ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
มนุษย์เราต้องเรียนรู้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะได้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อพบกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายขั้นตอนในการหาวิธีเรียนรู้เพื่อช่วยให้เราค้นพบและใช้เทคนิคในการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นจนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ วิธีที่จะแนะนำนี้สามารถนำไปประยุกต์กับการเรียนรู้อะไรก็ตามที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อเพิ่มความรู้ รวมทั้งจะแนะนำวิธีการช่วยเพิ่มพลังสมองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราสามารถช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง การใช้เทคนิคเรียนรู้เพื่อจะได้รู้วิธีการเรียนอันเหมาะสมสามารถช่วยให้เรารู้วิธีการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลสุขภาพของตนเอง
ขั้นตอน
-
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ. มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่ปัญหาการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากเราหรือวิธีการเรียนของเรา แต่สมองของเราไม่สามารถจดจำข้อมูลได้เพราะเราไม่ให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน ฉะนั้นเราต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เราต้องนอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่ม ถ้าต้องการให้สมองตื่นตัวเพียงพอที่จะซึมซับข้อมูล แค่ดื่มกาแฟสักแก้วไม่ได้ผลหรอก เราควรหยุดคร่ำเคร่งจนดึกดื่น เปลี่ยนมานอนแต่หัวค่ำ ร่างกายจะได้พักผ่อนเพิ่มอีกสองสามชั่วโมง และค่อยตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ เราจะได้อ่านหนังสือและทบทวนบทเรียนได้ดีขึ้น เมื่อสมองของเราแจ่มใส
- ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าขณะที่เราหลับ สมองจะหลั่งของเหลวชนิดหนึ่งเพื่อล้างสารพิษในสมอง [1] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง เมื่อเรานอนไม่พอ สมองของเราจะเต็มไปด้วยของเสีย จึงทำให้สมองทำงานได้ไม่ดี
- จำนวนชั่วโมงของการนอนหลับพักผ่อนในวันหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราและการทำงานของร่างกายเรา ผู้ใหญ่ควรหลับวันละเจ็ดถึงแปดชั่วโมง [2] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Mayo Clinic ไปที่แหล่งข้อมูล แต่บางคนอาจนอนน้อยกว่านี้และบางคนอาจนอนมากกว่านี้ เราควรรู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าได้เกือบตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องใช้กาแฟช่วย ถ้าเราเหนื่อยก่อนสี่หรือห้าชั่วโมงในตอนกลางวัน แสดงว่าเราอาจนอนไม่พอ (หรืออาจนอนเยอะเกินไป)
-
กินให้อิ่มท้อง. เมื่อเราหิว สมองของเราจะซึมซับข้อมูลได้ยาก เมื่อร่างกายบอกว่าท้องว่าง เราก็จะจดจ่อกับการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลำบาก เราต้องกินอาหารให้ครบสามมื้อ เราอาจต้องหาแม้แต่ของว่างที่ดีต่อสุขภาพเพื่อเอาไว้กินระหว่างทบทวนบทเรียน ระหว่างรอเรียนหรือรอสอบวิชาต่างๆ
- เรายังต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย จังก์ฟู้ดไม่ได้ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ลองเคี้ยวอัลมอนด์หรือแคร์รอตสักสองชิ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกตื่นตัวและมีสมาธิจดจ่อกับการทำกิจกรรมต่างๆ จะได้ไม่รู้สึกอืดและเหนื่อยล้า
-
ดื่มน้ำมากๆ. ร่างกายของเราจะทำงานได้ดี เมื่อได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เมื่อเราได้รับน้ำไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนรู้ได้ เราจะวอกแวกง่าย เมื่อกระหายน้ำ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การขาดน้ำอาจทำให้เรามีอาการปวดหัวด้วยซ้ำ จึงทำให้จดจ่อกับการเรียนรู้ได้ยากขึ้นไปอีก
- ร่างกายของแต่ละคนต้องการน้ำในปริมาณไม่เท่ากัน คำแนะนำว่า "ควรดื่มน้ำวันละแปดแก้ว" เป็นแค่การประมาณคร่าวๆ เท่านั้น วิธีที่ดีที่สุดซึ่งจะบอกได้ว่าเราได้รับน้ำอย่างเพียงพอไหมคือดูสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะสีอ่อนหรือใส แสดงว่าดื่มน้ำเพียงพอแล้ว แต่ถ้าปัสสาวะมีสีเข้ม แสดงวาต้องดื่มน้ำเพิ่ม
-
ออกกำลังกาย. เรารู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังกายนั้นดีต่อสุขภาพของเราในหลายด้าน แต่รู้หรือเปล่าว่าการออกกำลังกายนั้นยังช่วยให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้นด้วย มีผลการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายเบาๆ ระหว่างทบทวนบทเรียนสามารถช่วยให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น [3] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง คนที่ชอบออกแรงและเคลื่อนไหวร่างกายแต่ถูกบังคับให้ต้องอยู่นิ่งนานเกินไปอาจจดจ่อกับการเรียนรู้ได้ยาก ฉะนั้นการออกกำลังกายระหว่างทบทวนบทเรียนอาจช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
- ตัวอย่างเช่น ลองเดินรอบห้องขณะที่อ่านตำราเรียนอยู่ บันทึกเสียงอาจารย์ในห้องและนำมาฟังระหว่างที่ใช้เครื่องออกกำลังเดินวงรี อาจเลือกวิธีการออกกำลงกายแบบอื่นๆ ก็ได้ แค่ต้องเลือกออกกำลังกายแบบเบาๆ และทำระหว่างกำลังทบทวนบทเรียน
-
สอนสมองให้เรียนรู้. การเรียนรู้อย่างรวดเร็วเป็นนิสัยอย่างหนึ่ง เราจึงต้องฝึกสมองให้มีนิสัยที่ดีและนำมาแทนที่นิสัยแย่ๆ เพิ่มสมาธิด้วยการทำภารกิจที่สลับซับซ้อนโดยไม่หยุดพัก (ถึงแม้งานเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย) ไม่ต้องสนใจเรื่องเวลาและสถานที่ในการเรียนรู้ ทำภารกิจต่อไปเรื่อยๆ ต้องทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นอะไรที่สนุกสำหรับเรา สมองจะได้อยากเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้ไม่ต้องบีบบังคับตนเองให้ต้องเรียนรู้อะไรต่างๆ มากนัก
- ตัวอย่างเช่น ไล่เรียนรู้เรื่องที่ตนเองชอบก่อน จนในที่สุดสมองของเราก็จะเชี่ยวชาญทักษะการเรียนรู้และสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับสาขาวิชาที่เราไม่ชอบเรียนได้
โฆษณา
-
ตั้งเป้าหมาย. เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น เป้าหมายใดที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ก่อนถึงจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามได้อย่างมั่นใจ ค้นหาเป้าหมายที่เราจะสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตอนนี้โดยไม่ต้องใช้เวลามาก ในกรณีนี้เป้าหมายของเราคือดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น จากนั้นก็ค่อยแตกเป้าหมายนี้เป็นขั้นตอนต่างๆ เราต้องทำอะไรบ้างถึงจะเป็นการดูแลสุขภาพของตนเอง
- ทบทวนบทเรียนแต่เนิ่นๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ดื่มน้ำให้มากๆ
- ออกกำลังกาย
-
ค้นคว้าว่ามีทางเลือกอะไรบ้างในการเรียนรู้.
- ระดมสมองหาวิธีการเรียนรู้ที่เราสนใจและไม่สนใจ เราสนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตหรือเปล่า เราอยากพูดคุยกับนักโภชนาการหรือผู้ฝึกสอนส่วนตัวไหม ถ้าเราไม่ค่อยสนใจอยากอ่านหนังสือ การเลือกอ่านบทความต่างๆ จากนิตยสารจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า
- เชื่อสัญชาตญาณตนเอง ถ้าเลือกเดินเส้นทางหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ขึ้นมา ก็อย่าเลือกไปทางนั้น! ถ้าต้องการอ่านหนังสือเพื่อช่วยปรับปรุงนิสัยการนอนหลับ แต่เนื้อหาที่อ่านไม่ใช่ความรู้ที่เราจะนำมาใช้ในชีวิตของเราได้ ให้หยุดอ่านและเปลี่ยนไปอ่านเรื่องอื่น อย่าอ่านต่อเพราะว่าข้อมูลนั้นมาจาก "ผู้เชี่ยวชาญ" หรือเพราะ "ใครๆ ก็อ่านกัน" ข้อมูลที่อ่านต้องมีประโยชน์สำหรับเราด้วย
- ปรับเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น ขณะที่เริ่มหาวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง เราอาจค้นพบเป้าหมายซึ่งตนเองต้องการที่จะบรรลุจริงๆ การค้นพบเป้าหมายที่แท้จริงระหว่างหาวิธีการบรรลุเป้าหมายจะช่วยกำหนดขอบเขตของเป้าหมายจาก "ฉันต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นกว่านี้" เป็น "ฉันต้องการที่จะดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น"
- หาคนที่ทำตามเป้าหมายเดียวกันนี้ได้สำเร็จและขอให้คนคนนั้นแนะนำเคล็ดลับแก่เรา ถ้ามีคนรู้จักที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของตนเองได้สำเร็จอย่างเช่น หันมาออกกำลังกายเป็นประจำและกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้สำเร็จ ลองเข้าไปพูดคุยกับเขาดู จะได้รู้ว่าคนคนนั้นทำอะไรบ้าง ทำอย่างไรและค้นหาข้อมูลจากที่ไหน
- ค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต เข้าเรียน สัมภาษณ์ผู้อื่น และมีผู้ให้คำปรึกษา พยายามใช้วิธีการเรียนรู้ให้หลากหลาย จะได้รู้ว่าการเรียนรู้แบบไหนได้ผลกับเรามากที่สุด
-
เลือกวิธีที่ดีที่สุด.
- เลือกวิธีที่สามารถทำได้ในสถาพแวดล้อมของเรา สามารถนำมาใช้ได้ผลดีภายในกรอบเวลาที่กำหนด และตัวเราสามารถใช้วิธีนี้ได้เป็นอย่างดีด้วยกำลังและความตั้งใจที่มี อย่าเลือกลงเรียนวิชาโภชนาการ ถ้าตนเองมีเวลาจำกัดและไม่มีเวลามาเข้าเรียน อาจเริ่มทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นทำตามแผนโภชนาการที่วางไว้ ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน วิธีนั้นต้องเป็นวิธีที่เราสามารถทำได้ดี
- คำนึงถึงระยะเวลา ข้อจำกัดของสถานที่ และสภาพจิตใจ อย่าทำให้ชีวิตเครียดมากขึ้นด้วยการทำอะไรเกินกำลังตัวเอง การเรียนรู้ควรทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง
- กำหนดเวลาในการเรียนรู้และฝึกฝน การกำหนดระยะเวลาในการเรียนรู้จะช่วยกระตุ้นให้เราทำตามขั้นตอนทุกวัน
- ฝึกตนเองให้ตั้งใจเรียนรู้ในเรื่องที่อยากรู้หรืออยากปรับปรุง "อารมณ์ผลักดันให้เกิดความสนใจ ความสนใจผลักดันให้เกิดการเรียนรู้" เอาใจใส่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของตนเอง ถ้ากำลังจะเลือกวิธีออกกำลังกายแล้วพบว่าที่จริงไม่อยากใช้วิธีนี้สักเท่าไหร่ ให้หาเหตุสิว่าทำไม การออกกำลังกายมีอะไรที่ทำให้เราเกิดปฏิกิริยาแบบนี้ ต้องมีเหตุผลสักข้อที่ทำให้เรามีปฏิกิริยาต่อต้านการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยวิธีนี้
- เมื่อมีทางเลือกหลายทาง ให้ลองเลือกสักทางหนึ่งก่อน บางครั้งเราก็เริ่มตัดสินใจไม่ถูกและเอาแต่คิดใคร่ครวญเพื่อหาทางเลือกที่ "ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด" การเลือกไม่มี "ถูก" หรือ "ผิด" มีเพียงแต่ทางเลือกนั้นใช้ได้ผลกับเราหรือเปล่า เลือกมาสักทางแล้วลองดู! ถ้าทางเลือกนั้นไม่ได้ผล ให้เปลี่ยนไปเลือกทางอื่น
-
ทดลองพร้อมกับเรียนรู้. ในการทดลองอย่างมีประสิทธิภาพเราต้องวางแผนการทดลอง มีวิธีการประเมินว่าการทดลองนั้นได้ผลไหมและระยะเวลาที่จะทำการทดลองจนได้ผลลัพธ์ กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นแบบเดียวกัน
- กำหนดเกณฑ์ที่ทำให้เห็นว่าตนเองทำได้หรือทำไม่ได้ เมื่อตัดสินใจจะใช้แผนโภชนาการ เราก็ต้องให้แผนนี้ประกอบด้วยอาหาร 3 มื้อต่อวัน หรือต้องให้แผนนี้ครอบคลุมอาหารมื้อย่อยๆ หลายมื้อตลอดวันไหม
- ต้องมีวิธีการติดตามความก้าวหน้าด้วย ใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ที่เรามี! จะใช้โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ปฏิทิน บล็อก เป็นต้น ในการติดตามความก้าวหน้าของตนเอง
- หมั่นประเมินความก้าวหน้า ฉันยังต้องการข้อมูลมากกว่านี้หรือเปล่า หรือฉันได้ทำอะไรที่จำเป็นต่อการเริ่มกิจวัตรการนอนแบบใหม่บ้างหรือยัง
- กำหนดขั้นตอนและทำตามขั้นตอนที่กำหนดนั้น ฉันต้องการค้นหาเมนูอาหารเย็นเพื่อสุขภาพสัก 3 เมนู จะได้นำมาใช้กับแผนโภชนาการ
-
ประเมินผลเป็นระยะ.
- บรรลุเป้าหมายไหม เรารู้พอที่จะทำตามแผนการออกกำลังกายแบบใหม่แล้วหรือยัง ค้นพบวิธีที่จะปรับปรุงนิสัยการนอนหลับของตนเองแล้วหรือยัง
- กำหนดวันประเมินไว้ในปฏิทิน กำหนดวัน "ตรวจสอบ" เพื่อจะได้ประเมินข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ในวันนั้น จะได้รู้ว่าแผนการได้ผลหรือเปล่า มีอะไรที่เราต้องรู้เพิ่มเติมไหม อะไรได้ผลและอะไรไม่ได้ผล เพราะอะไร
-
รู้ว่าวิธีการไหนได้ผล. ถ้าวิธีการเรียนรู้ที่เราเลือกนั้นได้ผล ก็ให้ใช้วิธีนั้นต่อไป ถ้าไม่ได้ผล ให้กลับไปเลือกวิธีอื่นและเริ่มทดลองใช้วิธีนั้นก่อนโฆษณา
-
เมื่อเรียนรู้อะไรเป็นครั้งแรก ให้ตั้งใจฟัง. วิธีที่ดีที่สุดซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้เร็วมากขึ้นได้คือตั้งใจฟังคำอธิบายในเรื่องที่เราไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน ถึงแม้จะเผลอวอกแวกไปนิดเดียว ก็อาจทำให้พลาดข้อมูลบางอย่างไปได้ โชคดีที่มีเคล็ดลับซึ่งช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ นั้นคือเราต้องมีสมาธิและสร้างแรงจูงใจให้ตนเองอยากตั้งใจฟัง
- พยายามฟังพร้อมกับคิดว่าเราจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้อหานั้นทันที อย่างเช่น คุณครูจะเรียกเราตอบ หรือเราจะนำข้อมูลนั้นไปทบทวนเองได้ในภายหลัง ในความเป็นจริงแล้วถ้าเราต้องอ่านเองที่บ้าน การทบทวนข้อมูลด้วยภาษาของตนเอง (ถอดความและทำเป็นคำพูดของตนเอง) สามารถช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้แม่นยำ
-
จดบันทึก. การจดบันทึกเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เรายังคงจดจ่อกับเนื้อหาที่เราได้เรียนรู้เป็นครั้งแรก การจดบันทึกไม่เพียงบังคับให้เราต้องคิดถึงเนื้อหาที่เรียนรู้อยู่เท่านั้น ยังให้กรอบที่ช่วยในการทบทวนบทเรียนภายหลังอีกด้วย
- การจดบนทึกไม่ได้หมายถึงเขียนทุกอย่างที่ได้ยิน เราต้องเขียนเค้าโครงกว้างๆ พร้อมกับใส่ข้อมูลที่เราคิดว่าสำคัญลงไป จดบันทึกข้อมูลที่สำคัญและคำอธิบายใดๆ ที่เราคิดว่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจหรือรู้ว่าเราจะลืมเพราะข้อมูลนั้นซับซ้อนมาก
-
มีส่วนร่วมในชั้นเรียน. กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนไม่เพียงช่วยให้เรามีสมาธิเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สมองซึมซับข้อมูลได้ดีขึ้นเพราะต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายด้าน ไม่ใช่แค่การนั่งฟังใครบางคนพูดเฉยๆ มีวิธีการมากมายที่จะทำให้เรามีส่วนร่วมในชั้นเรียนตั้งแต่ทำงานกลุ่มไปจนถึงการถามตอบในชั่วโมงเรียน
- พยายามตอบคำถามเมื่อคุณครูถาม ไม่ต้องไปกังวลว่าจะตอบผิด เพราะนี้คือประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้อย่างหนึ่งและการตอบผิดในบางครั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
- เมื่อมีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม อ่าน หรือพูดคุย ให้ทำตามเงื่อนไขและมีส่วนร่วมในห้องเรียน อย่าเอาแต่นั่งเฉยๆ และไม่ยอมทำอะไรเลย ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ถามตอบกันและกัน แสดงความเห็นและรับฟังความเห็น สนุกกับประสบการณ์ที่ได้รับ
- ถามเมื่อเราไม่เข้าใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม การถามเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรายังคงจดจ่อกับการเรียน อีกทั้งยังช่วยให้เรามั่นใจว่าตนเองนั้นเข้าใจเรื่องที่กำลังเรียนรู้อยู่จริงๆ เมื่อมีอะไรไม่เข้าใจหรือเมื่อเห็นว่ามีบางสิ่งน่าสนใจและต้องการรู้เพิ่มเติม ให้ถามคุณครู
-
สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้. ถ้าเพื่อนที่นั่งเรียนอยู่ข้างกันชอบชวนคุยหรือบริเวณทบทวนบทเรียนของเราอยู่ตรงหน้าทีวีเลย ก็ไม่น่าประหลาดใจนักที่เราเรียนรู้ได้ช้า เราจะต้องทบทวนบทเรียนในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ถ้าอยากให้สมองเรียนรู้ข้อมูลได้ดีที่สุด การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบและปราศจากสิ่งรบกวนจะทำให้เราไม่วอกแวก การมีพื้นที่ไว้ทบทวนบทเรียนและเรียนรู้โดยเฉพาะก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้จะช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานในแบบเฉพาะ
- ถ้าสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ ขอความช่วยเหลือจากคุณครู เราอาจสามารถย้ายที่นั่งหรือเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับเพื่อนคนอื่นแทนได้ ถ้าสภาพแวดล้อมในบ้านไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ หาสถานที่นอกบ้านซึ่งเหมาะสมต่อการทบทวนบทเรียน เราจะเข้าห้องสมุดก็ได้ ถ้าสะดวก เราสามารถทบทวนบทเรียนในห้องน้ำหรือตอนเช้าตรู่ก็ได้ ถ้าเพื่อนร่วมห้องชอบส่งเสียงดัง
-
เรียนรู้ในแบบที่ตนเองถนัด. รูปแบบการเรียนรู้เป็นวิธีการเรียนรู้ในแบบต่างๆ ที่ทำให้สมองของเราซึมซับข้อมูลได้ดีที่สุด ถึงแม้รูปแบบการเรียนรู้จะมีมากมายหลายแบบ แต่จะมีแค่หนึ่งหรือสองแบบเท่านั้นที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เราสามารถทำแบบทดสอบทางอินเตอร์เน็ตได้เพื่อประเมินว่าตนเองถนัดการเรียนรู้แบบไหน แต่ถ้าเรามีคุณครูคอยช่วยเหลือ พวกท่านอาจสามารถช่วยให้เรารู้ว่าตนเองถนัดการเรียนรู้แบบไหน เราอาจขอให้คุณครูช่วยปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เราถนัดก็ได้
- ตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นว่าตนเองจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเห็นแผนภูมิและกราฟ แสดงว่าเราอาจเป็นคนที่เรียนรู้ทางการมองเห็นได้ดี พยายามทบทวนบทเรียนด้วยการวาดภาพอินโฟกราฟิกเพื่อช่วยให้ตนเองจดจำข้อมูลได้มากขึ้น
- เราจำเสียงสิ่งต่างๆ ได้ดีหรือสามารถจดจำเนื้อหาที่อ่านได้แม่นยำเมื่อฟังเพลงบางเพลงหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น แสดงว่าเราอาจเป็นคนที่เรียนรู้จากกการฟังได้ดี พยายามบันทึกเสียงของผู้บรรยายเพื่อจะได้นำมาฟังก่อนและหลังเรียน หรือแม้แต่ระหว่างทบทวนบทเรียน ถ้าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลเดิม
- เมื่อนั่งอยู่ในห้องเรียน รู้สึกเหมือนว่าแทบจะอดรนทนไม่ไหวเพราะต้องการออกไปวิ่งหรือเปล่า ชอบเคาะเท้าโดยไม่รู้ตัวขณะฟังการบรรยายไหม เราอาจเป็นคนที่เรียนรู้ได้ดี เมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกาย ลองใช้มือขยับวัตถุเล็กๆ ตอนเรียนหรือเดินไปด้วยทบทวนบทเรียนไปด้วย จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
-
ใช้วิธีเรียนรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละวิชา. วิชาต่างๆ มีวิธีการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน เราจึงอาจใช้วิธีการเรียนรู้ไม่เหมาะสมกับตัววิชาก็ได้ ฉะนั้นการปรับวิธีเรียนรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละวิชาจะช่วยให้สมองของเราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
- ตัวอย่างเช่น สมองของเราได้รับการออกแบบมาให้เรียนภาษาผ่านทางการปฏิสัมพันธ์ การฟัง และการใช้ เราจะเรียนภาษาอังกฤษได้เร็วมากขึ้น ถ้าเราง่วนอยู่กับการใช้ภาษาอังกฤษตลอดและใช้เวลาฝึกพูดบ่อยๆ แทนที่จะเอาแต่ท่องจำคำศัพท์ในบัตรคำ ถ้าอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้น ลองอ่านบทความนี้ดู
- ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งคือการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ แทนที่จะแก้แต่โจทย์เดิมๆ และดูแต่ตัวอย่างเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ให้ลองมาแก้โจทย์ที่แตกต่างออกไปสักหลายข้อและเป็นโจทย์ที่อยู่ในเรื่องเดียวกัน [4] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง การได้แก้โจทย์ที่ต้องใช้ทักษะคล้ายกันแต่ต่างออกไป จะทำให้เราเข้าใจเรื่องที่กำลังเรียนรู้อยู่มากขึ้น
-
เข้ารับการประเมินว่าเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้หรือเปล่า. ถ้าพบว่าตนเองไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนรู้ได้หรือสมองดูเหมือนไม่ซึมซับข้อมูลใดๆ ถึงแม้จะใช้เทคนิคต่างๆ ช่วยแล้วก็ตาม เราอาจลองเข้ารับการประเมินว่าเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้หรือเปล่า โรคบกพร่องทางการเรียนรู้นั้นมีมากมายและสามารถพบได้ทั่วไป (ขนาดในสหรัฐฯ ยังมีการประมาณว่าในประชากรทุกๆ 5 คน จะมีประชากร 1 คนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ [5] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ) การเป็นโรคนี้ไม่ได้หมายความว่าเราโง่หรือผิดปกติ แต่แค่หมายถึงว่าเราต้องใช้วิธีเรียนรู้แตกต่างไปจากคนอื่นสักหน่อย โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ซึ่งพบบ่อยได้แก่
- โรคดิสเล็กเซีย (dyslexia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความบกพร่องในการอ่าน ถ้าเห็นว่าสายตาของตนเองไม่สามารถไล่ไปตามข้อความที่อ่านได้ แสดงว่าเราอาจเป็นโรคดิสเล็กเซีย
- ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคดิสเล็กเซียอย่างโรคดิสกราฟเฟีย (dysgraphia) และโรคดิสคาลคูเลีย (dyscalculia) จะทำให้เรามีปัญหาด้านการเขียนและการเรียนคณิตศาสตร์ ถ้าเห็นว่าการเขียนอะไรสักอย่างนั้นยากลำบากแต่การพูดนั้นง่าย แสดงว่าเราอาจเป็นโรคบกพร่องทางการเขียน ถ้าไม่สามารถแยกแยะตัวเลขหรือคำนวณค่าใช้จ่ายได้ แสดงว่าเราเป็นโรคบกพร่องทางการคิดคำนวณ
- ความผิดปกติด้านการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลางเป็นความบกพร่องทางการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ผู้ที่เป็นจะมีปัญหาในการประมวลเสียง คล้ายกับอาการหูหนวกแต่ผู้เป็นไม่ได้สูญเสียการได้ยิน แต่ก็มีปัญหาในการสนทนาและจำแนกแยกแยะเสียง
โฆษณา
-
ทบทวนบทเรียนให้เร็วที่สุดและบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้. ยิ่งเราทบทวน เราก็ยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้น ฉะนั้นการหมั่นทบทวนบ่อยๆ จึงเป็นความคิดที่ดี ยิ่งทบทวนบทเรียนเร็ว ก็ยิ่งจำเนื้อหาทุกอย่างได้ง่าย ฉะนั้นเราจึงไม่ควรรอให้เหลือสองสามวันก่อนสอบแล้วค่อยทบทวนบทเรียน ให้เริ่มทบทวนบทเรียนอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ก่อนสอบและทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่องถ้าเห็นว่าจำเป็น
- ควรกลับไปทบทวนข้อมูลเก่าในเวลาเดียวกับที่ทบทวนข้อมูลใหม่ของสัปดาห์นี้ด้วย จะช่วยให้ข้อมูลเหล่านั้นและทักษะยังคงอยู่ในหัว รวมทั้งสามารถนำข้อมูลใหม่และข้อมูลเก่ามาเชื่อมโยงได้
-
ขอความช่วยเหลือจากติวเตอร์หรือคุณครู. การขอความช่วยเหลือและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแล้วนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ของตนเป็นเรื่องธรรมดา วิธีนี้ช่วยเราได้มากทีเดียว ฉะนั้นเลิกอายและหยิ่งทะนงแล้วไปขอความช่วยเหลือจากคุณครูเสีย ถ้าคุณครูติดภารกิจบางอย่างและไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ อย่างน้อยคุณครูก็อาจช่วยหาติวเตอร์สักคนมาช่วยเราได้
- ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์พอจะจ้างติวเตอร์ คุณครูอาจวานเพื่อนสักคนในชั้นเรียนซึ่งถนัดในวิชาที่เราอ่อนให้มาช่วยติวหนังสือแก่เรา
- หลายโรงเรียนจะมีการเปิดสอนพิเศษให้แก่นักเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ฉะนั้นลองติดตามข่าวสารว่าทางโรงเรียนมีการเปิดสอนพิเศษหรือไม่
-
ทำแผนที่ความคิดเพื่อช่วยเราให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น. การเขียนแผนที่ความคิดเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมวิธีหนึ่งในการบันทึกข้อมูลที่เรากำลังพยายามเรียนรู้เข้าสู่สมองโดยตรง แผนที่ความคิดจะทำให้เรามองเห็นการเชื่อมโยงของเรื่องที่กำลังเรียนรู้ นำกระดาษจดโน้ตเล็กๆ รูปภาพ และแผ่นกระดาษมาเขียนข้อมูล คำอธิบาย และแนวคิดที่ได้รับการเรียบเรียงแล้วลงไป คราวนี้นำกระดาษเหล่านี้มาติดผนังหรือวางลงที่พื้น นำกระดาษที่มีเนื้อหาที่คล้ายกันมาวางไว้ด้วยกันและใช้เชือกหรือสิ่งของอื่นๆ มาโยงแนวคิดกับหัวข้อเข้าด้วยกัน ทบทวนบทเรียนโดยใช้แผนที่ความคิดแทนการอ่านโน้ตก็ได้
- เมื่อต้องสอบหรือเขียนเนื้อหาลงในกระดาษ เราจะได้นึกถึงแผนที่ความคิดและนึกข้อมูลที่ต้องการและความเชื่อมโยงของข้อมูลแต่ละอย่างออก เหมือนที่เราสามารถจำตำแหน่งของสถานที่บนแผนที่ภูมิศาสตร์ได้
-
ใช้วิธีจดจำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจะได้สามารถนึกข้อมูลออกอย่างรวดเร็ว. การจดจำให้ได้ไม่ใช่เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีที่สุด แต่สามารถช่วยเราได้ ถ้าต้องการเรียนรู้ข้อมูลบางอย่างโดยเร็วจริงๆ การจดจำเหมาะกับการจำรายการต่างๆ อย่างเช่น สิ่งที่ต้องทำไปตามลำดับหรือคำศัพท์ แต่การจำเนื้อหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้นอาจไม่ได้ผล
- ลองใช้เทคนิคช่วยจำตามลำดับเพื่อจะได้เรียนรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เราอาจใช้วลีหรือคำเพื่อเป็นคีย์ไปสู่ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอย่างวลีหรือคำช่วยจำเช่น อุ-อี-บู-อา-ทัก-หอ-ปะ-พา ใช้ในการจำชื่อทิศทั้งแปด
- จดจำข้อมูลทีละนิด เมื่อกำลังศึกษาและเรียนรู้ ควรจดจำข้อมูลไปทีละนิดก่อนจะเปลี่ยนไปจำข้อมูลส่วนถัดไป อาจรู้สึกว่าวิธีนี้นั้นช้าแต่ความจริงแล้ววิธีนี้ทำให้เราจำข้อมูลได้เร็วมาก เพราะจะไม่ต้องกลับไปจำข้อมูลใหม่มากนัก วิธีนี้เหมาะที่จะนำมาใช้จำคำศัพท์อย่างยิ่ง หรือจำข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายกันก็ได้ ถ้าจะต้องจำคำศัพท์ ให้จำทีละ 5-8 คำ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปจำคำศัพท์ชุดถัดไป
-
ใช้แหล่งการเรียนรู้อื่นๆ มาช่วยเสริมการเรียนรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ. เมื่อมีแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ ในการค้นคว้าข้อมูลที่สนใจเพิ่มเติม เราก็จะเริ่มเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เมื่อแหล่งการเรียนรู้นั้นตรงกับเรื่องที่เราสนใจ ก็จะทำให้จดจำข้อมูลได้ง่ายขึ้น ค้นคว้าและหาประสบการณ์ที่ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้
- สมมติว่าเรากำลังเรียนภาษาอังกฤษ พยายามดูหนังที่เราสนใจและมีเนื้อหาครอบคลุมคำศัพท์ในหัวข้อที่เรากำลังพยายามเรียนรู้อยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังเรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาจลองหาหนังเรื่อง Lost in Translation (ชื่อในภาษาไทย "หลง เหงา รัก") มาชมก็ได้
- ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้ากำลังพยายามทบทวนวิชาประวัติศาสตร์ ชมสารคดีที่เกี่ยวกับหัวข้อซึ่งกำลังเรียนอยู่หรืออาจเกี่ยวกับประเทศที่เรากำลังศึกษาอยู่ก็ได้ การได้เห็นภาพที่ตรงกับเรื่องราวจะช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพราะเริ่มนึกภาพได้ง่ายขึ้น
โฆษณา
เคล็ดลับ
- อย่าเลือกแค่วิธีแรกให้เป็นวิธีเดียวในการเรียนรู้ ระดมความคิดหาวิธีการให้ครบทุกวิธีก่อนที่จะเลือก
- โรเบิร์ต เอ. บจอร์ค นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงได้ให้ความหมายของ "การเรียนรู้" ว่า "การเรียนรู้คือความสามารถในการใช้ข้อมูลหลังจากไม่ได้ใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งพอสมควรและเป็นความสามารถในการใช้ข้อมูลแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ต่างออกไป (ถึงจะเพียงเล็กน้อย) จากสถานการณ์ที่ได้รับการสอนมาตั้งแต่แรก" [6] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง Robert Bjork, Memories and Metamemories, 1994
- หลังจากอ่านหัวข้อหนึ่งจบลงไป ลองพูดเนื้อหาในหัวข้อนั้นออกมาโดยไม่ดูหนังสือและปรับเนื้อให้เข้าใจง่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ราวกับว่ากำลังอธิบายให้ใครสักคนฟัง การทำแบบนี้จะช่วยให้จดจำข้อมูลได้นานขึ้น
- ถ้าตั้งใจเรียนในห้องเรียน เนื้อหาจะเข้าไปในสมองของเรา 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากลับบ้านและอ่านเนื้อหานั้นทันที เราจะได้เนื้อหาที่เหลืออีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการตั้งใจเรียนในห้องจะช่วยเราได้มาก
- กำหนดเป้าหมายทุกวันและฝึกจดบันทึกในห้องเรียนจนเป็นนิสัย เพราะการทำแบบนี้จะช่วยเราได้ในอนาคต
- ก่อนที่จะทบทวนบทเรียนจัดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดโต๊ะ เปิดหน้าต่างเพื่อรับอากาศที่บริสุทธิ์ (ถ้าอยู่ในเมืองอาจไม่จำเป็นต้องเปิด) ถ้าห้องที่ใช้ทบทวนบทเรียนอยู่ใกล้สวน สวนสาธารณะ หรือต้นไม้ เปิดหน้าต่างไว้ จะดื่มชาหรือกาแฟก่อนทบทวนบทเรียนก็ได้ จะกินผักผลไม้และเตรียมอุปกรณ์การเขียนเช่น ปากกา ดินสอ กบเหลาดินสอ ไม้บรรทัด เป็นต้น ก่อนทบทวนบทเรียนก็ได้ ซื้อหรือใช้ปากกาสีสะท้อนแสงเพื่อขีดข้อความสำคัญด้วย
โฆษณา
คำเตือน
- หมั่นใช้ความรู้ ไม่อย่างนั้นจะหลงลืม! หาโอกาสใช้ความรู้ที่ได้เรียนรู้มา พยายามหาโอกาสเสมอ ถ้ากำลังเรียนรู้วิธีกินที่ดีต่อสุขภาพ ก็สาธิตให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวเห็นว่าวิธีกินที่ดีต่อสุขภาพนั้นมีอะไรบ้าง
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ http://www.npr.org/blogs/health/2013/10/18/236211811/brains-sweep-themselves-clean-of-toxins-during-sleep
- ↑ http://www.mayoclinic.org/healthy-living/adult-health/expert-answers/how-many-hours-of-sleep-are-enough/faq-20057898
- ↑ http://well.blogs.nytimes.com/2013/08/07/how-exercise-can-help-us-learn/?_php=true&_type=blogs&_r=0
- ↑ http://mathcs.slu.edu/undergrad-math/success-in-mathematics
- ↑ http://www.parentcenterhub.org/repository/specific-disabilities/
- ↑ Robert Bjork, Memories and Metamemories, 1994
โฆษณา