ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การถามคำถามเป็นวิธีพื้นฐานในการรวบรวมข้อมูล แต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ คุณจำเป็นต้องมีทักษะร่วมด้วย การถามคำถามปลายเปิด เป็นวิธีอันเป็นมิตรในการดึงความสนใจคู่สนทนา การเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำถามปลายเปิดและปลายปิด จะช่วยคุณได้อย่างมากมายในชีวิตทางสังคมและหน้าที่การงาน

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เข้าใจลักษณะคำถามปลายเปิด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนที่คุณจะสามารถเริ่มถามคำถามปลายเปิดได้ คุณต้องรู้ก่อนว่า มันคืออะไร คำถามปลายเปิดเป็นคำถามที่บังคับให้ผู้ตอบต้องตอบแบบเต็มประโยค จากความคิดและความรู้สึกของตัวเอง คำถามเหล่านี้มีความเป็นกลาง ไม่ได้ชี้นำคนที่ถูกถาม และนำไปสู่การตอบด้วยคำหลายคำ [1] ตัวอย่างคำถามปลายเปิด คือ:
    • ”เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ฉันออกไปแล้ว”
    • ”ทำไมคุณต้นถึงออกไปก่อนคุณตาล”
    • ”ไหนลองเล่าบรรยากาศที่ทำงานให้ฟังหน่อย”
    • ”คุณคิดอย่างไรกับรายการนี้ในซีซั่นใหม่”
  2. คำถามปลายปิด จะถูกตอบด้วยคำสั้นๆ หรือคำๆ เดียว มันใช้ในการถามเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและข้อมูลจำเพาะบางอย่าง [2] ตัวอย่างของคำถามปลายปิด คือ:
    • ”เธอจะเลือกใคร”
    • ”รถของคุณยี่ห้ออะไร”
    • ”คุณคุยกับวิชัยหรือยัง”
    • ”คุณนนท์ออกไปกับคุณก้อยหรือเปล่า”
    • ”ทุกคนได้กินเค้กกันหมดแล้วใช่มั้ย”
    • คำถามปลายปิดจะทำให้การสนทนาชะงัก มันไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ใคร่ควรญ คุยเรื่องของพวกเขา หรือช่วยให้ผู้ถามรู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับคนที่ถูกถามเลย
  3. บางครั้งคนเราคิดว่าตนเองกำลังถามคำถามปลายเปิด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การที่คุณจะถามคำถามปลายเปิดในการสนทนาได้ คุณต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของมันก่อน
    • คำถามปลายเปิดทำให้ผู้ถูกถามต้องหยุด คิด และทบทวน
    • คำตอบของคำถามปลายเปิด มักไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นความรู้สึก ความเห็น หรือแนวคิดเกี่ยวเรื่องนั้นๆ
    • เวลาใช้คำถามปลายเปิด อำนาจในการสนทนาจะเปลี่ยนไปอยู่ข้างผู้ถูกถาม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคู่สนทนา หากอำนาจการควบคุมตกอยู่ที่ผู้ถาม แสดงว่าคุณกำลังใช้คำถามปลายปิด ซึ่งเป็นเหมือนการสอบสวนหรือสัมภาษณ์ มากกว่าจะเป็นการสนทนา [3]
    • หลีกเลี่ยงคำถามที่มีลักษณะ ต่อไปนี้: คำตอบมีแต่ข้อเท็จจริง ตอบได้ง่ายๆ ถูกตอบได้ทันควัน และใช้ความคิดเพียงเล็กน้อย หรือไม่ต้องใช้เลย [4] คำถามที่สะท้อนสิ่งเหล่านี้ถือเป็นคำถามปลายปิด
  4. การที่จะแน่ใจว่า คุณกำลังถามคำถามปลายเปิดจริงๆ คุณจำเป็นต้องเข้าใจภาษาที่เกี่ยวข้อง คำถามปลายเปิดมักเริ่มแบบมีลักษณะจำเพาะ
    • คำถามปลายเปิดเริ่มต้นด้วยคำต่อไปนี้: “ทำไม” “อย่างไร” “อะไร” “ลองอธิบาย” “ช่วยเล่าให้ฟัง…” หรือ “คุณคิดยังไงเกี่ยวกับ”
    • แม้ว่า “ช่วยเล่าให้ฟัง” อาจจะไม่ได้ขึ้นต้นคำถาม แต่คำตอบก็เหมือนเวลาตอบคำถามปลายเปิด
    • คำถามปลายปิดก็มีภาษาเฉพาะเหมือนกัน หากคุณต้องการหลีกเลี่ยงการถามคำถามปลายปิด พยายามอย่าลงท้ายประโยคด้วย คำต่อไปนี้: “…มั้ย” “…เหรอ” “หรือเปล่า” “หรือไม่” [5]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

การใช้คำถามปลายเปิด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ใช้คำถามปลายเปิด เพื่อคำตอบที่เต็มไปด้วยความหมาย. หนึ่งในเหตุผลที่ต้องใช้คำถามปลายเปิด ก็เพื่อที่จะให้ได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยความหมายและลึกซึ้ง การถามในลักษณะนี้เชื้อเชิญให้ผู้ถูกถามเปิดใจ เพราะคุณได้แสดงให้เห็นว่าคุณสนใจในสิ่งที่ผู้ถูกถามจะพูด
    • อย่าใช้คำถามปลายปิด เวลาที่คุณต้องการคำตอบที่เต็มไปด้วยความหมาย คำถามปลายปิดสามารถทำให้การสนทนาเบรกตัวโก่งได้เลย คำตอบแบบคำเดียวทำให้ยากที่จะเสริมสร้างบทสนาหรือความสัมพันธ์ใดๆ คำถามปลายปิดยังมักจะทำให้คำตอบเป็นไปอย่างห้วนๆ ด้วย
    • จงถามคำถามปลายเปิด เวลาที่คุณต้องการคำตอบแบบมีรายละเอียดให้ต่อยอด
    • ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อต่อยอดการสนทนา หลังจากที่ใช้คำถามปลายปิดเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงหรือคำตอบแบบกระชับ ด้วยการนำเอาข้อเท็จจริงหรือคำตอบคำเดียวนั้นมาต่อยอดด้วยคำถามปลายเปิด [6]
  2. คำถามปลายเปิดอาจจะดูเปิดกว้างมากเกินไปในบางครั้ง การเลือกใช้คำมีความสำคัญมาก เวลาที่จะถามคำถามปลายเปิด โดยเฉพาะเวลาที่คุณมองหาคำตอบอันจำเพาะเจาะจงบางอย่าง [7]
    • หากคุณต้องการจัดการนัดบอดให้เพื่อน คุณอาจจะถามพวกเขาว่า “คุณมองหาคุณสมบัติใดในตัวอีกฝ่าย” ซึ่งพวกเขาอาจจะตอบโดยการพรรณาลักษณะทางกาย ทั้งๆ ที่คุณถามเขาเกี่ยวกับเรื่องบุคลิกภาพ ดังนั้น คุณควรใช้คำกำหนดขอบเขตให้แคบลงมาหน่อย เช่น “บุคลิกภาพแบบไหนที่คุณมองหาในตัวอีกฝ่าย”:
  3. สำหรับวิธีการนี้ เริ่มด้วยการถามแคบๆ แล้วจึงค่อยขยายคำถามให้กว้างขึ้นๆ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีหากคุณกำลังพยายามมองหาข้อมูลบางอย่างจากอีกฝ่าย นอกจากนี้ มันยังสามารถใช้เวลาที่คุณต้องการให้ผู้ถูกถามหันมาสนใจในหัวข้อนั้นๆ หรือพยายามจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกมั่นใจมากขึ้น [8]
    • หากคุณเผชิญกับความลำบากในการพยายามทำให้ผู้ถูกถามเปิดใจด้วยคำถามปลายเปิด ลองบีบคำถามให้แคบลง เพื่อดึงอีกฝ่ายเข้ามาในการสนทนาให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มถามคำถามที่กว้างขึ้นๆ [9] ตัวอย่างในกรณีนี้ คือ เวลาที่คุณพูดคุยกับเด็กๆ คุณอาจถามว่า “มีอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้างวันนี้” และพวกเขาตอบว่า “ไม่มีอะไร” คุณจึงถามต่อไปว่า “ตอนนี้หนูทำการบ้านถึงบทไหนแล้ว” ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสนทนาต่อยอดไปได้อย่างมาก
  4. ใช้คำถามปลายเปิดในการถามต่อเนื่องจากคำถามอื่นๆ ซึ่งคำถามต่อเนื่องแบบนี้ สามารถถามต่อจากคำถามปลายเปิด หรือคำถามปลายปิดก็ได้
    • ถามด้วยคำว่า “ทำไม” และ “อย่างไร” เพื่อให้ผู้ถูกถามตอบอย่างต่อเนื่องและยาวขึ้น หลังจากถามด้วยคำถามปลายปิด
    • เวลาที่ใครเพิ่งพูดจบ ให้ถามพวกเขาด้วยคำถามปลายเปิด ที่เกี่ยวเนื่องหรืออ้างอิงกับเรื่องที่พวกเขาเพิ่งพูดไป จะช่วยให้การสนทนาไหลลื่นไปในลักษณะเปิดกว้างและน่าสนใจ
  5. คำถามปลายเปิดเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด ในการเชื่อมต่อกับผู้คนผ่านการสนทนา ไม่เหมือนคำถามปลายปิด คำถามปลายเปิดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่มีความหมายลึกซึ้งระหว่างคนสองคน คำถามปลายเปิดบ่งบอกว่าผู้ถามมีความสนใจที่จะฟังคำตอบของผู้ถูกถาม
    • ถามคำถามเหล่านี้เพื่อค้นหาตัวตนเกี่ยวกับอีกฝ่ายหนึ่ง บ่อยครั้งที่คำถามปลายเปิดช่วยกระตุ้นให้คนอื่นพูดคุยเกี่ยวกับพวกเขาเอง ด้วยการถามแบบต่อเนื่อง คุณจะเริ่มรู้มากขึ้นๆ เกี่ยวกับคนๆ นั้น
    • คำถามเหล่านี้สามารถใช้แสดงความใส่ใจ เห็นใจ หรือความห่วงใยที่มีต่อใครบางคน คำถามปลายเปิดจำเป็นต้องได้รับคำตอบแบบส่วนตัวและมีส่วนร่วมมากขึ้น การถามว่า “คุณกำลังรู้สึกอย่างไร” หรือ “คุณร้องไห้ทำไม” เป็นการเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายแบ่งปันความรู้สึกร่วมกับคุณ การถามว่า “คุณโอเคหรือเปล่า” ก็จะมีคำตอบแค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่” เท่านั้น
    • จงใช้คำถามปลายเปิดเพื่อเริ่มบทสนทนากับคนที่ขี้อาย ประหม่า หรือคนแปลกหน้า [10] มันสามารถช่วยให้พวกเขาผ่อนคลายและกระตุ้นให้พวกเขาเปิดใจมากขึ้น
    • ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อหลีกเลี่ยงการกดดัน หลอกล่อ หรือชี้นำคำตอบของผู้ถูกถาม คำถามปลายเปิดส่วนใหญ่เป็นคำถามที่เป็นกลาง ส่วนวิธีที่คำถามปลายปิดถูกเรียบเรียง สามารถกดดันให้อีกฝ่ายตอบในแบบหนึ่งๆ ได้ [11] เช่น คำถามชี้นำอาจจะเป็นว่า “คุณไม่คิดว่าชุดนี้สวยเหรอ” ในขณะที่คำถามปลายเปิดซึ่งเป็นกลาง จะถามว่า “คุณคิดว่าชุดนี้เป็นอย่างไร” และคำปิดท้ายอย่างเช่น ”ไม่จริงเหรอ” “เห็นด้วยมั้ย” “เนอะ” เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนคำถามทั่วไปให้เป็นคำถามชี้นำได้ เพื่อให้ผู้ถูกถามเห็นด้วยกับคุณ จงอย่าใช้คำเหล่านั้นกับคำถามปลายเปิด
    • จงระวังอย่าไปถามใครด้วยคำถามที่เป็นส่วนตัวหรือจำเป็นต้องตอบด้วยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป พยายามประเมินระดับความสบายใจของผู้ถูกถามเวลาที่จะถามคำถามใด หากคุณถามคำถามที่ส่วนตัวเกินไป ก็เปลี่ยนไปเป็นคำถามที่ส่วนตัวน้อยลง
  6. คำถามปลายเปิดเป็นการถามที่ดีเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น มันช่วยกระตุ้นทั้งคำตอบ ความเห็น และทางออก มันยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และช่วยส่งเสริมไอเดียของผู้อื่น
    • คำถามปลายเปิดเป็นการนำทักษะด้านภาษามาใช้ในแบบที่มีชั้นเชิง คุณสามารถใช้คำถามปลายเปิดกับเด็กๆ และผู้ที่กำลังเรียนภาษาใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดของพวกเขา และปรับปรุงทักษะด้านภาษาของพวกเขา [12]
  7. การสนทนาเป็นศิลปะที่หลายคนมีปัญหาในการเรียนรู้ การพูดคุยกับคนแปลกหน้าจึงดูน่ากลัว แต่คำถามปลายเปิดสามารถช่วยคุณกระตุ้นให้อีกฝ่ายพูดได้
  8. คำถามปลายเปิดสามารถใช้เป็นคำถามเพื่อสืบหาข้อมูล มีอยู่ 2 วิธีที่แตกต่างในการถามในลักษณะดังกล่าว:
    • สืบหาเพื่อความแจ่มชัด หากคุณใช้คำถามปลายเปิดที่นำไปสู่คำตอบทั่วไป จงถามด้วยคำถามปลายเปิดซ้ำอีกครั้งเพื่อให้คำตอบแจ่มชัดมากขึ้น เช่น หากคุณถามใครบางคนว่า “ทำไมคุณถึงชอบอาศัยอยู่ที่นี่” และอีกฝ่ายตอบว่า “เพราะวิวทิวทัศน์” คุณสามารถถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่แจ่มชัดมากขึ้น เช่น “ทิวทัศน์แบบไหนล่ะ”
    • สืบหาเพื่อความสมบูรณ์ หลังจากที่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและสมบูรณ์ สำหรับคำถามปลายเปิดมาแล้ว คุณสามารถถามเพิ่มอีก เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ตัวอย่างของคำถามเหล่านี้ เช่น “คุณยังชอบอะไรอีกบ้าง” หรือ “คุณยังมีเหตุผลอะไรอื่นอีกไหม” [13]
    • อย่าถามว่า “ยังมีอะไรอีกไหม” มันเป็นคำถามปลายปิดและสามารถนำไปสู่การตอบห้วนๆ ว่า “ไม่”
  9. หนึ่งในผลที่ได้จากคำถามปลายเปิด คือ ความคิดสร้างสรรค์ คำถามปลายเปิดบางประเภทจำเป็นต้องได้รับคำตอบซึ่งกระตุ้นให้ผู้ถูกถามขยายขอบเขตความคิดของตัวเอง
    • คำถามปลายเปิดบางอย่างก็กระตุ้นให้มีการคาดเดา คำถามอย่างเช่น “ใครจะชนะการเลือกตั้ง” หรือ “อะไรคือผลกระทบที่การคัดเลือกผู้ชิงตำแหน่งในครั้งนี้ มีต่อจังหวัดของเรา” จะกระตุ้นให้ผู้ถูกถามต้องคิดหาความเป็นไปได้
    • คำถามเหล่านี้ บางครั้งมันทำให้อีกฝ่ายต้องพิจารณาผลสืบเนื่องด้วย การถามบางคนว่า “อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า…” หรือ “อะไรจะเกิดขึ้น หากคุณ…” จะเป็นการเชื้อเชิญให้พวกเขาคิดเกี่ยวกับเหตุและผลของสถานการณ์นั้น [14]
  10. พยายามเปิดช่องให้พวกเขาถามคำถามปลายเปิดกลับคืนบ้าง. จะช่วยให้การสนทนาต่อยอดมากขึ้น และช่วยให้คุณได้มีส่วนในการสนทนานอกเหนือไปจากการยิงคำถามอย่างเดียว การที่จะเปิดช่องให้อีกฝ่ายถามคำถามคุณ พยายามอย่าให้รายละเอียดของเรื่องนั้นๆ หรือความคิดเห็นไปจนหมดในคราวเดียว [15]
  11. การถามคำถามอย่างเหมาะสมจะไร้ประโยชน์ หากคุณไม่รู้จักฟัง บางครั้งเราทำพลาดในการพยายามครุ่นคิดถึงคำถามต่อไป โดยไม่ใส่ใจคำตอบของคำถามแรกด้วยซ้ำ หากทำเช่นนั้น คุณจะพลาดโอกาสที่ดีในการถามซ้ำต่อเนื่อง ดังนั้น จงพยายามตั้งใจฟังคำตอบที่คุณถามไว้
    โฆษณา

คำเตือน

  • คนที่ไม่สบายใจในการตอบคำถามปลายเปิด อาจจะไม่เข้าใจว่าคุณจะถามไปเพื่ออะไร หรืออาจะแค่ไม่อยากตอบก็ได้ คุณอาจลองอธิบายเพิ่มเติม หากพวกเขายังคงชั่งใจ มันอาจเป็นเพราะคำถามดังกล่าวส่วนตัวมากเกินไป ไม่งั้นก็อาจเป็นประเด็นที่ผู้ถูกถามไม่อยากขุดคุ้ย
  • คำถามปลายเปิดอาจนำมาซึ่งคำตอบที่ยาวและน่าเบื่อ หากคุณต้องการจะได้คำตอบแบบกระชับ จงถามด้วยคำถามที่เจาะจง
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 204,159 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา