ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ทุกคนก็เคยเป็นกันทั้งนั้น ที่อยู่ๆ เกิดลืมเรื่องสำคัญขึ้นมา วันนี้คุณสบายใจได้แล้ว ว่าจริงๆ แล้วไม่มีหรอก "คนขี้ลืม" น่ะ ด้วยเทคนิคและเคล็ดลับบางอย่าง คุณสามารถพัฒนาสมองให้จดจำอะไรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือมีรายการของที่ต้องซื้อก็ตาม

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เคล็ดลับสำหรับนักเรียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สมาธินี่แหละกุญแจสู่ความจำอันดีเลิศ อย่าพยายามทำเรื่องให้ยุ่งยาก บางครั้งก็เป็นใช่ไหมล่ะ เดินเข้าห้องมาแล้วลืมเฉยเลยว่าเข้ามาทำไม นั่นก็เพราะในหัวกำลังนึกถึงปาร์ตี้มันส์สุดเหวี่ยงคืนนี้อยู่ หรือใจลอยถึงซีรีย์เกาหลีที่เพิ่งดูไป เลยไม่มีสมาธิไงล่ะ
    • ถ้าจะอ่านหนังสือเตรียมสอบหรือทบทวนบทเรียน ให้เน้นเรื่องนั้นเรื่องเดียว อย่าเพิ่งคิดถึงปาร์ตี้วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่สำคัญคืออย่าทำเก่งเหมาหมดทีเดียวหลายภารกิจ ระวังจะไม่รอดปลอดภัยสักงาน
  2. เปลี่ยนบรรยากาศหน่อยก็ดี ถ้านั่งอ่านหนังสือที่เก่าแล้วไม่มีสมาธิ อย่างการออกจากบ้านไปที่อื่น ไม่ให้พ่อแม่ เพื่อนฝูง สัตว์เลี้ยง หรือทีวีมาดึงความสนใจไปได้
    • หาที่เหมาะๆ ไว้อ่านหนังสือ แล้วห้ามทำอย่างอื่นที่นอกเหนือเด็ดขาด (อย่างเล่น FB, IG หรือดูหนังฟังเพลงผ่านมือถือ) ทำให้ชินว่าพอมาถึงตรงนั้นแล้วให้อ่านหนังสือเท่านั้น สมองจะได้จดจำแล้วเปิดโหมดตั้งใจเรียนทันที
    • เลือกที่ที่อากาศถ่ายเทและมีแสงสว่างเพียงพอ จะได้ตื่นตัวไม่วอกแวก
    • ถ้าพบว่าตัวเองไม่มีสมาธิ อ่านหนังสือไม่เข้าหัว ให้หยุดพักสักเดี๋ยว (อย่านานเกิน และอย่าเผลอไปเสียเวลากับการออนไลน์ล่ะ) จะลุกไปเดินเล่นใกล้ๆ หรือหาน้ำมาดื่มก็ดีเหมือนกัน
  3. บางทีอุปสรรคก็ไม่ได้มาจากเพื่อนหรือครอบครัว แต่เกิดจากความคิดและจิตใจที่ไม่สงบนั่นแหละ ลองสังเกตดูสิ ว่าบางทีเวลาอ่านหนังสือสอบ ตามองตำราก็จริง แต่เราก็ชอบใจลอยไปถึงเรื่องเพื่อนนัดเที่ยวหรือเรื่องว่ามีใครมาไลค์โพสต์ใหม่ใน FB หรือยัง [1]
    • หาสมุดมาจดสารพัดเรื่องรบกวนจิตใจซะเลย ถ้าเป็นเรื่องที่เดี๋ยวต้องไปทำ (อย่างเอาเงินไปจ่ายค่าเทอม) ให้รีบจดไว้ก่อน จะได้ไม่มานั่งกังวลเวลาอ่านหนังสือ
    • เอาเรื่องที่รบกวนจิตใจนั้นเป็นเส้นชัย หลอกล่อตัวเองว่าพออ่านหนังสือจบบทนึงแล้ว (หมายถึงต้องเข้าใจและจดจำบทเรียนได้ด้วยนะ) จะขอพักไปจัดการเรื่องที่คิดหรือใจลอยไปถึงซะหน่อย
  4. มีคนวิจัยไว้แล้ว ว่าช่วงเวลาต่างๆ ของวันนี่แหละมีอิทธิพลต่อความจำของคนเราเวลาท่องหนังสือ ถึงจะบอกว่าตัวเองชอบทำอะไรช่วงเช้า หรือบางคนก็เป็นมนุษย์ค้างคาว แต่จริงๆ แล้วอ่านหนังสือตอนกลางวันนี่แหละเวิร์คสุด เรียกว่าดีขึ้นแบบเห็นผลกันเลยทีเดียว [2]
  5. ถ้าท่องหนังสือสอบ ให้จดโน้ตย่อไว้ที่ข้างแต่ละย่อหน้า การที่เราจดอะไรแยกออกมา ไม่เพียงแต่จะทำให้จำได้แม่นขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนทุกครั้งที่เปิดผ่านมาเจอตอนทบทวนอีกด้วย (จะสอบไม่สอบก็เถอะ)
    • จดประเด็นสำคัญของแต่ละเรื่องที่อ่านไว้ทบทวนทีหลังตามต้องการ จุดนี้แหละจะบอกได้ว่าคุณอ่านเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า
  6. การเขียนข้อความเดิมซ้ำหลายๆ รอบช่วยตราตรึงเรื่องนั้นๆ ลงในสมองของคุณ โดยเฉพาะเรื่องยากๆ อย่างวันที่และศัพท์ต่างๆ ในภาษาต่างประเทศ ยิ่งคัดหลายหนเท่าไหร่คุณก็จะยิ่งจำได้มากขึ้นเท่านั้น
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เทคนิคการจดจำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางอย่างก็ยากเกินกว่าจะใช้การเชื่อมโยงหรือนึกภาพ ต้องอาศัยเทคนิคช่วยจำหรือ mnemonic device ซึ่งทำได้หลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดข้อมูล [3]
    • จดจำด้วยตัวย่อหรือการย่อคำ เอาตัวอักษรตัวแรกหรือพยางค์แรกของแต่ละคำมาผสมกันเป็นคำใหม่ที่จำได้ง่าย เช่น อุ อิ บู อา ทัก หอ ประ พา (ทิศต่างๆ คือ อุดร อีสาน บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม และพายัพ)
    • เทคนิคช่วยจำการสะกดคำ โดยใช้คำคล้องจองหรือแบ่งคำออกเป็นพยางค์ให้ตลกๆ หรือโดดเด่นจนจำได้ง่าย (ตามสไตล์คุณ) เช่น ถ้าจะเขียนคำภาษาอังกฤษว่า Wednesday ก็จำง่ายๆ ว่า Wed-nes-day เป็นต้น
    • ใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ บางทีอาจฟังดูไม่ค่อยเป็นภาษา แต่การใช้พยางค์แรกของคำมาเชื่อมโยงกับข้อมูล ก็ทำให้เราจดจำอะไรที่ยากๆ ได้ (โดยเฉพาะพวกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ) ตัวอย่างก็เช่น เอตา บีชา ซีลัก ดีดูก หรือก็คือ วิตามิน A ช่วยบำรุงสายตา วิตามิน B ช่วยเรื่องเหน็บชา วิตามิน C ช่วยเรื่องลักปิดลักเปิด และวิตามิน D ช่วยบำรุงกระดูก เป็นต้น
    • นอกจากนี้จะแต่งเป็นกลอนสั้นๆ หรือคำคล้องจองให้จำข้อมูลสำคัญได้ง่ายๆ ก็ได้เหมือนกัน ตัวอย่างก็หนีไม่พ้นบทที่เรารู้จักกันดีอย่าง "ผู้ใหญ่ซื้อผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ" สำหรับจดจำคำที่ใช้ "ใ" เป็นต้น [4]
  2. การเชื่อมโยงนั้นมีด้วยกันหลายแบบ แต่แบบที่โดดเด่นท่ามกลางวิธีทั้งหลายนั้น ก็คือการเชื่อมโยงสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว เข้ากับสิ่งที่คุณพยายามจะจดจำ โดยสิ่งที่คุณรู้จะเป็นตัวย้ำเตือนถึงสิ่งที่พยายามจะจำให้เอง
    • จินตนาการภาพตลกๆ หรือแปลกๆ มาใช้ย้ำเตือนตัวเอง เช่น ถ้าพยายามจะจำคำขวัญของจังหวัดชลบุรีที่ว่า "ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย" ก็ให้จินตนาการถึงภาพคนขี่ควายห้อตะบึงไปตามชายหาดสวยๆ มือนึงถือเครื่องจักสานอย่างชะลอม ส่วนอีกมือกำอ้อยกับข้าวหลาม เรารู้ว่ามันฟังดูฮาชะมัด แต่การเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันก็จะทำให้คุณนึกย้อนไปถึงคำขวัญแต่ละวรรคได้ และไม่มีทางลืมเลย
    • ส่วนการเชื่อมโยงตัวเลข คือการเชื่อมโยงจำนวนเข้ากับภาพในหัวของคุณ นี่คือสาเหตุว่าทำไม password หรือรหัสอื่นๆ ที่คนเขาใช้กันถึงได้มีความหมายบางอย่าง (อย่างวันเกิดตัวเอง วันเกิดแมว หรือวันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น) เพราะงั้นถ้าคุณพยายามจะจำเลขนักศึกษาตัวเอง อย่าง 21590661 ก็ให้มองว่าเป็นวันเกิดพี่ชาย คือ 21 พ.ค. 1990 (วันที่ 21 เดือน 5 ปี 90) จากนั้นก็จินตนาการต่อมาว่าแม่อายุ 66 ปี และคุณก็มีแม่แค่คนเดียว (เท่านี้ก็จำ 661 ได้สบายละ) ต่อไปนี้พอคุณจะเขียนเลขประจำตัวนักศึกษาเมื่อไหร่ ก็แค่นึกภาพพี่ชายกำลังฉลองวันเกิดพร้อมแม่ก็แล้วกัน
  3. ถ้าอยากให้จำอะไรได้แม่นๆ ต้องพยายามนึกเป็นภาพให้ได้ชัดเจนที่สุด รายละเอียดต่างๆ นี่แหละสำคัญ เช่น ถ้าอยากจะจำฉากในนิยายได้ ให้พยายามจินตนาการว่าพระเอกกับนางเอกอยู่ในฉากโดยลงรายละเอียดของฉากด้วย อย่าลืมนึกภาพที่บอกบุคลิกลักษณะ หรืออุปนิสัยเด่นๆ ของแต่ละตัวละครด้วย
  4. ถ้าต้องจำหลายภาพ (หรือหลายคำ เช่น รายการของที่ต้องซื้อ) ให้สร้างเรื่องราวฮาๆ เพี้ยนๆ เชื่อมทุกภาพเข้าด้วยกัน เรื่องราวจะประทับภาพเหล่านั้นลงหัวสมองของคุณ คราวหน้าก็จำได้ไม่ลืม [5]
    • อย่างถ้าต้องซื้อกล้วย ขนมปัง ไข่ นม กับผักกาดจากซูเปอร์ อาจจะแต่งเรื่องให้กล้วย ขนมปังแผ่น กับไข่ พากันไปช่วยชีวิตหัวผักกาดที่กำลังจมอยู่ในทะเลสาบนมก็ได้ ฟังดูปัญญาอ่อนเนอะ แต่มันก็รวมทุกอย่างที่คุณต้องแวะซื้อไว้ใช่ไหมล่ะ คราวนี้ล่ะจำได้ไม่ลืมแน่
  5. อีกสุดยอดวิธีเตือนตัวเองให้ทำอะไรบางอย่าง ก็คือให้เอาของในบ้านมาวางแบบโจ่งแจ้ง ผิดที่ผิดทาง เช่น อาจจะเอาหนังสือหนาๆ หนักๆ มาวางไว้หน้าประตู จะได้จำได้ว่าต้องรีบเอาหนังสือเล่มนั้นไปคืนห้องสมุด พอคุณเห็นของที่วางไว้สะดุดตา ก็จะไม่ลืมแน่นอน
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

พัฒนาความจำระยะยาว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บอกเลยว่าสุขภาพกายกับสุขภาพจิตนั้นสัมพันธ์กันอย่างตัดไม่ขาด ดังนั้นการรักษาสุขภาพและออกกำลังกายจะช่วยรักษาสุขภาพจิตและพัฒนาความจำของคุณเช่นกัน [6]
    • ลองออกกำลังกายเบาๆ อย่างการเดินออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที (เหมือนได้เดินเที่ยวออก!) การออกกำลังกายจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคุณในระยะยาว
    • ไม่ใช่แค่เดิน คุณสนุกกับการออกกำลังกายได้มากมายหลายแบบด้วยกัน! โยคะก็กำลังฮิต หรือจะเต้นประกอบเพลงก็ดี
  2. การลับสมองอยู่เสมอช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อมได้ แถมพัฒนาความจำให้ดียิ่งขึ้นอีก อยากรู้ว่าอะไรช่วยบริหารสมอง ก็พวกที่ทำแล้วต้องขบคิดจนปวดหัวกว่าจะทำได้ ประมาณว่าฝึกเสร็จต้องขอพักสมองหน่อย พูดง่ายๆ ก็พวกการแก้โจทย์เลข หัดถักนิตติ้ง อ่านตำรายากๆ เป็นต้น [7]
    • ท้าทายตัวเองอยู่เสมอ ถ้าไม่อยากให้สมองเฉื่อยชา ก็ต้องหมั่นเรียนรู้และทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด ถือเป็นการบังคับสมองไม่ให้หยุดนิ่งและพัฒนาความจำไปในตัว เช่น อาจจะเรียนศัพท์ใหม่ทุกวัน หรืออ่านประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นต้น ช่วยทั้งเรื่องความจำและเพิ่มพูนความรู้ไปในตัว
    • อาจจะท่องจำเนื้อเพลงใหม่ๆ ที่กำลังฮอตฮิตก็ได้ บอกเลยว่านอกจากช่วยฝึกความจำแล้วยังอาจทำให้ป็อปในหมู่เพื่อนฝูงอีกต่างหาก รีบเข้า Youtube เร็ว!
  3. การนอนหลับอย่างเพียงพอนี่แหละสำคัญมากต่อการพัฒนาและรักษาสมอง เพราะงั้นห้ามเด็ดขาดพวกท่องหนังสือโต้รุ่งเนี่ย ให้เปลี่ยนมาจัดหนักช่วงกลางวันแทน พอตกดึกก็เข้านอน สมองจะได้ประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่คุณเพิ่งป้อนเข้าไปไง
    • พยายามนอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน สมองจะได้พักครบวงจรการนอน ตื่นมาจะสดใสซาบซ่านเชียวล่ะ
    • พวกอุปกรณ์สื่อสารทั้งหลายน่ะปิดให้หมด อย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอน สมองจะได้มีเวลาผ่อนคลายก่อนปิดทำการ อุปกรณ์ที่ว่าก็ทั้งมือถือ คอม และแท็บเล็ตนั่นแหละ
  4. อยากจำอะไรให้พูดออกมาจะจำได้มากขึ้น ถ้าคุณชอบลืมบ่อยๆ ว่าปิดแก๊สหรือยัง พอตอนจะปิด ก็ให้พูดออกมาดังๆ ว่า "ปิดแก๊สแล้วนะ" แล้วคุณจะเห็นว่าจำได้แม่นขึ้นเยอะ ว่าปิดเรียบร้อยแล้ว
    • พอใครบอกชื่อ ให้ทวนชื่อเขา (แต่อย่ากระโตกกระตากไปล่ะ) อย่าง "ดีใจที่ได้รู้จักนะ แอน" จะได้เชื่อมโยงคนคนนั้นกับชื่อเขาให้คุณจำแม่นจนถึงคราวหน้าที่ได้เจอกัน
    • วิธีนี้ใช้จดจำวัน เวลา และสถานที่ได้เหมือนกัน เช่น ถ้ามีใครชวนคุณไปไหน ให้ทวนวัน เวลา และสถานที่กลับไปที่เขา ประมาณว่า "นัดที่พารากอน วันพฤหัส ตอนบ่ายโมงใช่ไหม? อยากเจอจะแย่แล้ว!"
  5. แน่นอนว่าถึงจะเป็นเรื่องงานก็ไม่ต้องละเอียดถึงขนาดเป็น Sherlock Holmes หรอกนะ แค่ฝึกทักษะการสังเกตจดจำรายละเอียดไว้บ้าง จะได้พัฒนาความจำ (จำหน้าจำชื่อคน หรือนึกออกว่าวางกุญแจรถไว้ตรงไหน เป็นต้น) ทักษะนี้ต้องใช้เวลาหน่อย แต่รับรองว่ามีประโยชน์มากในระยะยาว
    • คุณฝึกได้ง่ายๆ ด้วยการลงลึกถึงรายละเอียด (ฝึกที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะที่บ้าน บนรถเมล์ หรือที่ทำงาน) จากนั้นหลับตา แล้วพยายามระลึกรายละเอียดของสถานที่นั้นออกมาให้ได้มากที่สุด
    • จะลองฝึกจากรูปถ่ายก็ได้ แต่ขอให้เป็นรูปที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ให้ดูรูปนั้นแค่ 1 - 2 วินาทีแล้วพลิกรูป จากนั้นพยายามนึกรายละเอียดออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นลองใหม่กับรูปอื่นๆ
  6. มีอาหารหลายชนิดที่กินแล้วช่วยเรื่องความจำในระยะยาว ให้พยายามกินพวกที่เป็นอาหารสุขภาพ บางอย่างอาจทรมานใจ แต่ขอให้คิดถึงความจำอันดีเข้าไว้ อาหารที่ว่าก็พวกที่มี antioxidant หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (อย่างบร็อคโคลี บลูเบอร์รี หรือผักโขม เป็นต้น) รวมถึงมีกรดไขมัน Omega-3 (อย่างแซลมอนหรืออัลมอนด์) [8]
    • ให้แบ่งอาหารประจำวันออกเป็น 5 - 6 มื้อเล็กๆ แทนที่จะกิน 3 มื้อใหญ่ตามปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดจะได้คงที่อยู่ตลอด สมองจะได้ทำงานเต็มที่ ที่สำคัญคือแต่ละมื้อต้องประกอบไปด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าจำๆ อยู่แล้ววอกแวก สติหลุด ให้นั่งลงแล้วคิดพิจารณาว่าอะไรเป็นสาเหตุ พอรู้แล้วว่าเป็นเพราะปัญหาส่วนตัวหรืออะไรทำนองนั้น ก็ให้รีบแก้ไขก่อนจะท่องจำอะไรต่อไป
  • เขาว่ากันว่าดมกลิ่นโรสแมรีก็ช่วยให้คุณจดจำเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น [9]
โฆษณา

คำเตือน

  • การเฝ้าตอกย้ำซ้ำเติมว่าตัวเอง "ขี้ลืม" จะทำให้ความจำยิ่งแย่ ทำงานไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเหมือนคุณไปล้างสมองตัวเองว่าเรานี่ความจำแย่จริง
  • บางเทคนิคช่วยจำก็อาจใช้ไม่ได้ผลกับคุณหรือไม่ได้ผลกับบางสถานการณ์ ให้ทดสอบดูก่อน แล้วดูว่าวิธีไหนได้ผลที่สุดสำหรับคุณ
  • ถ้าคุณประสบปัญหาร้ายแรงเรื่องความจำ โดยเฉพาะถ้าเป็นตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คและขอรับคำปรึกษาดู
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,487 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา