ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ใช่ว่าการทำร้ายจะต้องลงเอยด้วยรอยฟกช้ำดำเขียวเสมอไป การทำร้ายบางอย่างก็มาในรูปแบบของคำพูดที่พบได้บ่อยกว่าการทำร้ายร่างกาย แต่ก็สร้างบาดแผลไม่น้อยกว่าหรืออาจจะมากกว่าการทำร้ายร่างกายเสียด้วยซ้ำ การทำร้ายจิตใจส่งผลเชิงลบในระยะยาวต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย ถ้าคุณตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายจิตใจจากพ่อแม่ เราพบว่าวิธีที่ได้ผลมากที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือกำหนดขอบเขตให้ตัวเองและรักษาระยะห่างหากเป็นไปได้ นอกจากนี้การเล่าให้คนอื่นฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ยากลำบากที่คุณเผชิญอยู่ก็ช่วยได้เหมือนกัน เรียนรู้ทักษะการจัดการความเครียด และสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ก็สามารถช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ในทันทีและในระยะยาว

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

สังเกตการทำร้ายจิตใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรียนรู้ว่าการรู้ว่าถูกทำร้ายจิตใจสามารถช่วยคุณได้. เมื่อพ่อแม่ทำร้ายจิตใจเรา มันยากที่จะแยกความรู้สึกที่เกิดจากการถูกทำร้ายจิตใจออกจากการทำร้ายจิตใจเอง เช่น หากคุณไม่ได้ตระหนักว่าพ่อแม่กำลังทำร้ายจิตใจของคุณ คุณอาจเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเองเพราะคุณอาจนำคำดุด่าว่ากล่าวมาครุ่นคิดเก็บในใจ เตือนตัวเองไว้เสมอว่าเมื่อคุณเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะพฤติกรรมของการทำร้ายจิตใจได้แล้ว คุณสามารถเริ่มที่จะ:
    • ตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของคุณ
    • รักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างตัวคุณกับพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมทำร้ายจิตใจ
    • สามารถควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองของตนเองในสถานการณ์นั้นๆ
    • เข้าใจว่าเหตุใดพ่อแม่ถึงมีพฤติกรรมเช่นว่า และเข้าใจว่าพฤติกรรมของพวกเขามาจากตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่จากตัวคุณ
    • รับความช่วยเหลือเพื่อรับมือกับการทำร้ายจิตใจและเริ่มจะรู้สึกดีขึ้น
  2. การทำร้ายจิตใจอาจเกิดขึ้นในครอบครัวใดก็ได้ แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำร้ายเด็กทางจิตใจหรือทางร่างกาย เด็กที่พ่อแม่ติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด มีอาการเจ็บป่วยทางจิตที่ไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคไบโพลาร์หรือโรคซึมเศร้า หรือตอนเป็นเด็กเคยถูกทำร้ายมาก่อนก็จะมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายมากขึ้น [1]
    • พ่อแม่ที่ทำร้ายลูกหลายคนไม่รู้ว่าการกระทำของพวกเขาสร้างความเจ็บปวด พวกเขาอาจจะไม่รู้ว่ามีวิธีการเลี้ยงลูกที่ดีกว่านี้ หรือพวกเขาอาจจะนึกไม่ถึงว่าการใช้อารมณ์กับลูกถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่ง
    • แม้ว่าพ่อแม่ของคุณจะมีเจตนาที่ดี แต่พวกเขาก็อาจจะยังหยาบคายอยู่ดี
  3. สังเกตว่าพ่อแม่ฉีกหน้าหรือดูถูกคุณหรือเปล่า. คนที่ทำร้ายคนอื่นอาจจะพยายามทำเหมือนว่าเป็นแค่การพูดเล่นตลกๆ แต่การทำร้ายประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะ ถ้าพ่อแม่ของคุณมักจะล้อเลียนคุณ ทำให้คุณรู้สึกด้อยค่าต่อหน้าคนอื่น หรือไม่สนใจความคิดหรือความกังวลของคุณ ก็เท่ากับว่าคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีการทำร้ายทางจิตใจ [2]
    • เช่น ถ้าพ่อของคุณพูดว่า "แกนี่มันไม่เอาไหนจริงๆ ฉันบอกได้เลยว่านะว่าน้ำหน้าอย่างแกน่ะทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องหรอก" อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำร้ายทางคำพูด
    • พ่อแม่อาจจะทำอย่างนี้กับคุณตอนอยู่ด้วยกันตามลำพังหรือต่อหน้าคนอื่น ทำให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเอง

    เคล็ดลับ: การยั่วยุล้อเลียนกันนิดๆ หน่อยๆ ระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องปกติและยิ่งทำให้แน่นแฟ้นขึ้น อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่ทำให้คุณรู้สึกแย่หรือเรียกชื่อคุณและบอกให้คุณ “อย่าคิดมาก” หรือบอกว่ามันเป็นแค่ “มุกตลก” เวลาที่คุณเสียใจ พวกเขาได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งไปสู่การมีพฤติกรรมทำร้ายจิตใจแล้ว [3]

  4. พิจารณาว่าคุณมักรู้สึกว่าตัวเองถูกพ่อแม่ควบคุมหรือเปล่า. ถ้าพ่อแม่ของคุณพยายามที่จะควบคุมทุกเรื่องที่คุณทำแม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย โกรธเวลาที่คุณตัดสินใจเอง หรือไม่สนใจความสามารถและความเป็นอิสระของคุณ พฤติกรรมของพวกเขาถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่มีการทำร้ายเกิดขึ้น
    • คนที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายประเภทนี้มักจะปฏิบัติต่อเหยื่อในฐานะผู้ที่ด้อยกว่าที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เองหรือรับผิดชอบตัวเองได้ [4]
    • พ่อแม่อาจจะพยายามตัดสินใจให้คุณ เช่น แม่ของคุณอาจจะไปที่โรงเรียนแล้วถามครูแนะแนวเรื่องมหาวิทยาลัยที่คุณไม่ได้อยากเข้า
    • พ่อแม่ของคุณอาจจะรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าพวกเขาแค่กำลัง "เลี้ยงดูลูก" แต่นี่ถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่ง
  5. ถามตัวเองว่าคุณถูกกล่าวโทษหรือตำหนิเรื่องความผิดต่างๆ บ่อยไหม. คนที่ทำร้ายผู้อื่นบางคนตั้งความคาดหวังที่ไม่สามารถทำได้จริงให้กับเหยื่อ แต่กลับปฏิเสธที่จะยอมรับความผิดของตัวเอง คนที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายประเภทนี้อาจจะหาทางตำหนิคุณในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม รวมถึงเรื่องที่ไม่มีคนที่มีเหตุผลคนไหนจะตำหนิคุณด้วย พวกเขาอาจจะบอกว่าคุณเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเองและความรู้สึกของตัวเอง [5] นอกจากนี้พวกเขายังให้คุณรับผิดชอบต่ออารมณ์ของพวกเขาเป็นการส่วนตัวด้วย
    • เช่น ถ้าแม่โทษคุณที่คุณเกิดมาและทำให้เธอต้องทิ้งอาชีพนักร้องไป เธอกำลังกล่าวโทษคุณในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของคุณเลย
    • ถ้าพ่อแม่บอกว่าชีวิตแต่งงานของเขาพังทลาย "เพราะลูกๆ" นั่นถือเป็นการกล่าวโทษคุณในเรื่องที่พวกเขาไม่มีความสามารถมากพอที่จะรับมือเองได้
    • การกล่าวโทษคนอื่นในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำเป็นเทคนิคการทำร้ายอย่างหนึ่ง
  6. พ่อแม่ที่เหินห่างกับลูกและไม่ได้มอบความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่ลูกๆ ต้องการถือว่าพ่อแม่คนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายเด็กรูปแบบหนึ่ง
    • พ่อแม่ของคุณไม่สนใจคุณเวลาที่คุณทำให้พวกเขาไม่พอใจหรือเปล่า แทบจะไม่สนใจสิ่งที่คุณทำและอารมณ์ของคุณเลยใช่ไหม หรือพยายามทำเหมือนว่ามันเป็นความผิดของคุณเวลาที่พวกเขาเหินห่างกับคุณหรือเปล่า [6]
    • ความรักและความเอ็นดูไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องทำอะไรเพื่อแลกมา นั่นถือว่าเป็นการทำร้ายกันอย่างหนึ่ง
  7. ลองคิดดูว่าพ่อแม่ของคุณดูเหมือนจะเอาประโยชน์ของคุณเป็นที่ตั้งโดยแท้จริงหรือเปล่า. พ่อแม่บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ที่หลงตัวเอง อาจมองว่าคุณเป็นเพียงส่วนขยายของพวกเขาเท่านั้น พ่อแม่ประเภทนี้ไม่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ แม้พวกเขาจะเข้าใจว่าพวกเขาเอาประโยชน์ของคุณเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงก็ตาม
    • สัญญาณบางอย่างของพ่อแม่ที่หลงตัวเองคือ ไม่เคารพขอบเขตของคุณ พยายามบังคับให้คุณทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่า “ดีที่สุด” และไม่พอใจเวลาที่คุณไม่สามารถทำตามความคาดหวังที่เกินจริงที่พวกเขามีต่อคุณได้ [7]
    • นอกจากนี้พวกเขายังมักจะไม่สบายใจเอามากๆ เวลาที่คุณมีความสนใจและจะพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของพวกเขา
    • พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวของคุณอาจทำให้คุณรู้สึกผิดโดยการพูดอย่างเช่น "พ่อก็รู้แหละว่าลูกต้องไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ แต่พ่ออยู่คนเดียวพ่อก็เหงานะ ลูกทิ้งพ่อตลอดเลย" การทำให้รู้สึกผิดแบบนี้ก็ถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่ง
  8. รู้ว่าพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ปกติเป็นอย่างไร. เด็กและวัยรุ่นอาจทำผิดพลาดเป็นบางครั้ง และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการเป็นมนุษย์ ในช่วงเวลาที่คุณต้องการแนวทาง การสนับสนุน หรือระเบียบวินัย นั่นคือหน้าที่ที่พ่อแม่จะต้องเข้ามาดูแล คุณต้องแยกให้ออกว่าอะไรที่เป็นการกวดขันระเบียบวินัยตามธรรมชาติและอะไรที่เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายกัน
    • โดยทั่วไปคุณสามารถมองออกได้ว่า การเลี้ยงลูกแบบนี้เป็นการกวดขันระเบียบวินัยหรือเป็นการทำร้ายได้จากระดับความโกรธที่พ่อแม่คุณแสดงออกมา เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะโกรธหรือหงุดหงิดเวลาที่คุณทำในสิ่งที่ผิดกฎ
    • แต่ถ้าความโกรธนำไปสู่พฤติกรรมหรือการลงโทษ พ่อแม่ของคุณถือว่าอยู่ในเขตสุ่มเสี่ยงของการทำร้าย การทำร้ายมีทั้งคำพูดและการกระทำที่ทำอย่างหุนหันพลันแล่น โดยตั้งใจ และมีเจตนาทำร้าย [8]
    • แม้ว่าคุณจะไม่ชอบกฎระเบียบที่เคร่งครัด แต่ให้เข้าใจว่าพ่อแม่บังคับใช้แนวทางและตั้งผลที่ตามมาเพื่อปกป้องคุณและนำทางคุณไปสู่การพัฒนาเชิงบวก
    • อย่าใช้คำหยาบคาย ต่อให้พ่อแม่สบถคำหยาบใส่คุณ ก็ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องไปทำตาม
    • คุณอาจจะลองมองดูเพื่อนๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์เหล่านั้นเป็นอย่างไร การสนับสนุนและระเบียบวินัยแบบไหนที่เพื่อนๆ ได้จากพ่อแม่
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

ขอความช่วยเหลือ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การมีใครสักคนเป็นไหล่ไว้ให้ซบในสถานการณ์ที่คุณถูกทำร้ายนั้นสามารถสร้างความสบายใจให้กับคุณได้ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนที่คุณรักฟังและขอแรงสนับสนุนจากเขา พวกเขาอาจจะมีคำพูดเชิงบวก เข้าใจความรู้สึกของคุณ หรือให้คำแนะนำคุณได้ [9]
    • เช่น คุณอาจจะพูดว่า "ฉันรู้ว่าเรื่องนี้อาจทำให้นายตกใจนะ แต่ชีวิตครอบครัวของฉันไม่ค่อยโอเคเลย แม่ชอบดูถูกฉัน บอกว่าโตไปฉันน่ะไม่เจริญหรอก หลักๆ ก็เป็นเรื่องคำพูดนี่แหละ แต่มันทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง"
    • จำไว้ว่าการทำร้ายจิตใจมักเกี่ยวข้องกับการที่คนอื่นล้างสมองคุณให้เชื่อว่าไม่มีใครสนใจ เชื่อ หรือเป็นจริงเป็นจังกับคุณ แต่คุณจะประหลาดใจที่คุณได้รับแรงสนับสนุนมากมายหลังจากเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง

    เคล็ดลับ: ถ้าคุณไม่มีเพื่อนหรือญาติสนิท ลองแบ่งปันประสบการณ์ในแวดวงที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ อย่างตามกลุ่มให้ความช่วยเหลือที่ PsychCentral.com มองหากลุ่มที่บริหารโดยทีมผู้ดูแลซึ่งสามารถเข้าแทรกแซงเมื่อพวกเขาเห็นสัญญาณการทำร้ายจิตใจกันในกลุ่ม

  2. ถ้าคุณเป็นเด็กที่รับมือกับการทำร้ายไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามที่บ้าน ให้หันหาญาติ ครู พระ หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่คุณไว้ใจ อย่าให้พ่อแม่ที่ชอบทำร้ายคุณมาทำให้คุณกลัวที่จะบอกความลับนี้กับใคร ผู้ใหญ่สามารถแทรกแซงสถานการณ์ที่เด็กอาจจะไม่มีอำนาจได้ [10]
    • คุณอาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนหรืออายที่จะบอกผู้ใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มันจำเป็นมากๆ ที่คุณจะต้องบอกให้คนอื่นรู้ถ้าคุณถูกทำร้าย เริ่มด้วยการพูดประมาณว่า “ช่วงนี้ผมกำลังมีปัญหากับที่บ้านครับ ผมขอคุยเรื่องนี้ด้วยหน่อยได้ไหมครับ” [11] หรือคุณจะเขียนก็ได้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร หากวิธีนี้ทำให้คุณสบายใจมากกว่า
    • ถ้าคุณบอกครูหรือโค้ชแล้วแต่พวกเขาไม่ช่วย ให้หาตารางพบครูแนะแนวและบอกให้ครูคนนี้ทราบเรื่อง [12]
    • ถ้าคุณไม่อยากเล่าเรื่องที่คุณถูกทำร้ายให้ใครฟังแบบต่อหน้า คุณสามารถโทรไปที่เบอร์ 1387 ได้ มูลนิธิสายเด็กให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
  3. การทำร้ายจิตใจสร้างความเสียหายได้มากมาย หากไม่ได้รับการรักษา คุณก็จะเสี่ยงต่อการมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำมากขึ้น และคุณก็อาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ยาก การลบล้างความเชื่อเชิงลบและรูปแบบการคิดที่มีผลมาจากการถูกทำร้ายจิตใจอาจเป็นเรื่องยาก แต่ที่ปรึกษาหรือนักบำบัดสามารถทำให้กระบวนการนี้ง่ายขึ้นได้ [13]
    • หานักบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้าย ในระหว่างการบำบัดคุณจะได้เล่าประสบการณ์ของคุณเมื่อคุณเริ่มสบายใจที่จะคุยกับนักบำบัดแล้ว นักบำบัดจะถามคำถามและแสดงความเข้าใจที่จะช่วยเป็นแนวทางในการบำบัดของคุณ
    • เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีบริการให้คำปรึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและเก็บเป็นความลับอยู่แล้ว ถ้าคุณเป็นเด็ก ให้ไปหาครูแนะแนวแล้วบอกว่า "ที่บ้านหนูมีปัญหาค่ะ พ่อไม่เชิงว่าทุบตีหนูหรอกนะคะ แต่พ่อชอบล้อเลียนหนูแล้วก็ดูถูกหนูต่อหน้าคนอื่นๆ ในครอบครัว ครูช่วยหนูได้ไหมคะ"
    • ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ ให้เช็กว่าประกันสุขภาพของคุณครอบคลุมอะไรบ้าง
    • คุณสามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

รักษาระยะห่าง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อย่าอยู่แถวนั้นตอนที่พวกเขาเริ่มทำร้ายคุณ คุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ โทรหา ไปเยี่ยม หรือเอาตัวเองเข้าไปสู่การทำร้าย อย่าให้พ่อแม่ทำให้คุณรู้สึกผิดจนคิดว่าคุณจำเป็นต้องยอมรับการปฏิบัติที่ไม่ดี กำหนดขอบเขตให้ตัวเองและรักษาขอบเขตนั้น [14]
    • เลิกแวะไปหาหรือโทรหาถ้าพวกเขาทำร้ายคุณ
    • ถ้าคุณอยู่กับพ่อแม่ ให้กลับเข้าห้องหรือไม่ก็ไปบ้านเพื่อนถ้าพวกเขาตะคอกใส่คุณหรือดูถูกคุณ
    • กำหนดขอบเขตถ้าคุณยังติดต่อพ่อแม่อยู่ เช่น "หนูจะโทรหาแม่อาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าแม่พูดจาทำร้ายจิตใจหนู หนูก็จะวางสาย"
    • จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการโต้เถียงหากคุณไม่ต้องการ คุณไม่จำเป็นต้องตอบโต้สิ่งที่พ่อแม่พูดหรือพยายามปกป้องตัวเองทางใดทางหนึ่ง
  2. อย่าอยู่กับพ่อแม่ที่ชอบพูดจาทำร้ายจิตใจ และอย่าให้พวกเขามีอำนาจเหนือคุณ คนที่ทำร้ายคนอื่นมักจะพยายามรักษาการควบคุมเอาไว้ด้วยการสร้างการพึ่งพา หาเงินใช้เอง เลือกคบเพื่อนเอง และอยู่ด้วยตัวเอง อย่าพึ่งพาพ่อแม่ที่ทำร้ายคุณไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม
    • หากทำได้ให้เรียนหนังสือ หากคุณไม่สามารถกู้กยศ. ได้ด้วยเหตุผลเรื่องพ่อแม่ ให้มองหามหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมไม่แพงแทน เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
    • ย้ายออกมาทันทีที่คุณไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่เรื่องเงินแล้ว
    • ถ้าคุณไม่สามารถหาเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบได้โดยไม่อาศัยอยู่หรือพึ่งพาเรื่องเงินจากพ่อแม่ที่ทำร้ายคุณ คุณก็ต้องดูแลตัวเองและกำหนดขอบเขตขึ้นมา
  3. คุณอาจจะรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ของคุณทำร้ายคุณ คุณอาจจะรู้สึกเจ็บแปลบเมื่อต้องดูแลพ่อแม่ทั้งที่พวกเขาชอบทำร้ายจิตใจคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพฤติกรรมที่ทำร้ายกันนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ลองคิดเรื่องการตัดขาดกันไปถ้าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพ่อแม่มันเจ็บปวดมากกว่าที่จะเป็นความรัก [15]
    • คุณไม่ได้ติดหนี้การดูแลกับคนที่ทำร้ายคุณ
    • ถ้าสมาชิกในชุมชนไม่เข้าใจว่าทำไมคุณถึงตัดขาดจากพ่อแม่ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไร
    • ถ้าคุณตัดสินใจที่จะเป็นคนดูแลพ่อแม่ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ให้พูดคุยกันเฉพาะเรื่องการดูแลพวกเขาเท่านั้น ถ้าพวกเขาพูดทำร้ายจิตใจหรือดูถูกคุณ ให้ออกมาทันทีเพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คุณจะไม่ทนกับพฤติกรรมแบบนี้

    เคล็ดลับ: "การยุติ" ไม่อาจเกิดขึ้นในบทสนทนากับพ่อแม่ที่ชอบทำร้ายได้เสมอไป ถ้าคุณไม่อยากติดต่อแต่ก็กลัวจะพลาดโอกาสที่จะ "ยุติ" เรื่องนี้ ให้ถามตัวเองว่า: “พวกเขาเคยแสดงออกไหมว่าพวกเขายินดีที่จะรับฟัง พวกเขารับรู้ความรู้สึกของฉันหรือเปล่า” ถ้าไม่ การไม่ติดต่อไปเลยก็น่าจะดีกว่า

  4. อย่าให้ลูกๆ ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายแบบเดียวกับที่คุณเคยเจอมาก่อน ถ้าพ่อแม่ของคุณพูดจาวิพากษ์วิจารณ์หรือดูถูกลูกๆ ของคุณอย่างไม่เหมาะสม ให้เข้าไปขวาง จบบทสนทนาหรือไม่ก็เลิกไปเยี่ยม
    • คุณสามารถจบบทสนทนาได้ด้วยการพูดว่า "พวกหนูไม่พูดจาแบบนี้กับโอ๊ต ถ้าแม่มีปัญหาเรื่องการกินของโอ๊ต แม่มาคุยกับหนูได้นะคะ" แม้ว่าบทสนทนาของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ควรเกิดขึ้นในสถานที่ที่อยู่กันตามลำพัง แต่คุณต้องทำให้ลูกเห็นและได้ยินคุณปกป้องเขาในกรณีที่เป็นการทำร้าย
    • ลูกๆ ของคุณน่าจะมีวัยเด็กที่มีความสุขมากกว่าหากพวกเขาไม่ตกเป็นเหยื่อการถูกทำร้ายจากปู่ย่าตายายของพวกเขา
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ดูแลตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจจะรู้อยู่แล้วว่า 'สิ่งกระตุ้น' (สิ่งที่เป็นคำพูดหรือการกระทำ) ที่ทำให้พ่อแม่คุณของขึ้นนั้นคืออะไร ถ้าคุณรู้ว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้น คุณก็อาจจะเลี่ยงหรือออกมาจากตรงได้ทันเพื่อเลี่ยงการถูกทำร้ายได้ง่ายขึ้น วิธีหนึ่งที่จะเลี่ยงสิ่งกระตุ้นได้ก็คือ คุยกับเพื่อนหรือเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อที่คุณจะได้สามารถระบุปัจจัยที่นำไปสู่การทำร้ายของพวกเขาได้
    • เช่น ถ้าแม่คุณตะคอกใส่คุณทุกครั้งที่เธอดื่ม พยายามออกจากบ้านทันทีที่คุณเห็นเธออยู่กับขวดเหล้า
    • ถ้าพ่อของคุณพยายามลดทอนคุณค่าความสำเร็จของคุณเวลาที่คุณประสบความสำเร็จ อย่าเล่าเรื่องความสำเร็จของคุณให้พ่อฟัง แต่ให้เล่าให้คนที่สนับสนุนคุณฟังแทน

    เคล็ดลับ: คุณอาจสังเกตว่าการกระทำหรือคำพูดบางอย่างของคุณกระตุ้นพฤติกรรมทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ขึ้นมา ให้ตระหนักว่าพฤติกรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ความผิดของคุณอยู่ดี ไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายจิตใจ และพฤติกรรมของพ่อแม่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม

  2. หาที่ (เช่นห้องนอนของคุณ) ที่สามารถใช้เป็นที่หลบภัยได้ หาที่อื่นๆ ไว้อยู่ ทำงานให้เสร็จ และใช้เวลาของตัวเอง เช่น ห้องสมุดหรือบ้านเพื่อน นอกจากคุณจะได้รับแรงสนับสนุนจากเพื่อนๆ ในเวลานี้แล้ว คุณยังได้อยู่ห่างจากการกล่าวโทษและการดูถูกเหยียดหยามจากพ่อแม่ด้วย
    • แม้ว่าการปกป้องตัวเองจากผู้ที่ทำร้ายคุณจะถือว่าเป็นเรื่องชาญฉลาด แต่คุณก็ต้องตระหนักว่ามันไม่ใช่ความผิดของคุณที่คุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ไม่ว่าคุณจะพูดหรือทำอะไร พ่อแม่ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายจิตใจคุณได้
  3. แค่เพราะว่าการทำร้ายนั้นไม่ใช่การทำร้ายร่างกายก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหนักข้อขึ้นไม่ได้ สร้างแผนการเพื่อรักษาตัวเองให้ปลอดภัยในกรณีที่การทำร้ายของพ่อแม่กลายเป็นการทำร้ายร่างกาย และคุณรู้ว่าชีวิตของคุณกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
    • แผนการเพื่อความปลอดภัยคือการมีสถานที่ที่ปลอดภัยให้คุณไป มีคนที่คุณโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ และรู้ว่าจะต้องดำเนินคดีทางกฎหมายกับพ่อแม่อย่างไรถ้ามันถึงจุดนั้น คุณอาจจะนั่งวางแผนกับผู้ใหญ่อีกคน เช่น ครูแนะแนว เพื่อวางแผนที่จะช่วยให้คุณรู้สึกว่าได้เตรียมรับมือในกรณีที่เกิดวิกฤติไว้แล้ว [16]
    • แผนการเพื่อความปลอดภัยอาจรวมถึงการไม่ลืมชาร์จแบตมือถือและเก็บไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา และมีกุญแจรถติดตัวไว้ด้วย
  4. ความภาคภูมิใจในตนเองที่ดีคือยาถอนพิษการถูกทำร้ายจิตใจที่ดีที่สุด แต่โชคร้ายที่คนที่เคยถูกทำร้ายจิตใจมักจะมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับตนเอง และมักจะพบว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับคนที่ชอบทำร้ายจิตใจคนอื่น ในการต่อสู้กับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำนั้น ให้คุณใช้เวลากับเพื่อนๆ สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ทำร้ายคุณ และคนที่ทำให้คุณเข้มแข็งขึ้นแทนที่จะเป็นคนที่คอยแต่จะทำร้ายจิตใจคุณ [17]
    • นอกจากนี้คุณยังสามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเองได้ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมที่คุณทำได้ดี เข้าร่วมกีฬาหรือกลุ่มเยาวชนที่โรงเรียนหรือในชุมชนของคุณ วิธีนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากคุณจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นแล้ว คุณยังได้ออกจากบ้านบ่อยขึ้นด้วย
  5. คุณมีสิทธิ์ที่จะกำหนดขอบเขตในความสัมพันธ์ของคุณ ถ้าคุณรู้สึกปลอดภัยที่จะทำ ให้จับเข่าคุยกับพ่อแม่ที่ชอบพูดจาทำร้ายจิตใจคุณและบอกพวกเขาว่า พฤติกรรมแบบไหนที่คุณสบายใจและแบบไหนที่คุณไม่สบายใจ [18]
    • เวลาที่คุณอธิบายขอบเขตของคุณ ให้ตัดสินใจว่าคุณจะทำอะไรถ้าพ่อแม่เพิกเฉยต่อขอบเขตของคุณ คนที่ชอบทำร้ายคนอื่นบางประเภทก็ไม่เคารพขอบเขตส่วนตัวของคุณ ซึ่งถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับคุณ อย่ารู้สึกผิดที่จะทำตามเงื่อนไขที่คุณตั้งเอาไว้ [19] คุณต้องทำตามเงื่อนไขที่ตั้งเอาไว้ เพราะการข่มขู่แบบลอยๆ มีแต่จะทำลายความน่าเชื่อถือของคุณที่มีต่อผู้ที่ทำร้าย
    • เช่น คุณอาจจะพูดว่า “แม่คะ ถ้าแม่เมากลับบ้านและเริ่มทำร้ายหนูอีก หนูจะไปอยู่กับยาย หนูอยากอยู่กับแม่นะคะ แต่พฤติกรรมของแม่ทำให้หนูกลัว”
  6. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การทำร้ายทางจิตใจนั้นสร้างความเครียดมากมายมหาศาล และบางครั้งก็เป็นสาเหตุของปัญหาระยะยาวอย่างความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจและอาการซึมเศร้าด้วย สร้างคลังอาวุธที่จะช่วยให้คุณจัดการความเครียดนี้ได้ด้วยกิจกรรมเชิงบวก
  7. ระบุและให้ความสำคัญกับลักษณะเชิงบวกของตัวเอง. ไม่ว่าพ่อแม่ที่ชอบทำร้ายจิตใจของคุณจะเคยพูดว่าอะไร คุณก็คือคนที่มีคุณค่าพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดี อย่าฟังคำดูถูกและคำเยาะเย้ยของพวกเขา คุณอาจจะต้องใช้เวลาคิดเรื่องนี้สักพัก แต่คุณต้องสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและบ่มเพาะความรักในใจของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้รับสิ่งนี้จากพ่อแม่
    • พิจารณาว่าคุณชอบอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง คุณเป็นผู้ฟังที่ดีไหม มีน้ำใจหรือเปล่า ฉลาดไหม สนใจสิ่งที่คุณชอบเกี่ยวกับตัวเอง และเตือนตัวเองว่าคุณมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก การให้เกียรติ และการดูแลเอาใจใส่ [21]
    • อย่าลืมเข้าร่วมกิจกรรมที่คุณหลงใหลและ/หรือทำได้ดี เพื่อช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเองและความมั่นใจ
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 95,318 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา