ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การขบกัดหรือกัดแทะ ถือเป็นพฤติกรรมปกติของลูกหมาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงลูกหมากำลังโต เพิ่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว หรือกำลังฟันขึ้นเลยมันเขี้ยว แต่ก็ควรฝึกฝนไว้ เพราะถ้าปล่อยไปนานๆ จะกลายเป็นติดนิสัยจนโต แต่ถ้าปัญหาการกัดเกิดขึ้นในหมาโต จะเป็นเรื่องใหญ่กว่า เวลาจะปรับพฤติกรรมต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังกว่าลูกหมาเยอะเลย หมากัดไม่ใช่แค่เรื่องรำคาญใจแต่เป็นอันตรายต่อคนได้ ตามสถานการณ์และขนาดของหมาที่แตกต่างกันออกไป

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ฝึกลูกหมาไม่ให้กัด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พิจารณาว่าพฤติกรรมการกัดของลูกหมานั้นผิดปกติหรือไม่. ลูกหมาจะเรียนรู้เรื่องตำแหน่งของตัวเองในฝูงหรือครอบครัวใหม่ ตั้งแต่ยังเล็กเลย การขบหรือการกัด เลยเป็นวิธีใช้ประเมินสถานการณ์ ว่าอีกฝ่ายที่ถูกกัด มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมไหนของตัวเอง ที่ทำได้ ไม่ได้ เมื่ออยู่ร่วมกับสมาชิกอื่นในฝูง/ครอบครัว
    • ลูกหมาชอบเล่นสนุกอยู่แล้ว ขอแค่มือหรือนิ้วของคุณยื่นมาใกล้ๆ ก็กลายเป็นของเล่นโดยปริยาย ลูกหมาใช้ปากในการเล่นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าลูกหมากัด ก็คาดเดาไปก่อนได้เลย ว่าเป็นพฤติกรรมการเล่น
    • บางทีลูกหมาก็ขบกัดเพราะฟันกำลังขึ้น การงับและขบกัดวัตถุต่างๆ เป็นเหมือนช่องทางบรรเทาความเจ็บปวดที่เหงือก ให้ลูกหมากัดของเล่น หรือขนมหมา อะไรก็ตามที่ปลอดภัย จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
  2. อย่าไปเล่นเกมประมาณว่าโบกมือยั่วยุที่พื้นหรือตรงหน้าของลูกหมา หรือเกมที่เน้นการใช้ความรุนแรงก้าวร้าวอย่างการให้ลูกหมางับอะไรแล้วคุณยื้อแย่ง เพราะไปกระตุ้นให้ลูกหมายิ่งขบกัด
    • เวลาลูกหมากัด ไม่ว่าจะตอนเล่นหรือมันเขี้ยว ให้รีบดึงมือหรือนิ้วออกจากปากน้อง แล้วร้องว่า “โอ๊ย!” ดังๆ ถึงใจจริงจะอยากร้องว่า “อย่า!” หรือ “ไอ้หมาบ้า!” แต่แนะนำว่าอย่าพูดกับน้องหมาตรงๆ แบบนั้นจะดีกว่า
    • พูดง่ายๆ คือไม่ว่าจะคำไหน ลูกหมาจะสนใจแต่ว่าคุณกำลังพูดกับมัน หรือก็คือคุณพุ่งความสนใจไปที่มันอยู่ ทำให้ลูกหมายิ่งทำพฤติกรรมนั้น เพื่อให้คุณสนใจ
  3. ตอนลูกหมายังเล็ก ยังกินนมแม่ อยู่รวมกับพี่น้อง จะรู้ได้ว่าตัวเองขบหรือกัดแรงไปหรือเปล่า จากปฏิกิริยาตอบสนองของคนอื่น เช่น ถ้าเป็นแม่หมาจะขู่ หรือตบ/กัด ถ้าลูกหมากัดแรงไป ส่วนพี่น้องตัวอื่นก็จะร้องเสียงดัง และเลิกเล่นกับลูกหมาที่กัดแรงทันที ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ลูกหมาได้เรียนรู้ว่าการขบกัดของตัวเองนั้นมากไป/แรงไปหรือเปล่า ก็ให้คุณใช้วิธีการเดียวกันนี้ สอนลูกหมาไม่ให้กัดเรื่อยเปื่อย
    • กอดอกแล้วมองไปทางอื่น เมินใส่ลูกหมาตัวนั้นสัก 5 - 10 วินาที หรือบางกรณีก็อาจจะถึงขั้นต้องออกจากห้องไปเลย พฤติกรรมของคุณที่เกิดขึ้นหลังถูกขบ/กัดทันที จะช่วยให้ลูกหมาเรียนรู้ว่ากัดคุณแล้ว คุณจะเลิกเล่นด้วย และความสนุกจะจบลง
  4. กลับไปแสดงความรักอีกครั้ง แต่ถ้าลูกหมากลับมากัดอีก ก็ให้เลิกยุ่งกับลูกหมาอีกรอบ โดยหยุดเล่นทันที และอาจจะออกจากห้องด้วย แล้วแต่ความหนักเบาของพฤติกรรม เพื่อให้ลูกหมารู้ว่าจะไม่มีคนสนใจ ถ้าทำพฤติกรรมแบบนั้น
    • ถ้าลูกหมาฟันกำลังขึ้น ต้องหาของเล่นหมามาให้เคี้ยว จะได้ไม่ไปขบกัดผิดที่ผิดทาง ถึงลูกหมาจะไม่ได้ฟันกำลังขึ้น ก็ใช้วิธีการนี้สอนได้ ว่าอะไรที่เคี้ยวได้ไม่ได้ เรื่องนี้ก็เหมือนเวลาสอนทริคใหม่ๆ ให้ลูกหมา คือต้องสอนย้ำๆ เดี๋ยวจะเห็นผลเอง
  5. หมาจะมีพฤติกรรมดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือภาษากายของคุณที่มีต่อมัน ถ้าคุณหันไปมองหรือพูดด้วยตอนหมาเห่าเรียกร้องความสนใจ ก็จะกลายเป็นยิ่งสนับสนุนให้หมาเห่าเพราะรู้ว่าดึงความสนใจคุณได้ ให้พูดด้วยหรือสนใจเฉพาะตอนหมากำลังสงบ เล่นดีๆ เพื่อสนับสนุนกระตุ้นพฤติกรรมที่เหมาะสม สังเกตดีๆ ว่าคุณทำอะไร และหมาตอบรับแบบไหน ถ้าทำถูกวิธี หมาจะเคารพรักคุณ ได้เรียนรู้ว่าถึงจะอยากขบกัดคุณเล่นแค่ไหน คุณก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกัด [1]
  6. สังเกตสัญญาณเตือนก่อนลูกหมากัด เป็นสัญญาณที่จะทำก่อนกัดแน่นอน. บางทีก็เบาบางแทบจับไม่ได้ ถ้าไม่สังเกตดีๆ จะไม่เห็นเลย สัญญาณเตือนนี้บางทีก็เกิดนานเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ ก่อนหมาเริ่มกัด เช่น หมาต้องอดทนกับเด็กที่เล่นแรงๆ มาพักใหญ่ แล้วอยู่ๆ ก็กัดเด็กขึ้นมาจนทุกคนตกใจ
    • สัญญาณเตือนก่อนหมากัด ที่เล็กน้อยมากจนบางทีคุณแทบไม่สังเกต ก็เช่น ลุกขึ้นแล้วเดินหนีไปจากใครบางคน หันหน้าหนีใครบางคน มองเหมือนอยากให้คุณช่วย หรือหาวเวลาใครเดินเข้าใกล้
    • สัญญาณเตือนที่ชัดเจนกว่าก็เช่น หูลู่ ขนที่คอและหลังตั้งชัน แสยะปากแยกเขี้ยว จ้องเขม็ง ขู่คำราม ไปจนถึงเห่า เป็นต้น [2]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

ฝึกหมาไม่ให้กัด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หมาเกิดกัดขึ้นมามากที่สุด ก็คือความกลัว ไม่จำเป็นต้องทำร้ายหรือเคยทำร้าย หมาก็เกิดความกลัวขึ้นมาได้ ความกลัวนี้อาจเกิดจากการที่หมาไม่ค่อยได้เจอใคร ตั้งแต่เป็นลูกหมาจนเป็นหมาโต [3]
    • แน่นอนว่าหมาคุณก็ต้องเป็นมิตรกับคุณและครอบครัว แต่นั่นเพราะอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง คนและหมาหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิตหมาเป็นพักๆ นี่สิ ที่มักกระตุ้นให้หมาเกิดความกลัว
  2. สังเกตว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้หมากัดหรือไม่. มีหลายสาเหตุเลย ที่ทำให้หมารู้สึกว่าต้องกัด เช่น หวงคน หวงที่ ความเจ็บปวด สัญชาตญาณนักล่า สัญชาตญาณความเป็นแม่ กระทั่งเป็นธรรมชาติของหมาบางพันธุ์ [4]
    • สถานการณ์ที่กระตุ้นสัญชาตญาณการปกป้องก็เช่น หมาจะปกป้องคุณ ปกป้องน้ำหรืออาหาร ปกป้องอาณาเขต หรือปกป้องของเล่น ขนมโปรด
    • การกัดเพราะอาการบาดเจ็บ เกิดขึ้นได้เมื่อหมาไม่อยากให้แตะตัวด้วยสาเหตุบางอย่าง อาจจะเป็นกมาแก่ที่ปวดข้อ ห่วงแผลหรืออาการบาดเจ็บของตัวเอง หรือถูกคนไม่ระวังเหยียบเข้าตอนเดินผ่าน
    • การกัดเพราะสัญชาตญาณนักล่าถูกกระตุ้น เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้หมาเกิดวิ่งไล่กัดขึ้นมา เช่น คนวิ่งจ็อกกิ้ง คนปั่นจักรยาน รถขับผ่าน หรือมีสัตว์อื่นวิ่งผ่าน
    • สัญชาตญาณปกป้องลูกของหมาที่เพิ่งเป็นแม่หมาดๆ บางทีก็ออกมาในรูปของพฤติกรรมดุร้าย ก้าวร้าว แนะนำว่าอย่าไปล้ำพื้นที่ อย่าไปยุ่ง หรือถ้าจำเป็น ก็จับต้องแม่หมาและลูกหมาอย่างระวัง อย่าให้คนนอกมาเกี่ยวข้อง
    • หมาพันธุ์ที่เขาเลี้ยงไว้ต้อนแกะ ก็มักทำตามสัญชาตญาณ ไปวิ่งไล่ต้อนคนหรือสัตว์ โดยกัดหรือขบขาและข้อเท้าได้
  3. ฝึกหมาไม่ให้กัด ด้วยเทคนิคการคลายกังวล (desensitizing) และการวางเงื่อนไขกลับ (counter conditioning). เป็นโอกาสให้หมาได้เจอสถานการณ์ที่อาจทำให้มันกลัว แต่แค่เล็กน้อย พอทนได้ ระหว่างสถานการณ์นั้น คุณมีหน้าที่ทำให้น้องหมารู้สึกมีความสุข ปลอดภัย เพราะฉะนั้นแทนที่หมาจะเน้นไปที่ความรู้สึกกลัว หรือปฏิกิริยาที่มีต่อสถานการณ์ ต้องให้หมาเพ่งความสนใจไปที่คุณ และขนมหรือของเล่นที่คุณเตรียมไว้แทน เป้าหมายโดยรวมของวิธีการนี้ คือช่วยให้หมาเข้าใจว่าถึงจะอยู่ในสถานการณ์แปลกๆ หรือน่ากลัว ก็สามารถมีความรู้สึกดีๆ ในเชิงบวกได้
    • ลองหาคนช่วยทั้งคุณและหมา เวลาจะฝึกหมาให้เจอกับ "คนใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย" ลองให้คนคนนั้นอย่าใส่ใจพฤติกรรมขลาดกลัวของหมา แล้วมองหน้าคุณแทน โดยให้คนแปลกหน้าคนนั้นเตรียมขนมหมาอร่อยๆ ไว้ด้วย แล้วรีบเอาให้หมากิน จากนั้นให้ซ้ำบ่อยๆ หมาจะได้เชื่อมโยงความรู้สึกดีๆ กับสถานการณ์นั้น ถ้าเขาให้ขนมหมาช้าไป หมาจะมีเวลาคิด จนตัดสินไปเองว่านี่เป็นสถานการณ์น่ากลัว แต่ก็ต้องเตือนผู้ช่วยของคุณว่าอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป อย่าทำท่าทางคุกคาม หรือส่งเสียงดัง หมาจะได้ไม่กลัว
  4. ฝึกหมาไม่ให้กัดด้วยเทคนิคแทนที่พฤติกรรมเดิม (behavior replacement). เทคนิคที่ 2 เป็นการฝึกหมาให้เปลี่ยนพฤติกรรมขลาดกลัว ด้วยอะไรที่สนุกและเหมาะสมกว่า เทคนิคนี้เรียกว่า operant counter conditioning หรือการวางเงื่อนไขกลับด้วยการกระทำ เป้าหมายของการฝึกแบบนี้ คือทำให้หมากลับมาจดจ่อที่คุณ โดยใช้คำสั่งพื้นฐาน อย่าง ชิด (heel) นั่ง (sit) หรือหมอบ (down) เป็นคำสั่งที่หมาทำตามแล้วจะได้รางวัลเป็นขนมหมาแสนอร่อย หรือความรักความเอาใจใส่จากคุณทุกครั้ง หมาจะได้เชื่อมโยงความรู้สึกดี แม้จะอยู่ในสถานการณ์น่ากลัว
    • ย้ำว่าต้องทำให้หมามีความสุขตลอดการฝึก ให้จบการฝึก และให้หมาออกไปจากสถานการณ์นั้นหลังฝึกไปได้ 10 - 15 นาที หรือก่อนขนมที่เป็นรางวัลจะหมด [5]
  5. เวลาฝึกลูกหมาหรือหมาโต การให้กำลังใจมีผลมาก ไม่ว่าจะต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมหมาเป็นแบบไหนก็ตาม แนะนำให้ชมเวลาหมาเคี้ยวของเล่นที่เตรียมไว้ และเวลาหมาเล่นด้วยแล้วไม่กัดคุณ
    • จะให้ขนมหมาแคลอรี่ต่ำ ชิ้นเล็กๆ ก็ได้ เวลาหมาทำพฤติกรรมตามที่คุณต้องการ
    • ต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ให้หมารู้ว่ามือ นิ้วมือ และนิ้วเท้าของคุณห้ามกัด นอกจากนี้สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และแขกที่แวะเวียนมา ก็ต้องเคารพและทำตามที่คุณฝึกลูกหมา/หมาไว้ด้วย [6]
  6. การฝึกหมาด้วยคำสั่งพื้นฐานและตบรางวัลตอนท้าย นอกจากหมาจะทำสำเร็จได้ง่ายแล้ว ยังช่วยให้หมารู้ว่าต้องหันมาหาคุณเมื่อต้องการรู้วิธีปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย การฝึกแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาการกัดตามสัญชาตญาณได้ พอฝึกหมาเห็นผลไปเรื่อยๆ ก็ให้ค่อยๆ พาหมาไปเจอสถานการณ์น่ากลัวแบบอื่นๆ แล้วใช้เทคนิคดึงความสนใจกลับมาตามที่ได้แนะนำไปข้างต้น
    • ใจเย็น สม่ำเสมอ แล้วจบการฝึกแต่ละครั้งด้วยความรู้สึกดีๆ หมาแต่ละตัวก็แตกต่างกันไป ใช้เวลาเรียนรู้ช้าเร็วต่างกัน ถ้าคุณทุ่มเทเอาใจใส่ในการฝึก อาจจะแปลกใจก็ได้ว่าทำไมน้องหมาของตัวเองเรียนรู้เร็ว สงบใจได้แม้ในสถานการณ์น่ากลัว ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้หมาอยากกัดใครหรืออะไรน้อยลง
  7. เวลาลูกหมา/หมากัดแล้วห้ามลงโทษโดยทำร้ายร่างกาย กระทั่งการแตะหรือดีดจมูก หมาก็เข้าใจผิดได้ว่าคุณกำลังเล่นด้วย จนอาจไปสนับสนุนพฤติกรรมการกัดที่คุณไม่ต้องการ ส่วนการตีหมาหรือลงโทษแรงๆ ก็มักทำให้หมายิ่งกัด แต่สำคัญไปกว่านั้นคือลงโทษทางกายอาจทำหมาบาดเจ็บได้ แถมทำให้ลูกหมา/หมากับคุณห่างเหินกัน ย้ำว่าห้ามฝึกหมาด้วยวิธีนี้เด็ดขาด [7]
  8. ถ้าตอนไหนก็ตาม คุณรู้สึกว่าหมาจะกัดคุณหรือคนใกล้เคียง ให้เตือนตัวเองและคนอื่นว่าต้องสงบนิ่ง ใจเย็น เพราะหมาจะรู้สึกถึงความกลัวและความวิตกของคุณได้ ห้ามตะคอกหรือเตะหมาเด็ดขาด เพราะหมาจะยิ่งกลัวแล้วก้าวร้าวรุนแรง [8]
    • อย่าจ้องตาหมาตรงๆ บอกคนอื่นที่ช่วยคุณฝึกด้วย ว่าให้ยืนเฉียงจากหมาเล็กน้อย อย่าเผชิญหน้าเป็นเป้าตรงๆ โดยที่คุณคอยเฝ้าระวังหมาตัวเองไว้ แบบนี้หมาจะเรียนรู้ว่าคุณไม่ได้เป็นภัยคุกคาม ไม่ได้ล้ำอาณาเขตหรือจะมาทำอันตราย ทำให้หมาไม่กลัวคุณด้วย
    • พอหมาไม่รู้สึกถูกคุกคามแล้ว ก็จะหมดความสนใจ ทำให้คุณควบคุมสถานการณ์นั้นได้ง่ายกว่าเดิม
  9. เมื่อไหร่ถึงควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ. บางทีการฝึกให้หมาสบายๆ กับทุกสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ก็เป็นเรื่องยากเกินความสามารถของเรา บางทีพฤติกรรมการกัดอาจฝังลึกจนติดเป็นนิสัย เจ้าของฝึกเองไม่ได้ ถ้าสุดท้ายแล้วคุณหมดหนทางจริงๆ ฝึกยังไงก็ไม่คืบหน้า แนะนำให้ปรึกษาเทรนเนอร์ฝึกหมามืออาชีพ หรือนักพฤติกรรมสุนัขโดยตรงจะดีกว่า ก่อนที่อะไรจะเลวร้ายเกินแก้ไข
    • บางกรณีก็อาจรุนแรงถึงขั้นต้องแก้ปัญหาขั้นเด็ดขาด เช่น หาเจ้าของใหม่ที่เหมาะสมกว่าให้หมา มอบหมาให้ศูนย์พักพิง หรือถ้าในต่างประเทศ หมาที่รุนแรงก้าวร้าว เป็นอันตรายมาก แล้วแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ อาจถึงขั้นฉีดยาให้หลับไปเลย
    • จริงๆ แล้วสังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเจ้าของเป็นคนสบายๆ ใจเย็น หมาที่เลี้ยงก็มักมีนิสัยและพฤติกรรมคล้ายกันไปด้วย เวลาเล่นกับหมาเลยต้องระวัง รวมถึงเวลาแนะนำให้หมารู้จักกับคนใหม่ๆ หมาใหม่ๆ สัตว์อื่นๆ และสถานที่ใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้การใช้เวลาร่วมกันในห้องนั่งเล่นของบ้าน ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญ เป็นการปลูกฝังนิสัยรักสงบให้น้องหมา ให้รู้ว่าถ้าทำตัวน่ารัก เล่นกันดีๆ ก็จะได้รับความรักและความเอาใจใส่จากคุณ
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,927 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา