ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องอ่อนไหว ก็เป็นธรรมดาที่เราอยากจะหันหน้าไปหาแม่ แต่บางครั้งการจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้แม่ฟังมันก็กระอักกระอ่วนอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติและมีหลายวิธีที่จะช่วยให้บทสนทนาง่ายขึ้น เตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะพูดอย่างไรและเมื่อไหร่ เตรียมใจไว้ว่ามันอาจจะมีความเครียดอยู่บ้าง แต่ก็ให้พูดอย่างตรงไปตรงมาและสุภาพตลอดการสนทนา และพยายามจบการสนทนาให้สวย ขอคำแนะนำจากแม่และขอบคุณที่แม่สละเวลามาคุยด้วย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ตัดสินใจเกี่ยวกับการพูดคุย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณอยากจะคุยเรื่องที่มันอาจจะไม่ค่อยน่าสบายใจเท่าไหร่ คุณก็ต้องหาจังหวะคุยให้ถูกที่ถูกเวลา เพราะการคุยกับแม่ตอนที่แม่ยุ่งหรือเครียดจะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่น่าอึดอัดอยู่แล้วตึงเครียดเข้าไปอีก [1]
    • เลือกช่วงเวลาที่ไม่มีข้อจำกัดภายนอกมาเร่ง ถ้าคุณเล่าเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องน่าอายให้แม่ฟัง คุณก็ควรจะแน่ใจว่าคุณสองคนมีเวลาคุยกันเรื่องนี้ได้นานที่สุดเท่าที่จะต้องคุย
    • นอกจากนี้คุณก็ควรเลือกเวลาที่ตามปกติแล้วคุณกับแม่ไม่มีเรื่องเครียด เพราะคุณคงไม่อยากเล่าเรื่องน่าอายหรือชวนกระอักกระอ่วนให้แม่ฟังตอนที่คุณเองก็อารมณ์ไม่ดีอยู่แล้ว ถ้าคุณทั้งคู่มักจะมีช่วงเวลาผ่อนคลายในวันเสาร์ เวลานี้ก็อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะก็ได้เพราะคุณทั้งคู่ได้ผ่อนคลายอยู่แล้ว
  2. ถ้าคุณจะคุยเรื่องส่วนตัวกับพ่อ/แม่ ก็เป็นไปได้ว่ามันจะต้องมีเรื่องน่าอายปนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คุณจะอยู่กับความอายในสถานการณ์นี้ได้ง่ายขึ้นถ้าคุณคิดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องอาย [2]
    • อย่าบอกตัวเองว่าอย่าเล่าเลยเพราะคุณอายหรือรู้สึกกระอักกระอ่วน มันจะยิ่งทำให้ใจคุณจดจ่ออยู่กับความรู้สึกเหล่านี้มากกว่าเดิม
    • แต่ให้ยอมรับตรงๆ ว่าคุณจะอาย แต่ก็เตือนตัวเองด้วยว่าทำไมคุณถึงอยากคุยเรื่องนี้ เช่น คุณอาจจะอยากคุยกับแม่เรื่องเซ็กส์หรือการออกเดต แม้ว่าการเกริ่นประเด็นขึ้นมาจะยาก แต่แม่จะสามารถให้คำแนะนำที่มีคุณค่าในเรื่องนี้ได้เพราะแม่อายุมากกว่าและมีประสบการณ์มากกว่า
  3. คุณไม่ควรดุ่มๆ เข้าไปคุยโดยไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าคุณจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้แม่ฟัง ก็แสดงว่าคุณต้องมีเหตุผล ลองคิดว่าทำไมคุณถึงอยากคุยเรื่องนี้กับแม่ และการรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรยังช่วยให้คุณควบคุมทิศทางการสนทนาได้ดีขึ้นด้วย [3]
    • คุณอาจจะแค่อยากให้แม่รับฟัง ถ้าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวที่น่าอับอาย คุณอาจจะแค่อยากระบายให้ใครสักคนฟัง ถ้าเป็นอย่างนี้ คุณสามารถบอกแม่ได้ว่าคุณไม่ได้อยากได้คำแนะนำหรือแนวทาง
    • แต่คุณก็อาจจะอยากได้คำแนะนำในบางเรื่องก็ได้ ลองคิดดูว่าสิ่งที่แม่พูดจะมีประโยชน์กับคุณหรือเปล่า ถ้าคุณอยากได้คำแนะนำ คุณก็บอกไปเลยตรงๆ เช่น "แม่คะ หนูอยากได้คำแนะนำจากแม่ในเรื่องนี้หน่อยค่ะ"
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจจะกังวลมากเวลาที่ต้องเข้าหาแม่ แต่แค่ประโยคธรรมดาๆ ประโยคเดียวก็ช่วยให้คุณเริ่มต้นบทสนทนาได้อย่างง่ายดาย หายใจเข้าลึกๆ และเข้าหาแม่เพื่อเริ่มคุย [4]
    • พูดประโยคธรรมดาๆ เช่น "แม่คะ ว่างไหมคะ หนูมีเรื่องอยากคุยด้วยค่ะ"
    • ถ้าคุณกังวล แม่คุณก็จะยิ่งกังวลหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นพยายามเตือนให้แม่รู้ล่วงหน้า เช่น "แม่คะ มีเรื่องที่หนูคิดว่าแม่อาจจะไม่สบายใจ แต่ยังไงหนูก็ต้องบอกแม่อยู่ดี ถึงสุดท้ายแม่จะโกรธหนูก็เถอะ"
  2. ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดอ้อมไปอ้อมมา ถ้าคุณมีเรื่องสำคัญจะเล่า ก็ให้เล่าออกไปเลยแบบไม่ต้องลังเล การพูดอย่างตรงไปตรงมาให้ได้มากที่สุดจะช่วยให้คุณได้เริ่มต้นบทสนทนากันอย่างเปิดใจและไม่มีอะไรต้องปิดบังกัน [5]
    • เล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่แม่ต้องรู้เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ อย่าบอกใบ้อะไรทั้งนั้น
    • เช่น เริ่มจากประโยคที่ชัดเจนและตรงประเด็นอย่าง "แม่คะ ตอนนี้หนูคบกับโจมาสักพักแล้วและเขาก็อยากมีเซ็กส์เป็นครั้งแรก หนูไม่แน่ใจว่าตัวเองพร้อมหรือเปล่า แต่เขาก็เซ้าซี้หนูอยู่นั่นแหละ หนูไม่รู้จริงๆ ค่ะว่าต้องทำยังไง"
  3. คุณอาจจะไม่ได้อยากได้แนวทาง แต่หน้าที่ของพ่อ/แม่ก็คือการให้แนวทางแก่ลูก แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับแม่ แต่พยายามให้เธอเล่าความคิดเห็นของเธอออกมาโดยไม่พูดขัด [6]
    • พยายามทำความเข้าใจมุมมองของแม่ ถ้าคุณไม่พอใจกับคำตอบของแม่ ให้หยุดแล้วพยายามสมมุติว่าตัวเองเป็นแม่ แล้วพิจารณาว่าทำไมแม่ถึงรู้สึกอย่างนั้นในสถานการณ์แบบนี้
    • เช่น ถ้าคุณเล่าให้แม่ฟังว่าเพื่อนคนหนึ่งของคุณกำลังลองยาเสพติด แล้วแม่ก็มีท่าทีที่เป็นลบมากๆ กลับมา แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกว่าแม่ด่วนตัดสินคนอื่น แต่แม่ก็อาจจะเคยมีเพื่อนที่ติดยาเสพติดอย่างหนักสมัยเรียนมัธยมปลาย ซึ่งก็อาจจะเป็นสาเหตุว่าทำไมแม่ถึงมีท่าทีที่เป็นลบกลับมาขนาดนั้น
  4. ถ้าคุณเล่าเรื่องส่วนตัวให้แม่ฟัง ก็เป็นไปได้เสมอว่าแม่อาจจะไม่มีท่าทีกลับมาในแบบที่คุณต้องการ แม่อาจจะไม่พอใจ กังวล หรือแม้กระทั่งโกรธ แต่ไม่ว่าแม่จะมีท่าทีกลับมาอย่างไร พยายามนิ่งเข้าไว้ คุณคงไม่อยากให้สถานการณ์นี้กลายเป็นการโต้เถียงกันแทน เพราะมันไม่ได้ช่วยให้คุณสองคนแก้ปัญหาได้ [7]
    • อย่าลืมรักษามารยาทขั้นพื้นฐาน อย่าพูดแทรกหรือขึ้นเสียง
    • ตอบรับเสมอว่าคุณได้ยินสิ่งที่แม่พูด แม้ว่าคุณจะไม่ชอบใจก็ตาม เช่น "หนูเข้าใจที่แม่คิดว่าอายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับหนู แต่หนูห่วงเขาเพราะเขาเป็นเพื่อนหนูจริงๆ นะคะ"
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

จบการพูดคุยแบบสวยๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณคงไม่อยากให้การพูดคุยกลายเป็นการโต้เถียง แม้ว่าแม่จะตอบกลับมาด้วยท่าทีที่เป็นลบ แต่พยายามอดกลั้นไม่เถียงกลับ รักษาน้ำเสียงให้นิ่งและเคารพตลอดการพูดคุย แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าแม่ไม่ยุติธรรมเลยก็ตาม [8]
    • ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มจะโกรธ ก็พักก่อนได้ คุณอาจจะบอกว่า "หนูว่าเรายังไม่ไปถึงไหนกันเลย เราพักเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่ได้ไหมคะ"
    • จากนั้นคุณก็ไปหาอะไรทำเพื่อกำจัดความโกรธ เช่น ไปเดินเล่นหรือไประบายให้เพื่อนฟัง
  2. แม่อาจจะไม่ได้โต้ตอบกลับมาในแบบที่คุณอยากได้ แม่อาจจะโกรธเรื่องที่คุย หรือกระทั่งทำโทษหรือออกกฎเกี่ยวกับพฤติกรรมของคุณใหม่ ถ้าแม่มีท่าทีที่เป็นลบกลับมา พยายามรับมือกับมันให้ได้ [9]
    • ถ้าแม่กำลังอบรมหรือพูดกับคุณในแบบที่ไม่ได้ช่วยอะไร ก็บอกให้แม่รู้ พูดประมาณว่า "หนูไม่ได้อยากได้คำแนะนำค่ะแม่ หนูแค่อยากเล่าให้ฟังเฉยๆ"
    • ถ้าแม่ออกกฎเกี่ยวกับพฤติกรรมของคุณ (เช่น "แม่ไม่อยากให้ลูกคบกับแคตอีกแล้ว") ก็ให้ยอมรับกฎไปก่อน แล้วค่อยคุยกับแม่ใหม่ตอนที่แม่อารมณ์ดีขึ้นแล้ว เพราะถ้ายิ่งเถียงแม่อาจจะยิ่งเพิ่มกฎให้เคร่งครัดกว่าเดิมเป็นสองเท่า [10]
  3. คุณอาจจะอยากได้คำแนะนำจากแม่ ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเข้าไปคุยกับแม่ตั้งแต่แรก ถ้าคุณอยากได้แนวทาง ให้ขอคำแนะนำจากแม่หลังจากที่คุณเกริ่นเรื่องไปแล้ว พูดประมาณว่า "หนูอยากได้คำแนะนำจากแม่จริงๆ เพราะหนูไม่แน่ใจว่าหนูต้องทำยังไง" [11]
    • จำไว้ว่าการที่คุณขอคำแนะนำจากใครไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำตามนั้นจริงๆ แต่การรับฟังและนำมุมมองของแม่มาพิจารณาก็อาจจะเป็นประโยชน์กับคุณ
  4. เรื่องบางเรื่องก็ยากที่จะเกริ่นกับแม่ ถ้าแม่มีท่าทีที่เป็นลบมากๆ กลับมาและไม่อยากคุยเรื่องนี้ ให้เข้าหาผู้ใหญ่คนอื่นแทน [12]
    • คุณสามารถคุยกับพ่อ ป้าหรือลุง พี่ หรือพ่อ/แม่ของเพื่อนแทนได้
    โฆษณา

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,875 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา