ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เคยมีคนชอบบอกว่าคุณเป็นคนเอาแต่ใจหรือไม่? หรือไม่มีใครอยากจะทำงานร่วมกับคุณทั้งที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน เพราะว่าคุณชอบควบคุมทุกอย่างหรือเปล่า? หากคุณอยากจะหยุดเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการล่ะก็ คุณต้องเรียนรู้ที่จะเลิกนิสัยชอบควบคุมคนอื่นและหัดมีความเชื่อในตัวคนอื่นให้ได้เสียก่อน ลองเรียนรู้วิธีการหยุดเป็นคนมีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ และเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นในแบบที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันและและช่วยกันผลิตงานออกมาดูสิ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ทำงานร่วมกับคนอื่นในแบบที่ดีกว่าเดิม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคุณเคยชินกับบทบาทผู้นำมาตลอด มันอาจจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับคุณที่จะต้องหลีกทางแล้วรอให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน และมันก็จะยิ่งปวดใจมากกว่าเดิม หากคนเหล่านั้นทำงานด้วยความเงอะงะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นงานที่คุณสามารถทำให้สำเร็จได้เร็วและง่ายมาก แต่ว่าคุณจะรีบไปทำไมล่ะ? มันจะกลายเป็นจุดจบของโลกเลยเหรอ หากสิ่งต่างๆ ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ได้วางแผนไว้ เพราะฉะนั้น ทำตัวผ่อนคลายเข้าไว้ หายใจลึกๆ แล้วรอก่อน แล้วคุณก็จะพบว่าหากคุณมีความอดทนพอ ทุกๆ อย่างก็จะสำเร็จลุล่วงเอง โดยที่คุณไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญอะไรเลย [1]
    • หากคนอื่นรู้สึกได้ว่าคุณไม่มีความอดทน พวกเขาอาจจะมีแนวโน้มที่จะรีบทำงานให้เสร็จๆ ไป และงานที่ได้ออกมาก็จะไม่ใช่อย่างที่คุณต้องการ จำไว้ว่าระหว่างการใช้แรงกดดันแบบเล็กน้อยและการทำให้คนอื่นตึงเครียดนั้นต่างกัน
    • กำหนดเวลาส่งงานให้สมเหตุสมผลพอที่จะให้คนอื่นทำงานได้ แทนที่จะขอให้พวกเขาทำทุกอย่างให้เสร็จภายในช่วงเวลาที่สั้นจนเกินไป
  2. บางครั้งที่พวกเราชอบเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการนั้นก็เพราะว่า เราต้องการที่จะให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบ และจริงๆ มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะมุ่งมั่นที่จะให้งานมันเสร็จไปด้วยดี แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำงานออกมาให้ดีได้ และแค่เพราะว่าวิธีการของคุณเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเริ่มต้นจากจุด ก ไปยังจุด ข แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และการคิดเอาเองว่าวิธีของคุณเป็นวิธีที่ดีที่สุดนั้น จะทำให้คุณไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่น และทำให้กำลังใจของคนอื่นแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วย ซึ่งความสมบูรณ์แบบที่เราคาดหวังนั้นจะเป็นตัวที่ไปขัดขวางความยอดเยี่ยมของงาน เพราะมันได้สร้างความกลัวการทำผิดพลาดขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วความผิดพลาดนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดงานที่ดีขึ้นมาได้ [2]
    • หากคุณกำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำสิ่งนี้ ให้บอกกับตัวเองว่าการเป็นคนยึดติดกับความสมบูรณ์แบบนั้น จริงๆ แล้วมันคือข้อบกพร่องของตัวเรา เพราะการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ จริงๆ มันก็คือสิ่งผิดปกติที่จะทำให้คุณไม่สามารถทำงานออกมาให้ดีที่สุดได้
    • คอยพูดกับตัวเองว่า “ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว และนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไร”
  3. คนที่มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการหลายคนมักชอบไปโฟกัสอยู่กับข้อบกพร่องของคนอื่น ทำให้พวกเขาล้มเหลวในการสังเกตเห็นศักยภาพและความคืบหน้าของสิ่งต่างๆ ไป ดังนั้น ให้คุณพยายามใส่ใจกับความสามารถส่วนตัวของคนอื่นด้วย แล้วก็ให้ฟีดแบคในเชิงบวกกับพวกเขา เพราะฟีดแบคในเชิงบวกคือการเติมเต็มทางจิตใจอย่างหนึ่ง และจะช่วยกระตุ้นคนอื่นได้มากว่าการไปจู้จี้จุกจิกเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำ [3]
    • หากคุณสังเกตเห็นว่ามีใครคนใดคนหนึ่งกำลังทำงานได้ดีและคุณก็ประทับใจกับงานที่เขากำลังทำอยู่ ให้คุณชื่นชมคนๆ นั้นสำหรับงานดีๆ ที่เขาทำออกมา การที่คุณทำให้เขารู้ว่าคุณไม่ได้เพียงแต่จะมองหาแต่ข้อผิดพลาดเพียงอย่างเดียวนั้น จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขาแข็งแกร่งขึ้น และยังช่วยให้คุณเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการน้อยลงด้วย ดังนั้น ให้คุณเจาะจงกับสิ่งที่พวกเขาทำออกมาได้ดี เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ว่าคุณให้ความสนใจอยู่จริงๆ
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานเกี่ยวกับการขายปลีก คุณอาจจะพูดว่า “ฉันเห็นวิธีที่เธอใช้จัดการความขัดแย้งที่มีกับลูกค้าแล้ว ฉันคิดว่าเธอทำได้ดีมากๆ เลยนะ!”
  4. หลายครั้งที่ไม่ใช่สิ่งที่คุณพูดที่จะกลายเป็นการจู้จี้จุกจิกคนอื่น แต่มันดันเกี่ยวกับวิธีที่คุณพูดออกมามากกว่า ทั้งโทนเสียง การใช้วลี และภาษากายนั้น สามารถทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกว่าตัวเองเปรียบเสมือนฟันเฟืองอันหนึ่งในเครื่องจักรที่ไร้ความสามารถก็เป็นได้ หรือในทางกลับกัน มันก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณกำลังเชิญชวนให้พวกเขาเข้าสู่เป้าหมายที่คุ้มค่าไปพร้อมๆ กับคุณ ดังนั้น มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใส่ใจกับจังหวะการพูด การใช้คำ และแบบอย่างต่างๆ ที่คุณใช้เมื่อคุณพยายามขอให้พวกเขาทำบางอย่างให้เสร็จหรือขอให้เสนอฟีดแบค และยิ่งการสื่อสารของคุณเป็นไปอย่างราบรื่นมากเท่าไร การทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จก็จะง่ายมากขึ้นเท่านั้น โดยที่คุณไม่ต้องคอยเฝ้าดูสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เลยสักนิด ซึ่งเราก็มีคำแนะนำในการเลือกใช้การสื่อสารที่ดีมาให้คุณ และคำแนะนำเหล่านั้น มีดังนี้ [4]
    • โฟกัสอยู่กับสิ่งที่คนๆ หนึ่งกำลังพูด และหลีกเลี่ยงการแสดงความไม่ใส่ใจอย่างการเล่นโทรศัพท์ หรือจ้องมองกับพื้น
    • คุณต้องมีภาษากายที่เหมาะสม เพราะการสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูดนั้นสามารถบอกอะไรได้หลายๆ อย่าง หากคุณกำลังกอดอกหรือกำลังขมวดคิ้วอยู่ สิ่งที่คุณพูดออกมาก็คงจะไม่มีทางถูกมองเป็นเชิงบวกแน่ๆ
    • คุณต้องคำนึงถึงตัวคนฟังด้วย ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพูดอยู่กับเด็ก คุณอาจจะต้องทำให้โทนเสียงของคุณแตกต่างจากการที่คุณกำลังพูดอยู่ในที่ประชุม ดังนั้น ให้คุณใช้วิธีการเข้าหาอีกฝ่ายให้สอดคล้องและเหมาะกับคนที่คุณกำลังพูดด้วย
  5. ไม่มีอะไรที่จะช่วยส่งเสริมทีมได้มากกว่าการสร้างความเห็นชอบร่วมกันหรอก โดยคุณอาจจะเป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกและให้การรับประกันว่าความคิดเห็นของทุกคนจะถูกนำมาพิจารณา และผลการตัดสินใจที่ออกมานั้นจะเป็นที่พอใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานตรงนั้น เพราะถ้าหากว่าคุณใช้เพียงแค่วิธีที่ตัวเองคิด โอกาสที่คนอื่นจะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนและรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ก็จะลดตามลงไปด้วย ซึ่งถ้าหากว่าคุณทำงานร่วมกันโดยรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น มันก็จะช่วยทำให้คนอื่นรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับกลุ่มและช่วยเพิ่มความเชื่อใจกันภายในกลุ่มอีกด้วย [5]
    • หากคุณกำลังอยู่ในกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน ให้คุณคอยถามแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มว่า “คุณมีไอเดียดีๆ อะไรบ้างไหม ที่มันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พวกเราสามารถทำได้?”
    • เปิดทางให้คนอื่นได้พูดบ้าง และบอกกับคนอื่นๆ ด้วยว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ร้ายแรงอะไรหากพวกเขาอยากจะถามหรืออยากจะแสดงความคิดเห็นบางอย่าง
    • ก่อนที่จะย้ายไปประเด็นอื่น คุณต้องดูให้แน่ใจว่าทุกคนมีความเห็นร่วมกันหมดแล้ว หากมีใครสักคนไม่เห็นด้วย บอกให้พวกเขารู้ว่าคุณยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นจากพวกเขาและหวังว่าจะได้ฟังความคิดเห็นจากพวกเขาอีกในอนาคตข้างหน้า
    • คุณอาจจะคิดว่าการวางกฎ คือวิธีที่ดีที่สุดในการทำงานบางอย่างให้สำเร็จ แต่ความจริงแล้วมันจะทำให้คนอื่นไม่มีความสุขที่จะทำงานร่วมกันกับคุณเสียมากกว่า
    • นอกจากนี้ การได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดมาจะช่วยทำให้คุณมองมองเห็นวิธีใหม่ๆ ที่สามารถทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ แต่ถ้าหากคุณรู้สึกว่าวิธีการที่คุณคิดไว้นั้น คือวิธีการเดียวที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ นั่นแสดงว่าคุณอาจมีปัญหาในการรวบรวบหรือรับฟังไอเดียสร้างสรรค์จากคนอื่นแล้วล่ะ
  6. ให้คุณถามถึงฟีดแบคที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่ามันเป็นไอเดียที่ดีหรือทำให้เกิดความประทับใจเท่านั้น แต่ให้คุณอธิบายให้คนอื่นฟังด้วยว่าคุณรู้ว่าในบางครั้ง ตัวคุณเองก็อาจจะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการหรือชอบควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง และคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสไตล์ของตัวเอง จากนั้น ขอให้พวกเขาคอยช่วยเตือนคุณเวลาที่คุณกลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ไม่ว่าจะด้วยการดึงตัวคุณออกไปคุยส่วนตัว หรือแม้แต่การส่งกระดาษโน้ตหรืออีเมลที่ไม่ระบุชื่อมาเตือนคุณ ดังนั้น ทำตัวให้อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้และขอความร่วมมือจากพวกเขา นี่จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองและคุณก็ไม่ได้ยึดติดกับความคิดของตัวเองเพียงอย่างเดียว
    • ใช้หลักการ "SKS" หรือ “stop-keep-start” ในการขอฟีดแบคจากคนอื่น [6] โดยให้คุณถามคำถามต่อไปนี้กับคนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ
    • “ฉันควรจะหยุดทำอะไร?” (stop)
    • “ฉันควรจะทำอะไรต่อไป?” (keep)
    • “ฉันควรจะเริ่มต้นทำอะไร?” (start)
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ปรับปรุงทัศนคติของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกอยากจะสั่งการคนอื่นๆ ให้คุณใช้เวลาสักพัก โฟกัสไปที่ลมหายใจและหายใจลึกๆ ให้ทั่วท้องหลายๆ ครั้ง ซึ่งการหายใจเข้าจะทำให้ท้องของคุณขยายออกในขณะที่หน้าอกของคุณยังอยู่ที่เดิม นี่จะเปิดการทำงานระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nervous system หรือ “rest and digest”) ของคุณ ทำให้คุณใจเย็นลง และทำให้คุณมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้น ให้คุณใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อหยุดตัวเองจากนิสัยชอบเจ้ากี้เจ้าการแบบเดิมๆ โดยคุณสามารถเลือกใช้วิธีที่แตกต่างออกไป ที่สามารถทำให้คุณแสดงออกอย่างเหมาะสมมากกว่าเดิมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น [7]
  2. สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เรากลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการก็คือ การชอบคิดว่าตัวเองถูกเสมอ หากคุณเลิกนิสัยนี้ได้และยอมรับว่าตัวเองก็มีข้อผิดพลาดเหมือนกับคนอื่นๆ นั่นจะทำให้คุณเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นและมองเห็นว่าพวกเขาก็มีความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันให้คุณเช่นกัน ซึ่งครั้งต่อไปหากคุณทำผิดพลาดอีก ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือกับกลุ่มเพื่อนของตัวเอง ให้กลืนความทะนงตัวของตัวเองไปและยอมรับความผิดนั้น และพูดออกไปว่าคุณทำในสิ่งที่คุณคิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่มันไม่ได้ออกมาอย่างที่คุณคาดคิดไว้ แทนที่คุณจะไปแกล้งทำเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดพลาดนั้นเป็นความผิดของคนอื่น ซึ่งนี่จะทำให้คนอื่นชื่นชมกับการกระทำของคุณ
    • หากคุณได้ทำบางอย่างผิดพลาด การขอโทษจากใจจริงจะช่วยทำให้ทุกอย่างกลับมาเข้าที่เข้าทาง และทำให้คนอื่นรู้ว่าคุณเป็นคนที่พร้อมจะประนีประนอม มากกว่าที่จะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ [8]
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะพูดว่า “ฉันเสียใจสำหรับสิ่งที่ฉันได้ทำลงไป และฉันก็รู้ว่าตัวเองได้ทำผิดพลาดเหมือนกับที่คนอื่นเคยทำเช่นกัน”
  3. หากคุณเป็นคนชอบออกคำสั่ง สิ่งที่ยากที่สุดในโลกสำหรับคุณก็อาจจะเป็นการที่คุณต้องยอมรับว่าบางสิ่งบางอย่างต้องเป็นในแบบของมัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงาน กลุ่มเพื่อน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการได้ แม้ว่าจริงๆ อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่คุ้มค่าต่อการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คุณไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ และยิ่งคุณยอมรับความจริงเหล่านี้ได้เร็วเท่าไร นิสัยเจ้ากี้เจ้าการของคุณก็จะลดน้อยลงเร็วเท่านั้น และทำให้คุณกลายเป็นคนที่ใจเย็นและมีความความคิดที่นิ่งกว่าเดิม
    • พยายามฝึกยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยให้ถามตัวเองว่ามันใช่บางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในการควบคุมของคุณหรือไม่ และมันใช่บางสิ่งบางอย่างที่ให้ผลดีหรือเปล่าหากสิ่งเหล่านั้นถูกปรับเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น บางครั้งการปรับเปลี่ยนบางสิ่งโดยไม่จำเป็นอาจจะทำให้คนรอบตัวคุณโกรธได้ หากพวกเขาชอบแบบที่เป็นอยู่ก่อนหน้านั้น ดังนั้น ดูให้แน่ใจว่ามันคุ้มค่าจริงๆ ก่อนที่จะลงมือปรับเปลี่ยนสิ่งใดก็แล้วแต่
    • คุณอาจจะพูดกับตัวเองว่า “นี่เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้สำหรับฉัน แต่ฉันก็จะพยายามทำสุดความสามารถ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของฉัน”
    • แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ร้ายแรงอะไร หากคุณจะไม่ยอมรับบางสิ่งบางอย่าง เพราะถ้าหากมีบางสิ่งบางอย่างรอบๆ ตัวคุณที่ไม่เป็นผลดี บางทีการปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นงานที่น่าชื่นชมและมีความหมายได้
  4. รู้ว่าการเลิกควบคุมสิ่งต่างๆ นั้นสามารถกลายเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้. คุณอาจจะคิดว่าการเลิกควบคุมสิ่งต่างๆ นั้น หมายถึงการยอมรับว่าตัวเองล้มเหลว และหมายถึงว่าตัวคุณได้ล้มเลิกวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่สมบูรณ์แบบของตัวเองไป อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การเลิกควบคุมสิ่งต่างๆ นั้นสามารถกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าพอใจให้กับคุณได้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรอบข้างดีขึ้นเนื่องจากคุณยอมให้พวกเขามีส่วนร่วมในงานที่ทำอยู่เพียงเท่านั้น แต่มันยังทำให้คุณได้ผ่อนคลายความตึงเครียดของตัวเอง และยังทำให้คุณมีเวลาว่างให้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบทำ (และนั่นไม่ได้รวมถึงการออกคำสั่งกับคนรอบตัว) ซึ่งในตอนแรกคุณอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่คุณพอใจ แต่ยิ่งคุณทำมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งรู้สึกดีขึ้นเท่านั้น
    • เริ่มผ่อนปรนไปทีละน้อย เพราะคุณไม่จำเป็นที่จะต้องล้มเลิกหน้าที่ทุกอย่างที่ตัวเองมีในงานที่ทำอยู่หรือหยุดการตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ไปเสียดื้อๆ แต่แค่ให้คุณค่อยๆ เลิกควบคุมบางสิ่งบางอย่างไปทีละน้อยๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้เพื่อนร่วมงานพิสูจน์อักษรตัวรายงาน หรือปล่อยให้เพื่อนของคุณเลือกที่ๆ จะไปกินอาหารด้วยกัน ซึ่งคุณจะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
    • การเลิกควบคุมสิ่งต่างๆ นั้นสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของคุณได้ และบางทีก็อาจจะไปปรับปรุงสุขภาพร่างกายของคุณด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องดีสำหรับการผลิตผลงานบางอย่างออกมาหากคุณยอมรับว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้การเลิกควบคุมสิ่งต่างๆ ก็จะช่วยทำให้คุณเป็นคนที่ซีเรียสน้อยลง [9]
  5. ตั้งความคาดหวังที่ดูเป็นไปได้ให้กับคนอื่นๆ . [10] คนมีนิสัยชอบเจ้ากี้เจ้าการมักจะต้องการให้คนรอบๆ ตัวกลายเป็นใครคนอื่นมากกว่าที่จะเป็นตัวของพวกเขาเอง บางครั้งคุณอาจจะต้องการให้พวกเขาเป็นเพื่อนที่มีความเอาใจใส่มากขึ้น เป็นเพื่อนร่วมงานที่ทำงานหนักมากขึ้น หรือกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนที่มีนิสัยแบบนี้อาจจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่เปลี่ยนแปลงคนที่อยู่รอบๆ ตัวให้ได้ ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่หลายสถานการณ์ที่คนๆ หนึ่งต้องทำการปรับปรุง เช่น เพื่อนร่วมห้องที่สกปรก หรือเพื่อร่วมงานที่มักจะมาสาย ซึ่งปัญหาประเภทนี้ก็เป็นสิ่งคุ้มค่าที่จะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข แต่จำไว้ว่าคุณไม่สามารถคาดหวังให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงได้ เพราะว่ามันมีแต่จะทำให้คุณผิดหวังเปล่าๆ
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณมีเพื่อนร่วมห้องที่สกปรก คุณอาจจะขอร้องให้คนๆ นั้นช่วยล้างจาน เอาขยะออกไปทิ้งให้บ่อยกว่านี้ และทำความสะอาดพื้นที่ส่วนตัวของคนๆ นั้น โดยคุณอาจจะขอร้องในสิ่งเหล่านี้และก็หวังไว้ว่าคุณจะไม่ต้องไปเตือนเพื่อนคนนั้นอีกรอบ แต่ก็จำไว้ด้วยว่าคุณไม่สามารถคาดหวังให้เพื่อนคนนั้นปรับเปลี่ยนทุกอย่างได้ 100% ภายในครั้งเดียว
    • การมีความคาดหวังที่สูงและการมีความคาดหวังที่เกินสมควรนั้นแตกต่างกัน แน่นอน คุณสามารถคาดหวังให้คนที่ทำงานให้กับคุณทำงานต่อไปให้เสร็จ แต่คุณไม่สามารถที่จะบังคับทิศทางของคนอื่นได้ เว้นเสียแต่ว่าพวกเขามีความคาดหวังที่จะปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น
  6. หลายเหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการนั่นก็เพราะว่า พวกเขาขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง คุณอาจจะรู้สึกว่าคนอื่นจะไม่ชอบคุณหรือไม่ฟังคุณ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะไปออกคำสั่งและหยาบคาย และไปออกคำสั่งว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้น คุณต้องตระหนักไว้ว่าคุณเป็นคนที่คู่ควรแก่การรับฟัง และคุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่แรงกดดันมากไปเพื่อที่จะทำให้คนอื่นหันมาฟังคุณ ดังนั้น ให้คุณทำในสิ่งที่คุณรักที่จะทำ เข้าไปดูแลข้อผิดพลาดที่คุณสามารถดูแลได้ และตระหนักว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่าที่จะรับฟัง ซึ่งในครั้งแรกที่คุณจะฝึกเชื่อมั่นในตัวเอง ให้คุณใช้วิธีการต่อไปนี้ [11]
    • ทำรายการเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำได้ดี โดยให้ทำสิสต์เกี่ยวกับสิ่งที่คุณเชื่อว่าเป็นจุดแข็งของตัวเอง หากคุณมีปัญหาในการเขียนลิสต์ เพราะว่าคุณนึกถึงจุดแข็งของตัวเองออกมาเยอะเกินไป ให้คุณลองคิดดูดีๆ ว่ามีอะไรบ้างที่คนอื่นพูดว่าคุณทำได้ดีในหลายปีทีผ่านมานี้
    • ตั้งความคาดหวังที่เป็นไปได้ให้กับตัวเอง เพราะหนึ่งในสิ่งที่สามารถทำให้ตัวคุณยุ่งยากมากที่สุดก็คือ การมีความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น ให้คุณทบทวนสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่คุณคาดหวังให้ตัวเองทำ และถามตัวเองว่าสิ่งเหล่านั้นมันสมเหตุสมผลหรือยัง โดยคุณอาจจะปรึกษากับเพื่อนที่คุณไว้ใจหรือคนในครอบครัวเพื่อที่จะขอความคิดเห็นจากพวกเขาก็ได้
    • โฟกัสไปที่พัฒนาการให้มากกว่าการโฟกัสไปที่ความสมบูรณ์แบบ แทนที่คุณจะไปตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงๆ ให้คุณโฟกัสไปที่การพัฒนาและการปรับปรุงไปทีละน้อยจะดีกว่า ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพยายามที่จะเริ่มออกกำลังกาย ให้คุณโฟกัสอยู่กับการออกกำลังกายให้นานกว่าวันก่อนสัก 10 นาที ดีกว่าที่จะไปคาดหวังให้ตัวเองสามารถออกกำลังกายได้นานเป็น 2 ชั่วโมงได้ในทันที
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เลิกบังคับหรือควบคุมสิ่งต่างๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เลือกทำในสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับเวลาที่เสียไป. การควบคุมทุกการกระทำของคนอื่นอาจจะเป็นสิ่งที่ล่อใจคุณ และบางทีในตอนนั้นมันก็อาจจะให้ผลดีหากคุณเข้าไปแทรกการทำงานของคนอื่น แต่ในกรณีนี้ คุณต้องมั่นใจด้วยว่าคุณควรเลือกทำอะไรและมีอะไรที่คุณควรจะปล่อยผ่านบ้าง ดังนั้น ให้คุณเข้าไปจัดการกับสถานการณ์ที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น แทนที่จะเข้าไปจัดการกับสิ่งที่สามารถดำเนินต่อไปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณ ซึ่งนี่จะทำให้คนที่อยู่รอบตัวคุณมีที่ว่างให้พักหายใจและช่วยทำให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะคุณไม่จำเป็นต้องไปเช็คความเคลื่อนไหวของทุกคน และนั่นก็ทำให้คนอื่นไม่รู้สึกเหมือนกับว่าคุณกำลังจ้องมองทุกฝีก้าวของพวกเขา นอกจากนี้ การที่คุณเลือกทำในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ จะช่วยทำให้คนอื่นมีพื้นที่ว่างให้พวกเขาได้พักหายใจด้วย
    • มันอาจจะช่วยได้มากหากคุณถามกับตัวเองว่า “นี่ใช่สิ่งที่ฉันต้องใส่ใจจริงๆ เหรอ? คนอื่นๆ สามารถทำสิ่งนั้นได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า? มีสิ่งที่สำคัญกว่านี้หรือเปล่าที่ฉันจะสามารถทำประโยชน์ให้ได้?”
  2. คนที่มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการนั้นมักจะไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นเพราะพวกเขามักจะไม่ปล่อยให้สิ่งที่อยู่นอกแผนเกิดขึ้นและมักจะเกลียดคำว่า “แผนสำรอง” ซึ่งถ้าหากคุณต้องการหยุดเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ คุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แทนที่จะไปคาดหวังให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในแบบที่คิดไว้ อย่างเช่น คุณอาจจะตื่นเต้นกับการกินอาหารมื้อค่ำกับเพื่อนสนิทมาเป็นอาทิตย์ๆ แล้ว และอยากจะกินอาหารเม็กซิกันมากๆ ในขณะที่เพื่อนคนนั้นของคุณอยากจะกินซูชิเสียเหลือเกิน คุณก็อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นบ้าง หรือบางทีเพื่อนร่วมงานของคุณอาจจะขอวันพิเศษสำหรับให้พวกเขาได้สรุปรายงานเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่นานก่อนหน้านั้น ซึ่งเทคนิคต่อไปนี้ คือเทคนิคที่คุณสามารถนำไปใช้พัฒนาความยืดหยุ่นให้ชีวิตตัวเอง [12]
    • มองมุมมองที่แตกต่างจากเดิมบ้าง หากเพื่อนร่วมงานของคุณบอกว่าเขาต้องการจะทำงานด้วยวิธีการที่พวกเขาคิด ก่อนที่คุณจะโต้แย้งไอเดียของพวกเขา ให้ถามตัวเองก่อนว่าทำไมพวกเขาต้องการทำแบบนั้น พิจารณาความเห็นของพวกเขาให้ดีก่อนที่จะโต้แย้งไป และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่อยู่นอกเหนือมุมมองปกติของตัวเองด้วย
    • หลีกเลี่ยงการเหมารวมเพราะหลักการที่เชื่อกันอย่างทั่วไป ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเชื่อว่าคนที่มาก่อนย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ซึ่งนั่นก็อาจจะจริงในบางครั้ง แต่บางทีคนที่มาทีหลังก็อาจจะมาถูกจังหวะก็ได้ จำไว้เสมอว่ากฎแทบทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้นเสมอ
    • หลีกเลี่ยงการใส่น้ำหนักไปที่ความรู้สึกของความแน่นอนและความไม่แน่นอนเยอะจนเกินไป เพราะบางทีสัญชาตญาณของคุณก็ไม่ได้ถูกเสมอไป จริงอยู่ที่คุณควรจะกล้าใช้ความรู้สึกของตัวเองในการพิจารณาบางอย่าง แต่บางครั้งมันจะดีกว่า หากคุณรอและสังเกตการณ์ไปก่อน ดีกว่าที่จะใช้แต่สัญชาตญาณของตัวเองตลอดเวลา
  3. หลายคนมีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการก็เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถรับมือกับความคิดที่ว่าอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ พวกเขามักชอบกังวลว่าอาจจะมีใครบางคนมาสายไป 5 นาที หรือกังวลว่างานที่ทำไปจะไม่เป็นไปในแบบที่อยากให้เป็น หรือกังวลว่าตัวเองจะต้องไปในที่ๆ ไม่เคยเห็นมาก่อน แทนที่จะได้ไปในที่ๆ พวกเขาต้องการจะไป ดังนั้น หากนิสัยชอบเจ้ากี้เจ้าการของคุณนั้นมีสาเหตุมาจากความกังวลว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดมาทำให้การทำสิ่งต่างๆ ของคุณสะดุดลง บางทีคุณอาจจะต้องเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะเก็บความกังวลเอาไว้ไกลๆ แล้วล่ะ
    • หากความวิตกกังวลของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก คุณสามารถลดความกังวลเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง เช่น นั่งสมาธิ ดื่มกาเฟอีนให้น้อยลง และออกกำลังกาย [13]
    • คุณอาจจะเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองด้วยการใช้คำพูดบางอย่าง หากคุณเริ่มรู้สึกจมอยู่กับความกังวล ให้คุณพูดบางอย่างกับตัวเองเช่น “ความวิตกกังวลของฉันไม่มีทางที่จะควบคุมตัวฉันได้” หรือ “ฉันปลอดภัยและถูกปกป้องไว้” [14]
    • หากคุณทรมานอยู่กับความวิตกกังวลที่มีเยอะมากในตัวคุณ และนอนไม่หลับทั้งคืนเพราะความกังวล หรือกระสับกระส่ายเพราะว่าคุณรู้สึกกังวลมาก หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสมาธิเพราะมัวแต่ไปกังวลอยู่กับสิ่งที่อาจจะผิดพลาดได้ บางที่คุณอาจจะต้องพบผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตแล้วล่ะ
  4. สำหรับคนที่มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการจริงๆ นั้น การปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับพวกเขา แต่ถ้าหากคุณได้ลองปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจบ้าง คุณจะพบว่าจริงๆ มันไม่มีอะไรที่จำเป็นจะต้องไปกังวล ซึ่งถ้าคุณอยากฝึกที่จะปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจบ้าง ให้คุณเริ่มต้นกับสิ่งเล็กๆ ก่อน เช่น หากคุณออกไปเที่ยวข้างนอกกับเพื่อน ให้คุณปล่อยให้เพื่อนเลือกหนังที่จะดูหรือร้านอาหารที่จะไปกิน หากคุณอยู่ในที่ทำงาน ให้คุณปล่อยให้เพื่อนร่วมงานของคุณสักคนตัดสินใจว่ารายงานที่ต้องทำควรจะจัดเป็นรูปแบบไหน หรือตัดสินใจว่าใครในแผนกอื่นที่ควรจะอยู่ในวงสนทนาด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นวิธีการเปิดเผยตัวเองเพื่อที่จะปล่อยวางนิสัยชอบควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีประสิทธิภาพ และแสดงให้ตัวคุณเห็นว่าไม่มีอะไรเลวร้าย หากคุณจะปล่อยวางบางสิ่งไปบ้าง [15]
    • หากคุณเป็นที่รู้จักในเรื่องของความเจ้ากี้เจ้าการ นั่นอาจจะทำให้คนอื่นประหลาดใจมากและพวกเขาอาจจะชื่นชมในตัวคุณเมื่อคุณได้ให้โอกาสกับพวกเขา
    • คุณอาจจะหายใจลึกๆ แล้วพูดว่า “ทำไมคุณไม่ลองตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการของพวกเราดูล่ะ? เพราะฉันก็ไม่ขัดข้องอะไรอยู่แล้ว”
  5. คนมีนิสัยชอบเจ้ากี้เจ้าการมักจะมีปัญหาในการทำสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกแผนการที่ตัวเองวางไว้ ดังนั้น ให้คุณพยายามต่อสู้กับนิสัยเดิมๆ ของคุณและลองมองหาหนทางในการทำบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือกิจวัตรที่ตัวเองเคยทำ คุณอาจจะจัดโรดทริปแบบกระทันหันกับเพื่อนๆ หรืออาจจะทำงานอดิเรกอันใหม่ที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนจนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือเรียนรู้วิธีการเต้นรูปแบบใหม่ หรือไม่อยู่ดีๆ คุณก็อาจจะร้องเพลงขึ้นมาก็ได้ โดยให้คุณทำอะไรก็ได้ที่ปกติคุณไม่ค่อยได้ทำและเพลิดเพลินไปกับความแปลกใหม่เหล่านี้ ไม่นานคุณก็จะตระหนักได้ว่ามันสนุกที่จะทำอะไรออกนอกกรอบ และมันก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกรายละเอียดของชีวิตอยู่ในการควบคุมเสมอไป [16]
    • การใช้เวลาอยู่กับคนที่ไม่ยึดติดกับการวางแผนอนาคตให้มากขึ้นนั้น สามารถทำให้คุณลดนิสัยชอบวางแผนให้กับตัวเองได้
    • ลองดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อคุณปล่อยให้วันหยุดของตัวเองปราศจากแผน แทนที่จะวางแผนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน บางทีคุณอาจจะพบเจอกับการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เป็นได้
    • โทรหาเพื่อนแล้วบอกว่า “เฮ้พวก! วันหยุดนี้อยากจะออกไปผจญภัยข้างนอกกันหรือเปล่า?” โดยคุณอาจจะช่วยกันระดมความคิดกับเพื่อนๆ ก็ได้
  6. อีกสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำเพื่อหยุดเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการก็คือ มอบหมายงานที่คุณต้องทำให้เสร็จให้คนอื่นทำบ้าง หากคุณกำลังวางแผนจัดงานแต่งของตัวเอง แทนที่คุณจะไปตะโกนสั่งคนอื่น ให้คุณขอให้เพื่อนของคุณสักคนช่วยคุณเลือกดอกไม้ ขอให้อีกคนช่วยทำการ์ดเชิญ ฯลฯ และอย่าจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองหมด แล้วไปสั่งให้คนอื่นทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ในครั้งเดียว ให้ดูให้ดีก่อนว่าคุณอยากจะให้ใครทำอะไร นี่จะทำให้คุณพบว่าการแบ่งงานกันทำนั้นย่อมดีกว่าการที่เราไปสั่งคนอื่นเยอะ และต่อไปนี้ก็คือประโยชน์ที่ได้จากการแจกจ่ายงานกัน
    • การมอบหมายหน้าที่ทำให้คุณสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ดี และอีกทั้งยังช่วยทำให้คุณทำงานร่วมกับคนอื่นได้ โดยที่ทุกคนก็กำลังทำงานที่ดีที่สุดของตัวเองเช่นเดียวกันกับคุณ
    • การแบ่งหน้าที่กันนั้นจะสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะมันแสดงให้คนรอบตัวคุณเห็นว่า คุณเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขา และเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำงานที่คุณมอบหมายให้เสร็จได้
    • การมอบหมายงานหน้าที่ให้แต่ละคนไปทำนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เพราะแทนที่คุณจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก แต่ถ้าหากคุณแบ่งงานกันทำ คุณก็จะมีคนช่วยทำงานหลายคน และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งนี่จะช่วยให้งานออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
    • ถามอย่างสุภาพเมื่อกำลังจะมอบหมายงานให้คนอื่น โดยคุณอาจจะพูดว่า “คุณยินดีที่จะทำงานนี้ให้ฉันหรือเปล่า?”
  7. อีกหนึ่งสิ่งที่คนเจ้ากี้เจ้าการชอบทำก็คือ การบอกคนอื่นว่าพวกเขาควรจะทำอะไรหรือควรจะทำตัวยังไง ทั้งๆ ที่คนอื่นไม่ได้เรียกร้องหรือขอคำแนะนำใดๆ แต่ถ้าหากเพื่อนของคุณขอคำแนะนำจากคุณ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเพื่อนของคุณต้องการที่จะทำบางสิ่งด้วยตัวเอง คุณก็ไม่จำเป็นต้องไปบอกว่าพวกเขาควรจะเลิกกับแฟนหรือควรจะไปตัดผมใหม่ หรืออะไรทั้งนั้น ดังนั้น ให้คำนึงถึงความต้องการของคนอื่นเขาไว้ และให้คำแนะนำแค่เฉพาะตอนที่คนอื่นขอหรือต้องการความช่วยเหลือจากคุณจริงๆ แทนที่จะทำตัวเหมือนกับว่าคุณรู้ทุกอย่าง และคิดว่าวิธีของตัวเองนั้นดีที่สุด
    • การให้คำแนะนำโดยที่คนอื่นยังไม่ได้ขอนั้น จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าคุณไม่เชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขา ซึ่งมันเป็นวิธีที่แย่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ [17]
    • คนอื่นจะอาจจะไม่ทำตามคำแนะนำของคุณหากคุณแนะนำไปทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ได้ขอ บางทีนั่นอาจจะทำให้คุณเสียเวลากับสิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดก็ได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • การเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการนั้นไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามันจะทำให้คุณกลายเป็นเจ้านายที่ดีได้
โฆษณา

คำเตือน

  • หากคุณอยู่ในตำแหน่งผู้นำ บางครั้งคุณก็จำเป็นต้องชี้แนะแนวทางให้กับคนอื่น ดังนั้น ให้คุณหลีกเลี่ยงการคิดว่าตัวคุณไม่สามารถสั่งงานคนอื่นหรือแสดงตัวเป็นเจ้านายได้ เพียงเพราะว่าคุณไม่อยากจะกลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการในสายตาคนอื่น
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,114 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา