ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บางทีเราก็ไม่รู้ว่าควรจะบอกลายังไงและตอนไหนถึงแม้ว่าจะอยู่กับคนกันเอง การรู้จักบอกลาอย่างชวนฟัง มีไหวพริบ และถูกกาลเทศะนั้นเป็นทักษะที่จะช่วยให้คุณรักษามิตรภาพไว้ได้และแสดงให้คนอื่นรู้ว่าคุณใส่ใจ จริง ๆ แล้วการบอกลานั้นไม่ยากอย่างที่คิด ลองอ่านบทความด้านล่างดูเพื่อที่จะได้รู้ว่าควรบอกลาเวลาไหนและจะบอกลาอย่างไรให้ถูกจังหวะจากการสังเกตท่าทีของคนอื่น

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

บอกลาก่อนเจอกันใหม่อีกไม่นาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเอ่ยขอตัวอาจจะเป็นเรื่องยากซักหน่อยเมื่อคุณไปร่วมงานปาร์ตี้ งานพบปะสังสรรค์หรือกระทั่งคุยกับใครสองต่อสอง การรู้ว่าโอกาสไหนเหมาะสมที่จะขอตัวจากมาจะทำให้คุณบอกลาอย่างรวบรัดได้เก่งขึ้นเยอะเชียวล่ะ
    • สังเกตว่าคนเริ่มขอตัวกลับหรือยัง. ถ้าแขกมากว่าครึ่งกลับบ้านไปแล้ว นี่ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะขอตัวกลับบ้าง ตามหาเจ้าภาพหรือเพื่อนของคุณ โบกมือลาแขกที่เหลือในงานและขอตัวกลับได้เลย
    • อยากกลับก็กลับ คุณไม่จำเป็นต้องรอสัญญาณอะไร ถ้าอยากกลับบ้านหรืออยากหยุดคุยแล้วก็แค่พูดไปว่า “งั้นผมขอตัวก่อนนะครับ ไว้เจอกันวันหลังนะ”
  2. การอยู่ยาวจนรบกวนเจ้าภาพเป็นเรื่องไม่สุภาพ แต่บางทีก็ยากที่จะรู้ว่าควรขอตัวกลับเมื่อไหร่ ไม่มีเจ้าภาพที่ไหนไล่แขกกลับบ้านหรอก ดังนั้นคุณต้องพยายามสังเกตสัญญาณอ้อม ๆ เอาเอง
    • ถ้าเจ้าภาพจัดปาร์ตี้เริ่มเก็บกวาดข้าวของหรือขอตัวจากวงสนทนา ชักชวนเพื่อน เก็บข้าวเก็บของและขอตัวกลับซะ หรือถ้ามีใครเริ่มยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูหรือมีทีท่ากระสับกระส่ายชอบกลก็ได้เวลากลับบ้านกันแล้วล่ะ
  3. แค่พูดว่า “งั้นไว้เจอกันที่โรงเรียนพรุ่งนี้นะ” หรือ “รอเจอเธออีกทีในวันคริสมาสต์ไม่ไหวแล้ว” ก็สามารถทำให้การบอกลาฟังดูผ่อนคลายและมีนัยถึงอนาคตได้แล้ว ถ้าคุณยังไม่ได้คิดว่าจะเจอกันอีกทีเมื่อไหร่ก็ใช้โอกาสนี้นัดกันซะเลย แค่พูดว่า “ไว้เจอกันนะ” ก็ฟังเข้าทีแล้วล่ะ
    • นัดอีกฝ่ายออกมาจิบกาแฟหรือรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันถ้านั่นทำให้บอกลาได้ง่ายขึ้น แต่อย่ารับปากทำอะไรที่คุณไม่อยากทำ จริง ๆ แค่เอ่ยขอตัวก็พอแล้วล่ะ
  4. บางทีเราก็มักคิด “ข้ออ้างที่ฟังดูดี” เมื่ออยากขอตัวกลับ แต่คุณไม่จำเป็นต้องแต่งเรื่องหรอก ถ้าอยากขอตัวก็แค่พูดว่า “ขอกลับก่อนนะ ไว้เจอกันวันหลัง” ก็พอ ไม่เห็นต้องคิดอะไรซับซ้อน ถ้าคุณอยากเอ่ยขอตัวจากวงสนทนาเพราะหมดเรื่องจะพูดแล้วก็พูดไปว่า “ไว้คุยกันวันหลังนะ” ก็โอเคแล้วล่ะ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

บอกลาเมื่ออีกฝ่ายต้องจากไปไหนนาน ๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หาเวลาที่เหมาะสมเพื่อพูดคุยกันก่อนที่อีกฝ่ายจะจากไปไกล. ถ้าคนรู้จักของคุณจะไปอยู่เมืองนอกหลายปีหรือกำลังจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย พวกเขาอาจจะกำลังหัวปั่นกับการวางแผนการเดินทาง ดังนั้น คุณควรหาเวลาและสถานที่ที่แน่นอนเพื่อพบปะอีกฝ่ายและบอกลาให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่จะเดินทางไกลก็อย่าลืมเรียงลำดับความสำคัญว่าควรบอกลาใครบ้าง อย่ามัวแต่ไปนัดลาคนที่คุณไม่ได้สนิทอะไรนักหนาจนลืมนัดน้องสาวตัวเองล่ะ
    • เลือกสถานที่ที่พวกคุณสามารถสนุกไปด้วยกันได้ คุณและเพื่อนอาจจะไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ท่องย่านโปรดหรือใช้เวลาทำสิ่งที่คุณทั้งสองชอบด้วยกัน เช่น ไปดูแข่งขันกีฬาไงล่ะ
  2. นึกถึงเรื่องฮา ๆ ที่เคยทำ ระลึกถึงความสุขที่ผ่านมา ย้อนเวลากลับสู่อดีตและคิดถึงสิ่งที่พวกคุณเคยทำด้วยกันดูสิ ตั้งแต่เป็นเพื่อนกันมาเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ ช่วงเวลาที่เคยมีด้วยกันนั้นเป็นอย่างไร หรือจะย้อนคิดถึงตอนที่คุณและเพื่อนเจอกันครั้งแรกก็ได้
    • อย่ารีบบอกลาซะตั้งแต่วินาทีแรกที่เจอหน้ากัน ลองสังเกตดูก่อนว่าเพื่อนของคุณมีท่าทีอย่างไรกับการที่ต้องจากไปหรือการที่ต้องเห็นคุณเป็นฝ่ายไป หากเพื่อนมีทีท่าไม่อยากไปซักเท่าไหร่ อย่าเอาแต่ถามเพื่อนเรื่องการเดินทาง แต่ถ้าเพื่อนดูตื่นเต้นที่จะได้เดินทางก็อย่าเอาแต่พูดว่าคนนู้นคนนี้จะคิดถึงเพื่อนแค่ไหน หรือถ้าเพื่อนคุณดูอิจฉาที่คุณได้ไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสก็อย่าเอาแต่โม้เรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง
  3. การแสดงจุดยืนในความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณอยากติดต่อกันอีกก็บอกให้อีกฝ่ายรู้ซะ แลกอีเมล์ เบอร์โทรศัพท์หรือข้อมูลติดต่อกับอีกฝ่ายไว้เลยสิ
    • การขออีเมล์หรือเบอร์โทรศัพท์อาจทำให้คุณสบายใจเพราะคุณจะได้ยังติดต่อกับอีกฝ่ายได้ แต่ยังไงก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองนะ ถ้าคุณไม่ได้คิดจะติดต่อกับอีกฝ่ายอยู่แล้วก็อย่าขอข้อมูลติดต่อไว้เพราะฝ่ายที่กำลังจะไปอาจคิดว่าคุณไม่จริงใจได้
    • อย่าลืมบอกให้สมาชิกในครอบครัวรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนและทำอะไรอยู่และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพวกเขาก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเดินทางไกลด้วยล่ะ การแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณจะไม่ตีตนออกห่างหรือหายไปนั้นเป็นเรื่องสำคัญนะ
  4. เมื่อถึงเวลาต้องจากกัน บอกลาอย่างรวบรัดและจริงใจ. คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการร่ำลาที่ยืดยาวแต่ถึงอย่างไรก็อย่าลืมบอกลาอีกฝ่ายเป็นการส่วนตัวล่ะ ถ้าคุณอยากแสดงออกถึงความรู้สึกมากมายที่เก็บไว้ในใจ ลองเขียนจดหมายเพื่อที่คน ๆ นั้นจะได้เปิดอ่านทีหลังได้ ตอนบอกลากกันส่วนตัวก็ทำตัวสบาย ๆ สนุกสนานเข้าไว้ พูดลาและอวยพรให้อีกฝ่ายโชคดีในการเดินทาง อย่าร่ำลานานเกินควร
    • ถ้าคุณจะเดินทางไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานานและไม่สามารถหอบหิ้วทุกอย่างไปกับคุณได้ การยกข้าวของให้คนอื่นก็ดูเข้าท่าดีนะแถมยังเป็นการกระชับมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย ยกกีตาร์ตัวเก่าให้เพื่อนร่วมวงดนตรีก่อนที่คุณจะออกเดินทางหรือยกหนังสือที่มีความหมายสำหรับคุณให้กับญาติพี่น้องเพื่อที่ทุกครั้งที่อ่าน พวกเขาจะได้คิดถึงคุณไงล่ะ
  5. ถ้าคุณตั้งใจจะสานสัมพันธ์ต่อก็อย่าลืมติดต่ออีกฝ่ายบ้าง พูดคุยกันผ่านสไกป์หรือส่งโปสการ์ดฮา ๆ หากัน ถ้าคุณค่อย ๆ เหินห่างจากเพื่อนหรือคนที่รักแต่ยังคงอยากติดต่อกับอีกฝ่าย คุณก็ต้องพยายามหนักหน่อย แต่ถ้าเพื่อนของคุณดูยุ่งมากก็อย่าไปโกรธเคืองอีกฝ่ายเลย ปล่อยให้ความสัมพันธ์กลับมาเข้ารูปเข้ารอยตามธรรมชาติเถอะ
    • คาดหวังให้อีกฝ่ายติดต่อกลับมาโดยไม่ลืมคิดถึงความเป็นจริง. เพื่อนที่เพิ่งเข้ามหาลัยจะมีเพื่อนใหม่มากมายจนไม่ว่างมานั่งคุยโทรศัพท์กับคุณทุกอาทิตย์หรอกนะ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

บอกลาเมื่ออีกฝ่ายกำลังจะจากโลกนี้ไป

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บอกลาคนที่กำลังจะหมดลมหายใจเสียตั้งแต่ตอนนี้. การผัดวันประกันพรุ่งไม่ไปเยี่ยมคนที่คุณรักในโรงพยาบาลน่ะเป็นเรื่องผิดพอ ๆ กับการรอจนวันสุดท้ายแล้วค่อยบอกลาเพื่อนที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศตลอดชีวิตนั่นแหละ อย่าพลาดโอกาสบอกลาและทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตอีกฝ่ายมีสีสัน การตายอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาลน่ะเป็นเรื่องชวนปวดใจสุด ๆ ดังนั้นคุณควรไปเยี่ยมเพื่อนและพูดอะไรดี ๆ ให้เพื่อนฟัง ใช้เวลากับคนที่คุณรักให้มากที่สุดและคอยเป็นกำลังใจให้เขาหรือเธอนะ
    • คนที่กำลังจะตายมักอยากฟังและอุ่นใจเมื่อได้ยินหนึ่งในสี่คำพูดดังต่อไปนี้: “ฉันรักคุณ” “ฉันอภัยให้คุณ” “โปรดอภัยให้ฉัน” และ “ขอบคุณ” ถ้าคุณรู้สึกว่าข้อความใดในสี่ข้อนี้เหมาะสมก็พูดให้อีกฝ่ายฟังตอนบอกลากันด้วยล่ะ [1]
  2. เรามักคิดว่าการบอกลาคนที่กำลังจะตายหรือบอกลากันไปตลอดกาลจะต้องฟังดูเศร้าและปราศจากความรื่นเริงใด ๆ แต่คุณควรสังเกตท่าทีของคนป่วยด้วย สาเหตุที่คุณไปหาอีกฝ่ายก็เพื่อให้กำลังใจและปลอบใจยามที่อีกฝ่ายต้องการคุณ ดังนั้น ถ้าคนป่วยอยากให้คุณหัวเราะหรือทำตัวสบาย ๆ ก็หัวเราะออกมาซะ
  3. บางทีเราก็ไม่รู้ว่าควรพูดความจริงกับคนใกล้ตายดีหรือไม่ ถ้าคุณไปเยี่ยมสามีหรือภรรยาเก่าหรือพี่น้องที่ห่างเหินไปกันไป บรรยากาศอาจจะคุกรุ่นและมีเรื่องซับซ้อนคาใจอยู่มากมาย โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่ที่คุณจะมาระเบิดอารมณ์และต่อว่าพ่อที่ทอดทิ้งคุณไปหรอกนะ
    • ถ้าคุณรู้สึกว่าความจริงอาจทำร้ายจิตใจคนใกล้ตายก็เปลี่ยนเรื่องซะ พูดอะไรประมาณว่า “แต่ตอนนี้ผมสบายดีแล้ว ไม่ต้องกังวลนะ” แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น
    • บางทีคุณอาจจะคิดว่าการมองโลกในแง่ดีเข้าไว้เป็นเรื่องดีและอยากพูดอะไรประมาณว่า “ไม่ คุณยังมีโอกาสหาย อย่ายอมแพ้นะ” เมื่อคนที่คุณรักพูดว่า “ฉันต้องตายแน่ ๆ” แต่คุณไม่ควรพูดอะไรที่ทั้งคุณและคนป่วยไม่สามารถแน่ใจได้ เปลี่ยนไปพูดอะไรประมาณว่า “วันนี้รู้สึกเป็นยังไงบ้าง?” หรือให้ความมั่นใจแก่อีกฝ่ายด้วยการพูดว่า “คุณดูดีขึ้นนะวันนี้” น่าจะดีกว่านะ
  4. คุยกับอีกฝ่ายอย่างอ่อนโยนและเป็นฝ่ายพูดไปเรื่อย ๆ ถึงจะไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายได้ยินสิ่งที่คุณพูดหรือไม่ก็พูดอะไรที่คุณเห็นสมควรต่อไป นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งคุณและคนป่วยจะได้บอกลากันและกัน ดังนั้นอย่าละเลยจนต้องมานั่งเสียใจว่าทำไมถึงไม่พูดว่า “ฉันรักคุณ” ก่อนที่อีกฝ่ายจะไม่มีโอกาสได้ยินอีก แม้คุณจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายได้ยินคุณไหมก็แค่พูดไป อย่างน้อยคุณก็รู้ว่าได้พูดแล้ว [2]
  5. คุณต้องอยู่เคียงข้างอีกฝ่ายทั้งกายและใจ การควบคุมตัวเองไม่ให้ตระหนกเกินควรอาจจะยากเสียหน่อยเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น คุณอาจจะคิดว่า “นั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาพูดว่า ‘ผมรักคุณ’ หรือเปล่านะ?” ทุกช่วงเวลาอาจเป็นเรื่องชวนเครียดและน่ากังวล แต่ถึงอย่างไรก็ทำใจกล้า ๆ หน่อยและพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อซึมซับช่วงเวลาที่ยังเหลือกับคนที่คุณรัก
    • บ่อยครั้ง คนที่กำลังจะตายก็มักฝืนร่างกายไว้แล้วค่อยจากไปตอนที่อยู่คนเดียวเพื่อคนที่รักจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดที่เห็นตัวเองจากไปต่อหน้าต่อตา ในขณะที่สมาชิกครอบครัวกลับรู้สึกว่าตัวเองน่าจะอยู่กับคนป่วยจนวาระสุดท้าย ดังนั้น คุณควรพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้และพยายามไม่ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาสุดท้ายมากเกินไป บอกลาเมื่อเวลาเหมาะสมก็พอ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณร้องไห้ได้ ไม่เป็นไรหรอก
  • ถึงโอกาสเริ่มต้นใหม่จะอยู่ตรงหน้า แต่ก็ใช่ว่าคุณต้องทิ้งเรื่องในอดีตไปจนหมด
  • ถ้าคุณสูญเสียคนที่รักไป โดยเฉพาะคนในครอบครัว อย่าพยายามลืมอีกฝ่าย พูดถึงพวกเขากับคนอื่นที่รู้จักและรักพวกเขาเหมือนกัน เล่าเรื่องสนุก ๆ ที่เคยทำด้วยกัน ลองนึกถึงความทรงจำดี ๆ นิสัยของอีกฝ่ายและสิ่งที่อีกฝ่ายเคยพูดดูสิ
  • ถ้าคนที่หายไปจากชีวิตคุณยังอยู่ใกล้ ๆ แต่ไม่พยายามติดต่อคุณเลย อย่าโทษตัวเองล่ะ บางครั้งคนเราก็อยากถอยห่างออกมาเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวโดยไม่ปล่อยให้อดีตมารั้งพวกเขาไว้ ปล่อยเขาไปแล้วเดี๋ยวซักวันเขาจะกลับมาเอง
  • ถ้าคุณคิดแต่เรื่องการที่ต้องแยกจากอีกฝ่าย การบอกลาก็จะกลายเป็นเรื่องยาก หากคุณคิดว่าการต้องเห็นคนอื่นจากไปจากชีวิตเป็นเรื่องต้องฝืนทน คุณอาจจะกำลังผลักภาระหนักใจให้กับคนที่กำลังจะจากไปจนอีกฝ่ายต้องมาปลอบโยนให้คุณหายเศร้าจากความสูญเสียที่คุณสร้างขึ้นมาเอง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว คุณคนเดียวเท่านั้นจะที่รักษาใจตัวเองได้
  • ถ้าคุณกำลังบอกลาแฟนสาวก็อย่าลืมกอดเธอล่ะ อย่าขอตัวกลับโดยไม่กอดเธอเชียว ไม่อย่างนั้นแฟนคุณอาจจะเคืองได้นะ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,486 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา