ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
โรคซึมเศร้าจัดเป็นโรคทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง ในทำนองเดียวกับโรคหวัดและโรคอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งวิธีที่จะแน่ใจได้ว่าคุณกำลังถูกโรคนี้เล่นงาน หรือกำลังจิตตกเพียงชั่วคราวเท่านั้น วัดได้จากระดับความถี่และความรุนแรงของอาการเศร้าสร้อยที่เกิดขึ้น หากเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละราย ซึ่งบางวิธีอาจเห็นผลลัพธ์ดีกว่าวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม หากคุณได้รับการรักษาที่ถูกต้องตรงทาง ก็จะช่วยให้ผลกระทบจากโรคซึมเศร้าลดลงได้ จนแทบจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อคุณภาพชีวิตของคุณอีกเลย
ขั้นตอน
-
จดบันทึกอารมณ์ของคุณเป็นเวลา 2 สัปดาห์. หากคุณมีอาการเศร้าหมอง อย่างเช่น มักรู้สึกเสียใจ หรือขาดความสนใจในกิจกรรมบางอย่างที่คุณเคยทำด้วยความรื่นรมย์ ยิ่งหากว่าอาการดังกล่าวคอยเล่นงานคุณตลอดทั้งวัน และเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ก็เรียกว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว [1] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Alliance on Mental Illness ไปที่แหล่งข้อมูล
- บางครั้งอาการดังกล่าวอาจจะอยู่กับคุณเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ก่อนที่จะหายไป แต่จู่ๆ มันก็อาจกลับมาใหม่ หรือเป็นสภาวะที่เรียกว่า “หนังฉายซ้ำ” ซึ่งในกรณีนี้ มันคงไม่ใช่แค่อารมณ์เศร้าชั่ววูบแล้ว แต่ภาวะดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรงทางอารมณ์ ที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์และหน้าที่การงานของคุณ เช่น คุณอาจรู้สึกอยากโดดเรียน หรือหากอยู่ในวัยทำงาน ก็เกิดอยากลางานขึ้นมาเฉยๆ รวมถึงหมดความสนใจในงานอดิเรกหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา เล่นเกมส์ ถักโครเชท์ ทำอาหาร หรือแม้แต่การออกไปพบปะเพื่อนฝูง
- หากเป็นกรณีที่คุณเพิ่งเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น การสูญเสียบุคคลที่รักไป คุณก็อาจจะมีอาการแบบเดียวกับโรคซึมเศร้าได้ ถึงแม้จะยังไม่ถือว่าเป็นโรคนี้แบบเต็มตัว ดังนั้น ควรรีบไปแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยดูอีกครั้งว่า อาการโศกเศร้าของคุณอยู่ในระดับปกติทั่วไป หรือว่าอาจมีแนวโน้มของการเป็นโรคซึมเศร้า [2] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5).
-
สังเกตความผิดปกติอื่นๆ . นอกจากจะเกิดความรู้สึกเศร้าอยู่บ่อยๆ และหมดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ายังอาจมีอาการผิดปกติแบบอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้น ลองตรวจสอบดูว่าคุณมีอาการอื่นๆ อีก 3-4 อาการ ในช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์ที่เฝ้าดูอาการตัวเองนี้ ร่วมด้วยหรือไม่ [3] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Alliance on Mental Illness ไปที่แหล่งข้อมูล ตัวอย่างเช่น:
- เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ
- มีปัญหาเรื่องการนอน (อาจนอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากไป เป็นต้น)
- อ่อนล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
- มีอาการอยู่ไม่สุข หรืออาจขาดความกระฉับกระเฉง จนคนรอบข้างรู้สึกผิดสังเกต
- รู้สึกไร้ค่า มักรู้สึกผิดอยู่บ่อยๆ
- ไม่มีสมาธิจดจ่อ มักลังเลเวลาตัดสินใจ
- ชอบคิดซ้ำๆ เรื่องเกี่ยวกับความตาย และการฆ่าตัวตาย หรือถึงขั้นวางแผนและพยายามฆ่าตัวตาย
-
มองหาความช่วยเหลือทันที หากกำลังมีความคิดฆ่าตัวตาย. หากคุณหรือคนที่คุณรู้จัก มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายแล้วล่ะก็ กรุณาติดต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือโดยด่วน เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง อย่าคิดว่าความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือปล่อยไว้ให้หายเอง
-
แยกความแตกต่างระหว่างซึมเศร้ากับ “เศร้าหมอง.” อาการเศร้าหมองมักเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยอาจเกิดขึ้นเมื่อคุณเครียด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันตั้งตัว (ต่อให้เป็นเรื่องดีก็ตาม) และแม้แต่สภาพอากาศก็ทำให้ วิธีที่จะช่วยให้คุณแยกออกระหว่างภาวะซึมเศร้ากับอาการเศร้าหมอง ก็คือระดับความรุนแรงและความถี่นั่นเอง หากคุณมีอาการเศร้าไม่เว้นแต่ละวัน นานติดๆ กัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป นั่นคือภาวะซึมเศร้าแน่นอนแล้ว [4] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง Solomon, Andrew. The Noonday Demon.
- โศกนาฏกรรมในชีวิต เช่น การจากไปของคนที่เรารัก ก็สามารถทำให้เราอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าดังกล่าว คุณยังพอที่จะนึกถึงเรื่องดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น และมีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้ แต่หากคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะขาดความรื่นรมย์ในจิตใจ จนถึงขั้นไม่อยากทำอะไรเลยในแต่ละวัน [5] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5).
-
บันทึกสิ่งที่คุณทำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา. เขียนลงไปให้หมดทุกกิจกรรม ตั้งแต่เรื่องการเดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน จนกระทั่งเรื่องอาหารการกิน หรือแม้กระทั่งการอาบน้ำ จากนั้นลองไล่สังเกตดูว่า ในขณะที่ทำแต่ละกิจกรรมเหล่านั้น ความรู้สึกของคุณเป็นไปในลักษณะที่เกิดขึ้นซ้ำซากหรือไม่ รวมถึงสังเกตดูด้วยว่า มีกิจกรรมอะไรบ้างที่คุณเคยทำเป็นประจำ แต่เริ่มขาดหายไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- นำกิจกรรมที่จดเอาไว้เมื่อสักครู่ มาพิจารณาดูว่า มีกิจกรรมใดเป็นกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักจะไม่แยแสต่อชีวิตตนเอง และไม่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสอดส่องดูแลจากคนรอบข้าง [6] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- หากคุณกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า การจดบันทึกเรื่องดังกล่าวอาจดูน่าเบื่อ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรีบทำ หรือถ้าจะให้ดี ก็อาจขอให้คนรอบข้างมาช่วยคุณเขียนแทน
-
สอบถามคนรอบข้างดูว่า สังเกตเห็นความผิดปกติของคุณหรือไม่. ลองพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวดูว่า คุณมีท่าทีแปลกๆ ไปในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ถึงแม้ว่าคุณอาจจะรู้ตัวเองดี แต่ความเห็นของคนรอบข้างก็จะเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่ง
- พวกเขาอาจสังเกตเห็นว่า คุณสะอึกสะอื้นบ่อยผิดปกติ หรือเห็นคุณดูท่าทางเหนื่อยหน่าย แม้กระทั่งแค่จะไปอาบน้ำ [7] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง Solomon, Andrew. The Noonday Demon
-
สอบถามแพทย์ว่าภาวะทางร่างกายของคุณ มีส่วนทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือไม่. เนื่องจากความเจ็บป่วยบางอย่างสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของไทรอยด์ หรือระบบฮอร์โมนบางชนิด [8] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5). ลองพูดคุยกับแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทางกายภาพดู
- ผลกระทบจากโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคที่เป็นอย่างเรื้อรัง มีโอกาสทำให้เกิดอาการเดียวกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็มีแต่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น ที่จะให้คำแนะนำและหาทางแก้ไขให้คุณได้ [9] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
-
เลือกผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา. นักบำบัดจิตนั้น มีอยู่มากมายหลายแขนง ซึ่งใช้กระบวนวิธีที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก หรือจิตแพทย์ทั่วไป ซึ่งคุณจะเลือกใช้บริการแบบไหนก็ได้ หรืออาจะลองหลายๆ แบบผสานกันไป
- นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : จิตวิทยาการให้คำปรึกษาเป็นแขนงหึ่งของการบำบัด ซึ่งเน้นไปที่ทักษะการให้ความช่วยเหลือ หรือการให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังเผชิญช่วงวิกฤติในชีวิตนั่นเอง และอาจจะแบ่งเป็นการบำบัดระยะสั้นหรือยาวก็ได้ แล้วแต่กรณี โดยจะมุ่งเน้นไปที่แก้ปัญหาเฉพาะด้าน และการลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย [10] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ผู้ให้คำปรึกษาในแนวนี้ จะถามคำถามคุณอย่างระมัดระวัง เพื่อรับฟังปัญหาของคุณ และจะคอยสังเกตดูอย่างเป็นกลางว่า มีอะไรเป็นที่น่าสังเกตในคำพูดของคุณไหม จากนั้น พวกเขาก็จะให้คำแนะนำในการรับมือกับอารมณ์ และสภาพแวดล้อมที่อาจเป็นปัญหาของคุณ
- นักจิตวิทยาคลีนิค : นักจิตวิทยาคลินิกส่วนใหญ่ ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี พวกเขาสามารถทดสอบและวินิจฉัยลักษณะอาการของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเน้นไปที่การตรวจหาความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ หรือที่เรียกว่า พยาธิวิทยาทางจิต [11] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- จิตแพทย์ : นักบำบัดประเภทนี้จะใช้ความรู้ทางจิตวิทยา และเครื่องชี้วัดทดสอบร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ไปใช้บริการ มักเป็นผู้ที่ต้องการทดสอบใช้ยาในการรักษา เพราะตามหลักแล้ว มีเพียงจิตแพทย์เท่านั้น ที่สามารถสั่งยาให้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตใจได้ [12] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ American Psychological Association ไปที่แหล่งข้อมูล
-
ถามผู้มีประสบการณ์. คนที่คุณรู้จักอาจสามารถแนะนำนักบำบัดที่ดีให้แก่คุณได้ เผื่อว่าพวกเขาอาจเคยใช้บริการ ดังนั้น ลองสอบถามจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือไปตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้องก็ได้ รวมถึงอาจสอบถามจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ให้บริการข้อมูลทางด้านนี้ด้วย [13] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- คุณยังสามารถขอข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้ จากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย หรือราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น [14] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง www.psychiatry.or.th
-
เลือกนักบำบัดที่มีใจบริการ. มองหานักบำบัดที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย และต้อนรับคุณอย่างอบอุ่น เพราะหากไปเจอนักบำบัดที่แย่ๆ เข้า คุณอาจจะฝังใจไปนานเลยทีเดียว ซึ่งจะส่งผลให้คุณพลาดโอกาสในการเข้ารับบำบัดที่มีประสิทธิภาพ จำเอาไว้ว่า ผู้ที่มีอาชีพทางด้านจิตวิทยาแต่ละคนนั้น ก็มีสไตล์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป เลือกคนที่เหมาะกับจริตของคุณก็พอแล้ว
- นักบำบัดโดยทั่วไปจะถามคำถามคุณอย่างรอบคอบ เพื่อที่คุณจะได้ระบายความในใจออกมาให้พวกเขาฟังมากที่สุด ซึ่งแรกๆ คุณอาจจะรู้สึกอึดอัดสักหน่อย แต่โดยปกติแล้ว ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ มักจะยอมเปิดใจในระยะเวลาอันสั้น จากนั้น ก็จะเล่าเรื่องราวของตัวเองให้นักบำบัดฟังแบบไม่หยุดเลยทีเดียว
-
ต้องแน่ใจว่านักบำบัดที่คุณเลือก มีใบอนุญาต. การบำบัดรักษาที่ปลอดภัย ควรมาจากนักบำบัดทางจิตที่ได้รับอนุญาตหรือมีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหาข้อมูลเบื้องต้นได้ด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ท เช่น เว็บไซท์ของสมาคมนักจิตวิทยาคลินิก เป็นต้น [15] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว นักบำบัดในแต่ละแขนง อาจมีคุณวุฒิได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปจนถึงปริญญาเอก แต่ไม่ว่าจะมีคุณวุฒิระดับใด ต่างก็ควรต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาลเช่นเดียวกัน
-
ตรวจสอบประกันสุขภาพ. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าประกันด้านสุขภาพที่คุณมีอยู่ ครอบคลุมการักษาหรือบำบัดจิตใจด้วยหรือไม่ ถึงแม้ว่าโรคซึมเศร้าจะจัดเป็นโรคทางการแพทย์ชนิดหนึ่งก็ตาม แต่ระดับความครอบคลุมของประกันฯแต่ละประเภท ย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ คุณควรติดต่อสอบถามฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ หรือสอบถามทางบริษัทประกันโดยตรง [16] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Alliance on Mental Illness ไปที่แหล่งข้อมูล
-
สอบถามข้อมูลของการบำบัดแต่ละแขนง. โดยทั่วไปแล้ว การรักษาตามแนวทางจิตบำบัดที่แพร่หลายและเห็นผลดี มีอยู่ 3 วิธีคือ ความคิดและพฤติกรรมบำบัด จิตบำบัดด้านปฏิสัมพันธ์ และพฤติกรรมบำบัด [17] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง นอกจากนี้ ก็ยังมีแขนงย่อยๆ อื่นๆ อีก ซึ่งนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญ จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมกับคุณเอง
- ความคิดและพฤติกรรมบำบัด : เป้าหมายของความคิดและพฤติกรรมบำบัด คือ การท้าทายและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และอคติของคุณ ซึ่งมักจะมีผลต่ออาการซึมเศร้า รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันเป็นปัญหาของคุณด้วย
- จิตบำบัดด้านปฏิสัมพันธ์ : การบำบัดด้านปฏิสัมพันธ์ เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในชีวิต โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการหลีกหนีสังคม ความด้อยทักษะทางสังคม และความสัมพันธ์ทั่วๆ ไป ซึ่งก็มีผลต่ออาการซึมเศร้าเช่นเดียวกัน วิธีนี้เหมาะสมอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่าง
- พฤติกรรมบำบัด : พฤติกรรมบำบัดมุ่งเน้นไปที่การจัดสรรเวลา เพื่อเพิ่มกิจกรรมอันรื่นรมย์เข้าไปในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ปรับลดกิจกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่ออารมณ์ของคุณ โดยใช้เทคนิคบางอย่าง รวมถึงเทคนิคการควบคุมตนเอง การแก้ปัญหา และการเข้าสังคม
-
อดทน. ผลของการบำบัดมักจะค่อยเป็นค่อยไป คุณควรให้เวลากับมันอย่างน้อย 2-3 เดือน ก่อนที่จะเห็นผลอย่างยั่งยืน ดังนั้น พยายามไปบำบัดให้สม่ำเสมอ และอย่าล้มเลิกไปเสียก่อนโฆษณา
-
ถามจิตแพทย์ของคุณเกี่ยวกับยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า. ยาประเภทนี้จะไปกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมอง และปรับเปลี่ยนการทำงานตามปกติของมัน ซึ่งยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าก็จะแบ่งประเภท ตามสารสื่อประสาทแต่ละประเภทที่มันเข้าไปทำปฏิกิริยาด้วยนั่นเอง [18] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Mayo Clinic ไปที่แหล่งข้อมูล
- ประเภทที่แพร่หลายมากที่สุด ได้แก่ ยาในกลุ่ม SSRIs SNRIs MAOIs และกลุ่มไตรไซคลิค ซึ่งแต่ละประเภทจะมีชื่อทางการค้าที่หลากหลาย แต่คุณสามารถค้นหาตัวที่นิยมกันมากในท้องตลาดได้ ด้วยการหาข้อมูลอีกครั้งทางอินเตอร์เน็ท [19] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง จิตแพทย์ก็สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่เหมาะสมกับคุณที่สุดได้เช่นกัน
- จิตแพทย์ของคุณอาจจะให้ยาคุณหลายตัวในช่วงแรกๆ กระทั่งได้ผลสรุปว่าตัวไหนดีที่สุด แต่คุณก็ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองด้วย เพราะยาบางตัวให้ผลในทางลบสำหรับบางคน โดยทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจิตแพทย์ก็จะจ่ายยาตัวอื่นๆ ให้แทนในคราวต่อไป
-
สอบถามจิตแพทย์เกี่ยวกับยาต้านจิตเภท. หากยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าไม่ค่อยได้ผล จิตแพทย์บางท่านอาจแนะนำยาต้านจิตเภทให้คุณทานร่วมด้วย ซึ่งแบ่งได้คร่าวๆ 3 ประเภท คือ อาริพิพาโซล คิวเอทิเอพีน และริสเพอริโดน และยังมียาประเภทผสมกันระหว่างยาต้านอารมณ์ซึมเศร้ากับยาต้านจิตเภท หรือฟลูอ๊อกซีทีน/โอแลนเซพีน ซึ่งสามารถนำมาทานเสริมได้ ในกรณีที่ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าขนานเดียวไม่ได้ผล [20] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
ทานยาควบคู่กับการบำบัด. เพื่อให้การรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลอย่างรวดเร็ว คุณควรทานยาให้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการเข้าคอร์สบำบัด อย่าให้ขาด [21] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
ทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง. ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าอาจใช้เวลามากหน่อย ก่อนที่จะเห็นผล เนื่องจากมันจะต้องค่อยๆ ปรับให้เข้ากับสารเคมีในสมอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ก่อนที่จะเห็นผลดีขึ้นอย่างชัดเจนและยั่งยืนโฆษณา
-
จดบันทึกรูปแบบอารมณ์ของคุณ. จดเป็นไดอารี่ส่วนตัวเอาไว้ ถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างเช่น สิ่งที่กระทบอารมณ์ของคุณ ระดับพลังงานของคุณ สุขภาพโดยทั่วไป และคุณภาพของการนอนหลับ การบันทึกในลักษณะนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของอารมณ์ได้ชัดเจน และยังอาจทำให้คุณเข้าใจด้วยว่า เหตุใดคุณจึงมีความรู้สึกบางอย่างกับบางสถานการณ์ [22] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ University of Rochester Medical Center ไปที่แหล่งข้อมูล
- หากคุณจดบันทึกในลักษณะดังกล่าวไม่เป็น ก็มีแหล่งข้อมูลมากมายที่สอนให้เริ่มต้นทำแบบง่ายๆ ทั้งจากหนังสือและเว็บไซท์ต่างๆ
-
พยายามบันทึกทุกวัน. พยายามเขียนอย่าให้ขาดช่วง แม้ว่าบางวันอาจจะไม่มีอะไรให้เขียนมากมายนัก แต่บางวันก็อาจมีเรื่องราวเยอะแยะจนเขียนไม่หมด ซึ่งโดยรวมแล้ว หากคุณยิ่งเขียนบันทึกบ่อยๆ ก็จะยิ่งคล่องขึ้นเอง และในที่สุดคุณก็จะเห็นประโยชน์ของมัน [23] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ University of Rochester Medical Center ไปที่แหล่งข้อมูล
-
พกกระดาษและปากกาติดตัวไว้ตลอดเวลา. การพกอุปกรณ์ไว้สำหรับจดบันทึกตลอดเวลา จะช่วยให้คุณบันทึกได้แบบทันที ก่อนที่จะลืม โดยสมัยนี้ยังมีอุปกรณ์ที่สะดวกมากขึ้น เพื่อช่วยในการจดบันทึกด้วย เช่น แท็บเล็ต ไอแพด หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีฟังค์ชั่นในการจดบันทึกทั้งสิ้น
-
เขียนอะไรลงไปก็ได้. ไม่ว่าจะเกิดความคิด หรือความรู้สึกใดๆ ขึ้นมา อย่ามองว่ามันไม่มีสาระอะไร และในระหว่างที่จดบันทึก ก็ไม่จำเป็นต้องระวังเรื่องการสะกดถูกผิดหรือการเว้นวรรคมากนัก ขอแค่คุณเข้าใจความหมายของมันเป็นการส่วนตัวก็พอแล้ว
-
เปิดเผยได้ในบางเรื่อง. เรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ที่คุณบันทึกไว้ หากคุณรู้สึกสบายใจ ก็สามารถแชร์ให้คนรอบข้างอ่านได้ตามต้องการ หรือเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง หากคุณรู้สึกชอบการบันทึกในลักษณะนี้ ก็ยังสามารถเปิดบล็อกส่วนตัวไว้แชร์ประสบการณ์ในโลกออนไลน์ได้อีกด้วยโฆษณา
-
หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอารมณ์ซึมเศร้า. อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น เนื้อแปรรูป ช็อกโกแลต ของหวาน ของทอด ธัญพืชสำเร็จรูป และอาหารจำพวกนมไขมันสูง ล้วนมีผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลง [24] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
เสริมอาหารที่ดีต่ออารมณ์. อาหารประเภทที่ช่วยให้อารมณ์คงที่และเป็นบวกมากขึ้น ได้แก่ ปลา ผัก และผลไม้ต่างๆ [25] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง การเพิ่มปริมาณอาหารประเภทดังกล่าว นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังดีต่อสุขภาพกายด้วย
-
ลองรับประทานตามแบบเมดิเตอเรเนียน. อาหารตำรับเมดิเตอเรเนียน ก็หมายถึง อาหารตามธรรมชาติดั้งเดิมทั่วไป เช่น ผักและผลไม้สดๆ รวมถึงจำพวกปลา น้ำมันมะกอก และถั่วชนิดต่างๆ . [26] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- การรับประทานตามแบบดังกล่าว รวมถึงการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการกระตุ้นอาการซึมเศร้าด้วย
-
ทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 และโฟเล็ท. ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลการพิสูจน์แน่ชัด ถึงผลดีโดยตรงของกรดไขมันโอเมก้า-3 และโฟเล็ท [27] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง แต่มีการค้นพบว่า ผู้ที่ทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 และโฟเล็ท จะเห็นผลของการบำบัดเร็วขึ้น
-
คอยสังเกตว่าอาหารแต่ละชนิดส่งผลอย่างไรต่ออารมณ์ของคุณ. โดยเริ่มสังเกตประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ หากคุณรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์ดีหรือร้ายผิดปกติ ให้ลองนึกดูว่าทานอะไรเข้าไปก่อนหน้านั้น และจดบันทึกดูว่าอาหารประเภทใดที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคุณเป็นพิเศษ
- คุณไม่จำเป็นต้องจดรายชื่อสารอาหารทุกชนิดที่ทานเข้าไป ขอแค่สังเกตคร่าวๆ ว่า อาหารประเภทใดที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคุณ เพื่อที่จะได้ป้องกันการไปกระตุ้นอาการซึมเศร้า
โฆษณา
-
ปรึกษาแพทย์หรือเทรนเนอร์ส่วนตัว. ก่อนที่จะหันไปเข้าฟิตเนส คุณควรรู้ว่าการออกกำลังแบบใดที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งในแง่ของความชอบ ความยาก พละกำลังที่ต้องใช้ รวมถึงประวัติอาการบาดเจ็บของคุณด้วย (ถ้าเคยมี) วิธีที่ดีที่สุด คือการปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการหรือเทรนเนอร์ส่วนตัว
- เทรนเนอร์ยังสามารถแนะนำการออกกำลังกาย ในแบบที่สนุกและปลอดภัยควบคู่กันไป ให้แก่คุณได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจมากขึ้น
-
เริ่มวางแผนการออกกำลังกาย. การออกกำลังกายช่วยให้อารมณ์ของคุณดีขึ้น และยังป้องกันการกลับไปซึมเศร้าเหมือนเดิม มีผลการทดลองด้วยการควบคุมปัจจัยแวดล้อม ซึ่งได้ผลสรุปออกมาว่า การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรับประทานยา โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารสื่อประสาท และฮอร์โมนบางชนิดเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยให้การนอนหลับเป็นปกติด้วย [28] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ American Psychological Association ไปที่แหล่งข้อมูล
- ข้อดีของการออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า คือ การออกกำลังกายอย่างเช่น การวิ่ง มันแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย
-
ใช้หลัก SMART ในการตั้งเป้าหมาย. โดยอักษรแต่ละตัวนั้นย่อมาจากคำว่า เจาะจง - Specific, วัดผลได้ - Measurable, เป็นไปได้ - Attainable, ตรงตามความจริง - Realistic, และเวลาลงตัว –Timely ซึ่งเป็นหลักง่ายๆ ในการช่วยให้คุณวางเป้าหมายของการออกกำลังกาย และชื่นชมกับผลลัพธ์ของมันได้อย่างเหมาะสม
- เริ่มวางเป้าหมายจาก “ความเป็นไปได้” (A). เริ่มด้วยเป้าหมายแบบง่ายๆ เพราะมันจะช่วยให้คุณทำสำเร็จและเกิดกำลังใจ ทำให้คุณอยากจะตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้นไปอีก แต่หากคุณไม่อยากเพิ่มในแง่ของขีดจำกัด (เช่น การวิ่งให้ได้นานหรือไกลขึ้น) ก็ขอให้เพิ่มในเรื่องของความถี่แทน (เช่น จากสัปดาห์ละครั้ง ค่อยๆ เพิ่มเป็น 2-3 ครั้ง) ลองวัดใจตัวเองดูว่า จะทำได้สักแค่ไหน
-
มองการออกกำลังกายแต่ละครั้งเป็นการพัฒนาตนเอง. การออกกำลังกายในแต่ละครั้ง ควรจะเป็นเสมือนภาพสะท้อนแห่งความมุ่งมั่นของคุณ ในการที่จะเสริมสร้างภาวะอารมณ์ให้สมดุล [29] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ถึงแม้จะเป็นแค่การเดินออกกำลังกายระยะทางสั้นๆ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะการทำเรื่องต่างๆ ได้สำเร็จลุล่วง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันจะช่วยให้คุณรู้สึกได้ถึงความคืบหน้า บนเส้นทางแห่งการพัฒนาและเยียวยาตนเอง
-
พยายามออกกำลังกายแบบใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน. ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดหัวใจไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาอารมณ์ซึมเศร้าด้วย หากทำได้ ก็ขอให้เลือกการว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยทะนุถนอมข้อต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
-
หาเพื่อนออกกำลังกาย. อาจจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวคุณเองก็ได้ ซึ่งการมีเพื่อน จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในการไปออกกำลังกายมากขึ้น โดยคุณอาจเปรยกับพวกเขาให้เข้าใจก่อนว่า คุณอาจจะมีอาการโลเลในบางครั้ง แต่หากพวกเขาสามารถช่วยโน้มน้าวให้คุณไปออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะซาบซึ้งพวกเขามากโฆษณา
-
ออกไปรับแสงแดดให้มากขึ้น. มีผลการศึกษาพบว่า การอยู่ในที่ๆ มีแสงแดดมากกว่า จะช่วยให้อารมณ์ดีง่ายขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับวิตามินดีตามธรรมชาติในแสงแดดนั่นเอง แต่แสงสว่างประเภทอื่นๆ ก็พอช่วยได้เช่นกัน [30] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล บางทีการออกไปกลางแจ้ง โดยไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมใดๆ ก็ช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้มากแล้ว
- นักบำบัดของบางประเทศ ที่อยู่ในโซนหนาวและมีช่วงเวลากลางวันที่ค่อนข้างมืด จะแนะนำให้ผู้เป็นโรคซึมเศร้า ติดตะเกียงแสงแดดไว้ในบ้าน ซึ่งจะทำให้รู้สึกเสมือนอยู่กลางแจ้งจริงๆ
- หากเป็นในประเทศโซนร้อน ขอแนะนำให้คุณทาครีมกันแดด รวมถึงสวมแว่นกันแดดด้วย หากคุณอยากจะอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ
-
ออกไปทำกิจกรรม. การปลูกผัก ทำสวน เดินเล่น และกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกเบื่อ หากคุณไม่อยากออกแรงหรือเสียเหงื่อมาก ก็สามารถทำแต่เพียงเล็กน้อยไปพลางๆ ได้ [31] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ทั้งนี้ การออกไปสูดอากาศสดชื่นและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จะช่วยให้จิตใจคุณสงบลง แถมร่างกายยังได้ผ่อนคลายด้วย
-
ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์. มีการกล่าวถึงเรื่องนี้กันมานานมากแล้ว นั่นคือ แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้า กับพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ศิลปินหลายๆ คนต้องแลกมา อย่างไรก็ดี พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยอย่างถูกวิธีต่างหาก ที่นำมาซึ่งความซึมเศร้า ดังนั้น คุณอาจลองปลดปล่อยพลังดังกล่าวไปในกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างเช่น การวาดภาพ ระบายสี เต้นรำ ฯลฯ ตามความชอบของตัวเอง [32] X แหล่งข้อมูลอ้างอิงโฆษณา
-
ผลิตภัณฑ์สกัดจากต้นเซนท์จอห์นสเวิร์ท สามารถนำมาทานเพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าแบบอ่อนๆ ได้. [33] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ซึ่งฤทธิ์ของมัน อาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ผลการวิจัยจะพบว่า ผู้ป่วยอาจจะคิดไปเองก็ตาม แต่หากคุณอยากลองทานดู ก็สามารถสอบถามได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามเว็บไซท์ต่างๆ
- ไม่ว่าคุณจะใช้ยาตำรับใด อย่าลืมอ่านข้อแนะนำเรื่องขนาดในการใช้ยาให้ละเอียดด้วยล่ะ
- พยายามเลือกซื้อวิตามินหรือสมุนไพรสกัดต่างๆ จากร้านค้าและยี่ห้อที่เชื่อถือได้ เพราะในปัจจุบันนี้ ร้านค้าน้อยใหญ่ต่างก็ได้รับเครื่องหมาย (อย.) กันเต็มไปหมด ดังนั้น คุณควรคัดกรองและหาข้อมูลด้วยตนเองอีกครั้ง โดยอาจค้นหาอ่านข้อมูลรีวิวผลิตภัณฑ์ทางอินเตอร์เน็ทก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ก็จะปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น
- อย่ารับประทานผลิตภัณฑ์ยาจากต้นเซนท์จอห์นสเวิร์ท ร่วมกับยาในกลุ่ม SSRIs เพราะอาจก่อให้เกิดอาการในกลุ่มเซโรโทนิน ซึ่งเกิดจากการได้รับสารดังกล่าวมากเกินจำเป็น จนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ส่วนการทานผลิตภัณฑ์ยาจากต้นเซนท์จอห์นสเวิร์ท พร้อมกับยาในกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านเชื้อเอชไอวี ยาละลายลิ่มเลือด (เช่น ยี่ห้อ Warfarin) ยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการได้รับฮอร์โมนทดแทน ซึ่งหากคุณไม่แน่ใจ สามารถสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
- ปัจจุบัน สมาคมจิตแพทย์อเมริกันยังไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทานผลิตภัณฑ์ยาจากต้นเซนท์จอห์นสเวิร์ท เนื่องจากผลการทดสอบประสิทธิภาพยังไม่แน่ชัดเท่าที่ควร
- ศูนย์เภสัชกรรมทางเลือกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำเตือนให้ระมัดระวังในการใช้แนวทางรักษาแบบธรรมชาติบำบัดทุกประเภท โดยแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาหน่วยงานด้านสาธารณสุข ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาใดๆ เพื่อความปลอดภัยและเห็นผลที่ดี [34] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล
-
ผลิตภัณฑ์ยา SAMe. เอส-อะเดโนซิล เมไธโอนีน (s-adenosyl methionine) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า SAMe ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ . [35] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง SAMe เป็นโมเลกุลในร่างกายของคนเรา ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งหากมีระดับที่ต่ำลงเมื่อใด ก็ส่งผลให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้ โดยตัวยาดังกล่าวนี้ มีทั้งแบบรับประทาน แบบฉีดเข้าเส้นเลือด และแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- ไม่มีสูตรที่ตายตัวสำหรับการสกัดยา SAMe ส่วนประกอบและประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตแต่ละราย
- คุณควรอ่านคำแนะนำบนฉลากให้ละเอียด หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเหมือนเช่นเคย
-
ลองวิธีฝังเข็ม. การฝังเข็มเป็นศาสตร์ที่มาจากประเทศจีนในสมัยโบราณ โดยการใช้เข็มฝังไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อถ่ายเทพลังงานในร่างกายให้ไหลเวียนอย่างสมดุล [36] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง หากต้องการฝังเข็ม ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือหาข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ทางอินเตอร์เน็ท
- ตรวจสอบดูว่า ประกันด้านสุขภาพของคุณครอบคลุมการฝังเข็มหรือไม่
- ผลการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม แตกต่างกันไปในแต่ละราย [37] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การฝังเข็มมีส่วนทำให้โปรตีนปกป้องเซลล์ประสาททำงานเป็นปกติ ซึ่งก็มีผลคล้ายคลึงกับการทานยาโปรแซค (Prozac) นั่นเอง [38] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ระบุว่าการฝังเข็มมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรักษาด้วยแนวทางจิตบำบัด [39] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ถึงแม้ผลการศึกษาเหล่านี้ จะให้เครดิตแก่การฝังเข็มค่อนข้างมาก แต่ยังจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยต่อไป [40] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
-
ปรึกษานักบำบัดเกี่ยวกับการรักษาด้วยไฟฟ้า. Electroconvulsive therapy หรือ ECT คือการบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นร้ายแรง เพื่อป้องกันอาการที่อาจพัฒนาไปเป็นโรคจิตเภทต่างๆ รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ในการรักษาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ชนิดที่ไม่สามารถหายได้ด้วยการรักษาแบบอื่น [41] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Mayo Clinic ไปที่แหล่งข้อมูล การรักษาจะเริ่มด้วยการให้ยาสลบแบบอ่อนๆ ก่อนที่จะช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าจำนวนหลายครั้ง ตรงไปสู่สมองของผู้ป่วย
- ECT มีอัตราการตอบสนองมากที่สุด ในบรรดาวิธีการบำบัดเพื่อรักษาอารมณ์ซึมเศร้าทั้งหมด (ผู้ป่วย 70%-90% รักษาแล้วเห็นผล) [42] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ข้อจำกัดของการรักษาแบบ ECT มีทั้งความเข้าใจผิดของผู้ป่วย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านการรับรู้ (เช่น ความจำระยะสั้นขาดหาย) และการทำงานของระบบหลอดเลือดหัวใจ
-
รักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กกระตุ้นสมอง. การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก หรือ Transcranial magnetic stimulation (TMS) นั้น รักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยคอยล์แม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นเท่านั้น [43] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง , [44] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล
- การรักษาประเภทนี้ มักต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำทุกวัน จึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้ป่วยรายใดให้ความสนใจ
-
รักษาด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทสมอง. Vagus nerve stimulation หรือ VNS คือ การรักษาที่ค่อนข้างสมัยใหม่ โดยแพทย์จะทำการฝังอุปกรณ์ในตัวผู้ป่วย เพื่อทำการกระตุ้นการทำงานของ vagus nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทคู่หนึ่งที่อยู่ในสมอง หรือระบบประสาทอัตโนมัติ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นเท่านั้น [45] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง , [46] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล
- ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของของวิธีแบบ VNS ยังมีไม่ค่อยมาก แต่มีรายงานว่า การทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว มักไปขัดขวางการทำงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ [47] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง , [48] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล
-
รักษาด้วยวิธีกระตุ้นสมองส่วนลึก. Deep-brain stimulation หรือ DBS เป็นการรักษาที่ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น และยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา มันคือการรักษาด้วยการฝังอุปกรณ์พิเศษเข้าไปในผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า “Area 25.” [49] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล
- ผลการรักษาแบบ DBS ยังมีรายงานตีพิมพ์ค่อนข้างน้อย [50] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ National Institute of Mental Health ไปที่แหล่งข้อมูล ด้วยความที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข DBS จึงเป็นทางเลือกสำหรับการรักษา ในผู้ป่วยที่หมดหนทางรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วเท่านั้น
-
รักษาด้วยวิธีป้อนกลับทางประสาท. วิธีป้อนกลับทางประสาท หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า นิวโรฟี้ดแบ็ค (Neurofeedback) นั้น เน้นไปที่การ “ดัดนิสัย” หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานซ้ำๆ บางอย่าง ในสมองของผู้ป่วยนั่นเอง [51] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก หรือ functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI) มาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาแบบนิวโรฟี้ดแบ็ค
- วิธีรักษาแบบนิวโรฟี้ดแบ็ค มักต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และมีค่าใช้จ่ายสูง ประกันสุขภาพส่วนใหญ่ จึงไม่ครอบคลุมค่ารักษาด้วยวิธีการนี้
โฆษณา
เคล็ดลับ
- คุณอาจต้องผ่านการลองผิดลองถูกสักพัก กว่าที่จะพบเจอการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น หากการรักษาใน 2-3 ครั้งแรกยังไม่เห็นผล ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ขอให้ทดลองทางเลือกอื่นๆ ต่อไป ตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
โฆษณา
คำเตือน
- หากคุณหรือคนที่คุณรู้จัก มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายแล้วล่ะก็ กรุณาติดต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือโดยด่วน เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง อย่าคิดว่าความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือปล่อยไว้ให้หายเอง
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ http://www.nami.org/Content/NavigationMenu/Intranet/Homefront/Criteria_Major_D_Episode.pdf
- ↑ American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5).
- ↑ http://www.nami.org/Content/NavigationMenu/Intranet/Homefront/Criteria_Major_D_Episode.pdf
- ↑ Solomon, Andrew. The Noonday Demon.
- ↑ American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5).
- ↑ http://andrewsolomon.com/books/the-noonday-demon/
- ↑ Solomon, Andrew. The Noonday Demon
- ↑ American Psychiatric Association. The Diagnostic and Statistical Manual, 5th Edition (DSM-5).
- ↑ http://www.dsm5.org/Pages/Default.aspx
- ↑ http://www.div17.org/about-the-field-of-counseling-psychology/what-is-counseling-psychology/
- ↑ http://www.div17.org/about-the-field-of-counseling-psychology/counseling-vs-clinical/
- ↑ http://www.apa.org/news/press/releases/2014/06/prescribe-medications.aspx
- ↑ http://www.dmh.go.th/links/links.asp?catid=19
- ↑ www.psychiatry.or.th
- ↑ http://www.thaiclinicpsy.org
- ↑ http://www.nami.org/Template.cfm?Section=Health_Care_Reform
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/antidepressants/art-20046273
- ↑ http://abcnews.go.com/Health/MindMoodNews/story?id=6761204&page=1
- ↑ http://www.plosmedicine.org/article/info%3Adoi%2F10.1371%2Fjournal.pmed.1001403
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=1&ContentID=4552
- ↑ http://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=1&ContentID=4552
- ↑ http://bjp.rcpsych.org/content/195/5/408.long
- ↑ http://bjp.rcpsych.org/content/195/5/408.long
- ↑ http://dadun.unav.edu/bitstream/10171/4928/1/SUN%2028.pdf
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.apa.org/monitor/2011/12/exercise.aspx
- ↑ https://www.unm.edu/~lkravitz/Article%20folder/ExerciseMot.pdf
- ↑ http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2908269/
- ↑ http://www.nydailynews.com/life-style/health/nature-good-medicine-stress-depression-report-article-1.1496476
- ↑ http://psychcentral.com/library/depression_creativity.htm
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.scientificamerican.com/article/can-acupuncture-treat-depression/
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.scientificamerican.com/article/can-acupuncture-treat-depression/
- ↑ http://www.reuters.com/article/2013/09/24/us-acupuncture-depression-idUSBRE98N17420130924
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/electroconvulsive-therapy/basics/definition/prc-20014161
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://psychiatryonline.org/pb/assets/raw/sitewide/practice_guidelines/guidelines/mdd.pdf
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://www.nimh.nih.gov/health/topics/brain-stimulation-therapies/brain-stimulation-therapies.shtml
- ↑ http://www.isnr.net/neurofeedback-info/depression.cfm
โฆษณา