ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

สามัญสำนึกคือการกระทำที่ชาญฉลาดในสถานการณ์ประจำวัน แม้แต่คนฉลาดๆ บางครั้งก็อาจจะขาดสามัญสำนึกได้ แต่โชคดีที่สามัญสำนึกเป็นคุณลักษณะที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน! การเรียนรู้ที่จะไตร่ตรองสถานการณ์ก่อนลงมือทำจะช่วยให้คุณได้ฝึกฝนการใช้สามัญสำนึกก่อนตัดสินใจ!

  1. ทำความคุ้นเคยกับหน้าที่และความหมายของสามัญสำนึก. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้นิยามสามัญสำนึกไว้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่ง "ความสำนึกหรือความเฉลียวใจที่คนปรกติธรรมดาทั่วไปควรจะต้องรู้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอน" [1] นิยามนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสามัญสำนึกขึ้นอยู่กับการไม่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนจนเกินไป (ธรรมดาทั่วไป) การใช้ประสบการณ์และความรู้ทั่วไปในสถานการณ์ (ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอน) และมีความหมายโดยนัยถึงความเชื่อใจในตนเองว่า ประสบการณ์ที่ผ่านการพิจารณามาแล้วนั้นสามารถใช้กับสถานการณ์ในอนาคตได้ Karl Albrecht เรียกสามัญสำนึกว่า เชาว์เชิงปฏิบัติ โดยเขานิยามมันว่าเป็น "ความสามารถทางปัญญาในการรับมือกับความท้าทายและโอกาสในชีวิต" [2] เขาอธิบายว่าสามัญสำนึกขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบท และสามัญสำนึกของคุณในด้านหนึ่งของชีวิตอาจจะดีมากๆ ในขณะที่ในด้านอื่นๆ ของชีวิตอาจจะแย่มากๆ ก็ได้ โดยพื้นฐานหน้าที่ของสามัญสำนึกคือการคิดที่ป้องกันไม่ให้คุณทำผิดพลาดหรือตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผล เป็นวิธีคิดที่อาจทำให้คุณเห็นความเป็นไปได้ว่าการยืนกรานว่าตัวเองถูกนั้นอาจบดบังคุณจากภาพรวม
    • นอกจากนี้สามัญสำนึกยังทำหน้าที่ดึงคุณออกจากความคิดแคบๆ ของกฎเกณฑ์ ทฤษฎี ความคิด และแนวทางที่อาจเป็นอุปสรรคหรือปิดกั้น การตัดสินใจ ที่ดีที่สุดในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง พูดอีกอย่างคือแค่เพราะว่ามีอะไรที่บอกแบบนั้น หรือแค่เพราะว่ามันทำแบบนั้นต่อๆ กันมาก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะมองข้ามความสำคัญของสามัญสำนึกที่มีต่อความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
  2. เข้าใจว่าจิตใจมนุษย์เชื่อได้อย่างง่ายดายว่าความคิดของเราถูกต้อง แม้ว่าจะมีสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่ามันไม่ถูกก็ตาม. เราเป็นมนุษย์ เราผิดพลาดได้ และสมองของเราก็ทำงานโดยการใช้ทางลัดเพื่อให้เราเอาตัวรอดในโลกที่การถูกผู้ล่าไล่ตามหมายถึงการจบชีวิต ในโลกสมัยใหม่ที่ถ้ำกับเสือเขี้ยวดาบไม่ได้เป็นของคู่กันตลอดเวลาอีกต่อไปแล้ว การตัดสินจากปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีอาจนำพาเราไปสู่อันตราย เพราะเราตอบโต้ทันทีแทนที่จะไตร่ตรอง คาดเดาแทนที่จะแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และ ทำเป็นนิสัย แทนที่จะตั้งคำถามถึงประโยชน์ต่อเนื่อง สิ่งที่สติปัญญาอันมหัศจรรย์ของเราทำเพื่อปฏิเสธสามัญสำนึกได้แก่
    • การยึดถือความเข้าใจเรื่องความเป็นจริงของตนเองมากกว่าความเป็นจริงที่รับรู้ได้ แม้ว่าเราแต่ละคนจะสร้างภาพความจริงจากประสบการณ์และทำความเข้าใจโลกผ่านสายตาส่วนตัวของเรา แต่ส่วนใหญ่เราเองก็เข้าใจว่าการรับรู้ความจริงของเรามันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของภาพรวมที่ใหญ่กว่ามาก แต่สำหรับบางคนความเข้าใจเรื่องความเป็นจริงของเขากลายเป็นความเข้าใจเดียว และเขาก็เชื่อว่าตัวเองสามารถบงการหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้เป็นอย่างที่ใจเขาต้องการได้ราวกับมีเวทมนตร์ ซึ่งจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลในบางคน และกลายเป็นความวิกลจริตในกลุ่มคนที่โชคร้ายกว่านั้น
    • การคิดแบบอัตโนมัติหรือคิดเชื่อมโยง การคิดแบบนี้เป็นการคิดจากปฏิกิริยาบนพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านชีวิต ใช้รูปแบบที่เคยเรียนรู้มา และนำไปใช้กับสถานการณ์เมื่อมันเกิดขึ้น โดยไม่ได้ ปรับกระบวนการคิดที่นำมาใช้ การคิดแบบนี้ทำให้เกิดข้อพลาดในการคิดเพราะเราปฏิเสธที่จะไปให้ไกลกว่าความสัมพันธ์มาตรฐานในความคิดของเราว่าสิ่งต่างๆ "ควรจะเป็น" อย่างไร เวลาที่เราใช้สิ่งที่เรารู้กับสถานการณ์ปัจจุบันโดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์เดียวกันในอดีต โดยนำรูปแบบความคิดนั้นมาใช้โดยไม่ได้ปรับให้เขากับบริบทเลยคือการที่เรากำลังปฏิเสธสามัญสำนึก แม้ว่ารูปแบบการคิดนั้นจะไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่จิตใจที่ดื้อดึงหรือมีอคติก็จะไม่สนใจองค์ประกอบที่ไม่เข้ากับสถานการณ์ เราจะใช้ความคิดเล็มมันออกไปและมองแต่องค์ประกอบที่ "เข้ากัน" เท่านั้น ดังนั้นเราจึงแก้ปัญหาโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน การคิดประเภทนี้มักทำให้เราไหลไปกับทฤษฎีที่โด่งดังและสิ่งที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ เช่น แนวโน้มปัจจุบันในบางสังคมที่ควบคุมความคิดเห็นของคนผ่านการเพิ่มความกลัวเรื่องเชื้อโรค อาชญากรและผู้ก่อการร้าย และการไม่มีงานให้ทำ
    • อ้างความแน่แท้ การคิดเกี่ยวกับโลกและผู้อื่นแบบดำกับขาวสนิทโดยที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ความสงสัยเลยมักเป็นสาเหตุของการลืมที่จะใช้สามัญสำนึก สำหรับคนที่มีวิธีคิดแบบนี้ "วิถีแห่งความจริงหนึ่งเดียว" คือวิถีเดียว มันจึงดูเหมือนเป็นสามัญสำนึกทั้งที่มันไม่ใช่
    • ความดื้อรั้น การไม่ยอมผิดเลยสามารถพบได้จากสาเหตุมากมายทั้งความรู้สึกไม่มั่นคง ความกลัว ความไม่เข้าใจ ความโกรธ และความกลัวที่จะถูกหัวเราะเยาะ ความดื้อรั้นเป็นสาเหตุของการตัดสินใจหรือการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่สามารถหาเหตุผลได้มากมาย
  3. นี่ไม่ใช่คำชวนสู่ความวิกลจริต แต่เป็นคำขอให้พิจารณาว่าความเข้าใจเรื่องความเป็นจริง ของคุณ นั้นมันไม่จริง สิ่งที่คุณเห็นคือสิ่งที่คุณตั้งโปรแกรมไว้ให้สมองของคุณเห็น และพอคุณเริ่มมีตรรกะการยืนยันตนเองที่ลื่นไหลไปไกลว่า ความจริงจะกลายเป็นสิ่งที่คุณเห็นว่าจริงเท่านั้น คุณก็จะเริ่มเปิดรับทิฐิมานะ ความเห็นแก่ตัว การไม่ยอมรับในความต่าง และอคติเข้ามาเพราะคุณจะพยายามทำให้คนอื่นๆ และสิ่งอื่นๆ เป็นไปตามมาตรฐานความเป็นจริง ของคุณ และมาตรฐานว่า "อะไรถูก" ของคุณ [3] การตัดขาดจากความจริงข้างเดียวและเรียนรู้ให้มากที่สุดว่าคนอื่นรับรู้โลกและที่ทางของเราบนโลกอย่างไรจะเริ่มสร้างพื้นที่ให้สามัญสำนึกได้เติบโต เพราะความเข้าใจของคุณจะสร้างขึ้นบนพื้นฐานของประสบการณ์ "ร่วมกัน" ไม่ใช่ประสบการณ์ของคุณคนเดียว
    • เริ่มจากการพิจารณา อารมณ์ ความเชื่อ และการปฏิบัติของคุณเพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่ได้สำคัญกว่าสามัญสำนึกของคุณ ทดสอบสถานการณ์ต่างๆ ในใจเพื่อพยายามหาผลที่ตามมาที่เกิดขึ้นจริงจากการตัดสินใจหรือการกระทำในแบบที่คุณต้องการ มันใช้ได้จริงไหม คุณได้พิจารณาถึงสาเหตุทั้งหมดแล้วหรือยัง และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งต่างๆ ผิดพลาด ถ้ามันผิดพลาด คุณแก้ได้ไหม และถ้าไม่ได้ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
    • ปรึกษาคนอื่น ถ้าความเป็นจริงของคุณมันบดบังการตัดสินของคุณมากเกินไป ให้เข้าหาและพูดคุยเรื่องสถานการณ์กับคนอื่นเพื่อให้เข้าใจมุมมองและความคิดของเขากว้างกว่าเดิม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเมื่อคุณอยู่ใกล้กับสถานการณ์มากเกินไป เพราะมันอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการกระทำของคุณ
  4. นี่เป็นส่วนหนึ่งของการคิดที่สามัญสำนึกที่แท้จริงอาศัยอยู่ ส่วนที่ต้องออกจากความฉลาด ไหวพริบ ความสำคัญของทุกสิ่งที่กำลังพุ่งเข้าหาคุณอยู่ในตอนนี้สักพัก และบอกว่าถึงเวลาที่จะต้องเติมน้ำเย็นเพื่อคลายความตื่นเต้นแล้ว ความฉลาดเชิงวิเคราะห์ไตร่ตรองคือความสามารถในการที่จะถอยหลังมาดูภาพรวมเพื่อที่คุณจะได้ประเมินสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวตามความเป็นจริงได้โดยตรง แทนที่จะบังคับให้ตัวเองทำตามความเหมาะสมหรือการคิดไปเองว่าสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นตามที่คุณอยากให้มันเป็น หลังจากประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องแล้ว ทัศนคติที่พิเคราะห์ไตร่ตรองจะทำให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริงได้แม้ว่าคุณจะมีข้อจำกัดบางอย่าง และสามารถลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างสมเหตุสมผล Daniel Willingham กล่าวถึงตัวอย่างของคนที่เอาเงินไปทุ่มในตลาดหุ้นหรือคนที่เลือกสถานการณ์ชีวิตที่ไม่เหมาะสมว่า เป็นคนที่ตัดสินใจหรือลงมือทำโดยไม่ได้ใช้การคิดแบบพิเคราะห์ไตร่ตรอง การใช้เหตุผลตัดสินว่าสิ่งภายนอกดูดีโดยที่ไม่สนใจความไม่เข้ากันที่มีต่อตัวตนของคุณหรือความเชื่อที่คุณยึดถือคือการปฏิเสธสามัญสำนึก พูดอีกอย่างก็คือแค่เพราะว่าคนอื่นทำหรือใช้บางอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่ามันเหมาะกับคุณ คุณต้องใช้ความคิดเชิงไตร่ตรองในการพิจารณาแต่ละสถานการณ์เพื่อตัดสินใจว่ามันเหมาะกับคุณ วิถีชีวิตของคุณ และสิ่งต่างๆ รอบตัวคุณที่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของคุณหรือเปล่า
    • ทำให้น้อย คิดให้มาก Siimon Reynolds กล่าวว่าเราหลายคนเป็นทุกข์จากการ "ทำ ทำ ทำ" [4] ซึ่งมันก็คือการที่เราหมกมุ่นกับการทำสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นตลอดเวลาแทนที่จะคิด และขณะที่เรากำลังวิ่งวุ่นกับการยุ่งตลอดเวลา เราไม่ได้ทำอะไรได้มากขึ้นเลยและเราก็กำลังสร้างวัฒนธรรมที่ยกย่องคนที่ยุ่งตลอดเวลา นี่เป็นสามัญสำนึกหรือเปล่า ไม่น่าจะใช่ มันคือการทำงานหนักขึ้นและนานขึ้นโดยไม่ได้หยุดเพื่อใช้เวลาไตร่ตรองมากกว่า
    • จัดสรรเวลาคิดทุกวันแม้จะแค่ 20 นาทีก็ตาม Siimon Reynolds แนะนำให้คุณลองทำแบบนี้ 1 สัปดาห์ และบอกว่าท้ายที่สุดคุณจะสังเกตได้ว่าระดับความเครียดลดลงไปมาก [5] และสามัญสำนึกของคุณจะพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  5. สร้างความคุ้ยเคยกับการรับรู้โดยฉับพลันอีกครั้ง. ขั้นตอนก่อนหน้าเพิ่งจะบอกว่าคุณต้องไตร่ตรองให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจหรือลงมือทำ แต่ด้านที่ตรงกันข้ามกับการไตร่ตรองอย่างเห็นได้ชัดคือความเป็นจริงที่ว่าบางสิ่งก็ต้องการการคิดที่รวดเร็วมากๆ และการตัดสินใจแบบฉับพลันที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี การรับรู้โดยฉับพลันคือประเภทของการคิดที่บอกคุณว่าคุณไม่ควรสานสัมพันธ์กับคนที่คุณเพิ่งเคยเจอ หรือบันไดที่พาดไว้ไม่ดีจะต้องตกลงมาเร็วๆ นี้แน่ๆ และต้องขยับเดี๋ยวนี้ หรือคุณต้องกระโดดหนีให้พ้นจากรถที่ควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวนี้ แล้วคุณจะจับคู่การรับรู้โดยฉับพลันกับการคิดไตร่ตรองภายใต้ข้อควรปฏิบัติของ "สามัญสำนึก" ได้อย่างไร ง่ายๆ เลยคือให้ใช้เวลาไตร่ตรองอย่างชาญฉลาดเพื่อที่คุณจะได้ตอบโต้ได้อย่างชาญฉลาดเมื่อต้องคิดอะไรเร็วๆ สามัญสำนึกสร้างขึ้นจากการไตร่ตรองประสบการณ์ในอดีต ทำให้คุณสามารถขัดเกลาความเข้าใจของตนเองที่มีต่อโลกและการดำเนินไปของโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งจะตรงข้ามกับคนที่ตอบโต้การปฏิกิริยาภายใน อคติ และการไม่สามารถไตร่ตรองประสบการณ์ก่อนหน้าได้ การไตร่ตรองจะนำมาซึ่ง "ปฏิกิริยาภายใน" หรือการประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วที่ดี เพราะปฏิกิริยาของคุณมาจากการใช้เวลาพิจารณาข้อผิดพลาดและความสำเร็จในอดีต
    • Malcolm Gladwell บอกในหนังสือ Blink – มหัศจรรย์ความคิดชั่วพริบตา ว่า "การตัดสินใจที่รวดเร็วนั้นดีพอๆ กับการตัดสินใจอย่างระมัดระวังและตั้งใจทุกกระเบียดนิ้ว" [6] ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยากให้อะไรๆ ไม่เป็นไปในแบบที่มันเป็น ซึ่งก็คือการกลับไปสู่แนวคิดเรื่องความจริงของเราแทนที่จะมองความจริงหลายๆ แบบรอบตัว และเมื่อนั้นสามัญสำนึกก็จะทำให้เราผิดหวัง
  6. เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกขั้นพื้นฐาน. มันก็มีสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ว่าต้องทำอย่างไรและไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น สิ่งที่เป็นหัวใจของการเอาตัวรอดส่วนบุคคล การรู้จักตนเอง และสุขภาพและความปลอดภัยระยะยาว ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้สามัญสำนึกได้จากความรู้และการประยุกต์ใช้จริง บอกตัวเองได้อย่างถูกต้องว่าเมื่อไหร่ที่สิ่งต่างๆ มันยากขึ้นหรือเมื่อไหร่ที่คุณต้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว
    • เรียนรู้การทำอาหารและเรียนรู้ว่าอาหารมาสู่โต๊ะของเราได้อย่างไร สำหรับใครก็ตามที่ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าเขาหรือเธอทำอาหารไม่เป็น คนเหล่านั้นบางคนอาจจะถูกโน้มน้าวได้ง่ายว่าเขาจะรับประทานอะไรก็ได้ทั้งนั้นไม่ว่าอาหารนั้นจะมาจากแหล่งที่มาที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผิดศีลธรรม หรือไม่ได้ส่งผลดีก็ตาม มันไม่มีเข็มเกียรติยศมอบให้แก่การที่เราไม่รู้วิธีทำอาหารให้ตัวเองรับประทาน แต่มันมักจะเป็นสัญลักษณ์ของความขี้เกียจหรือการกบฏต่อชีวิตครอบครัวตามที่เขาว่ากัน การรู้วิธีทำอาหารเป็นสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานเพราะว่ามันรับประกันว่าคุณจะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะในเงื่อนไขอะไรก็ตาม และไม่ว่าคุณจะใช้ทักษะนี้บ่อยแค่ไหน การทำอาหารก็เป็นสิ่งที่สนุกสนานและคุ้มค่า
    • เรียนรู้การปลูกอาหารรับประทานเอง ความสามารถในการปลูกอาหารรับประทานเองคือการรับประกันการเอาตัวรอดด้วยตนเอง เรียนรู้ทักษะนี้ถ้าคุณยังไม่มีและปลูกฝังทักษะนี้ให้กับลูก
    • เรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ ถ้าคุณทำอาหารรับประทานเองและอาจจะปลูกอาหารรับประทานเองด้วย คุณก็จะได้สัมผัสกับความต้องการของร่างกายด้านโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เสียเป็นส่วนใหญ่ ในปริมาณที่พอเหมาะ และด้วยดวงตาที่สังเกตว่าตัวเองได้เติมเต็มความต้องการด้านโภชนาการที่เหมาะสมทั้งหมดแล้วทั้งในแง่ของอายุ เพศ ความสูง และเงื่อนไขส่วนบุคคล
    • เรียนรู้และเคารพพื้นที่ของตัวเอง การรู้ว่าสภาพท้องถิ่นอะไรที่มีผลต่อชีวิตของคุณตั้งแต่อากาศไปจนถึงสัตว์ป่าถือเป็นสามัญสำนึก หาเวลาเรียนรู้สภาพแวดล้อมท้องถิ่นและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การมีบ้านที่ทนแดดทนฝนไปจนถึงการกำจัดสิ่งมีชีวิตที่รุกรานสวนของคุณ
    • เรียนรู้การตั้งงบค่าใช้จ่ายและอย่าใช้จ่ายมากกว่าที่หาได้ การใช้จ่ายเท่าที่มีเป็นสามัญสำนึก แต่น่าเศร้าที่หลายคนสามารถลืมการใช้จ่ายเกินตัวไปได้อย่างสุดโต่ง ทำเหมือนว่าหนี้บัตรเครดิตที่สะสมกองใหญ่เป็นเรื่องที่น่าตกใจสุดๆ การใช้จ่ายเกินตัวเป็นนิสัยที่ไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลเหมือนใบทวงหนี้ที่ยังไม่ได้เปิดที่ซ่อนอยู่หลังตู้เสื้อผ้า การควบคุมค่าใช้จ่ายตามงบที่ตั้งไว้และการควบคุมตัวเองคือการปฏิบัติตนตามสามัญสำนึก และอย่าลืมเก็บการตัดสินใจและข้อตกลงด้านการเงินที่สำคัญทั้งหมดไว้ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เพราะเมื่อเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้วไม่มีคำว่าระมัดระวังเกินไป
    • รู้ข้อจำกัดทางร่างกายของตัวเอง ซึ่งได้แก่การรู้ว่าอาหารอะไรที่ทำให้ร่างกายคุณปั่นป่วน อาหารอะไรที่เหมาะกับคุณ รู้ว่าคุณต้อง นอน กี่ชั่วโมง และรู้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนที่มีประโยชน์กับร่างกายและระบบเผาผลาญของคุณมากที่สุด อ่านเยอะๆ แต่ก็พยายามศึกษาว่าอะไรที่เป็นอันตรายและอะไรที่เยียวยาร่างกายของคุณ เพราะคุณคือผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือคุณไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ ดังนั้นการละเลยความเจ็บปวดทางร่างกายจึงเป็นอันตรายต่อตัวคุณเอง เช่น การยังยกของหนักทั้งที่ปวดหลัง หรือการปฏิเสธที่จะดูแลอาการปวดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
    • เรียนรู้การ วิเคราะห์ สถานการณ์และคิดเพื่อตัวเอง แทนที่จะรับรู้สื่อกระตุ้นอารมณ์ที่ปาใส่คุณอยู่ทุกวี่วัน และจมลงด้วยการอยู่ในสภาวะความกลัวเพราะทุกวินาทีมีแต่ข่าวอาชญากรรมหรือภัยพิบัติ ให้เริ่มคิดถึงความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังแหล่งป้อนข่าวและเริ่มคิดถึงชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยทัศนคติที่ดี เปิดกว้าง และตั้งคำถาม ช่วยปลดปล่อยคนอื่นจากความกลัวสื่อด้วยการสอนให้เขาตระหนักถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในวงการสื่อ
    • เรียนรู้วิธีการซ่อมของ ในโลกที่เราพึ่งพาการทิ้งข้าวของมากกว่าการซ่อมแซมนั้น เรากำลังเพิ่มภาระให้โลก และเราก็ติดหนี้ผู้ผลิตของที่ผลิตของให้มีอายุการใช้งานต่ำเพราะว่าเราสูญเสียความสามารถในการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ และซ่อมแซมของด้วยตัวเองแล้ว การเรียนรู้วิธีซ่อมแซมหรือปะชุนเสื้อผ้า เครื่องใช้ ของใช้ในบ้าน เครื่องยนตร์ และของอื่นๆ อีกหลายอย่างที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนชีวิตประจำวันของเราไม่เพียงแต่ปลดปล่อยเราเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีสำคัญที่จะทำให้เราได้ใช้สามัญสำนึกด้วย
    • เรียนรู้ที่จะวางแผนล่วงหน้า เรียนรู้การวางแผนล่วงหน้าเพื่อที่คุณจะได้ไม่ทำอะไรส่งเดช แพงกว่าเดิม หรือโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรตามมา การคิดล่วงหน้าเป็นสัญญาณของการมีสามัญสำนึกที่ดีเสมอ เช่นเดียวกับการแสดงถึงความสามารถในการทบทวนสิ่งที่ตามมาของผลลัพธ์ต่างๆ
    • เรียนรู้วิธีการ คิดริเริ่มและรู้จักแก้ปัญหา การคิดริเริ่มและรู้จักแก้ปัญหาคือศิลปะของ "การแก้ขัด" มันคือการใช้สิ่งเล็กๆ และขยายต่อไปได้ไกลด้วยจินตนาการและการลงแรงเพียงเล็กน้อย มันคือการเติบโตภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากโดยที่ยังคงรุ่งเรืองและไม่รู้สึกขาด การคิดริเริ่มและรู้จักแก้ปัญหาเป็นส่วนสำคัญของการใช้สามัญสำนึก และมันก็เป็นทักษะที่ปลดปล่อยคุณจากการบริโภคไปสู่การใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน
    • เรียนรู้การสานสัมพันธ์กับชุมชน การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเป็นสามัญสำนึก แต่น่าเสียดายที่หลายคนเลือกที่จะสร้างกำแพงและเหินห่างหรือถูกคนรอบตัวเลยผ่าน การสานสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในชุมชนคือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ การเชื่อมโยง และการเปิดรับตัวเองสู่การแบ่งปันและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
    • เรียนรู้การรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่บ้าน ความปลอดภัยก็เป็นเรื่องของสามัญสำนึก การปัดที่จับกระทะให้ห่างจากตัวตอนตั้งกระทะอยู่บนเตา การมองซ้ายขวาเวลาข้ามถนน การเดินกับเพื่อนหรือเดินเป็นกลุ่มบริเวณที่มืดๆ ในเมืองตอนกลางคืนแทนที่จะเดินคนเดียว และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นการรักษาความปลอดภัยจากสามัญสำนึกที่สามารถวางแผนและลงมือทำได้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีอันตรายเกิดขึ้น และการทำเช่นนี้ก็มักจะเป็นการเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาไปเลยตั้งแต่แรก คิดหาวิธีป้องกันดีกว่ามัวแต่คิดถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น
  7. วางนิสัยการคิดจากสามัญสำนึกแบบใหม่ให้ถูกที่. พิจารณาปรัชญา จิตวิทยา และทฤษฎีโด่งดังที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดของเรา และเพิ่มความเข้าใจนี้ในการใช้สามัญสำนึกของคุณ อ่านบทความเกี่ยวกับการคิด "นอกกรอบ" เพื่อให้รู้วิธีที่จะฟื้นฟูความสามารถในการพึ่งพากระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม และ Karl Albrecht ก็ได้บอกไว้ว่าวิธีต่อไปนี้จะช่วยลับคมเชาว์เชิงปฏิบัติ (สามัญสำนึก) ของคุณ (ถ้าคุณอ่านภาษาอังกฤษได้ แนะนำให้อ่านหนังสือของเขาทั้งเล่ม) [7]
    • ฝึกความคิดยืดหยุ่น ซึ่งก็คือความสามารถในการเปิดใจและรับฟังแนวคิดและความคิดของคนอื่น แม้ว่าความคิดเหล่านั้นจะทำให้คุณกลัวหรือขัดขวางการคิดของคุณเองก็ตาม การฝึกความยืดหยุ่นทางความคิดและยืดขยายตัวเองไปให้ไกลกว่าสิ่งที่คุณคิดว่าคุณรู้ดีอยู่แล้วเป็นเรื่องดีกับตัวคุณเอง
    • ใช้ความคิดยืนยัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการมองตัวเองและผู้อื่นในด้านบวก มองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคนอื่นและตัวเองอยู่เสมอ และตัดสินใจอย่างมีสติอยู่ตลอดว่าคุณจะปล่อยให้ใครหรืออะไรมามีอิทธิพลกับคุณ และคุณคิดว่าอะไรที่มีค่าพอที่คุณจะอุทิศเวลาเพื่อคิดถึงมัน ความคิดยืนยันไม่ใช่อะไรง่ายๆ อย่างการท่องคำพูดยืนยันหรือคิดเรื่องที่มีความสุข การทำงานของจิตใจที่ต้องอาศัยทัศนคติที่ยืนยันและมีสตินั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็คุ้มค่ามากๆ
    • พึ่งพาภาวะจิตปกติทางภาษา ซึ่งก็คือการใช้ภาษาที่สนับสนุนการคิดอย่างกระจ่างที่ปราศจากความเชื่อต่างๆ
    • ให้คุณค่ากับความคิด แนวคิดนี้จะทำให้คุณยอมรับความคิดใหม่ๆ แทนที่จะปฏิเสธทันทีว่ามันไม่คุ้นเคย บ้าบอ หรือทำไม่ได้ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ตรงกับมุมมองของคุณจนกว่าคุณจะลงมือทำมันจริงๆ และเช่นเดียวกันว่าการให้คุณค่ากับความคิดนั้นยังบังคับให้คุณต้องไตร่ตรองบ่อยๆ ด้วย เพราะถ้าคุณไม่มีเวลาไตร่ตรองมากพอ คุณก็จะไม่สามารถสร้างความคิดของตัวเองขึ้นมาได้
  8. ถ้าคุณพยายามพิจารณาสิ่งต่างๆ จนทะลุปรุโปร่งอย่างระมัดระวังอยู่เสมอ และเรียนรู้ทุกอย่างที่คุณเรียนรู้ได้เกี่ยวกับโลกใบนี้และความคิดของคนอื่นเกี่ยวกับโลกใบนี้ ถือว่าคุณอยู่ในจุดที่ดีแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องเรียนสูง แต่คุณต้องเปิดใจและสงสัย. และตระหนักว่าการสร้างสามัญสำนึกเป็นกระบวนการ ไม่ใช่จุดหมาย คุณจะต้องใช้ความพยายามในการคิดไปตลอดชีวิตว่าคุณจะซึมซับข้อความแบบไหนและใครที่คุณจะให้มามีอิทธิพลต่อความคิดของคุณ แม้แต่บทความนี้เองก็เป็นแค่แนวทางเรื่องสามัญสำนึกแหล่งหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องวิเคราะห์ วิพากษ์การประยุกต์ใช้แนวทางที่ว่านี้กับสถานการณ์ของคุณเอง และเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ทิ้ง หรือนำสิ่งที่เหมาะกับคุณหรือไม่เหมาะกับคุณมาใช้ เพราะอย่างไรแล้วการทำเช่นนี้ก็เป็นการใช้สามัญสำนึกธรรมดาทั่วไปอย่างหนึ่ง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • กลยุทธ์ที่ใช้บงการและควบคุมคนอื่นไม่ใช่สามัญสำนึก แต่เป็นสัญญาณของคนที่อยากเปลี่ยนความเป็นจริงและทำให้คนอื่นต้องปรับเปลี่ยนตามสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความจริง คุณเปลี่ยนคนประเภทนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ได้จ่ายเงินให้คุณรับฟังปัญหาของเขา ก็ใช้สามัญสำนึกของคุณและรักษาระยะห่างจากเขาให้ดี
  • ฟังโลกและคนรอบตัวก่อนพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิ่งที่คุณจะพูดอาจถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าสิ่งที่คุณจะพูดไม่ได้มีประโยชน์อะไร ก็ไม่ต้องพูด วิธีนี้อาจจะไม่ได้เพิ่มหรือสร้างสามัญสำนึกที่แท้จริงทันที แต่มันจะทำให้คนอื่นประทับใจได้ง่ายๆ ว่าคุณเป็นคนมีสามัญสำนึกจริงๆ
  • สามัญสำนึกสั่งเราว่าข้อตกลงที่สำคัญทั้งหมด เช่น ข้อตกลงด้านการเงินและการสมรส จะต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมด อย่าไว้ใจการเปลี่ยนแปลงของเวลาและความทรงจำที่เชื่อถือไม่ได้
  • ไม่พูดหรือเขียนเรื่องไม่สำคัญที่หลักๆ แล้วรวมกันกลายเป็นชีวิตประจำวันของคุณ และให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงเท่านั้น วิธีนี้นอกจากจะทำให้คนอื่นมองว่าคุณมีสามัญสำนึกแล้ว คุณเองก็ยังได้ใช้สามัญสำนึกอย่างแท้จริงด้วย
  • เรียนรู้ส่วนต่างๆ ของจักรวาลทั้งหมดที่คุณสนใจก่อนตายเท่าที่คุณจะเรียนรู้ได้ วิธีนี้จะทำให้คุณได้สร้างสามัญสำนึกภายในบริบท "สามัญสำนึก" ที่ปราศจากความรู้ที่แท้จริงนั้นไม่ได้ดีกับมนุษย์ไปมากกว่าสัญชาตญาณแบบสัตว์เลย
  • การเป็นที่นิยมไม่ได้แปลว่ามันเป็นสามัญสำนึก ลองนึกถึงคำพูดที่ว่าสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าดีอาจไม่เหมาะกับเราก็ได้ก่อนหลงคิดไปว่าสิ่งที่คนอื่นนิยมคือสามัญสำนึก
  • สามัญสำนึกเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อนๆ และครอบครัวจะมีความสุขมากๆ ที่ได้คุยเรื่องสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาคุ้นเคยที่เขารู้หากมันเป็นการรับรองความปลอดภัยของตัวคุณเอง
  • ถามคนอื่นว่าทำไมเขาถึงคิดว่าบางสิ่งเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่เราชินกับการแค่พยักหน้าและกล้ำกลืนคำพูดซ้ำซากในฐานะสิ่งที่สังคมกำหนดให้จนเราลืมไปว่าเราสามารถถามคนอื่นได้ว่า ทำไมเขาจึงกล่าวว่าบางสิ่งเป็นเช่นนั้น เช่น ถ้าเพื่อนบอกคุณว่าการออกไปข้างนอกตอนกลางคืนมันไม่ปลอดภัยเพราะว่าคนแปลกหน้าแสดงเจตนาที่ดีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์และทุกคนก็เป็นโจรกันหมด ให้ถามเขาว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ถ้าเขาแค่พูดกว้างๆ ทั่วไป ให้ถามข้อเท็จจริงกับตัวอย่าง แม้จะเป็นข้อเท็จจริงและตัวอย่าง ก็ให้ถามด้วยว่าทำไมสิ่งนี้จึงเป็นปัญหาในละแวกที่คุณอยู่ สถานที่ที่คุณกำลังจะไป เวลาที่คุณอยู่เป็นกลุ่ม เวลาที่คุณอยู่คนเดียว เวลาที่มีคนไปดูแลความปลอดภัยให้คุณด้วย และอื่นๆ สุดท้ายแล้วคุณน่าจะได้แก่นของประเด็นนี้ว่ามีที่มาจากเรื่องราวต่างๆ ในสื่อ จากนั้นก็ให้ถามเพื่อนว่าการระแวงเรื่องความปลอดภัยกับการเตรียมพร้อมเพื่อความปลอดภัยอย่างไหนดีกว่ากัน ชีวิตต้องเจอความเสี่ยงอยู่เสมอ ถึงจะนั่งอยู่ในบ้านก็ตายและบาดเจ็บได้เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมรับสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่เสียสติและสมเหตุสมผล (เช่น ไปเรียนการป้องกันตัว รู้ว่าถ้ามืดแล้วไม่ควรเดินแถวไหน ไปข้างนอกตอนกลางคืนก็ต่อเมื่อมีคนอื่นไปด้วยเท่านั้น นั่งแท็กซี่เมื่อเมา เป็นต้น) แทนที่จะจำกัดชีวิตตัวเองไว้กับความกลัว
โฆษณา

คำเตือน

  • เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนที่ใช้สามัญสำนึกบางครั้งอาจจะหมดความอดทนกับความโง่เขลาของคนรอบตัว หยุดความต้องการนี้ซะ เพราะพรุ่งนี้อาจจะถึงตาที่คุณขาดสามัญสำนึกบ้างจนคนอื่นหัวเราะเยาะหรือด่าทอ เราทุกคนต่างก็โง่พอๆ กันในช่วงเวลาที่ต่างกันในชีวิต เช่นเดียวกับที่เราเองก็ฉลาดพอๆ กันในช่วงเวลาอื่นๆ มันขึ้นอยู่กับบริบทและมันก็เป็นเรื่องที่น่าอับอายหรือผิดหากเราปฏิเสธที่จะเรียนรู้จากมัน
  • อย่าระแวง จงฉลาด แต่อย่าน่าเบื่อ! แค่คิดอะไรให้รอบคอบล่วงหน้า
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • แหล่งค้นคว้า อ่านหนังสือ เว็บไซต์ และอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่มีต่อโลกใบนี้ วัฒนธรรม ความเชื่ออื่นๆ เป็นต้น

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.merriam-webster.com/dictionary/common+sense
  2. Karl Albrecht, Practical Intelligence: The Art and Science of Common Sense , p. 41, (2007), ISBN 978-0-7879-9565-2
  3. Karl Albrecht, Practical Intelligence: The Art and Science of Common Sense , p.82, (2007), ISBN 978-0-7879-9565-2
  4. Siimon Reynolds, Why People Fail: The 16 Obstacles to Success and How You Can Overcome Them , p. 130, (2010), ISBN 978-0-670-07431-0
  5. Siimon Reynolds, Why People Fail: The 16 Obstacles to Success and How You Can Overcome Them , p. 132, (2010), ISBN 978-0-670-07431-0
  6. Malcolm Gladwell, Blink , p. 14, (2005), ISBN 0-316-17232-4
  7. Karl Albrecht, Practical Intelligence: The Art and Science of Common Sense , pp. 83–84, (2007), ISBN 978-0-7879-9565-2

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,388 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา