ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

น้องหมามักเอาขาหลังเกาหูแกรกๆ เป็นปกติ แต่ถ้าคุณเห็นมันเกาบ่อยเกินงามหรือท่าทางรำคาญว่ามีอะไรระคายเคืองหู คงถึงเวลาขอสำรวจหูหาสาเหตุกันหน่อย พอรู้แน่แล้วว่าน้องหมาคันหูเพราะอะไร ก็พิจารณาหาวิธีรักษาต่อไปโดยแก้ที่ต้นเหตุ อาการคันหูของน้องหมาส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อปรสิต (parasitic infection) หูติดเชื้อ (ear infections ไม่ว่าจะเพราะแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ตาม) รวมถึงมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไป (เช่น เศษไม้ใบหญ้าทั้งหลาย)

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

แก้คันแบบทันใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าน้องหมาเกาหูแกรกๆ แทบจะตลอดเวลา รีบพาไปตรวจหูจะดีกว่า คุณหมอจะใช้กล้องส่องตรวจหู (otoscope) เพื่อเช็คสภาพในรูหูและดูว่าแก้วหู (eardrum หรือ tympanum) ยังปกติดีไม่ฉีกขาด นอกจากนี้คุณหมออาจตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมด้วย เช่น เอาสำลีพันก้านป้ายเก็บตัวอย่างจากหูไปตรวจสอบว่ามีอาการติดเชื้อหรือเปล่า
    • ถ้าน้องหมาเจ็บปวดจนคุณหมอตรวจได้ยากลำบาก ก็อาจต้องมีการวางยาสลบกันเพื่อตรวจและทำความสะอาดหู แบบนี้คุณหมอจะตรวจได้ลึกถึงแก้วหู และทายาที่จะซึมผ่านผิวหนังให้ด้วย
    • ห้ามหยอดยาทายาให้น้องหมาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะถ้าแก้วหูฉีกขาดอยู่ ยาที่ใช้อาจไหลลึกไปถึงหูชั้นกลางและชั้นใน จนหมามีปัญหาการทรงตัวและการได้ยินแบบถาวร (ดีไม่ดีหูจะหนวกเอาด้วย)
  2. บางคนเขาก็แนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหย (essential oil) บรรเทาอาการอักเสบหรือติดเชื้อที่ผิวหนัง แต่จริงๆ แล้วมันมีสาร terpenes ผสมอยู่ ซึ่งเป็นพิษกับน้องหมา [1] น้ำมันทีทรีจะไม่อันตรายต่อสัตว์ก็ต่อเมื่อคุณเจือจางลงให้เหลือแค่ 0.1 - 1.0% ซึ่งแชมพู ยาฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนังทั้งหลายที่มีขายตามร้านสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่จะแรงกว่านี้ทั้งนั้นจนอาจเป็นอันตรายต่อน้องหมาได้ ถ้าคิดจะใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันทีทรี จริงๆ ต้องเจือจางให้แน่ใจซะก่อนว่าปลอดภัย
    • ถ้าตัดสินใจใช้ tea tree oil ต้องเฝ้าระวังอาการเป็นพิษจากสาร terpene เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และถึงขั้นเป็นอัมพาต ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทั้งหมาและแมว บางตัวก็ถึงกับชักเกร็งจนเป็นอัมพาตและตายไปเลยก็มีหลังใช้ tea tree oil [2]
  3. ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าหมาคันหูเพราะอะไร ก็คงสงสารจนอยากบรรเทาอาการให้พลางๆ ก่อนจนกว่าจะรู้สาเหตุที่แท้จริง ถ้าเป็นแบบนั้นคุณให้หมากินยาแก้แพ้ทั่วไปอย่าง diphenhydramine ได้ในปริมาณ 2 มก. ต่อน้ำหนักตัวของหมา 1 กิโลกรัม ปกติมักมาในรูปของยาเม็ดใช้กิน 3 ครั้งต่อวัน [3] โดยยาแก้แพ้ หรือ antihistamines จะออกฤทธิ์ยับยั้งและป้องกันการอักเสบ
    • แต่ถึงจะให้กินยาแล้ว หมาก็คงจะยังเกาอยู่ เพราะยาแก้แพ้ใช้แก้อาการคันของหมาไม่ได้ผลเสมอไป แค่ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ลองใช้ได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่าได้ผลเพียง 10 - 15% เท่านั้น [4]
  4. คุณหมออาจจ่ายยากลุ่ม corticosteroids ให้ในปริมาณไม่มากนัก เพื่อบรรเทาอาการคันชั่วคราวจนกว่ายาที่ใช้รักษาจะเห็นผล ยากลุ่ม corticosteroids นั้นแก้อักเสบได้เห็นผลชะงัด เลยทำให้พลอยแก้คันได้ดีไปด้วย หรือคุณจะลองสอบถามคุณหมอเรื่องจะใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ hydrocortisone 0.5 - 1% ที่หาได้ตามร้านขายยาทั่วไปก็ได้ โดยทาครีมนี้ตรงใบหูและโคนหูของหมา เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง
    • ข้อควรระวังคือยากลุ่มสเตียรอยด์ ห้าม ใช้คู่ไปกับยาบางชนิด เช่น ถ้าน้องหมากินยากลุ่ม NSAIDs หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อยู่ ซึ่งคุณหมอมักจ่ายให้เวลาน้องหมาเป็นโรคข้ออักเสบ (arthritis) จะทำให้ยาสองตัวนี้ตีกัน เกิดแผลในกระเพาะอาหารรุนแรงจนตกเลือดถึงตายได้ [5]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

สังเกตอาการหูติดเชื้อเพื่อรักษาต่อไป

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หูติดเชื้อเมื่อไหร่หมาก็เจ็บน่าดู แถมระคายเคืองไม่ยอมหาย จนคุณเห็นมันถูไถหรือเกาแกรกๆ อยู่ตลอดนั่นแหละ นอกจากนี้หูยังอาจบวมแดง ร้อนเวลาจับ ส่งกลิ่นตุๆ หรือมีน้ำอะไรไหลออกมาจากในหูด้วย (อย่างน้ำหนองหรือขี้หูข้นๆ) หูน้องหมาติดเชื้อได้เพราะหลายสาเหตุ (เช่น ไรหู (ear mites) ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา) เพราะฉะนั้นสำคัญมากว่าต้องรีบพาไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาต่อไป
    • ถ้าไม่แน่ใจว่าน้องหมาของคุณหูติดเชื้อหรือเปล่า ให้เปรียบเทียบสภาพหูทั้งสองข้างดู ถ้าปกติก็จะหน้าตาเหมือนๆ กัน แต่ถ้าหูข้างไหนดูแปลกไปหรือดูระคายเคือง แสดงว่าคงติดเชื้อเข้าแล้ว [6]
  2. หูติดเชื้อได้ด้วยมากมายหลายสาเหตุ คุณห้ามเดาสุ่มเอาเองแต่ควรพาน้องหมาไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและจ่ายยาต่อไป เช่น ยาปฏิชีวนะสำหรับหยอดหู ถ้าหมาของคุณเคยหูติดเชื้อมาก่อน คุณหมออาจใช้สำลีพันก้านป้ายเก็บตัวอย่างหนองจากในหูเพื่อส่งไปเพาะหาเชื้อต่อไป แบบนี้จะได้รู้แน่ชัดว่าติดเชื้อแบคทีเรียจริง และใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ ถ้าน้องหมาติดเชื้อขั้นรุนแรง อาจต้องทั้งหยอดยาในหูและกินยาปฏิชีวนะควบคู่กันไป [7]
    • ยาที่ใช้รักษามีด้วยกันมากมายหลายชนิด คุณหมอจะพิจารณาเลือกตัวยาที่เหมาะสมกับเคสของหมาคุณ พร้อมแนะนำวิธีและความถี่ในการให้ยา รวมถึงระยะเวลาที่ต้องใช้ยาด้วย ปกติมักขึ้นอยู่กับขนาดตัวของหมาและสภาพอาการ
  3. ให้คุณใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหูน้องหมาสูตรอ่อนโยน ค่า pH ไม่มากไม่น้อย ช่วยหล่อลื่นบำรุงผิว และแห้งเร็วไม่หมักหมม ถ้าเป็นน้ำยาจะดีกว่าแผ่นใช้เช็ด เพราะน้ำยาสามารถแทรกซึมเข้าไปในรูหูแล้วชะล้างสิ่งสกปรกพวกหนองและเชื้อตกค้าง ให้เอาหัวฉีดที่กระป๋องไปจ่อที่รูหูของน้องหมา แล้วบีบให้ทั่วๆ จากนั้นอุดหูน้องหมาด้วยสำลีก้อน แล้วนวดที่ขมับ เสร็จแล้วให้เอาสำลีออก เช็ดน้ำยาที่ไหลออกมาให้สะอาด ทำซ้ำจนกว่าน้ำยาที่ไหลออกมาจะใสไร้สิ่งสกปรก
    • ถ้าหลังจากนั้นคุณสังเกตเห็นว่าน้องหมาเอาแต่เอียงหัวไปข้างใดข้างหนึ่ง แสดงว่าแก้วหูฉีกจนน้ำยาไหลเข้าไปในส่วนบอบบางอย่างหูชั้นกลางและชั้นใน แบบนี้ให้หยุดใช้ทันทีแล้วรีบพาไปหาหมอ
    • การล้างหนองในหูช่วยลดจำนวนแบคทีเรีย แถมบรรเทาอาการคันให้น้องหมาด้วย แต่ถ้าล้างหูแล้วหมาไม่ชอบ ไม่สบายตัว หรือระคายเคืองหูมากเกินไป ก็ให้หยุดใช้แล้วรีบพาไปหาหมอเช่นกัน
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

สังเกตอาการติดเชื้อปรสิตเพื่อรักษาต่อไป

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณสำรวจหูน้องหมาแล้วทั้งสองข้างดูปกติดี แสดงว่าหมาเกาเพราะมีอาการติดเชื้อปรสิตภายนอก (เช่น มีหมัดหรือไรขี้เรื้อน) ให้คุณสำรวจขนหาหมัดหรือขี้หมัด (flea dirt) ลองแหวกขนที่ใบหูดูด้วย [8]
    • หมัดนั้นเคลื่อนที่ไปมารวดเร็ว ทำให้เห็นตัวได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าขี้หมัดจะหน้าตาเหมือนฝุ่นผงสีน้ำตาลเป็นจุดๆ ถ้าลองเอาสำลีก้อนแฉะๆ มาซับดู ก็จะเห็นเป็นวงสีส้มขยายออกไป ซึ่งก็คือเลือดแห้งที่หมัดกัดละลายกลับออกมา
    • Sarcoptic mange mites หรือไรขี้เรื้อนแห้ง นั้นตัวเล็กจนคุณมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สังเกตได้จากขนของน้องหมาที่ดูแหว่งๆ เหมือนถูกแมลงกัดแทะ โดยเฉพาะแถวใบหูและขา
  2. ถ้าคุณคิดว่าหมาคันหูเพราะหมัดหรือไรขี้เรื้อน ก็ต้องรีบปรึกษาคุณหมอเรื่องผลิตภัณฑ์กำจัดปรสิตที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งการแพร่พันธุ์และบรรเทาอาการคัน [9]
    • จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดหมัดและไรได้เห็นผลชะงัดก็มีอยู่ด้วยกันหลายตัว ลองให้คุณหมอแนะนำดู รวมถึงเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับน้องหมาด้วย
  3. ยากมากที่จะมีโอกาสสำรวจรูหูน้องหมาโดยละเอียด อาจต้องสังเกตเอาจากการเกากับขี้หูข้นๆ สีน้ำตาลและบางครั้งแห้งแตกเป็นผงๆ แทน พวกนี้แหละคือไรหู เป็นอาการติดเชื้อที่พบบ่อยของหมา คุณหมอจะใช้กล้องส่องขยาย (auroscope หรือ otoscope) หาไรหูที่ไต่ยั้วเยี้ย หรือเก็บตัวอย่างมาส่องกล้องจุลทรรศน์หาไรหรือไข่แทน [10]
    • เวลาหมามีไรหู (otodectic mange หรือ ear-mite) ไรจะประทังชีวิตด้วยขี้หูของน้องหมา โดยอยู่ทั้งในรูหูแนวตั้งและแนวนอนเลย
  4. คุณหมออาจแนะนำให้หาซื้อยาที่มี pyrethrin มาใช้ โดยใส่ยา pyrethroid ในรูหูให้น้องหมา 1 - 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 - 14 วัน ยา Pyrethrin ที่ใช้ภายนอกนั้นปลอดภัย เพราะไม่ปนเข้าไปในกระแสเลือดของน้องหมาได้ง่ายๆ [11]
    • ถึงยา pyrethrin จะรักษาไรหูได้ชะงัด แต่กลับไม่ค่อยได้ผลกับเชื้อแบคทีเรีย
    • ข้อควรระวังคือยาอาจเป็นพิษในกรณีที่น้องหมาเผลอกินเข้าไป หรือหมาตัวอื่นมาเลียโดนยาที่หูของหมาอีกตัว โดยจะมีอาการน้ำลายไหลเยอะผิดปกติ ตัวสั่น กระสับกระส่าย และขั้นรุนแรงสุดๆ คือเกิดอาการชักเกร็ง ถ้าน้องหมาของคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ให้ใส่ไว้ในห้องมืดๆ เงียบๆ เพื่อลดการกระตุ้น จากนั้นก็ปรึกษาคุณหมอต่อไป
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

สังเกตและกำจัดสิ่งแปลกปลอมในหู

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อีกหนึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือมีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษไม้ใบหญ้าต่างๆ หลงเข้าไปติดอยู่ในรูหู น้องหมาอาจแสดงอาการทันทีหลังกลับจากเดินเล่น หรือไปเดินเล่นอยู่ดีๆ แล้วกลับมาคอเอียงไปข้างหนึ่ง รวมถึงเกาหูเอาเป็นเอาตาย
    • สิ่งแปลกปลอมพวกนี้ถ้าเข้าไปติดในรูหู จะทำให้น้องหมาระคายเคืองน่าดู หมาเอียงหูข้างไหนก็แสดงว่าติดอยู่ในหูข้างนั้นแหละ
  2. คุณคงส่องเข้าไปได้ไม่ลึกพอที่จะเห็นสิ่งแปลกปลอม เพราะรูหูของหมานั้นเป็นรูปตัว "L" สิ่งแปลกปลอมอาจหลุดไปติดอยู่ในส่วนที่เป็นแนวนอนก็ได้ คุณหมอต้องใช้ otoscope ส่องลึกลงไป (เป็นกล้องส่องขยายที่มีไฟฉายในตัว) จากนั้นก็คีบเอาสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้น้องหมาระคายเคืองออกมาด้วยคีมปากจระเข้ยาวๆ (alligator forceps) [12]
    • ปกติคุณหมอจะใช้เวลาไม่นานในการคีบและระมัดระวังไม่ให้น้องหมาเจ็บตัว
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ห้ามซื้อยามารักษาอาการติดเชื้อของน้องหมาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ เวลามีอาการติดเชื้อ จะรักษาได้ต้องใช้ยาต้านจุลชีพ (anti-microbial) ฆ่าแบคทีเรียหรือเชื้อราเท่านั้น แต่ถ้ายาปฏิชีวนะเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เลยทำให้ยาตามร้านขายยาทั่วไป หรือผลิตภัณฑ์ตามร้านขายของใช้สัตว์เลี้ยงไม่มีตัวยาปฏิชีวนะ เพราะฉะนั้นคุณซื้อยามารักษาน้องหมาก็ไม่หาย หรือดีไม่ดีจะระคายเคืองกว่าเดิม
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. In vitro evaluation of topical biocide and antimicrobial susceptibility of Staphylococcus from dog. Valentine, Dew, Weese. Vet Dermatol. 2012 Dec 23(6):493-e95
  2. Concentrated tea tree oil toxicosis in dogs and cats: 443 cases (2002-2012). Khan, McLean, Slater. J Am Vet Med Assoc.2014 Jan 1;244 (1): 95-9
  3. The Veterinary Formulary. Yolande Bishop. Pharmaceutical Press. 4th edition.
  4. Plumb's Veterinary Drug Handbook. Donald Plumb.
  5. Plumb's Veterinary Drug Handbook. Donald Plumb.
  6. http://www.vetstreet.com/care/my-pet-has-itchy-ears-whats-going-on
  7. Small Animal Internal Medicine. Nelson & Couto. Mosby.
  8. Small Animal Internal Medicine. Nelson & Couto. Mosby.
  9. Small Animal Internal Medicine. Nelson & Couto. Mosby.
  1. https://www.aspca.org/pet-care/dog-care/ear-mites
  2. Poisoning due to Pyrethroids. Bradberry, Cage et al. Toxicology Review. 2005:24(2):93-106
  3. http://www.vetstreet.com/care/my-pet-has-itchy-ears-whats-going-on

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 50,589 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา