ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การทำร้ายตัวเอง หมายถึง เวลาที่คนๆ หนึ่ง จงใจทำร้ายตัวเอง เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ หรือความรู้สึกที่ท่วมท้นในจิตใจ อย่างไรก็ตาม การทำร้ายตัวเองอาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นในชั่วครู่ยาม และช่วยให้คุณผ่านพ้นสถานการณ์ในระยะสั้นไปได้ แต่ในระยะยาว มันอาจจะทำให้คุณรู้สึกแย่ลง และยังทำให้คุณตกอยู่ในอันตรายด้วย เพราะไม่มียาวิเศษใดๆ ที่จะหยุดยั้งการทำร้ายตัวเองได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวยังเป็นเรื่องยาก และมันง่ายที่จะกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเดิมอีกครั้ง กระบวนการในการฟื้นฟูตัวเอง ย่อมจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา และการกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกก็ย่อมเป็นไปได้ ดังนั้น หากคุณมีพฤติกรรมดังกล่าว มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีความเมตตาต่อตัวเอง และไม่ตำหนิตัวเอง ขอแค่เริ่มต้นกระบวนการที่จะฟื้นฟูตัวเอง ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่มีความหมายมากแล้ว

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 6:

ลงมือยับยั้งการทำร้ายตัวเองแบบทันท่วงที

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณมีแนวโน้มรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ลองทบทวนดูว่า มีใครพอที่จะให้คุณไปอยู่กับพวกเขาได้บ้าง มันอาจจะเป็นวิธีแก้ไขแบบเรียบง่ายอย่างเช่น การไปอยู่ในห้องนั่งเล่นกับสมาชิกในครอบครัวของคุณ หรือกับเพื่อนร่วมห้องของคุณก็ได้ คุณยังอาจเลือกที่จะไปอยู่ในที่สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟ หรือ ลานจอดรถสาธารณะ ไม่ว่าคุณจะเลือกทำสิ่งใดหรืออยู่ที่ไหน ขอแค่ตัดสินใจที่จะหยุดยั้งการทำร้ายตัวเองให้ได้ก็พอ และขอให้แน่ใจว่า คุณได้อยู่ท่ามกลางผู้อื่นด้วย.
  2. หากคุณอยู่ตัวคนเดียวเพียงลำพังในบ้าน หรือไม่สามารถที่จะออกนอกบ้านได้ ก็อาจใช้วิธีโทรหาใครสักคน ซึ่งอาจรวมถึงสมาชิกในครอบครัว เพื่อนที่คุณไว้ใจ หรือสายด่วนฮอตไลน์ของหน่วยงานต่างๆ สายด่วนฮอตไลน์หลายที่มีให้บริการสำหรับคนที่กำลังเอาชนะความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง และยังมีแหล่งข้อมูลมากมายในการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว
    • มันจะเป็นประโยชน์มากหากคุณเก็บรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคนที่คุณสามารถโทรหาได้ในยามฉุกเฉิน
    • อย่าลืมบันทึกหมายเลขเหล่านี้ไว้ในโทรศัพท์ของคุณด้วย:
      • บริการสายด่วนหมายเลข 1323 ของกรมสุขภาพจิต ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อคุณต้องการคำปรึกษา
      • บริการสายด่วนหมายเลข 1667 ของกรมสุขภาพจิต ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน และยังสามารถโทรฟรีทั้งโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือ
      • คุณสามารถโทรแจ้งหมายเลข 1554 ของหน่วยแพทย์วชิระพยาบาล ในกรณีที่คุณหรือคนรอบข้างพลั้งเผลอทำร้ายตัวเองไปแล้ว และต้องการเข้ารับการรักษา
    • คุณยังอาจลองพูดคุยระบายกับวัตถุอื่นๆ ได้ด้วย เช่น สัตว์เลี้ยง ภาพถ่าย โปสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งสัตว์หรือสิ่งของเหล่านี้สามารถที่จะรับฟัง โดยไม่ตัดสินคุณ
  3. ขอความช่วยเหลือหากมีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย. หากคุณกำลังคิดฆ่าตัวตาย ควรมองหาความช่วยเหลือโดยทันที คุณอาจจะโทรไปที่สายด่วนออนไลน์กรมสุขภาพจิตตามหมายเลขข้างต้น หรือแจ้ง 191 ในกรณีฉุกเฉินร้ายแรง ทั้งนี้ สัญญาณบอกเหตุต่อไปนี้ จะเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกให้คุณรับมือภาวะดังกล่าวของคนรอบข้างได้: [1]
    • พูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง
    • มองหาวิธีในการฆ่าตัวตาย
    • พูดเปรยเกี่ยวกับความรู้สึกสิ้นหวัง
    • พูดในทำนองว่า ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อไป
  4. หากคุณพบว่าตัวเองมีความคิดวนเวียนอยู่กับการทำร้ายตัวเอง วิธีแก้อย่างหนึ่งคือ การวาดเครื่องหมายเอาไว้บนร่างกายของคุณ โดยเน้นไปที่บริเวณซึ่งคุณคิดจะทำร้ายตัวเอง น้ำหมึกจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้คุณ [2]
  5. การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการทำร้ายตัวเอง ในกรณีที่คุณรู้สึกอยากทำเช่นนั้น หรือช่วยยับยั้งคุณในขณะที่กำลังทำร้ายตัวเองก็ได้ มันสำคัญมากที่จะต้องค้นหาว่า สิ่งใดจะสามารถเบียงเบนความสนใจคุณได้บ้าง บางครั้งสิ่งเร้าหรือความต้องการดังกล่าว จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้น ซึ่งหมายความว่า วิธีการที่เราจะใช้ป้องกันหรือยับยั้งการทำร้ายตัวเอง ก็จะแตกต่างกันด้วย [3]
    • ทำสีผม
    • ชงชาดื่ม
    • นับ 1 - 500 หรือ 1000.
    • หาเกมฝึกสมองมาเล่น
    • ออกไปเดินดูผู้คน
    • เล่นเครื่องดนตรี
    • ดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์
    • ทาสีเล็บ
    • จัดหนังสือหรือตู้เสื้อผ้าของคุณ
    • พับกระดาษเพื่อไม่ให้มือว่าง
    • เล่นกีฬา
    • เดินเล่น
    • เต้นด้วยท่าโปรดของคุณ
    • ทำงานศิลปะหรือระบายสีภาพวาด
  6. การยืดเวลาในการทำร้ายตัวเองออกไป เวลาที่คุณรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง เป็นอีกวิธีหนึ่งในการยับยั้งวัฏจักรการทำร้ายตัวเอง คุณอาจเริ่มด้วยการพยายามยื้อเอาไว้ให้ได้สัก 10 นาทีและดูว่าอารมณ์ดังกล่าวผ่านไปหรือยัง หากคุณยังคงรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองอยู่ ก็พยายามยื้อให้ได้อีก 10 นาที
  7. ใช้วิธีเตือนตัวเองเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว. หากคุณเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่ต้องการทำร้ายตัวเอง คุณต้องพูดคุยกับตัวเอง ด้วยการแนะนำทางเลือกที่มีอยู่ให้กับตัวเอง
    • บอกตัวเองว่า คุณไม่อยากมีรอยแผลเป็น
    • จำไว้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องทำร้ายตัวเองทุกครั้งที่รู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง
    • กล่าวซ้ำกับตัวเองว่า “ฉันไม่ควรที่จะต้องได้รับความเจ็บปวด" แม้ว่าคุณจะยังไม่เชื่อเช่นนั้นก็ตาม
    • จำไว้ว่า คุณมีทางเลือกที่จะไม่กรีดข้อมือตัวเองเสมอ จะเลือกทางไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณเท่านั้น
  8. นำอุปกรณ์ที่สามารถทำร้ายร่างกายตัวเองได้ออกไปจากที่พัก. คุณควรนำอุปกรณ์ต่างๆ ให้ออกไปห่างจากตัวบ้านหรือที่พักของคุณ เช่น มีด ไฟแช็ค หรืออะไรก็ตามที่คุณอาจจะใช้ แม้แต่สิ่งที่เก็บซ่อนไว้ ก็ต้องเอาไปทิ้งให้หมด
    • การนำไปทิ้งอาจยังยังไม่เพียงพอ แต่คุณต้องให้แน่ใจได้ว่า คุณจะไม่สามารถนำมันมาใช้ได้อีก ต่อให้มันอยู่ในถังขยะแล้วก็ตาม คุณอาจนำมันไปฝากไว้กับคนอื่นเลยก็ได้
    • คุณยังอาจจะทำสัญลักษณ์ “ป้ายหลุมศพ” เอาไว้บนอุปกรณ์เหล่านั้น และโยนมันทิ้ง หรือฝังมันลงไป และกล่าวเสียงดังว่า “ฉันไม่ต้องการพวกแกอีกแล้ว”
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 6:

ตระหนักว่า สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การทำร้ายตัวเองมีหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การทำร้ายอวัยวะต่างๆ ของตัวเอง (เช่นการกรีดข้อมือ) ไปจนถึงการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรือเป็นอันตราย (เช่นการขับรถในขณะที่กำลังมึนเมา) รวมถึงการไม่ใส่ใจต่อความต้องการของตัวเอง (เช่น ไม่ยอมกินยาที่หมอให้มา
    • การทำร้ายตัวเอง อาจจะรวมถึงความคิดฆ่าตัวตายด้วยหรือไม่ก็ได้ [4]
    • นอกจากนี้ การทำร้ายตัวเองยังอาจเป็นผลจากอาการทางจิตประเภทต่างๆ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือความผิดปกติทางจิตประเภทอื่นๆ [5]
  2. ตระหนักว่า การทำร้ายตัวเองเป็นพฤติกรรมที่มีภาวะเหมือนเสพติด. มีรายงานว่า พฤติกรรมการทำร้ายตัวเองนับเป็นภาวะเหมือนการเสพติดประเภทหนึ่ง เมื่อคุณหรือใครบางคนต้องการทำร้ายตัวเอง สมองจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ที่ทำให้ “รู้สึกดี" ออกมา [6] [7] มันจึงยากที่จะปรับเปลี่ยนวงจรพฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง โดยเฉพาะในขณะที่คุณพยายามที่จะหาทางเลือกอื่น ที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารที่ทำให้รู้สึกดีเช่นนั้น จึงจะต้องลองผิดลองถูกกันสักพัก กว่าที่คุณจะได้ค้นพบทางออกที่เป็นผลดีกับคุณ
  3. เหตุผลที่คุณหรือคนที่คุณรักทำร้ายตัวเอง อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ เหตุผลส่วนใหญ่รวมถึง การทำไปเพื่อต้องการรู้สึกบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงต่างๆ เช่น ความโกรธ ความรู้สึกผิด ความกังวล ความรู้สึกแปลกแยก ความเศร้าโศก หรือความสิ้นหวัง นอกจากนี้ การทำร้ายตัวเองยังอาจเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกเหล่านั้นด้วย และยังเป็นไปได้ว่า อาจใช้การทำร้ายตัวเองเพื่อให้รู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมร่างกายตัวเอง เมื่ออยู่ในภาวะที่รู้สึกขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง บางคนอาจจะทำร้ายตัวเองเพื่อให้รู้สึกอะไรบางอย่าง ในช่วงเวลาที่พวกเขาด้านชาทางอารมณ์ความรู้สึก และยังอาจทำไปเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่ตนเองประสบมา รวมถึงภาวะอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลด้วย [8]
    • การค้นหาตัวกระตุ้นความรู้สึก เป็นหนึ่งในก้าวแรกสำหรับการเยียวยาจิตใจตัวเอง หากสาเหตุหรือสิ่งเร้าที่ซ่อนอยู่ในใจ ไม่ได้รับการค้นพบ คุณก็จำเป็นต้องรับมือกับพฤติกรรมดังกล่าวอยู่เรื่อยไป [9]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 6:

ปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดในเชิงลบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การที่จะเข้าใจแนวคิดที่ส่งผลให้คุณทำร้ายตัวเอง ก่อนอื่น คุณจำเป็นต้องตระหนักในความคิดของตัวเองก่อน ซึ่งกระบวนการทางความคิดเหล่านั้นเป็นนิสัยที่ติดตัวคุณอยู่ การที่จะแก้ไขนิสัยชอบคิดในเชิงลบ คุณจำเป็นต้องรู้ทันพวกมันเสียก่อน
  2. วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวกระตุ้นหรือรูปแบบความคิดดังกล่าว ก็คือการจดบันทึก การจดบันทึกความรู้สึกต่างๆ ลงไปจะช่วยให้คุณสามารถค้นพบรูปแบบความคิดที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ นอกจากนี้การจดบันทึกอย่างเป็นเสมือนช่องทางการระบายออกของความรู้สึก และช่วยให้คุณได้ทบทวนความคิดของตัวเองด้วย
    • คุณควรจดบันทึกทุกครั้งที่รู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง หรือแม้กระทั่งในขณะที่กำลังจะทำร้ายตัวเอง พยายามเขียนบรรยายสถานการณ์ ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ คุณยังอาจรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายบางอย่าง เช่น พลังงานที่เกิดขึ้น อาการปวดเกร็งท้อง หรือความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในร่างกาย พยายามเขียนว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนที่คุณจะทำร้ายตัวเอง
    • การจดบันทึก อาจทำให้คุณค้นพบว่า ประสบการณ์หรือสถานการณ์ใดที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองดังกล่าว ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีปัญหากับเพื่อนฝูง (รวมถึงการถูกกลั่นแกล้ง ทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์) หรือคุณอาจมีความกดดันกับบางเรื่องในสถานศึกษาของคุณ รู้สึกแปลกแยกจากสังคม ความรู้สึกสับสนทางเพศ หรือปัญหาต่างๆ ในครอบครัว [10]
    • เป้าหมายของการจดบันทึก คือ การทำให้คุณได้ตระหนักในความคิดของตัวเอง และไม่ยอมให้ตัวเองทำตามความคิดด้านลบ ที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเอง [11]
  3. ขั้นตอนต่อไปในการรับมือกับความคิดทางลบ คือ การประเมินกระบวนการทางความคิดของตัวเอง ถามตัวเองดูว่า ความคิดเหล่านั้นมันเป็นความจริงหรือไม่ นำความคิดต่างๆ ที่บันทึกไว้มาประเมิน และลองคิดดูว่า ความคิดเหล่านั้นมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ใด คุณได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เหล่านั้นบ้าง และผลกระทบในระยะยาวของมันเป็นอย่างไร คุณมีการตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นแตกต่างออกไปบ้างหรือไม่ [12]
    • วิธีที่ดีวิธีหนึ่ง ในการประเมินความคิดเชิงลบของตัวเอง ก็คือการสังเกตคำว่า "น่าจะ" "ควรจะ" หรือ "ต้อง" เพราะคำที่กล่าวมานี้ มักเกี่ยวเนื่องกับการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองในเชิงลบ
    • ลองถามเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่คุณไว้ใจ กรณีที่คุณไม่แน่ใจว่า แนวคิดใดของตัวเองเป็นความจริงหรือไม่
  4. อีกวิธีหนึ่งที่นำไปใช้ได้ คือ การเข้าแทรกแซงความคิดเชิงลบ ลองจินตนาการถึงไฟแดง หรือใช้เสียงบางอย่างเพื่อยับยั้งความคิดเหล่านั้น เป้าหมายของวิธีนี้ คือ การแทรกแซงความคิดเชิงลบ และทำให้ตัวเองตระหนักถึงรูปแบบความคิดดังกล่าว หลังจากนั้น คุณจะเริ่มรู้สึกควบคุมมันได้ และรู้สึกถึงความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบความคิดเหล่านั้น
    • การยับยั้งความคิดดังกล่าวอาจจะใช้การเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การทำกิจกรรมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไปเดินเล่น คุยกับเพื่อน การยืมหนังสือมาอ่าน หรือการทำงานบ้านก็ได้ [13]
  5. เวลาที่คุณกำลังเกิดความคิดเชิงลบ คุณต้องสวนหมัดกับมันด้วยความคิดในเชิงบวก ลองนำความคิดของคุณที่จดบันทึกไว้มาพิจารณา และเขียนความคิดในเชิงบวกที่นำมาเป็นทางเลือกได้แทน [14]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณมีความคิดว่า "ฉันมักทำให้งานเลี้ยงอาหารค่ำดูกร่อย เพราะฉันมักไปสายเสมอ" คุณสามารถใช้ความคิดเชิงบวก พูดสวนกลับไปว่า "ฉันเป็นคนที่ใส่ใจผู้อื่น เพราะฉันมักจะนำดอกไม้ไปให้เจ้าภาพเสมอ"
  6. ใช้ใบบันทึกตามแนวทางพฤติกรรมและความคิดบำบัด. ใบบันทึกดังกล่าวจะใช้ขั้นตอนอันหลากหลาย ในการทำให้คุณตระหนักถึงความคิดเชิงลบของตัวเอง และเข้าใจว่าจะต้องแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวกอย่างไร
    • ใบบันทึกความคิดจะช่วยย้ำเตือนคุณ ด้วยคำถามที่คุณสามารถนำมาถามตัวเอง เกี่ยวกับกระบวนการทางความคิด ซึ่งรวมถึงการให้คุณบรรยายสถานการณ์ต่างๆ ระบุรูปแบบสถานการณ์ที่คุณกำลังตอบสนอง ทำให้คุณมองสถานการณ์จากมุมมองภายนอก ประเมินว่าสถานการณ์หรือแนวคิดดังกล่าวถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ และคุณสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง [15]
    • ใบบันทึกดังกล่าว สามารถหาไปใช้ได้ฟรีทางอินเตอร์เน็ต เช่น คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษแบบไม่ยากเท่าไร หรือคุณอาจให้ใครสักคนช่วยแปลให้ก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 6:

เรียนรู้ทักษะการรับมืออย่างสร้างสรรค์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพูดคุยกับตัวเองเชิงบวก หมายถึง วิธีที่คุณใช้พูดคุยกับตัวเองภายในใจของคุณ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ส่งผลต่อแรงจูงใจ มุมมอง ความนับถือตัวเอง และคุณภาพชีวิตโดยรวมของคุณ การพูดคุยกับตัวเองเชิงบวก เป็นวิธีพูดคุยเพื่อทำให้คุณรู้สึกมีความมั่นใจ เสริมสร้างวิถีชีวิตที่จะเป็นประโยชน์มากขึ้น และช่วยลดความคิดเชิงลบที่คุณมีอยู่ [16] ตัวอย่างของการพูดคุยเชิงบวก มีดังนี้:
    • ฉันเป็นคนน่ารัก
    • ฉันเป็นคนพิเศษ
    • ฉันมีความมั่นใจ
    • ฉันสามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
    • ฉันมีความงดงามในตัวเอง
    • การทำร้ายตัวเองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
    • ฉันสามารถเอาชนะความโกรธ ความเสียใจ และความวิตกกังวลได้
    • ตอนนี้ฉันสามารถเชื่อใจผู้อื่นได้จากใจจริงแล้ว
    • ฉันมองหาความช่วยเหลือได้เสมอ
    • ย้ำเตือนตัวเองด้วยการใช้แผ่นโพสท์อิท หรือแปะกระดาษโน้ตข้อความเอาไว้หน้ากระจก
    • หากคุณมีปัญหาในการทำให้ตัวเองเชื่อ คำพูดที่ดูเหมือนเป็นนามธรรมเหล่านั้น เช่น "ฉันเป็นคนพิเศษ" หรือ "ฉันมีความมั่นใจ" คุณก็ยังไม่จำเป็นต้องกล่าวคำพูดเหล่านั้น แต่คุณสามารถเน้นไปที่การกระทำที่คุณต้องการจะบรรลุผล ซึ่งอาจช่วยเป็นไกด์นำทางให้คุณได้อย่างจำเพาะเจาะจง เช่น "ตอนฉันสามารถเชื่อใจผู้อื่นได้จากใจจริงแล้ว" และ “การทำร้ายตัวเองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ฉัน”
    • คำพูดในเชิงบวกกับตัวเองนั้น ไม่ควรที่จะถูกชี้นำโดยผู้อื่น แต่คุณควรพูดในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณเองมากกว่า [17]
  2. กล่องรับมือหรืออุปกรณ์รับมือ หมายถึง ภาชนะบางอย่างที่คุณเอาไว้ใส่อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณยับยั้งภาวะอยากทำร้ายตัวเอง [18] อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนถึงทรัพยากรต่างๆ ที่คุณมีอยู่ และยังช่วยให้คุณโฟกัสพลังงานของตัวเองไปในเชิงสร้างสรรค์ เช่น การทำงานศิลปะ ซึ่งอุปกรณ์ที่อยู่ในกล่องดังกล่าวนี้อาจรวมถึง:
    • รูปภาพของเพื่อน คนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก
    • สมุดบันทึกของคุณ
    • อุปกรณ์วาดภาพระบายสี หรือศิลปะอื่นๆ
    • คําพูดให้กําลังใจ
    • ดนตรีหรือเนื้อเพลงต่างๆ
  3. คุณไม่จำเป็นต้องรอให้รู้สึกว่าตัวเองต้องการพูดคุยกับใครสักคนก่อน คุณสามารถแบ่งปันความรู้สึกทั้งแง่บวกและลบ กับญาติสนิทมิตรสหายของคุณได้เสมอ พยายามอยู่ท่ามกลางกำลังใจของพวกเขาในยามที่คุณรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้ คือ การบอกใครสักคนว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว
    • มันอาจยากที่จะบรรยายความรู้สึกของออกมาเป็นคำพูด และบางครั้งการกระทำเพื่อแสดงความรู้สึกเสียใจ โกรธเคือง หรือโดดเดี่ยว ออกมาผ่านการกระทำอาจจะเป็นเรื่องง่ายกว่า แต่หากต้องการผลสำเร็จในระยะยาว มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องค้นหาความเครียดหรือความกดดันที่ซ่อนอยู่ภายในใจให้เจอ [19]
    • หากคุณมีภาวะทำร้ายตัวเอง มันอาจเป็นเรื่องที่น่าอับอายและยากที่จะเล่าให้ใครฟัง เพราะคุณอาจกังวลว่า คนที่รับฟังจะวิจารณ์คุณหรือกดดันคุณ ให้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่มันเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องระบายความกังวลใจของคุณให้คนที่คุณรักได้รับฟัง พวกเขาย่อมจะต้องการช่วยเหลือคุณ
  4. หากคุณมีปัญหาในการแสดงตัวตนออกมาผ่านคำพูด ก็สามารถใช้วิธีเขียนโน้ตหรือข้อความถึงเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวของคุณ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณสื่อสารความรู้สึกออกมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องพูดออกมาให้ใครได้ยิน
  5. ลองใช้เทคนิคผัสสะทั้ง 5 ในการฝึกปลอบโยนตัวเอง. ส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูตัวเอง คือ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดีในสมอง แบบเดียวกับที่คุณอาจรู้สึกเวลาที่ทำร้ายตัวเอง เทคนิคการปลอบประโลมตัวเอง เป็นวิธีที่สามารถใช้ในการดูแลตัวเอง และใช้เพื่อให้ตัวเองจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ประโยชน์ของเทคนิคผัสสะทั้ง 5 ดังกล่าวนี้ คือ การทำให้คุณมีสภาวะจิตใจที่พร้อมในการที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกอันเจ็บปวดและสุดขั้วของตัวเอง ที่มักนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง [20] [21] [22]
    • เริ่มจากการเตรียมพร้อมในท่าทางที่สบาย คุณอาจจะนั่งขัดสมาธิบนพื้น หรือนั่งบนเก้าอี้โดยให้ฝ่าเท้าทาบไปกับพื้นก็ได้
    • เริ่มรับรู้ถึงลมหายใจของคุณ โฟกัสไปที่องค์ประกอบแต่ละส่วนของลมหายใจ (ลมหายใจเข้า ลมหายใจที่ค้างไว้ และลมหายใจออก) คุณไม่จำเป็นต้องกำหนดควบคุมลมหายใจให้เป็นไปในทิศทางใด
    • จากนั้น เริ่มใช้สติเข้าไปกำกับรับรู้ผัสสะทั้ง 5 (การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้รส การได้กลิ่น และการสัมผัสทางกาย)
    • ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีในการจดจ่ออยู่กับแต่ละผัสสะ
    • การได้ยิน: คุณได้ยินเสียงอะไรรอบรอบตัวบ้าง ลองโฟกัสไปที่เสียงภายนอก (คุณได้ยินเสียงรถแล่นไปมา เสียงผู้คนคุยกัน หรือเสียงร้องของนกบ้างหรือเปล่า) ในขณะที่โฟกัสไปที่เสียงต่างๆ คุณได้ยินเสียงอะไรที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนหรือไม่
    • การได้กลิ่น: มีอาหารวางใกล้ตัวคุณหรือไม่ คุณอาจจะได้กลิ่นบางอย่างที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน เช่น กลิ่นของกระดาษจากหนังสือต่างๆ ที่วางอยู่ใกล้ๆ ลองหลับตาลง บางครั้งวิธีนี้จะช่วยลดสิ่งรบกวนทางสายตา และทำให้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นคมชัดขึ้น
    • การมองเห็น: คุณเห็นอะไรบ้าง คุณเห็นโต๊ะทำงานหรือโซฟาได้ถนัดหรือเปล่า ลองสังเกตรายละเอียดอย่างเช่นสีสัน ลวดลาย รูปทรง และลักษณะของพื้นผิวต่างๆ
    • การรับรู้รสชาติ: แม้ว่าจะไม่มีอาหารอยู่ในปากของคุณ คุณก็ยังสามารถที่จะรับรู้รสชาติบางอย่างได้ ลองพยายามสังเกตรสชาติของเครื่องดื่มหรืออาหาร ที่ยังตกค้างอยู่ในปากของคุณ จากการกินหรือดื่มก่อนหน้านี้ก็ได้ คุณอาจลองไล่ลิ้นของคุณไปตามฟันแต่ละซี่ และกระพุ้งแก้ม เพื่อให้รับรู้รสชาติบางอย่างได้ชัดเจนขึ้น
    • การสัมผัสทางกาย: ในขณะที่นั่งอยู่นี้คุณรู้สึกถึงสัมผัสทางกายอย่างไรบ้าง ลองสังเกตุความรู้สึกของผิวหนังที่ถูกกระทบด้วยเสื้อผ้า เก้าอี้ หรือที่รองนั่งของคุณ รวมถึงพื้นที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของคุณด้วย ลองสัมผัสพื้นผิวของเสื้อผ้าและเก้าอี้ว่าเป็นอย่างไร
  6. การทำสมาธิได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยยกระดับอารมณ์ในเชิงบวก ความพึงพอใจ สุขภาพ และความรู้สึกของคนเราได้ นอกจากนี้ มันยังช่วยลดความตึงเครียดและอากาศซึมเศร้าได้ด้วย [23] มีรูปแบบการทำสมาธิอันหลากหลาย แต่เป้าหมายของการทำสมาธิแต่ละแบบก็คือ การทำให้จิตใจสงบ ตัวอย่างข้างล่างนี้ เป็นการทำสมาธิขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยให้คุณเริ่มกระบวนการสงบจิตใจลงได้.
    • เริ่มด้วยการนั่งในท่าที่สบาย
    • หาจุดโฟกัสความสนใจมา 1 อย่าง ซึ่งอาจจะเป็นจุดโฟกัสทางสายตา เช่น แสงจากเปลวเทียน เสียงคาถาที่ใช้บริกรรม หรือวัตถุบางอย่างที่ใช้กายสัมผัส เช่น การนับลูกประคำ จากนั้น พยายามจดจ่อความสนใจอยู่ที่สิ่งนั้น
    • ในขณะที่กำลังจดจ่อ ความคิดของคุณอาจจะฟุ้งซ่าน ในขณะที่กำลังฟุ้งซ่านนั้น พยายามปล่อยมันไป และดึงสติของคุณกลับมาติดจ่ออยู่กับสิ่งที่เลือกไว้ มันอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่การจดจ่ออยู่กับบางสิ่ง ถือเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น อย่าพึ่งท้อแท้ หากคุณพบว่าตัวเองสามารถจดจ่อได้เพียงไม่กี่นาทีในช่วงเริ่มต้น [24]
  7. การหายใจเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่เราสามารถควบคุมได้ ผลการวิจัยพบว่า การฝึกเทคนิคการหายใจ ส่งผลในเชิงบวกต่อการตอบสนองกับความเครียด หรือที่เรียกว่าการเตรียม "สู้หรือถอย" [25] การตอบสนองกับความเครียดในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถถูกกระตุ้นได้ในเวลาที่เรารู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง การเรียนรู้ทักษะดังกล่าวนี้ จึงช่วยให้คุณสามารถควบคุมสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นได้ คุณควรลองฝึกเทคนิคการหายใจดังนี้:
    • นับ 1 - 5 ในขณะที่หายใจเข้า นับ 1 - 5 ในขณะที่ทางลมหายใจไหว และนับ 1 - 5 ในขณะที่หายใจออก
    • เพ่งความสนใจไปที่องค์ประกอบของลมหายใจแต่ละส่วน ในขณะที่คุณนับด้วย
    • อีกวิธีหนึ่งในการจดจ่อกับลมหายใจคือการใช้เทคนิคลูกโป่ง หรือการนำลูกโป่งมาเป่าและมองดูมันค่อยๆ แฟ่บลง
  8. มันเป็นภาพที่กำหนดขึ้นในจินตนาการของคุณ เพื่อทำให้คุณรู้สึกสงบ หรือช่วยย้ำเตือนคุณถึงความทรงจำอันรื่นรมย์ บางทีการใช้ภาพถ่ายหรือภาพวาดอาจจะทำให้ง่ายขึ้น จากนั้น ก็เพียงจดจ่ออยู่กับภาพดังกล่าว [26]
  9. เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อเชิงรุก (PMR) เป็นวิธีการรับมือความเครียดประเภทหนึ่ง โดยเน้นไปที่การพยายามเกร็งกล้ามเนื้อแต่ละส่วนและผ่อนคลายออก ประโยชน์ของวิธีนี้ คือ จะช่วยให้คุณมีความตระหนักรู้ในผัสสะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของคุณ [27]
    • เริ่มด้วยการอยู่ในท่าที่สบาย เพื่อช่วยให้คุณสามารถจดจ่ออยู่กับกล้ามเนื้อแต่ละส่วนได้สะดวก ผู้ที่ใช้เทคนิคนี้ส่วนใหญ่พบว่า การนั่งหรือนอนราบลงไปกับพื้น เป็นท่าเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด
    • เพ่งความสนใจไปที่กล้ามเนื้อแต่ละส่วน ที่สามารถเกร็งและผ่อนคลายได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว รวมถึงใบหน้า มือ แขน หน้าท้อง ช่วงกลางลำตัว รวมถึงขาและเท้าของคุณ
    • หากเริ่มต้นจากใบหน้าของคุณก่อน ลองจินตนาการเวลาที่คุณกินมะนาว รับรู้ถึงความดึงเครียดบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ขากรรไกร หน้าผากและดวงตา ที่เกิดขึ้นเวลาที่คุณเอามะนาวเข้าปาก ใบหน้าของคุณจะขมวดย่นไปรวมอยู่ที่บริเวณจมูก หลับตาปี๋ ปากจู๋ จากนั้น เริ่มเปลี่ยนไปคลายกล้ามเนื้อเหล่านั้นออก ซึ่งในการนี้ คุณอาจใช้วิธีนึกภาพเวลาที่กินของหวาน หรือเวลาที่ใบหน้าคุณรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้กินของโปรด [28]
    • สำหรับบริเวณหัวไหล่และแผ่นหลัง ลองจินตนาการว่า คุณเป็นแมว ลองนึกภาพเวลาที่แมวบิดขี้เกียจ เหยียดหลังและแข้งขาของมัน ทำท่าทางเลียนแบบแมวเช่นนั้น ให้แผ่นหลังของคุณแอ่น และยกไหลขึ้นมาห่อรอบใบหู 2 ข้าง จากนั้น ก็ผ่อนคลายและกลับเข้าสู่ท่านั่งปกติของคุณ
    • สำหรับช่วงกลางลำตัวนั้น วิธีที่ง่ายที่สุด อาจเริ่มจากการนอนหงายไปกับพื้น และจินตนาการถึงลูกบอลหนักๆ ที่วางอยู่บนหน้าท้องของคุณ หายใจเข้าให้ลึกที่สุด ก่อนที่จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว
    • เริ่มเกร็งและผ่อนคลายเท้าของคุณ คุณจะทำที่ไหนก็ได้ แม้แต่ในขณะที่กำลังใส่รองเท้าอยู่ เริ่มด้วยการขดงอนิ้วเท้า ก่อนที่จะเหยียดถ่างออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้น รับรู้ถึงความผ่อนคลายที่เกิดในบริเวณดังกล่าว
  10. การเดินจงกรมเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเจริญสติแบบหนึ่ง ประโยชน์ของการเดินจงกรม รวมถึงการเพิ่มความตระหนักรู้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ มันยังสามารถทดแทนการนั่งทำสมาธิตามแบบแผน ซึ่งอาจจะยากสำหรับบางคน การเดินจงกรม ถือเป็นการเจริญสติและทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว และยังได้ประโยชน์ด้านสุขภาพที่ดีจากการเดินด้วย [29]
    • ในขณะที่เดิน พยายามสังเกตแต่ละย่างก้าว ฝ่าเท้าของคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อกระทบพื้น รวมถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในรองเท้าด้วย จากนั้น จดจ่ออยู่กับลมหายใจ และสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว คล้ายๆ อย่างที่เขากล่าวกันว่า ให้หยุดพักและชื่นชมกลิ่นหอมของดอกกุหลาบ [30]
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 6:

ขอรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณหรือคนรอบข้าง คิดฆ่าตัวตาย พยายามขอความช่วยเหลือจากบริการสายด่วนหมายเลข 1323 ของกรมสุขภาพจิต ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยคุณควรมองหาสัญญาณบอกเหตุต่อไปนี้ของคนรอบข้าง ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้น: [31]
    • พูดเกี่ยวกับความต้องการที่จะตายหรือการฆ่าตัวตาย
    • มองหาวิธีที่จะฆ่าตัวตาย
    • พูดเกี่ยวกับความรู้สึกสิ้นหวัง
    • พูดเกี่ยวกับการไร้เหตุผลที่จะอยู่ต่อไป
  2. นักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา สามารถช่วยให้คุณเข้าใจอารมณ์ที่เป็นปัญหาและเอาชนะความทุกข์ใจจากเหตุการณ์เลวร้ายได้ พวกเขาได้รับการร่ำเรียน อบรม และยังมีประสบการณ์ที่สามารถนำมาช่วยคุณแก้ปัญหา อันทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวได้
    • ลองปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณ ให้เขาหรือเธอช่วยแนะนำนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง จากนั้น นัดหมายเพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา หากคุณมีปัญหาในการแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว คุณอาจจะรู้สึกสบายใจและเป็นอิสระมากกว่า ในการที่จะระบายความรู้สึกกับใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก
    • ถ้าคุณกำลังประสบกับความยากลำบากในชีวิต เช่น ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทารุณหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมถึงกรณีที่ความรู้สึกของคุณมันท่วมท้น จนทำให้คุณทำร้ายตัวเองหรือกรีดข้อมือตัวเอง สถานที่ๆ เหมาะสมที่สุดในการที่คุณจะสามารถระบายความรู้สึกออกมาได้ ต้องมีปัจจัยแวดล้อมในลักษณะที่ปลอดภัย มีความเป็นกลาง และไม่ตัดสินคุณ
  3. คุณอาจมองหากลุ่มที่คอยช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาจากทางอินเตอร์เน็ตได้มากมาย อันจะช่วยให้คุณค้นหาสาเหตุ รวมถึงระบายความรู้สึกออกมากได้ด้วย [32]
    • คุณอาจลองเข้าไปหาข้อมูลที่ [1] เผื่ออาจจะมีคนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกับคุณ ไว้พูดคุยเป็นเพื่อนคอยให้กำลังใจกัน
  4. พูดคุยกับแพทย์ประจำตัวของคุณเกี่ยวกับสภาวะเงื่อนไขอื่นๆ. ผู้ที่ทำร้ายตัวเองบางคน อาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า [33] การใช้สารเสพติด และนิสัยการบริโภคที่ผิดปกติ [34] รวมถึงโรคจิตเภทอย่าง โรคบุคลิกภาพแตกแยกหรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่นๆ [35] หากคุณรู้สึกว่า มีภาวะความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความต้องการทำร้ายตัวเอง คุณควรไปพูดคุยปรึกษากับแพทย์หรือนักให้คำปรึกษา.
  5. จงมีความจริงใจต่อนักบำบัดของคุณในการถ่ายทอดความรู้สึก และเรื่องราวความเป็นมาของคุณเอง จำไว้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ ดังนั้น หากคุณไม่ซื่อสัตย์ คุณก็อาจจะไม่ได้รับผลการรักษาอย่างที่ต้องการ มันสำคัญมากที่จะต้องบอกความจริงแก่พวกเขา จำไว้ว่า การบำบัดถือเป็นความลับ ดังนั้น เรื่องใดก็ตามที่คุณพูดกับนักบำบัดจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่ต่อ เว้นเสียแต่ว่า มันเป็นเรื่องที่คุณวางแผนทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น
    โฆษณา
ส่วน 6
ส่วน 6 ของ 6:

ก้าวพ้นจากภาวะทำร้ายตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในเรื่องของภาวะการเสพติดใดๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีเวลาในการฉลองความสำเร็จให้แก่ตัวเอง ที่สามารถหลุดพ้นมาได้ด้วย ในแต่ละวันที่คุณสามารถผ่านไปได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง ควรจะถือว่าเป็นชัยชนะในแต่ละก้าว ดังนั้น ในช่วงสุดสัปดาห์แรก คุณควรจะให้รางวัลบางอย่างกับตัวเอง หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
    • เริ่มขยับขยายเป้าหมายแห่งชัยชนะให้มากขึ้น โดยในช่วงแรก คุณอาจจะฉลองความสำเร็จให้ตัวเองตามจำนวนวัน และค่อยขยายเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีต่อไปเรื่อยๆ คุณอาจต้องฝืนใจในเรื่องดังกล่าวสักพัก แต่การฉลองหลักชัยให้ตัวเอง จะเป็นการช่วยยินดีกับตัวเองในแง่ของความพยายาม สำหรับเป้าหมายในภายภาคหน้า และสำหรับเรื่องราวที่ผ่านมา
  2. ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ขึ้นกับคุณคนเดียว หากคุณคิดบวกและมีความศรัทธาในตัวเอง อาการเสพติดการทำร้ายตัวเองของคุณ ก็จะกลายเป็นเพียงความทรงจำอันแสนไกลโพ้น ซึ่งทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อคุณสามารถเลิกทำร้ายตัวเองได้แล้ว คุณจะเริ่มมีความคิดและความรู้สึกที่แจ่มชัด ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับโลกภายนอก รวมถึงตัวเองมากขึ้นด้วย จงเชื่อว่า คนอื่นก็เป็นห่วงเป็นใยคุณ และคุณก็ต้องห่วงใยตัวเองด้วยเช่นกัน คุณสามารถหยุดมันได้
  3. พฤติกรรมดังกล่าวอาจกลับมาได้ทุกเมื่อ. บางครั้งคุณอาจกลับมาเริ่มคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง หรือลงมือทำจริงๆ อีกครั้ง หรือที่เรียกว่า “อาการกำเริบ” แต่คุณไม่ควรตำหนิตัวเองในเรื่องดังกล่าว เพราะทุกคนย่อมมีอาการกำเริบได้ ไม่ช้าก็เร็ว จำไว้ว่า พฤติกรรมทำร้ายตัวเองเป็นภาวะเหมือนเสพติด ดังนั้น อาการกำเริบย่อมเกิดขึ้นได้ในระหว่างการฟื้นฟูตัวเอง และย่อมมีบางเวลาที่คุณช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ขอให้มันเป็นสิ่งย้ำเตือนว่า คุณต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม การที่คุณถอยก้าวเดียว ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าเพิ่มอีก 3 ก้าวได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ทได้ เช่น S.A.F.E. (Self Abuse Finally Ends) Alternatives ซึ่งมีการแนะนำนักบำบัดที่เชื่อถือได้ และเคล็ดลับในการยับยั้งตัวเอง ส่วนในประเทศไทย ก็ยังมีช่องทาง Samaritans Thailand ที่คอยให้คำปรึกษาผู้ที่มีปัญหาอาการซึมเศร้า เสพติด ทำร้ายตัวเอง และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
  • ลองพิจารณาการหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยง คนที่ทำร้ายตัวเองมักจะรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาได้ หากว่าพวกเขามีสัตว์เลี้ยงบางชนิดที่ตนเองสามารถนำมาดูแลได้ เช่น สุนัข แมว นก และตัวโรเด้นท์หรือแฮมสเตอร์ เป็นต้น เพราะการดูแลรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น จะส่งผลในเชิงบำบัดเยียวยาจิตใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ [36] คุณจะตระหนักได้ว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าและคุณสามารถสร้างความดีงามให้แก่มันได้
  • อาจฟังดูแปลกสักหน่อย แต่คุณสามารถใช้วิธีสวมสร้อย ซึ่งมีสัญลักษณ์หรือความหมายพิเศษสำหรับคุณ มันอาจจะเกี่ยวกับหมู่คณะหรือสิ่งใดก็ตามที่คุณรัก มันจะช่วยย้ำเตือนให้คุณสู้ต่อไปและการรู้สึกถึงน้ำหนักของมันขณะสวมใส่ จะช่วยขัดจังหวะการทำร้ายตัวเอง มันอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก ก่อนที่จะเห็นประโยชน์ของมัน แต่ท้ายที่สุด คุณจะตระหนักได้เอง ขอจงเข้มแข็งเข้าไว้
โฆษณา
  1. https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201301/coping-self-harm
  2. http://www.cognitivetherapyguide.org/thought-records.htm
  3. http://www.cognitivetherapyguide.org/thought-records.htm
  4. http://www.depressiontoolkit.org/takecare/positive_self_talk.asp
  5. http://www.cognitivetherapyguide.org/thought-records.htm
  6. http://www.getselfhelp.co.uk/docs/STOPP5.pdf
  7. https://www.psychologytoday.com/blog/imperfect-spirituality/201106/positive-self-talk-can-help-you-win-the-race-or-the-day
  8. http://psychcentral.com/blog/archives/2009/07/08/got-low-self-esteem-dont-ditch-the-positive-self-talk-just-yet/
  9. http://psychcentral.com/blog/archives/2013/10/16/helping-your-child-reduce-self-harming-behavior/
  10. http://psychcentral.com/blog/archives/2013/10/16/helping-your-child-reduce-self-harming-behavior/
  11. http://www.truerecovery.org/learning-center/dbt-dialectical-behavior-therapy/115-section-8-self-soothing-with-five-senses
  12. https://www.psychologytoday.com/blog/design-your-path/201106/work-day-stress-relief-5-senses-in-5-mindful-minutes
  13. http://www.clayton.edu/Portals/541/docs/Five%20Senses%20Mindfulness%20Exercise.pdf
  14. http://www.emmaseppala.com/10-science-based-reasons-start-meditating-today-infographic/#.VTMnNEfF8-0
  15. http://life.gaiam.com/article/meditation-101-techniques-benefits-beginner-s-how
  16. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  17. http://www.drweil.com/drw/u/ART00521/three-breathing-exercises.html
  18. http://www.healtheducation.uci.edu/stress/muscle.aspx
  19. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/MuscleRelaxation.pdf
  20. http://eocinstitute.org/meditation/meditation-and-walking-benefits-of-mindful-walking/
  21. http://www.mindful.org/mindful-magazine/walk-this-way
  22. http://www.suicidepreventionlifeline.org/gethelp/someone.aspx
  23. http://www.selfinjury.com/treatments/focus/
  24. https://www.psychologytoday.com/blog/two-takes-depression/201202/depression-and-non-suicidal-self-injury
  25. http://www.selfinjury.bctr.cornell.edu/perch/resources/whats-the-relationship-nssi-and-ed.pdf
  26. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21104583
  27. http://www.helpguide.org/articles/emotional-health/the-health-benefits-of-pets.htm

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 34,318 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา