ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

หนูตะเภาตัวเมีย หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "sow" ถ้าตั้งท้องขึ้นมาเมื่อไหร่ละก็ ต้องระวังเรื่องอาการแทรกซ้อนให้ดี เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษจากการเผาผลาญที่ไม่สมดุลย์ (toxaemia) คลอดยาก (dystocia) และความผิดปกติอื่นๆ หลังคลอด (post-partum difficulties) เช่น อาการชักเกร็งเพราะระดับแคลเซียมต่ำ [1] ถ้าคุณสันนิษฐานว่าหนูตะเภาตัวเมียของคุณน่าจะตั้งท้อง ให้รีบเอาไปหาหมอจะดีที่สุด อย่างไรก็ดี มีบางอาการที่คุณสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

สังเกตอาการด้วยตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. Boar ก็คือหนูตะเภาตัวผู้ ถ้าปล่อยหนูตัวเมียไว้ใกล้ๆ หนูตัวผู้ มันก็จะพยายามผสมพันธุ์กัน รับรองว่าแป๊บเดียวเดี๋ยวก็มีเจ้าตัวน้อย
    • หนูตะเภาตัวเมียจะแตกเนื้อสาวพร้อมผสมพันธุ์ก็เมื่ออายุได้ 2 เดือน เพราะฉะนั้นถึงคุณจะคิดว่าน้องหนูของคุณยังเล็กอยู่ แต่จริงๆ มันก็พร้อมมีทายาทได้ทันทีขอแค่มีตัวผู้อยู่ใกล้ๆ เท่านั้นแหละ
  2. ยิ่งท้องแก่เท่าไหร่ หนูตะเภาตัวเมียก็จะยิ่งกินดื่มมากขึ้นเท่านั้น บางทีอาจจะมากเป็น 3 เท่าของปริมาณปกติที่เคยกินด้วยซ้ำ ส่วนน้ำก็ดื่มมากขึ้นเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ ปริมาณ "ปกติ" ที่หนูแต่ละตัวกินก็จะแตกต่างกันไป เจ้าของอย่างคุณก็ต้องคอยสังเกตดู
    • แต่ก็อย่าเพิ่งเหมาว่าหนูตะเภาของคุณท้องแค่เพราะมันกินอาหารหรือดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปกติล่ะ เป็นเรื่องปกติของสัตว์แทบทุกชนิดเลย ที่จะกินจุเวลาหนาว กำลังโต หรือเวลาป่วยด้วยโรคบางอย่าง [2]
  3. หนูตะเภาของคุณจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นแบบเห็นได้ชัดเลยถ้ากำลังท้องอยู่ จากที่ปกติจะหนักประมาณ 0.5 - 1 กิโลกรัม [3] โดยทั่วไป พอถึงช่วงใกล้คลอด หนูตะเภาจะหนักเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว เพราะลูกหนูจะหนักกว่าครึ่งของน้ำหนักตัวแม่ทีเดียว
    • วิธีที่ดีที่สุดคือให้หมั่นชั่งน้ำหนักของหนูตัวเมีย (ทุกอาทิตย์กำลังดี) แล้วจดบันทึกไว้ จะได้รู้เวลาน้ำหนักของหนูเปลี่ยนแปลง แล้วดูว่าเข้าเกณฑ์น้ำหนักเพิ่มเพราะท้องหรือเปล่า
    • แต่ถ้าหนูตัวเมียของคุณยังไม่โตเต็มวัย คืออายุน้อยกว่า 6 - 8 เดือน ก็แปลว่ามันยังโตได้อีก ถึงน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้บอกเป็นนัยว่ากำลังท้องแต่อย่างใด
  4. ถ้าคุณลองเอามือคลำที่ท้องของหนูเบาๆ อาจจะรู้สึกได้ถึงตัวอ่อน ในกรณีที่หนูท้องจริงๆ นะ โดยทั่วไปแล้วจะคลำเจอก็ต่อเมื่อผสมพันธุ์กันประมาณ 2 อาทิตย์ขึ้นไป เวลาจะจับตัวหนูตะเภาต้องจับอย่างเบามือ ห้ามทำแรงเด็ดขาด โดยเฉพาะตอนคลำท้องหาตัวอ่อน ห้ามกดหรือบีบเพราะลูกหนูหรือตัวแม่หนูเองจะเป็นอันตรายได้ [4]
    • เวลาจะคลำหาลูกหนูในท้อง ให้วางหนูตะเภาของคุณบนผ้าที่ปูอยู่บนพื้นราบ หนูจะได้ไม่ลื่นหล่น ให้คุณถือหนูไว้ให้มั่นในมือข้างที่ไม่ถนัด โดยจับตรงแถวๆ ไหล่หรือก็คือลำตัว ให้หน้าหนูหันออกไปจากตัวคุณ แล้วคลำท้องเบาๆ ด้วยมือข้างที่ถนัด เริ่มจากงอนิ้วโป้งกับนิ้วชี้เป็นรูปตัว "C" แล้วลากนิ้วโป้งไปตามหน้าท้องของหนู ส่วนนิ้วชี้ให้อยู่ใต้ท้อง กดเบาๆ ย้ำว่าเบาๆ เพื่อดูว่ามีก้อนอะไรนูนๆ ขึ้นมาหรือเปล่า
    • เวลาหนูตะเภาตั้งท้อง จะมีลูกตั้งแต่ 1 ตัวไปจนถึง 3 - 4 ตัว เพราะงั้นถ้าหนูตะเภาของคุณมีลูกหลายตัว คุณก็จะคลำเจอก้อนขนาดเท่าๆ กัน กระจายไปทั่วท้องของแม่หนูตะเภา
    • แต่บางทีเวลาคลำเจอก้อนบางอย่างในท้องของหนู ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นลูกหนูเสมอไป ทั้งไต กระเพาะปัสสาวะ กระทั่งอุนจิหนูเป็นเม็ดๆ ถ้าคลำเจอก็อาจเผลอเข้าใจว่าเป็นตัวอ่อนได้ทั้งนั้น นี่ยังไม่รวมซีสต์ที่รังไข่หรือเนื้องอกอีกนะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณคลำเจอก้อนอะไรก็ตามในท้องหนู แล้วไม่แน่ใจว่าคืออะไร ก็พาไปหาหมอจะดีกว่า
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

พาหนูไปหาหมอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณสันนิษฐานว่าหนูตะเภาของคุณท้องแน่ๆ ก็เอาไปหาหมอตรวจให้ชัดกันไปเลยจะดีกว่า ลำพังแค่เอามือคลำๆ คุณบอกไม่ได้หรอกว่าตกลงท้องจริงหรือเปล่า จนกว่าคุณหมอที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้จะตรวจวินิจฉัยหนูตะเภาของคุณ
  2. แค่คุณหมอเขาคลำท้องดูก็พอจะรู้แล้วว่าหนูตะเภาของคุณท้องหรือเป็นก้อนอย่างอื่นกันแน่ คนธรรมดาอย่างเราๆ ฟันธงไม่ได้หรอก พอตรวจร่างกายแล้วคุณหมอก็จะบอกเองว่าตกลงหนูของคุณตั้งท้องหรือเปล่า แต่ในบางเคสก็อาจต้องมีการทดสอบบางอย่างเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ในข้อถัดไป) [5]
    • คุณหมออาจตรวจได้ละเอียดถึงขั้นได้ยินเสียงหัวใจของลูกหนูดังมาจากในท้องแม่เลยด้วยซ้ำ [6]
  3. การทำอัลตร้าซาวด์ถือเป็นเรื่องจำเป็นเวลาจะตรวจวินิจฉัยการตั้งท้องของหนูตะเภา เพราะหนูตะเภาไม่เหมือนสัตว์ประเภทอื่น ถ้าฝืนเอาไปเจาะเลือดอาจทำเอาหนูตะเภาเครียดหรือกลัวจนเป็นอันตรายได้ อีกเหตุผลคือยังไม่มีใครทำที่ตรวจการตั้งท้องของหนูตะเภาออกมานี่สิ [7]
    • การทำอัลตร้าซาวด์จะทำให้คุณเห็นภาพออกมาเลยว่าตกลงแล้วไอ้เจ้าก้อนในท้องน่ะใช่ลูกหนูจริงหรือเปล่า
    • การทำอัลตร้าซาวด์หนูตะเภานั้น ต้องมีการโกนขนบริเวณหน้าท้องให้เป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ซะก่อน แล้วทาเจลตรงที่โกนขนออกไป จากนั้นก็เอาหัวตรวจมาแนบตรงท้อง แล้วปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบที่มนุษย์อย่างเราจะไม่ได้ยินออกไป หัวตรวจจะบันทึกคลื่นเสียงที่สะท้อนตอบมาเป็นข้อมูลเกี่ยวกับขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ข้อมูลที่ว่าจะถูกแปลงออกมาเป็นภาพ หรือพูดง่ายๆ ก็คือคุณจะได้เห็นภาพภายในท้องของหนูตะเภานั่นเอง และคุณหมอก็จะบอกได้เลยว่าตกลงหนูของคุณท้องหรือเป็นอะไรกันแน่
    • การทำอัลตร้าซาวด์นั้นหนูไม่ต้องเลือดตกยางออก เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องใช้ยาชาแต่อย่างใด
  4. ถ้าตกลงหนูตะเภาตั้งท้อง ให้สอบถามวิธีดูแลจากคุณหมอ. ถ้าคุณหมอยืนยันว่าหนูตะเภาของคุณตั้งท้อง ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาก็คือคุณต้องรู้จักวิธีดูแลแม่หนูและลูกหนูอย่างถูกต้องเหมาะสม การตั้งท้องทำให้อวัยวะภายในต่างๆ และระบบไหลเวียนเลือดของแม่หนูทำงานหนัก แถมหนูยังเป็นสัตว์จำพวกที่ท้องเมื่อไหร่จะมีความเสี่ยงสูงถึง 1 ใน 5 ที่จะตายจากโรคแทรกซ้อนระหว่างท้องหรือหลังคลอด [8]
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ดูแลหนูตะเภาที่ตั้งท้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าหนูท้องไปตามปกติคุณก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาเมื่อไหร่ ต้องแน่ใจว่าสามารถติดต่อคุณหมอได้ในทันที โอกาสเกิดความเสี่ยงมักเป็นกรณีที่หนูของคุณแก่เกินไปหรือเด็กเกินไป หรือเพิ่งเคยท้องเป็นครั้งแรก [9]
    • พยายามเลือกสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสัตว์ฟันแทะและสัตว์เล็กอื่นๆ คุณหมอเฉพาะทางยังไงก็อุ่นใจกว่าสัตวแพทย์ทั่วไป
  2. ถ้าคุณมีหนูตัวเมียหลายตัว ให้รีบย้ายหนูตัวผู้ออกไปโดยด่วน จะได้ตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ตัวอื่นท้องตามมา แต่ถึงคุณจะมีหนูตัวเมียแค่ตัวเดียว คุณก็ควรจะย้ายหนูตัวผู้ออกไปก่อนหนูตัวเมียท้องได้ 60 วันอยู่ดี ที่ว่าย้ายหมายถึงแยกออกไปใส่กรงข้างๆ นะ อย่างน้อยทั้ง 2 ตัวจะได้ยังมองเห็น ใกล้ชิดกันอยู่ เพราะถ้าตัวผู้ไม่เห็นหน้าหรือไม่ได้ยินเสียงคู่ของตัวเองละก็ อาจจะเครียดขึ้นมาจนถึงขั้นเจ็บป่วยได้
    • ถึงหนูตัวเมียจะท้องอยู่ หนูตัวผู้ก็จะยังพยายามขึ้นขี่ผสมพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้ตัวเมียเครียดหรือบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะช่วงท้องแก่ (50 วันขึ้นไป) ที่สำคัญคือคลอดได้ไม่ทันไร หนูตัวเมียก็พร้อมท้องใหม่ใน 2 ชั่วโมงต่อมานี่สิ
  3. คุณต้องแน่ใจว่าได้เตรียมน้ำและอาหารหลักอาหารเสริมต่างๆ ให้แม่หนูเรียบร้อยแล้ว เพราะเรื่องพวกนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกหนู
    • เปลี่ยนจากหญ้าทิโมธิ (timothy hay) มาให้หนูกินหญ้าอัลฟัลฟ่า (alfalfa hay) แทน เพราะมีโปรตีนและแคลเซียมสูงกว่า
    • พอพ้น 4 อาทิตย์ไป ต้องเพิ่มวิตามินซีให้หนู เพิ่มเป็น 2 เท่าเลยยิ่งดี โดยให้หนูกินผักผลไม้สดที่อุดมวิตามินซีมากขึ้น
    • นอกจากนี้ก็ต้องเพิ่มปริมาณไฟเบอร์หรืออาหารที่เป็นกากใยด้วย เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ขนร่วง อันเป็นอาการที่มักเกิดกับหนูท้องแก่ใกล้คลอด
  4. ต้องชั่งน้ำหนักแม่หนูที่กำลังท้อง 2 ครั้งต่ออาทิตย์ จะได้แน่ใจว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้น (ไม่ใช่น้ำหนักลดลง) และร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี (เช่น กินอาหารจนหมด ไม่เซื่องซึม และร่าเริงกระฉับกระเฉง เป็นต้น)
    • ถ้าอยู่ๆ แม่หนูก็น้ำหนักลดลง หรือเริ่มแสดงอาการเจ็บป่วย ให้รีบปรึกษาคุณหมอทันที
  5. พยายามจัดกิจวัตรประจำวันให้หนูตะเภาที่ตั้งท้อง จะได้ช่วยผ่อนคลายความเครียดที่อาจทำให้หนูท้องเกิดโรคแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายได้
    • อย่าไปปรับเปลี่ยนที่อยู่ที่กินของหนูท้อง อย่างหยิบของเล่นออก หรือยกกรงไปตั้งในสถานที่ใหม่ เพราะเดี๋ยวหนูจะเครียดจนพาลไม่กินข้าวกินน้ำได้ [10]
    • อย่าให้หนูอยู่ในที่ที่เสียงดังหรือมีแสงสว่างจ้า ที่ที่โดนแดดตรงๆ ก็ไม่ได้
    • หยิบจับหรือแตะต้องตัวหนูให้น้อยที่สุด ที่สำคัญคือหลังหนูคลอดลูก ภายใน 2 อาทิตย์อย่าเพิ่งรีบยกหนูขึ้นมา ระยะการตั้งท้องของหนูปกติจะอยู่ที่ประมาณ 66 - 72 วัน [11]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • Dystochia คือภาวะคลอดยาก โดยลูกหนูไม่สามารถคลอดออกมาได้เพราะปากมดลูกของแม่หนูไม่เปิดกว้างเต็มที่ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าคลอดทันที ถ้าขืนปล่อยไว้ละก็ อาจจะตายทั้งแม่และลูกได้
  • Toxemia หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดจากการเผาผลาญที่ไม่สมดุลย์ ทำให้หนูตะเภาเจ็บป่วยร้ายแรง เวลาแม่หนูขาดแคลเซียมก็อาจแสดงอาการคล้ายๆ กัน เพียงแต่นั่นเป็นเพราะแคลเซียมไม่สมดุลย์ ถ้าเป็น toxemia จะเกิดจากโรคแทรกซ้อนภายใน อย่างเลือดไปเลี้ยงมดลูกไม่พอ อาการที่มักพบก็คือไม่ยอมกินอาหาร เซื่องซึม และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ให้คุณรีบพาไปหาหมอทันที แต่โอกาสรอดก็มีน้อยเหมือนกัน
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าปล่อยให้หนูตะเภาของคุณออกลูกบ่อยๆ หรือคิดเพาะพันธุ์เพื่อการค้าเลย รู้ไหมว่าแม่หนูเสี่ยงมากเวลาท้อง โดยเฉพาะหนูที่แก่กว่า 8 เดือนขึ้นไปหรือเด็กกว่า 3 เดือน และหนูอายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีลูกมาแล้ว 2 ครอก [12]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 25,596 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา