ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การนั่งฟังใครสักคนพล่ามไม่หยุดเป็นประสบการณ์ที่น่าเหนื่อยหน่ายไม่น้อย จะให้พูดออกไปตรงๆ ก็มีแต่จะอึดอัดใจทั้งสองฝ่ายมากกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรคนๆ นั้นอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเขาพูดมากและอาจจะรู้สึกขอบคุณที่มีคนมาสะกิดเขาด้วยซ้ำ ถ้าคุณอยากบอกใบ้ให้ใครสักคนรู้ตัวว่าเขาพูดมากไปหน่อย ลองมาอ่านเคล็ดลับดีๆ ในบทความนี้กันเลย!

1

กำหนดขอบเขตล่วงหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีนี้เป็นวิธีตัดไฟตั้งแต่ต้นล้มอย่างมีชั้นเชิง. คุณอาจจะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ทุกครั้ง แต่หากคุณกำลังจะเริ่มประชุมหรือพูดคุยกับคนที่พูดมาก ให้ตั้งกฎพื้นฐานตั้งแต่แรก เช่น หากเป็นการพูดคุยกันเป็นกลุ่ม คุณอาจจะเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการขอให้ทุกคนยกมือก่อนพูดและพูดสั้นๆ เท่านั้น [1]
    • คุณอาจจะพูดประมาณว่า "ในการประชุมครั้งนี้ผมมีประเด็นที่ต้องชี้แจงหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นผมจึงขอให้ทุกคนฟังให้จบก่อนแล้วค่อยถามนะครับ" [2]
    โฆษณา
2

ส่งสัญญาณให้เขาเห็นสักเล็กน้อยก่อน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หวังว่าเขาจะเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการสื่อและเป็นฝ่ายจบบทสนทนาเอง. ถ้าการต้องเผชิญหน้ากับคนๆ นี้ทำให้คุณรู้สึกจึ๊กกะดึ๋ย ลองหามาตรการป้องกันล่วงหน้า เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดินมาหาคุณที่โต๊ะและเริ่มจ้อไม่หยุด ให้ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป จากนั้นก็กระแอมสัก 2-3 ครั้ง ไม่ค่อยสนใจฟัง และดูนาฬิกาข้อมือบ่อยๆ [3]
    • ถ้าคุณคิดว่าเขากำลังจะเดินเข้ามาหาคุณแล้ว ให้ลองใส่หูฟัง
    • ถ้าคุณทำงานในออฟฟิศของตัวเอง ลองแขวนป้ายไว้ที่ประตูว่า “ห้ามรบกวน” “กำลังคุยโทรศัพท์” หรือ “กำลังประชุม”
3

พูดเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้ากำลังคุยกันเป็นกลุ่ม อย่าลากเขามาตบกลางสี่แยกต่อหน้าทุกคน. การพูดคุยเรื่องนี้อาจทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วน เพราะฉะนั้นคุณควรแยกเขาออกจากคนอื่นและพูดคุยกันแค่สองคน พูดคุยกันเป็นการส่วนตัวสักครู่หรือนัดคุยกันต่อหน้าสั้นๆ โดยที่ปิดประตูไม่ให้ใครเห็น ชวนเขาคุยกันหลังไมค์แบบสบายๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้คนอื่นๆ ในกลุ่มสงสัย [4]
    • คุณอาจจะบอกเขาว่า “ประเด็นนี้น่าสนใจค่ะคุณสุภาวดี แต่เดี๋ยวเราพักเรื่องนี้กันไว้ก่อนนะคะ ประชุมเสร็จแล้วเราค่อยคุยเรื่องนี้กันต่อ” [5]
    • ถ้าคุณกำลังพักกินข้าวกลางวันกันเป็นกลุ่มและเพื่อนคนนึงเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว คุณอาจจะพูดว่า "ส้ม เดี๋ยวกินข้าวเสร็จเราค่อยคุยเรื่องนี้กันดีกว่าเพราะว่ามันเป็นแค่เรื่องของเราสองคน แถมเธอเองก็อยากฟังอะตอมเล่าเรื่องที่ไปเที่ยวมาให้ฟังเหมือนกันไม่ใช่เหรอ!"
    โฆษณา
4

ขัดจังหวะอย่างสุภาพที่สุด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พยายามขัดจังหวะตอนท้ายประโยคแทนที่จะพูดตัดบท. แม้ว่าอีกฝ่ายจะน่ารำคาญขนาดไหน แต่การพูดขัดจังหวะกลางประโยคมันก็รุนแรงเกินไป พยายามรอให้เขาพูดจบประโยคหรือพูดสิ่งที่คิดให้เสร็จก่อนค่อยพูดขัดจังหวะ คุณอาจจะขอโทษที่คุณต้องขัดจังหวะก็ได้ แต่ต้องพูดสิ่งที่คุณต้องการอย่างหนักแน่น [6] เช่น คุณอาจจะพูดว่า :
    • "ฉันขอขัดคุณนิดนึงนะคะ ฉันมีเรื่องที่ต้องพูดน่ะค่ะ"
    • "ฉันขอโทษนะคะที่ต้องขัดจังหวะ แต่ฉันอยากเล่าสิ่งที่ฉันเพิ่งสังเกตเมื่อไม่นานมานี้ให้คุณฟัง"
5

บอกว่าคุณมีเวลาคุยไม่มาก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณกำลังรีบหรือแค่ไม่เหลือพลังงานที่จะพูดคุยกับใครอย่างเปิดอกในตอนนี้ ให้บอกว่าคุณกำลังจะไปประชุมหรือมีนัดแล้วรีบเดินออกมา วิธีนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาชั่วคราวและเดี๋ยวคุณก็ต้องกลับไปคุยเรื่องนี้กับเขาอีก แต่มันก็ช่วยได้นะ! [7] คุณอาจจะพูดว่า :
    • "ผมขอโทษนะที่ต้องขัดจังหวะ แต่ผมเพิ่งเดินออกมาจากประตูเองครับ ผมกำลังรีบ ไว้เราค่อยคุยกันได้ไหมครับ"
    • "ผมมีนัดในอีก 5 นาทีนี้ รีบพูดหน่อยนะครับ เดี๋ยวผมสาย"
    • "ผมมีเวลาคุยแค่แป๊บเดียวนะครับ ผมต้องไปที่อื่นต่อ"
    โฆษณา
6

พูดถึงปัญหานี้อย่างชัดเจนและไม่มีอคติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ และเจาะจงเพื่อให้เขาเข้าใจ. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่คุณอยากจะพูดมากกว่า 1 ครั้ง เพราะฉะนั้นอย่าอ้อมค้อม! แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็ยังต้องรักษามารยาท พยายามแสดงสีหน้าเรียบเฉย และอย่าวิจารณ์โดยใช้อารมณ์ [8] เช่น คุณอาจจะพูดว่า :
    • "เอย วันนี้คุณไม่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความคิดเห็นในชมรมหนังสือบ้างเลย พอผมพยายามจะพูด คุณก็พูดแทรกผม"
    • "ประเด็นที่คุณพูดในการประชุมวันนี้ดีมากเลยนะรอน แต่กว่าคุณจะเข้าเรื่องได้มันใช้เวลามากไปหน่อย ผมกังวลว่าเพื่อนร่วมงานของคุณจะเบื่อฟังเสียก่อนและไม่ทันได้ฟังข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์จากคุณ"
    • "เต้ย ฉันดีใจนะที่นายโทรมาหา แต่ตั้งแต่เราคุยโทรศัพท์กันเนี่ยฉันไม่ได้เป็นฝ่ายพูดบ้างเลยนะ! ฉันอยากเล่าเรื่องที่ฉันเพิ่งไปเที่ยวมาให้นายฟังจะแย่อยู่แล้ว ฉันว่านายต้องชอบเกาะบอร์เนียวแน่ๆ"
7

ลองพูดขำๆ ถ้าคุณกับอีกฝ่ายรู้จักกันดี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ยิ้มและพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเพื่อให้เขารู้ว่าคุณพูดเล่น. บางครั้งเพื่อนที่พูดเป็นต่อยหอยก็ตื่นเต้นมากไปหน่อยและเริ่มพล่ามไม่หยุด เราทุกคนต่างมีเพื่อนแบบนี้และเราเองก็ชอบเขา! การใช้อารมณ์ขันเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เพื่อนรู้ว่าเขาเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว [9] คุณอาจจะพูดว่า :
    • "ฮัลโหล จำฉันได้ไหม ฉันยังอยู่ตรงนี้นะ"
    • "หายใจก่อนเพื่อน! ฉันขอเป็นฝ่ายพูดบ้างได้ไหม"
    • จ้องนาฬิกาเขม็งแล้วพูดว่า "อ๋อม เวลาเป็นสิ่งมีค่า เธอพูดจนลืมเวลาเลยใช่ไหม สาว ให้ฉันพูดบ้าง! เธอต้องตกใจแน่ถ้าฉันเล่าให้ฟังว่าเสาร์อาทิตย์นี้ตะวันทำอะไร"
    โฆษณา
8

บอกเขาว่าคุณรู้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ส่วนใหญ่แล้วอีกฝ่ายจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองพูดไปเรื่อย. ถ้าคุณไม่เคยพูดเรื่องนี้กับเขาตรงๆ มาก่อน อย่าเพิ่งถือสา เขาอาจจะไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าเขาพูดมาก และถึงเขาจะรู้ตัว เขาก็คงไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี บทสนทนาอาจจะดำเนินไปได้ด้วยดีมากขึ้นหากคุณพูดว่าคุณเข้าใจในจุดนี้ [10] เช่น คุณอาจจะพูดว่า :
    • "บิณฑ์ ผมรู้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจจะพูดแทรกทุกคน ผมเข้าใจว่าคุณแค่ไม่ทันระวัง"
    • "ตรัย ผมรู้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจจะปิดโอกาสไม่ให้ผมพูด"
    • พยายามอย่าตำหนิและอย่าพูดเหมารวม เช่น "ไม่มีใครเขาชอบหรอกที่คุณพูดมาก" หรือ "คุณไม่เคยเปิดโอกาสให้คนอื่นเขาได้พูดบ้างเลย"
9

ใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” เพื่อให้ฟังดูนุ่มนวลมากขึ้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพูดออกไปตรงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย! การใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “คุณ” ฟังดูเหมือนเป็นการกล่าวโทษ เพราะฉะนั้นลองใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” ในการพูดถึงปัญหา ความคิดเห็นของคุณจะไม่ฟังดูเป็นการด่วนสรุปคนอื่นมากจนเกินไปและอีกฝ่ายก็ไม่น่าจะเคืองด้วย [11] เช่น :
    • "ผมรู้สึกว่าคุณไม่ค่อยสนใจฟังผมเท่าไหร่"
    • "บางครั้งฉันก็กังวลนะว่านายอาจจะไม่อยากเป็นเพื่อนกับฉันแล้ว เพราะเวลาคุยกันนายไม่เปิดโอกาสให้ฉันแสดงความคิดเห็นบ้างเลย"
    • "ผมกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมในที่ประชุม เพราะผมมีหน้าที่ที่จะต้องให้พนักงานทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แต่ช่วงหลังมานี้คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้พูดเลย"
    โฆษณา
10

ให้คำแนะนำหรือวิธีแก้ปัญหา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณอยากช่วยเขาจากใจจริง. พยายามพูดเรื่องนี้ด้วยเจตนาที่ตั้งใจจะช่วยเหลือ ถ้าคุณรู้วิธีที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ บอกเขาเลย! แต่ถ้าไม่รู้ แค่ถามเขาว่ามีอะไรที่คุณพอจะช่วยเขาได้บ้างไหม [12] เช่น :
    • "คุณอยากลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในที่ประชุมบ้างไหมละ เราอาจจะตั้งกฎว่าทุกคนต้องพูด 1-2 นาที"
    • "มีวิธีอื่นอีกไหมที่ฉันจะสามารถรับฟังคุณได้มากขึ้นหรือช่วยเหลือคุณได้ในฐานะเพื่อน"
    • "ฉันช่วยคุณฝึกพรีเซนต์งานให้กระชับมากขึ้นได้นะถ้าคุณต้องการ เรามาฝึกกันเงียบๆ ในออฟฟิศของฉันก็ได้ ไม่ต้องบอกใครหรอก" [13]
11

เปิดโอกาสให้เขาได้อธิบายสั้นๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เขาจะรู้สึกว่าคุณรับฟังและอาจมีเหตุผลที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น. มีหลายเหตุผลที่ทำให้เขาอาจจะพูดมากเกินไปหน่อย เขาอาจจะกำลังรับมือกับความวิตกกังวลหรือปกปิดความรู้สึกไม่มั่นใจของตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาได้อธิบายและรับฟังเขาสักครู่ แค่อย่าปล่อยให้เขาพูดเยอะเท่านั้นแหละ! [14]
    • เช่น ถ้าเขาบอกว่าเขาประหม่า ลองพูดประมาณว่า"ผมเข้าใจคุณนะ เรายังคงต้องปรับพฤติกรรมนี้กันอยู่ แต่ผมก็ดีใจที่ได้เข้าใจมากขึ้นว่ามันเกิดจากอะไร ผมจะพยายามกำหนดแบบแผนในการประชุมครั้งหน้าให้มากขึ้นเพื่อช่วยคุณนะ"
    • ถ้าเพื่อนบอกว่าเธอไม่รู้ตัวเลยว่าเธอพูดมากและกล่าวขอโทษ ให้พูดประมาณว่า "อย่าคิดมากแก้ว! ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรหรอก ไว้คุยกันสัปดาห์หน้าไหม นัดกินกาแฟกัน"
    • รู้ไว้ว่าพฤติกรรมพูดมากอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ (เช่น โรคสมาธิสั้น) [15]
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 564 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา