ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
กระดูกสันหลังจะไล่ลงไปกลางหลังของคุณ โดยมีไขสันหลัง (spinal cord) ที่เปรียบเสมือน "ทางด่วน" ของเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองกับทุกเนื้อเยื่อของร่างกายเข้าด้วยกัน ถึงตรงนี้คงไม่ต้องบอกว่าสุขภาพอันดีของกระดูกสันหลังนั้นสำคัญขนาดไหน ถ้ามองจากทางด้านข้าง กระดูกสันหลังจะมี 3 โค้งใหญ่ๆ ซึ่งจำเป็นต่อความยืดหยุ่นและการทรงตัว [1] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง แต่ถ้ามองจากทางด้านหลัง กระดูกสันหลังต้องเหยียดตรง ไม่คดหรือโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง บางคนก็เกิดมาพร้อมกระดูกสันหลังคดงอ แต่ถึงจะเกิดมาปกติสมบูรณ์ดี ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรง จัดท่าทางไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน และขาดสารอาหาร ก็ทำให้กระดูกสันหลังผิดปกติได้เช่นกัน
ขั้นตอน
-
จัดระเบียบร่างกาย. ต้องนั่ง เดิน และนอนให้ถูกท่า ถ้าอยากให้กระดูกสันหลังเหยียดตรงไม่คดงอ [2] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ด้วยหน้าที่การงาน โดยเฉพาะพนักงานบริษัท ทำให้หลายคนต้องนั่งที่โต๊ะหรือหน้าคอมทั้งวัน เลยทำให้ความสูงของเก้าอี้ต้องพอดี เบาะก็ต้องนุ่ม และพนักรองรับสรีระ พยายามเลือกเก้าอี้ทำงานที่ปรับระดับได้ตามสรีระและความถนัดของคุณ ถ้าพนักโค้งรับหลังส่วนล่างได้ด้วยยิ่งดี ส่วนเวลาอยู่บ้านให้ใช้หมอนหนุนหลังและขา ตอนนั่งเล่นดูทีวี
- อย่าพยายามนั่งไขว่ห้างหรือไขว้เท้า เพราะทำให้สะโพกไม่เสมอกัน เพิ่มภาระให้หลังส่วนล่าง
- หน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ที่ระดับสายตา เวลานั่งแล้วต้องอยู่กลางจอ ไม่งั้นคอจะเกร็ง แถมกระดูกสันหลังคดได้
-
ใส่รองเท้าดีๆ. เท้าสำคัญมากไม่ว่าจะทำท่าทางแบบไหน เพราะเป็นรากฐานของทั้งร่างกาย ต้องสวมรองเท้าแข็งแรง รองรับอุ้งเท้า และส้นหนาขึ้นมาหน่อย (1/2 – 3/4 นิ้ว) ที่สำคัญคือมีที่ว่างให้ขยับนิ้วได้ อย่าคับแน่น พยายามอย่าใส่ส้นสูงทุกวัน เพราะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายผิดเพี้ยนไป ร่างกายต้องพยายามปรับการเรียงตัวทดแทน ทำให้เกิดภาวะ hyperlordosis คือแอ่นมากเกินไปบริเวณบั้นเอว [3] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ถ้าน้ำหนักตัวเยอะเกินพิกัด เท้าแบน หรือขาสั้น ควรใช้อุปกรณ์เสริมเท้า (orthotics) ไม่ให้ส้นเท้าแบนราบ แบบนี้ถึงจะดีต่อสุขภาพกระดูกสันหลัง เพราะรองรับอุ้งเท้า ทำให้วิ่งหรือเดินได้ถูกท่าถูกทางยิ่งขึ้น (ตามหลักชีวกลศาสตร์ (biomechanics))
- orthotics นั้นต้องให้หมอรักษาโรคเท้า (podiatrists) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจัดกระดูก (chiropractors) เป็นคนจัดทำให้
-
ใช้ที่นอนแน่นๆ. อย่างน้อย 1/3 ของชีวิตเราหมดไปกับการนอน เพราะงั้นต้องเลือกเบาะหรือที่นอนให้ดีๆ หน่อย รวมถึงจัดท่าทางการนอนให้ถูกต้อง ซึ่งการใช้ที่นอนแน่นๆ นี่แหละ ที่ช่วยรองรับและดูแลกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี แผ่นรองที่เป็นเมโมรี่โฟมก็ช่วยได้ ปกติเราควรเปลี่ยนที่นอนทุก 8 - 10 ปี ส่วนความหนาของหมอนก็ต้องสัมพันธ์กันกับระยะห่างระหว่างด้านข้างของหัวกับปลายไหล่ พูดง่ายๆ คือนอนแล้วคอต้องเหยียดตรง
- ท่านอนที่ดีต่อกระดูกสันหลังที่สุด คือนอนตะแคง ให้สะโพกกับเข่างอเล็กน้อย โดยมีหมอนใบเล็กๆ สอดอยู่ระหว่างต้นขา สะโพกจะได้ไม่บิดเบี้ยวด้วย [4] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ University of Rochester Medical Center ไปที่แหล่งข้อมูล
- อย่าหนุนหมอนหลายใบให้คอตั้งเพราะจะอ่านหนังสือ แบบนี้คอจะเกร็ง แถมอาจจะฝืนให้ส่วนโค้งของคอบิดผิดด้าน
-
อย่าสะพายเป้หรือใช้กระเป๋าสะพายเฉียงหนักๆ. ถึงจะบอกว่าเดินเรียนแค่นิดหน่อย หรือแค่เดินกลับบ้าน แต่น้ำหนักกดทับจากเป้ใบโตก็ส่งผลเสียร้ายแรงได้ เพราะไปกดทับกระดูกสันหลัง ดีไม่ดีจะทำกระดูกสันหลังคด โดยเฉพาะเด็กๆ อาจโตไม่เต็มความสูง! [5] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล ที่น่ากลัวกว่าคือถ้าสะพายกระเป๋าเฉียงหรือรับน้ำหนักด้วยไหล่ข้างเดียว เช่น กระเป๋า messenger หรือกระเป๋าสะพายเฉียง/ข้าง แบบนี้ทำกระดูกสันหลังคดได้เลย [6] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล
- เวลาสะพายกระเป๋าหรือเป้ ต้องกระจายน้ำหนักลงไปที่ไหล่ 2 ข้างเท่ากัน ถ้าถือกระเป๋าเดินทางหรือกระเป๋าเอกสาร ก็ต้องสลับมือเรื่อยๆ
- ถ้าของหนักมาก ให้ใช้เป้หรือกระเป๋าเอกสารแบบมีล้อ
- ยอมเสียเวลาเดินกลับไปเก็บหนังสือเรียนเก่า และหยิบหนังสือเรียนใหม่ที่โต๊ะในห้องเรียนหรือล็อคเกอร์ จะได้ไม่ต้องแบกเดินเรียนไปทั้งหมด แต่ถ้าไกล มีเวลาก่อนคาบใหม่เริ่มแค่สั้นๆ ก็บอกครูว่าแวะไปห้องพยาบาล/ห้องน้ำมา หรือใครเคยหาหมอเรื่องกระดูกโดยเฉพาะก็ยื่นใบรับรองแพทย์ให้อาจารย์ซะเลย
-
ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวให้มากขึ้น. การออกกำลังกายแบบหนักปานกลางดีต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งช่วยลดน้ำหนัก เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ดีต่อกระดูกสันหลัง [7] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล ถ้าน้ำหนักตัวเยอะเกินไป เท่ากับเพิ่มแรงกดทับให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังโดยใช่เหตุ เพิ่มความเสี่ยงเรื่องข้อเสื่อมและกระดูกสันหลังคด นอกจากนี้ถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรง ก็จะยึดกระดูกและข้อไม่ให้เคลื่อน เล่นเวทนี่แหละช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดีที่สุด แต่ระวังอย่าเจาะบริหารเฉพาะบางกลุ่มกล้ามเนื้อ เพราะจะทำให้ยืนเดินผิดท่าผิดทางได้ ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอหรือฟิตเนสเทรนเนอร์เก่งๆ ถ้าไม่แน่ใจว่าควรบริหารจุดไหนยังไง
- ทุกเช้าหลังตื่นนอน ให้นอนหงายแล้วทำท่า "snow angels" คือกวาดแขน-ขาไปมาช้าๆ 3 - 5 นาที ท่านี้ใช้วอร์มและยืดเหยียดเบาๆ ได้หลายกลุ่มกล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง
- เล่นเครื่องกรรเชียงบก (rowing machine) ที่ฟิตเนส เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อระหว่างสะบัก ดีต่อท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายท่อนบนด้วย
- พิลาทิสกับโยคะก็เป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยยืดเหยียด และช่วยเรื่องการทรงตัวของร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (ท้อง เชิงกราน และหลังส่วนล่าง) ซึ่งเป็นรากฐานของท่าทางที่ดี
-
ร่างกายต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็น. ถ้าอยากให้กระดูกเหยียดตรง แข็งแรง สุขภาพดี ร่างกายต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน แร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และโบรอนจะมาสะสมที่เนื้อเยื่อ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ถ้าขาดไป กระดูกจะเปราะ แตกหรือหักง่าย (ที่เรียกว่าโรคกระดูกพรุน (osteoporosis)) วิตามินดีก็สำคัญต่อสุขภาพกระดูก ถ้าขาดไปกระดูกจะนิ่ม คดงอหรือบิดผิดรูปง่าย (เรียกว่าโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (rickets) หรือโรคกระดูกน่วม/อ่อน (osteomalacia) ในผู้ใหญ่)
- ผิวหนังจะสร้างวิตามินดีได้ถ้าโดนแดดเพียงพอ ถ้าเมืองร้อนแบบบ้านเรา แนะนำให้ออกไปเดินรับแดดเช้า จะไม่แรงจนเป็นอันตราย
- ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำในแต่ละวันคือ 1,000 – 1,200 มก. ตามช่วงอายุ โดยอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดีคือ คะน้าฝรั่ง (collards) เคล ปวยเล้ง ปลาซาร์ดีน เต้าหู้ อัลมอนด์ และงา [8] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
-
ไปจัดกระดูก. ไปหานักจัดกระดูกเป็นประจำ (อาจจะเดือนละครั้ง) นอกจากช่วยบรรเทาอาการปวดกระดูกสันหลังอย่างเห็นผลแล้ว ยังทำให้กระดูกเรียงตัวตรงขึ้นด้วย [9] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง นักจัดกระดูกจะใช้การทำกายภาพที่เรียงว่าการดัดหรือจัดกระดูก (spinal adjustments) เพื่อให้กระดูกเรียงตัวตามปกติ หรือแก้ข้อกระดูกสันหลังขัด วิธีนี้แก้โรคกระดูกสันหลังคดไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้กระดูกสันหลังตรงขึ้นได้เล็กน้อย โดยเฉพาะหลังถูกกระแทก เช่น เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์
- เวลาจัดกระดูกสันหลัง อาจจะได้ยินเสียงกระดูกลั่น เหมือนเวลาหักข้อนิ้วดัง “ป๊อก” นั่นเพราะความดันในข้อต่อเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดฟองอากาศ
- จัดกระดูกสันหลังแล้วอาจไม่ค่อยสบายตัวบ้าง แต่ไม่ถึงกับเจ็บจนทนไม่ไหว
-
ไปนวด. ให้หมอนวดที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต นวดหลัง ไหล่ และ/หรือคอ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อ ดีต่อการเรียงตัวของกระดูก โดยเฉพาะคนที่กล้ามเนื้อแถวกระดูกสันหลังตึงเกร็งจนดึงรั้ง นอกจากนี้นวดแล้วยังช่วยคลายเครียด ที่ปกติเป็นสาเหตุให้คุณยืน เดิน นั่งผิดท่าทาง โดยเฉพาะลำตัวช่วงบน
- นวดแล้วช่วยขับกรดแลคติก สารพิษ และสารประกอบต่างๆ ที่ก่ออาการอักเสบ ออกจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อน ไปยังกระแสเลือด เพราะงั้นต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับต่อจนออกไปจากร่างกาย
- หมอนวดบางคนจะทำ reflexology หรือนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า ให้คุณได้ด้วย เป็นการกดจุดกระตุ้นให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ถ้าทำได้ ก็ลองให้หมอนวดช่วยกดจุดที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังดู
-
ทำกายภาพบำบัด (physiotherapy หรือ Physical Therapy). นักกายภาพบำบัด (physical therapist) จะวางแผนว่าคุณควรยืดเหยียดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกสันหลังยังไง โดยเน้นป้องกันกระดูกสันหลังคดงอ ถ้าจำเป็นก็อาจต้องบำบัดกล้ามเนื้อด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้อัลตราซาวด์ หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า การเน้นบริหารกล้ามเนื้อหลัง คอ (ก้มเงย) และกล้ามเนื้อเชิงกรานก็สำคัญต่อท่าทางที่ดี
- เล่นเวทเพิ่มแรงต้านทาน เสริมสร้างความแข็งแรง ก็ช่วยยับยั้งหรือรักษาการสูญเสียมวลกระดูกได้ในบางกรณี เลยทำให้ดีต่อการเรียงตัวและสุขภาพของกระดูกสันหลังโดยรวม
- ถ้าล้าหรือปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายหรือนวด ให้แช่น้ำผสมดีเกลือฝรั่ง (Epsom salt bath) เพราะแมกนีเซียมในเกลือจะช่วยคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาปวด
-
กินยาตามหมอสั่ง. ถ้าคุณเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกสันหลังเปราะ ไม่ค่อยหนาแน่น แล้วกลัวกระดูกคดหรือหักง่าย ให้ปรึกษาคุณหมอเรื่องกินยาให้กระดูกแข็งแรง ปกติจะเป็นยากลุ่ม bisphosphonates ที่ขายกันทั่วไป เช่น Boniva, Reclast และ Fosamax ส่วนยาฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกก็เช่น raloxifene, calcitonin และ parathyroid hormone
- Bisphosphonates อาจทำให้เสี่ยงกระดูกหักแบบเคสที่หายาก และทำให้ปวดกระดูก ข้อ หรือกล้ามเนื้อ
- Teriparatide ที่เป็นพาราไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดหนึ่ง จะไปเพิ่มอัตราการสร้างกระดูก เป็นยา "ตัวแรก" ที่ FDA หรือองค์การอาหารและยาของอเมริการให้การรับรอง ว่าใช้รักษาโรคกระดูกพรุนและสร้างกระดูกทดแทนได้จริง
-
อาจจะต้องผ่าตัด. ควรเก็บการผ่าตัดสันหลังไว้เป็นหนทางสุดท้ายจริงๆ เว้นแต่ผู้ป่วยเป็นเด็กที่กระดูกพรุนจนกระดูกสันหลังคดงอเสียรูปอย่างรวดเร็ว การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกพรุนคือ spinal fusion ก็คือ "เชื่อม" ข้อกระดูกสันหลังนั่นเอง [10] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง จุดประสงค์หลักคือให้กระดูกสันหลังที่คดงอกลับมาเรียงตัว เชื่อมต่อกัน ตามปกติ กลายเป็นกระดูกท่อนทึบยาวท่อนเดียว โดยจะทำการปลูกถ่ายกระดูก (bone graft) คือเอากระดูกชิ้นเล็กๆ มาต่อในช่องว่างระหว่างข้อกระดูกสันหลังแล้วเชื่อมติดกัน ให้กระดูกงอกตามปกติ เหมือนตอนรักษากระดูกที่แตกหรือหัก
- บางทีก็ใช้แท่งเหล็กยึดกระดูกสันหลังจนกว่าจะเชื่อมติดกัน โดยยึดไว้ด้วยสกรู ตะขอ และ/หรือลวด แล้วค่อยเอาออกทีหลัง
- ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังผ่าตัดก็เช่น การติดเชื้อ อาการแพ้ยาสลบ เส้นประสาทเสียหาย และปวด/บวมเรื้อรัง
โฆษณา
-
ตรวจหากระดูกสันหลังคด. Scoliosis คือโรคกระดูกสันหลังคด มักเกิดแถว thoracic region (กระดูกสันหลังส่วนอก (ระหว่างสะบัก)) ทำให้ปวดหลังและขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้จำกัด [11] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Mayo Clinic ไปที่แหล่งข้อมูล บางคนก็เกิดมาเป็นโรคกระดูกสันหลังคดแบบหาสาเหตุไม่ได้ แต่บางคนก็มาเป็นเอาตอนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แนะนำให้พาลูกไปตรวจหากระดูกสันหลังคดเมื่อขึ้นม.ต้น จะหมอหรือพยาบาลก็ตรวจให้ได้ วิธีการคือให้เด็กโก้งโค้งตั้งแต่ส่วนสะโพกลงไป แล้วดูว่าสะบักข้างไหนยื่นออกมามากกว่า
- การตรวจหากระดูกสันหลังคดควรทำในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะการรักษาและบรรเทาอาการ (ใส่หรือฝังแท่งเหล็ก) จะเห็นผลกว่า ถ้าทำตอนกระดูกสันหลังยังพัฒนา
- เด็กผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกสันหลังคดได้ง่ายกว่า แถมเสี่ยงอาการหนัก ต้องรีบตรวจรักษา [12] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
หาหมอเฉพาะทาง. ถ้าพยาบาลหรือหมอทั่วไปตรวจพบกระดูกสันหลังคด หรือความผิดปกติใดก็ตาม ให้หาหมอเฉพาะทางต่อไป ศัลยแพทย์กระดูกและข้อจะตรวจวินิจฉัยกระดูกสันหลังโดยละเอียด รวมถึงเอกซเรย์ให้เห็นปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้คุณหมอจะตรวจหาโรคของกระดูกสันหลังที่เกี่ยวข้องและพบบ่อยเพิ่มเติม เช่น ข้อเสื่อม (osteoarthritis) กระดูกพรุน (osteoporosis) และหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (herniated discs) ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุก่อโรคกระดูกสันหลังคดและความผิดปกติทางชีวกลศาสตร์ [13] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- คุณหมออาจจะทำ CT scans, MRI, สแกนกระดูก หรือเอกซเรย์ละเอียดเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัยด้วย
- คุณหมอไม่ค่อยนิยมรักษาโรคหรือความผิดปกติที่กระดูกสันหลังด้วยการผ่าตัด
-
ปรึกษานักจัดกระดูก. chiropractor หรือ osteopath เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ที่เน้นรักษากระดูกสันหลังและส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วยวิธีธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาหรือการผ่าตัด นักจัดกระดูกจะสามารถตรวจหาความผิดปกติในกระดูกสันหลังได้ เช่น ความคดงอ ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว หรือกล้ามเนื้อตึงเกร็ง
- ถึงปกติกระดูกสันหลังส่วนบนถึงกลางจะโค้งไปด้านหน้าเล็กน้อย แต่ถ้ามากเกินไป จะทำให้หลังค่อม (hyper-kyphosis หรือ hunchback) ได้ [14] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ซึ่งสาเหตุหลักๆ คือ โรคกระดูกพรุน ข้ออักเสบ เนื้องอก และยืนหรือนั่งหลังงอจนชิน
- ถ้ากระดูกสันหลังส่วนบนเหยียดตรงเกินไปก็ถือว่าผิดปกติ เรียกว่า "military spine"
-
ระวังเรื่องเชิงกรานข้างหนึ่งเล็กกว่าอีกข้าง (small hemipelvis). ปกติกระดูกเชิงกรานจะประกอบด้วยกระดูก 2 ชิ้นที่เชื่อมกันด้วยเอ็นยึด (ligaments) ถ้ากระดูกชิ้นหนึ่งเล็กกว่าอีกข้าง จะทำให้นั่งหรือยืนแล้วเอียงไปทางข้างที่กระดูกชิ้นเล็กกว่า [15] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ทำให้กระดูกสันหลังคดได้พอกับๆ ปัญหาด้านสุขภาพและท่าทาง ถ้าสังเกตว่าตัวเองนั่งแล้วเอียงไปข้างหนึ่ง ให้ลองปรึกษาคุณหมอดู อาจจะมีปัญหานี้
- วิธีแก้คือให้เสริมพื้นรองเท้า แล้วหาหนังสือ นิตยสาร หมอน หรือเบาะมารองนั่ง จะได้ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง [16] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
เคล็ดลับ
- จะจัดวางท่าทางของตัวเองได้เหมาะสม ก็ต้องมีสติรู้ตัวซะก่อน แรกๆ ให้สำรวจท่าทางของตัวเองในกระจกก่อน แล้วปรับแก้ไป ลองสังเกตว่าถ้าเปลี่ยนท่าทางแล้วรู้สึกยังไง จากนั้นก็ฝึกให้รู้ตัวและจัดท่าทางให้ดูดีอยู่เสมอ
- การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องย้ายกล้ามเนื้อและจัดเรียงกระดูกซะใหม่ ส่วนจะเจ็บหรือปวดแค่ไหนหลังผ่าตัด ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละคน
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ http://www.mayfieldclinic.com/PE-AnatSpine.htm#.VZSTeUb9O1s
- ↑ http://www.scoi.com/importance-good-posture
- ↑ http://www.spine-health.com/wellness/ergonomics/five-more-tips-reducing-back-pain-office
- ↑ http://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=1&ContentID=4460
- ↑ http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20023607
- ↑ http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20023607
- ↑ http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0072772/
- ↑ http://www.whfoods.com/genpage.php?tname=nutrient&dbid=45
- ↑ http://www.acatoday.org/level3_css.cfm?T1ID=13&T2ID=61&T3ID=152
- ↑ http://www.srs.org/patient_and_family/FAQs/surgical_treatment_for_scoliosis.htm
- ↑ http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scoliosis/basics/definition/con-20030140
- ↑ http://www.campbellclinic.com/pediatric-spine/?page_id=84
- ↑ http://www.healthypeople.gov/2020/topics-objectives/topic/Arthritis-Osteoporosis-and-Chronic-Back-Conditions
- ↑ http://espine.com/abnormal-spinal-anatomy/
- ↑ http://bodyacheescape.com/small-hemipelvis/
- ↑ http://bodyacheescape.com/small-hemipelvis/
โฆษณา