ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ไม่ว่าใครต่างก็อยากมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพกันทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นคุณลองปรับปรุงรูปแบบการคิดของตัวเองให้เป็นลำดับขั้นตอนและเป็นเหตุเป็นผลมากกว่านี้ดูสิ การดูแลสมองให้เฉียบแหลมอยู่เสมอเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สมองของคุณมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงของเส้นประสาทได้ตลอดชีวิตหรือที่เรียกว่ากระบวนการ Neuroplasticity ไม่ว่าจะเป็นการบริหารสมองและจิตใจ การตระหนักรู้ถึงความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต มีหลายวิธีการที่จะช่วยให้คุณพัฒนาความคิดเชิงตรรกะให้ดีได้ยิ่งขึ้น

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

บริหารสมองและจิตใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สมองของคุณก็ต้องการการบริหารให้แข็งแรงอยู่เสมอ คุณสามารถบริหารสมองได้ง่ายๆ เพียงทำการทดสอบความจำของคุณ ลองดูสิว่าคุณสามารถจดจำรายละเอียดของช่วงเวลาหนึ่ง ลิสต์รายการต่างๆ หรือสิ่งที่ต้องทำในหนึ่งวันได้มากน้อยเพียงใด
    • จดจำสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน - ลองจดจำรายการของที่ต้องซื้อหรือข้อความสั้นๆ จากคำกลอนหรือหนังสือ และเมื่อผ่านไปแล้ว 1 ชั่วโมงจึงลองทบทวนดูว่าคุณสามารถจดจำรายละเอียดได้มากน้อยเพียงใด [1]
    • วาดแผนที่จากความทรงจำ - ลองวาดแผนที่คร่าวๆ จากบ้านของคุณไปยังที่ทำงาน ร้านขายของ บ้านของเพื่อน หรือสถานที่อื่นๆ ที่คุณไปเป็นประจำ [2]
    • สังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ - การหมั่นสังเกตสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาความคิดเชิงตรรกะให้ดียิ่งขึ้น คุณสังเกตเห็นรอยบาดจากกระดาษบนมือของเพื่อนมั้ย? คุณนับขั้นบันไดที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของคุณหรือเปล่า? คุณมองหาคำที่สะกดผิดในข้อความหรือไม่? หากคำตอบคือไม่ ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้เลย จำไว้ว่ายิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ สมองของคุณก็จะมีสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป คุณก็จะเริ่มคิดอย่างมีวิจารณญาณได้มากกว่าเดิม
  2. เป็นที่รู้กันดีว่าการเล่นเกมครอสเวิร์ดมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี การเล่นเกมครอสเวิร์ดจะบังคับให้สมองของคุณทำงานเกินขีดความสามารถเล็กน้อยซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างใหม่ของเซลล์ประสาทในสมอง จึงช่วยเพิ่มพลังให้กับสมองของคุณรวมถึงส่งเสริมความสามารถในการใช้ความคิดเชิงตรรกะมากยิ่งขึ้น เลือกซื้อหนังสือเกมครอสเวิร์ดสักเล่มจากร้านหนังสือใกล้บ้านหรือแก้ปริศนาครอสเวิร์ดที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในแต่ละเช้า [3]
  3. การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้การคิดเชิงตรรกะเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อไรก็ตามที่คุณพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตัวเอง คุณจะต้องใช้ตรรกะและกลยุทธ์ในการเปิดรับทักษะใหม่ๆ ลองทำกิจกรรมต่างๆ ด้านล่างนี้เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดเชิงตรรกะของคุณ [4]
    • เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรี
    • เรียนรู้การวาดภาพหรือระบายสี
    • เรียนรู้การพูดภาษาต่างประเทศ
    • เรียนรู้การทำอาหาร
  4. การเรียนรู้จากผู้อื่นเป็นรูปแบบหนึ่งในการบริหารสมอง การสร้างความสัมพันธ์ในสังคมและมิตรภาพระหว่างเพื่อนฝูงมีส่วนช่วยในการดูแลสมองและเป็นวิธีที่ช่วยผลักดันให้ผู้คนทำความเข้าใจในตนเองรวมถึงผู้คนรอบข้าง พยายามใช้เวลากับเพื่อนสนิทและสมาชิกในครอบครัวเป็นประจำ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและใช้โอกาสนี้ในการพบปะผู้คนใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจฟังดูยากไปสักนิดหากคุณเป็นคนขี้อายหรือชอบเก็บตัว แต่การผลักดันตัวเองให้เอาชนะความกลัวในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสามารถช่วยให้คุณพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงตรรกะได้เช่นกัน [5]
  5. ความแปลกใหม่จะช่วยกระตุ้นสมองให้มีความเฉียบแหลมรวมถึงเพิ่มความจำให้กับสมองของคุณ เช่น ลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางไปทำงานหรือทำเมนูที่แปลกใหม่จากเดิมสำหรับมื้อเย็น การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จะทำให้สมองของคุณกระฉับกระเฉงอยู่เสมอและช่วยให้คุณสามารถพัฒนาความคิดเชิงตรรกะให้ดียิ่งขึ้น [6]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ตระหนักรู้ถึงความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลายๆ คนมักมีความคิดเชิงลบเกิดขึ้นในหัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดสูง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะคิดถึงแต่ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ดังนั้น พยายามรับรู้ตัวเองเมื่อเกิดความคิดเชิงลบขึ้นมาในชั่วขณะหนึ่ง
    • ความคิดเชิงลบเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เจ้านายของคุณส่งอีเมลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมมากขึ้นในระหว่างการประชุม ซึ่งหากคุณมีแนวโน้มที่จะมีความคิดเชิงลบ คุณอาจคิดว่าหน้าที่การงานของคุณกำลังเริ่มสั่นคลอน คุณเป็นพนักงานที่แย่ในสายตาของเจ้านาย จนในที่สุดคุณคงถูกไล่ออกจากงานจนต้องว่างงาน และทำให้เพื่อนๆ และครอบครัวมองคุณอย่างดูถูกดูแคลน ซึ่งหากคุณพบว่าตัวเองมีความกังวลเช่นนี้ ลองสูดหายใจลึกๆ แล้วพยายามคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังเช่นในตัวอย่างที่ว่ามานี้ คุณอาจคิดกับตัวเองว่า “เจ้านายเพียงทำตามหน้าที่โดยการคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับฉัน เขาแค่อยากผลักดันให้ฉันทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและทุกคนต่างก็โดนตำหนิในบางโอกาสได้กันทั้งนั้น มันเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดาในชีวิต” [7]
    • อีกหนึ่งรูปแบบของความคิดเชิงลบคือการลดคุณค่าตัวเองด้วยการเพิกเฉยต่อความสำเร็จและคุณสมบัติที่ดีของตัวเองแต่กลับมองข้ามด้านลบในชีวิตของผู้อื่น คุณอาจคิดว่าชีวิตของบางคนประสบความสำเร็จและไร้ที่ติใดๆ แต่เมื่อตระหนักว่าพวกเขามีข้อบกพร่องในด้านใดด้านหนึ่ง คุณก็ไม่เห็นพวกเขาในสายตาโดยทันที ซึ่งในบางครั้งคุณอาจทำเช่นนี้กับตัวของคุณเอง คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก แต่หากคุณเกิดเสียท่าขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คุณกลับคิดว่ามันคือความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของตัวเอง พยายามตระหนักว่าความคิดเช่นนี้เป็นความคิดเชิงลบและจำไว้ว่าไม่ว่าใครต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียกันทั้งนั้น [8]
  2. การหลงคิดว่าตัวเองดีเลิศเหนือคนอื่นเป็นสิ่งที่เลวร้ายพอๆ กับการมีความคิดในเชิงลบ หากคุณคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นพนักงานที่สำคัญที่สุดในที่ทำงานหรือเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดในชั้นเรียน คุณอาจกำลังหลงทะนงตัวจนมองไม่เห็นความเป็นจริงอยู่ก็เป็นได้
    • จำไว้ว่าทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ในบริษัท โรงเรียน องค์กร และแผนกที่สำคัญแตกต่างกันไป ดังนั้นการหลงทะนงตัวไม่เพียงทำให้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับคนอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของคุณเองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การมองเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับตัวเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอไม่ให้หลงทะนงตัวแต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมรู้สึกดีและเห็นคุณค่าในตัวเองด้วย รวมถึงให้ความสำคัญกับความทุ่มเทและการมีส่วนร่วมของผู้อื่นเช่นเดียวกัน [9]
    • การสำคัญตัวเองมากเกินไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความคิดที่หยิ่งผยอง ในบางครั้งคุณอาจเข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งมีสาเหตุเกิดขึ้นจากตัวคุณแต่แท้จริงแล้วเหตุการณ์นั้นแทบไม่มีความเกี่ยงข้องกับคุณเลย ซึ่งความคิดเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดทั้งผลดีหรือผลเสียก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเห็นเพื่อนร่วมงานของคุณพูดคุยกับพนักงานเจ้าเสน่ห์ในบริษัทคนหนึ่ง คุณอาจทึกทักไปเองว่าเขาหรือเธอกำลังพยายามทำให้คุณรู้สึกอิจฉา หรือหากเพื่อนร่วมงานคนเดียวกันนี้ไม่สามารถมาร่วมงานวันเกิดของคุณได้ คุณอาจนึกไปเองว่าเขาหรือเธอมีความโกรธแค้นส่วนตัวกับคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาหรือเธออาจเพียงแค่ยุ่งจนไม่มีเวลาเท่านั้น หากคุณรู้ตัวว่าสำคัญตัวเองมากเกินไป พยายามนึกไว้อยู่เสมอว่าชีวิตของแต่ละคนต่างมีเรื่องวุ่นวายเช่นเดียวกับคุณจนอาจแทบไม่มีเวลานึกถึงอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับคุณ [10]
  3. ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่มีจินตนาการสูง ในบางครั้งผู้ใหญ่ก็มีความคิดโลกสวยได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่สะเทือนใจในชีวิต หลายคนเชื่อว่าการหลอกตัวเองด้วยการตั้งความหวังหรือการคิดบวกจะช่วยให้สถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีได้ อย่างไรก็ตาม แม้บางเรื่องจะเจ็บปวดที่ต้องยอมรับ แต่พยายามนึกไว้อยู่เสมอว่ามีหลายเหตุการณ์ที่เราควบคุมแทบไม่ได้หรือไม่ได้เลย [11]
    • การหลอกตัวเองอาจทำให้บางคนไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณเผชิญหน้ากับปัญหา สิ่งที่คุณควรทำคือพยายามทำความเข้าใจและยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงมองหาหนทางแก้ไขและเรียนรู้จากมัน
  4. การใช้เหตุผลวิบัติคือการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ซึ่งหลายคนมักใช้เหตุผลวิบัติอยู่บ่อยครั้งโดยไม่รู้ตัว
    • ตัวอย่างเช่น หากพนักงานแคชเชียร์แสดงออกไม่สุภาพกับคุณ คุณอาจคิดว่า “เดาได้เลยว่าเธอไม่ชอบฉันเพราะว่ารูปร่างหน้าตา น้ำหนัก หรือการแต่งกายของฉันแน่ๆ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณไม่มีทางรู้ได้เลยด้วยซ้ำว่าคนอื่นกำลังคิดอะไรอยู่ [12]
    • นอกจากนี้ หลายคนยังชอบคิดไปเองว่าคนอื่นสามารถรับรู้ความคิดของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถก่อให้เกิดความสับสนได้เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คุณอาจเข้าใจว่าเพื่อนร่วมห้องรู้ว่าคุณต้องการให้เขาช่วยพาสุนัขของคุณออกไปเดินเล่นหากคุณกลับดึก แต่คุณกลับไม่แสดงความต้องการออกมาจนเพื่อนร่วมห้องของคุณไม่รู้เรื่องใดๆ ดังนั้น พยายามตระหนักรู้และหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลวิบัติในชีวิตประจำวันของคุณ [13]
  5. การมีความคิดแบบสุดโต่งเป็นรูปแบบของความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลที่พบได้มาก หลายคนไม่สามารถเดินทางสายกลางได้และมองเหตุการณ์ ผู้คน หรือผลลัพธ์ในเชิงบวกหรือเชิงลบมากเกินไป [14]
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจคิดว่าตัวเองทำผิดพลาดเป็นอย่างยิ่งเมื่อคุณสะกดคำในอีเมลผิดไปคำหนึ่ง แต่กลับไม่นึกถึงในอีกมุมว่าอีเมลของคุณส่งถึงผู้รับสำเร็จและไม่มีใครพูดถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น พยายามยอมรับให้ได้ว่าหลายๆ สิ่งในชีวิตไม่มีทางที่จะดีหรือแย่ไปเลยได้
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อาหารแต่ละชนิดที่คุณทานมีผลเป็นอย่างมากต่อสมองของคุณ ดังนั้นคุณจึงควรเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและช่วยในการบำรุงสมอง อาหารประเภทหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังสมองคืออาหารเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีผัก ผลไม้ ถั่ว ไขมันดี และปลาเป็นส่วนประกอบหลัก ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจัดเป็นไขมันที่ดีต่อร่างกายและพบได้มากในปลา อะโวคาโด น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนลา พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการทานอาหารโดยเพิ่มปริมาณการทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มพลังให้กับสมองของคุณ [15]
    • ผักโขมเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสมองได้เป็นอย่างดี ควรทานผักโขมหรือผักใบเขียวอื่นๆ อย่างผักเคลอย่างน้อย 3 เสิร์ฟต่อวันเพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อมและกระตุ้นการทำงานของสมอง [16]
    • น้ำตาลโดยทั่วไปอย่างน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงรวมถึงสารให้ความหวานอย่างน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดฟรักโทสสูงสามารถส่งผลเสียต่อสมองของคุณได้ รวมถึงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ซึ่งพบได้มากในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์นมก็สามารถส่งผลกระทบต่อสมรรถนะสมองรวมถึงสุขภาพกายโดยรวมได้เช่นกัน นอกจากนี้ แป้งเสริมวิตามิน แป้งที่ผ่านการฟอกสี หรือแป้งขัดขาวซึ่งพบได้มากในขนมปังขาว ข้าวขาว และเส้นพาสต้าเป็นอีกหนึ่งประเภทอาหารที่สามารถก่อให้เกิดโทษต่อสมองของคุณได้ [17]
  2. การนอนหลับอย่างสนิทนาน 7-8 ชั่วโมงต่อคืนจะช่วยเพิ่มพลังให้กับสมองและกระตุ้นให้เกิดการคิดเชิงตรรกะ หากคุณต้องการปรับเปลี่ยนตารางเวลานอน ให้คุณกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนและทำตามอย่างเคร่งครัดแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ พยายามงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเมื่อใกล้ถึงเวลาเข้านอน รวมถึงหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อหนักในช่วงดึกและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์อย่างการอ่านหนังสือสักเล่มก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง [18]
  3. การกำหนดลมหายใจมีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังสมองด้วยการเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของออกซิเจนไปยังสมอง พยายามฝึกกำหนดลมหายใจในตอนเช้าและก่อนนอน รวมถึงหมั่นฝึกโยคะ ทำสมาธิ พิลาทิส หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้คุณฝึกการควบคุมลมหายใจในรูปแบบที่ดีต่อสุขภาพของคุณ [19]
  4. การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญา นอกเหนือจากผลดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงตรรกะได้อีกด้วย
    • ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายอยู่เสมอ หลายคนมักหาข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลังกายและพยายามหลีกเลี่ยงการไปยิมหรือออกไปวิ่งออกกำลังกาย ดังนั้น หากคุณจัดตารางเวลาให้ดีและพยายามทำตามอย่างเคร่งครัด ท้ายที่สุดแล้วคุณก็จะรู้สึกว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคุณเช่นเดียวกับการอาบน้ำหรือการแปรงฟันในตอนเช้า [20]
    • การออกกำลังกายแบบแอโรบิคมีผลดีเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญา พยายามออกกำลังกายด้วยวิ่ง วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือประเภทอื่นๆ ที่ทำให้หัวใจของคุณเต้นเร็วประมาณ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มพลังให้กับสมองของคุณ [21]
  5. หมั่นพาตัวเองออกไปพักผ่อนข้างนอกท่ามกลางธรรมชาติเป็นประจำ การใช้เวลากับกิจกรรมนอกบ้านทำให้สมองของคุณปลอดโปร่งและช่วยให้คุณได้จดจ่ออยู่กับตัวเองได้มากขึ้น พยายามมองหากิจกรรมภายนอกเพื่อใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติทุกๆ สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นหรือปีนเขา การตกปลาหรือล่าสัตว์ การสำรวจเขาหรือเดินป่า การว่ายน้ำในทะเลหรือทะเลสาบ หรือเพียงการนั่งพักผ่อนใต้ต้นไม้ก็ได้เช่นกัน
  6. หลายคนมองว่าการหยุดงานเพื่อพักผ่อนเป็นการทำตามใจตัวเองมากเกินไป ซึ่งแท้จริงแล้วการหยุดพักบ้างในบางครั้งมีผลต่อความสามารถของสมองในการประมวลผลข้อมูล พยายามพักสมองบ้างเป็นครั้งคราวและหาช่วงเวลาในแต่ละวันเพื่อผ่อนคลายความเครียด รวมถึงกำหนดให้หนึ่งวันในสัปดาห์เป็น “วันหยุด” ของคุณและใช้เวลาทั้งวันนั้นทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ [22]
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,839 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา