ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เมื่อคุณรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งาน ให้ลองมองว่าการสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองดูสิ หากคุณเตรียมตัวหาข้อมูลและตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจ งานในฝันของคุณก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน หรือหากคุณพลาดโอกาสการได้งาน อย่างน้อยการสัมภาษณ์งานในครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีรวมถึงเป็นโอกาสให้คุณได้เรียนรู้ที่จะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เตรียมตัวล่วงหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สิ่งแรกที่คุณควรทำหลังถูกเรียกสัมภาษณ์คือการเตรียมตัวค้นหาข้อมูลของบริษัท ลองศึกษาข้อมูลต่างๆ ของบริษัทอย่างเช่นพันธกิจขององค์กร จำนวนพนักงาน หรือรายละเอียดของตำแหน่งงานที่คุณสมัคร และหากบริษัทที่เรียกสัมภาษณ์มีคติพจน์ประจำองค์กร ให้คุณท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ พยายามศึกษาข้อมูลของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความประทับใจและแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจในรายละเอียดของบริษัทมากเพียงใด
    • ในระหว่างการสัมภาษณ์ คุณสามารถแสดงให้เห็นว่าคุณหาข้อมูลบริษัทมาอย่างดีโดยบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจขององค์กรและคิดว่าการแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการศึกษาฟรีทั่วโลกเป็นเป้าหมายที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง”
    • และอย่าลืมแสดงให้เห็นว่าคุณทราบรายละเอียดของตำแหน่งงานอย่างละเอียด หากคุณรู้ว่าผู้สัมภาษณ์กำลังมองหาคุณสมบัติใดในตัวผู้สมัคร ยิ่งเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณในการนำเสนอตนเองและแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณคาดหวังอยากร่วมงานกับบริษัทของพวกเขา
  2. หากพอมีเวลา คุณอาจลองค้นหาประวัติเบื้องต้นของผู้สัมภาษณ์ อย่างเช่น จบมาจากมหาวิทยาลัยใด เคยทำงานที่ใดมาก่อนบ้าง หรือข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์ เท่านี้คุณก็จะรู้สึกเหมือนตนเองมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์งานครั้งนี้แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องเอ่ยให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าคุณค้นหาข้อมูลของเขาบนอินเทอร์เน็ต แต่หากคุณพบว่าประวัติบางส่วนของผู้สัมภาษณ์เหมือนกับของคุณ เช่น คุณกับผู้สัมภาษณ์เคยทำงานที่เดียวกันมาก่อนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ข้อมูลเหล่านี้อาจเพิ่มความได้เปรียบให้กับคุณในการสัมภาษณ์งานครั้งนี้
    • ลองหาประวัติเพิ่มเติมของผู้สัมภาษณ์จากเว็บไซต์ LinkedIn หรือเครือข่ายมืออาชีพอื่นๆ
    • พยายามอย่าค้นหาข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเกินไปหรือเอ่ยถึงข้อมูลต่างๆ ที่คุณพบบน Facebook ของผู้สัมภาษณ์
  3. แม้ว่าการสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไป แต่จะมีคำถามบางส่วนที่ผู้สัมภาษณ์โดยส่วนใหญ่มักนำมาถามผู้สมัครบ่อยๆ ดังนั้นคุณจึงควรฝึกซ้อมตอบคำถามต่างๆ ที่พบบ่อยเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเตรียมพร้อมมาอย่างดี คำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งานมีดังนี้
    • “จุดแข็งของคุณคืออะไร” เลือกจุดแข็งอย่างน้อย 1 ข้อที่ทำให้คุณเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นและอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุนจุดแข็งของคุณ โดยจุดแข็งที่คุณเลือกตอบจะต้องสัมพันธ์กับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร
    • “จุดอ่อนของคุณคืออะไร” ห้ามตอบว่า “ดิฉันเป็นคนสู้งาน” โดยเด็ดขาด จำไว้ว่าผู้สัมภาษณ์ทุกคนต่างเคยได้ยินคำตอบนี้มาแล้วทั้งนั้น พยายามเลือกจุดอ่อนที่ไม่สำคัญกับตำแหน่งงานมากนักและแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังพยายามแก้ไขจุดอ่อนนี้อยู่ เช่น “จุดอ่อนของดิฉันคือการจัดการเวลาที่ไม่ดีเท่าไรนักเมื่อถึงเวลาสอนเด็กนักเรียน ดิฉันมักรู้สึกกระตือรือร้นกับเนื้อหาการเรียนการสอนจนในบางครั้งอาจเผลออัดเนื้อหาใหม่ในคาบเรียนเดียว แต่ดิฉันจะพยายามหยุดพักการสอนทุกๆ 5 นาทีและครอบคลุมเนื้อหาที่พอดีที่นักเรียนจะสามารถจดจำได้ในการเรียน 1 คาบ”
    • “ทำไมคุณจึงอยากร่วมงานกับบริษัทเรา” ห้ามตอบผู้สัมภาษณ์โดยเด็ดขาดว่าคุณอยากทำงานที่นี่เพราะว่าพวกเขาเป็นบริษัทเดียวที่เรียกคุณสัมภาษณ์ แต่พยายามแจกแจงเหตุผลที่คุณอยากร่วมงานกับบริษัทนี้และอธิบายรายละเอียดให้มากที่สุด รวมถึงอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมคุณจึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้และสามารถสร้างผลงานให้กับทีมได้อย่างไร
  4. หลังจบการสัมภาษณ์โดยส่วนใหญ่ ผู้สัมภาษณ์มักจะเปิดโอกาสให้คุณถามคำถามกับพวกเขา พยายามเตรียมไปหลายๆ คำถามและเลือกถามคำถามที่ตรงประเด็นที่สุดเพื่อแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณเตรียมตัวหาข้อมูลมาอย่างดีและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมงานในตำแหน่งนี้ หากคุณเพียงแค่ยิ้มและบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่าคุณไม่มีคำถามใดๆ อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณไม่ได้สนใจในตำแหน่งนี้เท่าไรนัก ลองถามข้อมูลต่างๆ จากผู้สัมภาษณ์ดังนี้
    • รายละเอียดของตำแหน่งงานที่คุณอยากรู้เพิ่มเติม
    • ชีวิตการทำงานในแต่ละวัน เช่น ในแต่ละวันคุณจะได้ใช้เวลาทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานมากน้อยเพียงใด
    • สิ่งที่พวกเขาชอบในการทำงานในบริษัทนี้
    • สิ่งอื่นๆ ที่คุณจะสามารถทำให้กับบริษัทนอกเหนือจากหน้าที่ที่ระบุไว้ในตำแหน่งงาน เช่น หากคุณสมัครตำแหน่งคุณครูในโรงเรียนมัธยมปลาย ลองถามว่าคุณสามารถเพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนต่างๆ ได้หรือไม่
  5. เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานครั้งนี้ คุณควรฝึกซ้อมกับเพื่อนหรือผู้ที่รู้จักประวัติความเป็นมาของคุณเสียก่อน การฝึกซ้อมก่อนการสัมภาษณ์งานจริงจะช่วยให้คุณสามารถตอบคำถามได้ด้วยความมั่นใจ ลดการใช้ภาษาท่าไม่ให้มากเกินไป และรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็น อีกทั้งยังช่วยกำจัดความรู้สึกกระวนกระวายใจก่อนการสัมภาษณ์งานและเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์จริง
    • อาจลองแต่งตัวให้เหมือนกับวันสัมภาษณ์จริงเพื่อลดความรู้สึกกังวลเมื่อต้องแต่งกายเป็นทางการ
    • ขอคำแนะนำจากเพื่อนว่ามีสิ่งใดที่คุณสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในการสัมภาษณ์งานจริงและพยายามให้เพื่อนของคุณให้คำชมมากกว่าคำติเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณ
  6. เตรียมคำอธิบายว่าทำไมคุณจึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้. อีกสิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องอธิบายได้อย่างมั่นใจคือเหตุผลที่ทำให้คุณเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพนักงานในบริษัทนี้และสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญที่สุดในตำแหน่งงานของคุณ และพยายามเลือกใช้วลีที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร ลองนำเสนอตัวเองในด้านต่างๆ ด้วยประโยคเหล่านี้
    • “ดิฉันทราบดีว่าทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้ และจากประสบการณ์หลายปีในด้านการบริหารจัดการงาน การฝึกงาน และการสรรหาบุคลากร ดิฉันเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้ดิฉันเป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ ดิฉันมีโอกาสติดต่อสื่อสารกับพนักงาน ลูกค้า และผู้จัดการเป็นเวลานานหลายปี จึงทำให้ดิฉันได้เรียนรู้วิธีการให้ความคิดเห็นเชิงบวกรวมถึงชี้ข้อบกพร่องอย่างตรงไปตรงมา”
    • “ดิฉันรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมสำหรับตำแหน่งนี้ ตำแหน่งงานปัจจุบันทำให้ดิฉันมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมอยู่บ่อยครั้งและสามารถทำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดิฉันจะนำประสบการณ์ตรงนี้มาปรับใช้ในการทำงานกับบริษัทของคุณ”
  7. เตรียมทุกอย่างที่จำเป็นให้เรียบร้อยก่อนวันสัมภาษณ์งานเพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องรีบร้อนเตรียมตัวสำหรับวันสำคัญในนาทีสุดท้าย ควรเตรียมเรซูเม่และจดหมายสมัครงานสำหรับใช้เป็นเอกสารอ้างอิง รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้รายละเอียดประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงานของคุณดียิ่งขึ้น
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณสัมภาษณ์งานในตำแหน่งคุณครู คุณอาจเตรียมเอกสารเค้าโครงการสอนเก่าๆ เพื่อนำเสนอประเภทของงานที่คุณสามารถทำได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณต้องการสร้างความประทับใจครั้งแรก ลองเริ่มต้นจากการแต่งกายให้ดูสุภาพเรียบร้อยและเป็นมืออาชีพ ลงทุนสักนิดซื้อเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับใส่ในวันสัมภาษณ์งานเพื่อเพิ่มโอกาสพิชิตงานในฝันของคุณ และแม้ว่าบริษัทที่คุณสัมภาษณ์จะมีบรรยากาศที่สบายๆ และไม่เป็นทางการมากนัก แต่อย่างไรก็ตามคุณก็ควรแต่งกายให้ดูสุภาพและถูกกาลเทศะไว้ก่อนซึ่งจะช่วยสร้างความประทับใจต่อผู้สัมภาษณ์ได้มากกว่าการแต่งกายแบบลำลอง
    • และอย่าลืมแต่งหน้าทำผมให้ดูดีและรักษาความสะอาดของร่างกายด้วยเช่นกัน พยายามดูแลตัวเองให้มีบุคลิกที่ดีอยู่เสมอ
    • ลองสวมชุดอย่างน้อย 2-3 วันก่อนวันสัมภาษณ์จริงเพื่อให้มั่นใจว่าคุณดูดีและไม่มีปัญหาใดๆ กับชุดที่เตรียมไว้ คุณคงไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดอย่างการพบว่าพนักงานขายลืมเอาแท็กกันขโมยออกจากชุดของคุณก่อนเริ่มการสัมภาษณ์เพียงไม่กี่นาที
  2. การไปถึงบริษัทเร็วกว่าเวลานัดสัมภาษณ์เล็กน้อยแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนตรงเวลาและให้ความสำคัญกับการทำงาน หากคุณรีบเร่งไปถึงที่หมายก่อนเวลานัดสัมภาษณ์เพียงไม่นาน คุณก็จะไม่มีเวลาสำหรับเตรียมตัวและผ่อนคลายก่อนเริ่มสัมภาษณ์ ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณมาไม่ตรงเวลานัดสัมภาษณ์ อาจทำให้พวกเขาคิดว่าคุณคงไม่สามารถมาทำงานได้ตรงเวลาทุกวัน
    • ถึงแม้ว่าคุณจะมาถึงเร็วกว่าเวลานัดสัมภาษณ์ แต่อย่าลืมโยนแก้วกาแฟทิ้งก่อนเดินเข้าบริษัท จำไว้ว่าการเข้าไปสัมภาษณ์งานพร้อมถือแก้วกาแฟในมือเป็นการกระทำที่ดูไม่เป็นมืออาชีพเท่าไรนัก
    • หากมาถึงก่อนเวลานัดสัมภาษณ์ถึงครึ่งชั่วโมง ให้คุณรออยู่ข้างนอกหรือในรถเสียก่อน เพราะการปรากฏตัวให้ผู้สัมภาษณ์เห็นเร็วเกินไปอาจเป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้สัมภาษณ์ได้หากเขายังไม่พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์
  3. เมื่อคุณเดินเข้าในห้องสัมภาษณ์ ให้คุณยืนตัวตรง มองตาผู้สัมภาษณ์ ยิ้มกว้าง และยกมือไหว้ทักทายด้วยความมั่นใจพร้อมทั้งกล่าวแนะนำตัวเองกับผู้สัมภาษณ์ พยายามเดินอย่างมั่นใจและหลีกเลี่ยงการแสดงอาการกระวนกระวายหรือมองไปรอบๆ ห้อง จำไว้ว่าคุณมีเพียงโอกาสเดียวที่จะสร้างความประทับใจครั้งแรกต่อผู้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับโอกาสการได้งานของคุณ
    • คุณสามารถทักทายด้วยประโยคง่ายๆ อย่าง “ดิฉันชื่อสมหญิงค่ะ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณสำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์วันนี้นะคะ”
  4. เมื่อตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ ให้คุณพูดด้วยความมั่นใจและอย่างชัดถ้อยชัดคำพร้อมทั้งมองตาผู้สัมภาษณ์ไปด้วย หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดอย่าง “แบบว่า” หรือ “อืม” มากเกินไปและพยายามจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณกำลังนำเสนอแม้ว่าในบางครั้งคุณอาจจะหยุดพูดเพื่อคิดบ้าง จำไว้ว่าสิ่งสำคัญในการตอบคำถามผู้สัมภาษณ์คือการตอบอย่างมั่นใจและฟังดูเหมือนคุณหมายความตามที่พูดจริงๆ
    • การฝึกพูดให้เสียงดังฟังชัดเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตอบคำถามในวันสัมภาษณ์จริง รวมถึงพยายามพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติและฟังดูไม่ทื่อจนเกินไป
  5. หลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเกินไป. แม้คุณจะรู้สึกว่าผู้สัมภาษณ์กำลังสนใจในตัวคุณและต้องการรู้จักคุณมากกว่านี้ แต่คุณก็ไม่ควรการพูดถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงบทสนทนาเกี่ยวกับคู่สมรส ลูก หรือปัญหาส่วนตัวที่บ้าน การพูดถึงข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้จดจ่ออยู่ที่ตำแหน่งงานและทำให้คุณดูไม่เป็นมืออาชีพ
    • หากคุณสังเกตเห็นโปสเตอร์ทีมกีฬาที่คุณชื่นชอบในห้องของผู้สัมภาษณ์ ลองกล่าวผ่านๆ เกี่ยวกับทีมกีฬานี้เมื่อมีโอกาส แต่ต้องพยายามอย่างให้ฟังดูละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวมากเกินไป
  6. เมื่อการสัมภาษณ์จบลง ให้คุณกล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์ที่สละเวลามาสัมภาษณ์กับคุณและเปิดโอกาสให้คุณได้พูดคุยเกี่ยวกับทักษะและคุณสมบัติในการทำงาน และก่อนเดินออกจากห้องสัมภาษณ์ อย่าลืมยกมือไหว้ผู้สัมภาษณ์อีกครั้งพร้อมมองตาและส่งยิ้ม การทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนมีมารยาทและมีความตั้งใจในโอกาสการสัมภาษณ์งานครั้งนี้จริงๆ
    • กล่าวขอบคุณด้วยประโยคง่ายๆ อย่าง “ขอบคุณที่สละเวลามาสัมภาษณ์ดิฉันนะคะ ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณในวันนี้ค่ะ”
    • เมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง คุณสามารถถามผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาก่อนติดต่อกลับและขั้นตอนต่อไปหลังการสัมภาษณ์งานครั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ควรแจ้งให้คุณทราบว่าจะติดต่อกลับเมื่อไรและขั้นตอนต่อไปที่คุณต้องทำ
  7. มีพฤติกรรมบางส่วนที่คุณควรหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิงในระหว่างการสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครงานหลายคนคงไม่คาดคิดว่าคำตอบที่ฟังดูธรรมดาๆ เพียงไม่กี่คำตอบอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อผู้สัมภาษณ์ได้ พยายามระมัดระวังการใช้คำพูดและแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณมีความสนใจในตำแหน่งงานนี้จริงๆ พฤติกรรมต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่
    • อย่าถามถึงสวัสดิการที่คุณจะได้รับจนกว่าจะได้รับการตอบรับเข้าทำงานในบริษัท การทำเช่นนี้ทำให้ดูเหมือนว่าคุณสนใจในเรื่องวันหยุดพักร้อนมากกว่าเรื่องการทำงาน
    • อย่าบอกผู้สัมภาษณ์ว่าคุณสมัครงานมาแล้วหลายที่แต่ยังไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์เพื่อให้เขารู้สึกว่าคุณมีความมุ่งมั่นตั้งใจในตำแหน่งงานนี้
    • อย่าพูดอะไรที่แสดงให้เห็นว่าคุณศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสัมภาษณ์คือการทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับบริษัทของพวกเขา
  8. แม้ว่าเจ้านายของคุณจะเป็นคนที่หยาบคาย ใจแคบ ไม่เกรงใจ และไม่เคารพผู้อื่น และหน้าที่การงานของคุณก็ไม่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเอง อีกทั้งคุณยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทปัจจุบัน แต่คุณควรกล่าวถึงตำแหน่งงานปัจจุบันอย่าง “ดิฉันได้รับประสบการณ์ดีๆ มากมายจากการทำงานในตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตาม ดิฉันกำลังมองหาความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานค่ะ” หากคุณพูดถึงงานและนายจ้างปัจจุบันในทางที่ไม่ดี ผู้สัมภาษณ์อาจเกรงว่าคุณจะทำเช่นเดียวกันนี้กับพวกเขาในอนาคต
    • พยายามทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณเป็นคนสบายๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายและเป็นกันเอง และแม้ว่าคุณอาจจะมีเรื่องบาดหมางกับคนอื่นในบริษัทที่ไม่ใช่ความผิดของคุณ คุณก็ไม่จำเป็นต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าการทำงานร่วมกับคุณอาจเป็นเรื่องยากและมีปัญหามากมาย
  9. หลังการสัมภาษณ์ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งแรกที่คุณควรทำคือการส่งอีเมลแสดงความขอบคุณที่ให้โอกาสในการสัมภาษณ์และกล่าวซ้ำอีกครั้งถึงความสนใจของคุณในตำแหน่งนี้ การทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าคุณจริงจังกับการสัมภาษณ์งานครั้งนี้อย่างมากและกำลังตั้งตารอคอยสำหรับขั้นตอนต่อไป
    • นอกจากนี้ ไม่ใช่ผู้สมัครทุกคนที่จะส่งอีเมลแสดงความขอบคุณไปหาผู้สัมภาษณ์ วิธีนี้จึงแสดงให้เห็นว่าคุณมีความกระตือรือร้นในการทำงานกับบริษัทนี้และทำให้คุณดูโดดเด่นเหนือผู้สมัครคนอื่น
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

สัมภาษณ์งานผ่านช่องทางอื่นๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทริคในการสัมภาษณ์งานผ่าน Skype คือการเตรียมตัวและทำทุกอย่างเหมือนกับการสัมภาษณ์งานตามปกติแม้ว่าผู้สัมภาษณ์จะไม่ได้นั่งอยู่ตรงหน้าคุณก็ตาม เพื่อให้การสัมภาษณ์งานผ่าน Skype ผ่านไปได้ด้วยดี คุณควรแต่งกายให้สุภาพเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์งานจริง วางเรซูเม่และจดหมายแนะนำตัวไว้บนโต๊ะ รวมถึงมองหาบริเวณที่ปราศจากเสียงรบกวนและมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แรงและคงที่
    • เลือกบริเวณที่มีแสงสว่างพอดีเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์สามารถมองเห็นใบหน้าและการแสดงออกของคุณได้อย่างชัดเจน
    • ปิดหน้าต่างอีเมลและหน้าต่างอื่นๆ ที่อาจทำให้คุณเสียสมาธิในระหว่างการสัมภาษณ์ พยายามรวบรวมสมาธิและจดจ่ออยู่กับการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
    • ตรวจเช็คดูว่าไมโครโฟนและกล้องล่วงหน้าสามารถใช้งานได้ตามปกติ และลองฝึกซ้อมกับเพื่อนก่อนล่วงหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดทางเทคนิคใดๆ ในวันสัมภาษณ์จริง
  2. บริษัทหลายแห่งอาจเริ่มต้นการสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อทำความรู้จักกับผู้สมัครก่อนนัดให้ไปสัมภาษณ์งานจริงที่บริษัท วิธีนี้จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประหยัดเวลาและรู้จักตัวตนของผู้สมัครแต่ละคนมากขึ้น เมื่อมีการสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ จำไว้ว่าคุณควรเตรียมตัวและทำทุกอย่างเหมือนกับการสัมภาษณ์งานตามปกติ ให้คุณเตรียมโน้ตวางไว้ข้างหน้า แต่งกายให้สุภาพ และมองหาบริเวณที่ปราศจากเสียงรบกวนและมีสัญญาณโทรศัพท์ที่ดีเพื่อให้บทสนทนาทางโทรศัพท์ของคุณและผู้สัมภาษณ์เป็นไปได้อย่างราบรื่น
    • พยายามตอบทุกคำถามอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ อย่าละเลยการแสดงความเป็นมืออาชีพแม้จะเป็นเพียงการสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ก็ตาม
    • จำไว้ว่าผู้สัมภาษณ์กำลังพูดคุยกับคุณโดยไม่เห็นหน้าค่าตา คุณจึงต้องพยายามยิ่งขึ้นในการทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นภาพตัวคุณอย่างชัดเจนผ่านทางคำพูด เตรียมวลีเหมาะๆ สำหรับอธิบายตัวตนของคุณให้พร้อม
  3. ในบางครั้งคุณอาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมภาษณ์แบบกลุ่มเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้หลายคนในคราวเดียวและได้เห็นว่าผู้สมัครแต่ละคนมีวิธีการโต้ตอบสื่อสารกับกลุ่มอย่างไร สิ่งสำคัญในการสัมภาษณ์งานเป็นกลุ่มคือการแสดงออกอย่างเหมาะสมพอให้เป็นที่จดจำของผู้สัมภาษณ์ในขณะที่ยังแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนนึกถึงผู้อื่นและสามารถทำงานร่วมกับทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • พยายามอย่างกดผู้สมัครคนอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองดูโดดเด่น แต่ควรแสดงความมีน้ำใจและให้การช่วยเหลือกับพวกเขาในขณะที่แสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณเป็นผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สุด
    • หากมีการทำกิจกรรมกลุ่มในระหว่างการสัมภาษณ์ ลองรับบทบาทผู้นำกลุ่มโดยพยายามไม่แสดงความเจ้ากี้เจ้าการหรือกีดกันการมีส่วนร่วมของผู้สมัครคนอื่นๆ
    โฆษณา


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,750 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา