ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

กำลังคิดว่าอยากหาน้องหมาตัวใหม่สักตัวเข้ามาในชีวิต? หรืออยากให้น้องหมาที่เลี้ยงอยู่เป็นเด็กดีขึ้นอีกสักนิด? หรือแค่อยากฝึกน้องหมาให้ทำตามที่คุณต้องการบ้าง แทนที่จะให้เขาทำตามใจตัวเองทุกครั้งไป? แน่นอนว่าการพาน้องหมาไปเข้าชั้นเรียนกับครูฝึกที่มีความเชี่ยวชาญย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกระเป๋าตุงมีตังค์พอจ่ายค่าเล่าเรียนหรอกจริงไหม วันนี้เราจึงนำเทคนิคดีๆ สำหรับการเริ่มต้นฝึกเพื่อนรักสี่ขาของคุณมาฝากกัน อย่างไรก็ตาม หลักการและวิธีการฝึกสุนัขนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก คุณจึงอาจต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสำหรับทั้งคุณและสุนัขของคุณ [1]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 13:

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการฝึกสุนัข

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลังจากสร้างเผ่าพันธุ์บนผืนโลกมานานนับศตวรรษ สุนัขยุคใหม่นับเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากที่สุดในโลกปัจจุบัน แม้จะมีสุนัขบางสายพันธุ์ที่น่าจะเข้ากันได้กับทุกไลฟ์สไตล์ของคนเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของคุณได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณชอบใช้ชีวิตชิวๆ ผ่อนคลาย คุณคงไม่อยากได้น้องหมาพันธุ์แจ็ครัสเซลเทอร์เรียที่ขึ้นชื่อเรื่องชอบเห่าอยู่ตลอดเวลา แถมยังมีพลังงานสูงปรี๊ด [2] แต่อาจจะลองหาน้องบูลด็อกสักตัวมาเลี้ยงแทน เพราะเป็นพันธุ์ที่เรียกได้ว่านอนซุกโซฟาได้ตลอดทั้งวันเลยทีเดียว [3] คุณจึงต้องลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยและวิธีการเลี้ยงดูสุนัขพันธ์ต่างๆ หรืออาจสอบถามจากเพื่อนๆ ที่เป็นเจ้าของสุนัขว่าพันธุ์ที่เขาเลี้ยงมีนิสัยอย่างไรบ้าง
    • สุนัขส่วนใหญ่จะมีอายุได้ประมาณ 10-15 ปี การหาสุนัขมาเลี้ยงจึงถือเป็นการตัดสินใจระยะยาว คุณจึงต้องแน่ใจว่านิสัยใจคอของสุนัขพันธุ์นั้นๆ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณจริงๆ
    • หากตอนนี้คุณยังไม่มีครอบครัว อย่าลืมคิดเผื่อด้วยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าคุณอาจจะมีเด็กตัวเล็กๆ วิ่งวุ่นรอบบ้านด้วยรึเปล่า เพราะสุนัขบางพันธุ์ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในครอบครัวที่มีเด็กรวมอยู่ด้วย
  2. คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่าสุนัขแบบไหนที่จะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคุณได้จริงๆ อย่าหาสุนัขที่จำเป็นต้องพาไปทำกิจกรรมโน่นนี่อยู่บ่อยๆ เพียงเพราะคุณอยากหาเหตุผลให้ตัวเองต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าคุณไม่สามารถพาน้องสุนัขผู้มีพลังงานเหลือล้นไปออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายจะพาลทำให้ทั้งคุณและสุนัขรู้สึกหงุดหงิดเสียเปล่าๆ
    • ลองเขียนความต้องการและนิสัยใจคอของสุนัขพันธุ์ที่เล็งไว้ รวมถึงวิธีการที่่คุณจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้
    • ถ้าผลปรากฏว่าคุณอาจต้องพยายามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ครั้งยิ่งใหญ่ คุณคงต้องเลือกสุนัขพันธุ์ใหม่แล้วล่ะ
  3. น้องหมาของเราจำเป็นต้องมีชื่อที่เขาสามารถเรียนรู้และจดจำได้ง่ายเพื่อให้คุณสามารถดึงความสนใจของเขาได้ตลอดการฝึก ชื่อที่ใช้ควรมีเสียงที่ชัดเจนและหนักแน่นพอให้น้องหมาของเราจดจำได้ ชื่ออย่างเช่น “บัดดี้” หรือ “โรเวอร์” หรือ “บีบี” จะมีเสียงที่ต่างจากคำพูดส่วนใหญ่ของมนุษย์ที่สุนัขสามารถได้ยิน
    • เรียกชื่อของเขาให้บ่อยในระหว่างที่กำลังเล่นกับเขา กอดเขา ฝึกเขา หรือต้องการเรียกความสนใจจากเขา
    • ถ้าน้องสุนัขมองกลับมาเมื่อคุณเรียกชื่อ แสดงว่าเขาเรียนรู้ชื่อของตัวเองได้แล้วล่ะ
    • พยายามสร้างความเชื่อมโยงดีๆ กับชื่อของเขาเพื่อให้เขาโฟกัสที่คุณทุกครั้งที่คุณเรียกชื่อ เช่น อาจจะชมหรือให้ขนมเขาสักหน่อยเมื่อเขาหันมาเมื่อได้ยินชื่อ
  4. คุณจะต้องหาเวลาประมาณ 15-20 นาที ให้ได้สัก 2-3 ครั้งต่อวันหากต้องการฝึกแบบจริงๆ จังๆ เพราะลูกสุนัขจะสนใจอะไรสักอย่างได้เพียงเวลาสั้นๆ แถมยังเบื่อง่าย เหมือนเด็กวัยเตาะแตะนั่นล่ะ
    • อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ว่านี้ไม่ใช้เวลาเดียวที่คุณต้องฝึกน้องสุนัขของคุณหรอกนะ ความจริงแล้วการฝึกจะต้องดำเนินไปตลอดทั้งวันในขณะที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ กับเขา เพราะเขาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคุณในทุกครั้งที่คุณเล่นกับเขานั่นเอง
    • นิสัยไม่ดีต่างๆ ของน้องสุนัขเกิดจากการที่เจ้าของปล่อยให้น้องทำนิสัยไม่ดีนอกเวลาฝึก คุณจึงต้องคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของสุนัขนอกเวลาฝึกด้วยเช่นกัน ถ้าเขาเข้าใจสิ่งที่คุณสอนในเวลาฝึก คุณต้องทำให้แน่ใจว่าเขาจะจดจำสิ่งนั้นๆ ได้แม้อยู่นอกเวลาฝึก
  5. รู้ไว้เลยว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณฝึกสุนัข คุณจะต้องใจเย็นและรักษาระดับอารมณ์ให้กลางๆ เข้าไว้ เพราะถ้าคุณเผลอแสดงอารมณ์โกรธหรือตื่นเต้นไม่ว่าจะในรูปแบบใด มันจะส่งผลเสียต่อการฝึกอย่างแน่นอน คุณจึงต้องจำไว้ว่าเป้าหมายในการฝึกคือการกระตุ้นให้สุนัขแสดงพฤติกรรมดีๆ และทำโทษเมื่อเขาทำพฤติกรรมที่ไม่ดี มันอาจจะฟังดูเข้มงวดกวดขันไปหน่อย แต่ถ้าอยากฝึกสุนัขให้ได้ผล คุณก็ต้องอาศัยทั้งความมุ่งมั่น เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ และต้องทำให้สุดๆ ด้วย
  6. นอกเหนือจากการดูแลจากคุณแล้ว ในระยะเริ่มต้นคุณอาจต้องใช้สายจูงน้องสุนัขขนาดสัก 6 ฟุต กับปลอกคอแบนๆ หรือปลอกคอ 2 ชั้น หรืออาจขอคำแนะนำจากครูฝึกมืออาชีพเกี่ยวกับอุปกรณ์เพิ่มเติมที่ต้องใช้ เช่น ปลอกคอแบบมัดหัว (head halter) ที่ “รับประกันความเชื่อฟัง” หรือสายจูง “แบบไม่ดึงรั้ง” หรือปลอกคอโลหะสำหรับการฝึกโดยเฉพาะ หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ โดยสำหรับลูกสุนัขหรือสุนัขขนาดเล็กนั้นมักไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่รุนแรง แต่สำหรับสุนัขที่ขนาดโตสักหน่อยอาจต้องใช้อุปกรณ์พิเศษชั่วคราว (เช่น สายจูง “รับประกันความเชื่อฟัง”) เพื่อดึงความสนใจจากคุณสุนัขตัวใหญ่ยักษ์ของเรา [4]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 13:

นำหลักการฝึกทั่วไปมาปรับใช้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณต้องเข้าใจก่อนว่าการฝึกในบางวันอาจไม่สมบูรณ์เพอร์เฟคดั่งใจ และคุณต้องไม่หงุดหงิดหรือเอาไปลงกับสุนัข คุณจะต้องปรับทั้งพฤติกรรมและทัศนคติของตัวคุณเองเพื่อกระตุ้นศักยภาพของน้องสุนัขและทำให้เขามีความมั่นใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคุณ โดยทั่วไปถ้าคุณใจเย็น สุนัขของคุณก็จะใจเย็นด้วยเช่นกัน
    • ถ้าน้องสุนัขเริ่มหวาดกลัวอารมณ์ฉุนเฉียวของคุณ เขาจะไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่จะเรียนรู้ที่จะคอยระวังตัว และจะไม่ไว้ใจคุณอีกต่างหาก
    • โรงเรียนฝึกสุนัขและครูฝึกที่ดีสามารถช่วยหาวิธีการปรับพฤติกรรมของคุณ ซึ่งสามารถต่อยอดไปเป็นความสำเร็จในการฝึกน้องสุนัขได้ในที่สุด
  2. สุนัขแต่ละตัวมีนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน และสุนัขต่างสายพันธุ์ก็มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ต่างกัน รวมถึงเรียนรู้ได้เร็วช้าแตกต่างกันไปเหมือนเด็กๆ นั่นล่ะ น้องสุนัขบางตัวอาจดื้อดึงและสร้างปัญหาให้คุณในทุกๆ ก้าว ในขณะที่น้องสุนัขบางตัวกลับพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อเอาใจคุณ คุณจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคการฝึกสักเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับนิสัยใจคอของน้องสุนัข
  3. สุนัขเขาไม่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลในระยะยาว พวกเขาจะเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใดเท่านั้น คุณจึงต้องชื่นชมหรือให้รางวัลกับเขาภายใน 2 วินาทีหลังจากที่เขาแสดงพฤติกรรมที่ต้องการเพื่อกระตุ้นให้พฤติกรรมนั้นๆ เกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะถ้าคุณเว้นระยะนานเกินไป เขาจะไม่เชื่อมโยงรางวัลกับพฤติกรรมที่คุณบอกให้เขาทำ
    • นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมชื่นชมเขาให้เร็วพอที่เขาจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังชื่นชมโดยไม่คลาดเคลื่อน มิเช่นนั้นคุณอาจลงเอยด้วยการให้รางวัลกับพฤติกรรมที่คุณไม่ต้องการโดยไม่รู้ตัว
    • ตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าคุณกำลังสอนน้องหมาให้ “นั่ง” ตามคำสั่ง แต่เขานั่งตามสั่งอยู่แค่ครู่เดียว และในขณะที่คุณชื่นชมและให้รางวัลกลับเป็นจังหวะที่เขาเริ่มยืนขึ้นพอดิบพอดี ในกรณีนี้แสดงว่าคุณกำลังให้รางวัลกับการยืน ไม่ใช่การนั่ง
  4. ลองใช้อุปกรณ์ฝึกสุนัขที่เรียกว่า “คลิกเกอร์” (clicker). การฝึกด้วยคลิกเกอร์เป็นวิธีการที่จะช่วยให้คุณสามารถแสดงความชื่นชมได้ทันท่วงทีโดยอาศัยเจ้าสิ่งที่เรียกว่าคลิกเกอร์นี่ล่ะ เพราะการกดคลิกทำได้เร็วกว่าการให้ของรางวัลหรือลูบหัวชื่นชม ด้วยเหตุนี้ การฝึกด้วยคลิกเกอร์จึงสามารถกระตุ้นพฤติกรรมที่ต้องการได้เร็วพอให้น้องสุนัขเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยการสร้างความเชื่อมโยงเชิงบวกระหว่างเสียงคลิกกับของรางวัล และในท้ายที่สุด สุนัขของคุณจะยึดเสียงคลิกเป็นรางวัลที่เพียงพอให้เขาแสดงพฤติกรรมดีๆ ออกมา คุณสามารถนำหลักการฝึกด้วยคลิกเกอร์ไปใช้กับทุกคำสั่งได้เลยทีเดียว
    • กดอุปกรณ์ส่งเสียงคลิกของคุณ และให้รางวัลกับน้องสุนัขในทันทีเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเชิงบวกกับเสียงคลิกนั้น หลังจากนั้น เสียงคลิกจะกลายเป็น “สัญญาณบอก” ว่าพฤติกรรมหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้น้องสุนัขของเรารู้ว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
    • เมื่อน้องสุนัขแสดงพฤติกรรมที่ต้องการ ให้ทำเสียงคลิกและให้รางวัลแก่เขา และเมื่อเขาเริ่มทำพฤติกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง คุณอาจจะตั้งชื่อให้กับคำสั่งให้ทำพฤติกรรมนั้นๆ จากนั้นจึงเริ่มผูกคำสั่งกับพฤติกรรมเข้าด้วยกันโดยอาศัยคลิกเกอร์เป็นตัวช่วย
    • ตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะเริ่มสอนน้องหมาด้วยคำสั่ง “นั่ง” ให้คุณทำเสียงคลิก ให้รางวัล ตามด้วยชื่นชมเขาเมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นเขานั่ง เมื่อเขาเริ่มนั่งเพียงเพื่อให้ได้รางวัล ให้เริ่มพูดคำว่า “นั่ง” เพื่อให้เขานั่งในท่าที่ถูกต้อง จากนั้นให้เริ่มจับคู่คำสั่งกับเสียงคลิกเพื่อเป็นการให้รางวัลเขา ท้ายที่สุดเขาจะเรียนรู้ว่าการนั่งเมื่อได้ยินคำสั่ง “นั่ง” จะทำให้เขาได้รางวัลเป็นเสียงคลิก
  5. สุนัขของคุณจะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณต้องการจากเขาหากสิ่งรอบๆ ตัวเขาขาดความต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นทุกคนที่อาศัยอยู่กับน้องสุนัขควรทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในเป้าหมายการฝึก ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังฝึกให้น้องหมาไม่กระโจนใส่ผู้คน ต้องอย่าให้เด็กๆ ในบ้านยอมให้น้องหมากระโจนใส่ เพราะมันจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณพร่ำสอนสูญไปเปล่าๆ
    • ต้องแน่ใจว่าทุกคนใช้คำสั่งเดียวกับที่น้องหมาได้เรียนรู้ในการฝึก เพราะน้องหมาของเราไม่ได้พูดภาษาไทย และเขาก็ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างคำว่า “นั่ง” กับ “นั่งลง” ได้ การใช้ 2 คำนี้สลับไปมาจึงอาจทำให้เขาสับสน
    • และเพราะน้องหมาของเราไม่รับรู้ถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างคำสั่งหนึ่งๆ กับการกระทำหนึ่งๆ การตอบสนองต่อคำสั่งของเขาจึงมีแค่ตรงเป้ากับพลาดเป้าเท่านั้น
  6. ให้รางวัลกับความสำเร็จและพฤติกรรมดีๆ ของน้องหมาทุกครั้งด้วยการชื่นชมหรืออาจให้ขนมเล็กๆ น้อยๆ. เราจะใช้ขนมชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้น้องหมาเรียนรู้การฝึก โดยขนมที่ให้ต้องเป็นชิ้นเล็กๆ รสชาติอร่อย และเคี้ยวง่าย เพราะคุณคงไม่อยากให้การฝึกหยุดชะงักหรือทำให้น้องหมาของเราอิ่มแปล้เร็วเกินไปหรอกจริงไหม
    • ลองคิดถึงเวลาที่ใช้ในการเคี้ยวอาหารแข็งๆ กับอาหารที่นุ่มนิ่มสักหน่อยอย่างเช่น “Bill Jack” หรือ “Zuke’s Mini Naturals” อาหารที่มีขนาดประมาณหัวยางลบดินสอถือว่ากำลังดีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยที่น้องหมาไม่ต้องใช้เวลาในการทานนานเกินไป
  7. เมื่อสอนคำสั่งที่ยากๆ หรือที่สำคัญๆ คุณอาจต้องลงทุนใช้อาหาร “ดีๆ” เพื่อเพิ่มความเย้ายวนใจให้กับน้องสุนัขของเราสักหน่อย เช่น อาจจะใช้เป็นตับอบแห้ง อกไก่ย่าง หรือลูกชิ้นปิ้งรสโปรดก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
    • เมื่อสุนัขของเราเริ่มเรียนรู้คำสั่ง ให้ค่อยๆ นำอาหารดีๆ นั้นออกไป และนำเขากลับเข้าสู่การฝึกต่อไป แต่ต้องยังคอยชมเขาอยู่เรื่อยๆ
  8. อย่าให้อาหารพูนจานเหมือนอย่างเคยในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนการฝึก เพราะยิ่งน้องหมาของเราหิวโหยอยากได้อาหารมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งตั้งใจทำในสิ่งที่จะทำให้ได้อาหารตกถึงท้อง
  9. แม้การฝึกจะไม่เป็นไปด้วยดีสักเท่าไหร่ และน้องหมาของเรายังทำตามคำสั่งใหม่ไม่ได้ เราก็ควรปิดการฝึกด้วยอะไรสักอย่างที่จะทำให้คุณชื่นชมเขาได้ เพราะถ้าคุณปิดการฝึกด้วยคำสั่งที่เขาทำตามได้อย่างมือโปร สิ่งสุดท้ายที่เขาจะจดจำได้จากการฝึกคือความรักและคำชื่นชมจากคุณ
  10. ถ้าน้องหมาเห่าใส่ในเวลาที่คุณไม่ต้องการ ไม่ต้องสนใจเขาและปล่อยให้เขาหยุดไปเอง จากนั้นจึงให้รางวัลเขาด้วยการชื่นชม เพราะบางครั้งน้องหมาของเราก็แค่เห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจเท่านั้น แต่บางครั้งก็อาจเป็นเพราะเขาหงุดหงิดได้เหมือนกัน
    • อย่าโยนลูกบอลหรือของเล่นเมื่อเขาเห่า เพราะมันเป็นการสอนว่าถ้าเขาเห่า เขาจะได้ทำในสิ่งที่ต้องการ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 13:

การฝึกให้สุนัขเดิน “ชิด”

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีการนี้นอกจากจะดีต่อการฝึกแล้ว ยังดีต่อสุขภาพกายและจิตของน้องหมาอีกด้วย เพราะเขาอาจต้องออกกำลังกายมากๆ จึงจะมีความสุขและไม่อ้วนตุ๊ต๊ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่คุณมีด้วยเช่นกัน
  2. สุนัขส่วนใหญ่จะดึงสายจูงในขณะที่เขากำลังเรียนรู้การเดิน เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเริ่มดึง ให้คุณหยุดนิ่งทันที อย่าก้าวเดินต่อจนกว่าน้องสุนัขจะกลับมายืนข้างๆ และโฟกัสที่คุณ
  3. วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือการเดินไปอีกทางและทำให้น้องหมาอยากเดินตาม และเมื่อเขาเดินตามทัน จงชื่นชมพร้อมให้ขนมเป็นรางวัลกับเขาสักหน่อย
  4. สุนัขจะมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่ทำให้เขาต้องทำแผนที่เส้นทางที่เขาเดินไปและคอยสอดส่องสำรวจสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา คุณจึงต้องทำให้การเดินข้างๆ คุณเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าสิ่งเหล่านั้น โดยการพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าตื่นเต้นเพื่อเปลี่ยนทิศทางเดิน และมอบของบรรณาการให้เมื่อเขากลับมายืนข้างๆ
  5. เมื่อน้องหมาคอยเดินข้างๆ ไม่ห่างอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณอาจจะลองตั้งชื่อให้กับพฤติกรรมนี้อย่างเช่น “ชิด” หรือ “ไปกัน”
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข “มา”

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เราจะใช้คำสั่ง “มา” เมื่อคุณอยากให้น้องหมามาหาคุณ คำสั่งนี้อาจจะเป็นคำสั่งช่วยชีวิตได้เลยทีเดียว เพราะมันจะทำให้น้องหมาของคุณไม่วิ่งเตลิดไปเมื่อเชือกหลุด
  2. คุณควรเริ่มการฝึกภายในบ้าน/อาคาร (หรือสนามที่ล้อมรั้ว) ที่มีสิ่งรบกวนน้อย และอย่าลืมเกี่ยวสายจูงขนาด 6 ฟุตเข้ากับปลอกคอน้องหมาเพื่อใช้ดึงความสนใจจากเขาและเพื่อไม่ให้เขาวิ่งออกไปข้างนอก
  3. คุณจะต้องทำให้น้องหมาวิ่งมาหาคุณ โดยอาจจะใช้เสียงสูงๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับการเล่น ของเล่น หรืออาจจะตบมือให้ดูน่าตื่นเต้น หรืออาจแค่กางแขนออก การวิ่งห่างออกไปจากเขาเล็กน้อยแล้วหยุดนิ่งก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะน้องหมาจะเริ่มวิ่งไล่คุณตามธรรมชาติของเขา
    • ชื่นชมด้วย “น้ำเสียงแห่งความสุข” เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากวิ่งมาหาคุณ
  4. โดยอาจจะกดคลิกเกอร์ ชื่นชมเขาด้วย “น้ำเสียงแห่งความสุข” และให้ขนมเขาสักนิดเมื่อเขาวิ่งมาถึงคุณ
  5. เมื่อน้องหมาของเราเริ่มเรียนรู้ว่าเขาจะได้รางวัลเมื่อวิ่งมาหาคุณ ให้คุณเริ่มพูดคำสั่ง “มา” และเมื่อไหร่ที่เขาตอบสนองกับคำสั่ง ให้กระตุ้นพฤติกรรมนี้ด้วยการจับคู่กับการพูดว่า “ดี”: “ดีมาก!”
  6. เพราะคำสั่ง “มา” อาจช่วยชีวิตน้องสุนัขของคุณได้ เขาจึงต้องเรียนรู้ที่จะทำตามคำสั่งแม้ในยามที่มีสิ่งอื่นล่อใจเขา เราจึงต้องย้ายชั้นเรียนจากบ้านหรือสนามหลังบ้านไปยังสวนสาธารณะที่มีทั้งภาพ เสียง และกลิ่นคอยล่อตาล่อใจเขาอยู่มากมาย
  7. ในตอนแรกเราเริ่มการฝึกด้วยสายจุงยาว 6 ฟุต แต่ในระยะนี้ เราจะต้องปล่อยให้น้องหมาเดินห่างออกไปได้มากขึ้นอีกหน่อย
  8. ลองฝึกน้องสุนัขโดยไม่มีสายจูงในพื้นที่ที่มีรั้วกั้น. เพื่อสอนให้เขาวิ่งกลับมาหาจากระยะไกล
    • สำหรับการฝึกโดยไม่ใช้สายจูง คุณอาจต้องขอความช่วยเหลือจากใครสักคน เช่น คุณอาจจะเล่น “ปิงปอง” และสลับกันเรียกให้น้องหมาหันมาหา
  9. เพราะคำสั่งนี้มีความสำคัญมาก คำชมเชยที่คุณมอบให้จึงต้องยิ่งใหญ่สักหน่อย เพราะเราต้องทำให้น้องหมารู้สึกว่าการทำตามคำสั่ง “มา” เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในวันนั้นของเขา
  10. อย่าทำให้คำสั่งนี้เชื่อมโยงกับความทรงจำที่ไม่ดี. ไม่ว่าคุณจะหงุดหงิดแค่ไหน ห้ามกระตุ้นให้น้องหมาทำตามคำสั่ง “มา” ด้วยความโกรธโดยเด็ดขาด แม้ว่าคุณจะโมโหสุดฤทธิ์เมื่อน้องหมาตัวแสบทำเชือกหลุดและวิ่งซนไม่สนใจฟังตั้ง 5 นาทีเต็มก็ตาม จงตั้งสติและชื่นชมเมื่อเขายอมทำตามคำสั่ง “มา” ในที่สุด จำไว้ว่าคุณกำลังชื่นชมกับสิ่งสุดท้ายที่เขาทำ และสิ่งนั้นก็คือการกลับมาหาคุณ
    • อย่าสั่งสอน ตะโกนด่า ดึงแรงๆ หรืออะไรก็ตามที่จะสร้างความทรงจำเลวร้ายให้กับการมาหาคุณ เพราะประสบการณ์แย่ๆ เพียงแค่ครั้งเดียวก็ทำให้สิ่งที่คุณพร่ำฝึกมานับปีสูญเปล่าได้
    • หลังจากให้คำสั่ง “มา” อย่าทำอะไรก็ตามที่น้องหมาของเราไม่ชอบ แม้คุณจะรู้สึกคันปากอยากใช้คำสั่งนี้เมื่อจำเป็นต้องเรียกให้เขามาอาบน้ำ ตัดเล็บ หรือทำความสะอาดหู ก็อย่าปล่อยให้มันเล็ดลอดออกมาเป็นอันขาด เพราะคำสั่ง “มา” จะต้องทำให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาชอบทุกครั้ง [5]
    • ถ้าคุณจำเป็นต้องเรียกให้เขามาทำอะไรสักอย่างที่เขาไม่ชอบจริงๆ ให้เดินไปพาเขามาแทนการใช้คำสั่งนี้ และอย่าลืมชื่นชมที่เขานั่งนิ่งไม่ดื้อไม่ซนและทำตามหน้าที่ตลอดเวลาที่ทำสิ่งนั้นๆ หรืออาจจะให้ขนมเป็นรางวัลก็ได้เช่นเดียวกัน
  11. ถ้าคุณรู้สึกจนปัญญาเมื่อน้องหมาของเราเอาแต่วิ่งซนไม่ยอมฟังคำสั่ง “มา” ให้กลับไปฝึกด้วยสายจูงอีกครั้ง และฝึกจนกระทั่งเขาทำตามคำสั่ง “มา” โดยไม่อิดออดในทุกครั้ง
    • สำหรับการฝึกนี้เราจะต้องไม่เร่งรัดให้สำเร็จ และสิ่งที่สำคัญมากคือเราจะต้องไม่ทำแบบจริงจังจนเกินไป
  12. เพราะพฤติกรรมนี้มีความสำคัญมาก มันจึงต้องได้รับการกระตุ้นตลอดช่วงชีวิตของน้องหมา เช่น ถ้าคุณพาน้องหมาไปปีนเขาโดยไม่ใช้สายจูง อย่าลืมเตรียมขนมใส่กระเป๋าไว้สำหรับกระตุ้นให้น้องหมาทำตามคำสั่ง
    • นอกจากนี้ คุณอาจจะต้องมีคำสั่งสำหรับให้น้องหมาของเรารู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ข้างๆ คุณตลอดเวลา เราอาจจะเรียกคำสั่งนี้ว่า “ลุย” อย่างไรก็ตาม แนวคิดสำหรับคำสั่งนี้คือการให้น้องหมาทำอะไรก็ได้ที่ต้องการโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งจนกว่าคุณจะออกคำสั่งจริงๆ
  13. คุณคงไม่อยากให้น้องหมาคิดว่าความสนุกจะจบลงทุกครั้งที่เขามาหาคุณ จะมีใครสักคนเอาเชือกมาผูกรัดเขา และเขาจะต้องกลับบ้าน เพราะถ้าทำอย่างนั้นน้องหมาจะเชื่อใจคุณน้อยลงและมีความสุขน้อยลงกับการทำตามคำสั่ง “มา” เพราะฉะนั้นหลังจากที่เรียกน้องหมา ให้คุณชื่นชมเมื่อเขามาหาและปล่อยให้เขาได้ “ลุย” ออกไปเล่นสนุกได้อีกครั้ง
  14. คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงสิ่งนี้กับการพูดสั่งใดๆ แค่เมื่อสุนัขวิ่งมาหา ให้คุณจับที่ปลอกคอของเขาเพื่อให้เขาไม่ขัดขืนทุกครั้งที่รู้สึกว่ามีใครมาจับปลอกคอ
    • ขณะที่คุณก้มลงไปหาเพื่อให้รางวัลที่เขาทำตามคำสั่ง “มา” ให้จับที่ปลอกคอไปด้วยในระหว่างที่ลูบคอและให้ขนมเขาเป็นรางวัล [6]
    • ติดสายจูงหลังจากจับที่ปลอกคอของเขาบ้างนานๆ ครั้ง แต่อย่าเผลอทำทุกครั้งเป็นอันขาด
    • คุณสามารถใส่สายจูงสั้นๆ และปล่อยให้เขา “ลุย” ออกไปเล่นอีกครั้งบ่อยๆ เพราะเราต้องทำให้เขารู้สึกว่าสายจูงสื่อให้เห็นว่าเรื่องสนุกๆ กำลังจะเกิดขึ้นและเราจะได้ไปเที่ยวที่โน่นที่นี่กัน และห้ามทำให้สายจูงเชื่อมโยงกับการสั่งสอนอย่างรุนแรงเป็นอันขาด
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข “ฟัง”

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คำสั่ง “ฟัง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่าคำสั่ง “มองมาทางนี้” เป็นหนึ่งในคำสั่งแรกๆ ที่เราควรสอนน้องสุนัข เพราะเราจะใช้คำสั่งนี้เพื่อเรียกความสนใจจากเขา เพื่อให้คุณสามารถให้คำสั่งถัดไปได้ บางคนอาจจะเรียกชื่อของน้องสุนัขแทนที่จะพูดว่า “ฟัง” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะถ้าคุณมีสุนัขมากกว่า 1 ตัว เพื่อให้น้องสุนัขแต่ละตัวรู้ว่าคุณต้องการให้พวกเขาโฟกัสที่คุณ
  2. อาจจะเป็นอาหารสุนัขที่ซื้อจากร้านค้า หรือไส้กรอกที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคล็ดลับก็คือให้เลือกของที่น้องสุนัขของเราโปรดปรานเป็นพิเศษจนเขาต้องยอมทำตามคำสั่ง
  3. แต่ไม่ต้องสนใจเขา ถ้าเขาแสดงปฏิกิริยาอะไรก็ตามเมื่อเห็นคุณอยู่ใกล้ๆ ก็ให้ยืนนิ่งๆ และมองไปทางอื่นจนกระทั่งเขาเลิกสนใจคุณ
  4. แต่ถ้าคุณจะใช้ชื่อของน้องหมาแทนคำว่า “ฟัง” หรือ “มองมาทางนี้” ก็ให้พูดชื่อเขาแทนได้เลย โดยใช้น้ำเสียงและความดังในระดับเดียวกับที่คุณใช้เรียกชื่อคนอื่นเพื่อเรียกความสนใจจากเขา
  5. ให้เก็บเสียงดังกังวาลไว้สำหรับสถานการณ์ “ช่วยชีวิต” เท่านั้น เช่น เมื่อเขาหนีออกไปนอกรั้วหรือเชือกหลุด เพราะถ้าคุณไม่ค่อยขึ้นเสียงกับเขา คุณจะเรียกความสนใจจากเขาได้มากกว่าเมื่อจำเป็นต้องตะโกนจริงๆ ในทางตรงข้าม ถ้าคุณ “เสียงดัง” กับเขาตลอด เขาจะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่และไม่สนใจเสียงนั้น ในที่สุดน้องหมาของเราจะไม่มองว่าการตะโกนเป็นคำสั่งที่ต้องการเรียกความสนใจจากเขามากเป็นพิเศษ
    • สุนัขมีความสามารถในการได้ยินสูงมาก สูงกว่าเราไกลลิบเลยล่ะ ความสนุกของการใช้คำสั่งนี้คือการได้ลุ้นว่าเสียงกระซิบที่เบาที่สุดที่น้องหมาของเราจะตอบสนองได้มันจะเบาขนาดไหนกันนะ และคนอื่นๆ จะคิดว่าคุณเป็น “นักกระซิบเรียกน้องหมามือฉมัง” เพราะคุณสามารถทำให้เขาทำตามคำสั่งทั้งที่แทบไม่ได้ยินเสียงกระซิบจากคุณเลย
  6. ให้รางวัลทันทีเมื่อเขาตอบสนองตามที่ต้องการ. ทันทีที่น้องหมาหยุดสิ่งที่กำลังทำและหันมามองคุณ ให้คุณชื่นชมและมอบขนมให้เขาสักนิด และอย่าลืมทำเสียงคลิกเป็นรางวัลหากคุณกำลังฝึกโดยใช้คลิกเกอร์
    • อย่าลืมว่าคุณจะต้องตอบสนองแบบ “ทันทีทันใด” จริงๆ เพราะยิ่งคุณให้รางวัลเขาเร็วเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งเข้าใจความสันพันธ์ระหว่างคำสั่ง พฤติกรรม และของรางวัลมากขึ้น
  7. เมื่อเขาเริ่มทำตามคำสั่งทุกครั้งแบบไม่มีการงอแงแต่อย่างใด คุณควรจะหยุดให้ขนมเขา แต่ให้คงการใช้คลิกเกอร์หรือพูดชื่นชมเขาต่อไป
    • การหยุดให้อาหารเป็นรางวัลถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเขาอาจจะเริ่มคาดหวังว่าตัวเองต้องได้อาหารในทุกครั้ง และท้ายที่สุดน้องหมาของคุณจะยอมทำตามคำสั่งก็ต่อเมื่อคุณมีอาหารเท่านั้น
    • ชื่นชมเขาอย่างสม่ำเสมอแม้เขาจะเชื่อฟังคำสั่งทุกครั้งแล้วก็ตาม และอย่าลืมให้ขนมเป็นรางวัลบ้างเป็นช่วงๆ เพราะตามพจนานุกรมของน้องมะหมา การทำเช่นนี้มีความหมายว่าเขายังคงได้รับรางวัลทุกครั้งเมื่อทำตามคำสั่ง
    • หลังจากที่เขาเริ่มทำตามคำสั่งทุกครั้ง คุณอาจจะใช้อาหารเป็นรางวัลเพื่อปรับแต่งพฤติกรรมให้เกิดเร็วขึ้นหรือตรงตามที่ต้องการมากขึ้น ในไม่ช้า เขาจะเข้าใจว่าอาหารจะมาพร้อมคำสั่งหรือกิจกรรมที่ตามด้วยคำว่า “ฟัง”
    โฆษณา
วิธีการ 6
วิธีการ 6 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข “นั่ง”

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วัตถุประสงค์ของคำสั่ง “นั่ง” คือเพื่อให้น้องหมาที่ยืนอยู่นั่งลง ไม่ใช่ให้นั่งต่อไป เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ให้คุณเดินเข้าไปหาน้องหมาหรือเดินออกห่างจากเขาเพื่อให้เขายืนขึ้น
  2. โดยการยืนด้านหน้าเขาโดยตรงเพื่อให้เขาโฟกัสความสนใจมาที่คุณ และให้เขาเห็นว่าคุณมีขนมอร่อยๆ รออยู่ในมือข้างที่ถนัด
  3. เริ่มด้วยการถือขนมไว้ด้านข้าง แล้วยื่นขนมเข้าไปใกล้จมูกเพื่อให้เขาได้กลิ่น จากนั้นจากยื่นขึ้นเหนือศีรษะของเขา
    • เมื่อคุณถือขนมไว้เหนือศีรษะของเขา สุนัขส่วนใหญ่จะนั่งลงโดยอัตโนมัติเพื่อให้มองเห็นขนมได้ชัดขึ้น
  4. ทำตามขั้นตอนเดิมคือให้เสียงคลิกตามด้วยขนม/ชื่นชม หรือจะแค่ให้ขนมและชื่นชมเขาก็ได้เช่นเดียวกัน และอย่าลืมพูดว่า “ดีมาก” เมื่อเขาทำพฤติกรรมตามที่คุณกำลังฝึก ช่วงแรกๆ เขาอาจจะทำตามช้าสักหน่อย แต่ยิ่งคุณให้ขนมและชมมากขึ้น เขาก็จะยิ่งตอบสนองเร็วขึ้นเรื่อยๆ
    • ระวังอย่าชื่นชมก่อนที่เขาจะนั่งลงจริงๆ เพราะถ้าคุณชมในขณะที่เขายังนั่งไม่เข้าที่ สุนัขจะคิดว่านั่นคือสิ่งที่คุณต้องการ
    • นอกจากนี้ ต้องระวังอย่าชื่นชมที่เขาลุกขึ้นยืน เพราะมันจะทำให้น้องหมาของเรายืนแทนที่จะนั่งเมื่อได้ยินคำสั่ง
  5. หากใช้เทคนิคให้ขนมแล้วน้องสุนัขยังไม่ยอมนั่ง คุณอาจจะลองใช้สายจูงและปลอกคอ. โดยให้คุณยืนข้างๆ น้องสุนัขและมองไปในทิศทางเดียวกับเขา จากนั้นให้ใช้มือกดลงไปเบาๆ บริเวณปลอกคอเพื่อให้เขานั่งลง
    • คุณอาจต้องกระตุ้นให้เขานั่งด้วยการช้อนขาหลังของน้องหมาขึ้นเบาๆ แล้วค่อยๆ ดันน้องหมาไปด้านหลังพร้อมกับคอยจับที่ปลอกคอเพื่อช่วยประคอง
    • ทันทีที่เขานั่งลง ให้ชื่นชมและให้รางวัลเขาในทันที
  6. คุณต้องทำให้น้องหมาทำตามคำสั่งตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณพูด ไม่ใช่ในครั้งที่ 2, 3 หรือ 4 แต่ถ้าน้องหมาไม่ยอมทำตามที่สั่งภายใน 2 วินาที ให้กระตุ้นน้องหมาของเราโดยใช้สายจูงช่วย
    • ในระหว่างที่ฝึกสุนัข ห้ามสั่งในสิ่งที่คุณไม่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถกระตุ้นได้โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณอาจลงเอยด้วยการฝึกให้สุนัขเพิกเฉยคุณเสียเอง เพราะไม่มีการกระตุ้นจากฝ่ายคุณ คำสั่งนั้นจึงกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายสำหรับน้องสุนัข
    • สร้างความหมายดีๆ ให้น้องสุนัขรับรู้โดยอาศัยการชื่นชมและความต่อเนื่อง [7]
  7. ตลอดทั้งวันให้คอยมองหาจังหวะที่น้องหมาของเรานั่งลงด้วยตัวเองเพื่อชื่นชมพฤติกรรมนั้น จากนั้นอีกไม่นานน้องหมาของคุณจะเริ่มนั่งเพื่อเรียกร้องความสนใจ แทนที่จะใช้การกระโจนหรือเห่าใส่เหมือนอย่างเคย
    โฆษณา
วิธีการ 7
วิธีการ 7 ของ 13:

การฝึกให้สุนัขหมอบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เดินตามหาน้องหมาและอย่าลืมหาของกินหรือของเล่นติดไม้ติดมือมาด้วย เมื่อเจอน้องหมาเป้าหมายของเราแล้ว ให้ถือของเล่นหรือของกินให้เขาเห็นชัดๆ เพื่อให้เขาจับจ้องมาที่คุณ
  2. ใช้ของกินหรือของเล่นกระตุ้นให้น้องหมาหมอบลง. โดยการถือของเล่นหรือของกินไปที่พื้นด้านหน้าน้องหมา บริเวณระหว่างขาหน้าของเขา น้องหมาของเราควรจะก้มหัวตามลงไป และลำตัวของเขาจะหย่อนตามลงมาในอีกอึดใจ
  3. เมื่อท้องของน้องหมาถึงพื้นเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาชื่นชมและให้ของกินหรือของเล่นเป็นรางวัลแก่น้องหมาคนเก่ง และต้องให้ให้ตรงจังหวะแบบเป๊ะๆ ด้วย เพราะถ้าคุณชื่นชมในขณะที่เขายังอยู่กลางทางระหว่างนั่งกับยืน จะกลายเป็นว่าคุณกำลังสอนให้เขาทำพฤติกรรมแบบนั้นแทน
  4. เมื่อเขาเรียนรู้แล้วว่าเขาต้องทำพฤติกรรมแบบนี้เพื่อให้ได้รางวัลที่อยู่ด้านล่างเขา ทีนี้ก็ได้เวลาที่คุณจะต้องเคลื่อนห่างออกไปสักหน่อยเพื่อที่เราจะได้เปลี่ยนมาใช้สัญญาณมือให้น้องหมา “หมอบ” โดยการกางมือออก คว่ำฝ่ามือลง และเลื่อนมือลงจากด้านหน้าเอวลงไปที่ด้านข้างของลำตัวคุณ
    • เมื่อน้องหมาของเรา “หมอบ” ลงทุกครั้งโดยไม่อิดออดแล้ว ลองอัพเลเวลเป็นการพูดสั่งโดยการพูดว่า “หมอบ” หรือ “นอนลง”
    • อย่าลืมชื่นชมเขาทันทีที่ท้องของเขาแตะพื้น
    • รู้หรือไม่ว่าสุนัขสามารถอ่านภาษากายและเรียนรู้สัญญาณมือได้เร็วใช้ได้เลยทีเดียว
  5. เมื่อเขานอนลงตามสั่งมากขึ้น ลองเว้นระยะสักครู่ก่อนที่จะชื่นชมและให้ของรางวัลเพื่อกระตุ้นให้เขาอยู่ในท่านั้นนานขึ้น
    • ถ้าเขาลุกขึ้นเพื่อเอารางวัล อย่าให้เขาเป็นอันขาด เพราะนั่นจะถือเป็นการให้รางวัลกับพฤติกรรมสุดท้ายที่เขาทำก่อนได้รางวัล
    • แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพียงแค่คุณเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง น้องสุนัขของเราก็จะเข้าใจได้ว่าคุณต้องการให้เขานอนราบลงกับพื้น ขอแค่พยายามคงความต่อเนื่องเข้าไว้
  6. เมื่อสุนัขเริ่มเข้าใจคำสั่งของเราแล้ว ให้ลองเปลี่ยนเป็นยืนตรงขณะให้คำสั่ง เพราะถ้าคุณก้มตัวลงไปหาเขาทุกครั้ง จะทำให้น้องสุนัขนอนลงเมื่อคุณโน้มตัวลงไปหาเขาเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณคงอยากสอนให้น้องสุนัขนอนลงได้แม้คุณจะอยู่อีกห้องหนึ่ง
    โฆษณา
วิธีการ 8
วิธีการ 8 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข “รอ” ที่ประตู

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การสอนให้น้องสุนัขเคารพประตูเป็นอีกหนึ่งการฝึกที่สำคัญ คุณคงไม่อยากให้น้องสุนัขวิ่งออกไปข้างนอกทุกครั้งที่ประตูเปิดออก เพราะมันอาจทำให้สุนัขของเราได้รับอันตราย คุณไม่จำเป็นต้องสอนให้น้องสุนัขรอที่ประตูทุกครั้งที่คุณเดินผ่านประตูก็ได้ เพียงแต่ต้องพยายามสอนเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากที่สุดในช่วงที่เขาอายุยังน้อยๆ
  2. คุณควรใส่สายจูงสั้นๆ ที่ทำให้คุณสามารถเปลี่ยนทิศทางของน้องหมาได้จากระยะใกล้
  3. พร้อมกับพาน้องหมาของเราไปด้วยโดยถือที่สายจูง
  4. ถ้าน้องหมาเดินตามมาเมื่อคุณก้าวผ่านธรณีประตู ให้คุณใช้สายจูงเพื่อหยุดไม่ให้เขาเดินไปข้างหน้า และลองอีกครั้ง
  5. เมื่อเขารู้แล้วว่าคุณต้องการให้เขารออยู่ที่ประตูแทนที่จะเดินเข้าออกไปกับคุณ ให้เอาใจเขาด้วยคำชมหรือของรางวัลที่เขาทำได้ “ดีมาก”
  6. ถ้าประตูปิดอยู่ คุณอาจจะสอนให้น้องหมานั่งลงทันทีที่คุณวางมือลงบนลูกบิด เพื่อให้เขานั่งรอเมื่อประตูเปิดออกและไม่วิ่งผ่านทางออกไปจนกว่าคุณจะปล่อยเขา แต่ต้องเตือนไว้ก่อนว่าคุณควรจะใช้สายจูงสำหรับการฝึกในระยะแรกๆ เพื่อความปลอดภัยของน้องหมาของเรา
  7. ให้คำสั่งแยกต่างหากเพื่อกระตุ้นให้เขาเดินออกจากประตู. อาจจะใช้คำสั่ง “มา” หรือ “ลุย” แต่ที่สำคัญคือ ไม่ว่าคุณจะใช้คำสั่งใด คำสั่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งเดียวที่บอกเขาว่าคุณอนุญาตให้เขาออกจากบ้านได้
  8. ลองฝึกโดยการทิ้งน้องสุนัขของเราไว้ที่ประตูในขณะที่คุณออกไปทำอะไรหน้าบ้าน เช่น อาจจะออกไปรับจดหมายหรือเอาขยะไปทิ้ง และเมื่อย้อนกลับมาก็อย่าลืมชมเชยเขาสักหน่อย สิ่งที่เราต้องการในการฝึกนี้คือให้น้องหมารับรู้ว่าคุณอาจไม่เรียกเขาออกไปหาในทุกครั้ง เพราะบางครั้งคุณอาจจะกลับมาหาเขาเอง
    โฆษณา
วิธีการ 9
วิธีการ 9 ของ 13:

การสอนพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้กับสุนัข

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เพื่อให้เขาเห็นว่าคุณและคนอื่นๆ ในครอบครัวเป็น “สุนัขจ่าฝูง” ของบ้าน และสมาชิกที่มีอำนาจเหนือกว่าย่อมได้กินก่อนสมาชิกที่มีอำนาจน้อยกว่า
  2. เพราะมันจะทำให้เขาเริ่มขออาหารจากคุณ คุณจะต้องบอกให้เขาเดินไปรอที่เบาะนอนหรือกรงของเขาโดยไม่โอดครวญในระหว่างที่คุณกับครอบครัวกำลังทานอาหาร
    • เมื่อคุณทานเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาเตรียมมื้ออาหารให้กับน้องหมาของเราแล้วล่ะ
  3. ทำให้เขารออย่างใจเย็นในระหว่างที่คุณเตรียมอาหาร. คงไม่มีอะไรจะน่าหงุดหงิดไปกว่าการที่น้องหมาคอยกระโจนและเห่าใส่ไม่หยุดหย่อนในระหว่างที่คุณพยายามเตรียมอาหารให้ ลองใช้คำสั่ง “รอ” ที่เขาเรียนรู้ไปในการฝึกให้รอที่ประตู เพื่อให้เขารอที่ด้านนอกประตูทางเข้าห้องที่เขาจะได้ทานอาหารสมใจ
    • เมื่อเตรียมอาหารพร้อมเสร็จสรรพแล้ว ต้องให้น้องสุนัขของเรา “นั่ง” และ “รอ” ในระหว่างที่คุณเทอาหารใส่จาน
    • ยืนขึ้นและรอสัก 2-3 อึดใจก่อนที่จะบอกให้เขาลงมือทานได้ โดยอาจจะใช้คำสั่ง “กินได้” หรืออาจจะสร้างคำสั่งใหม่ขึ้นมาสำหรับการให้อาหารโดยเฉพาะ เช่น “ได้เวลากินแล้ว” หรือ “อร่อย”
    • ในท้ายที่สุด เขาจะนั่งลงเองโดยอัตโนมัติเมื่อเห็นชามอาหาร
    โฆษณา
วิธีการ 10
วิธีการ 10 ของ 13:

การฝึกสุนัขให้ “คาบ” และ “ปล่อย” สิ่งของ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เราจะใช้คำสั่ง “คาบ” เมื่อเราอยากให้น้องหมาคาบบางอย่างที่คุณให้ไว้ในปาก
  2. พร้อมกับพูดสั่งว่า “คาบ” ไปด้วย เมื่อเขาคาบของเล่นไว้ในปาก อย่าลืมชื่นชมน้องหมาที่เขาเป็นเด็กดี (และเขาจะต้องได้เล่นของเล่นด้วยนะ!)
  3. การสอนให้น้องหมาคาบสิ่งของคงไม่ใช่เรื่องยากหากเป็นของที่น่าสนุกสำหรับเขาอยู่แล้ว! เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างคำสั่งกับพฤติกรรมดีแล้ว ให้ลองเปลี่ยนเป็นวัตถุที่ไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับเขาดู อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ กระเป๋าเบาๆ หรือสิ่งของต่างๆ ที่คุณอาจอยากให้เขาช่วยถือ
  4. หลังจากที่เขาคาบของเล่น ให้ใช้คำสั่ง “ปล่อย” เพื่อให้น้องหมาคืนของเล่นให้กับคุณ และอย่าลืมให้ขนมพร้อมชื่นชมที่เขายอมปล่อยของเล่น จากนั้นจึงเริ่มสั่งให้ “คาบ” อีกครั้ง ที่สำคัญต้องอย่าทำให้น้องหมารู้สึกว่าความสนุกจะหยุดลงทุกครั้งที่เขาปล่อยของเล่น
    • อย่าเล่นยื้อยุดฉุดกระชากกับน้องหมา เพราะเมื่อคุณยื้อยุดสิ่งของกับเขา เขาจะยิ่งยื้อยุดกลับด้วยแรงที่มากกว่า
    โฆษณา
วิธีการ 11
วิธีการ 11 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข "ยืนขึ้น"

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความสำคัญของคำสั่ง “นั่ง” และ “รอ” อาจจะเห็นๆ กันชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในระยะแรกคุณอาจไม่เข้าใจว่าทำไมการ "ยืนขึ้น" ตามสั่งจึงเป็นทักษะที่สำคัญที่คุณจะต้องสอนน้องสุนัข คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่ง "ยืนขึ้น" ในทุกวัน แต่รู้หรือเปล่าว่าคุณจะต้องอาศัยคำสั่งนี้ไปตลอดชีวิตของน้องมะหมาเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น น้องสุนัขที่ยอม "ยืนขึ้น" นิ่งๆ ถือเป็นผู้ป่วยในฝันของคลินิกรักษาสัตว์ อีกทั้งยังเป็นลูกค้าผู้น่ารักของร้านเสริมสวยสัตว์เลี้ยงทุกที่
  2. หยิบของเล่นชิ้นโปรดหรือเตรียมอาหารสักกำมือเพื่อเรียกความสนใจจากน้องสุนัขและเพื่อเป็นรางวัลเมื่อเขาเรียนรู้คำสั่งของเรา จากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการให้สุนัขอยู่ในท่า “นั่งลง” หรือ “หมอบ” เพื่อเริ่มฝึกคำสั่ง "ยืนขึ้น" โดยในขณะที่เขาหมอบอยู่ คุณจะต้องทำให้เขาลุกขึ้นเพื่อเอาของเล่นหรือของกิน
  3. คุณจะต้องโน้มน้าวให้เขายืนขึ้นโดยให้เขายกตัวขึ้นตามของเล่นหรือของกินด้วยการถือของเล่นหรือของกินไว้ด้านหน้าที่ระดับจมูกของเขา
    • ถ้าเขานั่งลงเพราะคิดว่ามันจะทำให้เขาได้รางวัล ให้คุณลองใหม่อีกครั้งโดยถือของกินหรือของเล่นให้ต่ำลงมาอีกหน่อย
  4. แบมือออกและคว่ำฝ่ามือลง ถ้าคุณกำลังใช้ของกิน ให้ใช้นิ้วโป้งหนีบของกินไว้กับฝ่ามือ และเริ่มฝึกด้วยการวางมือไว้ด้านหน้าจมูกของเขา จากนั้นจึงค่อยๆ เคลื่อนห่างออกมาสัก 2-3 นิ้ว เรากำลังพยายามทำให้น้องหมาของเรายืนขึ้นในขณะที่เคลื่อนตัวตามมือของคุณนั่นเอง
    • ในครั้งแรกๆ คุณอาจต้องใช้มืออีกข้างดันใต้สะโพกของเขาเพื่อกระตุ้นให้เขาลุกขึ้น
  5. คุณควรชื่นชมและให้ของกินทันทีที่เขาลุกขึ้นยืน แม้ว่าคุณยังไม่เริ่มพูดสั่งให้ “ยืนขึ้น” แต่คุณก็สามารถพูดชมเชยว่า “ดีมาก!” ได้แล้ว
  6. ในช่วงแรกๆ คุณอาจแค่พยายามกระตุ้นให้น้องหมายืนขึ้นตามมือที่กำลังถือของเล่นหรือของกิน แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสอนแล้ว ให้เริ่มใช้การพูดสั่งให้ “ยืนขึ้น” ประกอบการฝึก
  7. วิธีการรวมคำสั่งนั้นมีอยู่มากมายหลายหลาก หลังจากที่คุณทำให้น้องหมา “ยืนขึ้น” ตามสั่งได้แล้ว คุณอาจจะใส่คำสั่ง “รอ” หรือ “อยู่นิ่งๆ” เพิ่มเข้าไปด้วยถ้าอยากให้น้องหมายืนนิ่งนานขึ้นอีกสักหน่อย นอกจากนี้ คุณอาจจะตามด้วยคำสั่ง “นั่ง” หรือ “หมอบ” เพื่อเพิ่ม “การฝึกทักษะต่างๆ ให้กับสุนัข” จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มระยะห่างระหว่างคุณกับสุนัข ท้ายที่สุดคุณจะสามารถทำให้สุนัขทำตามคำสั่งเหล่านี้ได้แม้จะอยู่กับคนละห้อง
    โฆษณา
วิธีการ 12
วิธีการ 12 ของ 13:

การฝึกให้สุนัข “พูด”

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คำสั่ง “พูด” คือการสอนให้สุนัขเห่าเมื่อคุณให้จังหวะ คำสั่งนี้อาจจะดูเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่น่ามีประโยชน์ แต่เมื่อเราใช้ร่วมกับคำสั่ง “เงียบ” จะทำให้คุณสามารถควบคุมการเห่าของน้องสุนัขที่พูดเก่งเป็นพิเศษได้ [8]
    • ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษในระหว่างที่สอนคำสั่งนี้ เพราะบางครั้งผู้ฝึกที่ขาดประสบการณ์อาจพบว่าการฝึกให้สุนัข “พูด” หมุนคว้างออกนอกการควบคุม และลงเอยด้วยการทำให้สุนัขเห่าใส่ตลอดเวลา
  2. การฝึกให้สุนัข “พูด” จำเป็นต้องอาศัยการชื่นชมในทันทีมากกว่าคำสั่งอื่นๆ ก่อนอื่นคุณจึงควรสอนให้น้องสุนัขคุ้นชินกับเสียงคลิกที่จะมาพร้อมอาหารรสอร่อย ด้วยการให้เสียงคลิกและตามด้วยอาหารประมาณ 2-3 รอบ
    • ฝึกด้วยคลิกเกอร์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้องหมาของเรามองเสียงคลิกเป็นรางวัลซึ่งจะมีอาหารตามมาในภายหลัง
  3. สำรวจตรวจเช็คว่าช่วงไหนที่น้องสุนัขเห่าบ่อยที่สุด. ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว คุณจึงต้องคอยสังเกตสัตว์เลี้ยงของคุณเอง เขาอาจจะเห่าเกือบทุกครั้งที่คุณแกล้งแหย่ไม่ยอมให้อาหาร เมื่อมีคนเคาะประตู เมื่อมีคนกดกริ่ง หรือเมื่อมีใครบีบแตร
  4. เมื่อรู้แล้วว่าน้องหมาของเราชอบเห่าใส่อะไร ให้คุณทำสิ่งนั้นๆ ตรงหน้าสุนัข สิ่งที่เราต้องการคือการกระตุ้นให้สุนัขเห่าเองโดยไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น และต้องไม่ลืมชื่นชมเมื่อเขาเห่าออกมา
    • คุณอาจพอมองเห็นแล้วว่าการฝึกนี้อันตรายมากแค่ไหนถ้าดำเนินการโดยผู้ฝึกที่ขาดประสบการณ์
    • สาเหตุที่ทำให้การฝึกสุนัขให้ “พูด” ต่างจากการฝึกอื่นๆ เล็กน้อย คือคุณจะต้องใช้วิธีการพูดสั่งตั้งแต่เริ่มต้นการฝึก เพื่อให้น้องสุนัขไม่รู้สึกว่าคุณกำลังชื่นชมพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขา
  5. ใช้วิธีการพูดสั่งให้น้องสุนัข “พูด” ตั้งแต่เริ่มต้นฝึก. ทันทีที่สุนัขเห่าเป็นครั้งแรก คุณจะต้องพูดออกคำสั่งให้สุนัข “พูด” ตามด้วยเสียงคลิก และปิดท้ายด้วยการให้อาหารเป็นรางวัล
    • คำสั่งอื่นๆ จะเริ่มต้นด้วยการสอนพฤติกรรม จากนั้นจึงใส่การพูดออกคำสั่งให้สุนัขทำตามเข้าไป
    • อย่างไรก็ตาม การฝึกให้สุนัข “พูด” อาจหลุดออกนอกการควบคุมได้ง่ายมาก เพราะในระยะแรกเราจะต้องให้รางวัลเมื่อสุนัขเห่า
    • ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเชื่อมโยงการพูดออกคำสั่งเข้ากับพฤติกรรมเลยตั้งแต่เริ่มต้นการฝึก ห้ามให้รางวัลเมื่อสุนัขเห่าโดยที่เราไม่ได้ออกคำสั่งเป็นอันขาด
  6. ถ้าคุณมีน้องหมาที่เห่ามากเกินไปอยู่แล้ว คุณอาจไม่คิดว่าการสอนให้เขา “พูด” เป็นประโยชน์กับคุณ แต่ความจริงแล้ว หลังจากที่คุณสอนให้เขา “พูด” คุณอาจจะเพิ่มการสอนให้เขา “เงียบ” ตามเข้าไปด้วย เพราะแม้คุณอาจไม่จำเป็นต้องสอนให้เขา “พูด” เพราะปกติเขาก็พูดมากเกินพออยู่แล้ว แต่คุณคงอยากสอนให้เขา “เงียบ” แน่ๆ ล่ะจริงไหม
    • เมื่อสุนัขของคุณเข้าใจคำสั่ง “พูด” อย่างถ่องแท้แล้ว ให้เริ่มใส่คำสั่ง “เงียบ” เข้าไปในการฝึกของคุณ
    • ให้คำสั่ง “พูด”
    • แต่แทนที่จะให้รางวัลที่เขา “พูด” (เห่า) ให้รอจนกว่าน้องหมาจะหยุดเห่า
    • จากนั้นจึงออกคำสั่ง “เงียบ”
    • ถ้าน้องหมาเงียบอย่างต่อเนื่อง จึงให้รางวัลที่เขา “เงียบ” (ไม่เห่า) ด้วยเสียงคลิกตามด้วยอาหาร
    โฆษณา
วิธีการ 13
วิธีการ 13 ของ 13:

การฝึกสุนัขให้อยู่ในกรง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจความสำคัญของการฝึกให้น้องหมาอยู่ในกรง. คุณอาจคิดว่าการกักขังน้องหมาผู้น่าสงสารไว้ในกรงเป็นชั่วโมงๆ เป็นการกระทำอันโหดร้าย แต่คุณรู้หรือไม่ว่าโดยธรรมชาติแล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่เกิดมาเพื่ออยู่ในถ้ำ เพราะฉะนั้นน้องหมาจึงไม่รู้สึกว่าการอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นสิ่งสร้างความอึดอัดใจเหมือนอย่างที่เรารู้สึกกัน ที่สำคัญ ความจริงแล้วน้องหมาที่ถูกฝึกให้อยู่ในกรงจะมองว่ากรงของเขาเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสียอีก
    • การฝึกให้สุนัขอยู่ในกรงเป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมพฤติกรรมของน้องสุนัขเมื่อไม่มีคนอยู่คอยดูแลเป็นระยะเวลานานๆ
    • ตัวอย่างเช่น เจ้าของสุนัขหลายๆ คนมักจะขังสุนัขไว้เมื่อเข้านอนหรือออกไปนอกบ้าน
  2. เริ่มสอนให้สุนัขเข้ากรงตั้งแต่อายุยังน้อยๆ. จริงอยู่ที่คุณสามารถสอนให้สุนัขอายุมากๆ มีความสุขกับการอยู่ในกรงได้ แต่การสอนลูกสุนัขก็เป็นอะไรที่ง่ายกว่าแยะ
    • อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกสุนัขของคุณเป็นพันธุ์ขนาดใหญ่ล่ะก็ อย่าฝึกให้เขาเข้าไปอยู่ในกรงเล็กๆ ที่คุณคิดว่าเขาจะอยู่ได้พอดี
    • เพราะสุนัขจะไม่ปลดปล่อยความเครียดในระหว่างที่พวกเขาหลับหรือพักผ่อน คุณจึงต้องหากรงที่มีขนาดพอดีกับตัวเขา
    • ถ้าคุณใช้กรงที่มีขนาดใหญ่เกินไป เขาอาจจะฉี่ที่มุมใดมุมหนึ่งของกรงเพราะเขามีพื้นที่มากเกินไป
  3. [9] อย่าล็อกประตูขังเขาไว้ในกรงตามลำพังทันทีที่คุณพาเขาเข้ากรงได้ในครั้งแรก คุณจะต้องทำให้เขารู้สึกว่ากรงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แสนสุขสมของเขา เพื่อให้เขามีความสุขเมื่อได้เข้าไปอยู่ในนั้น
    • ในช่วงเริ่มต้นการฝึกให้น้องสุนัขเข้ากรง ให้คุณวางกรงไว้ในบริเวณที่สมาชิกในบ้านรวมตัวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้น้องสุนัขรู้สึกว่ากรงเป็นส่วนหนึ่งของการได้อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ มากกว่าจะเป็นสถานที่ที่เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง
    • ใส่ผ้าห่มนุ่มๆ และของเล่นชิ้นโปรดของน้องหมาไว้ในกรง
  4. หลังจากทำการแปลงโฉมให้กรงเป็นพื้นที่น่าอยู่แล้ว ให้เริ่มใช้อาหารเพื่อล่อให้เขาเดินเข้าไปใกล้ๆ กรง จากนั้นจึงวางของกินไว้ด้านในประตู เพื่อให้เขามุดหัวเข้าไปหาของกิน เมื่อเขาเริ่มรู้สึกสบายใจกับการอยู่ใกล้กรงมากขึ้น จึงค่อยๆ ขยับอาหารเข้าไปในกรงมากขึ้นเรื่อยๆ
    • ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าน้องหมาจะยอมเข้าไปในกรงโดยไม่ลังเลใจ
    • ในระหว่างที่ปรับให้น้องหมาคุ้นชินกับกรง อย่าลืมพูดด้วย “น้ำเสียงที่มีความสุข” ทุกครั้ง
  5. เมื่อเขาไม่รู้สึกอึดอัดกับการเข้าไปกินอาหารในกรง ก็ได้เวลากระตุ้นให้เขารู้สึกดีๆ กับกรงมากขึ้นด้วยการเชื่อมโยงกรงกับเวลาอาหาร
    • วางชามอาหารสุนัขไว้ในที่ที่เขาทานได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าเขายังดูกังวลอยู่เล็กน้อย คุณอาจจะหยิบไปวางไว้ที่ประตูก่อนก็ได้
    • เมื่อเขารู้สึกอึดอัดใจน้อยลงหลังจากผ่านไปสักระยะ ก็ได้เวลาเลื่อนชามอาหารกลับเข้าไปในกรง
  6. เมื่อเขาได้รางวัลและอาหารอย่างต่อเนื่อง คุณจะสังเกตได้ว่าสุนัขของคุณเริ่มคุ้นชินกับการอยู่ในกรงมากขึ้น แต่เขายังต้องเรียนรู้วิธีการควบคุมตัวเองเมื่อประตูถูกปิด
    • เริ่มปิดประตูเมื่อถึงเวลาอาหาร เพราะตอนนี้เป็นเวลาที่น้องหมาของเรามัวแต่อิ่มเอมเปรมปรีดิ์กับอาหารรสเลิศจนลืมสังเกตไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น
    • เริ่มต้นด้วยการปิดประตูเพียงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มเวลาเมื่อน้องหมาของเราเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น
  7. เมื่อลูกสุนัขตัวน้อยร้องครวญคราง มันอาจจะน่ารักจนคุณอดใจไม่ไหว และเมื่อสุนัขตัวใหญ่ร้องโอดครวญ มันอาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนจะบ้าเสียให้ได้ ให้จำไว้ว่าถ้าลูกสุนัขร้องโอดครวญจนปลอบยังไงก็ไม่หาย อาจเป็นเพราะคุณทิ้งเขาไว้ในกรงนานเกินไป แต่ช้าก่อน! คุณต้องห้ามใจอ่อนปล่อยเขาออกมาจนกว่าเขาจะหยุดร้อง เพราะอย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทุกรางวัลที่คุณมอบให้จะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมสุดท้ายของน้องสุนัข ซึ่งในที่นี้คือการที่เขาร้องครวญครางไม่หยุดหย่อน
    • คุณจึงต้องปล่อยเขาออกมาเมื่อเขาหยุดร้องแล้วเท่านั้น
    • ครั้งหน้าที่คุณปิดประตูกรง ให้ลองปล่อยเขาไว้คนเดียวเป็นระยะเวลาน้อยลงสักหน่อย
  8. ถ้าลูกสุนัขตัวน้อยร้องไห้ครวญครางเมื่อเขาต้องอยู่ในกรงตามลำพัง ให้ลองพากรงไปไว้ในห้องนอนเมื่อตกกลางคืน และหานาฬิกาที่มีเสียงติ๊กต๊อกหรือใช้อุปกรณ์สร้างเสียงกล่อมฝันดีเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขของเรานอนหลับ และต้องแน่ใจว่าน้องหมาของเราไม่สนใจสิ่งภายนอกและไม่จำเป็นต้องฉี่หรือขับถ่าย
    • สำหรับลูกสุนัขที่อายุน้อยๆ คุณควรขังเขาไว้ในห้องนอนของคุณในยามกลางคืน เพื่อให้คุณได้ยินเสียงร้องเมื่อเขาต้องการบอกว่าเขาต้องออกไปทำธุระด้านนอกกรงในช่วงดึก
    • ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการบังคับให้เขาต้องขับถ่ายในกรง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ใช้เชือกแทนโซ่ที่จะทำให้น้องสุนัขรู้สึกอึดอัดรัดคอ
  • เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้คำสั่งพูด ต้องใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น เช่น หากคุณต้องการให้สุนัขตัวนี้นั่งลง ก็ต้องออกคำสั่งอย่างจริงจัง อย่าสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะหวังว่าน้องสุนัขจะยอมฟังในที่สุด คุณต้องกระตุ้นให้สุนัขทำตามคำสั่งค้างไว้สัก 2-3 วินาที แล้วจึงชื่นชมเขาถ้าคุณไม่ต้องสั่งสิ่งเดิมซ้ำ เพราะคุณคงไม่อยากเป็นหนึ่งในเจ้าของที่ต้องบอกให้สุนัข “นั่งลง” เป็นยี่สิบสามสิบครั้งกว่าเขาจะยอมนั่ง คุณคงอยากให้น้องสุนัขนั่งลงตามที่สั่งตั้งแต่ครั้งแรก ไม่ใช่ในครั้งที่ 20 หรอกจริงไหม
  • อย่าให้สุนัขกัดคุณเป็นอันขาด แม้จะแค่กัดเล่นๆ ก็ตาม เพราะมันเป็นการให้ท้ายพฤติกรรมที่ไม่ดีจนเขาติดเป็นนิสัย และการจะหยุดนิสัยไม่ดีนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเอาการเลยล่ะขอบอก นอกจากนี้ น้องสุนัขที่ค่อนข้างดุร้ายก้าวร้าวอาจจะต้องอาศัยการฝึกพิเศษจากผู้ฝึกที่เชี่ยวชาญ และในบางกรณีเราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากนักปรับพฤติกรรมสุนัข ที่สำคัญคือคุณไม่ควรเข้าหาสุนัขที่มีนิสัยก้าวร้าวหากไม่ได้รับการฝึกที่เหมาะสม เพราะมันอันตรายเกินไป
  • อย่าปล่อยให้สุนัขทำพฤติกรรมไม่ดีหลายๆ ครั้ง เพราะมันจะทำให้เขาติดเป็นนิสัย
  • จำไว้เลยว่าสุนัขทุกตัวแตกต่างกันไป สุนัขตัวหนึ่งอาจเรียนรู้ได้ช้ากว่าอีกตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ต้องกังวลไป รับรองได้ว่าไม่มีสุนัขตัวไหนที่ไม่สามารถฝึกได้!
  • อย่าลืมว่าน้องหมาไม่ได้สื่อสารภาษาเดียวกับมนุษย์เรา และการฝึกจะได้ผลรึเปล่าก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถเรียนรู้ “ภาษา” ของเขาได้มากแค่ไหน ไม่ใช่พยายามให้เขาเรียนรู้ภาษาของเรา
  • อย่าให้สุนัข “พิง” คุณ ไม่ว่าคุณจะกำลังยืนหรือนั่ง เพราะนี่ไม่ใช่สัญญาณบอกว่าเขารักคุณ แต่เป็นสัญญาณบอกว่าเขามีอำนาจเหนือคุณและกำลังรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของคุณ คุณเป็นผู้นำของเขา เพราะฉะนั้น คุณจะต้องยืนขึ้นและใช้เข่าหรือเท้าดันเขาออกไปจากอาณาเขตของคุณ และอย่าลืมชื่นชมเมื่อเขายอมยืนขึ้น นอกจากนี้ คุณอาจสั่งให้เขานอนลงบนเบาะนอนหรือกลับไปที่กรงของตัวเองหากจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่ส่วนตัวของคุณให้เด็ดขาดขึ้น
  • หากคุณกำลังใช้สัญญาณมือ ต้องใช้สัญญาณที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นพอให้น้องสุนัขมองเห็นและแยกความแตกต่างได้ ปัจจุบันมีสัญญาณมาตรฐานสำหรับคำสั่งพื้นฐานอย่าง “นั่ง” หรือ “อยู่นิ่งๆ” ฯลฯ ถ้าคุณไม่แน่ใจล่ะก็ อาจจะลองสอบถามผู้ฝึกหรือหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
  • ทำอย่างสม่ำเสมอ คุณต้องใช้คำสั่งและสัญญาณมือเดียวกันในทุกครั้ง และการฝึกเพียง 10-15 นาทีต่อวันก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
  • หากน้องสุนัขแสนซนชอบแหกกฎจนน่าปวดหัว อีกหนึ่งวิธีการดีๆ ในการปรับพฤติกรรมของเขาคือการแยกเขาออกจาก “ฝูง” ใส่เขาไว้ในกรงหรือบ้านสุนัขและไม่ต้องสนใจเขา โดยให้คิดว่าเวลานี้เป็นเวลาของ “การพักสงบสติอารมณ์และสำนึกผิด” สำหรับน้องสุนัขผู้แสนซน เมื่อเขาเริ่มเงียบและสงบสติอารมณ์ได้แล้วจึงปล่อยเขาออกมาจากกรง และอย่าลืมพาเขาไปออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาระดับพลังงานของเขาให้คงที่ การเล่น “เก็บบอล” เป็นอีกหนึ่งวิธีการดีๆ ที่จะทำให้น้องสุนัขรู้สึกเหนื่อยกับเขาบ้าง
  • หมั่นชื่นชมน้องสุนัขบ่อยๆ ด้วยความรักใคร่
  • การฝึกสุนัขจำเป็นต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก การเลือกพันธุ์สุนัขที่ไม่เหมาะกับทักษะหรือไลฟ์สไตล์ของคุณจึงอาจพาลทำให้คุณหงุดหงิดเสียเปล่าๆ และในกรณีที่พบว่าคุณตัดสินใจผิดพลาด ให้ลองขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คุณอาจต้องหาบ้านใหม่ให้กับน้องสุนัข แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป คุณสามารถโทรสอบถามมูลนิธิสงเคราะห์สัตว์หรือสัตวแพทย์ ขอเพียงอย่ารอจนกระทั่งทั้งคุณและน้องสุนัขต้องทุกข์ทรมาน แต่ถ้าปัญหาอยู่ที่คุณยังมีความอดทนไม่มากพอล่ะก็ อาจจะลองเข้ารับการฝึกแบบตัวต่อตัวกับครูฝึกสุนัขที่เชื่อถือได้ จำไว้ว่าไม่มีใคร “เกิดมา” เป็นผู้ฝึกสุนัขที่เก่งกาจได้โดยไม่ได้รับการสอน
โฆษณา

คำเตือน

  • ใช้ปลอกคอหรือสายจูงที่เหมาะกับขนาดของน้องหมา เพราะการใช้ปลอกคอที่หลวมหรือรัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • การเลี้ยงสุนัขนั้นต้องอาศัยความรับผิดชอบมากพอๆ กับการมีลูกเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าคุณยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งนี้ อย่าหาน้องหมามาเลี้ยงจนกว่าคุณจะศึกษาข้อมูลและใคร่ครวญมาอย่างดีแล้วว่าคุณพร้อมที่จะนำน้องหมาสักตัวเข้ามาในชีวิต
  • พาน้องหมาไปหาสัตวแพทย์เป็นประจำและพาไปฉีดวัคซีนอยู่เรื่อยๆ ตามที่กำหนด รวมถึงปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ในปัจจุบัน และให้สัตวแพทย์ทำหมันหรือตอนสุนัขทันทีที่มีอายุมากพอ
  • การพาสุนัขไปออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้น้องสุนัขทำลายข้าวของภายในบ้าน เพราะน้องสุนัขเขาก็เบื่อเป็นอย่างเราๆ นั่นล่ะ และเมื่อเขารู้สึกเบื่อ เขาจะหาวิธีการ “สร้างความบันเทิงเริงใจ” ให้กับตัวเอง ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเคี้ยวรองเท้าคู่โปรดของคุณ การทำลายล้างเฟอร์นิเจอร์ หรืออาจเป็นการเห่าไม่หยุดหย่อน คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้โดยการพาสุนัขไปเดินเล่นเป็นประจำ (สัก 2 ครั้งต่อวันจะดีที่สุด) ซึ่งนอกจากจะดีต่อน้องสุนัขแล้วยังดีต่อคุณด้วยเช่นเดียวกัน! เพราะ “สุนัขที่เหนื่อยอ่อนคือสุนัขผู้แสนดี” ยังไงล่ะ แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าระดับการออกกำลังกายจนถึงขั้นเหนื่อยของสุนัขแต่ละตัวจะแตกต่างกันไป


โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 8,559 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา