PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าคุณอยากจะทำหนังดูสักเรื่อง มันช่างยากจะรู้ว่าต้องเริ่มที่ตรงไหน ไหนจะเรื่องหาช่างแต่งหน้า ทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แล้วคุณจะถ่ายทำฉากรถไล่ล่ากันอีท่าไหน อ่านเคล็ดลับบางอย่างถึงการเริ่มต้นทำหนังกับอุปกรณ์ที่จำเป็นแล้วเริ่มทำหนังเรื่องแรกของคุณกันเลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 5:

หาอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผู้กำกับอิสระหลายคนใช้กล้องราคาถูกถ่ายทำภาพยนตร์ที่ดูเหมือนมืออาชีพ กระนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ฟุตเทจหนังที่ดูแบบ "ทำเองที่บ้าน" นั้นต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับเนื้อหา แบบสามารถประยุกต์รูปแบบเข้ากับบทหนังได้อย่างกลมกลืน ลองตัดสินใจว่ากล้องแบบไหนที่คุณต้องการและแบบไหนที่คุณสามารถหาซื้อได้ พวกมันมีราคาตั้งแต่ไม่กี่พันไปยันหลักแสน ถ้าคุณมีกล้องวิดีโอราคาถูกอยู่กับตัวอยู่แล้ว ไม่ลองนึกบทภาพยนตร์ที่เหมาะกับการใช้ลุคเหมือนหนังทำเองดูล่ะ
    • ในช่วงราคา 5,000-10,000 บาทนั้น คุณสามารถหาซื้อกล้องถ่ายวิดีโอที่วางขายทั่วไปได้หลายยี่ห้อเลยเชียว บริษัทอย่าง JVC, Canon, และ Panasonic มีกล้องราคาไม่แพงที่พกพาสะดวก ใช้งานง่าย แถมยังดูดี แม้แต่พวกโทรศัพท์ iPhone, iPad หรือ iPod touch ก็ใช้งานได้เพราะมันถ่ายโอนวิดีโอที่อัดเอาไว้ในเครื่องไปยังโปรแกรม iMovie ได้โดยง่าย อุปกรณ์ IOS นี้มีกล้องที่คุณภาพสูงเกินตัว และในเมื่อคนส่วนใหญ่ต่างมีโทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงๆ เลย จริงไหม คุณยังสามารถติดอุปกรณ์ช่วยกับกล้องถ่ายภาพของ iPhone ด้วยอย่าง Ollo clip ในราคาประมาณ 2,000-3,500 บาทแล้วได้เลนส์มาถึงสี่ตัวสี่แบบ กล้องราคาถูกสามารถถ่ายออกมาดูแจ๋ว อย่างหนังเรื่อง "The Blair Witch Project" นั่นกระไร ถ่ายด้วยกล้องวิดีโอ RCA ที่ซื้อจากร้านในราคาแสนถูก
    • ในช่วงราคา 20,000-35,000 บาท คุณจะได้กล้องยี่ห้อ Panasonic กับ Sony รุ่นที่ใช้ได้แบบเคยถูกใช้ถ่ายหนังอย่าง "Open Water" และสารคดีอีกหลายต่อหลายเรื่อง ถ้าคุณกะจะเอาจริงในการทำหนัง และตั้งใจจะทำมากกว่าแค่เรื่องเดียว ลองคิดที่จะทุ่มซื้อกล้องแบบนี้ดู
    • บน iPad, iPhone, iPod touch หรือ Macbook นั้นมีแอปที่ชื่อ iMovie (175 บาทสำหรับเวอร์ชั่น IOS) มันช่วยให้คุณทำหนังง่ายๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังดูแบบมืออาชีพ
  2. เว้นเสียแต่คุณจะใช้วิธีเอาเร็วและชุ่ยเข้าว่าแบบตัดต่อด้วยกล้องในตอนถ่ายเลย ซึ่งจะต้องถ่ายทุกอย่างเรียงตามลำดับแถมต้องถ่ายทุกเทคออกมาดีเลย (ซึ่งโคตรกินเวลา) คุณจำต้องย้ายฟุตเทจที่ถ่ายเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เครื่องแม็คมี iMovie ส่วนเครื่องพีซีก็มี Windows Movie Maker อันเป็นซอฟต์แวร์ตัดต่อหนังพื้นฐานที่จะให้คุณตัดต่อฟุตเทจที่ถ่ายเข้าด้วยกัน มิกซ์เสียงเข้าไป และกระทั่งใส่เครดิตทีมงาน
    • คุณสามารถอัพเกรดซอฟต์แวร์ที่ใช้ให้ซับซ้อนและเป็นมืออาชีพขึ้นเช่น Video Edit Magic หรือ Avid FreeDV [1] ถ้าหาโปรแกรมสองตัวนี้ไม่ได้ ก็มีอีกสองโปรแกรมที่ฟรีแต่มีเครื่องมือระดับมืออาชีพให้ใช้ นั่นคือ Open Shot กับ Light Works ซึ่งคุณนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใด
  3. จะถ่ายหนังอวกาศนอกโลกในห้องนอนดูจะลำบากไปสักหน่อย ไม่แพ้การคิดจะถ่ายหนังตีแผ่สังคมแมงดากันในห้างสรรพสินค้า ดูสถานที่ซึ่งคุณพอจะถ่ายได้เสียก่อน แล้วค่อยลองคิดเรื่องที่อาจงอกเงยขึ้นมาจากสถานที่แห่งนั้น หนังเรื่อง "Clerks" วนเวียนอยู่กับเรื่องราวของกลุ่มคนผู้ไม่แยแสชีวิตที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อและสังสรรค์ฆ่าเวลากันอยู่ในนั้น ถ้าปราศจากการได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในร้านสะดวกซื้อที่ว่า มันคงกลายเป็นหนังถ่ายยากน่าดู
    • บริษัทกับร้านอาหารมักลังเลใจที่จะยอมให้นักทำหนังสมัครเล่นเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำ แต่คุณจะขออนุญาติไปก็ไม่เสียหลาย บ่อยครั้งที่คนเราจะตื่นเต้นอยากเข้ามามีส่วนร่วม
  4. อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง แต่ปกติการสร้างหนังจะต้องใช้คนจำนวนมากที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันทำตามเป้าหมาย นั่นคือได้ภาพยนตร์ที่คู่ควรแก่การนำเสนอ คุณจำเป็นต้องหาคนมาแสดงและช่วยในการทำ ลองชักชวนเพื่อนๆ มาทดสอบบท หรือลงถามในเฟสบุ๊คหรือเครกลิสต์เพื่อจะได้คนที่สนใจในโครงการของคุณ ถ้าคุณไม่สามารถจ่ายค่าแรงไหว ก็ต้องบอกให้ชัดเจนตั้งแต่แรก
    • ถ้าคุณอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ลองทำแผ่นพับหรือประกาศไปติดในภาควิชากรแสดงเพื่อดูว่าจะมีนักศึกษาที่สนใจบ้างไหม คุณจะต้องประหลาดใจแน่ๆ ที่ได้เห็นว่าพวกเขาตื่นเต้นแค่ไหนที่จะได้เข้าร่วมโครงการแบบนี้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 5:

เขียนบท

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เพราะภาพยนตร์ส่วนใหญ่คือเรื่องราวที่เล่าด้วยภาพเป็นสำคัญ ขั้นตอนแรกจึงเป็นการหาไอเดียที่คุณอยากทำออกมาเป็นหนัง อะไรที่คุณต้องเห็นถึงจะเชื่อ คุณไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดแทบทั้งหมดในขั้นตอนนี้ แต่ควรจะมีไอเดียหลักของเรื่อง
    • นึกถึงหนังเรื่องโปรด หรือหนังสือที่ชอบอ่าน แล้วลองคิดว่าอะไรที่ทำให้มันน่าสนใจ เป็นแคแรกเตอร์ตัวละคร ฉากบู๊ ภาพ หรือแก่นเรื่องหลัก ไม่ว่าจะเป็นอะไร ให้จดจำองค์ประกอบนั้นไว้ในระหว่างที่คุณวางแผนจะสร้างหนัง
    • แจกแจงข้าวของประกอบฉากทั้งหมด สถานที่ถ่ายทำ และนักแสดงที่มีอยู่ทั้งหมดแล้วพัฒนาหนังขึ้นมาจากตรงนี้ ยังคงบันทึกความฝัน ความฝันก็ไม่ต่างจากภาพยนตร์ตรงที่เป็นการฝันเฟื่องและเป็นเรื่องที่เล่าด้วยภาพเหมือนกัน พกบันทึกติดตัวเพื่อจดไอเดียที่ผุดขึ้นมา อ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ สร้างไอเดียหลักที่จะเป็นพื้นฐานแล้วขัดเกลามัน ตีวงเรื่องราวให้แคบลงในระหว่างการเขียนบท
  2. ส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อเรื่องจากไอเดียของคุณอยู่ที่แคแรกเตอร์ ใครตือตัวเอก ตัวเอกต้องการอะไร มีอะไรมาเป็นอุปสรรค มีอะไรมาทำให้เขาเปลี่ยนไป ถ้าคุณตอบคำถามทั้งหมดนี้ได้ คุณกำลังจะได้เรื่องราวที่ดีแล้ว
    • กล่าวกันว่าทุกเรื่องเล่ามีแนวคิดพื้นฐานหนึ่งในสองอย่างนี้: คนแปลกหน้าเข้ามาแล้วทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม หรือตัวเอกต้องอำลาออกเดินทาง
    • ให้แน่ใจว่าเรื่องของคุณมีจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นการแนะนำฉากและตัวละคร มีกลางเรื่องที่ซึ่งเริ่มเกิดความขัดแย้ง และตอนจบที่ความขัดแย้งนั้นได้รับการคลี่คลาย
  3. บทภาพยนตร์จะแบ่งทุกช่วงเวลาของเรื่องออกมาเป็นฉากเดี่ยวๆ ที่สามารถถ่ายทำได้ ในขณะที่มันอาจดูน่าลองที่จะแต่งหน้าทำผมแล้วเริ่มต้นถ่ายทำทุกฉากตามบท แต่คุณจะสบายกว่าถ้าวางแผนทุกอย่างก่อนลงมือและคิดถึงหนังของคุณแบบฉากต่อฉาก
    • บทภาพยนตร์จะบรรยายบทสนทนาทั้งหมด แจกแจงตัวละครแต่ละตัว ตามด้วยทิศทางการเคลื่อนไหว ท่าทางที่แสดงออก และการเคลื่อนที่ของกล้อง แต่ละฉากควรเริ่มต้นด้วยการอธิบายฉากนั้นๆ (เป็นต้นว่า ฉากภายในบ้าน เวลากลางคืน)
    • คิดแบบประหยัดระหว่างที่เขียนบท แทนที่จะเขียนบทให้มีฉากขับรถไล่ล่าระดับอภิมหาวินาศสันตะโร 30 นาที ก็ให้ตัดฉับไปที่ผลหลังจากนั้น บางทีอาจให้ตัวเอกนอนแซ่วอยู่บนเตียงโดยมีผ้าพันแผลเต็มไปหมดแล้วรำพึงขึ้นว่า "เกิดอะไรขึ้นเนี่ย?"
  4. สตอรี่บอร์ดก็คือหนังของคุณในแบบคล้ายการ์ตูน แต่ไม่มีบอลลูนบทพูดเท่านั้น ซึ่งจะทำแบบคร่าวๆ คือวาดเฉพาะฉากสำคัญหรือการเปลี่ยนฉากที่สำคัญ หรือถ้าคุณมีเรื่องราวที่เน้นด้านภาพมาก ก็อาจทำแบบละเอียด วางแผนทุกช็อตและมุมกล้องก็ได้
    • กระบวนการนี้ทำให้หนังเรื่องยาวดำเนินไปได้ไม่สะดุด และจะช่วยคุณคาดการณ์ฉากยากๆ หรือฉากยาวต่อเนื่องในหนังได้ คุณสามารถลองถ่ายทำโดยไม่พึ่งสตอรี่บอร์ด แต่อย่าลืมว่าไม่เพียงแต่มันช่วยคุณทำความคิดในหัวออกมาเป็นภาพแล้ว มันยังช่วยให้คุณอธิบายภาพที่วาดเอาไว้ให้ลูกทีมคนอื่นเข้าใจด้วย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 5:

คิดเป็นภาพ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เพราะภาพยนตร์คือภาพ จึงเป็นความคิดที่ดีที่จะใช้เวลาสักหน่อยกับ "หน้าตาและความรู้สึก" ของหนังเรื่องนั้น ลองดูตัวอย่างจากหนังสองเรื่องนี้: Matrix ด้วยการใช้โทนสีเขียวเหลืองคุมไปตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งช่วยขับเน้นความรู้สึกของการถูก “ทำให้กลายเป็นดิจิตัล” ส่วนเรื่อง A Scanner Darkly โดยริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์นั้นใช้วิธีถ่ายทำแล้วค่อยวาดภาพทับแบบเทคนิคที่เรียกว่าโรโตสโคป ทำให้ได้ภาพการ์ตูนเสมือนจริงที่โดดเด่นและชวนจดจำ นี่คือตัวอย่างด้านอื่นๆ ที่สมควรเก็บไปพิจารณา
  2. คุณต้องการให้หนังออกมาแบบมุมกล้องไหลลื่นตัดต่อเนียนตา หรือว่าเป็นแนวถือกล้องถ่ายหยาบๆ แต่สมจริง. จะรวมกันทั้งสองแบบก็ได้ ดูอย่างเรื่อง Melancholia ของลาร์ส ฟอนเทรียร์ ฉากเปิดเรื่องถูกถ่ายทำด้วยกล้องถ่ายแบบความเร็วสูง ทำให้ได้ภาพเคลื่อนไหวช้าที่ดูเลื่อนลอยแต่สวยงาม ที่เหลือของหนังส่วนใหญ่ถ่ายด้วยกล้องแบบมือถือ หรือ “กล้องภาพสั่น” เป็นการวางโทนให้กับความขัดแย้งในด้านอารมณ์และจิตวิญญาณที่กระเพื่อมอยู่ตลอดเรื่อง
  3. คุณต้องการให้ฉากในหนังดูเป็นอย่างไร คุณจะถ่ายทำตามสถานที่จริง หรืออยากจะสร้างฉากขึ้นมา ความอลังการของหนังฟอร์มยักษ์ในยุค ‘60 กับ ’70 นั้นพึ่งพาการถ่ายทำธรรมชาติมุมกว้างบวกกับการสร้างฉากในโรงถ่าย ฉากของเรื่อง The Shining ถ่ายทำที่สกีรีสอร์ทในรัฐโอเรกอน ส่วนเรื่อง Dogville นั้นถ่ายทำบนเวทีโล่งๆ โดยมีฉากที่ทำเหมือนว่าเป็นบ้านเรือนมาประกอบเท่านั้น
    • ภาพยนตร์ต้องพึ่งเครื่องแต่งกายอย่างมากในการสื่อลักษณะนิสัยสำคัญของตัวละครให้ผู้ชมได้ทราบ "Men in Black" เป็นตัวอย่างที่ดี
  4. หนังบางเรื่องใช้แสงนุ่มนวลชวนฝันซึ่งทำให้ดาราหรือฉากดูดึงดูดสายตา และหนังทั้งเรื่องดูราวความฝัน บางเรื่องเลือกการจัดแสงที่ดูคล้ายความเป็นจริง และบางคนอาจแหวกแนวโดยการจัดแสงให้แข็งจนเหมือนดูบาดตา ลองดูเรื่อง Domino ที่แสดงโดยเคียร่า ไนท์ลี่ย์เป็นตัวอย่าง
  5. ถ้าคุณจะถ่ายทำตามสถานที่จริง หาสถานที่ที่คุณต้องการและให้แน่ใจว่ามันสามารถถ่ายทำได้ ถ้าคุณจะสร้างฉาก ให้เริ่มสร้างและ "ตกแต่ง" (หรือเติมอุปกรณ์ประดับฉาก)
    • ถ้าเป็นไปได้ การใช้สถานที่ถ่ายทำจริงน่าจะง่ายกว่า การใช้ฉากเขียวเพื่อไปซ้อนภาพนั้นบางทีก็ดูไม่สมจริงในฉากบางฉาก แต่คุณสามารถใช้ในฉากที่คุณต้องการได้ การไปถ่ายในร้านอาหารย่อมง่ายกว่าการสร้างฉากร้านอาหารขึ้นมาเอง
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 5:

คัดหาทีมงาน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผู้กำกับจะควบคุมด้านที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของหนัง และเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างทีมงานถ่ายทำกับทีมนักแสดง ถ้าคุณมีไอเดียทำหนังและรู้แน่ชัดว่ามันควรมีหน้าตากับอารมณ์แบบไหน คงปลอดภัยกว่าถ้าคุณจะลงมือสวมบทผู้กำกับเสียเอง แต่ถ้าคุณไม่ถนัดในการกำกับผู้คนและไม่ค่อยสะดวกใจกับการคอยสั่งคนรอบข้าง คุณอาจกำกับโดยวิธีแบบอื่นหรือจ้างใครมาสร้างแทน แล้วคุณผันตัวไปเป็นคนเลือกทีมงานหลัก ดูภาพรวมของการถ่ายทำและเสนอความคิดตามที่คุณเห็นเหมาะสม
  2. ตำแหน่งนี้จะรับผิดชอบในเรื่องการจัดแสงและการถ่ายทำให้ดูราบรื่น เช่นเดียวกับการร่วมกับผู้กำกับตัดสินว่าจะล้อมกรอบ จัดแสง และถ่ายแต่ละฉากอย่างไรถ้าเป็นหนังฟอร์มเล็ก เขาจะเป็นคนควบคุมทีมกล้องกับทีมจัดแสง และเป็นตากล้องไปในตัวด้วย
  3. คนผู้นี้จะคอยดูแลว่าฉากตอบสนองภาพในความคิดของผู้กำกับหรือไม่ เขายังต้องเชี่ยวชาญในด้านการหาของประกอบฉากด้วย (รับผิดชอบของทุกชิ้นที่ปรากฎในฉากนั้นๆ)
    • เครื่องแต่งกาย ผม กับการแต่งหน้าอาจเป็นความรับผิดชอบของคนเดียวในกองถ่ายขนาดเล็กมาก ในทีมงานที่ใหญ่นั้นคนผู้นี้จะเลือก (หรือกระทั่งลงมือตัดเย็บ) ชุดทุกชุดในหนัง ในทีมงานเล็กกว่านั้นตำแหน่งนี้มักจะถูกนำไปรวมกับงานอื่น
  4. ช่างเสียงอาจเป็นแค่คนเดียวหรือมากกว่านั้น บทสนทนาจำเป็นต้องอัดเสียงกันในตอนถ่าย หรือมาพากษ์ใส่เสียงในภายหลัง ส่วนซาวด์เอฟเฟกต์อย่างเสียงปืนหรือระเบิดนั้นทั้งหมดจะต้องถูกสร้างขึ้น ด้านดนตรีก็ต้องหาคนแต่ง บันทึกเสียงและมิกซ์เข้ากับหนัง และการทำเสียงโฟเลย์ (เสียงฝีเท้า เสียงเสียดสีของหนังสัตว์ เสียงจานแตก เสียงปิดประตู) ทั้งหมดล้วนจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา เสียงยังต้องผ่านการผสม ตัดต่อ และใส่ให้ตรงกับภาพในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ และจำไว้ว่าดนตรีไม่จำเป็นต้องมีเสียงดังมาก มันสามารถเบาในฉากที่เงียบๆ จนถึงจุดที่ผู้ชมไม่ได้รู้สึกถึงมันว่ากำลังช่วยทำให้มีอารมณ์ร่วมไปกับหนัง
  5. คนในชุมชนละแวกนั้นอาจอยากแสดงให้เพื่อแลกกับการได้เห็นชื่อในเครดิตของภาพยนตร์ทุนต่ำ แน่ละ การได้ดาราที่มีชื่อมาแสดงย่อมเป็นประโยชน์มากกว่า แต่การเรียนรู้ที่จะเล่นกับจุดแข็งของนักแสดงที่คุณมีจะเป็นการสร้างความมั่นใจได้ดีว่าคุณได้งานที่มีคุณภาพ ถ้าคุณต้องการหาคนรับบทตำรวจในเรื่อง ไม่ลองโทรถามตำรวจจริงดูล่ะ อาจมีบางคนยอมปลีกเวลาออกมาแสดงหลังออกเวรได้สักฉากสองฉาก แค่ให้แน่ใจว่าตามบทไม่ได้มีอะไรไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ผิดกฎหมายในระหว่างที่มีตำรวจอยู่ด้วย ถ้าอยากได้คนรับบทศาสตราจารย์ ลองติดต่อทางโรงเรียนดู [2]
    • ทดสอบขีดความสามารถของนักแสดง ถ้าตามบทต้องมีตัวแสดงร้องไห้ในฉากเศร้า ให้แน่ใจว่าเขาทำได้จริงก่อนจะทำการเซ็นสัญญาใดๆ
    • ทดสอบขีดความสามารถของนักแสดง ถ้าตามบทต้องมีตัวแสดงร้องไห้ในฉากเศร้า ให้แน่ใจว่าเขาทำได้จริงก่อนจะทำการเซ็นสัญญาใดๆ
    • ระมัดระวังฉากบู๊ที่อาจทำนักแสดงบาดเจ็บได้
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 5:

การถ่ายทำและการตัดต่อ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. อย่างน้อยที่สุด คุณก็ต้องมีกล้องถ่ายวิดีโอสักตัว คุณอาจต้องการขาตั้งกล้องไว้สำหรับถ่ายช็อตนิ่งๆ อุปกรณ์ไฟ และอุปกรณ์ด้านเสียง
    • การถ่าย "ทดสอบหน้ากล้อง" สักหน่อยก็เป็นความคิดที่ดี มันจะทำให้นักแสดงในเรื่องมีโอกาสได้ฝึกซ้อมบทในระหว่างถ่ายทำ และให้ทีมงานได้มีโอกาสร่วมทำงานกับทีมนักแสดง
  2. บันทึกไว้ว่า "เทค" ไหนเป็นเทคที่ดีที่สุดของแต่ละฉาก เพื่อช่วยให้ตัดต่อสะดวกขึ้นในภายหลัง ถ้าคุณต้องมานั่งควานหาเทคที่จะใช้ท่ามกลางเทคที่ผิดพลาดหรือเทคแย่ๆ ทุกครั้ง รับรองได้ว่ากระบวนการตัดต่อจะกลายเป็นนรก
    • ให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจตรงกันในตอนเริ่มต้นของการถ่ายทำแต่ละฉากในแต่ละวัน กว่าจะนัดหมายทีมงานถ่ายทำ ทีมนักแสดงและสถานที่ได้พร้อมในคราวเดียวนั้นกินเวลาน่าดู ฉะนั้นมันอาจช่วยได้ถ้าลองเขียนแผนงานคร่าวๆ แล้วแจกจ่ายให้ทุกคนได้อ่านตอนเริ่มทำงาน
  3. การตัดสินใจของคุณจะส่งผลในความแตกต่างระหว่าง "หนังถ่ายเองที่บ้าน" หรือหนังที่ออกมาแบบมืออาชีพ
    • บางคนแนะนำให้ถ่ายหลายๆ เทคจากหลายๆ มุมกล้องเพราะสุดท้ายมันจะดูน่าสนใจกว่า ทำให้ตอนตัดต่อมีตัวเลือกหลากหลาย ตามกฎโดยทั่วไปแล้ว ผู้กำกับหนังมืออาชีพจะถ่ายแต่ละฉากในแบบภาพมุมกว้าง ภาพระยะกลาง และภาพโคลสอัพองค์ประกอบที่สำคัญของฉากๆ นั้น
  4. นำฟุตเทจที่ถ่ายมาเข้าคอมพิวเตอร์ อัพโหลดไฟล์ แล้วหาว่าช็อตไหนที่ใช้ได้ นำทั้งหมดที่เลือกมาตัดหยาบๆ เข้าด้วยกัน วิธีที่คุณตัดต่อจะมีผลกระทบต่อหน้าตาและอารมณ์ของหนังในท้ายที่สุด
    • การใช้วิธีตัดต่อแบบจัมป์คัทจะดึงความสนใจของผู้ชมและกำหนดโทนสำหรับหนังแนวแอคชั่น แต่ช็อตที่ถ่ายช้าๆ ยาวๆ ก็มีผลกระทบที่ทรงพลังเหมือนกัน แต่ถ้าทำไม่ดีก็จะดูน่าเบื่อไปเลย ลองนึกถึงฉากเปิดเรื่องของหนัง The Good, the Bad, and the Ugly ดู
    • คุณยังสามารถตัดต่อไปตามดนตรี ซึ่งเป็นวิธีการตัดต่อที่รวดเร็วและได้ผลดี คุณยังสามารถตัดต่อตามดนตรีในช่วงที่นิ่งช้าก็ได้ โดยการเลือกดนตรีที่ให้อารมณ์ตามอย่างที่ต้องการ
    • การตัดต่อหลายๆ มุมกล้องจะช่วยแสดงเรื่องราวหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในฉากเดียวกัน ใช้เครื่องมือตัดต่อแยกหรือตัดเพื่อสร้างจอย่อยจากช็อตที่แตกต่างกัน จากนั้นก็ผสมผสานมันให้เข้ากัน คุณจะคุ้นชินกับวิธีนี้ได้โดยเร็ว และด้วยการทำหนังแบบดิจิตัล คุณทำอะไรพลาดไปก็แค่กดยกเลิก
  5. ให้แน่ใจว่าดนตรีนั้นไปด้วยกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังตอนนั้น และเสียงที่คุณอัดมาในระหว่างถ่ายทำนั้นดังชัดเจน ทำการบันทึกเสียงใหม่ในส่วนที่จำเป็น
    • จำไว้ว่าถ้าคุณวางแผนจะจัดจำหน่ายหนังโดยใช้ดนตรีตามที่มีอยู่แล้วนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นทางที่ดีควรทำดนตรีเพื่อหนังโดยเฉพาะ ไม่ต้องห่วงเพราะมีนักดนตรีที่เชี่ยวชาญมากมายที่อยากจะลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่แล้ว
  6. คุณต้องการรายชื่อนักแสดงและทีมงานถ่ายทำทั้งหมดไว้ในตอนท้ายเรื่อง คุณยังอาจรวมรายชื่อองค์กรต่างๆ ที่ต้อง "ขอบคุณ” ที่ให้ความร่วมมือในการสร้างหนังเรื่องนี้ ทางที่ดีควรทำให้มันเรียบง่าย
  7. ทำทีสเซอร์หรือตัวอย่าง ถ้าคุณอยากโปรโมททางออนไลน์หรือในโรงภาพยนตร์ ให้เลือกบางส่วนของหนังทำเป็นหนังตัวอย่าง อย่าบอกบทให้คนดูรู้มากจนเกินไป แต่พยายามจับความสนใจของผู้ชมให้ได้
    • และอย่าลืมอัพโหลดหนังของคุณลงใน YouTube หรือ Vimeo หรือถ้าหากหนังของคุณได้รับการตอบสนองให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ก็อย่าอัพโหลดลง YouTube เพราะจะกลายเป็นไม่ทำเงินแทน แค่อัพโหลดตัวอย่างก็น่าจะพอ และอย่าลืมโฆษณาที่อื่นนอกเหนือจากใน YouTube ด้วย!
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เสียงกับแสงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เสียงที่ดี (เข้าใจในสิ่งที่ตัวละครพูดได้ง่ายโดยไม่ได้ยินเสียงหายใจของตากล้องเล็ดลอดเข้ามา หรือเสียงบนท้องถนน เป็นต้น) นั้นสำคัญ ส่วนการจัดแสงที่ดีก็ทำให้หนังมันน่าดูขึ้น "แสงราคาถูก" ที่ยอดเยี่ยมก็อย่างเช่น: แสงยามสลัวหรือเช้ามืด วันที่หมอกลงหรืออากาศอึมครึม และในที่ร่ม (แต่เฉพาะเมื่อมีแบ็คกราวนด์ที่เข้มกว่า) แผ่นกระดาษโปสเตอร์สีขาวหรือแผ่นกระดาษฟอยล์สามารถใช้สะท้อนแสงสาดเข้าไปด้านที่เป็นเงาของใบหน้าได้ สำหรับการถ่ายทำตอนกลางคืนให้ใช้ไฟทำงาน
  • ถ้าคุณไม่มีอุปกรณ์ไฟที่ดี ลองใช้แฟลชของกล้องก็ได้ ถ้าจะทำให้ดีขึ้นก็ให้หันกล้องไปที่ผนังสีขาวเพื่อแสงจะสามารถสะท้อนกลับและทำให้เงาในฉากนั้นดูนุ่มนวลขึ้น
  • คุณไม่จำเป็นต้องวางแผนทุกรายละเอียดของหนัง แค่รู้เนื้อเรื่องกับบทสนทนา และอะไรเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย การดั้นสดบางทีก็ทำให้หนังดูสมจริงขึ้นและมีความสดใหม่ ถ้านักแสดงทำหน้าที่ได้ดี
  • หาทางทำให้หนังของคุณดูโดดเด่นและมีลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นที่เรื่องราวที่เหนือความคาดหมาย หรือการถ่ายภาพที่ไม่เหมือนใคร ให้แน่ใจว่าผู้ชมไม่รู้สึกว่าหนังของคุณมันซ้ำกับหนังเรื่องอื่น!
  • ให้แน่ใจว่าได้ทำตามกฎการสร้างภาพยนตร์พื้นฐาน อย่างเช่น กฎการแบ่งสาม (นึกภาพจอหนังแบ่งเป็นสามส่วนในแนวยาว ให้มีจุดโฟกัสหรือตัวละครสำคัญในฉากอยู่ในส่วนที่สามที่ห่างที่สุด) จะทำให้มันดูน่าสนใจขึ้น ไม่ค่อยเห็นหรอกที่ตัวละครจะอยู่ตรงกลางจอพอดี มันจะทำให้หนังของคุณดูเป็นมืออาชีพขึ้น
  • ดูหนังเยอะๆ ด้วยสายตาเยี่ยงนักวิจารณ์ แต่ไม่ใช่เอาแต่จับผิดการแสดงหรือการกำกับ แต่ให้เข้าใจในโทน สไตล์ วิธีการใช้เสียง วิธีการจัดแสง มองหาข้อผิดพลาดด้วย: สำหรับผู้กำกับมือใหม่แล้ว มันจะทำให้เรากระจ่างเข้าใจมากขึ้น เวลาดูหนังที่บ้านจนจบ เอาชื่อหนังเรื่องนั้นไปเข้าเว็บ IMDB ทางด้านล่างจะมีส่วนที่มีชื่อว่า "Did You Know?" ซึ่งตรงนั้นจะเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กน้อยและข้อผิดพลาดสำหรับหนังและรายการทีวีเกือบทุกเรื่องที่มีข้อมูลในนั้น
  • เวลาทำหนังเสร็จ แบ่งปันให้โลกได้เห็น ถ้ามันเป็นหนังจริงจัง พาไปเปิดตัวตามเทศกาลหนังที่ซึ่งอาจมีคนสนใจซื้อ ถ้าหากมันเป็นงานสเกลเล็กแบบเบาๆ ลองเปิดให้ดูฟรีในอินเทอร์เน็ต พวกมันล้วนเป็นเส้นทางนำไปสู่ความมีชื่อเสียงได้
  • ถ้าคุณถ่ายทำสารคดี คุณอาจไม่จำเป็นต้องเสียเวลาพัฒนาบทหรือทำสตอรี่บอร์ด ให้คิดหาไอเดียแทน ตั้งเป้าหมายที่จะถ่ายทำ เช่น อะไรเป็นจุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้ อะไรจะดึงดูดผู้ชม คุณอยากจะเสนอมุมมองใหม่ด้านไหน ตั้งเป้าเก็บฟุตเทจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเน้นไปที่การตัดต่อกับกระบวนการหลังการถ่ายทำอื่นๆ (เช่น เพิ่มดนตรีเข้าไป)
  • เป็นความคิดที่ดีถ้าจะเก็บบันทึกที่เต็มไปด้วยไอเดียเพื่อคุณจะกลับมาย้อนมองและไตร่ตรองกับมัน
  • อย่าใช้เพลงจากหนังเรื่องอื่น เพราะคุณอาจขโมยบางส่วนของหนังเรื่องนั้นมาด้วย ใช้เพลงที่คุณแต่งขึ้นมาเอง
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าขโมยความคิดในระหว่างเขียนบท ให้แน่ใจว่าความคิดทุกอย่างเป็นของคุณเองและมีความเป็นต้นฉบับเท่าที่จะทำได้ คุณไม่ได้มีงบมากมายเหมือนฮอลลีวูด ฉะนั้นหนทางเดียวที่คุณจะโดดเด่นออกมาได้ก็ต้องอยู่ที่ความไม่เหมือนใคร
  • หากการถ่ายทำในสถานที่จริงที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ เช่นในร้านอาหาร ให้ขออนุญาติกับทางเจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านเสียก่อน เพื่อความมั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย จะได้ทำตามกระบวนการต่างๆ ที่ถูกต้องได้ และเพื่อเลี่ยงความล่าช้าหรือปัญหาที่อาจเกิดกับการถ่ายทำ ควรทำการขออนุญาติเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อจะได้ไม่มีข้อกังขาในภายหลัง
  • การถ่ายภาพยนตร์อนาจารเด็กเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้น นักแสดงที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถจะแสดงในบทบาทเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์บนจอได้
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • บทภาพยนตร์
  • สตอรี่บอร์ด
  • ทีมงาน
  • นักแสดง
  • อุปกรณ์ทางเทคนิค
  • สถานที่ถ่ายทำ
  • เงินทุน
  • ผู้กำกับ
  • อุปกรณ์ประกอบฉาก
  • โปรแกรมตัดต่อบนโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์
  • กล้องถ่ายหนังหลายๆ ตัว (แนะนำ)

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 31,858 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา