ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

กระต่ายแคระเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใครๆ ต่างก็หลงรัก แต่การเลี้ยงกระต่ายแคระสักตัวนั้นมีเรื่องที่ต้องคอยเอาใจใส่อยู่มากมาย เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ การให้ความดูแลเป็นอย่างดีนับเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าทั้งต่อตัวคุณเองและเจ้ากระต่ายน้อยของคุณ เพื่อให้แน่ใจว่ากระต่ายแคระของคุณได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการจัดเตรียมบ้านที่แสนสบายและให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน รวมทั้งฝึกให้กระต่ายขับถ่ายในกระบะ จับกระต่ายด้วยความระมัดระวัง หมั่นทำความสะอาดร่างกายของกระต่ายเป็นประจำ และสร้างความเพลิดเพลินให้กับกระต่ายอยู่เสมอ นอกจากนี้อย่าลืมพากระต่ายไปทำหมันและไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 7:

จัดเตรียมบ้านและอาหารให้กับกระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลายคนนิยมปล่อยให้กระต่ายวิ่งเล่นไปมาภายในบ้านได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงในลักษณะนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะกับกระต่ายของคุณเท่าไรนัก แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกเลี้ยงกระต่ายแบบใด การจัดเตรียมกรงเพื่อให้พวกมันมีพื้นที่ที่ปลอดภัยและปราศจากสิ่งรบกวนถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับกระต่ายของคุณ กรงที่เหมาะสมควรมีขนาดอย่างน้อย 1.2 × 0.6 เมตรและมีฐานที่ทำจากพลาสติกหรือไม้ (เนื่องจากตะแกรงลวดอาจทำให้กระต่ายรู้สึกเจ็บเท้าได้) พร้อมปูด้วยวัสดุรองกรงให้สูงขึ้นมาประมาณ 5 เซ็นติเมตร
    • วางกระบะขับถ่าย ที่หลบซ่อนตัว ชามอาหาร รางหญ้า และขวดน้ำไว้ในกรงให้พร้อม โดยคุณอาจจัดเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่า 1 ชิ้นเพื่อป้องกันการรุกล้ำอาณาเขตของกระต่ายแต่ละตัว คอยเติมหญ้าทิโมธีและน้ำสะอาดในกรงไม่ให้ขาดสำหรับให้พวกมันทานและดื่มได้ตลอดเวลา
    • ให้กระต่ายทานหญ้าทิโมธีอัดเม็ดและผักวันละ 1 มื้อในปริมาณที่พอดีตามขนาดตัว อายุ และน้ำหนักของกระต่าย
  2. คุณสามารถตั้งคอกไว้นอกบ้านได้หากสนามหญ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยไว้หรือไม่มีสัตว์อื่นๆ อยู่ในพื้นที่สนามหญ้า หรือคุณอาจจัดเตรียมพื้นที่ปิดไว้ภายในบ้านสำหรับให้กระต่ายของคุณวิ่งเล่นไปมาก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากคุณเลือกตั้งคอกไว้ในบ้าน อย่าลืมจัดวางข้าวของภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับพวกมัน
    • หากคุณต้องการปล่อยให้กระต่ายวิ่งเล่นนอกบ้านในระหว่างวัน ห้ามปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแลโดยเด็ดขาดเพื่อไม่ให้สัตว์นักล่าต่างๆ บุกรุกเข้ามาทำร้ายพวกมันได้
    • ให้กระต่ายของคุณได้รับแสงแดดบ้างเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ร่างกายของพวกมันสร้างวิตามินดีซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้กระต่ายอยู่นอกบ้านนานเกินไปในช่วงที่อากาศร้อนเพราะอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของพวกมันเพิ่มสูงขึ้น
  3. โดยทั่วไปแล้วกระต่ายมักถ่ายปัสสาวะและอุจจาระในบริเวณเดิมซ้ำๆ และจะไม่ขับถ่ายเรี่ยราดไปทั่วทั้งกรง ดังนั้นให้คุณนำกระบะขับถ่ายวางไว้ตรงจุดที่คุณมองเห็นร่องรอยปัสสาวะหรือเศษมูลมากที่สุด การเตรียมกระบะขับถ่ายไว้จะช่วยรักษาความสะอาดของพื้นที่ภายในกรงและทำให้คุณสามารถทำความสะอาดกรงได้ง่ายยิ่งขึ้น
    • ใช้วัสดุรองสิ่งขับถ่ายจากธรรมชาติ เช่น หญ้าอัลฟัลฟ่า ข้าวโอ๊ต เปลือกส้ม หรือกระดาษ
    • อย่าใช้ขี้เลื่อยจากไม้เนื้ออ่อนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตับของกระต่ายได้
    • คุณสามารถทำความสะอาดกระบะขับถ่ายได้โดยใช้น้ำส้มสายชู
    • กระต่ายของคุณจะใช้กระบะขับถ่ายบ่อยมากขึ้นหลังจากที่พวกมันผ่านการทำหมันหรือหากกระบะขับถ่ายตั้งอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว [1]
  4. หญ้าถือเป็นอาหารหลักของกระต่าย ดังนั้นคุณจึงควรคอยเติมหญ้าสดใหม่ไม่ให้ขาดเพื่อให้กระต่ายของคุณมีทานตลอดเวลา โดยเลือกเตรียมหญ้าทิโมธีหรือหญ้าประเภทอื่นๆ แทนหญ้าอัลฟัลฟ่าที่ไม่ดีต่อสุขภาพกระต่ายเท่าไรนัก
  5. เลือกอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายคุณภาพดีที่ไม่มีส่วนประกอบของเมล็ดพืชต่างๆ หรือน้ำตาล ทั้งนี้คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารเม็ดประเภทมูสลี่เนื่องจากกระต่ายอาจเลือกทานเฉพาะของที่ชอบเท่านั้นจนส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารได้เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานๆ ปริมาณอาหารที่ควรให้กระต่ายในแต่ละครั้งอยู่ที่ ¼ ถ้วย (15 กรัม) ต่อน้ำหนักตัว 2 กิโลกรัม นอกจากนี้คุณยังสามารถเร่ิมให้กระต่ายทานหญ้าทิโมธีได้หลังจากที่อายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป
    • เปลี่ยนอาหารใหม่วันละ 2 ครั้งเพื่อให้กระต่ายได้ทานอาหารที่สดใหม่อยู่เสมอ
  6. พยายามให้กระต่ายทานผักใบเขียว 2 ถ้วย (70 กรัม) ต่อวัน นอกจากนี้คุณยังสามารถเตรียมแครอท แอปเปิ้ล (ไม่มีเมล็ด) กล้วย หรือสตรอว์เบอร์รี่สำหรับให้กระต่ายทานเล่นได้เช่นกัน ลองตรวจสอบว่ากระต่ายสามารถทานผักและผลไม้ชนิดใดได้บ้างเพราะผักผลไม้บางชนิดอาจเป็นพิษต่อร่างกายกระต่ายได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 7:

ฝึกกระต่ายให้ขับถ่ายในกระบะ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ใช้วัสดุรองสิ่งขับถ่ายสำหรับกระต่ายโดยเฉพาะ. วัสดุรองสิ่งขับถ่ายที่จำหน่ายโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ทำจากเมล็ดพืชหรือกระดาษ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ดูดซับปัสสาวะและอุจจาระของกระต่ายได้ดีแล้ว กระต่ายยังสามารถกัดแทะวัสดุรองสิ่งขับถ่ายเหล่านี้ได้โดยไม่เป็นอันตรายอีกด้วย [2]
    • คุณสามารถหาซื้อวัสดุรองสิ่งขับถ่ายสำหรับกระต่ายได้จากร้านขายสัตว์เลี้ยงใกล้บ้านหรือร้านค้าออนไลน์ทั่วไป

    เคล็ดลับ: คุณอาจสังเกตเห็นว่ากระต่ายของคุณชอบเข้าไปเล่นในกระบะขับถ่ายและมักคุ้ยเขี่ยวัสดุรองสิ่งขับถ่ายจนกระจายไปทั่ว ซึ่งแม้ว่าจะน่าหงุดหงิดใจอยู่บ้าง แต่พยายามนึกไว้ว่ากระต่ายของคุณกำลังสนุกสนานอยู่กับการเล่นของพวกมัน

  2. วางกระบะขับถ่ายไว้ตรงจุดที่กระต่ายเคยขับถ่ายไว้. โดยปกติแล้วกระต่ายจะเลือกขับถ่ายตรงจุดเดิมซ้ำๆ ดังนั้นตำแหน่งดังกล่าวจึงเป็นจุดที่เหมาะสำหรับนำกระบะขับถ่ายมาตั้งไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งที่กระต่ายใช้สำหรับขับถ่ายจะอยู่ในมุมที่ห่างจากบริเวณที่ตั้งชามใส่อาหาร จำไว้ว่าหากคุณวางกระบะขับถ่ายไว้ตรงจุดที่กระต่ายของคุณเคยขับถ่ายไว้แล้ว พวกมันก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มขับถ่ายในกระบะมากขึ้น [3]
    • คุณสามารถใช้วิธีเตรียมกระบะขับถ่ายไว้ให้พร้อมทั้งในกรงและคอกสำหรับวิ่งเล่นเพื่อเป็นการฝึกให้กระต่ายใช้กระบะขับถ่ายอยู่เสมอ
    • หากกระต่ายของคุณไม่ยอมใช้กระบะขับถ่าย ลองดูว่าพวกมันมักไปขับถ่ายตรงจุดใดก่อนย้ายกระบะขับถ่ายไปวางไว้ในตำแหน่งดังกล่าว
  3. นำวัสดุรองกรงที่เปื้อนสิ่งขับถ่ายใส่ไว้ในกระบะขับถ่ายเล็กน้อยในช่วงแรก. ตักวัสดุรองกรงที่เปื้อนปัสสาวะหรืออุจจาระของกระต่ายใส่ลงไปในกระบะขับถ่ายเล็กน้อยเพื่อชักจูงให้กระต่ายของคุณใช้กระบะขับถ่าย โดยกระต่ายจะได้กลิ่นสิ่งขับถ่ายที่ติดบนวัสดุรองกรงและสามารถขับถ่ายในกระบะได้อย่างสบายใจ [4]
    • ใช้วัสดุรองกรงที่เปื้อนสิ่งขับถ่ายเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 7:

จับกระต่ายด้วยความระมัดระวัง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตามธรรมชาติแล้วกระต่ายจัดเป็นสัตว์ที่ถูกล่า จึงส่งผลให้พวกมันรู้สึกตื่นกลัวได้ง่ายเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้คุณจึงไม่ควรจู่โจมเข้าหาเร็วๆ หรือโฉบเฉี่ยวไปมาอยู่เหนือตัวกระต่าย แต่ให้คุณลดตัวลงให้อยู่ในระดับเดียวกันและค่อยๆ ขยับเข้าใกล้กระต่ายอย่างช้าๆ พร้อมพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเพื่อให้พวกมันรับรู้ว่าคุณกำลังเข้าหา [5]
    • ลองพูดว่า “ว่าไงเจ้ากระต่าย ไม่ต้องกลัวนะ”
  2. โดยปกติแล้วกระต่ายจะไม่ชอบให้ใครมาจับ อุ้ม หรือกอดเท่าไรนัก ดังนั้นพยายามอย่าทำบ่อยๆ และสัมผัสตัวพวกมันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระต่ายของคุณมักตื่นตกใจได้ง่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกมันก็จะเริ่มไว้วางใจคุณมากขึ้นและยอมนั่งอยู่บนตักของคุณนิ่งๆ หากคุณจำเป็นต้องจับกระต่ายขึ้นมา ให้คุณคลายความกังวลของพวกมันด้วยการประคองขาหลังไว้ด้วยมือข้างหนึ่งและใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงเข้ามาแนบกับหน้าอกอย่างเบามือ
    • ห้ามจับกระต่ายโดยใช้วิธีหิ้วหูขึ้นมาโดยเด็ดขาด [6]
  3. สอดมือเข้าไปใต้หน้าท้องและก้นของกระต่ายเมื่อต้องการจับขึ้นมา. อย่าลืมใช้มือประคองก้นไว้เพื่อไม่ให้กระต่ายเตะขาไปมาได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วกระต่ายจะใช้เท้าเตะไปมาเมื่อถูกจับขึ้นมาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลังจนส่งผลให้พวกมันได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้ [7]
    • ใช้มือข้างหนึ่งสอดเข้าไปใต้ก้นกระต่ายอยู่เสมอเมื่อต้องการจับขึ้นมา
  4. อุ้มกระต่ายให้แนบลำตัวของคุณเพื่อให้พวกมันรู้สึกปลอดภัย. จำไว้ว่ากระต่ายของคุณมีขนาดตัวที่เล็กเพียงนิดเดียวทั้งยังขี้ตกใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นพวกมันจึงมักจะรู้สึกตื่นกลัวเมื่อถูกอุ้มขึ้นมาจากพื้น พยายามอุ้มกระต่ายให้แนบลำตัวของคุณเพื่อให้พวกมันรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นและจะไม่พยายามกระโดดหนีออกจากคุณ [8]

    เคล็ดลับ: พยายามอย่าจับกระต่ายขึ้นมาจนกว่าพวกมันจะเริ่มรู้สึกไว้วางใจคุณมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อกระต่ายรู้สึกกลัว ตามสัญชาตญาณแล้วพวกมันจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หนีออกไปได้แม้ว่าอาจมีโอกาสได้รับบาดเจ็บในระหว่างนี้ได้ก็ตาม

  5. อย่าวางกระต่ายลงบนพื้นด้วยการก้มตัวและเอื้อมมือลงไปจนสุดแขนเพราะอาจทำให้พวกมันรู้สึกตื่นกลัวในช่วงที่ถูกหย่อนตัวลงมาได้ โดยคุณควรใช้วิธีย่อตัวลงให้เกือบติดพื้นพร้อมอุ้มกระต่ายให้แนบลำตัวตลอดเวลาก่อนยื่นมือออกไปช้าๆ และค่อยๆ วางพวกมันลงบนพื้นอย่างระมัดระวัง [9]
    • พยายามอย่าให้กระต่ายกระโดดออกไปจากแขนของคุณแม้จะอยู่ในระดับความสูงที่ไม่มากเพราะอาจทำให้พวกมันมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 7:

ทำความสะอาดร่างกายของกระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตรวจสอบบริเวณก้นของกระต่ายทุกวันให้แน่ใจว่าสะอาดอยู่เสมอ. ลองดูว่ามีคราบปัสสาวะหรืออุจจาระติดอยู่บนขนของกระต่ายหรือไม่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แมลงวันมาวางไข่และฟักตัวออกมาเป็นหนอนแมลงวันได้โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน หากคุณมองเห็นคราบปัสสาวะหรืออุจจาระติดอยู่ ให้คุณใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดออกให้สะอาด จากนั้นลองตรวจสอบที่กระบะขับถ่ายเพื่อดูว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุรองสิ่งขับถ่ายใหม่หรือไม่ [10]
    • หากสังเกตเห็นว่ากระต่ายถ่ายนิ่มหรือเหลว ให้คุณพาพวกมันไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจว่ามีอาการป่วยอยู่หรือไม่
  2. แปรงขนกระต่าย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ด้วยแปรงขนนุ่ม. กระต่ายแต่ละสายพันธุ์ต่างมีขนที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ดังนั้นการแปรงขนจึงเป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะขนของกระต่ายของคุณ หากกระต่ายของคุณมีขนที่ยาว คุณจะต้องหมั่นรักษาความสะอาดและแปรงขนของพวกมันไม่ให้พันกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันติดโรคได้ แต่หากกระต่ายของคุณมีขนที่สั้น คุณก็ยังสามารถแปรงขนของพวกมันได้เช่นกันเพื่อเป็นการสร้างความผ่อนคลายและความใกล้ชิดสนิทสนม [11]
    • การแปรงขนให้กระต่าย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยขจัดขนที่ใกล้หลุดออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้กระต่ายกลืนขนตัวเองเข้าไป [12]
    • ใช้หวีสางขนที่พันกันเป็นก้อนให้คลายออก [13]
  3. ลองตรวจสอบว่ามีสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น หญ้าหรือวัสดุรองกรง สะสมอยู่ในหูของกระต่ายหรือไม่และใช้นิ้วมือหรือหวีซี่ละเอียดค่อยๆ เขี่ยสิ่งสกปรกให้หลุดออก จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดเบาๆ ทั้งด้านในและด้านนอกของหูก่อนเช็ดให้แห้งสนิทด้วยผ้าสะอาดเนื้อนุ่ม [14]
    • ขจัดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในหูของกระต่ายทันทีเมื่อคุณสังเกตเห็น
  4. เมื่อเล็บของกระต่ายเริ่มยาวขึ้น ให้คุณใช้กรรไกรตัดเล็บคมๆ ที่ออกแบบสำหรับกระต่ายโดยเฉพาะตัดเล็บของพวกมันให้สั้นลง โดยใช้ผ้าขนหนูห่อตัวกระต่ายไว้ในขณะที่ตัดเล็บเพื่อให้คุณสามารถจับกระต่ายไว้ได้อย่างมั่นคงแม้ว่าพวกมันจะดิ้นไปมา อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่มั่นใจในฝีมือการตัดเล็บของตัวเองหรือไม่แน่ใจว่าต้องตัดเล็บออกไปมากน้อยเพียงใด คุณสามารถทำการนัดหมายให้สัตวแพทย์เป็นผู้ลงมือตัดเล็บของกระต่ายของคุณ
    • การตัดเล็บของกระต่ายโดยไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจทำให้กระต่ายของคุณได้รับบาดเจ็บอย่างหนักได้ ดังนั้นอย่าลืมขอให้สัตวแพทย์ช่วยสอนวิธีการที่ถูกต้องก่อนที่คุณจะลงมือตัดเล็บของกระต่ายด้วยตัวเอง [15]
    • ห้ามตัดฟันของกระต่ายที่ยาวเกินไปด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด เพราะกระต่ายของคุณอาจได้รับบาดเจ็บอย่างหนักได้หากคุณเผลอตัดฟันของพวกมันออกมากจนเกินไป โดยให้คุณพากระต่ายไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการลับฟันอย่างเหมาะสมด้วยเครื่องกรอฟัน
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 7:

สร้างความเพลิดเพลินให้กับกระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หาซื้อของเล่นกระต่าย ของเล่นนก หรือของเล่นพลาสติกแข็งสำหรับเด็กที่ปลอดสารพิษ. เนื่องจากกระต่ายเป็นสัตว์ที่ฉลาดพอสมควร พวกมันจึงรู้สึกเบื่อได้ง่ายกับอะไรเดิมๆ คุณสามารถขจัดความเบื่อหน่ายของกระต่ายของคุณได้ด้วยการจัดเตรียมของเล่นสนุกๆ ที่หลากหลาย เช่น ของเล่นเขย่ามือ ลูกกุญแจพลาสติก หรือลูกบอลพลาสติก พยายามเลือกของเล่นที่เคลื่อนที่ไปมารอบๆ กรงได้หรือของเล่นแบบแขวนที่ห้อยลงมาจากด้านบนหรือด้านข้างของกรง [16]
    • เตรียมของเล่นเป็นชุดๆ สำหรับสับเปลี่ยนไปในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้กระต่ายของคุณได้เล่นของเล่นชิ้นใหม่ๆ อยู่เสมอโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องคอยซื้อของเล่นใหม่อยู่เรื่อยๆ
  2. ฟันของกระต่ายสามารถงอกยาวออกมาได้เรื่อยๆ ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้วพวกมันจึงต้องกัดแทะสิ่งต่างๆ เพื่อลับฟันให้สั้นลง ให้คุณหาของเล่นไม้ปลอดสารพิษที่กระต่ายของคุณสามารถกัดแทะได้อย่างสนุกสนานพร้อมกับได้ดูแลสุขภาพฟันในคราวเดียวกัน [17]
    • คุณสามารถหาซื้อของเล่นได้ตามร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วไปหรือจากร้านค้าออนไลน์ โดยเลือกซื้อของเล่นที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสำหรับสัตว์ขนาดเล็กเพื่อให้แน่ใจว่าของเล่นชิ้นนั้นปลอดภัยกับกระต่ายของคุณ
  3. เตรียมแกนหรือกล่องกระดาษให้กระต่ายได้ฉีกเล่น. กระต่ายชื่นชอบการฉีกกระดาษแข็งให้ขาดเป็นชิ้นๆ ดังนั้นคุณจึงสามารถสร้างความเพลิดเพลินให้กับกระต่ายของคุณได้ง่ายๆ ด้วยการเตรียมแกนหรือกล่องกระดาษที่ไม่ใช้แล้วให้พวกมันได้ฉีกเล่น คุณสามารถใส่หญ้าเข้าไปในแกนกระดาษหรือจะนำแกนเปล่าๆ วางไว้ในกรงและปล่อยให้กระต่ายมุดเข้าไปข้างในก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้คุณยังสามารถทำที่หลบซ่อนตัวให้กระต่ายได้โดยนำกล่องกระดาษมาตัดก้นออกไปพร้อมเจาะช่องสำหรับเป็นประตูและหน้าต่าง [18]
    • นำชิ้นส่วนกระดาษแข็งอันเก่าที่เริ่มสกปรกแล้วออกไปทิ้ง
  4. เติมข้าวสารลงไปในไข่อีสเตอร์และปิดรูให้สนิทด้วยปืนกาวก่อนนำไปให้กระต่ายของคุณสำหรับเขย่าเล่นไปมา อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องนำไข่ออกมาจากกรงในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้กระต่ายเขย่าไข่เล่นทั้งคืนจนคุณนอนไม่หลับ
    โฆษณา
วิธีการ 6
วิธีการ 6 ของ 7:

พากระต่ายไปทำหมัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แม้ว่าคุณจะเลี้ยงกระต่ายไว้เพียงตัวเดียว แต่การตัดสินใจทำหมันกระต่ายจะส่งผลดีต่อสุขภาพและบุคลิกภาพของพวกมัน หรือหากคุณเลี้ยงกระต่ายมากกว่า 1 ตัว การพากระต่ายแต่ละตัวไปทำหมันถือเป็นเรื่องสำคัญ ข้อดีของการทำหมันกระต่ายมีดังต่อไปนี้: [19]
    • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระบบสืบพันธุ์
    • ลดความก้าวร้าว
    • สนิทสนมกับคนมากกว่า
    • ฝึกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
    • กำจัดพฤติกรรมการปัสสาวะรดวัตถุเพื่อสร้างอาณาเขตสำหรับกระต่ายเพศผู้
    • สามารถปล่อยให้กระต่ายอยู่เป็นคู่ได้อย่างปลอดภัย
    • ควบคุมจำนวนกระต่ายเกิดใหม่ที่ไม่ต้องการ

    เคล็ดลับ:' หากคุณไม่ได้วางแผนที่จะเพาะพันธุ์กระต่าย การตัดสินใจพากระต่ายไปทำหมันเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะหลังการทำหมัน กระต่ายจะมีนิสัยที่สงบนิ่งมากขึ้นและมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ได้น้อยลง นอกจากนี้สาเหตุหลักที่กระต่ายเพศเมียควรรับการทำหมันคือเพื่อช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกซึ่งพบได้บ่อยในกระต่ายเพศเมีย [20]

  2. ทำหมันกระต่ายเพศผู้เมื่อมีอายุระหว่าง 8-12 สัปดาห์. อัณฑะของกระต่ายเพศผู้จะเริ่มโผล่ยื่นมาให้เห็นเมื่อมีอายุประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งคุณสามารถพากระต่ายที่อยู่ในช่วงอายุดังกล่าวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการทำหมันได้ การตัดสินใจทำหมันกระต่ายตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความก้าวร้าวและพฤติกรรมหวงอาณาเขตต่างๆ ของกระต่าย เช่น การกัด การขู่คำราม หรือการปัสสาวะรดวัตถุ [21]
    • แยกกระต่ายเพศผู้ออกจากกระต่ายเพศเมียหลังจากที่อัณฑะเริ่มโผล่ยื่นออกมาให้เห็น และรอจนกระทั่งร่างกายเริ่มฟื้นตัวจากการทำหมันก่อนนำกระต่ายกลับมาอยู่รวมกันอีกครั้ง
  3. ทำหมันกระต่ายเพศเมียเมื่อมีอายุระหว่าง 4-8 เดือน. กระต่ายเพศเมียจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุได้ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์อาจรอจนกระต่ายมีอายุถึง 6 เดือนก่อนลงมือทำหมันเพื่อให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้น ลองพูดคุยถึงข้อดีของการรอจนกระต่ายมีอายุครบ 6 เดือนกับสัตวแพทย์เพื่อช่วยในการตัดสินใจของคุณ [22]
    โฆษณา
วิธีการ 7
วิธีการ 7 ของ 7:

พากระต่ายไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ค้นหาสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์ขนาดเล็ก. กระต่ายมีความต้องการที่แตกต่างจากแมวหรือสุนัข ดังนั้นคุณจึงควรพากระต่ายไปพบสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแลกระต่ายโดยเฉพาะ ลองค้นหาสัตวแพทย์ที่ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์ขนาดเล็กซึ่งมีทักษะเฉพาะที่จำเป็นในการดูแลรักษากระต่าย นอกจากนี้คุณสามารถสอบถามประวัติการศึกษาและประสบการณ์ของสัตวแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าสัตวแพทย์ของคุณมีความชำนาญในการดูแลรักษากระต่าย
    • อย่ากังวลที่จะซักถามสัตวแพทย์อย่างละเอียด จำไว้ว่าสัตวแพทย์ก็มีความรักต่อสัตว์เช่นเดียวกับคุณ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทุกคนต่างมองหาสัตวแพทย์ที่เหมาะสมที่สุดเป็นผู้ทำการรักษาสัตว์เลี้ยงที่พวกเขารัก
  2. ไวรัสโรคฮีโมราจิกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease Virus) เป็นเชื้อไวรัสอันตรายที่ใช้ในการควบคุมจำนวนประชากรกระต่ายในหลายพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระต่ายของคุณมีโอกาสติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ให้คุณพาพวกมันไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุครบ 4 สัปดาห์และฉีดกระตุ้นซ้ำทุกๆ 6 เดือนไปตลอดชีวิต [23]
  3. เชื้อปรสิตเพียงไม่กี่ชนิดที่มักติดต่อสู่กระต่ายคือหมัดและไร หากคุณสงสัยว่ากระต่ายของคุณอาจมีหมัดอยู่ตามผิวหนัง คุณสามารถเลือกใช้ยากำจัดเห็บหมัดที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ซึ่งใช้งานได้ง่ายและสามารถขจัดหมัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากคุณสังเกตเห็นว่ากระต่ายของคุณเกาหูบ่อยหรือมีปัญหาผิวแห้งที่บริเวณรอบๆ หัวไหล่ พวกมันอาจมีไรอยู่ตามผิวหนังได้ โดยคุณควรพากระต่ายไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากไร
    • ปรึกษาสัตวแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาทุกชนิดกับกระต่ายเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณยาที่เหมาะสม เพราะการให้ยาเกินขนาดอาจเป็นอันตรายต่อกระต่ายได้ [24]
    • กระต่ายของคุณอาจติดหมัดได้ง่ายหากคุณเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัขหรือแมว ที่ติดหมัดมาก่อน [25]
    โฆษณา

คำเตือน

  • เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีควรได้รับการเฝ้าดูแลตลอดเวลาเมื่ออยู่กับกระต่าย
  • อย่าส่งเสียงดังใกล้ๆ กระต่าย เนื่องจากพวกมันมีหูที่ค่อนข้างบอบบาง
  • พยายามให้กระต่ายอยู่ห่างจากรูเล็กๆ หรือใต้เฟอร์นิเจอร์เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันเข้าไปติดหรือสูญหายได้
  • ระมัดระวังสิ่งของภายในบ้านทุกชิ้นที่อาจเป็นอันตรายต่อกระต่าย เช่น สายไฟหรือช่องว่างเล็กๆ ที่พวกมันอาจเข้าไปติดได้
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • กรงขนาดใหญ่
  • วัสดุรองกรง
  • คอกกระต่ายหรือพื้นที่ปิด
  • กระบะขับถ่าย
  • หญ้า
  • อาหารเม็ดสำหรับกระต่าย
  • ผักและผลไม้สด
  • ของเล่นสำหรับกระต่าย
  • กรรไกรตัดเล็บสำหรับกระต่าย
  • แปรงขนนุ่ม

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 6,256 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา