ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

คุณเคยได้ยินคนพูดถึงแบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI และสงสัยว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบไหนหรือไม่ ระบบตัวชี้วัดของไมเออร์ส-บริกส์ (MBTI) จะวิเคราะห์องค์ประกอบ 4 ด้านในบุคลิกภาพของคุณ จากนั้นจะแบ่งประเภทของคุณตามบุคลิกภาพที่มีทั้งหมด 16 ประเภท แบบทดสอบ MBTI นั้นใช้งานง่ายและบางเวอร์ชันก็บอกผลลัพธ์ทันที ถ้าคุณพร้อมเรียนรู้แล้วว่าคุณมีบุคลิกภาพประเภทใดตาม MBTI คุณมาถูกที่แล้ว อ่านบทความต่อไปเพื่อเรียนรู้ทุกสิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับแบบทดสอบตัวชี้วัดของไมเออร์ส-บริกส์ (MBTI) วิธีการทำแบบทดสอบ และวิธีการแปลผลลัพธ์ที่ได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เข้าใจประเภทบุคลิกภาพของคุณผ่านการแบ่งขั้วตรงข้าม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    รู้ว่าตัวเองเป็นคนเก็บตัว (Introvert) หรือคนชอบเข้าสังคม (Extrovert) . [1] ขั้วตรงข้ามนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณ เข้าสังคม ได้ดีแค่ไหน (ซึ่งมักเป็นสิ่งที่คนเชื่อมโยงกับสองคำนี้) เท่ากับแนวโน้มพฤติกรรมของคุณ เวลาที่คุณแก้ปัญหา คุณมองหาคำตอบจากภายในเพื่อแก้ไขปัญหาหรือมองหาจากภายนอก
    • คนชอบเข้าสังคม รู้สึกว่ากิจกรรมทางสังคมช่วยให้พวกเขารู้สึกมีพลัง พวกเขามักจะชอบเข้าสังคมเป็นกลุ่มและชอบความตื่นเต้นในงานปาร์ตี้ แม้ว่าพวกเขาจะชอบอยู่คนเดียวบ้างเหมือนกัน แต่การใช้เวลาท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบมากเกินไปจะทำให้รู้สึกเบื่อ
    • คนเก็บตัว รู้สึกมีพลังเมื่อได้อยู่เงียบๆ แม้ว่าพวกเขาจะชอบเข้าสังคม (เป็นกลุ่มก็ได้) แต่การอยู่คนเดียวหรือใช้เวลากับคนพิเศษตามลำพังจะช่วยเติมพลังให้เขา พวกเขาชอบบรรยากาศที่เงียบสงบมากกว่า

    รู้หรือไม่ ความขี้อายไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าใครเป็นคนเก็บตัวหรือคนชอบเข้าสังคมเสมอไป คนชอบเข้าสังคมบางคนขี้อายและคนเก็บตัวบางคนก็ร่าเริง ถ้าไม่แน่ใจ ให้คิดว่าอะไรที่ช่วยเติมพลังให้คุณ และอะไรที่ทำให้คุณหมดพลัง (แม้ว่ามันจะสนุกก็ตาม)

  2. 2
    ลองนึกว่าคุณรวบรวมข้อมูลอย่างไร. คุณรับรู้ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส (Sensing) หรือสัญชาตญาณ (Intuition) คนที่ใช้ประสาทสัมผัสจะวิเคราะห์ต้นไม้ ส่วนคนที่ใช้สัญชาตญาณจะพิจารณาป่า [2] คนที่ใช้ประสาทสัมผัสมักจะคิดถึงคำถามที่ขึ้นต้นว่า "อะไร" ในขณะที่คนที่ใช้สัญชาตญาณมักจะสงสัยว่า "ทำไม"
    • คนที่ใช้ ประสาทสัมผัส จะชอบรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมมากกว่า และพวกเขาจะสนใจสิ่งที่เป็นปัจจุบัน พวกเขามักจะบอกว่า "ฉันไม่เชื่อจนกว่าจะได้เห็นด้วยตาของตัวเอง" พวกเขามักจะไม่เชื่อลางสังหรณ์หรือการคาดเดาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะ การสังเกต หรือข้อเท็จจริง พวกเขาจะเป็นคนละเอียดมากกว่า และรู้แน่ชัดด้วยว่าตัวเองต้องการอะไร
    • คนที่ใช้ สัญชาตญาณ ชอบความคิดนามธรรมและทฤษฎี พวกเขามักจะมีจินตนาการที่ไร้ขอบเขตมากกว่าและชอบคิดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ความคิดของพวกเขาจะวนเวียนกับรูปแบบ การเชื่อมโยง และสิ่งที่พวกเขาเข้าใจโดยไม่ทันตั้งตัว พวกเขามักจะฝันกลางวันและลืมรายละเอียดในชีวิตประจำวัน (เช่น ลืมกินข้าวเมื่อจดจ่อกับโปรเจกต์)
  3. 3
    ดูจากวิธีการตัดสินใจ. หลังจากรวบรวมข้อมูลแล้วไม่ว่าจะด้วยประสาทสัมผัสหรือความรู้สึก คุณใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างไร [3] ซึ่งมักจะแบ่งเป็นใช้ "ความรู้สึก (Feeling)" (ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความเป็นอยู่ของผู้คน) กับใช้ "ความคิด (Thinking)" (ให้ความสำคัญกับตรรกะและความเป็นจริง)
    • คนที่ใช้ ความรู้สึก พยายามจะมองปัญหาจากมุมมองของทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สมดุลและประนีประนอมมากที่สุด (เช่น ได้มติเป็นเอกฉันท์) ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเครียดมาก
    • คนที่ใช้ ความคิด มักจะมองหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สมเหตุสมผลและมั่นคงที่สุด อาจจะใช้การเปรียบเทียบกับชุดกฎเกณฑ์หรือสมมุติฐาน

    เคล็ดลับ : จำไว้ว่าคนทั้งสองประเภทสามารถหาจุดสมดุลและมีเหตุผลได้ทั้งคู่ คนที่ใช้ความรู้สึกสามารถเข้าใจตรรกะ และคนที่ใช้ความคิดก็สามารถใส่ความรู้สึกของคนเข้าไปในตรรกะได้ คนทั้งสองประเภทสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ที่รุนแรงและตัดสินใจแบบไม่คิดได้เหมือนกัน และคนทั้งสองประเภทนี้ก็มีคุณค่าทั้งคู่

  4. 4
    คิดถึงวิธีการที่คุณเชื่อมโยงกับโลกภายนอก. [4] คุณมักจะพูดถึงการคาดคะเนหรือการรับรู้มากกว่ากัน [5]
    • คนที่ใช้ การคาดคะเน มักจะตัดสินใจเด็ดขาดและมีระเบียบแบบแผน พวกเขาชอบหาวิธีแก้ไขปัญหาและยินดีที่จะอธิบายที่มาที่ไป พวกเขามักจะชอบวางแผน เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ และชอบทำงานให้เสร็จก่อนกำหนด
    • คนที่ใช้ การรับรู้ จะไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ชอบเปิดช่องว่างเอาไว้และสังเกตการณ์ไปเรื่อยๆ พวกเขาจะตัดสินใจช้าโดยเฉพาะเรื่องสำคัญ พวกเขามักจะ "ดูก่อน" เผื่อว่ามีเหตุผลให้ต้องเปลี่ยนใจ พวกเขาอาจจะรวมการทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจเป็นก้อนเดียวกัน และมักจะมีปัญหาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งมากกว่า
  5. 5
    ใช้การแบ่งขั้วตรงข้าม (ตามตัวอักษรต่างๆ) เพื่อระบุตัวย่อของบุคลิกภาพ. ซึ่งจะรวมกันเป็น 4 ตัวอักษร เช่น INTJ หรือ ENFP
    • ตัวอักษรแรกคือ I (คนเก็บตัว) หรือ E (คนชอบเข้าสังคม)
    • ตัวที่สองคือ S (ใช้ประสาทสัมผัส) หรือ N (ใช้สัญชาตญาณ)
    • ตัวที่สามคือ T (ใช้ความคิด) หรือ F (ใช้ความรู้สึก)
    • ตัวที่สี่คือ J (ใช้การคาดคะเน) หรือ P (ใช้การรับรู้)
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ทำแบบทดสอบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ลองทำแบบทดสอบออนไลน์ฟรีสัก 1-2 ชุด. พิมพ์คำว่า "แบบทดสอบ mbti ฟรี" ในเสิร์ชเอ็นจิน แล้วคุณจะเจอแบบทดสอบฟรีมากมายให้ลองทำ คลิกเพื่อตอบคำถามและคุณก็จะได้ผลลัพธ์
    • ถ้าคุณอยู่กึ่งกลางระหว่างประเภทใดประเภทหนึ่งหรือมากกว่า แบบทดสอบแต่ละชุดก็อาจจะให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการใช้คำในแบบทดสอบหรืออารมณ์ของคุณในวันนั้น
    • จำไว้ว่าคุณต้องตอบคำถามจากพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากให้ตัวเอง (หรือคนอื่นอยากให้คุณ) รู้สึกหรือทำ
  2. 2
    ทำแบบทดสอบ MBTI ฉบับทางการหากคุณต้องการรายละเอียดที่แม่นยำขึ้น. ถ้าคุณไม่มั่นใจในคุณภาพของแบบทดสอบออนไลน์ คุณอาจจะทำแบบทดสอบ MBTI ที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาหรือแม้แต่ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ บริษัทกว่า 10,000 แห่ง วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 2,500 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐกว่า 200 แห่งใช้แบบทดสอบเพื่อทำความเข้าใจพนักงานและนักศึกษา [6]
  3. 3
    ค้นหาข้อมูลประเภทบุคลิกภาพของคุณ. ข้อมูลออนไลน์อาจช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้ว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร และจุดไหนที่ต้องพัฒนาต่อ และยังช่วยให้คุณเข้าใจว่า "การใช้ประสาทสัมผัส" หรือ "การรับรู้" จริงๆ แล้ว มีความหมายว่าอะไร และแต่ละบุคลิกภาพก็จะมีชื่อเรียก เช่น "ผู้ให้" หรือ "ครู" เป็นต้น [7] [8]
    • ข้อมูลฉบับเต็มจะพูดถึงบุคลิกภาพแต่ละประเภทในแง่มุมต่างๆ เช่น การทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่ามันจะไม่ได้ครอบคลุมทุกแง่มุม และไม่ใช่ว่าทุกแง่มุมจะตรงกับคุณ แต่คุณอาจนำข้อมูลบางอย่างไปใช้ประโยชน์ได้
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

นำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    นำประเภทของบุคลิกภาพมาใช้ประโยชน์. เมื่อคุณรู้แล้วว่าบุคลิกภาพของคุณจัดอยู่ในประเภทไหน คุณก็จะเริ่มเข้าใจว่าคุณจะดำเนินชีวิตท่ามกลางโลกรอบตัวคุณได้อย่างไร ถ้าคุณเป็น INTJ และเป็นพนักงานขาย คุณก็อาจจะทบทวนเส้นทางการทำงานใหม่ก็ได้! แบบทดสอบนี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หลากหลายแง่มุม [9]
    • การเรียน : คุณรับและทำความเข้าใจข้อเท็จจริงและแนวคิดอย่างไร
    • ความสัมพันธ์ : คุณสมบัติอะไรที่คุณมองหาในตัวคนรัก คุณเข้ากับคนลักษณะไหนได้ดีที่สุด
    • การเติบโตส่วนบุคคล : แง่มุมที่ดีด้านไหนที่คุณสามารถนำไปต่อยอดได้ และแง่มุมไหนที่เป็นจุดอ่อนที่คุณต้องพัฒนา
  2. 2
    รู้ว่าบุคลิกภาพทุกประเภทมีคุณค่าเท่าเทียมกัน. ไม่มีบุคลิกภาพประเภทไหนที่เหนือกว่าประเภทอื่น ตัวชี้วัด MBTI พยายามที่จะระบุแนวโน้มตามธรรมชาติ ไม่ใช่ความสามารถ เวลาที่ประเมินประเภทของตัวเอง ให้มองจากมุมของสิ่งที่คุณ มัก จะทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดว่าตัวเอง ควร ทำ การรู้จักแนวโน้มของตัวเองจะนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง [10]
    • MBTI ให้ข้อมูลลักษณะที่เป็นจุดเด่น แต่ไม่ใช่ความสามารถ เช่น คนที่ใช้ความรู้สึกก็เป็นคนเฉลียวฉลาดได้ คนที่ใช้การคาดคะเนก็ไม่จำเป็นต้องชอบตัดสินคนอื่นเสมอไป และคนที่ใช้ความคิดก็อาจเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ได้เช่นกัน
  3. 3
    ถามคนอื่นว่าเขามีบุคลิกภาพประเภทไหน. การพูดคุยเรื่องประเภทของบุคลิกภาพเป็นเรื่องที่น่าสนใจและอาจทำให้คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับคนที่คุณรู้จัก แบบทดสอบนี้ค่อนข้างแพร่หลาย และในแต่ละปีก็มีผู้ทำแบบทดสอบหลายล้านคน [6] ถามคนอื่นว่าเขาเคยทำแบบทดสอบไหม มันอาจช่วยให้คุณเชื่อมโยงและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้มากขึ้น
    • คุณสามารถเรียนรู้ได้จากทั้งคนที่แตกต่างจากคุณมากๆ และคนที่เหมือนกับคุณ
  4. 4
    อย่าเหมารวม. อย่าทึกทักว่าตัวเองรู้ประเภทบุคลิกภาพของคนอื่นจากสิ่งที่คุณเห็นหรือพฤติกรรมของเขาในวันใดวันหนึ่ง และต่อให้คุณรู้ว่าเขามีบุคลิกภาพประเภทไหน ก็อย่านำมาเป็นข้ออ้างให้คุณสมบัติเชิงลบหรือแก้ตัวให้กับพฤติกรรมที่ไม่ดี คุณสามารถใช้ประเภทของบุคลิกภาพช่วยให้คุณเข้าใจและสื่อสารกับอีกฝ่ายให้ดีขึ้น แต่อย่านำมาใช้เพื่อตีกรอบพวกเขา
    • อย่าใช้สถิติประชากร เช่น เพศหรือความพิการ ในการสันนิษฐานบุคลิกภาพ เช่น ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่ใช้ความคิด และคนที่เป็นออทิสติกก็ไม่ได้เป็นคนเก็บตัวที่ใช้สัญชาตญาณเสมอไป
    • อย่าวิจารณ์ประเภทบุคลิกภาพของคนอื่นในทางลบ ถ้าคุณไม่พอใจพฤติกรรมของเขา ให้บอกว่านั่นคือพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ใช่ความล้มเหลวอันเนื่องมาจากบุคลิกภาพที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น คนที่ใช้ความคิดอาจและควรเรียนรู้ที่จะเคารพความรู้สึกของคนอื่น และคนที่ใช้การรับรู้ก็อาจและควรเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบเรื่องของตนเอง
    • อย่ามองว่าจุดอ่อนที่มักเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพของคุณจะเป็นสิ่งตายตัว คุณสามารถเรียนรู้และเติบโตได้
  5. 5
    จำไว้ว่าแบบทดสอบหนึ่งชุดไม่ได้นิยามคุณทั้งชีวิต. แบบทดสอบให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการมองโลกและแนวโน้มของคุณในบางแง่มุม แต่ตัวตนของคุณยังมีแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายที่แบบทดสอบไม่ครอบคลุม ผลลัพธ์ไม่ได้ตีกรอบคุณ แค่ให้ข้อมูลคุณเล็กน้อยเท่านั้น
    • ความหลากหลายในบุคลิกภาพนั้นมีอีกมากมายเกินกว่าจะผสมกันได้แค่ 16 ประเภท ตัวอักษรเหล่านี้ให้ข้อมูลแค่บางแง่มุมในตัวตนของคุณเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกแง่มุมแน่นอน
    • บุคลิกภาพของคุณไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว บางครั้งคุณอาจจะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำแบบทดสอบไหนหรือว่าอารมณ์ของคุณเป็นอย่างไร นอกจากนี้บางคนยังพบว่าบุคลิกภาพของตัวเองเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไปด้วย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ในชุมชน MBTI คนจะไม่ค่อยใช้การแบ่งขั้วตรงข้าม เพราะฉะนั้นอย่าลืมศึกษาแบบจำลองฟังก์ชัน เช่น INTP = Ti-Ne-Si-Fe เพิ่มเติม
  • ถ้าคุณไม่สามารถระบุแนวโน้มของตัวเองได้ พยายามนึกภาพว่าตัวเองจะตอบอะไรตอนที่อายุน้อยกว่านี้ เช่น ตอนที่คุณยังอายุไม่ถึง 12 ปี แนวคิดคือการค้นหาแนวโน้มตามธรรมชาติของคุณก่อนที่คุณจะ เรียนรู้ ที่จะประพฤติตัวหรือตอบสนองในรูปแบบต่างๆ และให้ "การเลี้ยงดู" เข้ามาแทนที่เมื่อ "ธรรมชาติ" หายไป [11]
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าใช้ประเภทบุคลิกภาพของคุณเป็นข้ออ้างให้กับพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบหรือไม่น่ารัก การเป็นคนที่ใช้การรับรู้ไม่ใช่ข้ออ้างในการปฏิเสธความรับผิดชอบส่วนของตัวเองในงานกลุ่ม และการเป็นคนที่ใช้ความคิดหรือเป็นคนเก็บตัวก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะหยาบคายใส่คนอื่น พยายามเป็นคนที่น่ารักและเคารพผู้อื่นอยู่เสมอ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 2,999 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา