้งผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดที่ขายตามร้านและที่คุณหมอจ่ายให้ไม่สามารถใช้กับลูกหมาได้อย่างปลอดภัย ก็เหลือวิธีเดียวคือรักษาความสะอาดให้ดีที่สุด แล้วกำจัดหมัดจากตัวลูกหมาเอง ขั้นตอนในการอาบน้ำลูกหมาก็คือ
    • เปิดน้ำอุ่นใส่อ่างหรืออ่างล้างจานให้สูงประมาณ 2 - 3 นิ้ว (5 - 8 ซม.) โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมของน้ำจะอุ่นประมาณน้ำอาบเด็กอ่อน
    • แช่ตัวลูกหมาลงในอ่าง โดยใช้มือรองหัวไว้ให้อยู่เหนือน้ำ
    • เอามือวักน้ำราดตัวลูกหมาให้ขนชุ่ม
    • ยกตัวลูกหมาขึ้นจากน้ำ แล้ววางบนผ้าเช็ดตัวอุ่นสะอาด ค่อยๆ เช็ดถูให้ทั่วตัว ให้ตัวเปียกพอหมาด
  3. วางลูกหมาบนผ้าเช็ดตัวแห้งๆ ที่ปูลาดบนพื้นราบหรือโต๊ะ จากนั้นใช้หวีกำจัดหมัดสางขนที่เปียกหมาดๆ
    • หวีกำจัดหมัดจะเป็นหวีซี่ถี่ เลยสางเอาหมัดติดออกมาจากขน
    • ให้เริ่มสางจากขนหลังคอ โดยแสกขนออกจากกัน แบ่งหวีเป็นส่วนๆ ไปจนครบทั้งตัว และไม่เจอหมัดติดมากับหวีอีก
  4. สำคัญมากว่าต้องฆ่าหมัดที่สางออกมาจากขนลูกหมาให้ตายสนิท ไม่งั้นอาจหาทางไต่กลับไปแพร่พันธุ์ได้ วิธีฆ่าหมัดก็เช่นใช้เล็บบี้ให้ตาย หรือเอาไปทิ้งในถ้วยใส่น้ำเดือด
    • ถ้าเอาไปใส่น้ำเดือด ระวังอย่าให้ลูกหมามาป้วนเปี้ยนแถวแก้ว/ถ้วยนั้นได้ เพราะอาจเผลอทำน้ำหกจนลวกตัว
  5. กันลูกหมาให้อยู่ห่างเบาะนอนหรือสัตว์เลี้ยงอื่นที่มีหมัด. พอกำจัดหมัดออกจากตัวลูกหมาแล้วก็เสร็จไปหนึ่งเปลาะ แต่ทีนี้พอไม่ได้ลงน้ำยากำจัดหมัดที่ขน อาจกลับมามีหมัดได้อีก เพราะงั้นถึงต้องพาลูกหมาไปให้ห่างจากแม่หมา รวมถึงที่นอนหมอนมุ้งที่มีหมัดระบาด จนกว่าจะกลับสู่สถานการณ์ปกติ เป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหมากลับมาติดหมัดได้เป็นอย่างดี
  6. พอลูกหมาเริ่มโต ร่างกายจะแข็งแรงพอจะรับมือกับสารเคมีต่างๆ ในผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดทั้งหลายได้ นั่นแหละคือเวลาที่เหมาะสม แต่ถึงจะโตพอใช้ได้แล้ว ก็ต้องใช้งานตามคำแนะนำและคำเตือนที่ฉลากเสมอ ส่วนใหญ่จะเขียนไว้เลยว่าสำหรับหมาอายุเท่าไหร่ ยากำจัดหมัดที่แนะนำก็เช่น
    • ยาหยดยี่ห้อ Revolution (มีสารออกฤทธิ์ (active ingredient) ชื่อ selamectin) ใช้ได้กับลูกหมาอายุ 7 อาทิตย์ขึ้นไป
    • ยาหยดยี่ห้อ Frontline (มีสารออกฤทธิ์ชื่อ fipronil) ใช้ได้กับลูกหมาอายุ 8 อาทิตย์ขึ้นไป
    • ยากิน เช่น ยี่ห้อ Comfortis (มีสารออกฤทธิ์ชื่อ spinosad) ใช้ได้กับหมาอายุ 14 อาทิตย์ขึ้นไปเท่านั้น
    • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ว่ากับลูกหมาอายุต่ำกว่าที่กำหนดเด็ดขาด
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

กำจัดหมัดที่แม่หมา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าพบว่าลูกหมาในครอกมีหมัดขึ้นมา ก็แสดงว่าแม่หมาต้องมีหมัด เพราะงั้นต้องกำจัดหมัดที่แม่หมาด้วย หลังกำจัดหมัดตัวลูกแล้วจะได้ไม่แพร่ซ้ำ
    • ถ้ามีสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในบ้านที่เคยมาเล่นด้วยหรือใกล้ชิดกับแม่หมาหรือลูกหมา ก็ต้องดูแลกำจัดหมัดให้เช่นกัน
  2. ใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่คุณหมอแนะนำหรือจ่ายให้ อย่าใช้ยา "สมุนไพร" หรืออื่นๆ ตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง. ถึงยากำจัดหมัดจะใช้กับแม่หมาได้ แต่ก็ต้องเลือกให้ดีๆ ก่อนใช้จริง
    • ถ้าแม่หมายังต้องให้นมลูก สารเคมีบางตัวจะส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกหมาได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกหมา เพราะงั้นสำคัญว่าต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับแม่หมาให้นม ที่คุณหมอแนะนำหรือจ่ายให้โดยเฉพาะ
    • บางผลิตภัณฑ์ที่ขายตามร้านของใช้สัตว์เลี้ยง ถึงโฆษณาว่าใช้ "สมุนไพร", "สูตรธรรมชาติ" หรือ "ไม่ใช้สารเคมี" ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยกับลูกหมาเพิ่งคลอด และถึงจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรก็มักจะไม่แรงพอกำจัดหมัดอยู่ดี
  3. ใช้ยากำจัดหมัดที่มี selamectin กับแม่หมาที่ท้องหรือให้นมอยู่. ยาที่คุณหมอจ่ายให้จะมีสาร selamectin (เช่น ยี่ห้อ Revolution และ Stronghold) เป็นสารที่ได้ใบรับรองว่าปลอดภัยกับแม่หมาที่ท้องหรือให้นมอยู่
    • ให้หยดยาที่ผิวหนังของหมาโตเต็มวัย โดยทำตามคำแนะนำการใช้งานที่ฉลากอย่างเคร่งครัด แล้วทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมงจนแห้งสนิท ค่อยให้ลูกหมากลับมาหาแม่
    • ยากำจัดหมัดที่มี selamectin ต้องใช้ตามปริมาณที่แนะนำอย่างเคร่งครัด และใช้หยดภายนอกเท่านั้น ห้ามให้หมากินเพราะจากการทดลองใช้งานในหนูแล้วพบว่าทำให้ตัวอ่อนเกิดความผิดปกติ [1]
  4. อย่าใช้ยาที่มี fipronil และ spinosad เพราะไม่ปลอดภัยต่อแม่หมาที่อยู่ในช่วงให้นม. มีหลายส่วนผสมในยากำจัดหมัดที่เป็นอันตรายต่อแม่หมาตั้งท้องหรือให้นม เพราะงั้นต้องอ่านคำแนะนำที่ฉลากให้ละเอียด หรือปรึกษาสัตวแพทย์ประจำตัวจนแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ไม่มีส่วนผสมที่ว่า
    • สาร fipronil (ที่เป็นส่วนผสมของยากำจัดหมัดยี่ห้อ Frontline) ห้ามใช้กับแม่หมาที่ท้องหรือให้นมอยู่ เพราะยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยรับรองว่าจะปลอดภัยกับลูกหมาด้วย
    • สาร spinosad (ที่เป็นส่วนผสมของยากินกำจัดหมัดยี่ห้อ Comfortis) วิจัยกันแล้วว่าถ่ายทอดทางนมแม่หมาไปยังลูกได้ ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานรองรับว่า spinosad ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายยังไงกับลูกหมาบ้าง เพราะงั้นหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารนี้กับแม่หมาแต่แรกดีกว่า
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

กำจัดหมัดในบ้าน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หมัดโตเต็มวัยมาเกาะติดลูกหมาก็เพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร เพราะงั้นถ้าเห็นหมัด 1 ตัวบนตัวสัตว์เลี้ยง ให้คาดการณ์ไว้ได้เลย ว่าจะมีอีก 20 ตัวแถวเบาะนอน พรม และโซฟา
    • อีกข้อมูลสำคัญคือหมัดตัวเมียจะวางไข่บนอะไรที่เป็นผ้านิ่มๆ เช่น พรม หรือผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์ ไข่หมัดอึดมาก ถึงไม่ได้อยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงก็อยู่ได้หลายปี
    • พอไข่หมัดฟักแล้ว ตัวอ่อนและดักแด้จะโตต่อบนพรมหรือที่นอน โดยอาศัยกินเศษสิ่งสกปรกจนครบวงจรชีวิต และกลายเป็นหมัดโตเต็มวัยในที่สุด
    • เลยทำให้ต้องกำจัดไข่และตัวอ่อนที่ซุกซ่อนอยู่ตามเบาะนอนของหมา รวมถึงพรมและโซฟา ไม่งั้นแม่หมาหรือลูกหมาอาจกลับมามีหมัดอีก
  2. อย่างที่แนะนำไปในขั้นตอนก่อนๆ ว่าทุกที่ที่ลูกหมาไปขลุกอยู่ แน่นอนว่าต้องเต็มไปด้วยไข่ ตัวอ่อน และดักแด้ของหมัดที่รอพัฒนาเป็นหมัดโตเต็มวัย เพราะงั้นต้องเอาเบาะนอนไปซักให้สะอาดหมดจด รวมถึงฆ่าเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหมัดหลงเหลืออยู่
    • เปลือกของไข่หมัดแข็งแรงทนทานมาก เพราะงั้นแค่เอาเบาะนอนไปซักในเครื่องซักผ้ายังกำจัดหมัดไม่ได้แน่นอน
    • ใช้สเปรย์หรือกระป๋องรมควันกำจัดหมัดที่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง เพราะตัวยาจะแทรกซึมไปตามซอกมุมที่เข้าถึงยากของเบาะนอน ไปกำจัดไข่ ตัวอ่อน และดักแด้หมัดที่อาจซุกซ่อนอยู่ เน้นว่าต้องใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
    • พอฉีดพ่นยาและทิ้งไว้ให้ออกฤทธิ์แล้ว ก็ให้เอาเบาะนอนไปซักเครื่องด้วยอุณหภูมิสูงๆ ไม่ให้เหลือยาฆ่าแมลงตกค้าง (อันตรายกับลูกหมามาก) และชำระล้างเอาไข่ ตัวอ่อน และดักแด้ที่ตายแล้วออกไป
  3. ฉีดสเปรย์ฆ่าแมลงเพื่อกำจัดหมัดตามพรมและเนื้อผ้าต่างๆ. สุดท้ายถึงเวลาฆ่าหมัดตามพรมและผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยฉีดสเปรย์ฆ่าแมลงที่มี permethrin เช่น Staykill หรือ RIP fleas
    • ผู้ผลิตสเปรย์พวกนี้แนะนำให้ดูดฝุ่นก่อนฉีดพ่น เพื่อกำจัดฝุ่นชั้นบนๆ ทำให้สเปรย์ซึมลงไปกำจัดหมัดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แถมเวลาดูดฝุ่นแล้วเกิดแรงสั่นสะเทือน ทำให้ตัวอ่อน ‘ตื่น’ และขยับมาทางแสง นึกว่ามีสิ่งมีชีวิตให้ดูดเลือด
    • ฉีดยาฆ่าแมลงตามพรม โซฟา และเฟอร์นิเจอร์ที่มีผ้าหุ้มอื่นๆ ตามคำแนะนำที่ฉลาก permethrins ในสเปรย์จะส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อของหมัด ทำให้หมัดเป็นอัมพาตและตายในที่สุด แมลงขับ pyrethroids จากร่างกายไม่ได้เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ร่างกายเลยได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
    • เอาลูกหมาและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ (เช่น นกและปลา) รวมถึงเด็กๆ ออกไปจากห้องก่อนฉีดพ่นยาฆ่าแมลง พอฉีดแล้วก็ต้องเปิดหน้าต่างระบายอากาศทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมง ที่สำคัญคืออย่าให้ทั้งสัตว์และคนตกค้างอยู่ในห้อง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าแม่หมา ลูกหมา หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่ติดหมัดเพิ่งนั่งรถมาหยกๆ ก็ต้องตามไปฉีดยาฆ่าแมลงในรถด้วย
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Efficacy of selamectin administered topically to pregnant and lactating female dogs in the treatment and prevention of adult tapeworm (Toxocara canis) infection and flea (Ctenocephalides felis felis) infestations n the dams and their pups. Yanye-Johnson, Maitland et al. Veterinary Parasitology. 2000 Aug 23:91 (3-4):347-58

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 62,892 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา