ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

หมาก็เหมือนคน ถ้าเป็นภูมิแพ้หรือมีอาการแพ้ ถึงจะรักษาไม่ได้หายขาดแต่ก็มีวิธีดูแลควบคุมได้ ร่างกายของหมานั้นจะไวต่อบางอย่างมาก อาการที่แสดงออกมาก็คือคันแล้วเกา สิ่งที่หมาอาจแพ้ก็เช่น อาหาร หมัดกัด หญ้าหรือเกสรรอบๆ บ้าน ไปจนถึงผื่นแพ้สัมผัสจากสารต่างๆ เช่น น้ำยาซักผ้า หรือละอองฟาง ขั้นแรกคือต้องหาสาเหตุที่ทำให้หมาคันคะเยอจนเกาแกรกๆ และกัดบริเวณที่แพ้ซะก่อน คุณต้องช่วยสัตวแพทย์อีกแรงในการตามหาสาเหตุ แล้วเดี๋ยวคุณหมอจะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้เอง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

จับตาดูอาการคัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หมาเกาจุดไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า? หมาเลียเท้า ใต้หาง หรือแถวหน้าท้องไหม?
    • จุดที่มักเกิดอาการระคายเคือง ก็คือบริเวณหลังและหาง หน้าท้อง และตามขากับอุ้งตีน
  2. ส่วนใหญ่หมาจะคันมากจนต้องเกาแรงๆ หรือใช้ฟันขบๆ กัดๆ จนผิวเกิด “hot spot” รอยโรคบนผิวหนัง (skin lesion) นี้เกิดได้ในชั่วข้ามคืน แถมลามใหญ่ขึ้นเร็วมาก ผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นสีชมพู ฉ่ำ ร้อน และเจ็บมากสำหรับหมา บางทีก็มีอะไรเหนียวๆ เยิ้มออกมาจากแผลด้วย ถือเป็นแผลเปิดติดเชื้อ ต้องพาไปหาหมอจะได้สบายตัวขึ้น
    • ถ้าคันเรื้อรัง อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นแข็งและหนาขึ้น จนดูเหมือนหนังช้าง
    • hot spot มักเกิดจากการแพ้หมัด อาหาร หญ้า รา หรืออื่นๆ ในสภาพแวดล้อม รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) หรือโรคคุชชิง (Cushing’s disease หรือ hyperadrenocorticism คือภาวะฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตทำงานมากเกิน) การติดเชื้อรา (เชื้อรา malassezia) และแบคทีเรียแบบทุติยภูมิจะไม่ค่อยพบบ่อย ซึ่งถ้าเกิดก็ต้องได้รับการรักษาให้ตรงจุด [1]
  3. อาจจะมีบางช่วงของปีที่หมาคันคะเยอเป็นพิเศษ หรือหมาเริ่มคันหลังไปคลุกหญ้าหรือกินอะไรมา ถ้าจับทางได้ ก็จะตีวงแคบจนเจอสาเหตุที่แท้จริง คุณหมอจะได้รักษาถูกจุด [2]
  4. ถ้าหมาเริ่มกลิ่นตัวแรง กินน้ำบ่อยผิดปกติ หรือดูไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเดิม ควรพาไปตรวจร่างกายกับคุณหมอ คุณหมอจะตรวจเลือดและทดสอบตัวอย่างที่ป้ายมาจากผิวหนังจนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม จะได้หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
  5. พอสังเกตเห็นว่าหมาเกาบ่อยผิดปกติ ให้จดบันทึกไว้พร้อมรายละเอียด เช่น หมาอยู่ที่ไหน ไปไหนมา กินอะไรไป และเกาตรงไหน ข้อมูลพวกนี้จะช่วยคุณหมอได้มาก ในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่น่าจะทำให้หมาเกิดอาการคันและรอยโรคบนผิวหนัง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

สำรวจหาปรสิต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ส่วนใหญ่ที่หมาคันก็เพราะหมัดนี่แหละ หมัดชอบที่อุ่นชื้น (35°C หรือ 95°F) สุดๆ บางทีก็เจอหมัดบนตัวหมา แต่บางทีเจอแต่พฤติกรรมที่หมาชอบขบกัดหรือเกาตามตัว หมัดนั้นไวมาก แถมกระโดดสูง เพราะงั้นเราต้องลงมือไวกว่า คุณจะพบหมัดได้ตามข้อพับขาทั้งหน้าหลัง จะเห็นเป็นตัวแบนๆ สีเข้ม (เกือบดำ) [3]
    • ดูว่าหูหมามีรอยเกา ปื้นแดง มีเลือด หรือเศษดิน (ขี้หมัด) ไหม รวมถึงดูว่าแถวท้อง ขาหนีบ หรือโคนหาง มีตุ่มแดงๆ หรือเปล่า
    • วิธีหาหมัดง่ายๆ คือให้หมายืนบนผ้าขาวหรือกระดาษที่ปูรองไว้ แล้วสางขน ขี้หมัดจะตกลงมา เห็นชัดอย่าบอกใคร
  2. sarcoptic mange ( Sarcoptes scabiei ) หรือขี้เรื้อนแห้งเกิดจากไรที่เป็นปรสิตภายนอก ปกติไรจะอยู่ตามผิวหนังที่ไม่ค่อยมีขนปกคลุม เช่น ใบหู ข้อศอก แล้วก็ท้อง เพราะงั้นผิวหนังบริเวณนั้นของหมามักจะแดง แห้งแข็ง [4] ขี้เรื้อนแห้งเป็นแล้วจะทิ้งรอยโรคบนผิวหนังชัดเจน หมาจะทรมานมาก เพราะไรทำให้เกิดอาการคันรุนแรง [5]
    • ขี้เรื้อนแห้งติดต่อได้ทั้งคนและหมา แถมติดต่อได้ง่ายมาก
    • สัตวแพทย์จะวินิจฉัยขี้เรื้อนแห้งโดยเก็บตัวอย่างผิวหนังของหมามาตรวจ
  3. สำรวจหาไรขน (cheyletiellosis) หรืออีกชื่อคือรังแคเดินได้. เป็นโรคที่เกิดจากไร Cheyletiella ที่กินผิวหนังชั้นบนเป็นอาหาร นอกจากเกาแหลกแล้ว ผิวของหมายังแห้งแข็งอีกด้วย รวมถึงขนร่วง เกิดรังแค และรอยโรคบนหลัง [6]
    • ที่บางทีเรียก "walking dandruff" หรือรังแคเดินได้ เพราะไรขยับไปไหนจะดันตัวใต้เกล็ดบนผิวหนัง ทำให้ดูเหมือนเกล็ดขยับได้
    • บางทีก็เจอไรตัวเป็นๆ สีเหลืองๆ
  4. เหาหมาจะไม่เหมือนเหาคน เพราะงั้นไม่ต้องกลัวติดกัน เหาประทังชีวิตด้วยเศษผิวหนังหรือเลือดของหมา แล้วแต่สายพันธุ์ไป ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเหาโตเต็มวัยบนตัวหมา โดยเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ขนาดประมาณเมล็ดงา บางทีเลยเข้าใจผิดว่าเป็นรังแคได้ง่ายๆ แต่ต่างกันตรงที่จะไม่ร่วงลงมาตอนสะบัดขน [7]
    • สัญญาณอื่นที่บอกว่าหมามีเหา คือขนร่วง (โดยเฉพาะรอบคอ หู ไหล่ ขาหนีบ และรูก้น) ขนด้าน แห้ง หยาบ มีแผลเล็กๆ หรืออาการติดเชื้อ มีพยาธิตัวตืดหรือปรสิตอื่นๆ ที่แพร่เหาได้ ถ้ารุนแรงอาจเกิดภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะในหมาพันธุ์เล็ก
  5. Demodectic หรือ red mange คือขี้เรื้อนเปียก เกิดจากไรตัวจิ๋วๆ ที่ปกติอยู่ตามตัวหมาอยู่แล้ว ไรพวกนี้ปกติไม่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง จนกระทั่งภูมิคุ้มกันหมาเริ่มต่ำนั่นแหละ โรคนี้ปกติพบมากในลูกหมา เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง บริเวณที่มักเกิดขี้เรื้อนเปียกคือแถวปากและตา เวลาวินิจฉัย คุณหมอจะขูดเก็บตัวอย่างผิวหนังไปตรวจ [8]
    • ขี้เรื้อนเปียกไม่ค่อยติดต่อกัน และติดต่อมายังคนไม่ได้ จะถ่ายทอดก็ตอนแม่หมาให้นมลูกหมานั่นเอง [9]
    • เป็นโรคที่มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูง คือถ้าพ่อแม่เคยเป็นขี้เรื้อนเปียกมาก่อน ลูกหมาก็มักมีโอกาสเป็นสูง [10]
  6. กลาก ภาษาอังกฤษคือ ringworm ถึงมีคำว่า worm ที่แปลว่าพยาธิก็ไม่ได้เกิดจากพยาธิ แต่เป็นเชื้อรา ทำให้หมาคัน มีแผลตกสะเก็ดเป็นวงเล็กๆ (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.) และขนร่วง (เป็นหย่อมๆ) ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือกระจายไปทั่วตัว ส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการที่หน้าและอุ้งตีนก่อน กลากติดต่อกันได้ และติดคนและสัตว์อื่นๆ ง่ายมาก (zoonotic disease คือโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน) คุณหมอจะวินิจฉัยโรคกลากแล้วแนะนำวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสม ปกติคือใช้ยาฆ่าเชื้อรา
    • ถ้าเป็นกลากไม่มาก คุณหมอจะให้ยาภายนอก แต่ถ้าเป็นมากก็ต้องมียากินร่วมด้วย
    • นอกจากนี้ต้องกำจัดเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากทั่วทั้งบ้าน ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะวางใจได้ [11]
  7. บางทีหมาก็เป็นโรคอื่นที่ทำให้เข้าใจผิดว่าคันเพราะมีปรสิตหรือโรคอื่นๆ เช่น Alopecia (โรคขนร่วงเป็นหย่อม) และโรคคุชชิง (Cushing’s disease)
    • Alopecia หรือโรคขนร่วง มักเกิดเพราะภาวะไทรอยด์ต่ำ (hypothyroid) ปกติไม่ได้ก่อให้เกิดอาการคัน แค่ไทรอยด์ต่ำแล้วหมาจะเป็นโรคผิวหนังได้ง่ายขึ้นเท่านั้น [12]
    • หมาที่เป็นโรคคุชชิง จะกินน้ำเยอะกว่าปกติ และหิวตลอด จะสังเกตว่าขนของหมาเริ่มบางลง โดยเฉพาะขนชั้นใน ที่ไปก่อนเลยคือขนที่หน้าท้อง (เหมือนคนหัวล้าน) และผิวก็ดูบางลงด้วย
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

บรรเทาอาการคัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อย่างที่บอกว่าโรคผิวหนังผื่นคันของหมาเกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีการรักษาเลยเยอะตามไปด้วย [13] ที่แย่คือยาแก้แพ้ค่อนข้างเป็นอันตรายกับหมา คุณหมอเลยแนะนำให้ใช้สเตียรอยด์คอร์สสั้นๆ หรือยาแก้คันที่เดี๋ยวนี้นิยมใช้กัน เช่น Apoquel หรือ Atopica นอกจากนี้ก็มียาแก้คันตัวใหม่ออกมาเรื่อยๆ [14] , [15]
    • ต้องใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่ยาจะไปลดอาการคัน ให้ผิวได้ฟื้นตัว
  2. อาการคันของหมามักเกิดจากโรคแพ้น้ำลายหมัด [16] ต้องรีบกำจัดหมัดเป็นขั้นตอนแรก ถึงจะไม่เห็นหมัดตัวเป็นๆ ก็เถอะ แค่หมัดตัวเดียวก็ทำให้หมาแพ้ได้ จนเกิดอาการคันรุนแรง [17]
    • รีบกำจัดหมัดทั้งที่ตัวหมา สัตว์เลี้ยงอื่น และบริเวณโดยรอบทั้งในและนอกบ้าน แล้วกำจัดซ้ำทุกเดือน
  3. ไรแต่ละชนิดก็ต้องกำจัดต่างวิธีกันไป ถ้าเป็นขี้เรื้อนเปียกรุนแรงทั้งตัว ก็ต้องใช้เวลารักษาหลายเดือน ส่วนขี้เรื้อนแห้งปกติจะหายในไม่กี่อาทิตย์ [18] , [19] คุณหมอจะจ่ายยาตามชนิดปรสิตไป
    • ขี้เรื้อนแห้งติดคนและสัตว์อื่นง่ายมาก ต้องรีบถอนรากถอนโคนไรทั้งที่ตัวหมา ในบ้าน รอบบ้าน และตามตัวสัตว์อื่นที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กัน [20]
  4. คุณหมอจะแนะนำชนิดและยี่ห้อให้เอง ใช้บรรเทาอาการคัน และกำจัดเชื้อราและแบคทีเรีย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับยากินได้
    • ถ้าซื้อแชมพูมาใช้เอง เช่น แชมพูยา หรือแชมพูน้ำมันดิน (coal tar) ระวังแผลเปิดจะระคายเคืองกว่าเดิม ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มรักษาหมาด้วยผลิตภัณฑ์ไหน
    • อาบน้ำให้หมาช่วยบรรเทาอาการคันได้ดี แต่ห้ามใช้แชมพูของคน ถ้าเป็นแชมพูข้าวโอ๊ตสูตรอ่อนโยนสำหรับหมาโดยเฉพาะ จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ชั่วคราว แต่ถ้าตามตัวหมามีรอยถลอกหรือติดเชื้อ อย่าเพิ่งใช้แชมพูหรือยาทาจนกว่าจะพาไปหาหมอก่อน เพราะถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้หมาอาการหนักกว่าเดิม
    • อย่าอาบน้ำให้หมานานหรือบ่อยเกินไป สำหรับหมาสุขภาพแข็งแรงทั่วไป เดือนละครั้งกำลังดี แต่หมาบางตัวก็นานกว่านั้นได้ การอาบน้ำจะชะน้ำมันจากผิว ถ้าคุณหมอมีแชมพูเฉพาะให้ ก็จะแนะนำว่าควรอาบน้ำให้หมาบ่อยแค่ไหน โดยดูตามสภาพอาการไป
  5. ตัวเลือกแรกในการรักษาอาการคันปานกลางถึงรุนแรง คือใช้สเตียรอยด์ Prednisone ช่วยบรรเทาอาการคันชั่วคราวได้ พอหมาเลิกเกา สบายตัวขึ้น ก็เปิดโอกาสให้ผิวได้ฟื้นตัว
    • สเตียรอยด์มีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจเป็นโรคตับหรือต่อมหมวกไต [21] , [22]
  6. ในบางกรณี ยาแก้แพ้ก็ใช้บรรเทาอาการแพ้ของหมาได้ [23] ยาแก้แพ้มีหลายแบบ ยังไงคุณหมอจะแนะนำให้เอง ทั้งยาที่ซื้อหาได้เองหรือที่คุณหมอจ่ายให้
    • หมาแต่ละตัวก็ต้องใช้ยาแตกต่างกันไป เพราะงั้นเลยต้องทำ “antihistamine trial” หรือทดลองใช้ยา เพื่อให้รู้ว่ายาแก้แพ้ตัวไหนจะใช้กับหมาคุณได้ผลที่สุด
    • แต่ถ้าอาการหนัก ยาแก้แพ้ก็เอาไม่อยู่ โดยมักเริ่มใช้ยาแก้แพ้หลังใช้สเตียรอยด์ไปแล้วเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการแพ้ต่อไป
  7. คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะควบคู่ไปกับยาแก้คัน เพราะมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียระดับทุติยภูมิหลังหมาเกาจนเป็นแผล
  8. จะให้หมาตรวจเลือดหรือทดสอบทางผิวหนังก็ได้ เพื่อตีวงแคบหาสาเหตุว่าเกสร ต้นไม้ หญ้า แมลง หรือราที่ทำให้หมาเกิดอาการแพ้ [24] ถ้าเป็นแพ้อาหาร จะมีการทดสอบโดยเปลี่ยนอาหารชุดใหม่ [25] , [26]
    • คุณหมออาจแนะนำให้ฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน (immunotherapy injections) ถ้าอาการคันของหมาเกิดจากภูมิแพ้
  9. ถ้าหมาคันและเกามากเป็นพิเศษจนผิวถลอกเกิดแผล ให้ปรึกษาคุณหมอให้ช่วยแนะนำสัตวแพทย์ผิวหนัง (veterinary dermatologist) จะได้รักษาตรงจุดยิ่งขึ้น
  10. พวกยาตามร้าน เช่น แชมพูยาหรือแชมพูน้ำมันดิน, tea-tree oil และน้ำมันจากนกอีมู (emu oil) ไปจนถึงว่านหางจระเข้ มักเป็นความหวังสุดท้ายของเจ้าของที่อยากให้หมาหายคัน แต่บอกเลยว่าต้องปรึกษาคุณหมอก่อนจะชิงซื้อมาใช้รักษาหมา
    • นอกจากนี้ไม่ควรรักษาหมาด้วยของใช้ในบ้าน เช่น น้ำมันสน, ปิโตรเลียมเจลลี่, น้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำส้มสายชู แต่ถ้าใช้รักษาภายนอก เช่น ราดด้วยน้ำชาเขียว หรือทาน้ำมันมะพร้าว ก็อาจบรรเทาอาการผิวแห้งไม่มากและยังไม่ติดเชื้อได้
    • ถ้าไม่ปรึกษาแพทย์แล้วดันทุรังรักษาเอง ระวังทำให้หมาอาการหนักกว่าเดิม และอาจเป็นอันตรายต่อคุณด้วย
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

เปลี่ยนอาหาร

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าปรับปรุงโภชนาการโดยรวม จะช่วยให้หมาสุขภาพดีขึ้นได้ ทั้งหมาที่แพ้อาหารและหมาแข็งแรงตามปกติ
    • ถ้าปกติให้แต่อาหารสำเร็จรูป ก็ต้องรู้จักสังเกตส่วนผสม ขอให้เน้นโปรตีนเป็นหลัก อย่าเน้นคาร์โบไฮเดรต กรดไขมันที่จำเป็นนั้นดีต่อสภาพผิวและขน ควรจะมีอยู่ในรายชื่อส่วนผสม [27] , [28]
  2. กรดไขมันในรูปของอาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันแฟล็กซีด นั้นดีต่อหมาที่เป็นโรคผื่นแพ้ผิวหนัง ควรให้กินตามธรรมชาติไม่เสริมเติมแต่ง (เช่น ปลาสด ปลากระป๋อง แฟล็กซีดหรือเมล็ดลินินบดสดๆ) แต่ถ้าไม่สะดวก ก็มีแบบแคปซูลหรือแบบน้ำเหมือนกัน [29] , [30]
    • ทำตามคำแนะนำที่ฉลากหรือคำแนะนำของสัตวแพทย์ ว่าต้องให้ในปริมาณเท่าใด
  3. ถ้าสงสัยว่าหมาจะแพ้อาหาร คุณหมออาจแนะนำให้ทำ food elimination trial โดยเปลี่ยนอาหารไปเลยหรือเปลี่ยนอาหารที่หมากินอยู่ โดยอาหารชุดใหม่ต้องประกอบไปด้วยส่วนผสมที่หมาไม่เคยกินมาก่อน
    • เช่น ถ้าปกติหมากินข้าวกับไก่ต้ม ส่วนขนมมีส่วนผสมของเนื้อวัวกับข้าวสาลี อาหารชุดใหม่ก็ห้ามมีส่วนผสมที่ว่าไปทั้งหมด
    • ปกติขั้นตอนการทดสอบจะใช้เวลา 2 - 3 เดือน
    • ห้ามใจอ่อน ต้องให้อาหารชุดใหม่อย่างเคร่งครัด (รวมถึงขนม) เพื่อให้ได้ผลการทดสอบออกมาแม่นยำชัดเจนที่สุด
    • อาจจะต้องทดสอบอยู่ 2 - 3 รอบ ถึงจะรู้ว่าหมาแพ้อาหารอะไร
    • ปกติคุณหาซื้ออาหารหมาได้ตามร้านขายอุปกรณ์ของใช้สัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่จะดีกว่าถ้าให้คุณหมอแนะนำและสั่งให้ [31]
    • ถ้าหมาไม่แสดงอาการแพ้แล้ว ให้หมาค่อยๆ กลับมากินอาหารเดิมทีละอย่าง ว่าอะไรทำให้หมากลับมาคันอีก
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • หมาบางพันธุ์ เช่น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์ และค็อกเกอร์ สแปเนียลมักมีอาการแพ้จากพันธุกรรม แต่หมาส่วนใหญ่ กระทั่งหมาพันธุ์ผสม ก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้ขึ้นมาบ้างครั้งหนึ่งในชีวิตเหมือนกัน [32]
  • ให้กำจัดหมัดตลอดทั้งปี
  • อย่าโกนขนหมาจนเกรียน ถ้าแค่เล็มขนบริเวณที่ติดเชื้อออกนั้นทำได้ไม่เป็นไร เพราะผิวจะได้ฟื้นตัว แต่เรื่องโกนขนหมาทั้งตัว ถ้าคุณหมอไม่แนะนำก็อย่าไปทำ กระทั่งหมาปกติที่สุขภาพดี ถ้าไปโกนขนจนเกรียน อาจทำให้ขนที่งอกใหม่สีต่างออกไปหรือไม่งอกกลับมาอย่างที่ควรจะเป็น [33]
  • ยาบางตัวหรือวิธีรักษาบางวิธีก็ไม่เหมาะกับหมาคุณหรือไม่ได้ผลเสมอไป เพราะงั้นอาจต้องใช้มากกว่า 1 วิธีถึงจะรักษาโรคผิวหนังและอาการคันของหมาได้
  • ส่วนใหญ่จะเป็นการควบคุม บรรเทาอาการคัน ไม่ใช่การรักษาโรคให้หายขาด ต้องอาศัยเวลาและการสังเกตกว่าจะรู้ว่าอะไรทำให้หมาคุณคันคะเยอ
โฆษณา

คำเตือน

  • ค่อยๆ เปลี่ยนอาหารของหมาไปเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยเปลี่ยนทีละอย่าง และเริ่มจากปริมาณน้อยๆ
  • ต้องใช้สเตียรอยด์กับยาปฏิชีวนะ ถ้าหมาเป็นโรคผิวหนังรุนแรงจากภูมิแพ้ตั้งแต่ตอนเริ่มรักษา แต่เพราะมีผลข้างเคียงน่าเป็นห่วง ถึงต้องปรึกษาคุณหมอตั้งแต่ตอนเริ่มใช้ยา และในกรณีที่ต้องใช้ยาต่อไป
  • ภูมิแพ้บรรเทาอาการได้ แต่รักษาไม่ได้หายขาด ตลอดชีวิตหมาบางทีก็แพ้นู่นนี่เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ จนบางทีทำเอาทั้งหมาและคนลำบากไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าคุณรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับอาการของหมา ก็จะสามารถดูแลหมาให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรงได้
โฆษณา
  1. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=630
  2. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=559
  3. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=461
  4. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=599
  5. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=1535
  6. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=599
  7. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=2604
  8. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=2604
  9. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=630
  10. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=616
  11. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=616
  12. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=599
  13. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&A=1622&S=0&EVetID=0
  14. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=599
  15. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=597
  16. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=652
  17. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=2499
  18. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=648
  19. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=647
  20. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=599
  21. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=648
  22. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=2499
  23. http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&S=0&C=0&A=2749
  24. http://www.petmd.com/blogs/dailyvet/2009/december/15-5143

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 8,202 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา