ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

แมวติดพยาธิได้หลายสายพันธุ์ แต่ที่พบบ่อยที่สุด 4 พันธุ์ คือ พยาธิตัวกลม (roundworm), พยาธิปากขอ (hookworm), พยาธิตัวตืด (tapeworm) และพยาธิหนอนหัวใจ (heartworm) นอกจากพยาธิพวกนี้จะอันตรายต่อแมวแล้ว บางชนิดก็ติดต่อมายังคน รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในบ้านได้ด้วย เพราะงั้นนอกจากถ่ายพยาธิให้ลูกแมว แมวที่เพิ่งเอามาเลี้ยง และแมวที่แสดงอาการแล้ว ทาสแมวทุกคนควรปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องตรวจหาและควบคุมจำนวนปรสิตด้วย ใครคิดเลี้ยงแมวต้องรู้ไว้ว่าควรจะถ่ายพยาธิให้แมวเมื่อไหร่ และใช้วิธีการไหน

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

แมวคุณติดพยาธิชนิดไหน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สัญญาณที่จะบอกว่าแมวมีพยาธิ ก็คือเจอ พยาธิ นั่นแหละ ลองสำรวจอึน้องเหมียวดู พยาธิตัวตืดมักแยกส่วนเป็นท่อนๆ ให้เห็นในอึ หน้าตาเหมือนเมล็ดข้าวเล็กๆ ถ้าเพิ่งแยกส่วนหมาดๆ จะกระดิกดุ๊กดิ๊กเหมือนหนอนตัวจิ๋ว
    • แมวท้องเสียไหม จริงๆ แมวท้องเสียได้ด้วยหลายสาเหตุ แต่ถ้าแมวมีพยาธิในลำไส้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิตัวตืด มักทำให้แมวอึเหลวเสมอ นอกจากนี้แมวอาจระคายเคืองและมีเลือดออกในลำไส้ด้วย
    • เอาพยาธิที่เจอใส่ถุงไปให้คุณหมอดูด้วย [1]
  2. พยาธิตัวกลมมักทำให้แมวอ้วก บางทีถึงขั้นอ้วกพยาธิโตเต็มวัยออกมาเลย หน้าตาจะเหมือนเส้นสปาเก็ตตี้ นอกจากนี้การอาเจียนของแมวก็เป็นสัญญาณของพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย ซึ่งคุณก็ควรเก็บตัวอย่างพยาธิใส่ถุงเล็กๆ ไปให้คุณหมอเหมือนตอนเก็บจากอึ คุณหมอจะได้ตรวจอ้วกแมวหาปรสิตและโรคอื่นๆ [2] แต่แมวอ้วกก็ไม่ได้แปลว่ามีพยาธิเสมอไป อย่างที่บอกว่าเป็นได้ด้วยหลายสาเหตุ
  3. แมวที่มีพยาธิในลำไส้หรือพยาธิหนอนหัวใจ อาจน้ำหนักตัวลดลงได้ บางทีก็ลดแบบฮวบฮาบเลย แต่บางทีก็แค่นิดเดียว [3] อันนี้แล้วแต่ขนาดและจำนวนของพยาธิ บางทีแมวอาจหน้าท้องขยายหรือโตขึ้น เรียกว่า “pot-belly” ถ้าอยู่ๆ แมวก็ท้องเต่งกลม เป็นไปได้ว่ามีพยาธิตัวกลม
  4. ปกติเหงือกแมวต้องสีชมพูสดใส แต่ถ้ามีปรสิตหรือพยาธิ จะทำให้เหงือกซีดได้เพราะโลหิตจางหรือภาวะช็อค ถ้าสังเกตเห็นว่าแมวเหงือกซีด ควรพาไปหาหมอ ยิ่งถ้าแมวหายใจติดขัดหรือเซื่องซึม ควรพาไปโรงพยาบาลด่วนเลย
  5. สำคัญมากว่าคุณต้องรู้ก่อน ว่าแมวมีพยาธิชนิดไหน จะได้เริ่มรักษาถูก ปกติคุณหมอจะช่วยชี้แจงให้ได้ รวมถึงจ่ายยาและรักษาตามเคส เจ้าของไม่ถึงกับต้องรู้ลึกรู้ละเอียด แค่แยกได้คร่าวๆ ก็พอ พยาธิที่พบบ่อยและควรรู้จักไว้ก็คือ
    • พยาธิตัวกลมคือพยาธิที่พบบ่อยที่สุดในแมว ลูกแมวที่ยังไม่หย่านมมีสิทธิ์ติดมาจากนมของแม่แมว ส่วนแมวโตเต็มวัยมีโอกาสติดจากอึที่มีพยาธินั่นเอง
    • พยาธิตัวตืดเป็นปรสิตที่ตัวเป็นท่อนๆ มักพบตามขนแมวแถวๆ ก้นและขาหลัง ติดมาจากการกินหมัดเข้าไป [4]
    • พยาธิปากขอจะเล็กกว่าพยาธิตัวกลม อาศัยอยู่แถวลำไส้เล็ก แมวติดได้ทางผิวหนังหรือทางปาก ปกติจะพบในหมามากกว่า
    • พยาธิปอด (Lungworm) จะอยู่ในปอดของแมว แต่ไม่ค่อยพบบ่อย มักติดจากการที่แมวไปกินนกหรือหนูที่มีพยาธิชนิดนี้อยู่ [5]
    • พยาธิหนอนหัวใจนี่แหละอันตรายที่สุด เริ่มจากยุงไปกัดสัตว์ที่มีพยาธิ ทำให้ได้รับตัวอ่อนพยาธิทางเลือด พอตัวอ่อนโต ยุงก็ไปกัดสัตว์อื่นต่อ ก็แมวคุณไง ทีนี้แมวเลยได้พยาธิหนอนหัวใจแถมมาในกระแสเลือด [6]
  6. แมวมีพยาธิคุณรักษาเองไม่ได้ ต้องพาไปหาสัตวแพทย์อย่างเดียว คุณหมอจะเช็คตัวอย่างอึของแมว ว่าตกลงมีพยาธิหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ให้เก็บตัวอย่างอึไปด้วยแต่แรก ถ้าคุณหมอสันนิษฐานว่าแมวจะมีพยาธิหนอนหัวใจ ก็จะตรวจเลือดด้วย [7] พยาธิมีมากมายหลายชนิด ถ้ารักษาผิดก็ไม่หาย เพราะงั้นถึงต้องรู้แน่ชัดว่าแมวมีพยาธิชนิดไหนกันแน่ก่อนเริ่มรักษา
    • ปกติคุณหมอจะให้ยาถ่ายพยาธิทุก 2 อาทิตย์หรือทุกเดือน รักษาครั้งเดียวไม่หาย
    • คุณอาจจะเคยอ่านผ่านตาในเน็ตมาบ้าง ว่าคุณรักษาแมวเองได้ด้วย "วิธีธรรมชาติ" โดยใช้สมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆ บอกเลยว่ามั่ว พาไปหาหมอจะปลอดภัยและเห็นผลที่สุด [8]
    • พาแมวใหม่หรือลูกแมวเพิ่งคลอดไปให้หมอถ่ายพยาธิ ถือเป็นขั้นตอนบังคับเลย จะมีหรือไม่มีก็พาไปก่อน โดยเฉพาะลูกแมวต้องถ่ายพยาธิทุก 2 อาทิตย์ ตั้งแต่อายุได้ 6 อาทิตย์ไปจนถึง 3 เดือน จากนั้นถ่ายทุกเดือนจนแมวอายุได้ 6 เดือน ยิ่งถ้าคุณเอาลูกแมวจรหรือลูกแมวที่อื่นมาเลี้ยง ยิ่งต้องพาไปถ่ายพยาธิทันที และถ่ายเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยห่างกัน 2 อาทิตย์ เพราะลูกแมวจะติดพยาธิมาจากแม่แมวได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ดูแลแมวที่มีพยาธิ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณหมอจะจ่ายยาที่จำเป็นมาให้ ห้ามซื้อยาถ่ายพยาธิมาให้แมวกินเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอเด็ดขาด โดยเฉพาะในกรณีของลูกแมว ปกติยาถ่ายพยาธิจะเป็นยาเม็ด ส่วนยาอื่นก็มีทั้งยาเม็ด แคปซูล ยาแกรนูล (granule) ยาสำหรับเคี้ยว ยาน้ำ และยาหยดภายนอก [9]
    • อย่าเลือกยาเอง ต้องทำตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งวิธีให้ยาและระยะห่างในการให้ยา พอรู้แน่ชัดแล้วก็ต้องให้ยาจนครบคอร์สตามที่คุณหมอสั่ง ทั้งยากินและยาหยด ห้ามขาดตอนเด็ดขาด
  2. การให้ยาที่ถูกต้องคือยาจะเป็นอันตรายต่อปรสิต (พยาธิ) แต่ปลอดภัยต่อ host หรือสัตว์เจ้าของร่าง (ในที่นี้คือแมวคุณ) เพราะงั้นถึงต้องให้คุณหมอกำหนดปริมาณยาชัดเจน และคุณเองก็ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด ผลข้างเคียงจากยาที่อาจพบก็เช่น ท้องเสียและอาเจียน ยังไงปรึกษาคุณหมอก่อนเลย ว่าอะไรคือผลข้างเคียงปกติ อะไรคืออาการที่น่าเป็นห่วง แล้วคอยสังเกตอาการของแมว [10]
  3. ยาถ่ายพยาธิตัวกลมและพยาธิปากขอในแมวโตที่นิยมใช้กันก็เช่น pyrantel pamoate, milbemycin oxime และ selamectin ถ้า pyrantel pamoate กับ milbemycin oxime จะเป็นยากิน ส่วน selamectin จะเป็นยาหยด [11] ปกติในอเมริกา pyrantel pamoate จะหาซื้อเองได้ ส่วน selamectin กับ milbemycin oxime ต้องมีใบสั่งยา สำหรับบ้านเรายังไงลองสอบถามสัตวแพทย์ประจำตัวจะดีที่สุด selamectin ไม่ควรใช้กับลูกแมวอายุต่ำกว่า 8 อาทิตย์ ปกติลูกแมวจะใช้ยากินมากกว่า [12]
  4. ยา 2 ตัวที่นิยมใช้กำจัดพยาธิตัวตืด ก็คือ praziquantel กับ epsiprantel ซึ่งเป็นยากินทั้ง 2 ตัว praziquantel จะมีขายทั่วไป แต่ epsiprantel ต้องมีใบสั่งยา
    • หลังได้รับยา คุณหมอจะตรวจอึน้องเหมียวอีกรอบ ว่าหลงเหลือพยาธิอีกไหม เพราะงั้นต้องทำตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งการให้ยาและการพาแมวมาตรวจติดตามผล [13]
  5. คุณหมอจะบอกเองว่าต้องมาอีกเมื่อไหร่ ก็ให้รักษาไปตามที่คุณหมอแนะนำและพาแมวมาตรงตามนัด ส่วนจะต้องรักษาต่อหรือหายดีแล้ว ต้องให้คุณหมอวินิจฉัยต่อไป แต่ห้ามผิดนัดเด็ดขาด เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องเหมียว
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

ให้แมวกินยา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เขย่าขวดหรือหยิบยาออกจากขวด ตามคำแนะนำที่ฉลากหรือของคุณหมอ ถ้าเป็นยาน้ำต้องใช้หลอดฉีดยาหรือหลอดหยดยาดูดก่อน ปกติคุณหมอจะแนะนำวิธีให้ยาแต่แรก [14]
    • เก็บยาให้พ้นสายตาแมว แมวฉลาดมาก ถ้าเห็นขวดยาหรือเม็ดยา รับรองหายจ้อย เพราะงั้นควรเตรียมยาพร้อมให้ แล้วรอจนกว่าแมวจะสงบ ถึงเริ่มขั้นตอน (เพื่อความปลอดภัยของทั้งแมวและคน)
  2. พอได้ยาถ่ายพยาธิแล้ว ก็ต้องรู้วิธีให้ยา แต่บอกเลยว่าแมวเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ให้ยายากมาก ต้องรอจนแมวสงบ สบายใจ เพราะงั้นถ้าต้องให้ยาแมวด้วยตัวเอง ก็ต้องรู้วิธีปลอบแมวก่อนให้ยา
  3. ห่อตัวแมวด้วยผ้าห่มผืนเล็กๆ ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัว ให้โผล่มาแต่หัว ป้องกันแมวข่วนหรือตบ แต่อย่าทำแรงจนแมวกลัวหรือหายใจไม่ออก ถ้าแมวไม่ค่อยดื้อและไว้ใจคุณดี ไม่ต้องห่อตัวตอนให้ยาก็ได้ ดีซะอีกเพราะแมวจะผ่อนคลายสบายใจกว่า แต่ถ้าเกิดตกใจขึ้นมาก็อาจจะยุ่งนิดหน่อย [15]
  4. นั่งบนพื้นแล้ววางแมวที่หว่างขาหรือบนตัก หรือง่ายกว่านั้นคือให้ใครช่วยจับแมวไว้ตอนคุณให้ยา วิธีนี้จะช่วยให้ง่ายขึ้นอีกเยอะเลย [16]
  5. จับสองข้างของปากแมวด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ ระวังแมวกัดด้วยล่ะ เพราะเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ [17]
  6. ระหว่างนี้ให้กดเบาๆ ที่ข้างปากจนแมวอ้าปากเอง ค่อยๆ ทำไปแบบใจเย็น อย่าโมโห เครียด หรือเกร็ง ไม่งั้นแมวจะรู้สึกได้ และเครียดตามไปด้วย อีกมือให้อ้าขากรรไกรล่างช่วย แมวจะได้อ้าปากกว้างๆ [18]
  7. ถ้าเป็นยาเม็ดให้ยัดไปลึกๆ แต่ก็อย่าให้ลงไปถึงคอ ต้องให้แมวกลืนเอง ไม่งั้นจะสำลักได้ ส่วนยาน้ำให้สอดกระบอกฉีดทางด้านข้างของปาก [19]
  8. วิธีทำให้แมวกลืนยาเองง่ายๆ ก็คือ
    • ให้แมวหุบปาก
    • ให้แมวเงยหน้า จมูกชี้ขึ้นด้านบน
    • ลูบคอแมวเบาๆ กระตุ้นให้แมวกลืนโดยอัตโนมัติ
    • ค้างไว้ท่านี้ 2 - 3 วินาที หรือจนกว่าแมวจะกลืน ระหว่างนี้ต้องใจเย็น อย่าทำแรง ไม่งั้นแมวจะสำลักหรือยาติดคอได้ [20]
  9. ปล่อยปากแมวแต่ยังอุ้มไว้ เผื่อแมวไม่ได้กลืนยาแล้วคายออกมา ให้ปล่อยแมวตอนที่แน่ใจแล้วเท่านั้น ว่าแมวกลืนยาแล้วจริงๆ [21]
    • ถ้ายาเป็นแบบแคปซูล แมวคายยาทิ้งนี่แหละปัญหาใหญ่ ยาน้ำป้อนยากแต่แทบไม่มีโอกาสที่แมวจะบ้วนทิ้งออกมา
  10. เอาผ้าห่มหรือผ้าที่ห่อตัวแมวออก แล้วชมว่าเก่ง น่ารัก ตามด้วยให้ขนม จะกอดจะเล่นก็เต็มที่ ให้แมวรู้สึกถึงความรักความเอาใจใส่ของคุณ คราวหน้าที่ป้อนยาจะได้ไม่ต่อต้าน เราต้องให้แมวเชื่อมโยงการให้ยากับความรู้สึกดีๆ ไม่ใช่มองเป็นอะไรที่กลัว ต้องหนี ถ้าแมวเจ็บหรือกลัวฝังใจแล้ว ต่อไปจะให้ยาทีต้องไล่จับกันน่าดู
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ป้องกันไม่ให้แมวติดพยาธิอีก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณหมอจะแนะนำเองว่าต้องใช้ตัวไหน ยาบางตัว เช่น selamectin หลักๆ จะช่วยป้องกันหมัด พยาธิหนอนหัวใจ พยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม และอื่นๆ [22]
  2. ข้างนอกมักมีแมวจรที่มีพยาธิ และมีหมัดหรือหนูที่มีพยาธิในตัว เพราะงั้นถ้าเลี้ยงแมวแบบปิด คือเลี้ยงแต่ในบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงการติดพยาธิ [23] แต่ทาสแมวหลายคนก็รู้สึกแย่ เหมือนขังน้องแมวไว้แต่ในบ้าน ประมาณว่า "แมวจะไม่ได้วิ่งเล่น โดนลมโดนแดด ออกล่าตามธรรมชาติหรือเปล่า?" ซึ่งก็ไม่มีคำตอบที่ถูกที่ผิดแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและไลฟ์สไตล์ของคุณล้วนๆ เลย
    • ถ้าเลี้ยงแบบเปิดจะอันตรายกับแมวยังไง? ก็ต้องดูจากสภาพถนนหนทาง เชื้อโรคต่างๆ สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน มีแมวจรและสัตว์เลี้ยงบ้านอื่นเพ่นพ่านไหม ไปจนถึงเพื่อนบ้านที่เป็นคนด้วยกัน พวกนี้คือปัจจัยที่คุณต้องเก็บมาพิจารณา ถ้าเลือกเก็บแมวไว้ในบ้านเพราะกลัวทุกอย่างที่ว่ามา ก็จำลองสภาพแวดล้อมนอกบ้านมาไว้ในบ้านได้ เช่น หาแท่นหรือเสาลับเล็บ หน้าต่าง และอื่นๆ ให้แมวได้ข่วนได้ปีน [24]
  3. ส่วนใหญ่ถ้าเลี้ยงแมวแบบปิด ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมรอบบ้านมากนัก ปกติร่างกายแมวปรับตัวกำจัดหมัดได้ดีถ้าหมัดไม่เยอะเป็นพิเศษหรือไม่ได้เยอะจนเกินเหตุ เพราะงั้นให้เน้นกำจัดหมัดบริเวณที่แมวชอบไปขลุกอยู่
    • ในบ้าน : มาตรการสำคัญในการต้านหมัดก็คือการรักษาความสะอาด ให้ขนหมอน ผ้าห่ม และอื่นๆ ที่แมวนอนหรือชอบไปขลุกอยู่ไปซัก กำจัดให้หมดทั้งหมัด ไข่หมัด และตัวอ่อนหรือดักแด้ นอกจากนี้ก็อย่าลืมดูดฝุ่นทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะตามพรม ถ้าหมัดบุกพอประมาณไปจนถึงขั้นสุด ให้ใช้ fogger หรือเครื่องพ่นกำจัดแมลง แต่ต้องเน้นที่กำจัดหมัดและไข่หมัดได้ ระหว่างใช้ ทั้งคนและสัตว์ต้องหลบไปก่อน จนกว่าจะครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ที่ฉลาก เสร็จแล้วก็ต้องทำความสะอาดและดูดฝุ่นซ้ำ เพื่อกำจัดซากหมัด/ไข่หมัด และไม่ให้เหลือสารพิษหรือยาฆ่าแมลงตกค้าง [25]
    • ในสวน : กำจัดและควบคุมประชากรหมัดนอกบ้านนี่แหละโหดหิน ให้เริ่มจากเศษดินเศษหญ้าตามธรรมชาติ เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ เพราะอาจมีหมัดซ่อนอยู่ หมัดชอบซ่อนตัวตามที่มืดๆ ชื้นๆ แสงส่องไม่ถึง ให้ฉีดพ่นสเปรย์ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแถวนั้นตามคำแนะนำที่ฉลาก [26]
  4. หมั่นเก็บก้อนอึฉี่เป็นประจำ เพื่อป้องกันพยาธิแพร่พันธุ์ โดยสวมถุงมือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งและหน้ากากอนามัยด้วย จะได้ไม่เผลอสูดดมฝุ่นทรายแมวหรือฝุ่นอึแมวเข้าไป พอตักอึฉี่แล้วก็เอาใส่ถุงดำ จากนั้นใช้ทิชชู่และสเปรย์ฆ่าเชื้อสูตรธรรมชาติเช็ดทำความสะอาดด้านในของกระบะทราย นอกจากนี้ให้หมั่นล้างทำความสะอาดกระบะทรายด้วยน้ำกับน้ำยาล้างจาน แล้วเปลี่ยนทรายใหม่ทั้งกระบะ เวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ แล้วแต่ว่าแมวเยอะและใช้งานบ่อยแค่ไหน [27]
    โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • แมว
  • ผ้าห่ม ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัว
  • ยา
  • ขนมแมว

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 101,533 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา