ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การจดบันทึกแบบคอร์เนลพัฒนาขึ้นโดย Walter Pauk แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล การจดบันทึกแบบนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการจดบันทึกคำบรรยายหรือการอ่านเพื่อทบทวนและจดจำเนื้อหา วิธีจดบันทึกแบบคอร์เนลสามารถช่วยให้เราจัดระเบียบเนื้อหาที่ตนเองจดบันทึกไว้ สร้างสรรค์ความรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ และประสบความสำเร็จในการเรียนได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

เตรียมกระดาษสำหรับจดบันทึก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เตรียมสมุดหรือกระดาษเพื่อนำมาใช้ในการจดบันทึกแบบคอร์เนลโดยเฉพาะ. ไม่ว่าเราจะเลือกใช้สมุดจดหรือกระดาษจดเป็นแผ่นๆ แล้วเก็บไว้ในแฟ้ม เราจะต้องมีกระดาษเตรียมไว้หลายแผ่นเพื่อใช้ในการจดบันทึก เราจะต้องตีเส้นเพื่อแบ่งกระดาษออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนจะมีหน้าที่ต่างกัน
  2. ตีเส้นตรงแนวนอนห่างจากขอบล่างของกระดาษสองนิ้ว. พื้นที่ซึ่งได้จากการตีเส้นแนวนอนนี้ควรมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของหน้ากระดาษ เส้นแนวนอนนี้จะอยู่ห่างจากขอบล่างของกระดาษสองนิ้ว เราจะใช้ส่วนนี้ในการสรุปเนื้อหาที่เราจดบันทึกไว้
  3. ตีเส้นตรงแนวตั้งห่างจากขอบซ้ายของกระดาษสองนิ้วครึ่ง. เส้นตรงนี้ควรอยู่ห่างจากขอบซ้ายของกระดาษประมาณสองนิ้วครึ่ง เราจะใช้ส่วนนี้ในการทบทวนเนื้อหาที่เราจดบันทึกไว้
  4. เหลือส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้ากระดาษไว้เพื่อจดบันทึกคำบรรยายหรือจดบันทึกเนื้อหาจากการอ่าน. เราจะใช้พื้นที่ว่างส่วนที่อยู่ฝั่งขวาของหน้ากระดาษนี้ในการจดบันทึกประเด็นสำคัญ
  5. ค้นหาเทมเพลตการจดบันทึกแบบคอร์เนลทางอินเตอร์เน็ต หากต้องการประหยัดเวลา. ถ้าเราต้องจดบันทึกเนื้อหาจำนวนมากและต้องการประหยัดเวลา ค้นหาเทมเพลตการจดบันทึกแบบคอร์เนลเพื่อนำมาใช้ในการจดบันทึกเนื้อหา พิมพ์เทมเพลตนี้ใส่กระดาษเปล่าเพื่อเอามาใช้จดบันทึกคำบรรยายหรือเนื้อหาจากการอ่าน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

จดบันทึก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ใส่ชื่อวิชา วันเดือนปี และหัวข้อบรรยายหรือหัวข้อที่เราอ่านตรงหัวกระดาษ. ทำแบบนี้เสมอ เราจะได้สามารถนำเนื้อหาต่างๆ ที่จดไว้มาจัดระเบียบได้สะดวก และทบทวนเนื้อหาได้ง่ายขึ้น [1]
  2. จดบันทึกเนื้อหาไว้ในพื้นที่ซึ่งใหญ่ที่สุดของหน้ากระดาษ. ขณะที่ฟังบรรยายหรืออ่านเนื้อหา จดบันทึกเนื้อหาไว้ที่ฝั่งขวามือของหน้ากระดาษเท่านั้น [2]
    • จดบันทึกข้อมูลที่อาจารย์เขียนบนกระดานหรือแสดงในสไลด์ด้วย
  3. เมื่อพบประเด็นสำคัญ จดบันทึกไว้
    • มองหาสัญญาณที่ทำให้รู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญ ถ้าหากอาจารย์พูดว่า "ความหมายโดยนัยที่สำคัญมากที่สุดของ X มีสามประการคือ" หรือ "มีเหตุผลสำคัญสองประการว่าทำไม X ถึงเกิดขึ้นมา" จากนั้นต่อไปคือข้อมูลที่เราต้องการจดบันทึกไว้ในส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้ากระดาษ
    • ถ้าเราจดบนทึกคำบรรยายอยู่และเห็นว่ามีการพูดเน้นหรือย้ำเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งซ้ำๆ แสดงว่าเนื้อหานั้นน่าจะมีความสำคัญ
    • เราสามารถนำเคล็ดลับเหล่านี้มาใช้กับการจดบันทึกเนื้อหาจากการอ่านตำราได้ด้วย ถ้าหากพบลักษณะข้อความ เช่น คำบางคำเป็นตัวหนา หรือกล่าวถึงข้อมูลสำคัญซ้ำโดยแสดงเป็นกราฟหรือแผนภูมิ แสดงว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลสำคัญ เราต้องจดบันทึกเอาไว้
  4. ให้นึกซะว่าเนื้อหาที่เราจดเป็นเค้าโครงของคำบรรยายหรือการอ่าน เน้นจดคำสำคัญและประเด็นสำคัญเพื่อเราจะได้จดคำบรรยายหรือบันทึกการอ่านทัน เราจะทบทวนและเติมข้อมูลที่ขาดหายไปในภายหลัง
    • ใช้สัญลักษณ์นำหัวข้อ เครื่องหมาย (อย่างเช่น "&" แทนคำว่า "และ") ตัวย่อ หรือคิดสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการจดบันทึกขึ้นมาเองก็ได้ แทนการเขียนออกมาเป็นประโยคที่สมบูรณ์ [3]
    • แทนที่เราจะจดบันทึกเนื้อหาเป็นประโยคเต็มอย่างเช่น "ในค.ศ.1703 พระเจ้าปีเตอร์มหาราชทรงสร้างกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และทรงสั่งให้สร้างป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล" ให้เราเขียนแค่ "1703 พระเจ้าปีเตอร์สร้างเซนต์ปี & ป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล" การเขียนให้สั้นกระชับจะทำให้เราจดบันทึกทันและได้ข้อมูลที่สำคัญ
  5. จดบันทึกใจความสำคัญ ไม่ใช่จดบันทึกตัวอย่างที่ใช้ประกอบคำอธิบาย. พยายามจดบันทึกใจความสำคัญ แทนการบันทึกตัวอย่างทุกตัวอย่างที่อาจารย์ให้มาเพื่ออธิบายใจความสำคัญเหล่านี้ การถอดความเป็นภาษาของตนเองไม่เพียงประหยัดเวลาและพื้นที่ในการเขียนเท่านั้น การถอดความยังบังคับให้เราต้องเชื่อมโยงความคิดที่ผู้บรรยายนำเสนอมาและเขียนเป็นถ้อยคำของตนเอง เราจึงจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้สอนบรรยาย (หรือในหนังสือกล่าว) ว่า "ในการก่อสร้างกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระเจ้าปีเตอร์ทรงจ้างวิศวกร สถาปนิก นักต่อเรือ และคนงานจากประเทศในยุโรปหลายประเทศ การมารวมตัวกันของปัญญาชนและแรงงานฝีมือเหล่านี้ทำให้กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีคนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพระเจ้าปีเตอร์ที่ทรงต้องการให้นครของรัสเซียแห่งนี้เป็นหน้าต่างแลยุโรป" เราอย่าจดบันทึกหมดทุกคำ!
    • ตัวอย่างการถอดความข้อมูลนี้ เช่น "พระเจ้าปีเตอร์ทรงจ้างวิศวกร สถาปนิก นักต่อเรือ เป็นต้นจากทั่วยุโรป พระองค์ทรงต้องการให้เซนต์ปี = หน้าต่างแลยุโรป"
  6. เว้นที่ว่าง ขีดเส้นคั่น หรือขึ้นหน้าใหม่ เมื่อขึ้นหัวข้อใหม่. การทำแบบนี้เมื่อขึ้นหัวข้อใหม่จะช่วยเราจัดระเบียบเนื้อหาไปในตัว และยังช่วยให้เราสามารถเลือกทบทวนเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งได้ เมื่อต้องการ
  7. จดบันทึกคำถามไว้ เมื่อเกิดคำถามใดๆ ขึ้นในใจขณะที่กำลังฟังหรือกำลังอ่าน. ถ้ามีอะไรที่เราไม่เข้าใจ หรือต้องการจะรู้อะไรมากขึ้น จดบันทึกลงไป คำถามเหล่านั้นจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ในการทบทวนภายหลังได้
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังจดบันทึกประวัติของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตามตัวอย่างข้างต้น เราอาจเกิดคำถามและจดลงไปว่า "ทำไมพระเจ้าปีเตอร์มหาราชจึงไม่ทรงจ้างวิศวกรชาวรัสเซีย"
  8. ตรวจและแก้ไขเนื้อหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้. ถ้าตรวจพบว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่อ่านยากหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ให้แก้ไขขณะที่เรายังจำเนื้อหาเหล่านั้นได้อยู่
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

สรุปและตั้งคำถาม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลังจากฟังบรรยายหรืออ่านหนังสือจบลงแล้ว ดึงใจความสำคัญหรือข้อเท็จจริงอันสำคัญออกมาจากเนื้อหาซึ่งจดไว้ที่ฝั่งขวาของกระดาษให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขียนเนื้อหาแบบย่อให้สั้น "มากๆ" ไว้ในฝั่งขวา เลือกเขียนคำสำคัญหรือวลีสั้นๆ ที่สามารถถ่ายทอดข้อมูลหรือแนวคิดที่สำคัญมากที่สุดออกมาได้ ทบทวนเนื้อหาภายในหนึ่งวันหลังจากฟังบรรยายหรืออ่านตำราเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
    • การขีดเส้นใต้ใจความสำคัญที่ฝั่งขวามืออาจช่วยให้เราเห็นประเด็นสำคัญได้ เราจะใช้ปากกาเน้นข้อความหรือใส่รหัสสีก็ได้ ถ้าเราเป็นคนที่ถนัดเรียนรู้จากการมองเห็นมากเป็นพิเศษ
    • ขีดฆ่าข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไป การจดบันทึกแบบคอร์เนลมีประโยชน์อย่างหนึ่งคือการจดบันทึกแบบนี้สอนให้เรารู้ว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลที่สำคัญและตัดข้อมูลที่ไม่สำคัญทิ้งไป ฉะนั้นฝึกแยกให้ออกว่าข้อมูลไหนไม่สำคัญ จากนั้นจึงตัดข้อมูลนั้นทิ้ง
  2. เขียนคำถามที่น่าจะออกข้อสอบไว้ที่ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษ. นำเนื้อหาจากฝั่งขวาของหน้ากระดาษมาตั้งเป็นคำถาม คิดสิว่าข้อสอบจะถามอะไรเราบ้างและเขียนคำถามเหล่านี้ที่ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษ เราจะใช้คำถามพวกนี้มาทบทวนเนื้อหาในภายหลัง
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจดบันทึกเนื้อหาฝั่งขวามือว่า "1703 พระเจ้าปีเตอร์ทรงสร้างเซนต์ปี & สร้างป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล" เราเขียนคำถามที่ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษว่า "ทำไมป้อมปีเตอร์แอนด์ปอลถึงเป็นสิ่งก่อสร้างอันดับแรกในเซนต์ปี"
    • เราสามารถตั้งคำถามที่นอกเหนือไปจากที่มีอยู่ในเนื้อหาก็ได้อย่างเช่น "เพราะอะไร..." หรือ "คาดว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าหาก..." หรือ "ความหมายโดยนัยของ...คืออะไร" (เช่น " การเปลี่ยนเมืองหลวงจากมอสโกเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีผลกระทบต่อจักรวรรดิรัสเซียอย่างไร) คำถามเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
  3. การสรุปใจความสำคัญจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาที่จดบนทึกไว้ เขียนสรุปเนื้อหาด้วยถ้อยคำของตนเองเพื่อตรวจสอบดูสิว่าเราเข้าใจเนื้อหาหรือไม่ ถ้าเราสามารถสรุปเนื้อหาที่จดบันทึกออกมาได้ แสดงว่าเราเข้าใจเนื้อหานั้นดีแล้ว ตอนเขียนสรุป เราอาจลองถามตนเองว่า "เราจะอธิบายข้อมูลนี้ออกมาอย่างไร"
    • โดยปกติผู้สอนจะเริ่มการเรียนในชั้นด้วยการอธิบายเนื้อหาของวันนั้นอย่างคร่าวๆ เช่น "วันนี้เราจะคุยกันเรื่อง A, B และ C" ตำราเรียนก็มักจะสรุปประเด็นสำคัญเอาไว้ในบทนำเช่นกัน เราสามารถใช้คำอธิบายคร่าวๆ นั้นมาเป็นแนวทางในการจดบันทึกและให้คิดว่าคำอธิบายเหล่านั้นเป็นสรุปแบบหนึ่งที่เราจะเขียนไว้ที่ส่วนล่างของหน้ากระดาษบันทึก ใส่รายละเอียดเพิ่มเติมถ้าเห็นว่าสำคัญ และคิดว่าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเวลาทบทวน
    • สรุปเนื้อหาของหน้านั้นให้ออกมาแค่สองสามประโยคก็พอ อย่าลืมใส่สูตร สมการ แผนภาพ เป็นต้นในส่วนของสรุปด้วย ถ้าเห็นว่าเหมาะสม
    • ถ้าเราสรุปส่วนใดส่วนหนึ่งของเนื้อหาออกมาไม่ได้ ให้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือถามผู้สอนในเนื้อหาตรงส่วนนั้น
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

นำเนื้อหาที่จดไว้ไปใช้ทบทวนบทเรียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เน้นอ่านเนื้อหาที่อยู่ฝั่งขวาของหน้ากระดาษและสรุปที่อยู่ส่วนล่างของหน้ากระดาษ เพราะสองส่วนนี้มีประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นต้องนำมาใช้ในการทำการบ้านหรือการสอบ [4]
    • ขณะที่ทบทวนเราจะขีดเส้นใต้หรือเน้นข้อความส่วนที่สำคัญก็ได้ ถ้าเราต้องการ
  2. ใช้มือหรือกระดาษปิดฝั่งขวาของหน้ากระดาษ (ส่วนที่ใช้ในการจดบันทึก) ทดสอบตนเองด้วยการตอบคำถามที่อยู่ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษ จากนั้นเปิดฝั่งขวาและตรวจคำตอบดู
    • เรายังขอให้เพื่อนทดสอบเราด้วยการถามคำถามที่อยู่ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษได้อีกด้วย จากนั้นเราค่อยเป็นฝ่ายถามคำถามเพื่อนบ้าง
  3. การทบทวนเนื้อหาบ่อยๆ ในช่วงที่ยังมีเวลามากแทนการคร่ำเคร่งก่อนสอนจะทำให้เราจดจำข้อมูลและเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ถ้าเราใช้วิธีจดบันทึกแบบคอร์เนล เราจะสามารถทบทวนเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเครียดน้อย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • การจดบันทึกแบบคอร์เนลเป็นการจดบันทึกที่เหมาะนำมาใช้ในการเรียนวิชาต่างๆ ที่มีหัวข้อกำหนดไว้ชัดเจน มีการนำเสนอเนื้อหาไปตามลำดับ หรือตามความเหมาะสม ถ้าวิชาที่เราเรียนมีการสลับหัวข้อหรือลำดับการนำเสนอเนื้อหาบ่อยๆ เราอาจต้องใช้วิธีการจดบันทึกแบบอื่นแทน [5]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 19,173 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา