ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

Dachshund จริงๆ อ่านว่าแด็กซันด์ (DAK-sund) แต่บ้านเราเรียกกันติดปากไปแล้วว่า "ดัชชุนด์" เป็นหมาพันธุ์หนึ่งที่ขาสั้นและสันหลังยาวกว่าชาวบ้านเขา หมาดัชชุนด์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี แต่เดิมเป็นหมาล่าสัตว์ (ชื่อ "dachshund" แปลตรงๆ ก็คือ "หมาล่าตัวแบดเจอร์") จะเลี้ยงน้องหมาดัชชุนด์ให้ได้ดีๆ คุณต้องรู้ซะก่อน ว่าหมาพันธุ์นี้มีความต้องการพิเศษกว่าชาวบ้านยังไง รวมถึงความเสี่ยงต่อโรคหมอนรองกระดูก (intervertebral disc disease) ด้วย จะเลี้ยงน้องหมาดัชชุนด์ทั้งที ก็ต้องดูแลกันให้รอบด้าน ทั้งเรื่องคุมน้ำหนัก ดูแลขน และฝึกนิสัยให้มีระเบียบวินัย ลองอ่านบทความนี้ดู แล้วคุณจะรู้ว่าต้องเลี้ยงน้องหมาดัชชุนด์ยังไง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ดูแลหลังน้องหมาดัชชุนด์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คิดจะเลี้ยงดัชชุนด์ ต้องระวังโรคหมอนรองกระดูก (intervertebral disc disease หรือ IVDD). ดัชชุนด์ประสบปัญหาเดียวกับหมาเล็กพันธุ์อื่นๆ คือเสี่ยงต่อโรคหมอนรองกระดูก โดยหมอนรองกระดูกสันหลังจะแตกหรือเคลื่อน ทำให้เกิดการกดทับที่กระดูกสันหลัง จนน้องหมาปวด กลั้นฉี่ไม่ได้ หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพาต คุณช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ได้โดยป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ หัดสังเกตอาการต่างๆ ของหมาที่เป็นโรคหมอนรองกระดูก จะได้รู้ทันท่วงทีว่าปัญหาอยู่ตรงจุดไหน ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติดังต่อไปนี้เมื่อไหร่ให้รีบติดต่อสัตวแพทย์ทันที
    • ดูเซื่องซึมขึ้น ไม่กระโดดหรือวิ่งเล่นเหมือนเคย
    • ยืนไม่ค่อยได้
    • ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด
    • พฤติกรรมเปลี่ยนไป ดูกระวนกระวาย หรือตื่นกลัว
    • หลังค่อมคอโก่ง และ/หรือกล้ามเนื้อที่หลังหรือแถวคอตึงเกร็ง
    • กินน้อยลงหรือไม่กินอาหารเลย
    • กลั้นฉี่และ/หรืออึไม่ได้ [1]
  2. หมาดัชชุนด์ที่น้ำหนักมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกมากขึ้น เพราะฉะนั้นคุณต้องควบคุมอาหารและฝึกให้ออกกำลังกายเยอะๆ ถ้าอยากรู้ว่าน้องหมาของคุณน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์หรือเปล่า ให้คุณก้มลงมองหลังของน้องหมาดัชชุนด์จากด้านบน ถ้าเห็นซี่โครงบานแปลว่าผอมไป ต้องขุนกันหน่อยแล้ว ส่วนถ้าไม่เห็นซี่โครงชัดเจนแต่พอเอามือไปลูบแล้วเจอ แสดงว่านั่นแหละสุขภาพดีเป็นที่หนึ่ง แต่ถ้าทั้งมองไม่เห็นแถมคลำก็ไม่เจอซี่โครง แปลว่าอาการหนัก ต้องลดด่วนแล้วล่ะ ที่สำคัญคือน้องหมาดัชชุนด์ควรจะเอวแน่นกระชับ ไม่หย่อนคล้อยห้อยลงมา [2]
    • ก่อนจะลดหรือเพิ่มน้ำหนักต้องปรึกษาคุณหมอทุกครั้ง คุณหมอจะบอกเองว่าควรลดหรือเพิ่มเท่าไหร่ รวมถึงปริมาณอาหารที่เหมาะสมด้วย น้องหมาจะได้สุขภาพดีสมส่วน
    • พาน้องหมาไปเดินเล่นวิ่งเล่นทุกวัน
    • ให้ขนมแต่พอดี
    • พิจารณาให้อาหารแบบคุมน้ำหนัก ถ้าน้องหมาเริ่มอ้วนเกินไป
  3. การอุ้มหมาพันธุ์นี้อย่างถูกวิธีจะช่วยดูแลรักษาหลังให้น้องหมาอีกทาง เวลาจะอุ้มให้คุณเอามือรองก้นไว้ ส่วนมืออีกข้างรองใต้ท้องเพื่อพยุงหลัง ให้ลองฝึกกับอะไรเบาๆ ก่อนอุ้มน้องหมาตัวจริง
    • ห้ามอุ้มน้องหมาดัชชุนด์มือเดียว หรือรองเฉพาะตรงอุ้งเท้าหรือส่วนหัวเด็ดขาด
  4. การขึ้นหรือลงบันไดจะทำให้หลังของน้องหมาดัชชุนด์ทำงานหนัก นานๆ เข้าอาจกลายเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ แค่บันไดทั่วไปไม่ต้องชันมากก็หนักพอสำหรับหลังน้องหมาดัชชุนด์เวลาขึ้นลงแล้ว คุณช่วยได้ด้วยการอุ้มน้องหมาดัชชุนด์เสมอเวลาจะขึ้นหรือลงบันได [3]
    • เอาคอกกั้นเด็กมาล้อมทางขึ้นลงซะ น้องหมาจะได้ไม่วิ่งขึ้นลงบันได
    • หรือทำทางลาดถ้าเป็นบันไดเตี้ยๆ น้องหมาจะได้ใช้ขึ้นลงได้ทุกวัน [4]
  5. อย่าให้ดัชชุนด์กระโดดขึ้นลงเฟอร์นิเจอร์หรือที่สูงๆ. การกระโดดก็เพิ่มแรงกดทับให้หลังน้องหมาน่าดู เสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกเหมือนกัน คุณป้องกันไว้ก่อนได้โดยระวังไม่ให้น้องหมากระโดดขึ้นที่สูงอย่างโซฟาหรือเตียงของคุณ ถ้าอยากเอาน้องหมาขึ้นตักก็ต้องอุ้มขึ้นไปวางเอง ห้ามตบตักเรียกให้หมากระโดดขึ้นมาเด็ดขาด
    • หรืออาจทำทางลาดขึ้นเฟอร์นิเจอร์ ถ้าคุณอยากให้น้องหมาขึ้นไปนั่งได้เองตอนที่คุณไม่อยู่คอยอุ้ม [5]
  6. ถ้าเวลาพาไปเดินเล่นน้องหมาดัชชุนด์ชอบรั้งเชือก ระวังจะเพิ่มแรงกดทับที่กระดูกสันหลังจนเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ ให้เปลี่ยนมาใช้สายจูงแบบรัดอกแทนสายจูงที่โยงจากปลอกคอ จะได้ลดแรงกดทั้งที่คอและหลัง จะได้ไม่เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูก [6]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ฝึกน้องหมาดัชชุนด์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าอยากให้เห็นผลดีที่สุด ต้องฝึกแค่ประมาณ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาทีทุกวัน แต่ละรอบการฝึกต้องสั้นเข้าไว้ น้องหมาจะได้ยังสนใจอยู่ การฝึกสั้นๆ แต่ถี่ๆ จะช่วยให้ดัชชุนด์จดจำได้รวดเร็ว [7]
  2. ถ้าอยากให้น้องหมาทำตามที่คุณฝึก ต้องให้รางวัลทันทีทุกครั้งที่ทำถูก เช่น ถ้าคุณบอกให้นั่ง แล้วน้องหมาทำตาม ให้รีบชมแล้วตบหลังทันที น้องหมาจะได้รู้ว่าตัวเองทำถูกทำดีแล้ว ต้องทำแบบนี้ทุกครั้งที่น้องหมาทำตามที่คุณต้องการ ดัชชุนด์จะได้รู้ว่าทำถูกใจคุณแล้ว [8]
  3. คุณสอนให้น้องหมารู้ได้ว่าไม่ควรทำอะไร ง่ายๆ แค่เฉยไว้ หรือไม่ให้รางวัล เช่น ถ้าน้องหมาอยากไปเดินเล่น จนวิ่งวุ่นไปมาในบ้านเพราะตื่นเต้นจนทนไม่ไหว ให้คุณทำเฉยไว้ รอจนกว่าหมาจะหยุด อย่าเพิ่งใส่สายจูง พอหมาสงบ ยืนนิ่งๆ แล้ว ก็ถึงเวลาใส่สายจูงและพาไปเดินเล่น ทำแบบนี้ทุกครั้งเวลาจะพาน้องหมาไปเดินเล่น ดัชชุนด์จะได้เข้าใจว่าคุณไม่อยากให้ทำอะไร น้องหมาจะเรียนรู้ว่าการวิ่งวุ่นไปมาไม่ทำให้ได้ไปเดินเล่น แต่เป็นการอยู่เฉยๆ ต่างหาก [9]
  4. หรือคุณอาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูฝึกมืออาชีพ. ถ้าคุณฝึกแล้วน้องหมาไม่ยอมทำตาม ลองพิจารณาจ้างครูฝึกหมามืออาชีพดู ครูฝึกที่ผ่านการอบรมมาแล้วจะช่วยฝึกฝนน้องหมาดัชชุนด์ให้ได้ดังใจคุณ โดยเฉพาะถ้าน้องหมามีนิสัยเสียบางอย่างที่คุณอยากแก้น่ะ [10]
    • มีการฝึกแบบเป็นกลุ่มด้วยนะ ลองหารายละเอียดเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ตดู น้องหมาจะได้ประโยชน์เรื่องเข้าสังคมไปอีกทาง
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ดูแลขนน้องหมาดัชชุนด์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้คุณใช้แชมพูแบบเฉพาะสำหรับดัชชุนด์ ถ้าน้องหมาของคุณขนสั้น อาบแค่ 3 เดือนครั้งก็พอ แต่ถ้าน้องหมาขนยาว ก็ต้องอาบบ่อยกว่านั้นหน่อย ให้ใช้สายฉีดน้ำแบบหัวสเปรย์พ่นน้ำให้ทั่วขนน้องหมา แต่เว้นแถวตา หู และจมูกไว้ จากนั้นก็ขยี้แชมพูให้ทั่วตัว เสร็จแล้วล้างแชมพูออกให้หมด จากนั้นใช้ผ้าเช็ดตัวเช็ดให้แห้ง [11]
    • หลังอาบน้ำให้ป้อยอน้องหมาเยอะๆ แล้วอย่าลืมขนมล่ะ น้องหมาจะได้รู้สึกดีๆ กับการอาบน้ำ
  2. ถ้าน้องหมาดัชชุนด์ของคุณเป็นพันธุ์ขนสั้น แค่แปรงอาทิตย์ละครั้งก็พอ แต่ถ้าขนยาวก็ต้องแปรงทุกวัน ขนของน้องหมาจะได้ไม่พันกันยุ่งเหยิง ให้ใช้หวีซี่ห่างสางขนที่พันกันเป็นปมก่อน แล้วค่อยตามด้วยแปรง อย่าลืมชมเยอะๆ ระหว่างดูแลขน และพอเสร็จเมื่อไหร่ก็ตามด้วยขนม น้องหมาจะได้รู้สึกดีกับการแปรงขนเช่นกัน [12]
  3. เวลาจะตัดเล็บดัชชุนด์ ต้องใช้กรรไกรตัดเล็บพิเศษของหมาโดยเฉพาะ หาซื้อได้ตามร้านขายของใช้สัตว์เลี้ยง อาจต้องฝึกให้น้องหมาคุ้นเคยกับการแตะต้องอุ้งเท้าหรือเล็บก่อน แล้วค่อยตัดจริง ถ้าน้องหมาดัชชุนด์มีท่าทีระแวงเวลาคุณจับแถวเท้าหรือเล็บ ให้ปลอบด้วยการลูบๆ แถวนั้นเบาๆ ผสมคำชมและขนมเวลาน้องหมายอมแต่โดยดี พอน้องหมาเริ่มชินเวลาคุณจับเท้าแล้ว ก็เริ่มตัดเล็บกันได้เลย [13]
    • อย่าตัดให้ลึกเกินไปเพราะเดี๋ยวจะเข้าเนื้อ แถวนั้นไวต่อความรู้สึกมาก แถมอาจเลือดออกได้
    • ถ้ากลัวว่าจะทำหมาเจ็บตอนตัดเล็บ ลองให้คุณหมอตัดให้ดูก่อนก็ได้ ไม่งั้นก็ให้ช่างอาบน้ำตัดขนเขาช่วยตัดให้ซะเลย
  4. การดูแลขนนี่แหละเป็นโอกาสให้คุณได้ตรวจร่างกายน้องหมาหาเห็บ หมัด และโรคอื่นๆ ให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ตามผิวหนังของน้องหมา ไม่ว่าจะติ่งเนื้อ บาดแผล หรือรอยฟกช้ำดำเขียวก็ตาม อย่าลืมเช็คที่หูด้วย ว่าขี้หูเยอะเกินไปหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือเปล่า ถ้ามีอะไรผิดสังเกต ให้รีบนัดตรวจเพิ่มเติมกับคุณหมอทันที [14]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • พาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอเป็นประจำ (2 ครั้งต่อปีกำลังดี) น้องหมาจะได้ตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนครบถ้วน
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณพอมีงบ ลองพิจารณาทำประกันสุขภาพให้น้องหมาดู ดัชชุนด์บางทีก็เล็กพริกขี้หนูซะเหลือเกิน จนบางทีก็เกิดปัญหาหรือเจ็บป่วย ถ้าไม่ดูแลให้ดี ลงท้ายอาจหนักข้อถึงขั้นต้องผ่าตัดหรือทำการุณยฆาตเลยทีเดียว
  • หมาที่ไม่คุ้นกับคนหรือกระทั่งหมาอื่น อาจชอบเห่า ขู่ กระทั่งกัด บางทีถ้าปล่อยให้ดัชชุนด์คบหาสมาคมกับหมาตัวอื่นๆ และคนแปลกหน้าไว้บ้างตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะทำให้น้องหมาโตมามีนิสัยที่เป็นมิตรกว่า
  • เล็บของดัชชุนด์นั้นสีเข้มกว่าหมาพันธุ์อื่น เวลาตัดต้องระวังให้มาก ระวังอย่าไปตัดเข้าเนื้อ (จนโดนเส้นเลือดในเล็บได้)
  • อย่าปล่อยให้น้องหมาดัชชุนด์อ้วนเกินพิกัด ระวังโรคจะถามหาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องหลัง
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 13,559 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา