ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ที่คนนิยมใช้เคาน์เตอร์หน้าหินควอทซ์ ก็เพราะสีและลายสวยตามธรรมชาติ ทนทาน แถมทำความสะอาดง่าย พอติดตั้งแล้วแค่เช็ดทำความสะอาด ก็สวยหรูดูแพงอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญคือต้องศึกษาไว้ว่าใช้วิธีไหนและผลิตภัณฑ์ไหนทำความสะอาดได้บ้าง อย่างการทำความสะอาดทั่วไป ให้ใช้น้ำยาล้างจานอ่อนๆ ผสมน้ำ กับฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆ ที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการใช้อะไรหยาบๆ ขัดแรงๆ รวมถึงน้ำยาที่กัดพื้นผิวเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้ผิวหน้าของหินควอทซ์ลอกหรือกร่อนได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เช็ดทำความสะอาดทั่วไปเวลาเปื้อน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เวลาจะทำความสะอาดหน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์ ก็ไม่ได้ใช้อะไรมากมาย แค่น้ำยาล้างจานอ่อนๆ ผสมน้ำอุ่น แนะนำให้ใช้น้ำยาล้างจานที่ไม่ผสมสารฝาดสมานหรือสารเคมีแรงๆ เพราะกัดกร่อนหินควอทซ์ได้ถ้าใช้เป็นประจำ
    • เรซิ่นที่ใช้เคลือบหินควอทซ์คือส่วนช่วยให้ฝุ่น สิ่งสกปรก คราบ และราต่างๆ ไม่เกาะหน้าเคาน์เตอร์ [1]
    • ถ้าใช้น้ำอุ่นจะทำความสะอาดขจัดคราบได้ดีกว่าน้ำเย็น
  2. เช็ดหน้าเคาน์เตอร์วนเป็นวงช้าๆ เท่านี้ก็ขจัดสิ่งสกปรกได้แบบไม่เปลืองแรง ถ้าเป็นคราบแห้งกรังหรือเหนียวติด ให้ลงน้ำยาเพิ่มได้
    • แนะนำให้เช็ดทำความสะอาดหน้าเคาน์เตอร์ทุกครั้งหลังทำอาหาร อบขนม หรือเตรียมวัตถุดิบที่เยอะหรือเลอะเป็นพิเศษ
  3. บิดผ้าหรือบีบน้ำในฟองน้ำทิ้ง แล้วชุบน้ำใหม่ จากนั้นเช็ดทำความสะอาดหน้าเคาน์เตอร์อีกรอบ เพื่อขจัดคราบน้ำยาที่เหลือ ถ้าหน้าเคาน์เตอร์ยังเปียก ให้เช็ดด้วยทิชชู่ แล้วผึ่งลมจนเคาน์เตอร์แห้งสนิท
    • ถ้าไม่ล้างดีๆ น้ำยาจะแห้งติดเป็นคราบได้
    • พอหน้าเคาน์เตอร์แห้งแล้ว ลองเอามือเปล่าลูบดูอีกที เพื่อเช็คว่าสะอาด ไม่เหลือคราบอาหารแล้ว
  4. ถ้าเป็นหินควอทซ์สำเร็จรูป จะไม่มีรูพรุน คราบเลยไม่ซึม ไม่ฝังลึก แต่ก็แนะนำให้รีบเช็ดทำความสะอาดทันทีที่อะไรกระเด็นหรือหกเลอะเทอะ อย่าทิ้งไว้จนแห้งกรังเป็นคราบ ไม่งั้นอาจต้องทำความสะอาดครั้งใหญ่หลายขั้นตอน [2]
    • ควอทซ์จะมีสีและลายตามธรรมชาติที่อาจทำให้คราบหรือสิ่งสกปรกหลงตาไปได้ถ้าไม่สังเกตดีๆ
    • แค่ทำความสะอาดตามขั้นตอนง่ายๆ ที่ว่ามา ก็ช่วยรักษาหน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์ให้สวยใหม่แบบนี้ไปอีกหลายปี
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ทำความสะอาดผิวหินควอทซ์แบบล้ำลึก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางทีก็อาจมีคราบแห้งกรัง จับเป็นก้อน เช็ดออกด้วยวิธีปกติอย่างน้ำผสมน้ำยาล้างจานไม่ได้ แบบนี้ให้ใช้เกรียงหรือไม้พายพลาสติกแซะคราบแข็งออก ถ้าฉีดพ่นน้ำอุ่นก่อนก็ดี เพราะคราบจะนิ่มลง แซะออกง่ายโดยไม่ต้องออกแรง
    • ให้ใช้ไม้พายหรือเกรียงที่เป็นพลาสติกบิดงอไปมาได้ (ห้ามใช้โลหะ) หรือใช้ฟองน้ำที่ไม่ขัดหยาบ ที่สำคัญคือห้ามกดหนักมือหรือแซะแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วนเล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ในภายหลังได้ [3]
    • เอาทิชชู่หนาๆ ชุบน้ำร้อนให้ชุ่ม แล้วเอามาโปะที่คราบแห้งกรังที่เลอะเป็นวงกว้าง
  2. ถ้าใช้ไปนานๆ เศษอาหารกับตะกรันของน้ำกระด้างจะเคลือบเป็นชั้นบนหน้าเคาน์เตอร์ได้ จนถ้าเช็ดธรรมดากลายเป็นทำให้สกปรกกินวงกว้างกว่าเดิม แบบนี้ให้ลองใช้น้ำส้มสายชูกลั่นขาวเล็กน้อยละลายคราบดู โดยผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำในสัดส่วนเท่ากัน เทใส่ขวด แล้วฉีดพ่นให้ทั่วหน้าเคาน์เตอร์ จากนั้นใช้ฟองน้ำนุ่มๆ เช็ดจนเงางาม
    • ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชูติดบ้าน ให้ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ในปริมาณเท่ากันแทน
    • น้ำส้มสายชูเป็นน้ำยาทำความสะอาดจากธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพดี แต่ข้อเสียคือกลิ่นฉุนแสบจมูก ถ้าผสมน้ำมะนาวหรือน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบไปสัก 2 - 3 หยด ก็จะช่วยให้หอมไปทั้งห้องได้
  3. ถ้าต้องรับมือกับคราบฝังแน่นหรือติดทนนานเป็นพิเศษ เช่น หมากฝรั่งแห้งกรัง คราบหมึกหรือกาว ให้ใช้น้ำมันสำหรับขจัดคราบโดยเฉพาะ เช่น Goo Gone โดยลงผลิตภัณฑ์เล็กน้อยที่หน้าเคาน์เตอร์ แล้วทิ้งไว้ 1 - 2 นาที ค่อยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดออกทั้งคราบและผลิตภัณฑ์
    • แอลกอฮอล์ล้างแผลธรรมดาก็ใช้ละลายสิ่งสกปรก (ที่ทำความสะอาดตามปกติไม่ได้) ได้ด้วย [4]
  4. ฉีดน้ำยาเช็ดกระจกที่หน้าเคาน์เตอร์เป็นระยะ. พอใช้เคาน์เตอร์หน้าหินควอทซ์ไปนานๆ เรซิ่นใสที่เคลือบไว้จะเริ่มขุ่นมัว ถ้าฉีดน้ำยาเช็ดกระจกสักหน่อย จะช่วยให้หายขุ่น ดูมันวาวขึ้นได้เหมือนขัดเงา แนะนำให้ทำเป็นประจำเดือนละครั้ง หรือทันทีที่สังเกตว่าหน้าเคาน์เตอร์มัวๆ ไม่เงางามเหมือนเคย [5]
    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีในบ้าน อย่าง Windex, Clorox Multi-Surface และ 3M Glass Cleaner ก็ใช้กับหน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์ได้
    • พอฉีดน้ำยาเช็ดกระจกแล้ว ให้เช็ดหน้าเคาน์เตอร์ด้วยผ้าหรือฟองน้ำ อย่าใช้ทิชชู่ จะได้ไม่เป็นขุย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ถนอมเคลือบผิวของหน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้ใช้น้ำยาและอุปกรณ์ที่ไม่ขัดหยาบไม่กัดกร่อน. ถึงควอทซ์จะทนทานพอตัว แต่ใช่ว่าจะไม่เป็นรอยเลยเวลาเจออะไรแรงๆ ถ้าเจออะไรที่ขัดหยาบหรือกัดกร่อน ก็เกิดรอยเล็กๆ ในเรซิ่นนิ่มๆ ได้ หรืออาจถึงชั้นหิน ซึ่งมักเป็นรอยถาวร ยิ่งถ้าเป็นสารเคมีกัดกร่อนแรงๆ อย่างน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาขัดเตาอบ ก็ทำให้พอง เป็นคราบ หรือสีด่างได้เลย เพราะงั้นเราต้องป้องกันไว้ก่อน พยายามใช้น้ำยาที่แน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อหินควอทซ์ เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน และน้ำส้มสายชู
    • ห้ามขัดหินควอทซ์ด้วยฝอยเหล็ก กระดาษทราย หินภูเขาไฟ (พัมมิส) หรือแปรงขนแข็งเด็ดขาด [6]
    • เวลาเตรียมอาหาร ให้หั่นวัตถุดิบบนเขียง อย่าหั่นบนหน้าเคาน์เตอร์โดยตรง เพราะอาจจะเกิดรอยขีดข่วนหรือกระเทาะได้
  2. หินควอทซ์ทนความร้อนมากๆ ไม่ได้ เพราะงั้นให้หาแผ่นรองทนความร้อน หรือขาตั้งโลหะมาวางรองภาชนะที่เพิ่งเอาออกมาจากเตาอบ ถ้าจะวางหม้อหรือกระทะร้อนๆ ให้วางบนเตาแทนหน้าเคาน์เตอร์
    • หินควอทซ์ส่วนใหญ่ทนความร้อนได้ไม่เกิน 150 - 200°C (300 - 400°F) ถ้าร้อนกว่านั้นอาจถึงขั้นร้าวกะทันหันหรือแตกเป็นรอยยาวได้ [7]
    • หน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์ไม่เหมาะจะใช้วางเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่แผ่ความร้อนสูงๆ เช่น เตาอบไฟฟ้า หรือหม้อหุงข้าวโลหะ
  3. หน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์เหมาะจะใช้ในบ้านเท่านั้น. ถ้าโดนแดดแรงๆ ตรงๆ หรือโดนความชื้น อุณหภูมิเพิ่ม-ลดไปมาเรื่อยๆ หินควอทซ์จะซีดจางหรือแตกร้าวได้ เลยเหมาะจะใช้ในครัวหรือในห้องน้ำมากกว่า ที่สำคัญคือถ้าอยู่กลางแจ้ง ทั้งคราบและสิ่งสกปรกจะเกาะผิวของหินควอทซ์ จนต้องทำความสะอาดบ่อยกว่าเดิม [8]
    • ถ้ากำลังหาเฟอร์นิเจอร์นอกบ้าน แนะนำให้เลือกที่ทำจากวัสดุอย่างสแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก และไม้กันน้ำ อย่างไม้สักหรือไม้สนซีดาร์จะดีกว่า [9]
    • แต่ถ้ายืนยันจะใช้เคาน์เตอร์หน้าหินควอทซ์กลางแจ้งจริงๆ (เช่น บาร์ริมสระว่ายน้ำ หรือชุดครัวที่ลานบ้าน) ก็ต้องมีอะไรกันแดดกันฝน เช่น กันสาด หรือชายคา เพื่อไม่ให้โดนฝนและรังสียูวีตรงๆ นานๆ [10]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • หินควอทซ์มีให้เลือกหลายเฉดสี หลายลาย และหลายสไตล์ด้วยกัน ก็พิจารณาตามความชอบและการใช้งานได้เลย
  • หน้าเคาน์เตอร์หินควอทซ์ควรติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตและประสบการณ์เท่านั้น
  • หินควอทซ์ธรรมชาติต้องมีการเคลือบ 1 - 2 ครั้งต่อปี เพื่อรักษาสภาพและความสวยงาม
โฆษณา

คำเตือน

  • ต้องระวังมากๆ ถ้าจะวางอะไรหนักๆ คมๆ หรือรูปทรงแปลกๆ บนเคาน์เตอร์หินควอทซ์
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • น้ำสะอาด
  • น้ำยาล้างจานอ่อนๆ
  • ฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆ
  • น้ำส้มสายชูกลั่นขาว
  • น้ำยาเช็ดกระจก
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะทาง
  • เกรียงพลาสติก
  • ขวดสำหรับฉีดพ่น

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,278 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา