ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การพัฒนาทักษะด้านศิลปะต้องอาศัยทั้งความหลงใหลและความทุ่มเท ไม่ว่าคุณจะอยากเป็นศิลปินมืออาชีพหรือแค่เริ่มทำงานอดิเรกใหม่ได้ดีแล้ว ขอแค่คุณมีความอดทนเพียงเล็กน้อยและฝึกฝนมากหน่อย คุณก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ลุ่มลึกที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงได้ คุณต้องสร้างตารางประจำวันเพื่อฝึกฝนและเปิดใจให้กับการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการทดลองทักษะเก่าๆ การฝึกสายตาให้มองโลกแบบศิลปินก็ช่วยให้คุณสามารถสร้างผลงานที่เหมือนจริง หรือทำงานกับแสง เงา และองค์ประกอบศิลป์ที่เป็นแนวทางการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ได้ ศิลปะควรเป็นเอกลักษณ์คนๆ นั้น เพราะฉะนั้นสนุกไปกับมันและอย่ากลัวที่จะแหกกฎดูบ้าง!

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ดูวิดีโอสอนออนไลน์ฟรีเพื่อเรียนรู้เทคนิค เช่น การผสมสีหรือการแรเงา. ถ้าคุณอยากเรียนรู้วิธีการผสมสีแบบใดแบบหนึ่ง หรือแรเงาและสร้างเงาที่สมจริง ให้ลองดูวิดีโอสอนออนไลน์ฟรี เตรียมสมุดวาดภาพและอุปกรณ์ให้พร้อม คุณจะได้หยุดวิดีโอและฝึกไปพร้อมๆ กับขณะที่ผู้สอนแบ่งเทคนิคเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้ [1]
    • อ่านส่วนที่เป็นความคิดเห็นอย่างละเอียด เพราะเป็นไปได้ว่าจะมีศิลปินคนอื่นๆ มาเขียนเคล็ดลับและคำแนะนำเอาไว้
    • ค้นหาวิดีโอสอนเทคนิคที่คุณอยากเรียนรู้ เช่น คุณอาจจะหาคลิปสอนการวางองค์ประกอบภาพ การทำงานกับแสง ศิลปะคิวบิสม์ ศิลปะเหนือจริง หรือแม้แต่การสร้างสรรค์ผลงานแบบสามมิติ ถ้าคุณเองคิดออก ในอินเทอร์เน็ตก็น่าจะมีนะ!
  2. ลงเรียนส่วนตัวหรือเข้าคลาสศิลปะที่เน้นทักษะใดทักษะหนึ่งเป็นพิเศษ. ถ้าคุณเป็นมือใหม่ ให้ไปที่ศูนย์บริการชุมชนและห้องสมุดเพื่อดูว่ามีคอร์สการสอนศิลปะขั้นพื้นฐานหรือไม่ แต่ถ้าคุณมีทักษะระดับกลางหรือขั้นสูงอยู่แล้ว คุณก็อาจจะลงเรียนในวิชาที่เปิดสอนโดยวิทยาลัยชุมชนหรือสถาบันศิลปะก็ได้ [2]
    • การเข้าคลาสเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยให้คุณได้พบปะศิลปินคนอื่นๆ และได้รับคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงาน
    • คุณสามารถหาผู้สอน คลาส และเวิร์กช็อปใกล้บ้านได้ในอินเทอร์เน็ต
  3. ใช้หนังสือคู่มือถ้าคุณเป็นมือใหม่หรือกำลังเรียนรู้ทักษะเฉพาะ. หนังสือแบบฝึกหัดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากคุณเป็นมือใหม่หรือกำลังพยายามฝึกทักษะเฉพาะ เช่น การวาดภาพเหมือนคนหรือภาพการ์ตูน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีหากคุณมีเวลาจำกัด เพราะคุณสามารถฝึกฝนแต่ละบทเรียนได้ตามจังหวะของตัวเอง [3]
    • คุณสามารถหาซื้อหนังสือคู่มือได้ทางออนไลน์หรือที่ร้านขายหนังสือขนาดใหญ่ทั่วไป
    • ถ้าคุณเช่าหนังสือคู่มือมาจากห้องสมุดท้องถิ่น อย่าวาดลงไปในหนังสือ! นำหน้าแบบฝึกหัดไปถ่ายเอกสารแล้ววาดลงในนั้นแทน
    • ถ้าคุณเป็นมือใหม่ ให้เลือกหนังสือคู่มือที่มีหน้าแบบฝึกหัดที่เป็นรอยประ เพื่อให้คุณคุ้นเคยก่อนฝึกวาดบนผ้าใบหรือสมุดวาดภาพ
    • ระวังหนังสือที่ให้ "ระบายสีหรือวาดตามตัวเลข" มันอาจจะช่วยได้ถ้าคุณเป็นมือใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แต่มันก็อาจจะไปปิดกั้นสไตล์ของตัวเองได้ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองทั้งนั้น!
  4. พูดคุยกับศิลปินคนอื่นๆ ทางออนไลน์เพื่อเรียนรู้เคล็ดลับเกี่ยวกับสไตล์และวัสดุ. ถ้าคุณอยากศึกษาวิธีการวาดภาพหรือระบายสีบางสิ่งบางอย่าง (เช่น คน สัตว์ และสถานที่) หรือใช้วัสดุบางอย่าง (เช่น สีน้ำมัน สีน้ำ และดินสอถ่าน) ให้เข้าร่วมกลุ่มศิลปินท้องถิ่น อ่านกระทู้อย่างละเอียดเพื่อศึกษาสไตล์หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง และอย่ากลัวที่จะขอคำแนะนำจากคนอื่น! [4]
    • กลุ่มนักวาดภาพประกอบเล่น กลุ่มนักวาดการ์ตูน และกลุ่มวาดภาพเหมือนซึ่งเป็นกลุ่มใน Facebook เป็นชุมชนออนไลน์ที่มีจำนวนสมาชิกหลักแสน หลักหมื่น และหลักพันตามลำดับ มีศิลปินมากมายให้คุณได้ร่วมพูดคุยและเรียนรู้จากเขา
    • เช่น คุณอาจจะเข้าร่วมกลุ่มและโพสต์ข้อความว่า “ ผมกำลังพยายามเรียนรู้เทคนิคการผสมสีน้ำมันในแบบต่างๆ ครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าต้องใช้แปรงแบบไหนถึงจะเข้ากับงานสไตล์เรขาคณิตของผมมากที่สุด มีเคล็ดลับหรือคำแนะนำไหมครับ”
  5. หาเวลาทบทวนว่า เทคนิคไหนที่คุณชำนาญและเทคนิคไหนที่คุณยังต้องพัฒนา ให้คะแนนตัวเองในทักษะต่อไปนี้จาก 1 ถึง 10 : ศิลปะสัจนิยม วาดภาพหุ่น ภาพเหมือนบุคคล การวาดเส้นจากจินตนาการหรือความทรงจำ วาดสัดส่วน องค์ประกอบศิลป์ กายวิภาคมนุษย์ การผสมสี (หรือทฤษฎี) และการแรเงา จากนั้นก็พยายามฝึกฝนทักษะที่คุณให้คะแนนตัวเองต่ำเพิ่มเติม [5]
    • เช่น ถ้าคุณวาดภาพเรขาคณิตสวยแต่แรเงาไม่ค่อยได้ ให้ใช้เวลาฝึกเทคนิคการแรเงาต่างๆ ให้มากขึ้น
    • ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะที่ยังอ่อนตามความเป็นจริง เช่น คุณอาจจะพูดว่า “ในการสเก็ตช์ภาพแต่ละครั้ง ฉันจะใช้เวลาอย่างน้อย 40 นาทีในการฝึกแรเงาใบหน้า”
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ฝึกฝนทักษะ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ฝึกทักษะศิลปะทุกวันและตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง. จัดตารางฝึกฝนทุกวันแม้ว่าคุณจะมีเวลาเหลือแค่วันละ 20 นาทีก็ตาม! การฝึกทุกวันเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้และความชำนาญในเทคนิคใหม่ๆ ถ้าคุณเป็นมือใหม่ พยายามฝึกอย่างน้อยวันละ 30 นาที และค่อยๆ เพิ่มเวลาจนกว่าคุณจะฝึกฝนได้วันละ 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น [6]
    • หลังมื้อค่ำหรือก่อนเข้านอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการฝึก เพราะมันช่วยให้คุณได้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน
    • ตั้งปฏิทินและกา “x” ลงในแต่ละวันที่คุณฝึกทักษะศิลปะ พยายามทำแต้มให้ได้หลายวันติดต่อกันเพื่อสร้างนิสัยที่ดี
    • กำหนดเป้าหมายประจำวันหรือประจำสัปดาห์เพื่อฝึกทักษะศิลปะ เช่น คุณอาจจะพูดว่า “ฉันจะฝึกสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอถ่านสัปดาห์ละ 1 รูป”
  2. ตั้งหุ่นไม้ไว้ท่าไหนก็ได้ที่คุณชอบเพื่อฝึกวาดภาพร่างกาย วิธีนี้มีประโยชน์กับการเรียนรู้เรื่องสัดส่วนมากเป็นพิเศษ [7]
    • คุณสามารถหาซื้อหุ่นไม้จำลองได้ในอินเทอร์เน็ตหรือร้านจำหน่ายอุปกรณ์ศิลปะทั่วไป
  3. ใช้ภาพที่คุณถ่ายหรือตัดออกมาจากนิตยสาร วางไว้ใกล้ๆ บริเวณที่ทำงานและพยายามเลียนแบบออกมาให้เหมือนที่สุด หรือไม่คุณก็อาจจะนำองค์ประกอบในภาพถ่ายบางส่วน (เช่น สีสัน ชุดสี และการจัดองค์ประกอบ) มาใส่ไว้ในงานและใช้สิ่งนั้นเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของคุณเอง [8]
  4. ค้นหาสิ่งของที่น่าสนใจในบ้านที่คุณอยากระบายสีหรือวาดภาพ จากนั้นจัดเรียงสิ่งของเหล่านั้นให้น่าสนใจตรงหน้าพื้นหลังที่คุณชอบ เช่น คุณอาจจะวางแจกัน เทียน และชามผลไม้ไว้บนโต๊ะหน้ากำแพงลายตารางหมากรุก [9]
    • ตอนที่จัดวางหุ่น ให้เล่นกับองค์ประกอบด้วยการทดลองเปลี่ยนที่สิ่งของไปเรื่อยๆ ก่อนเริ่มลงมือวาด
    • คุณอาจจะสร้างเงาที่น่าสนใจด้วยจัดเรียงสิ่งของเสียใหม่ โดยให้ของชิ้นใหญ่หรือสูงเล่นกับแหล่งกำเนิดแสง เช่น คุณอาจจะสร้างเงาที่น่าสนใจบนชามผลไม้ด้วยการวางเทียนเล่มยาวระหว่างชามกับแหล่งกำเนิดแสงในห้อง
  5. ถ้าคุณอยากฝึกวาดหุ่นหรือภาพคน ขอให้ใครสักคนที่คุณรู้จักมานั่งเป็นแบบให้คุณสเก็ตช์ภาพหรือระบายสี แต่ต้องแน่ใจนะว่าเขาโอเคกับการนั่งเฉยๆ จนกว่าคุณจะวาดเสร็จ! [10]
    • ถ้าคุณใช้หุ่นที่มีชีวิต อย่าลืมเรื่องแสง คุณอาจจะเอาโคมไฟตั้งโต๊ะเล็กๆ ส่องจากด้านข้างเพื่อสร้างเงาที่น่าสนใจ
  6. สี อุปกรณ์ และวัสดุอื่นๆ ที่คุณภาพสูงกว่าช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่าและทนทานกว่า และการลงทุนไปกับศิลปะยังทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ อย่างจริงจัง ไม่ต้องถึงขนาดโละอุปกรณ์ถูกๆ ไปเลย แค่สร้างสรรค์ผลงานที่ทำอยู่ด้วยอุปกรณ์ที่คุณภาพดีที่สุด [11]
    • ทดลองใช้อุปกรณ์เดียวกันหลายๆ ยี่ห้อในราคาที่หลากหลาย
    • อุปกรณ์ที่ขายแยก (เช่น สี ดินสอ และปากกามาร์กเกอร์) มักจะราคาถูกกว่าอุปกรณ์พร้อมใช้
    • อย่าเข้าไปดูแผนกอุปกรณ์ศิลปะสำหรับเด็ก! เพราะยี่ห้อพวกนั้นไม่ได้มีคุณสมบัติเหมือนกับยี่ห้อที่มืออาชีพหรือศิลปินเขาใช้กัน
  7. ออกจากพื้นที่ปลอดภัยด้วยการทดลองสื่อและสไตล์ใหม่ๆ. ลองใช้สื่อและสไตล์ที่แตกต่างเพื่อขยายขอบเขตชุดทักษะของคุณ เช่น ถ้าปกติแล้วคุณใช้ดินสอกับสีไม้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะคลาสสิก ก็ลองเปลี่ยนไปใช้สีพาสเทลเพื่อให้ได้มุมมองใหม่ หรือถ้าคุณสบายใจที่จะวาด การ์ตูนอนิเมะ ก็ลองฝึกวาดสไตล์เหนือจริงหรือคิวบิสม์ [12]
    • ถ้าคุณสามารถจ่ายเงินได้เยอะหน่อย ลองซื้อแท็บเล็ตแบบที่ใช้เมาส์ปากกาได้มาใช้ดูเพื่อพัฒนาระดับของงานศิลปะไปอีกขั้น (ดิจิทัล)!
    • นอกจากนี้การเรียนรู้การใช้สื่อต่างๆ ยังช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมที่เป็นเอกลักษณ์ได้ด้วย
  8. ชมผลงานของศิลปินที่คุณชื่นชอบและลองเรียนรู้ดูว่าเขาใช้เทคนิคอะไรเป็นพิเศษ เช่น ถ้าคุณอยากเรียนรู้การใช้รูปทรงต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ คุณก็อาจจะศึกษาเกอร์นิคาที่เป็นผลงานของปิกาโซ และพยายามเลียนแบบอารมณ์เร่งเร้าแบบเดียวกันผ่านรูปทรงเรขาคณิตในงานของคุณ [13]
    • อีกตัวอย่างก็คือ ถ้าคุณอยากผสมสีเก่งขึ้น คุณก็อาจจะเน้นไปที่การเลียนแบบส่วนใดส่วนหนึ่งในผลงานของแวน โก๊ะ จากนั้นก็นำทักษะนั้นมาปรับใช้กับงานของคุณ
    • เยี่ยมชมหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ใกล้บ้านเพื่อหาแรงบันดาลใจ และเวลาที่ไปให้อ่านข้อความและคำอธิบายของศิลปินที่อยู่ข้างๆ ผลงานเพื่อดูว่าเขาใช้วัสดุอะไร ถ้าศิลปินอยู่ตรงนั้นด้วย ให้ถามว่าเขาใช้เทคนิคอะไร
  9. ศิลปินที่ยิ่งใหญ่บางคนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าและมีมุมมองที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นคุณสามารถแหกขนบศิลปะได้ตามสบาย ลองนึกถึงการกบฏต่อทัศนนิยมแบบดั้งเดิมของปิกาโซ และการที่แอดการ์ เดอกาปฏิเสธวิธีวางองค์ประกอบศิลป์แบบคลาสสิก อย่างที่ปิกาโซพูดนั่นแหละว่า “เรียนรู้กฎแบบมืออาชีพ เพื่อให้คุณแหกกฎได้แบบศิลปิน!” [14]
    • ศิลปะเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูกและปรับไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณทดลองแล้วไม่ชอบผลลัพธ์ที่ได้ ให้หาทางสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากงานชิ้นนั้น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ฝึกสายตาแบบศิลปิน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ศึกษาสี รูปร่าง พื้นผิว และขนาดของอะไรก็ได้ที่คุณเจอตลอดทั้งวัน มองใบหน้าของคนที่คุณกำลังคุยด้วย สังเกตว่าแสงไฟส่งผลต่อเงาและรูปร่างของลักษณะบนใบหน้าอย่างไร และสังเกตให้ดีว่าแสงไฟดูเป็นอย่างไรเมื่อสาดลงมาบนพื้นผิวอย่างเสื้อผ้าและผิวหนัง [15]
    • การสังเกตสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งของต่างๆ จริงๆ แล้วดูเป็นอย่างไรเมื่อมีแสงประเภทต่างๆ ส่องมา
    • ในการฝึกแบบสนุกๆ นั้น ให้คุณพยายามอธิบายสิ่งนั้นโดยไม่ใช้ชื่อของมันเพื่อช่วยให้คุณเห็นภาพและจับรูปทรงนั้นได้ เช่น ถ้าคุณมองไปที่ต้นไม้ คุณอาจจะอธิบายลำต้นว่าเป็นทรงกระบอกที่ลาดเอียง และใบก็เป็นรูปทรงเลมอนจิ๋ว
  2. ระบุความหลากหลายของสีเพื่อให้คุณสามารถสร้างสรรค์มันขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้อง. เวลาที่คุณมองอะไรสักอย่าง ให้สังเกตความหลากหลายของสีและดูว่ามันทำให้ตาของคุณอยากจะจ้องอยู่อย่างนั้นหรือเขยิบไปมองบริเวณอื่น สังเกตความต่างเพียงเล็กน้อยของเฉดสี (เช่น สีแดงทุกเฉดบนแอปเปิล) [16]
    • เช่น ถ้าคุณกำลังมองดอกทิวลิปสีสันสดใส ให้สังเกตว่ากลีบดอกสีสมพูเข้มตัดกับสีเขียวสบายตาของก้านอย่างไร และปลายกลีบดอกบางๆ ดึงดูดสายตาของคุณอย่างไร
  3. หรี่ตามองสิ่งของเพื่อดูองค์ประกอบของรูปร่างและสี. ค่อยๆ หรี่ตามองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทิวทัศน์ หรือสถานที่ การหรี่ตาจะลดความสามารถในการมองเห็นสีและรายละเอียดของดวงตา และทำให้เส้นตัดระหว่างสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประโยชน์มากหากคุณอยากระบายสีภาพสิ่งของต่างๆ ที่รวมกันอยู่ไกลๆ เช่น ทิวทัศน์หรือป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ [17]
    • นอกจากนี้การหรี่ตายังช่วยให้คุณแยกแยะระหว่างเงากับแสงได้ด้วย
  4. ใช้พื้นที่เชิงลบสร้างความสมดุลหรือความขัดแย้ง. เวลาที่คุณมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถานที่ ให้สังเกตพื้นที่ที่เป็นพื้นหลัง (เช่น กำแพง โต๊ะ หรือฉากหลัง) การเพิ่มพื้นที่เชิงลบเข้าไปในภาพอาจทำให้เกิดความสมดุลหรือความขัดแย้งก็ได้แล้วแต่สถานที่นั้นๆ หรือหลักความงามโดยรวม [18]
    • เช่น สังเกตสี เงา และพื้นผิวของวัตถุที่อยู่ด้านหลังวัตถุหลักที่คุณอยากจะวาด เช่น กำแพงสีส้มอิฐที่มีเงาแนวทแยงสามารถทำให้เทียนและดอกไม้ที่อยู่ด้านหน้าโดดเด่นขึ้นได้
  5. สังเกตว่าวัตถุต่างๆ เรียงกันจนเกิดเป็นรูปทรงหรือเส้นต่างๆ อย่างไร ความสัมพันธ์ของสถานที่หรือการรวมกันของวัตถุบางอย่างจะดึงสายตาของผู้ชมให้ชมภาพในรูปแบบนั้นๆ [19]
    • เช่น ลองนึกถึงฉากนิ่งๆ ของร้านหนังสือ ทางเดินที่อยู่ซ้ายมือทำให้เกิดเส้นที่ดึงสายตาให้มองในแนวตั้ง ไฟหิ่งห้อยระหว่างชั้นหนังสืออาจทำให้ดวงตามองจากซ้ายไปขวาตรงด้านบน และชั้นหนังสืออีกหลังหนึ่งก็ทำให้สายตามองขึ้นไปหรือลงมา ทิศทางสายตาในแนวตั้งของภาพวาดแต่ละด้านอาจทำหน้าที่เป็นเหมือนกรอบภาพของผลงานหุ่นนิ่ง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เข้าร่วมกลุ่มพบปะในท้องถิ่นกับศิลปินคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ วิจารณ์งานของกันและกัน และฝึกฝนด้วยกัน
  • ขอให้เพื่อนและครอบครัววิจารณ์ผลงานของคุณ ยิ่งถ้ามีใครสักคนเป็นศิลปินด้วยยิ่งดีใหญ่!
  • ทุกคนล้วนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับศิลปะเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นเรียนรู้ที่จะยอมรับคำติชมและเปิดใจรับฟังการตีความผลงานของคุณในแบบต่างๆ
  • ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องวาดหรือระบายสีให้เร็ว แค่ปล่อยให้เวลาผ่านไปและจดจ่อกับสิ่งที่คุณกำลังทำอย่างเต็มที่
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าไปฟังใครถ้าเขาดูถูกพรสวรรค์หรือผลงานของคุณ เพราะแต่ละคนก็มีรสนิยมความงามที่ไม่เหมือนกัน เชิดหน้าและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป!
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 6,767 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา