ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เพื่อนที่มักจะคิดอะไรในแง่ลบอาจทำให้เราพลอยรู้สึกแย่กับชีวิตตนเองไปด้วย ถ้าเราเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนที่ดี เราก็คงอยากช่วยเหลือเขาให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้น ถึงแม้บางครั้งเวลาอยู่กับเพื่อน เราอาจเผลอคล้อยตามความคิดหรือคำพูดของเขาก็ตาม บทความนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนที่มักจะคิดลบอยู่เสมอ พออ่านจบแล้ว เราอาจเริ่มเข้าใจเขามากขึ้นและอาจโน้มน้าวให้เพื่อนหันมาเห็นด้านดีในชีวิตของตนเองได้บ้าง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

รับมือกับความคิดในแง่ลบของเพื่อน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การว่ากล่าวเพื่อนในเรื่องที่เขาเอาแต่คิดลบนั้นอาจทำให้เพื่อนยิ่งรู้สึกแย่และอาจเมินหน้าหนีเราด้วย ไม่มีใครอยากฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งถ้าเป็นคนที่คิดลบและรู้สึกแย่อยู่แล้วด้วย ก็ยิ่งไม่อยากรับฟังเข้าไปใหญ่ [1] การพยายามบอกให้เขารู้ตัวอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงและทำให้เพื่อนรู้สึกเหมือนโดนตำหนิ ฉะนั้นพยายามเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เพื่อนคิดบวกมากขึ้นจะดีกว่า
  2. ถ้าเราเอาความสุขของตนเองไปขึ้นอยู่กับคนที่เอาแต่คิดลบ เราก็จะไม่มีทางมีความสุขแน่ ฉะนั้นรักษาระยะห่างกับเพื่อนที่คิดอะไรในแง่ลบ พยายามอย่าคล้อยตามความคิดและความรู้สึกของเขามากจนเกินไป นอกจากนี้อย่าลืมช่วยเพื่อนแก้ปัญหาของเขาด้วยเพื่อรักษาความสุขของตนเองไว้ [2]
  3. วิธีหนึ่งซึ่งได้ผลดีที่สุดในการช่วยเพื่อนที่มักจะคิดลบอยู่เสมอและเป็นการช่วยตัวเราเองด้วยคือพยายามคิดในแง่บวกเสมอ ถึงแม้เพื่อนของเรามักจะคิดลบเป็นประจำก็ตาม การทำแบบนี้จะช่วยให้เรายังคงมีความสุขและเป็นการแสดงให้เพื่อนคนนั้นเห็นว่าโลกใบนี้ยังมีทางเลือกที่ดีให้เขาเสมอ
    • ห่างเพื่อนบ้าง มนุษย์สามารถ “ซึมซับ” อารมณ์ความรู้ต่างๆ ได้ พูดอีกอย่างคืออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนรอบตัวเราอาจมีผลต่อเราได้ [3] ถึงแม้เราจะเป็นคนคิดบวกมาก แต่ถ้าเราอยู่กับผู้คนที่คิดลบมากเกินไป จะให้ยังคงมองโลกในแง่ดีอยู่ก็คงยาก ฉะนั้นบางครั้งอาจต้องอยู่ห่างจากเพื่อนที่คิดลบเพื่อพักใจบ้างเหมือนกัน
    • อีกวิธีหนึ่งที่จะรักษาความคิดบวกของเราเอาไว้ได้คือใคร่ครวญความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้น ถ้ารู้ว่าความรู้สึกลบมีผลกับเรา ลองทบทวนและเตือนตนเองว่าเราไม่ได้รู้สึกแย่แบบนั้น ตัวอย่างเช่น “ฉันเริ่มรู้สึกไม่พอใจบริกรเพราะเพื่อนของฉันบ่นเรื่องการบริการของเขาให้ฟังถึงห้านาที ความจริงแล้วฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับบริกรคนนั้นหรอก ฉะนั้นฉันจึงไม่ได้โกรธเคืองอะไรเขา” ถ้าเราได้ทบทวนตนเองแล้ว เราก็จะไม่คล้อยตามความคิดลบของเพื่อน [4]
    • มีอารมณ์ขัน การมองเหตุการณ์แย่ๆ ในมุมที่ตลกขบขันอาจช่วยต่อต้านแรงกระตุ้นตามธรรมชาติของสมองที่ทำให้เรามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่ลบ [5] สมมติว่าเพื่อนเอาแต่บ่นไม่หยุดเรื่องที่รถยนต์สตาร์ทไม่ติด เราอาจทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงและเพิ่มอารมณ์ขันด้วยการพูดว่า “โชคไม่ดีเลยที่รถนายสตาร์ทไม่ติด เอาอย่างนี้ ไปรถเมล์กันไหม ไหนๆ นายก็อยากออกกำลังกายอยู่แล้วนี่”
    • รู้ว่าความคิดในแง่ลบของเพื่อนบางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผล ถ้าเรารู้ว่าความคิดลบนั้นไม่สมเหตุสมผล ก็อาจทำให้เราสามารถปล่อยวางความคิดนั้นและกลับมาคิดบวกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนเอาแต่บ่นว่าการดูหนังคืนนี้ไม่สนุกเพราะต้องดูหนังแบบ 2D แทนที่จะเป็น 3D ถ้าลองใคร่ครวญดู ก็จะรู้ว่าการพูดแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด เพราะอย่างไรเสียเราก็ยังได้ดูหนังและหนังเรื่องนั้นก็ยังคงสนุกสำหรับเราอยู่ดี ฉะนั้นอย่าไปสนใจสิ่งที่เพื่อนพูด [6]
  4. เราอาจเผลอคิดลบไปกับเพื่อนด้วย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้คนมักจะทำกิจกรรมที่ไม่สนุกร่วมกับเพื่อนมากกว่าทำกิจกรรมสนุกๆ คนเดียว [7] อย่างไรก็ตามการเสริมแรงทางลบจะยิ่งทำให้คิดลบมากขึ้น เพื่อนจะคิดว่าเรายอมรับสิ่งที่เขาเป็นและเราอาจเป็นคนที่ทำให้เพื่อนคิดลบมากขึ้นไปอีก
  5. ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันจะทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุข [8] ความเห็นอกเห็นใจมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น ป้องกันไม่ให้เราเครียดและเพิ่มความผูกพันทางสังคม ความผูกพันทางสังคมก็มีประโยชน์ เช่น เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ความเห็นอกความเห็นใจยังช่วยผู้อื่นได้ด้วย การแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้ผู้อื่นเห็นอกเห็นใจเราเช่นกัน การที่เราให้โดยไม่หวังผลตอบแทนก็จะทำให้ผู้อื่นให้เราโดยไม่หวังผลตอบแทนเช่นกัน ฉะนั้นการเห็นอกเห็นใจจึงเป็นวิธีการที่ดียิ่งวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราและผู้คนรอบข้างมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี
    • ตัวอย่างเช่น หาวิธีช่วยเพื่อนเมื่อเขาประสบปัญหา สมมติว่ารถของเขาสตาร์ทไม่ติด อาจอาสาพาเขาไปส่งถึงจุดหมายปลายทางหรือต่อสายพ่วงแบตเตอรี่ให้ ถ้าเพื่อนมีปัญหาเรื่องครอบครัว ก็ให้เขาได้พูดระบายกับเรา การแสดงความเห็นอกเห็นใจกันสักหน่อยจะก่อให้เกิดผลอันใหญ่หลวงทั้งกับเพื่อนและตัวเรา
  6. “การยุติ” ความเป็นเพื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่บางครั้งเราก็ไม่มีทางเลือกอีกแล้ว การไม่สนใจความคิดหรือคำพูดที่ไม่ดีของเพื่อนและการยอมรับทุกอย่างที่เพื่อนเป็นโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามบางครั้งเพื่อนคนนั้นอาจคิดและพูดอะไรในแง่ร้ายมากเกินไป เราจึงต้องยุติความเป็นเพื่อนกับเขาไป ถ้าจำต้องเลิกคบเพื่อน ก็ให้คิดเสียว่าดีแล้วที่เรายังรักตนเองพอที่จะกล้าเลิกคบเพื่อนที่คิดและพูดอะไรในแง่ร้ายตลอดเวลาแบบนั้น [9]
    • บางครั้งคำพูดในแง่ลบของเพื่อนอาจกระตุ้นเราให้นึกถึงความทรงจำที่ไม่ดีหรือความทรงจำที่เป็นบาดแผลลึกในใจ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราหายขาดจากการติดสารเสพติดแล้ว แต่เพื่อนของเราเอาแต่พร่ำบ่นว่าครอบครัวต้องการให้เขาเลิกดื่มสุรา คำบ่นของเพื่อนอาจทำให้เรานึกถึงเรื่องที่ไม่ดีในอดีต ถ้าเพื่อนของเรายังพูดอะไรที่เป็นการ “กระแทกกระทั้น”เรา หรือทำให้เราเจ็บปวด ให้ตัดสินใจเดินจากไปดีกว่า
  7. การเข้าพบนักบำบัดอาจเป็นประโยชน์ ถ้าเราต้องการรักษามิตรภาพไว้แต่ไม่สามารถรับมือกับความคิดและคำพูดในแง่ลบของเพื่อนได้ นักบำบัดจะช่วยเราหาวิธีการรับมือปัญหาเหล่านี้และช่วยเราให้รู้จักปรับความคิดของตนเองไปในทางที่ดีและเป็นประโยชน์ ทำให้เรายังคงสามารถคิดบวกได้อยู่ ไม่ว่าเพื่อนของเราจะคิดหรือพูดอะไรในแง่ลบแค่ไหนก็ตาม
    • ถ้าเพื่อนของเราเป็นคนคิดลบขั้นรุนแรง เช่น เอ่ยถึงการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตนเอง ลองพูดคุยกับพ่อแม่ ครู นักให้คำปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนของเราอาจต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่เราจะให้ได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

สื่อสารให้สัมฤทธิผล

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าไม่อยากให้เพื่อนคิดหรือพูดอะไรในแง่ลบมากขึ้น ก็พยายามอย่าตำหนิหรือตั้งตัวเป็นศัตรู ถ้าอยากบอกเพื่อนว่าเขานั้นมองสถานการณ์ต่างๆ ในแง่ร้ายเกินไป ลองหาวิธีพูดให้เพื่อนยอมรับฟังดีกว่า [10]
    • เน้นใช้คำว่า “ฉัน” มากกว่าใช้คำว่า “เธอ” ตัวอย่างเช่น “เลิกคิดอะไรในแง่ลบเสียที” เป็นคำพูดที่ไม่ให้ผลดีเท่า “ฉันรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นายคิด” คำว่า “ฉัน” ฟังดูไม่เป็นการตัดสินผู้อื่น จึงทำให้อีกฝ่ายยอมรับฟังเรามากขึ้น
  2. สิ่งที่เราพูดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่น้ำเสียงและท่าทีนั้นสำคัญ [11] การใช้น้ำเสียงกระโชกโฮกฮากหรือแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงแทนที่จะดีขึ้น
    • ค่อยๆ สบตาและพยักหน้าแสดงการรับรู้สิ่งที่เพื่อนพูด ถ้าเราเห็นด้วย การทำแบบนี้จะช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดี
    • รักษาน้ำเสียงให้ราบเรียบ การยังคงรักษาท่าทีให้สงบเยือกเย็นไว้ได้ในตอนที่เพื่อนของเราอารมณ์ไม่ดีอาจช่วยให้เขาตระหนักว่ายังมีวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์วิธีอื่นอยู่
  3. ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพูดอย่างช้าๆ จะทำให้ผู้ฟัง “ใส่ใจและเห็นใจ” เรา [12] ฉะนั้นอย่าลืมปรับความเร็วในการพูดด้วยเพื่อจะได้พูดคุยกับเพื่อนอย่างได้ผล
  4. เราอยากแสดงความเห็นอกเห็นใจและความคิดบวกในการพูดคุยกับเพื่อน แต่เขาอาจไม่ยอมรับฟังเรา บางครั้งเพื่อนอาจพยายามหาเหตุผลมาหักล้างความเห็นของเรา ฉะนั้นหนักแน่นเข้าไว้เมื่อมีโอกาสได้แสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากที่เพื่อนคิด การยืนยันความคิดเห็นของตนจะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่มีคนเดียวเท่านั้นที่ได้ทุกอย่างที่ตนเองต้องการ [13]
    • บอกให้ชัดเจนว่าตนเองปรารถนา อยากได้ และต้องการอะไร พูดตรงๆ จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น เราอาจพูดว่า “การที่เธอทำตัวแบบนี้ทำให้ฉันไม่สบายใจ พอแค่นี้กันก่อนดีกว่า แล้วค่อยกลับมาพูดคุยกันทีหลังถ้าเธอต้องการ”
    • แสดงความเห็นใจด้วย ตัวอย่างเช่น “ฉันเข้าใจว่าเธออยากพูดคุยเรื่องอยู่ แต่ฉันไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยเรื่องนี้ ฉะนั้นขอตัวนะ”
    • จำกัดเวลา ตัวอย่างเช่น “ฉันฟังเธอบ่นมาห้านาทีแล้ว เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นกันเถอะ เราทั้งคู่จะได้เลิกรู้สึกหงุดหงิดและหดหู่เสียที” [14]
  5. ถ้าเพื่อนเอาแต่พูดเรื่องต่างๆ ในแง่ลบ เราต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนไปพูดเรื่องที่มั่นใจว่าจะทำให้เพื่อนของเราอารมณ์ดีขึ้น [15] การเพิ่มสิ่งดีๆ ให้กับสถานการณ์อาจทำได้ง่ายและได้ผลดีกว่าพยายามหาเหตุผลมาคัดค้านคำพูดในแง่ลบ
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนของเรากำลังบ่นถึงความโชคร้ายในการทำงานวันนี้ ลองชวนเขาไปเล่นโบว์ลิ่งหรือดูหนัง อาสาออกค่าตั๋วหนังให้ด้วยก็ได้
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

หาสาเหตุและช่วยแก้ไข

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การมองโลกในแง่ร้ายคือการคาดว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจะเป็นไปในทิศทางที่เลวร้าย โดยปกติคนเราจะเริ่มมองโลกในแง่ร้ายเพราะเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของตน “เคย” เป็นไปในทิศทางที่เลวร้าย [16] คนที่มองโลกในแง่ร้ายจึงดูเหมือนมักคิดอะไรในแง่ลบเพราะคนเหล่านี้เลิกคิดและนึกถึงความเป็นไปได้อื่นๆ เร็วเกินไป บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยประสบพบเจอเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต จึงย่อมต้องมองโลกในแง่ร้ายเป็นธรรมดา
    • คนที่มองโลกในแง่ร้ายอาจเห็นว่าการคิดบวกคือ “การไม่ยอมรับความจริง” หรือไม่ยอมรับรู้ปัญหาของชีวิต เราอาจช่วยกระตุ้นให้เพื่อนคิดบวกด้วยการแสดงความคิดบวกของตนเองออกมาในตอนที่ปฏิสัมพันธ์กับเขา [17]
    • ตัวอย่างเช่น สมมติเพื่อนที่มองโลกในแง่ร้ายพูดว่า “ฉันจะไม่ไปสัมภาษณ์งานนี้หรอก เพราะถึงยังไงฉันก็ไม่ได้งานนี้อยู่แล้ว” คนที่มองโลกในแง่ดีเกินไปอาจตอบไปว่า “โธ่ เธอต้องได้งานอยู่แล้วล่ะน่า! ไม่มีทางที่เธอจะไม่ได้งานหรอก!” ถึงแม้คำพูดอาจฟังดูดี แต่ก็ไม่ช่วยอะไรเพราะมันไม่ได้เป็นความจริงและไม่ได้ช่วยคลายความกังวลใจของเพื่อนลงได้
    • ฉะนั้นคำพูดของเราควรแสดงความคิดในแง่ดีแต่ก็ต้องเป็นความจริงด้วย ตัวอย่างเช่น “เธออาจจะไม่ใช่ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแน่งนี้มากที่สุดก็จริง...แต่เธอจะไปรู้ได้ยังไงว่าตนเองจะได้งานหรือเปล่า ถ้าไม่สมัครดูก่อน เธอเองก็มีคุณสมบัติที่บริษัทต้องการอยู่เหมือนกันนะ สมัครไปก็ไม่มีอะไรเสียหายไม่ใช่เหรอ”
  2. โรคซึมเศร้าคือความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการแสดงให้เห็นเช่น รู้สึกสิ้นหวัง ไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเรื่องอะไรได้ และรู้สึกเหนื่อยล้าไม่หาย โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุของความคิดและความรู้สึกในแง่ลบ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจลักษณะของโรคนี้ เราก็อาจเข้าใจเพื่อนที่ชอบคิดลบและอาจมีอาการของโรคนี้ได้ โรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของบุคคล เช่น พันธุกรรม สภาพครอบครัว และสภาพสังคม คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะไม่ค่อยมีกำลังทำอะไร เพราะบุคคลเหล่านั้นรู้สึกเหนื่อยและ “หมดแรง” จึงดูมองโลกในแง่ร้ายและไม่มีความสุขเลย [18]
    • คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่สามารถ “คลาย” ความรู้สึกแย่ได้เลย แต่ก็ยังสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ด้วยการบำบัดและยา
    • อาการอื่นๆ ของโรคซึมเศร้าได้แก่ รู้สึกเศร้าหรือร้องไห้บ่อยๆ ฉุนเฉียวง่าย ไม่ค่อยสนใจทำในสิ่งที่ตนชอบทำ น้ำหนัก การนอนหลับ หรือความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง รู้สึกผิดหรือคิดว่าตนไร้ค่า คิดทำร้ายตนเองบ่อยๆ หรือถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย [19]
  3. โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่รุนแรงซึ่งทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ยาก เราไม่สามารถ “รักษา” โรคซึมเศร้าของเพื่อนให้หายได้ แต่ถ้าเราสังเกตเห็นอาการและเป็นห่วง การเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนอาจเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่งที่ทำให้เพื่อนเห็นถึงความห่วงใยและใส่ใจของเราจนยอมเข้ารับการรักษาก็เป็นได้ [20]
    • เลือกใช้ถ้อยคำที่เน้นคำว่า “ฉัน” เช่น “ช่วงนี้ฉันสังเกตเห็นว่าเธอไม่ค่อยอยากออกไปเที่ยวเหมือนเมื่อก่อน ฉันเป็นห่วงเธอนะ มีปัญหาอะไรอยากระบายให้ฉันฟังบ้างไหม”
    • ไต่ถาม อย่าคิดว่าเรารู้เรื่องที่เกิดขึ้น ถามเพื่อนเช่นว่า “รู้สึกแบบนี้มาสักพักแล้วเหรอ มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า”
    • ให้การช่วยเหลือ เราควรให้เพื่อนรู้ว่าเราเป็นห่วงและยินดีที่จะช่วยเหลือเสมอ โดยปกติคนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าตนเองนั้นแย่มากหรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าอยู่แล้ว ฉะนั้นจงให้เพื่อนรับรู้ว่าเราเป็นห่วงและยินดีที่จะช่วยเหลือ อาจพูดว่า “เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่ถ้าเธอไม่อยากพูดคุยตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเธอพร้อมพูดเมื่อไหร่ ฉันพร้อมรับฟังเสมอ”
    • คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจตอบโต้ด้วยความโกรธหรือความฉุนเฉียว ไม่ยอมให้เราช่วยเหลือ อย่าถือว่าเป็นความผิดของเราและอย่าบีบบังคับเพื่อนด้วย [21]
  4. โรควิตกกังวลอาจเป็นสาเหตุของความหงุดหงิดและความฉุนเฉียว คนที่เป็นโรควิตกกังวลอาจรู้สึกไร้พลังในการดำเนินชีวิตหรือหวาดกลัวสิ่งที่ดูเหมือนไม่น่ากลัวสำหรับคนอื่น คนที่เป็นโรคนี้อาจเอาแต่ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ตนเองกลัวมากเกินไปจนวุ่นวายใจและไม่เป็นอันทำอะไร [22] [23] คนที่เป็นโรควิตกกังวลอาจตกใจและอ่อนไหวง่ายกว่าคนทั่วไป จึงทำให้คิดลบและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี
    • ถ้าเพื่อนของเราดูเหมือนวิตกบ่อยๆ หรือรู้สึกว่าไม่สามารถ “ควบคุม” ชีวิตของตนเองได้ แสดงว่าเพื่อนคนนั้นอาจกำลังเป็นโรควิตกกังวลอยู่ก็เป็นได้
    • โรควิตกกังวลเป็นความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าแต่สามารถรักษาได้ เราอาจไม่สามารถ “รักษา” โรควิตกกังวลของเพื่อนให้หายได้ แต่เราสามารถแสดงความห่วงใยและช่วยเหลือเพื่อนได้
  5. สนับสนุนเพื่อนให้เข้ารับการรักษาโรควิตกกังวล. หลายคนที่เป็นโรควิตกกังวลนั้นรู้สึกแย่ที่ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตนเองได้ จึงยิ่งกังวลหนักมากขึ้นไปอีก เพื่อนอาจรู้สึกว่าการยอมเข้ารับการรักษาเป็นการแสดงความอ่อนแอหรือแสดงให้เห็นว่าตัวเองนั้นเป็น “คนบกพร่อง” ฉะนั้นให้กำลังใจเพื่อนเพื่อเขาจะได้ยอมรับการรักษา [24]
    • ใช้ถ้อยคำโดยเน้นคำว่า “ฉัน” เมื่อจะพูดคุยกับเพื่อนเรื่องอาการวิตกกังวลของเขา อย่าทำให้เพื่อนรู้สึกแย่ด้วยการพูดว่า “นายต้องรักษาโรคซึมเศร้าให้หาย” แต่ให้พูดแสดงความห่วงใยเช่นว่า “ฉันรู้สึกว่านายมีอาการวิตกกังวลและเครียดมากช่วงหลายวันมานี้ เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับนายหรือเปล่า”
  6. ทำให้เพื่อนรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง. คนที่ขาดความมั่นใจหรือขาดความภูมิใจในตนเองจะคิดบวกและตอบรับเหตุการณ์ดีๆ ได้ยาก [25] การกลัวว่าจะถูกปฏิเสธหรือกลัวว่าจะพบความเจ็บปวดหนักกว่าเดิมนั้นเป็นการปกป้องตนเอง ฉะนั้นการเข้าใจถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกเหล่านี้จึงอาจช่วยให้เราหาวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เราสามารถช่วยเพื่อนสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเขาเองได้หลายวิธี [26]
    • ให้การตอบรับที่ดี การเอาชนะสัญชาตญาณในการป้องกันตัวเองต้องใช้เวลา เมื่อเราเห็นเพื่อนดีขึ้นแม้แต่เพียงน้อยนิด ก็ควรให้การตอบรับเขาเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น “ฉันดีใจมากเลยที่เธอตัดสินใจมาเล่นโบว์ลิ่งกับพวกเราวันนี้! ฉันคิดถึงเธอมากนะ”
    • ให้กำลังใจเพื่อน การเอาชนะความคิดและความรู้สึกในแง่ลบนั้นยากจนเพื่อนอาจท้อแท้และกลับไปทำตัวแบบเดิมได้ ฉะนั้นหาวิธีให้กำลังใจเพื่อนอยู่เสมอ
    • รับฟังเพื่อน ผู้คนมากมายอาจรู้สึกน้อยใจเพราะเห็นว่าผู้อื่นไม่รับฟังหรือใส่ใจเขา ฉะนั้นหาเวลารับฟังเพื่อนบ้าง รับรู้ปัญหา และแบ่งบันความคิดของเรากับเพื่อนบ้าง การทำแบบนี้จะทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในชีวิตของเราและทำให้เพื่อนได้รับรู้ว่าเขานั้นมีความสำคัญต่อเรา
  7. [27] เรามักจะคิดกันว่าการทำพฤติกรรมไม่ดีเป็นสิ่งที่บุคคลนั้นเลือกเอง แต่ความจริงแล้วมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก ความคิดในแง่ลบไม่ว่ามาจากโรคซึมเศร้า การมองโลกในแง่ร้าย โรควิตกกังวล การขาดความมั่นใจ หรือสาเหตุอื่นๆ ไม่ใช่ความคิดที่เราสามารถควบคุมได้ แต่ก็มีวิธีการลดความคิดในแง่ลบอยู่ ฉะนั้นการตัดสินว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนคิดลบจึงอาจทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงได้
    • พึงระลึกไว้ว่าเราไม่สามารถ “แก้” ปัญหาให้เพื่อนได้ แต่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ อย่าลืมดูแลตนเองด้วย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • แนะนำให้เพื่อนเข้าพบนักบำบัด ถ้าเราคิดว่าเพื่อนของเราอาจมีปัญหาเรื่องอารมณ์
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่านินทาเพื่อนลับหลัง เพราะการทำแบบนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาระหว่างเราและเพื่อนได้
  • ถ้าเพื่อนของเราเคยเอ่ยถึงการทำร้ายตนเองหรือคิดจะฆ่าตัวตาย อาจเตรียมหาเบอร์สายด่วนเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายเอาไว้หรือขอให้เพื่อนโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323


โฆษณา
  1. https://www.psychologytoday.com/blog/the-moment-youth/201303/negativity-is-second-hand-smoke
  2. https://www.psychologytoday.com/blog/the-moment-youth/201303/negativity-is-second-hand-smoke
  3. https://www.psychologytoday.com/blog/words-can-change-your-brain/201207/the-8-key-elements-highly-effective-speech
  4. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%204.pdf
  5. http://www.forbes.com/sites/travisbradberry/2014/10/21/how-successful-people-handle-toxic-people/2/
  6. https://www.psychologytoday.com/blog/wander-woman/201104/what-do-about-negative-conversations
  7. http://www.thepositivepsychologypeople.com/optimism-vs-pessimism/
  8. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/positive-thinking/art-20043950
  9. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/basics/definition/con-20032977
  10. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/basics/symptoms/con-20032977
  11. http://www.helpguide.org/articles/depression/helping-a-depressed-person.htm
  12. http://www.helpguide.org/articles/depression/helping-a-depressed-person.htm
  13. http://psychcentral.com/disorders/generalized-anxiety-disorder-symptoms/
  14. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anxiety/basics/symptoms/con-20026282
  15. http://www.adaa.org/finding-help/helping-others/friends-and-relatives
  16. http://www.rebeccapropstphd.com/low-self-esteem-and-insecurity/
  17. https://mitalk.umich.edu/article/95
  18. https://www.psychologytoday.com/blog/happiness-in-world/201110/how-reduce-negativity

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,730 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา