ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ทารกเกิดมาพร้อมกับการตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปเมื่อชีวิตต้องเจอกับความคิดเห็น ความคาดหวัง และทัศนคติของคนอื่น ความตระหนักในคุณค่าของตัวเองที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ คุณค่าของตนเองคือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าเรามีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุดได้ด้วยพรสวรรค์ของเรา เราสามารถแบ่งปันบางสิ่งให้สังคมได้ และเราก็สมควรจะมีชีวิตที่เติมเต็มด้วย ดังนั้นการสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองอีกครั้งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ สำคัญ และดีต่อชีวิตด้วย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ปรับทัศนคติให้ถูกต้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การรับรู้ของคุณที่มีต่อตนเอง วิธีการที่คุณพูดถึงตัวเอง และการแสดงความเป็นตัวเองออกมาท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นความจริงสำหรับคุณ และถ้าเกิดว่าคุณดูถูกตัวเอง ลดทอนคุณค่า และไม่ให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ของตัวเองต่อหน้าคนอื่น คุณก็จะกลายเป็นคนที่เจียมตัว มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ และเกือบจะเป็นได้แค่ไม้ประดับ การเป็นคนอ่อนน้อมกับการปฏิเสธตนเองนั้นไม่เหมือนกัน
    • ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณคุยโวเรื่องคุณสมบัติ พรสวรรค์ และทักษะของตัวเอง คุณก็จะกลายเป็นคนที่หยิ่งทะนง ซึ่งก็แปลกดีที่ว่ามันไม่ได้มาจากการที่คุณประเมินคุณค่าของตัวเองสูงไป แต่เกิดจากการที่คุณหลอกตัวเองผ่านความรู้สึกไม่มั่นคง คุณควรเลือกทางสายกลาง ซึ่งทางนั้นก็คือการที่คุณรู้และชื่นชมว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่าเทียมทัดกับคนอื่นๆ คุณมีพรสวรรค์และความคิดที่ไม่เหมือนใครและทรงคุณค่า การจะสร้างความเชื่อแบบนี้ได้อาจเป็นเรื่องยากหากคุณประเมินค่าตัวเองต่ำเกินไปมาหลายปี แต่คุณก็สามารถเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของตัวเองได้ เสมอ [1]
  2. เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความกลัวที่จะรักตัวเอง. การรักตัวเองมักถูกมองว่าเป็นความหลงตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นรูปแบบหนึ่งของการหมกมุ่นอยู่ในโลกของตัวเองโดยไม่นึกถึงคนอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าภาษาไทยจำกัดนิยามของคำว่า "รัก" ไว้แบบกว้างๆ ที่ครอบคลุมถึงความรักหลายๆ รูปแบบ และยังทำให้เราติดอยู่กับความรู้สึกสับสนว่าความรักมันคือการทำดีต่อผู้อื่น มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเป็นการเสียสละตนเอง ซึ่งแม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นเจตนาที่สูงส่ง แต่ก็มักจะถูกให้ความสำคัญมากเกินไปและมักถูกนำมาใช้เพื่อให้เราเสียสละความจำเป็นและความต้องการของตนเองเพื่อความต้องการของคนอื่น เพราะเรากลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราเห็นแก่ตัวหรือหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของการรักษาสมดุลผ่านการดูแลตนเองต่างหาก [2]
    • การรักตัวเองที่ดีคือการเป็นเพื่อนสนิทของตัวเอง การรักตัวเองไม่ได้แสดงออกผ่านการพยายามทำให้คนอื่นประทับใจตลอดเวลาและเอาแต่ป่าวประกาศว่าตัวเองเจ๋งแค่ไหน (ซึ่งเป็นสัญญาณของ ความรู้สึกไม่มั่นคง ) มากกว่า แต่จริงๆ แล้วการรักตัวเองคือการปฏิบัติต่อ ตนเอง ผ่านการดูแล อดทน เอื้อเฟื้อ และเมตตาแบบเดียวกับคุณปฏิบัติต่อเพื่อนคนพิเศษของคุณ
    • อย่าเอาแต่คิดว่าคนอื่นจะมองคุณอย่างไร คุณจะได้อะไรจากการปรับแต่งบุคลิกของตัวเองให้เข้ากับการรับรู้ของคนอื่นที่มีต่อคุณ เพราะมีแต่คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะกระตุ้นความภาคภูมิใจให้ตัวเองได้
  3. เชื่อความรู้สึกของตัวเอง . การเห็นคุณค่าของตัวเองต้องอาศัยการเรียนรู้ที่จะรับฟังและพึ่งพาความรู้สึกของตัวเอง และไม่ตอบสนองความรู้สึกของคนอื่นโดยอัตโนมัติ เมื่อคุณเชื่อในความรู้สึกของตัวเอง คุณจะรู้ว่าการเรียกร้องแบบไหนที่ไม่ยุติธรรมและสามารถตอบสนองกับการเรียกร้องเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
    • คุณค่าของตัวเองจะลดลงเมื่อเราให้คนอื่น ตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ให้เรา แรกๆ มันอาจดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ง่ายและทำให้คุณไม่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ แต่คุณค่าของตนเองจะเติบโตขึ้นก็ต่อเมื่อเราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง ถ้าคุณไม่ตัดสินใจเอง คุณจะพบว่าตัวเองถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้กรอบที่คนอื่นเลือกให้คุณ แล้วพอคนที่ตัดสินใจให้คุณหายไปจากชีวิต คุณก็จะเหลือตัวคนเดียวและตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย
  4. พวกเราหลายคนอยู่ในวัฒนธรรมที่ชอบไปให้คนอื่นวิเคราะห์ตัวเรา ตัวอย่างคำถามสำหรับการวิเคราะห์ตัวเองได้แก่ [3]
    • ฉันมีประสบการณ์อะไรบ้าง แล้วประสบการณ์นี้หล่อหลอมการเติบโตของฉันอย่างไร
    • พรสวรรค์ของฉันคืออะไร เขียนมาอย่างน้อย 5 ข้อ
    • ฉันมีทักษะอะไรบ้าง จำไว้ว่า พรสวรรค์ คือสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องพยายามเพื่อให้เกิดความชำนาญ
    • จุดแข็งของฉันคืออะไร เลิกหาจุดอ่อนของตัวเองได้แล้ว เพราะว่าคุณอาจจะมองหามันมานานเกินไปแล้วก็ได้ เริ่มมองว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไรและเริ่มคิดว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งกับสิ่งที่คุณเลือกทำได้อย่างไร คุณสามารถทำแบบทดสอบหาจุดแข็งของตัวเองได้ที่ www.viacharacter.org.
    • ฉันจะทำอะไรกับชีวิตบ้าง ฉันกำลังทำอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ทำไมฉันถึงไม่ได้ทำ
    • ฉันพอใจกับสุขภาพหรือเปล่า ถ้าไม่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วทำอย่างไรฉันถึงจะอยู่ดีมีสุขแทนที่จะต้องเจ็บป่วยอยู่อย่างนี้
    • อะไรทำให้ฉันรู้สึกเติมเต็ม ฉันกำลังทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า หรือว่าฉันมัวแต่ยุ่งกับการเติมเต็มชีวิตของคนอื่น
    • อะไรสำคัญกับฉัน
  5. ถ้าคุณพยายามใช้ชีวิตให้ได้ตามความคาดหวังของคนอื่น คุณอาจจะพบคุณค่าของตัวเองได้ยาก แต่โชคร้ายที่หลายคนก็ใช้ชีวิตแบบนี้ ตั้งแต่การเลือกสาขาที่เรียน เส้นทางอาชีพ ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงมีลูกกี่คนตามความคาดหวังของพ่อแม่ คู่สมรส เพื่อนๆ และสื่อทั้งหมด [4]
    • อย่าไปฟังคนที่เสียใจกับสิ่งที่ตัวเองเลือกในชีวิตและคนที่โยนความเสียใจและ ความโกรธ ให้คนอื่นมากนัก เพราะพวกเขาจะให้ข้อมูลที่ไม่ดี รายละเอียดที่ผิดพลาด หรืออาจจะไม่ได้บอกอะไรคุณเลย
    • คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองเป็นอย่างดีจะแบ่งปันสิ่งที่เขาเข้าใจและได้เรียนรู้กับคุณ และเต็มใจที่จะช่วยให้คุณหลบหลุมพรางหลายๆ อย่างในชีวิตได้ มองหาคนเหล่านี้มาเป็นที่ปรึกษาให้คุณ
    • ปล่อยวางคุณค่าส่วนที่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของคนอื่นที่ติดตัวคุณมาตั้งแต่วัยเด็กทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ดูแล หรือเด็กคนอื่นที่โรงเรียน เพราะความคิดเห็นเหล่านั้นไม่ได้กำหนดตัวตนของคุณ ถ้าคนพวกนั้นทำให้คุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ให้หาหลักฐานอื่นๆ ในชีวิตที่พิสูจน์ว่าคนพวกนั้นพูดผิดเพื่อให้คุณปล่อยวางความคิดเห็นของพวกเขาไปได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

สร้างภาพลักษณ์แห่งตนเชิงบวก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพูดให้กำลังใจตัวเองแบบไม่เกินจริงเป็นสิ่งที่ดี และการพูดยืนยันคุณค่าของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณเลิกพูดเชิงลบกับตัวเองแบบที่คุณอาจจะเคยทำมาตลอดทั้งชีวิต กำหนดช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างวันเพื่อเตือนตัวเองว่าคุณเป็นคนที่เจ๋ง บอกตัวเองว่าคุณพิเศษ ยอดเยี่ยม น่ารัก และเป็นที่รักด้วย [5]
    • คำพูดยืนยันตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นตัวเองและหาเวลาเตือนตัวเองว่าคุณเป็นคนสำคัญเท่ากับคนอื่นๆ รอบตัวคุณ
    • คุณต้องพูดคำพูดยืนยันตัวเองแบบเจาะจง เช่น แทนที่จะพูดว่า "ฉันรักตัวเอง" ให้พูดว่า "ฉันรักตัวเองเพราะว่าฉันเป็นคนเก่งและจิตใจดี"
  2. ปัญหาอย่างหนึ่งของการพูดยืนยันตัวเองก็คือ ความรู้สึกที่ว่าการพูดยืนยันตัวเองเป็นเหมือนพลังเวทมนต์ที่ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองโดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณต้องลงมือทำบางสิ่งเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเองด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการรับรู้และยอมรับหน้าที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ [6]
    • ความรับผิดชอบ คือการตระหนักว่าคุณสามารถควบคุมทัศนคติ การตอบโต้ และความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองได้ เหมือนที่ Eleanor Roosevelt เคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีใครทำให้คุณรู้สึกด้อยค่าได้หากคุณไม่ยินยอม" ซึ่งถือเป็นแก่นแท้ของการไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะการปล่อยให้คนอื่นและสถานการณ์มาเป็นสิ่งที่ลดทอนคุณค่าของตัวคุณจะทำให้คุณย่ำอยู่กับที่
    • ยอมรับสิ่งที่เป็นผลมาจากสถานการณ์ ตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้น แม้ว่าจะมีคนอื่นเข้ามาขวางทางคุณ ก็ให้รับมือกับคนพวกนั้นให้ได้
  3. สร้างความมั่นใจในตนเอง . การเพิ่มความมั่นใจในตนเองเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้คุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเองในทางที่ดีมากขึ้น มีหลายเทคนิคที่คุณสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองได้ เช่น
    • หยุดความคิดเชิงลบ ทุกครั้งที่คุณมีความคิดเชิงลบขึ้นมา ให้บิดความคิดให้กลายเป็นบวก เช่น ถ้าคุณคิดกับตัวเองว่า “ฉันไม่มีวันสอบผ่านแน่ๆ” ก็ให้เปลี่ยนความคิดเป็น “ถ้าฉันตั้งใจอ่านหนังสือ ฉันจะต้องสอบผ่านแน่ๆ” [7]
    • กำจัดพลังเชิงลบออกไปจากสภาพแวดล้อมที่คุณอยู่ อยู่ท่ามกลางคนที่ทำให้คุณมีความสุขและคอยสนับสนุนคุณ อยู่ให้ห่างจากคนที่คิดลบและคนที่ชอบวิจารณ์ตัวเองหรือคนอื่น [8]
    • กล้าแสดงจุดยืน การเป็นคนกล้าแสดงจุดยืนจะช่วยให้คุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการและยังช่วยให้คุณมีความสุขขึ้นด้วย [9]
    • ตั้งเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง และอย่าลืมให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ [10]
    • ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักบำบัด สามารถช่วยคุณพัฒนาความมั่นใจในตนเองได้
  4. นอกจากนี้ความรับผิดชอบยังรวมถึงการที่คุณเลิกใช้ การกล่าวโทษ เป็นที่มาของการแก้ปัญหา เพราะการกล่าวโทษจะทำให้คุณไม่ได้มองและเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง การกล่าวโทษจะทำให้คุณไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองแม้ว่าสิ่งรอบข้างจะเปลี่ยนไป จมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ และทำให้รู้สึกสิ้นหวังต่อไปอีก เพราะการกล่าวโทษเป็นการบอกอ้อมๆ ว่าคนอื่นหรืออย่างอื่นมีอำนาจที่ คุณ ไม่มี [11]
    • อย่าโทษพ่อแม่ รัฐบาล เพื่อนบ้างที่อยู่ข้างๆ ถึงพวกเขาจะทำให้ชีวิตคุณลำบากขึ้น แต่ก็อย่านำสิ่งนี้มาเป็นข้ออ้างในการลดทอนคุณค่าของตัวเอง อย่าเรียกคะแนนความสงสาร เพราะเป็นความรับผิดชอบของคุณที่จะต้องก้าวต่อไปในฐานะมนุษย์ที่เข้มแข็งคนหนึ่ง
  5. สร้าง ความเข้มแข็ง ให้ตัวเอง. คนที่แข็งแกร่งจะมีความเข้มแข็งด้านอารมณ์ในการก้าวข้ามความยากลำบากในชีวิตโดยที่ตัวเองไม่แตกสลายไปเสียก่อน ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นการสบประมาทความยากลำบากและความท้าทายในชีวิตแต่อย่างใด แต่มันเป็นเรื่องของการที่ คุณ รับมือกับความยากลำบากและพยายามผ่านมันไปให้ได้ คุณเลือกได้เสมอว่าจะไม่ให้เกียรติตัวเอง หรือจะนึกถึงคุณค่าของตัวเองและแน่วแน่ในสิ่งที่คุณตัดสินใจ [12]
    • ในการสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองนั้น ให้คุณทุ่มเทพลังไปกับสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อปรับเปลี่ยนสถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อม ตระหนักว่าคนอื่นๆ ก็ตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมนี้เช่นเดียวกันและคนเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นคนกำหนดผลที่ตามมาโดยตรง
  6. พอคุณเลิกรู้สึกว่าตัวเองต้องคอยเอาใจคนอื่นได้แล้ว ความปรารถนาของคุณก็จะผุดขึ้นมาและคุณก็จะเริ่มทำในสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขและเห็นคุณค่าของตัวเองได้ [13]
    • แสดงความรู้สึกของตัวเอง แทนที่จะเก็บกดมันไว้ ซึ่งการทำเช่นนี้คุณจะต้องให้เคารพความรู้สึกของคนอื่นโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองติดหนี้บุญคุณใคร
  7. โอกาสปรากฏตัวในหลากหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าในตัวเองคือการเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงโอกาสไม่ว่ามันจะเล็กแค่ไหน และพยายามไล่ ตาม โอกาสนั้น [14]
    • เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นโอกาส คนที่ประสบความสำเร็จมักจะเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นโอกาส
    • พยายามมองว่าความท้าทายในชีวิตเป็นโอกาสที่จะทำให้คุณได้เติบโตเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น
  8. วางแผนการใช้เงิน . คุณค่าในตัวเองมักเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเงินของคนนั้นๆ อย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องประเมินโอกาสทางการเงินทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตด้วยความระมัดระวัง [15]
    • การเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุน และการเก็บเงินโดยทั่วไปเป็นสิ่งที่ช่วยรับรองว่าคุณจะมีชีวิตที่ดี และอิสรภาพทางการเงินจะทำให้คุณมีพื้นที่ในการสร้างคุณค่าในตนเองโดยไม่ต้องเจอกับแรงกดดันทางการเงิน
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เห็นคุณค่าของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้คุณค่าแก่ตัวเองไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรและมีรายได้เท่าไหร่. ในสังคมที่มักจะให้ค่ากับคนจากสิ่งที่เขา ทำ มากกว่าสิ่งที่เขา เป็น ก็มักมีความเสี่ยงที่เราจะประเมินคุณค่าของตัวเองต่ำเกินไปเพราะคุณค่าของเราไปผูกติดกับรายได้และเกียรติยศในหน้าที่การงาน ถ้าคุณเคยตอบว่า "อ๋อ ฉันก็เป็น แค่ ..." เวลามีคนถามว่า "คุณทำงานอะไร" ก็แสดงว่าคุณขาดการเห็นคุณค่าในตัวเอง คุณไม่ได้เป็น "แค่" อะไรก็แล้วแต่ แต่คุณเป็นมนุษย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่า น่าทึ่ง และมีความสำคัญเช่นกัน [16]
  2. ถ้าคุณทำงานอาสาสมัครหรืองานให้ความช่วยเหลือรายได้ต่ำที่กินเวลาของคุณมากเกินกว่าที่คุณจะรับไหว และคุณก็ละเลยด้านอื่นๆ ของชีวิตไป เช่น การหางานทำ การอยู่กับครอบครัว หรือการทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะติดอยู่กับระบบคุณค่าที่ต่อสู้กันอยู่ [17]
    • ระบบคุณค่าอย่างแรกคือระบบคุณค่าที่บอกให้เราเป็นอาสาสมัครหรือให้บริการชุมชนแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม เพราะมันเป็นทั้งสิ่งที่น่ายกย่องและสำคัญต่อการรู้สึกถึงความเป็นอยู่ที่ดี ระบบคุณค่าอย่างที่สองคือระบบที่ให้รางวัลเราจากการที่เรารู้คุณค่าของตัวเองและจากการที่เราคาดหวังว่าจะมีสิ่งตอบแทนดีๆ จากสิ่งที่เราทำประโยชน์ให้แก่สังคม
    • สองคุณค่าที่แข่งขันกันอยู่นี้สร้าง ความเครียด ให้กับคนจิตใจดีหลายคนที่อยากจะเป็นผู้ให้ แต่พบว่าตัวเองติดปัญหาเรื่องไม่มีเวลา ไม่มีเงิน และความรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอจากการทำหลายๆ สิ่งพร้อมกัน
    • สุดท้ายแล้วสิ่งนี้จะนำไปสู่หนึ่งในอาการต่อไปนี้หรือมากกว่า ได้แก่ ป่วย ระเบิดอารมณ์ออกมา เดินจากไปตลอดกาล ไม่พอใจกับเวลาที่เสียไป และ/หรือสร้างสมดุลไม่ดีที่ไม่ได้กระทบแค่คุณคนเดียว แต่ยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูกๆ เพื่อนๆ และคนอื่นๆ ที่กำลังมองคุณอยู่ด้วย เวลาที่คุณรู้สึกว่าตัวเองจะต้องลดความสำคัญของพรสวรรค์และทักษะของตัวเองลงมาเพื่อทำงานให้คนอื่นๆ แบบฟรีๆ หรือได้ค่าจ้างน้อยมาก ให้เอาเวลาของคุณกลับคืนมาและเริ่มให้คุณค่ากับตัวเองมากยิ่งขึ้น
  3. รักษาสมดุลระหว่างเวลาที่คุณให้คนอื่นกับเวลาที่คุณใช้ในชีวิตของตัวเอง. คุณให้เวลากับครอบครัวและ/หรือเพื่อนๆ ได้มากกว่านี้ไหม ถ้าคำตอบของคำถามนี้คือได้ ให้รู้ไว้เลยว่าความมั่งคั่งของคุณซ่อนอยู่ในเวลาที่คุณจะได้ใช้เพื่อตัวเองและคนที่คุณรักและการลดเวลาที่คุณให้คนอื่น เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว คุณก็จะเข้าสู่เส้นทางของคุณค่าในตนเองที่เพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดาย
    • ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเลิกช่วยคนอื่นไปเลย แต่ว่าคุณจะต้องปรับมุมมองที่มีต่อการบริการเพื่อสังคมหรือภาระผูกพันที่จะต้องช่วยคนอื่นเสียใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วตัวคุณคือสิ่งที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด [18]
  4. ตั้งใจสร้างคุณค่าในตนเองต่อไปในฐานะส่วนสำคัญของการสร้างตัวตนอันสมบูรณ์ของคุณ หาเวลาประเมินความก้าวหน้าในการสร้างคุณค่าในตัวเองเป็นประจำและ อดทนไว้ เพราะการเลิกพูดเชิงลบกับตัวเองและเลิกให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นคนสุดท้ายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา หากรูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่คุณมีกับคนอื่นคือการถ่อมตัวให้มากที่สุดมาโดยตลอด มันก็จะต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำได้แน่ๆ 100% [19]
    • จะมีบางคนที่มองว่าคุณคนใหม่ที่ กล้าแสดงจุดยืนมากกว่าเดิม ดูโผงผางขึ้นเล็กน้อย แต่อย่าให้สิ่งนั้นมากวนใจคุณเพราะว่านี่คือเส้นทางชีวิตของคุณ ไม่ใช่ของพวกเขา! คุณกำลังสร้างความเคารพระหว่างที่คุณเดินตามเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนชอบเอาใจคนอื่นไม่ค่อยมี
  5. อยู่กับปัจจุบัน . อดีตให้บทเรียน แต่ช่วงเวลาที่สำคัญจริงๆ คือช่วงเวลาในปัจจุบัน เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นช่วงเวลาเดียวที่คุณมีอยู่ "จริงๆ" ไม่มีอะไรที่แน่นอนไปกว่านี้แล้ว และถ้าช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่คุณอยากจะอยู่ ให้พยายามอยู่กับมันให้ได้เพื่อให้ช่วงเวลาถัดไปกลายเป็นช่วงเวลาที่คุณอยากจะอยู่
    • มีสมุดบันทึกความสำเร็จ ทุกครั้งที่คุณอยากดูถูกตัวเองและคร่ำครวญว่าคุณไปไม่ถึงไหนเลย ให้ชงกาแฟ นั่งสบายๆ หยิบสมุดเล่มนี้ขึ้นมาแล้วพลิกอ่าน คุณมีความสำเร็จอะไรจะเขียนเพิ่มเติมระหว่างที่นั่งอยู่ไหม
    • แข่งกับตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น ความสำเร็จเหล่านั้นเป็นเรื่องของสิ่งที่ คุณ ทำและความสำเร็จเหล่านั้นมันทำให้ คุณ รู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ว่าคนอื่นมองความสำเร็จนั้นอย่างไรหรือว่าอะไรที่คนอื่นเขาก็ทำเหมือนๆ กัน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คนเรามักจะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ทุก 10 ปี ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและคิดถึงความรู้ทั้งหมดที่คุณได้สั่งสมมาและใช้ประโยชน์จากมัน
  • ระวังอย่าใช้คำพูดซ้ำซากแทนที่จะเป็นคำพูดยืนยันตัวเอง เพราะในแง่ของการสร้างคุณค่าในตัวเองนั้น คำพูดซ้ำซากเป็นเหมือนคำเปรียบ คำพูดให้กำลังใจ หรือความรู้ที่ยอมรับต่อๆ กันมาโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตคุณเลย
  • ทุกคนที่คุณพบล้วนเป็นบ่อทองของประสบการณ์ สนใจผู้อื่นและเต็มใจที่จะใช้เวลากับพวกเขาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การรับฟังคนจากหลากหลายพื้นเพและปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาและความวิตกกังวลในชีวิตเสียใหม่ก็ช่วยได้เหมือนกัน
  • ปล่อยวางอดีต กำหนดจิตไปที่ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ความอ่อนน้อมคือมารดาของการสรรเสริญ ความเคารพคือบิดาของความปรองดอง และความรักอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบเดียวกับที่คุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อคุณ!
โฆษณา

คำเตือน

  • การกำหนดให้ตัวเองทำหลายสิ่งหลายอย่างอาจทำให้ใจคุณรับไม่ไหว และในขณะที่รายการสิ่งที่ต้องทำมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะลดทอนคุณค่าของคุณไปด้วยโดยการบอกว่ามีอะไรที่คุณยังไม่ได้ทำบ้าง บางครั้งมันอาจทำให้คุณเข้าใจผิดไปว่าคุณสามารถทำในสิ่งที่คุณทำไม่ได้และไม่สามารถทำในสิ่งที่คุณทำได้ หยุดพักสักนิดและประเมินทิศทางชีวิตของตัวเองเสียใหม่อยู่เป็นประจำ
  1. https://blogs.scientificamerican.com/scicurious-brain/the-superiority-illusion-where-everyone-is-above-average/
  2. http://www.mentalhealthamerica.net/conditions/ideas-building-healthy-self-image-and-improving-self-esteem
  3. https://www.psychologytoday.com/us/blog/psychology-tomorrow/201802/know-thyself-is-not-just-silly-advice
  4. https://blogs.psychcentral.com/imperfect/2018/05/dont-rely-on-others-to-validate-your-feelings/
  5. https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-athletes-way/201212/choosing-positive-words-improves-mindset-and-performance
  6. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/ejsp.1873
  7. https://psychcentral.com/lib/replacing-your-negative-thoughts/
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK53409/
  9. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/assertive/art-20044644
  10. https://www.apa.org/pubs/highlights/spotlight/issue-101.aspx
  11. https://greatergood.berkeley.edu/article/item/the_healthy_way_to_forgive_yourself
  12. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17014296
  13. https://www.psychologytoday.com/us/blog/shrink/201210/are-you-people-pleaser
  14. https://www.psychologytoday.com/us/blog/what-doesnt-kill-us/201611/how-see-challenges-opportunities
  15. https://www.moneyadviceservice.org.uk/en/articles/beginners-guide-to-managing-your-money
  16. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16262767
  17. http://positivepsychology.org.uk/our-sense-and-values-of-time/
  18. https://bia.ca/a-report-on-the-importance-of-work-life-balance/
  19. https://www.psychologytoday.com/us/blog/emotional-freedom/201209/the-power-patience
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 14,107 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา