ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

มันอาจจะเป็นเรื่องชวนหวาดหวั่นสักหน่อยที่จะสนทนาผ่านข้อความให้สนุกและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยากจะสร้างความประทับใจให้เพื่อนใหม่หรือแอบปิ๊งใครที่น่าสนใจขึ้นมาสักคน กุญแจสำคัญของการเป็นนักสนทนาผ่านข้อความที่ยิ่งใหญ่คือ อย่าคิดมากและทำตัวสบายๆ ในการบ่งบอกสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจคุณ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

มีการสนทนาที่สนุกสนาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณไม่จำเป็นต้องเปิดประเด็นอะไรใหญ่โต แค่เอ่ยถามว่าเธอได้ดูตอนล่าสุดของซีรี่ส์เรื่องโปรดของคุณหรือยังหรือเมื่อสุดสัปดาห์นี้เธอไปทำอะไรมา เท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นบทสนทนาที่ดีได้แล้ว ถ้าคุณหยิบยกสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะกีฬา รายการทีวี หรือการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ถือว่าคุณเริ่มได้เยี่ยมแล้ว
    • ตอนแรก อย่าเพิ่งกดดันตัวเองให้มากไปในการพยายามเลือกหัวข้อสนทนาที่ดีที่สุด เผื่อว่าถ้าคนที่คุณคุยด้วยเขาไม่สนในเรื่องนี้ คุณจะได้มีทางเปลี่ยนหัวข้อคุยได้ อย่าลืมว่าการสนทนาแบบไม่เห็นหน้าค่าตากันนี้มันกดดันน้อยกว่าเวลาคุยโทรศัพท์หรือเจอกันต่อหน้าตั้งเยอะ
    • ถ้าหากคนๆ นั้นดูเฉยๆ หรือฟังดูกำลังยุ่ง แค่เปลี่ยนเรื่องเป็นหัวข้อที่คุณคิดว่าเขาต้องสนอกสนใจเป็นแน่
  2. ผู้คนจะชอบเวลาคุณถามความคิดเห็นของพวกเขาและจะพอใจที่ได้แสดงมันออกมา ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือผ่านทางข้อความ ถ้าคุณแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจในสิ่งที่เขาคิด เขาจะยินดีคุยกับคุณต่อแน่นอน ให้เน้นไปที่การฟังความคิดเห็นของพวกเขามากกว่าจะพยายามแสดงความคิดเห็นของคุณ
    • พยายามทำให้คำถามของคุณเป็นแบบปลายเปิด แทนที่จะถามว่า “คุณชอบหนังเรื่องนี้ไหม?” ให้ถามว่า “คุณคิดยังไงกับหนังเรื่องนี้?” หรือ “เพราะอะไรคุณถึงไม่ชอบคอนเสิร์ตนี้ล่ะ?” จะช่วยเปิดโอกาสให้เขาได้พูดอะไรออกมา
  3. แม้ว่าคุณจะรู้สึกเบื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องให้คนอื่นเขามารับรู้ด้วย ถ้าหากคุณบ่นว่าเบื่ออยู่เนืองๆ อีกคนเขาอาจหมดความสนใจและหยุดส่งข้อความเพราะคิดว่าเป็นฝ่ายทำให้คุณเบื่อ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้โฟกัสไปยังสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณและแสดงความกระตือรือล้นในหัวข้อที่คุณกำลังสนทนาอยู่
    • หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สนใจในบทสนทนาถ้าคุณเจอคำตอบแสดงอารมณ์เดียวแบบเดิมๆ ตลอด: “555”, “อืม”, “ว้าว”, “อ้อ” เป็นต้น พยายามผสมๆ มันไปเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณสนใจในสิ่งที่เขาพูด มันจะทำให้บทสนทนาดูสนุกสนานขึ้นกว่าเวลาคุณพูดแบบเดิมๆ ตลอดเวลา
    • คุณสามารถใช้อีโมติคอนหรือเครื่องหมายอัศเจรีย์เพื่อกระตุ้นความสนใจก็ได้ แต่อย่าใช้บ่อยเกินเช่นกัน
    • ถ้าหากคุณกำลังเซ็งกับวันแย่ๆ และไม่มีเรี่ยวแรงมาทำตัวคึกคักได้ ก็บอกให้เพื่อนคุณทราบ
  4. เตือนให้อีกฝ่ายได้ตระหนักว่าเบื้องหลังข้อความบนหน้าจอโทรศัพท์นั้นเป็นคนนะ หยอดอมยิ้มและอีโมติคอน หรือใช้ข้อความหัวเราะ ประเภท "lol", "555", "อิอิ", เป็นต้น หากมันเหมาะกับสไตล์ข้อความของคุณ คุณต้องการให้เพื่อนเห็นรูปแบบข้อความที่โดดเด่นเฉพาะตัว เช่นเดียวกับที่เวลาคุยกันต่อหน้าก็ไม่มีใครคุยได้เหมือนคุณ
    • อย่ากังวลว่าคุณต้องพูดในเรื่องที่เพื่อนอยากฟังมากจนเกินไป การที่คุณเป็นตัวของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอีก
    • ถ้าหากตัวตนจริงของคุณปกติเกรียนๆ หรือติงต๊อง ก็ทำไปอย่างนั้น! อย่าไปกลัวว่ามันจะดูไร้สาระ ไม่มีใครมาตัดสินคุณหรอก
  5. อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้การสนทนาดำเนินไปอย่างน่าสนใจก็คือการบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง แม้ว่าคุณจะกำลังดูโทรทัศน์อยู่หรือกำลังจะช่วยแม่อบขนม ลองพูดขึ้นมาเผื่อมันจะกระตุ้นบทสนทนาใดๆ ทั้งนี้อาจเปลี่ยนเป็นให้เพื่อนเล่าว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ได้ นี่เป็นวิธีที่จะรู้สึกใกล้ชิดและไปมีส่วนร่วมกับชีวิตเขาหรือเธอมากขึ้น
    • ให้แน่ใจว่าคุณแสดงความสนใจในสิ่งที่เพื่อนคุณกำลังทำมากกว่าอะไรก็ตามที่คุณกำลังทำอยู่ ทำให้เพื่อนเห็นว่าคุณใส่ใจกับสิ่งที่เขาทำอยู่
  6. มันอาจจะง่ายต่อการพิมพ์แทนที่จะต้องพิมพ์ให้ครบประโยคเต็ม แต่คำๆ เดียวมันยากต่อการสนทนา ไม่ว่าคุณจะถามคำถามแบบคำเดียวหรือตอบกลับมาแบบคำเดียว ล้วนแล้วแต่ไม่นำไปสู่บทสนทนาที่ชวนสนใจคุยเลย ยิ่งคุณใช้คำมากเพียงใด คุณก็ยิ่งมีบทสนทนาที่สนุกน่าสนใจเพิ่มขึ้นเท่านั้น
    • ถ้าคุณส่งข้อความไปคำเดียวจริง ให้ส่งข้อมูลหรือคำอธิบายที่ยาวกว่านั้นตามไป ถ้าคุณชอบคุยด้วยประโยคสั้นกระชับก็ไม่เป็นไรหรอกตราบเท่าที่คุณยังต่อบทสนทนาไปได้
    • ถ้าหากมันไม่เหลืออะไรให้คุยในหัวข้อนั้นแล้ว คุณสามารถตามด้วยคำถามปลายเปิดของตัวเองหรือแสดงความคิดเห็นในหัวเรื่องใหม่ก็ได้
    • ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะถามคุณด้วยคำถามแบบ “ใช่” หรือ “ไม่” นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะตอบกลับแค่นั้น ให้บอกไปว่า “ใช่และ...” หรือ “ไม่หรอก แต่...” แล้วอธิบายความคิดเห็นหรือเหตุผลของคุณอย่างละเอียด มันจะทำให้การสนทนารู้สึกยืดหยุ่นและเคลื่อนไปข้างหน้ามากขึ้น
  7. การที่เราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไรต่อนั้นมันก็สนุกดีไม่น้อย จึงควรทำให้พวกเขาประหลาดใจบ้างกับข้อความที่เหนือความคาดหมาย หรือตั้งคำถามขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย กุญแจสำคัญคือทำให้เป็นธรรมชาติ และมันจะต่อบทสนทนาไปได้ยาวเลย!
    • ก็เหมือนการสนทนาปกติ คุณไม่ต้องคิดมากในแต่ละคำพูด ถ้าจู่ๆ อยากจะเล่าเรื่องตลกๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนวันนี้ หรือสารคดีเรื่องหลุดโลกที่สุดที่คุณเพิ่งดูมาเมื่อคืน ก็ขอให้เล่าออกมาเลย
    • มองหาแรงบันดาลใจรอบตัว ข้าวของเครื่องใช้ที่มีทั่วไปก็สามารถจุดประเด็นการสนทนาได้เช่นเดียวกัน มันอาจเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่ผ้าเช็ดปากไปจนถึงแผ่นดีวีดี
  8. แม้การตั้งใจพิมพ์ผิดหรือใช้คำย่อจะดูน่ารักและยอมรับกันได้ แต่มันไม่สนุกหรอกนะถ้าใครคนหนึ่งต้องมานั่งเพ่งพยายามตีความนัยของข้อความนั้น พยายามใช้คำพูดแบบแช็ตให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณกำลังพูดคุยกับคนที่ไม่ได้คุ้นชินกับการใช้ข้อความ ให้เวลาพวกเขาในการทำความคุ้นเคยกับสไตล์การเขียนข้อความของคุณก่อนจะพิมพ์อะไรที่มันเป็นภาษาพูดจนเกินไป
    • ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีอะไรจะถ่วงการสนทนาได้เร็วเท่าคนที่คุณสนทนาด้วยต้องถามคุณกลับว่าข้อความที่คุณส่งมามันแปลว่าอะไร
  9. หลีกเลี่ยงบทสนทนาน่าเบื่อ เป็นไปตามสูตรสำเร็จหรือเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ. คำพูดสัพเพเหระทั่วไปอาจมีประโยชน์เวลาที่คุณไม่มีอะไรจะพูดจริงๆ แต่มันยากจะเป็นบทสนทนาที่น่าจดจำ แทนที่จะบอกว่า “วันนี้อากาศดีนะ” ก็ให้ลองอะไรที่มันไม่เหมือนใครหน่อย นี่จะยิ่งเป็นเรื่องสำคัญถ้าคุณอยากผูกมิตรใหม่หรือให้คนที่คุณสนใจหันมาสนใจคุณ คุณต้องไม่พูดในเรื่องที่คนอื่นๆ ใครเขาก็พูดกัน
    • หลีกเลี่ยงที่จะพูดอะไรที่มันพื้นๆ หรือทั่วๆ ไป อย่างเช่น “เป็นไงมั่ง?” “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “เพลียจัง” คุณต้องพยายามพิมพ์อะไรมากกว่านั้นหน่อยถ้าอยากจะโดดเด่นกว่าคนอื่น
  10. ถ้าคุณกำลังส่งข้อความคุยกับเพื่อนเก่า แน่นอนเลยว่าการหยิบยกอดีตมาเรียกเสียงหัวเราะหรือชวนให้ย้อนคิดถึงวันวานนั้นได้ผลเสมอ รับรองว่าคุณไม่มีทางพลาดกับการพูดว่า “จำได้ไหมตอนที่...” หรือ “ฉันล่ะคิดถึงตอนที่...” แค่ให้แน่ใจว่าข้อความย้อนอดีตของคุณไม่ได้ดูฟูมฟายโหยหาอดีตจนเกินไป มิฉะนั้นคุณทั้งคู่อาจลงเอยด้วยการเกิดความรู้สึกถวิลหาอันว่างเปล่าจนอาจไม่สามารถสนทนากันต่อได้
    • การหวนอดีตแบบนี้อาจโผล่ขึ้นมากลางการสนทนา แต่หากคุณอยากจะเปิดฉากสนทนากับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้คุยกันมาสักพักแล้ว บางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่เหมาะเหม็งถ้าจะเริ่มบทสนทนาแบบ “จำได้ไหมตอนที่เรา...”
  11. ของพวกนี้เพิ่มความสนุก! ส่งภาพที่คุณทำท่าตลกๆ หรือกราฟฟิกเจ๋งๆ เติมเสียงเพลงโปรดหรือเสียงประกอบประหลาดๆ เพื่อให้มันดูสนุกขึ้น ข้อความที่เป็นภาพหรือมีเสียงประกอบจะช่วยให้คุณได้พูดและหัวเราะไปพร้อมๆ กัน นี่เป็นวิธีที่ดีสำหรับการจบบทสนทนาแบบสนุกๆ ได้เช่นกัน การทิ้งข้อความสุดท้ายให้เพื่อนด้วยรูปภาพจะทำให้เพื่อนคนนั้นกระตือรือร้นที่จะตอบรับการสนทนากับคุณในคราวต่อไป
    • แค่ให้แน่ใจว่าคุณได้ส่งข้อความกับคนที่เขามีโทรศัพท์ที่สามารถรับภาพ, เสียงประกอบ หรืออะไรที่มันแฟนซีแบบนี้ได้ คุณคงไม่อยากให้พวกเขาสับสนหรือรู้สึกว่าถูกตัดขาดโดยการรับวิดีโอหรือภาพที่พวกเขาเปิดดูไม่ได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ปฏิบัติตามธรรมเนียมมารยาทที่ถูกต้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้แน่ใจว่าคุณฟังสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังบอกคุณอยู่จริงๆ. คุณอาจนึกห่วงว่าตัวเองจะพูดอะไรต่อหรือบางทีก็ตื่นเต้นที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกไปจนไม่ทันสังเกตว่าฝ่ายนั้นเขากำลังพูดอะไรกับคุณ บางทีเขาอาจมีความลับที่อยากจะบอก หรือเกิดอะไรผิดพลาดและเขาก็เสียใจมากแม้ว่าจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ จงใส่ใจในสิ่งที่เขาพูดเพื่อที่คุณจะแสดงความรู้สึกตอบได้อย่างเหมาะสม
    • คุณคงไม่อยากจะดูเป็นพวกสนใจแต่ตัวเองโดยการเพิกเฉยสัญญาณที่แสดงว่าอีกฝ่ายเขาอยากจะบอกหรือมีอะไรจะขอร้อง ถ้าหากเขาคนนั้นดูเหมือนยังไม่บอกอะไรออกมาทั้งหมด หรือเขามีเรื่องตื่นเต้นใดๆ ให้โอกาสเขาเป็นฝ่ายได้พูดออกมา
    • อ่านสิ่งที่เขาเขียนมาอย่างละเอียดลออ โดยเฉพาะหากข้อความนั้นยาวมาก ก่อนที่จะตอบอะไรกลับไป คุณคงไม่อยากดูเหมือนคนที่ฟังอะไรครึ่งๆ กลางๆ เวลาที่เอ่ยถามเรื่องที่เขาเพิ่งบอกคุณเมื่อนาทีที่แล้วนี่เอง
    • ถ้าคนๆ นั้นกำลังพูดเรื่องสำคัญและซีเรียส งั้นก็ให้แน่ใจว่าคุณมีเวลาที่จะใส่ใจในเรื่องนั้นร่วมกับเขา ถ้าเพื่อนคุณกำลังบอกว่าคุณยายของเขาเสีย คุณก็ควรโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วยแทนที่จะแค่ตอบไปแบบผ่านๆ เพียงเพราะว่าคุณกำลังติดเรียนอยู่
  2. สิ่งหนึ่งที่พึงจำให้ขึ้นใจเวลาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาจะส่งข้อความหาใครก็คือ คุณไม่ควรกดดันตัวเองเกินไป อย่ากังวลว่าต้องหาประโยคเริ่มการสนทนาแบบเพอร์เฟกต์หรือต้องเล่าเรื่องที่มันต้องขำก๊าก ถ้าคุณมัวคิดมากเกินไป มันจะกินเวลานานกว่าที่คุณจะติดต่อคนที่คุณอยากคุยด้วยหรือดำเนินบทสนทนาต่อ คนๆ นั้นอาจคิดว่าคุณกำลังยุ่งหรือไม่สนใจจะคุยต่อแล้วทั้งๆ ที่มันเป็นเพราะคุณกังวลว่าจะพูดอะไรต่อแท้ๆ
    • มันเป็นเรื่องที่เข้าท่ากว่ามากถ้าคุณจะรักษาการสนทนาให้ต่อเนื่องเป็นธรรมชาติแม้จะไม่ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แทนที่จะเสียเวลาสิบนาทีมัวคิดแต่งเรื่องที่มันสุดยอด แถมคุณก็ไม่รู้หรอกว่าคนที่คุณคุยอยู่ด้วยนั้นกำลังทำอะไรอยู่หรือเปล่า คุณอาจพลาดโอกาสที่จะคุยกับเขานับหลายชั่วโมงเลยก็ได้
  3. ถ้าคุณเพิ่งเริ่มส่งข้อความคุย หรือแม้กระทั่งคุณกำลังอยู่ในการสนทนาที่ไม่ค่อยคืบหน้าไปเท่าไหร่ คุณควรนึกว่าคนที่คุยด้วยนั้นอาจกำลังอยู่ระหว่างการทำอะไรอยู่ หรืออาจคุยกับใครคนอื่นอีก คุณคงไม่อยากเร่งรัดหรือทำเหมือนหมดความอดทนโดยการถามย้ำ หรือส่งเครื่องหมายคำถามซ้ำๆ เป็นแถวต่อท้ายความเห็น หรือทำตัวหุนหันพลันแล่นจนกว่าคนๆ นั้นจะกลับมาคุยกับคุณ
    • จำไว้ว่าประโยชน์ของการพิมพ์ข้อความคุยกันนั้นก็คือคุณมีเวลาในการขัดเกลาคำตอบเพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อเสียก็คือคนที่คุยด้วยอาจไม่ได้ใส่ใจเท่ากับการได้คุยซึ่งหน้า ยอมรับเรื่องนี้จะดีกว่าทำให้เขาเสียความรู้สึกโดยการทำตัวเร่งรัด
  4. สิ่งหนึ่งที่คุณควรใส่ใจก็คือการสนทนาควรจะมีสมดุลทั้งสองฝ่าย คุณคงไม่ต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณเอาแต่พล่ามอยู่ฝ่ายเดียว หรือระดมยิงคำถามจนอีกฝ่ายตอบไม่ทัน ก็เหมือนการสนทนาต่อหน้าที่คุณควรตั้งใจจะพิมพ์ข้อความเพียงครึ่งเดียวและให้แน่ใจว่าคุณเปิดโอกาสให้เขาคนนั้นได้แสดงความคิดเห็นแทนที่จะมีแต่คุณฝ่ายเดียว
    • จำไว้ว่าการแสดงความสนใจนั้นสำคัญกว่าการทำตัวน่าสนใจ แทนที่จะเล่าสารพัดข้อมูลที่คุณได้รับรู้มาในวันนั้นให้อีกฝ่ายฟัง คุณจะเริ่มต้นไปได้สวยกว่าโดยการถามว่าเขาเป็นไงบ้าง ผู้คนชอบคุยเรื่องของตัวเองมากกว่าที่คุณคิดไว้นะ
  5. โทรศัพท์ไปคุยกับคนๆ นั้นถ้าคุณอยากคุยเรื่องอะไรที่มันซีเรียส. แม้การส่งข้อความจะเหมาะกับการคุยกันเล่นๆ กับเพื่อนเวลาที่ไม่มีอะไรทำดีกว่านั้น คุณคงอยากเลี่ยงไม่ทิ้งระเบิดใส่เขาในระหว่างที่เขาคิดว่ากำลังคุยได้สนุกออกรส ถ้าคุณมีข่าวใหญ่ หรือข่าวร้ายที่อยากแบ่งปันให้คนนั้นเขาร่วมรับรู้ ทางที่ดีควรโทรศัพท์หาหรือไปพูดต่อหน้าจะเข้าท่ากว่า
    • คุณต้องการให้คนนั้นได้มีเวลาเตรียมตัวรับความรุนแรงของเรื่องมากกว่าจะต้องฟังอย่างไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
  6. ใช้การสนทนาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ส่วนตัวให้แน่นแฟ้นขึ้น. จำไว้ว่าความสัมพันธ์ทางข้อความกับบุคคลคนนั้นจะช่วยให้คุณสนิทสนมกันยิ่งขึ้น แต่มันไม่มีวันบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ทั้งหมดนั้น คุณควรใช้การส่งข้อความเพื่อสนทนากับคนที่ชอบหรืออยากรู้จักเขาอีกครั้ง แต่คุณไม่ควรใช้มันมาทดแทนการพบปะติดต่อหรือการพูดคุยต่อหน้า คุณอาจชอบส่งข้อความหาเพื่อนใหม่หรือจีบคนที่ชอบ แต่ก็ต้องแบ่งความสำคัญพยายามโทรหาหรือใช้เวลาอยู่กับเขาให้บ่อยพอๆ กัน ถ้าอยากจะทำให้ความสัมพันธ์เบ่งบานมากกว่านี้
    • คุณสามารถใช้การส่งข้อความเป็นจุดเริ่มต้นของการผูกสัมพันธ์ในชีวิตจริงกับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทั้งคู่กำลังพูดคุยเรื่องหนังโปรดที่กำลังฉายอยู่ คุณสามารถถามคำถามง่ายๆ อย่าง “อยากไปดูด้วยกันไหม?” หรือถ้าคุณกำลังคุยกันว่ารู้สึกเบื่อๆ ก็อาจบอกว่า “ออกไปกินไอติมกันป่าว?” ไม่ต้องมัวแต่อาย เพื่อนคุณก็อาจจะอยากออกไปเจอคุณอยู่เหมือนกัน
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

หาหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับส่งข้อความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผู้คนชอบเวลาที่คุณขอคำแนะนำจากพวกเขา เพราะมันทำให้คนรู้สึกดีว่าตนเองมีความรู้ในเรื่องๆ หนึ่งแน่นพอและฉลาดพอที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่น มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องซีเรียสแค่อะไรสักอย่างที่คุณรู้ว่าเขาคนนั้นมีความคิดเห็น นี่คือคำถามที่คุณสามารถเอ่ยปากถามได้:
    • "อาทิตย์นี้ฉันจะได้ไปเที่ยวน่านเป็นครั้งแรก ช่วยแนะนำที่กินอร่อยๆ ให้หน่อยสิ?"
    • "เธอคิดว่าฉันน่าจะซื้ออะไรเป็นของขวัญวันเกิดให้เขาดีล่ะ? ฉันนึกไม่ออกเลยอ่ะ "
    • "ฉันควรใส่ชุดไหนไปงานแต่งงานดี? ตัดสินใจไม่ได้เลย"
  2. ต่อบทสนทนาจากสิ่งที่ใครคนนั้นได้บอกคุณกับตัว. วิธีหนึ่งที่จะแสดงให้คนเห็นว่าคุณใส่ใจเขาจริงก็คือการเอ่ยถามถึงเรื่องที่คุณเคยคุยกันก่อนหน้านั้น อาจจะเมื่อวันก่อนหรือสัปดาห์ก่อน มันจะแสดงให้เห็นว่าคุณสนอกสนใจและใส่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนที่ไม่ได้ส่งข้อความถึงกัน นี่คือบางวิธีที่คุณอาจถามติดตามข่าว:
    • "เฮ้ คุณยายท่านเป็นไงมั่ง? หายดีแล้วหรือยังจ๊ะ?"
    • "ตกลงเธอได้งานที่เพิ่งสัมภาษณ์ไปหรือเปล่า?"
    • "ไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นไงมั่งจ๊ะ? ฉันล่ะอยากไปบ้างจังเลย"
  3. อีกวิธีเริ่มการสนทนาคือการเสนอกิจกรรมที่คุณกับคนที่ส่งข้อความคุยกันนั้นสามารถทำได้ร่วมกัน อาจเป็นเรื่องที่ต้องทำในอนาคตหรือในวันถัดไป ถ้ากิจกรรมนั้นฟังดูน่าสนุก คุณก็จะมีเรื่องให้คุยผ่านข้อความอีกเยอะเวลาลงในรายละเอียด นี่คือคำเสนอแนะที่คุณอาจเริ่มได้:
    • "อาทิตย์หน้าไปดูหมอลำกันไหม? เรามานุ่งชุดผ้าซิ่นไปกัน..."
    • "อยากไปดูหนังวูล์ฟเวอรีนภาคใหม่วันพุธนี้ไหม? ได้ยินมาว่ารอบละร้อยเดียวเอง!"
    • "เคยได้ยินอาหารกรีกไหม? มันมีร้านมาเปิดใหม่ ฉันได้ข่าวมาว่ามันอร่อยและถูกด้วยนะ"
  4. คำชมเชยไม่เคยใช้ไม่ได้ผล และคุณไม่จำเป็นต้องไปเจอเขาซึ่งหน้าถึงจะกล่าวชมได้ การเอ่ยชมเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีเริ่มต้นการสนทนาที่ดี และทำให้ใครคนนั้นรู้สึกว่าคุณใส่ใจเขา มันเหมาะแก่การคุยผ่านทางโทรศัพท์ตราบเท่าที่คุณจริงใจและไม่ทำให้เขารู้สึกกระอักกระอ่วน นี่คือตัวอย่างที่คุณจะเอ่ยชมอีกฝ่ายผ่านทางการส่งข้อความ:
    • "เมื่อวานเธอเล่นบาสได้เยี่ยมยอดไปเลย ฉันล่ะทึ่งสุดๆ"
    • "ฉันชอบแจ็คเก็ตยีนส์ตัวที่เธอใส่เมื่อวานนะ ฉันว่าเธอนี่แต่งตัวแนวย้อนยุคได้ขึ้นดีจริงๆ "
    • "ขอบคุณที่ช่วยติวเลขให้ฉันเมื่อคืนนะ เธอใจดีจังและฉันคงทำคะแนนไม่ได้ดีแน่ๆ ถ้าขาดเธอไปคน "
  5. อีกวิธีเริ่มคุยให้สนุกก็คือการเอ่ยถึงสิ่งที่คุณจะทำในวันหยุดสุดสัปดาห์ มันจะเป็นโอกาสที่จะได้พูดถึงสิ่งที่คุณสนใจ อยากจะแบ่งปันข้อมูลตลกๆ ของตัวเอง หรือกระทั่งชวนเขาไปสนุกพร้อมกับคุณ นี่คือตัวอย่าง:
    • "ฉันจะไปเที่ยวสวนน้ำกับเพื่อนอาทิตย์นี้ ฉันว่าไอ้เพื่อนกลุ่มนี้มันติงต๊องเหมือนกันนะ แต่ฉันก็ตื่นเต้นอยากไปอยู่"
    • "ฉันกำลังจะลงเรียนคอร์สทำเซรามิค น่าจะเจ๋งดีนะเนี่ย "
    • "อาทิตย์นี้ฉันจะไปภูกระดึงกับที่บ้าน ไม่เคยปีนเขาอะไรแบบนี้เลยจะรอดไหมนะ "
  6. หากใครคนนั้นที่คุณคุยด้วยกำลังจะมีสอบใหญ่ มีสัมภาษณ์งานหรือเหตุการณ์สำคัญ คุณก็สามารถส่งข้อความแสดงว่าคุณคิดถึงเขาและกล่าวอวยพรให้เขาประสบความสำเร็จ การให้กำลังใจเล็กน้อยอาจจะเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังต้องการหรือทำให้รู้สึกว่าคุณใส่ใจเขาอยู่ นี่คือตัวอย่างในการอวยพรให้เขาโชคดี:
    • "โชคดีในการสอบวันพรุ่งนี้นะเพื่อน ฉันมั่นใจว่าเธอทำได้สบายบรื๋อ!"
    • "พักผ่อนบ้างนะก่อนจะไปสัมภาษณ์ เธอต้องทำให้พวกเขาร้องว้าวได้แน่ๆ"
    • "ลงไปวาดลวดลายเป็นเมสซี่เลยนะเธอ! ฉันจะคอยเชียร์อยู่ข้างสนาม "
    โฆษณา


คำเตือน

  • อย่าส่งข้อความขณะกำลังขับรถ การทำเช่นนี้มีแต่พาตัวเองไปเสี่ยงอันตรายพร้อมกับคนที่อยู่ข้างตัว
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 35,140 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา