PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

การฝึกให้ถนัดซ้ายสำหรับคนที่ถนัดขวามาตั้งแต่เกิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นความท้าทายที่สนุกสนานและน่าลองอยู่เหมือนกัน ถ้าคุณทำได้ คุณก็จะกลายเป็นคนที่ถนัดทั้งสองข้างและสามารถใช้งานมือทั้งสองข้างได้อย่างเท่าเทียมกันเหมือนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น ไอน์สไตน์, มีเกลันเจโล, แฮร์รี คาห์น, เทสลา, ดา วินชี, เฟลมมิง และเบนจามิน แฟลงคิน บางคนถนัดทั้งสองมือมาตั้งแต่เกิดจึงไม่จำเป็นต้องฝึกฝน แน่นอนว่าคนที่ถนัดทั้งสองมือโดยกำเนิดไม่จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่แล้ว แต่การเป็นคนถนัดทั้งสองมือนั้นก็มีข้อดี เช่น คนที่ถนัดทั้งสองมือจะได้เปรียบเวลาเล่นสนุกเกอร์ เพราะการแทงในบางมุมเข้าทางคนถนัดขวา ส่วนบางมุมก็เข้าทางคนถนัดซ้าย และการเป็นคนถนัดทั้งสองมือก็ได้เปรียบเวลาเล่นเทนนิสด้วย เพราะคุณสามารถรับลูกได้มากกว่าถ้าคุณตีลูกหน้ามือได้ทั้งสองข้าง การฝึกใช้มือซ้ายต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำ ได้ ถ้าคุณมีความพยายามและเปิดใจ!

คนถนัดซ้ายก็สามารถถนัดขวาได้ด้วยการกลับข้างมือตามขั้นตอนในบทความนี้ สำหรับคนถนัดซ้าย การที่คุณสามารถใช้มือขวาทำสิ่งต่างๆ ได้นั้นก็มีข้อดีเพิ่มเติมในเรื่องของการแก้ปัญหาความไม่สะดวกสบายต่างๆ ที่คนถนัดซ้ายต้องเจอในโลกที่ออกแบบมาสำหรับคนถนัดขวา

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

ฝึกเขียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณไม่สามารถถนัดซ้ายได้ภายในชั่วข้ามคืน เพราะมันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือกระทั่งหลายปีจึงจะทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากหัดใช้มือซ้าย คุณก็ต้องหมั่นฝึกฝนทุกวัน [1]
    • แบ่งเวลาในแต่ละวันสำหรับฝึกเขียนมือซ้าย ไม่ต้องทุ่มเทเวลามาก แค่วันละ 15 นาทีก็ช่วยให้คุณพัฒนาขึ้นในอัตราเร็วที่น่าพอใจได้แล้ว
    • ที่จริงแล้วคุณไม่ควรบังคับตัวเองให้ฝึกเขียนครั้งละนานๆ ด้วยซ้ำ เพราะคุณอาจจะเริ่มหงุดหงิดแล้วก็ล้มเลิกไป
    • การฝึกวันละนิดละหน่อยทุกวันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
    • ฝึกวาดภาพในอากาศ เริ่มการฝึกโดยใช้มือขวาก่อน จากนั้นก็ให้มือซ้ายลอกตาม แล้วค่อยย้ายมาวาดภาพลงในกระดาษทีหลัง คุณจะต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อม
  2. เวลาฝึกเขียนมือซ้าย คุณต้องจับปากกาหรือดินสอในตำแหน่งที่เหมาะมือ [2]
    • หลายคนมักจับปากกาแน่นเกินไปด้วยการงุ้มมือเหมือนกรงเล็บรอบปากกา แต่การจับแบบนี้มือจะเกร็ง ทำให้ตะคริวกินและเมื่อยได้ง่าย ถ้าเป็นแบบนี้คุณก็จะเขียนไม่สวย
    • จับปากกาหลวมๆ และคลายมือ ดูว่ามือขวาจับปากกาอย่างไร มือซ้ายก็ให้จับแบบนั้น เตือนตัวเองให้คลายมือเป็นพักๆ ระหว่างเขียน
    • อุปกรณ์ที่คุณใช้ฝึกเขียนก็ทำให้คุณรู้สึกสบายขณะฝึกเขียนมือซ้ายไม่เท่ากัน ใช้กระดาษมีเส้นคุณภาพดีและปากกาคุณภาพดีที่หมึกไหลสม่ำเสมอ
    • นอกจากนี้ก็ให้เอียงกระดาษหรือสมุดฉีกไปทางขวา 30-45 องศา การเขียงในองศานี้จะทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น
  3. เริ่มจากการใช้มือซ้ายเขียน ก ข ค ค่อยๆ เขียนอย่างระมัดระวัง ตั้งใจเขียนให้ตัวอักษรแต่ละตัวออกมาเป็นรูปร่างมากที่สุด ความถูกต้องสำคัญกว่าความเร็วในตอนนี้ [3]
    • เพื่อเปรียบเทียบกัน คุณควรเขียน ก ข ค ด้วยมือขวาก่อน จากนั้นก็พยายามใช้มือซ้ายเขียนให้ได้ใกล้เคียงกับมือขวามากที่สุด
    • เก็บแผ่นฝึกเขียนไว้ดีๆ ด้วยการเก็บใส่แฟ้มแล้ววางให้เป็นที่ แล้วเวลาที่คุณเริ่มหงุดหงิดและอยากล้มเลิกความตั้งใจ ให้คุณกลับมาดูแผ่นฝึกเขียนเหล่านี้เพื่อให้เห็นว่าคุณมาไกลแค่ไหนแล้ว วิธีนี้น่าจะทำให้คุณเกิดแรงฮึดขึ้นมาใหม่ได้
  4. เมื่อคุณเขียน ก ข ค จนเบื่อแล้ว ก็เริ่มขยับขึ้นมาเขียนประโยคได้
    • เริ่มจากการเขียนประโยคง่ายๆ เช่น "ฉันเขียนประโยคนี้ด้วยมือซ้าย" อย่าลืมว่าค่อยๆ เขียนและให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบมากกว่าความเร็ว
    • จากนั้นก็ลองเขียนกลอน "เป็นมนุษย์สุดประเสริฐเลิศคุณค่า กว่าบรรดาฝูงสัตว์เดรัจฉาน จงฝ่าฟันพัฒนาวิชาการ อย่าล้างผลาญฤาเข่นฆ่าบีฑาใคร ไม่ถือโทษโกรธแช่งซัดฮึดฮัดด่า หัดอภัยเหมือนกีฬาอัชฌาศัย ปฏิบัติประพฤติกฎกำหนดใจ พูดจาให้จ๊ะ ๆ จ๋าน่าฟังเอย" ซ้ำไปซ้ำมา กลอนนี้เป็นกลอนที่มีพยัญชนะไทยครบทุกตัว จึงเหมาะสำหรับการฝึกเขียน
    • คำประพันธ์อื่นที่มีพยัญชนะครบทั้ง 44 ตัวได้แก่ "ธรรมคุณหนุนความดีฑีฆรัตน์ สรรพสัตว์วัฏวจรถอนวิถี อริยสัจตรัสสังโยคโลกโมฬี ดังกุมภีร์ผลาญชิวหาบีฑาทนต์ ฟังฉัตรทองของประเสริฐเลิศวิเศษ ฝ่ายต้นเหตุฎรงกรณ์อุดรผล ยินสถานฌานสมาอารยะชน พึงซ่อนกลปรนนิบัตินิวัฒน์แฮฯ" และประโยค "นายสังฆภัณฑ์ เฮงพิทักษ์ฝั่ง ผู้เฒ่าซึ่งมีอาชีพเป็นฅนขายฃวด ถูกตำรวจปฏิบัติการจับฟ้องศาล ฐานลักนาฬิกาคุณหญิงฉัตรชฎา ฌานสมาธิ"
  5. เวลาที่เด็กๆ หัดเขียนหนังสือเป็นครั้งแรก พวกเขาจะใช้สมุดคัดไทยที่สามารถเขียนตามเส้นประได้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือและเขียนได้อย่างถูกต้อง
    • เวลาที่คุณหัดเขียนมือซ้าย โดยพื้นฐานแล้วคุณกำลังสอนให้มือและสมองของคุณหัดเขียนหนังสือใหม่อีกครั้ง เพราะฉะนั้นการใช้สมุดคัดไทยจึงเป็นความคิดที่ดี
    • นอกจากนี้ให้คุณเลือกสมุดคัดไทยที่มีเส้นบรรทัดเพิ่มเติมมาให้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าตัวอักษรได้สัดส่วนที่ถูกต้อง
  6. ในภาษาไทยและอีกหลายภาษาทั่วไป คนจะเขียนจากซ้ายไปขวาหรือ จาก "นิ้วโป้งไปหานิ้วก้อย"
    • การเขียนแบบนี้คนถนัดขวาจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แถมยังช่วยไม่ให้หมึกเลอะเวลาที่มือขยับมาเรื่อยๆ ด้วย
    • แต่สำหรับคนถนัดซ้าย การเคลื่อนไหวแบบนี้มักจะรู้สึกฝืนและทำให้กระดาษเลอะเทอะระหว่างที่มือขยับไปทับหมึกที่เพิ่งเขียนลงไป ด้วยเหตุนี้คนถนัดซ้ายจึงมักถนัดเขียนย้อนกลับทิศทางมากกว่า
    • ที่จริงแล้วศิลปินเอกอย่างลีโอนาโด ดา วินชีก็เป็นคนถนัดซ้าย และมักจะเขียนข้อความและจดหมายย้อนกลับทิศทาง ซึ่งจะอ่านได้ก็ต่อเมื่อถือกระดาษไว้หน้ากระจกและอ่านจากเงาสะท้อนเท่านั้น
    • ฝึกเขียนย้อนกลับทิศทางด้วยมือซ้าย แล้วคุณจะแปลกใจว่ามันง่ายกว่าที่คิด จำไว้ว่าให้ใช้มือซ้ายเขียนจากซ้ายไปขวาหรือจาก "นิ้วโป้งไปหานิ้วก้อย" นอกจากนี้คุณก็ต้องเขียนตัวหนังสือจากหางไปหัวด้วยเพื่อให้มันกลับทิศทางจริงๆ!
  7. แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นการหัดเขียนมือซ้าย แต่การวาดภาพด้วยมือซ้ายก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะมันจะทำให้คุณได้ฝึกควบคุมการใช้มือซ้ายและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือไปพร้อมๆ กัน [4]
    • เริ่มจากการวาดรูปง่ายๆ เช่น วาดรูปร่างพื้นฐานอย่างวงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัส และสามเหลี่ยม จากนั้นก็ขยับไปสเกตช์ภาพสิ่งรอบตัว เช่น ต้นไม้ โคมไฟ และเก้าอี้ และถ้าคุณมั่นใจมากล่ะก็ วาดคนกับสัตว์ไปเลย
    • การวาดภาพกลับหัว (ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Inverted Drawing) ด้วยมือซ้ายนั้นเป็นแบบฝึกหัดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการเขียนแล้ว ยังเป็นการฝึกสมองที่ช่วยพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย!
    • ศิลปินเอกหลายคน เช่น มีเกลันเจโล, ดา วินชี และเซอร์เอ็ดวิน เฮนรี แลนด์เซียร์เป็นคนที่ถนัดทั้งสองมือ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนจากมือข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งขณะวาดภาพหรือระบายสีได้ถ้ารู้สึกเมื่อยมือหรือถ้าต้องทำงานจากมุมนั้นๆ แลนเซียร์โด่งดังมากในเรื่องของการวาดภาพทั้งสองมือพร้อมกันได้ [5]
  8. อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การหัดเขียนมือซ้ายนั้นเป็นกระบวนการที่อาศัยเวลาและความทุ่มเท คุณจะต้องอดทนกับตัวเองและอย่าล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ
    • จำไว้ว่าสมัยเด็กๆ ขนาดหัดเขียนด้วยมือขวา คุณยังต้องใช้เวลาอยู่หลายปี และแม้ว่าการหัดเขียนมือซ้ายจะไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้น (เพราะทักษะบางอย่างสามารถถ่ายโอนได้) กระบวนการเรียนรู้ก็ยังต้องใช้เวลาอยู่ดี
    • ช่วงแรกอย่าเพิ่งห่วงเรื่องความเร็ว พยายามฝึกเขียนโดยใช้การควบคุมให้ออกมาถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะเขียนได้เร็วขึ้นและมั่นใจขึ้นเอง
    • เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ทักษะที่น่าประทับใจและมีประโยชน์ที่คุณจะได้จากการเขียนมือซ้ายคืออะไร การรักษาแรงใจไม่ให้ตกคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณต้องเจอระหว่างที่คุณพยายามถนัดซ้ายให้ได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ฝึกฝนความแข็งแรง

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทักษะต่างๆ ประมาณหนึ่งจะถ่ายโอนจากมือขวาไปยังมือซ้ายโดยอัตโนมัติในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นการเริ่มทำสิ่งต่างๆ ด้วยมือซ้ายในช่วงแรกจะไม่ได้ยากขนาดนั้น และเนื่องจากว่าทักษะจะถ่ายโอนจากงานหนึ่งไปยังอีกงานหนึ่งได้ประมาณนึงโดยอัตโนมัติ การทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมือซ้ายจะทำให้คุณได้ทักษะในการใช้มือซ้ายทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเร็วกว่าการที่คุณหัดใช้มือซ้ายด้วยการทำสิ่งนั้นเพียงสิ่งเดียว อดทนไว้ บางคนบอกว่ายิ่งอายุเยอะยิ่งเปลี่ยนไปถนัดซ้ายได้ยาก แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดที่ว่าคุณสามารถเปลี่ยนมือข้างที่ถนัดได้ง่ายกว่าตอนอายุยังน้อยมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งคุณใช้มือขวาถนัดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความอดทนในการใช้มือซ้ายทำสิ่งต่างๆ น้อยลงเท่านั้น และจริงๆ แล้วยิ่งคุณอายุมากเท่าไหร่ คุณก็จะใช้เวลาฝึกใช้มือซ้ายทำสิ่งต่างๆ สั้นลงเท่านั้น สิ่งที่ง่ายที่สุดแต่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของมือซ้ายก็คือ ใช้มือซ้ายทำทุกกิจกรรมที่ปกติแล้วคุณจะใช้มือขวา [6]
    • พยายามแปรงฟันโดยใช้มือซ้ายถือแปรงสีฟัน นอกจากนั้นก็ให้หวีผม หยิบกาแฟ ทาเนยลงบนขนมปัง เปิดประตู และทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วยมือซ้าย
    • นอกจากนี้ลองปาลูกดอก (ในสถานที่ที่ปลอดภัย) เล่นพูล หรือขว้างและรับลูกซอฟต์บอลด้วยมือซ้าย
    • ถ้าคุณมักลืมว่าจะต้องใช้มือซ้ายและเผลอใช้มือขวาบ่อยๆ ให้เอาผ้ามาพันนิ้วมือข้างขวาไว้ด้วยกัน วิธีนี้จะทำให้คุณไม่สามารถใช้มือขวาได้และบังคับให้คุณต้องใช้มือซ้ายแทน
  2. หนึ่งในวิธีที่เพิ่มความแข็งแรงของแขนและมือซ้าย และแก้ไขความไม่สมดุลระหว่างแรงของมือข้างที่ถนัดกับข้างที่ไม่ถนัดได้ดีที่สุดก็คือการยกเวต
    • ใช้มือซ้ายถือดัมเบลล์และออกกำลังกายท่าต่างๆ เช่น ท่าไบเซบ เคิร์ล, คิกแบ็ก, แฮมเมอร์ เคิร์ล และดัมเบลล์ เพรส
    • เริ่มจากเวตน้ำหนักเบาก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักเมื่อมีซ้ายเริ่มมีแรงมากขึ้น
  3. การหัด เล่นจักกลิ้ง ด้วยลูกบอลสามลูก จากนั้นก็เพิ่มเป็นสี่ลูกเป็นวิธีทำให้มือและแขนซ้ายแข็งแรงขึ้น แถมคุณยังมีกลเจ๋งๆ ไว้เล่นในปาร์ตี้ด้วยนะ!
  4. หนึ่งในวิธีฝึกการใช้มือให้ถนัดทั้งสองข้างและเสริมความแข็งแรงของมือข้างที่ไม่ถนัดก็คือ การหาไม้ปิงปองมาสองอันและลูกปิงปองอีกสองลูก จากนั้นก็ใช้มือทั้งสองข้างเดาะลูกพร้อมกัน
    • เมื่อคุณทำได้คล่องแล้ว คุณก็สามารถขยับไปใช้ไม้ปิงปองหน้าแคบลงหรือค้อนหน้ากว้างก็ยังได้
    • นอกจากจะเป็นการฝึกใช้งานมือซ้ายแล้ว ยังเป็นวิธีฝึกสมองที่เริดสุดๆ! [7]
  5. หลายคนที่เล่นดนตรี (ซึ่งต้องใช้มือทั้งสองข้าง) สามารถใช้มือได้ถนัดทั้งสองข้างอยู่แล้วประมาณหนึ่ง
    • ดังนั้นการเลือกเครื่องดนตรีมาสักหนึ่งอย่าง เช่น เปียโนหรือฟลุต แล้วฝึกฝนทุกวันจึงช่วยให้มือซ้ายแข็งแรงขึ้นได้ [5]
  6. ว่ายน้ำก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องใช้ทั้งสองมือ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้เกิดการใช้สมองทั้งสองซีกได้อย่างสมดุล ทำให้คุณสามารถใช้มือข้างที่ไม่ถนัดได้อย่างไหลลื่นขึ้น
    • ไปที่สระว่ายน้ำแล้วว่ายน้ำไปกลับ 2-3 รอบเพื่อเสริมความแข็งแรงของร่างกายซีกซ้าย แถมยังได้ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอไปในตัวด้วย! [5]
  7. การใช้มือซ้ายล้างจานเป็นประจำเป็นวิธีง่ายๆ และปลอดภัยที่ทำให้มือข้างที่ไม่ถนัดสามารถใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ทั้งสนุกและมีประโยชน์ในระยะยาว ไม่ใช่แค่เฉพาะการล้างจานเท่านั้น
  8. หลังจากฝึกทำกิจกรรมง่ายๆ แล้ว ให้เริ่มใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำกิจกรรมที่ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวอย่างประณีตมากขึ้น เช่น การเขียนกลับกระจก เล่นพูล แกะเส้นดำกุ้ง และปาลูกดอก. วิธีนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการโอนถ่ายทักษะทั่วไปจากการกระทำหนึ่งไปสู่ภาพที่กลับด้านกันโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นในกิจกรรมถัดไปที่คุณจะใช้มือซ้ายแทนมือขวา ช่วงแรกคุณจะรู้สึกว่าสามารถใช้มือซ้ายทำสิ่งนั้นได้ถนัดกว่ากิจกรรมที่คุณไม่เคยใช้มือไหนทำเลย คุณอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่ามือข้างซ้ายจะถนัดเท่ามือขวา แต่การทำให้มือซ้ายสามารถใช้งานได้ถนัดเกือบเท่าข้างขวานั้นอาจใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน เมื่อคุณสามารถใช้มือซ้ายทำสิ่งต่างๆ ได้ถนัดแล้ว คุณจะไม่รู้สึกว่าการฝึกใช้มือซ้ายให้ถนัดเป็นเรื่องลำบากอีกต่อไปแม้ว่ามือขวาจะถนัดกว่าก็ตาม คุณสามารถข้ามขั้นตอนที่ 2-7 ได้ถ้าคุณอยากฝึกใช้มือทั้งสองข้างให้ถนัดแบบเร่งรัด และสามารถอดทนความน่าเบื่อของการทำกิจกรรมเหล่านี้แบบช้าๆ ในช่วงแรกได้
  9. การใช้มือขวากลายเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสมองมานานจนทำให้คุณใช้มือขวาโดยไม่ต้องคิด ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาเมื่อคุณต้องการจะถนัดซ้ายด้วย การแก้ปัญหาก็คือ พยายามหาวิธีเตือนตัวเองให้ใช้มือซ้ายเวลาทำสิ่งต่างๆ
    • เช่น เขียนคำว่า "ซ้าย" ไว้บนหลังมือซ้าย และคำว่า "ขวา" ไว้บนหลังมือขวา วิธีนี้จะช่วยเตือนทุกครั้งที่คุณหยิบปากกาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ
    • นอกจากนี้คุณก็อาจจะใส่นาฬิกาข้อมือข้างขวาแทนที่จะเป็นข้างซ้าย วิธีนี้จะช่วยให้จิตใต้สำนึกของคุณรับรู้ว่า คุณพยายามจะเปลี่ยนข้าง
    • อีกวิธีหนึ่งก็คือเขียนโพสต์อิตแปะไว้บนสิ่งของต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ตู้เย็น และลูกบิดประตู วิธีนี้จะเตือนให้คุณรู้ว่า คุณต้องใช้มือซ้ายเวลาเอื้อมไปจับสิ่งเหล่านั้น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ฝึกเขียนมือซ้ายที่บ้านเท่านั้น เมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน ให้ใช้มือข้างที่ถนัดหรือข้างขวา อย่างน้อยก็จนกว่าคุณจะใช้มือซ้ายเขียนได้อย่างเป็นระเบียบและรวดเร็ว วิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้งานของคุณไม่ดูขยุกขยุยจนเกินไป
  • เวลาฝึกเขียน ให้ปรับท่าทางการนั่งให้เหมาะกับตำแหน่งของมือซ้าย
  • ขณะเริ่มฝึกใช้มือซ้ายให้มากขึ้น พยายามอดทนไม่ใช้มือหรือแขนขวาให้ได้มากที่สุด
  • ใช้มือซ้ายทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เสิร์ฟวอลเลย์บอล รับประทานอาหารเช้า เป็นต้น
  • ฝึกเขียน "เป็นมนุษย์สุดประเสริฐเลิศคุณค่า กว่าบรรดาฝูงสัตว์เดรัจฉาน จงฝ่าฟันพัฒนาวิชาการ อย่าล้างผลาญฤาเข่นฆ่าบีฑาใคร ไม่ถือโทษโกรธแช่งซัดฮึดฮัดด่า หัดอภัยเหมือนกีฬาอัชฌาศัย ปฏิบัติประพฤติกฎกำหนดใจ พูดจาให้จ๊ะ ๆ จ๋าน่าฟังเอย" ไปเรื่อยๆ เพราะมีตัวอักษรไทยครบทุกตัว
  • เวลาเขียนมือซ้ายให้ใช้ตาขวา
  • เริ่มเปลี่ยนมือข้างที่ถนัดตอนที่อายุมากสักหน่อย เช่น 20 ปี ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนมาทำกิจกรรมที่มีความซับซ้อนด้วยมือซ้ายทั้งหมด ไม่ใช่แค่แบ่งจากมือขวามาอีกครึ่ง มือขวาของคุณที่มีความถนัดมากกว่าจะทำให้คุณเป็นใช้งานมือซ้ายได้แค่นิดหน่อยแทนที่จะใช้ได้อย่างถนัด
  • ถือโทรศัพท์มือถือด้วยมือซ้ายเท่านั้น
โฆษณา

คำเตือน

  • เข้าใจว่าเป้าหมายนี้ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะทำสำเร็จ เพราะฉะนั้นคุณต้องอดทน
  • อย่าใช้มือซ้ายตอกตะปูจนกว่าจะใช้มือทั้งสองข้างได้ถนัด
  • อย่าพยายามใช้มือซ้ายหั่นแตงกวาเป็นชิ้นบางๆ โดยใช้ข้อนิ้วบอกตำแหน่งลงมีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าเพิ่งฝึกทำก่อนที่คุณจะใช้มือได้ถนัดทั้งสองข้างจริงๆ เพราะบางครั้งมีดอาจจะบังเอิญแฉลบสูงขึ้นไปบาดข้อนิ้วได้
  • การเปลี่ยนมือข้างที่ใช้อาจทำให้คุณสับสนทิศทางได้ เพราะฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไป
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 12,835 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา