ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บทความนิตยสารอาจเป็นโอกาสงามสำหรับนักเขียนฟรีแลนซ์ที่เชี่ยวชาญหรือนักเขียนที่พยายามจะเข้าสู่วงการนักเขียน อันที่จริงการเขียนบทความลงนิตยสารนั้นไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน ยกเว้นว่าจะต้องมีน้ำเสียงการเขียนที่ชัดเจน ความหลงใหลในการค้นหา และความสามารถในการเจาะหัวนิตยสารที่คุณจะส่งผลงานไปพิจารณาได้อย่างถูกต้อง แม้ว่านิตยสารดูเหมือนจะค่อยๆ หายไปในยุคดิจิตัล แต่นิตยสารระดับชาติก็ยังเติบโตต่อไปเรื่อยๆ และสามารถจ่ายค่าผลงานให้นักเขียนได้ถึงคำละ 30 บาท [1] ในการเขียนบทความนิตยสารดีๆ นั้น คุณควรให้ความสำคัญกับการคิดไอเดียของบทความที่ชัดเจน สร้างสรรค์ผลงาน และตรวจแก้บทความอย่างละเอียด

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

สร้างไอเดียของบทความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ลองดูนิตยสารที่คุณสมัครสมาชิกหรือที่คุณชอบอ่านเป็นประจำ และคุณก็อาจจะดูสำนักพิมพ์ที่คุณไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่แต่อยากเริ่มเขียนบทความให้เขาก็ได้ อ่านฉบับล่าสุดของนิตยสารนั้นๆ อย่างน้อย 3-4 ฉบับโดยพิจารณามุมมองหลายๆ ด้านต่อไปนี้ [2]
    • ดูว่าบรรทัดแรกหรือบรรทัดสุดท้ายที่ลงชื่อผู้เขียนตรงกับรายชื่อผู้จัดทำหรือไม่ ถ้าชื่อที่อยู่ตรงบรรทัดแรกหรือบรรทัดสุดท้ายของบทความไม่ตรงกับรายชื่อผู้จัดทำ ก็อาจบอกได้ว่านิตยสารนี้จ้างนักเขียนฟรีแลนซ์มาเขียนลงในนิตยสารให้
    • มองหาชื่อและข้อมูลติดต่อของบรรณาธิการเฉพาะด้าน ถ้าคุณสนใจจะเขียนเรื่องวัฒนธรรมสมัยนิยม ก็ให้หาชื่อและข้อมูลติดต่อของบรรณาธิการด้านศิลปะ แต่ถ้าคุณอยากเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากกว่า ก็ให้หาชื่อและข้อมูลติดต่อของบรรณาธิการจัดการหรือบรรณาธิการบทความ คุณไม่ควรติดต่อบรรณาธิการบริหารหรือบรรณาธิการใหญ่เพราะว่าพวกเขาอยู่ในตำแหน่งที่สูงมากจากระบบงานทั้งหมด และคุณก็ไม่น่าจะติดต่อเขาในฐานะนักเขียนฟรีแลนซ์ได้
    • สังเกตหัวข้อหรือประเด็นในนิตยสารและพิจารณามุมมองหรือวิธีการนำเสนอบทความนั้น นิตยสารนี้ดูจะเน้นไปที่การโต้แย้งหรือเลือกที่จะมองประเด็นนั้นตามความเป็นจริง นิตยสารนี้ดูเปิดกว้างเรื่องการทดลองทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา หรือว่าชอบนำเสนอตามแบบฉบับมากกว่า
    • ดูพาดหัวที่นิตยสารนี้ใช้และดูว่าเขาเริ่มบทความอย่างไร สังเกตว่าเขาพาดหัวแบบชวนตะลึงหรือคลุมเครือ หรือว่าเขาเริ่มต้นบทความด้วยคำพูดอ้างอิง สถิติ หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณรู้ว่าสไตล์การเขียนแบบไหนที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารนี้
    • สังเกตประเภทของแหล่งที่มาที่อยู่ในบทความ มันมักจะเป็นแหล่งที่มาเชิงวิชาการหรือทั่วไปมากกว่า เขาใช้ข้อมูลจากแหล่งที่มาหลายๆ แห่งหรือใช้แหล่งที่มาหลากหลายประเภทหรือเปล่า
    • สังเกตว่านักเขียนลงท้ายบทความในนิตยสารอย่างไร เขาจบด้วยถ้อยคำที่สะเทือนอารมณ์ ภาพที่น่าสนใจ หรือด้วยความคิดที่ชัดเจนและสะท้อนความเชื่อของเขา
  2. พิจารณาแนวโน้มหรือหัวข้อล่าสุดที่คุณคุยกับเพื่อนหรือคนรุ่นราวคราวเดียวกัน. ถ้าคุณเพิ่งคุยกับเพื่อนเรื่องแนวโน้ม หัวข้อ หรือประเด็นกับเพื่อนเมื่อไม่นานมานี้ ลองดูว่าคุณจะทำให้บทสนทนาดีๆ นี้เปลี่ยนมาเป็นไอเดียเรื่องเล่าได้อย่างไร เพื่อนของคุณอาจจะพูดเรื่องแนวโน้มใหม่ของโซเชียลมีเดีย หรือเล่าว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของลูกสาวเธอได้อย่างไร โดยเน้นบทสนทนาที่เต็มไปด้วยความหลงใหลหรืออารมณ์รุนแรงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือแนวโน้มปัจจุบัน [3]
    • บทสนทนาที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาสากลหรือเป็นประเด็นใหญ่ๆ การได้สนทนากับเพื่อนบ้าน เพื่อนๆ และคนรุ่นราวคราวเดียวกันทำให้คุณได้ถกประเด็นท้องถิ่นที่อาจกลายเป็นไอเดียบทความให้กับนิตยสารท้องถิ่นได้
  3. ค้นหางานกิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้นในท้องถิ่นของคุณ. ถ้าคุณคิดว่าจะเขียนบทความลงนิตยสารท้องถิ่น คุณก็ควรสำรวจรายการกิจกรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจมากพอที่จะนำมาเขียน ซึ่งอาจจะเป็นการประท้วงในท้องถิ่น การเปิดร้านอาหาร การแสดงละครท้องถิ่น หรือเทศกาลดนตรีท้องถิ่น การเริ่มจากนิตยสารเล็กๆ ก่อนขยับขยายไปเขียนให้นิตยสารระดับชาติช่วยให้คุณได้เริ่มอาชีพนักเขียนนิตยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเพิ่งจะเริ่มต้นอาชีพนักเขียน [4]
    • นอกจากนี้คุณก็ควรอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องราวที่เป็นที่สนใจของผู้คนที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องระดับชาติ คุณอาจจะเขียนเรื่องราวในท้องถิ่นและส่งไปให้นิตยสารพิจารณา คุณอาจจะบังเอิญได้อ่านเรื่องในท้องถิ่นที่คุณรู้สึกว่ามันยังไม่สมบูรณ์หรือเต็มไปด้วยคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมาย สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นไอเดียเรื่องเล่าในบทความนิตยสารก็ได้
  4. คุณควรรู้ว่านักเขียนคนอื่นๆ เขากำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่หรือโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดีย วิธีนี้จะทำให้คุณไม่พลาดแนวคิดหรือแนวโน้มในปัจจุบันและสามารถนำเสนอบทความที่มีอยู่แล้วในแบบที่ต่างออกไปได้ [5]
    • คุณอาจจะตั้งการแจ้งเตือน Google Alerts เพื่อแจ้งเตือนเวลาที่มีคำสำคัญของหัวข้อที่คุณสนใจปรากฎในอินเทอร์เน็ต ถ้าคุณมี Twitter หรือ Instagram คุณก็อาจจะใช้ Hashtag เพื่อค้นหาหัวข้อหรือประเด็นที่คนสนใจที่คุณอาจจะใช้เป็นไอเดียในการเขียนบทความได้
  5. บางทีคุณอาจจะมีหัวข้อที่คุณสนใจมากๆ ที่มีคนพากันเขียนลงนิตยสารต่างๆ กันจนเฝือแต่คุณก็หยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้สักที มองหามุมมองใหม่ในหัวข้อนี้เพื่อให้มันดูสด เกี่ยวข้องกับผู้อ่าน และใหม่ ซึ่งจะทำให้บทความนิตยสารของคุณเตะตาบรรณาธิการและทำให้ผู้อ่านเป้าหมายสนใจบทความของคุณ [6]
    • เช่น แทนที่จะเขียนเรื่องปัญหาด้านจิตวิทยาของโซเชียลมีเดียที่มีต่อวัยรุ่น ซึ่งมีการเขียนลงในนิตยสารมากมายหลายต่อหลายครั้ง คุณก็อาจจะเน้นไปที่กลุ่มประชากรที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในด้านโซเชียลมีเดียเท่าไหร่อย่างผู้สูงวัยและคนชรา วิธีนี้จะทำให้คุณได้วิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอประเด็นนี้และทำให้บทความของคุณไม่ได้เป็นแค่สำรอกมุมมองเดิมๆ ออกมา
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

สร้างสรรค์บทความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ค้นหาไอเดียบทความจากแหล่งที่มาอย่างหนังสือและเอกสารตีพิมพ์. องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของบทความนิตยสารที่ดีคือการค้นคว้าที่ดี ค่อยๆ ใช้เวลาเฟ้นหาแหล่งที่มาดีๆ และอ่านสื่อเสริมที่จำเป็นที่ช่วยให้คุณเข้าใจไอเดียของบทความมากขึ้น อ่านสื่อเพื่อการค้นคว้าเช่นบทความ หนังสือ วิดีโอ และโพสต์ในโซเชียลมีเดียอย่างละเอียด การอ้างอิงที่ดีจากแหล่งที่มาสามารถสร้างหรือทำลายความน่าเชื่อถือของคุณในฐานะนักเขียนได้และทำให้บทความชัดเจนมากขึ้นด้วย [7]
    • ดูเนื้อหาที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไอเดียบทความของคุณ เช่น ถ้าคุณกำลังเขียนบทความนิตยสารเรื่องความวิตกว่าปลาทูจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง คุณก็ควรพยายามอ่านเนื้อหาที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดและ/หรือตัวแทนประมงพื้นบ้านอย่างน้อย 2 คนที่ศึกษาเรื่องประชากรปลาทูในทะเลตรัง
    • คุณต้องแน่ใจว่าเนื้อหาที่คุณนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าน่าเชื่อถือและถูกต้อง ระวังเว็บไซต์ออนไลน์ที่มีโฆษณาเยอะๆ หรือที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรที่เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการหรือองค์กรในสาขาวิชานั้นๆ คุณต้องเช็กให้ละเอียดว่ามีข้อโต้แย้งใดของนักเขียนคนนี้ที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาโต้แย้งกลับหรือว่ามีผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในสาขาหักล้างบ้างไหม พยายามศึกษาหัวข้อที่ค้นคว้าอย่างรอบด้านเพื่อที่คุณจะได้ไม่ดูมีอคติหรือลำเอียงในการค้นคว้าของคุณเอง
  2. ลองคิดถึงคนที่อาจจะมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับหัวข้อของคุณและคนที่สามารถแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวข้อของคุณได้ คุณจะใช้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเป็นแหล่งที่มาก็ได้ขึ้นอยู่กับหัวข้อของคุณ อย่ากลัวที่จะยกโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วโทรศัพท์หาเขาเพื่อขอสัมภาษณ์ คนส่วนใหญ่ชอบคุยเรื่องตัวเองหรือเรื่องที่เขาสนใจและมีความรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และคุณอาจจะขโมยแหล่งที่มาจากบทความอื่นก็ได้ เพราะว่ามันไม่มีกฎห้ามตราบใดที่คุณอ้างอิงแหล่งที่มานั้นในบทความ [8]
    • นอกจากนี้คุณยังสามารถค้นหาคนที่อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่อยู่ในพื้นที่ของคุณในอินเทอร์เน็ตก็ได้ ถ้าคุณต้องการแหล่งที่มาด้านกฎหมาย คุณอาจจะถามนักเขียนฟรีแลนซ์คนอื่นๆ ว่าเขาใช้ใครเป็นแหล่งที่มาหรือขอข้อมูลติดต่อจากสถานีตำรวจหรือระบบกฎหมาย
  3. พอคุณได้แหล่งที่มาที่ตกลงจะมานั่งสัมภาษณ์กันแบบตัวต่อตัวแล้ว คุณก็ต้องสัมภาษณ์เขาโดยมีจุดมุ่งหมายคือสร้างความไว้วางใจและอัธยาศัยไมตรีโดยที่คุณเองก็ได้คำพูดอ้างอิงที่สามารถนำไปใช้ในบทความได้ด้วย คุณอาจจะสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หรือวิดีโอแชตก็ได้ แต่การสัมภาษณ์แบบเจอตัวจริงมักจะได้ผลมากที่สุด ใช้เครื่องบันทึกเทปและจดโน้ตระหว่างสัมภาษณ์ เพราะเครื่องบันทึกอาจจะพังได้ [9]
    • เตรียมรายการคำถามก่อนไปสัมภาษณ์ ค้นคว้าภูมิหลังของคนที่คุณจะสัมภาษณ์และระดับความเชี่ยวชาญ ถามคำถามที่เจาะจง เพราะคนที่มาให้สัมภาษณ์มักจะดูว่าคุณได้ทำการบ้านมาก่อนและรู้จักภูมิหลังของเขาหรือเปล่า
    • ถามคำถามปลายเปิด เลี่ยงคำถามใช่หรือไม่ใช่ เช่น แทนที่จะถามว่า "คุณได้เห็นการทดสอบยาตัวนี้ไหมคะ" ให้เปลี่ยนเป็นคำถามปลายเปิดว่า "คุณพอจะเล่าเกี่ยวกับการทดสอบยาตัวนี้ให้ฟังได้ไหมคะ" ตั้งใจฟังและพยายามพูดให้น้อยที่สุดระหว่างการสัมภาษณ์ เพราะการสัมภาษณ์นี้ควรเป็นเรื่องของคนที่มาให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่เรื่องของคุณ
    • คุณต้องปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยคำถามว่า “มีอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ดิฉันควรรู้แต่ไม่ได้ถามคุณไหมคะ” และคุณอาจจะหาแหล่งข้อมูลอื่นๆ ต่อไปได้ด้วยการถามว่า “ใครที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของคุณในประเด็นนี้คะ” และ “ฉันควรพูดคุยประเด็นนี้กับใครอีกคะ”
    • อย่ากลัวที่จะติดต่อแหล่งที่มาเพื่อถามคำถามอีกขณะที่คุณกำลังค้นคว้าต่อ และเช่นเดียวกันว่าหากคุณมีคำถามที่แสดงความขัดแย้งหรืออาจจะทำให้แหล่งที่มาไม่พอใจ ให้เก็บไว้ถามหลังสุด
  4. บรรณาธิการส่วนใหญ่จะขอให้คุณถอดบทสัมภาษณ์เต็มรูปแบบไว้ในเอกสารประเภท Word และมีไว้ในกรณีที่ต้องมีการยืนยันแหล่งที่มาหรือต้องตรวจเช็กคำพูดอ้างอิง ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงจะตรวจสอบบทความนิตยสารของคุณก่อนที่จะส่งจัดพิมพ์ และผู้ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก็อาจจะขอบทสัมภาษณ์ที่ถอดแล้วเพื่อใช้ในการยืนยันคำพูดอ้างอิงและแหล่งที่มา [10]
    • วิธีถอดบทสัมภาษณ์ที่ดีที่สุดคือนั่งลงเสียบหูฟังเข้ากับเครื่องบันทึกเทปและเผื่อเวลาไว้พิมพ์บทสัมภาษณ์สัก 2-3 ชั่วโมง ไม่มีวิธีถอดเทปไหนที่รวดเร็วและใช้เวลานิดเดียว ยกเว้นว่าคุณจะตัดสินใจใช้บริการถอดบทสัมภาษณ์ ซึ่งคุณก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจ้างถอดบทสัมภาษณ์ด้วย
  5. ก่อนที่คุณจะจมดิ่งไปกับการเขียนบทความ คุณควรแบ่งเวลาไว้สำหรับเขียนเค้าโครงก่อน อ่านสิ่งที่คุณค้นคว้าซึ่งรวมถึงโน้ตจากการสัมภาษณ์ด้วย ไฮไลต์คำพูดอ้างอิงจากแหล่งที่มาและข้อมูลสำคัญจากการค้นคว้า คุณสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ช่วยในการเขียนโครงร่างได้ [11]
    • เค้าโครงของคุณควรจะมีประเด็นหลักหรือมุมมองของบทความในบทนำ ตามด้วยประเด็นสนับสนุนในเนื้อหา และการกล่าวซ้ำหรือการขยายประเด็นหลักหรือมุมมองในส่วนบทสรุป
    • โครงสร้างของบทความจะขึ้นอยู่กับประเภทของบทความที่คุณเขียน ถ้าคุณเขียนบทความสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ โครงร่างของคุณก็อาจจะตรงไปตรงมาและเริ่มจากตอนต้นของบทสัมภาษณ์เรื่อยไปจนถึงตอนจบ แต่ถ้าคุณเขียนรายงานการค้นหาความจริง คุณอาจจะเริ่มจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากที่สุดหรือข้อมูลเกี่ยวกับข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันก่อน แล้วค่อยไล่ย้อนกลับไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุดหรือข้อมูลภาพรวมที่ใหญ่กว่า [12]
    • อย่าลืมเรื่องจำนวนคำในบทความตามที่บรรณาธิการกำหนดด้วย ร่างฉบับแรกของคุณไม่ควรมีจำนวนคำเกินหรืออาจจะเกินกว่าที่กำหนดนิดหน่อยเพื่อที่คุณจะได้ไม่หลงประเด็นหลักของคุณ บรรณาธิการส่วนใหญ่จะบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าบทความต้องมีจำนวนกี่คำและคาดหวังว่าคุณจะเขียนไม่เกินที่กำหนดไว้ เช่น 500 คำสำหรับบทความสั้นๆ และ 2,000-3,000 คำสำหรับบทความเชิงสารคดี นิตยสารส่วนใหญ่ชอบบทความสั้นๆ ที่ดีมากกว่าบทความยาวๆ ที่ใส่รายละเอียดมากเกินไป โดยมีกำหนดมากสุดคือไม่เกิน 12 หน้ารวมกราฟฟิกและภาพแล้ว [13]
    • นอกจากนี้คุณก็ควรตัดสินใจด้วยว่าจะใส่ภาพหรือกราฟิกในบทความหรือไม่และจะไปเอากราฟิกเหล่านี้มาจากไหน คุณอาจจะใช้ภาพถ่ายของตัวเองหรือนิตยสารอาจจะหาช่างภาพให้ ถ้าคุณจะใช้กราฟิก คุณอาจจะต้องให้ฝ่ายกราฟิกปรับภาพที่มีอยู่แล้วใหม่หรือขออนุญาตใช้ภาพกราฟิกที่มีอยู่แล้ว
  6. บทความนิตยสารที่ชัดเจนจะดึงความสนใจของผู้อ่านและมัดใจพวกเขาได้อยู่หมัดตั้งแต่บรรทัดแรก จริงๆ แล้วย่อหน้าแรกของบทความถือเป็นย่อหน้าที่สำคัญที่สุดในบรรดาย่อหน้าทั้งหมด คุณสามารถเขียนบรรทัดแรกที่ดึงความสนใจของผู้อ่านและทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจได้หลายวิธีด้วยกัน [14]
    • ยกตัวอย่างที่น่าสนใจหรือน่าประหลาดใจ ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของบทความ หรือช่วงเวลาสำคัญระหว่างที่คุณสัมภาษณ์แหล่งที่มาที่เกี่ยวข้องกับบทความของคุณก็ได้ เช่น คุณอาจจะขึ้นต้นบทความเรื่องปลาทูจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังโดยใช้การพูดคุยระหว่างคุณกับคนที่คุณสัมภาษณ์ก็ได้ เช่น "ดนัย บริบาลบำเพ็ญไม่เคยคิดเลยว่าสุดท้ายตัวเขาจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาทูทะเลตรังคนสำคัญของจังหวัดตรัง"
    • ลองขึ้นต้นด้วยคำพูดที่ยั่วยุอารมณ์ อาจจะเป็นแหล่งที่มาจากค้นคว้าของคุณที่ตั้งคำถามที่น่าสนใจหรือเกริ่นมุมมองของคุณต่อหัวข้อนั้น เช่น คุณอาจจะอ้างอิงคำพูดของแหล่งที่มาที่มีมุมมองต่อประชากรปลาทูในทะเลตรังที่น่าสนใจว่า "'ตอนนี้ซึ่งเป็นฤดูจับปลา ไม่มีปลามา 3 เดือนมาแล้ว' ดนัย บริบาลบำเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาทูในทะเลตรังคนสำคัญบอกผม"
    • ใช้เกร็ดเรื่องเล่าที่เห็นภาพ เกร็ดเรื่องเล่าก็คือเรื่องสั้นที่ให้น้ำหนักด้านจริยธรรมหรือสัญลักษณ์ ลองนึกถึงเกร็ดเรื่องเล่าที่เป็นเหมือนบทกวีหรือตัวเปิดเรื่องที่ทรงพลัง เช่น คุณอาจจะเชื่อมโยงเรื่องเล่าเกี่ยวกับการที่คุณกับแหล่งที่มาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาทูในทะเลตรังบังเอิญไปเห็นกลุ่มเรืออวนล้อมที่ล้อมลูกปลาได้จำนวนมหาศาล
    • คิดคำถามที่กระตุ้นความคิด ลองนึกคำถามที่กระตุ้นให้ผู้อ่านได้คิดและอินกับประเด็นของคุณหรือคำถามที่อาจทำให้พวกเขาประหลาดใจ เช่น ในบทความเรื่องปลาทูจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง คุณอาจจะเริ่มด้วยคำถามว่า "จะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งทะเลตรังไม่มีปลาทูเหลืออยู่เลยสักตัว"
  7. แทรกคำพูดอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญหรือแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้. คุณควรเกลาภาษาและน้ำเสียงของบทความให้เข้ากับกลุ่มผู้อ่านของนิตยสาร และใช้สไตล์การเขียนแบบเดียวกับบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารนี้เป็นแนวทาง อย่าลืมแทรกคำพูดอ้างอิงที่เกี่ยวข้องและชัดเจนจากแหล่งที่มาลงไปด้วย เช่น แหล่งที่มาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือการอ้างอิงจากสื่อตีพิมพ์อื่น [15]
    • คุณไม่ควรใช้คำพูดอ้างอิงในการเขียนบทความมากเกินไป กฎกำปั้นทุบดินคือคุณต้องขยายความคำพูดอ้างอิงที่คุณใส่ลงไปและใช้เฉพาะเมื่อคุณรู้สึกว่ามันสำคัญและทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างได้ คำพูดอ้างอิงควรสนับสนุนมุมมองหลักของบทความและรองรับข้อกล่าวอ้างที่คุณเขียนลงไป
  8. จบด้วยข้อความสรุปที่ให้ความกระจ่างหรือขยายหัวข้อของบทความ. คุณควรพยายามจบร่างฉบับแรกด้วยข้อความสรุปที่ทำให้ผู้อ่านพอใจแต่ก็สงสัยด้วยว่าเรื่องราวในหัวข้อนั้นมันจะเป็นอย่างไรต่อ เขียนตอนจบที่ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามว่า “แล้วยังไงต่อ” และไม่ต้องพยายามตอบคำถามที่หัวข้อในบทความจุดประเด็นขึ้นมาทุกคำถาม แต่ให้หาวิธีที่จะสรุปรวมบทความของคุณในแบบที่น่าสนใจและเปิดกว้างแทน [16]
    • คุณอาจจะใช้คำพูดที่ทรงพลังจากแหล่งที่มาที่คุณรู้ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องหรือลักษณะที่กำลังเป็นไปในหัวข้อที่คุณเขียน การปิดท้ายบทความด้วยคำพูดอ้างอิงยังทำให้บทความของคุณน่าเชื่อถือขึ้นมากด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้แหล่งที่มาได้เป็นผู้ให้บริบทแก่ผู้อ่าน
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

แก้ไขบทความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พอคุณรู้สึกว่าได้ฉบับร่างแรกที่ดีแล้ว คุณควรติดต่อบรรณาธิการนิตยสารที่ตกลงให้คุณตีพิมพ์ผลงานและส่งร่างฉบับแรกให้เธอ ขอให้เธอให้คำแนะนำแต่ละส่วนของเนื้อหาในบทความอย่างเจาะจง และบอกคุณด้วยว่าคุณอธิบายมุมมองภาพรวมในบทความได้ชัดเจนแล้วหรือยัง [17]
    • การได้พูดคุยเรื่องบทความกับบรรณาธิการจะทำให้คุณได้มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถรับรองได้ว่าบทความที่คุณเขียนนั้นมีสไตล์การเขียนเข้ากับนิตยสารและเป็นฉบับร่างที่ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ คุณควรเปิดใจรับฟังคำติชมของบรรณาธิการและทำงานร่วมกับเขาเพื่อให้ฉบับร่างของบทความดีขึ้น
  2. ขอคำติชมบทความจากบรรณาธิการและเพื่อนในวงการ. คุณอาจจะนำบทความให้เพื่อนร่วมวงการอ่าน เช่น เพื่อนนักเขียนด้วยกัน เพื่อขอคำติชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีส่วนไหนหรือบรรทัดไหนในบทความที่คุณติดขัด การขอคำติชมจากบรรณาธิการและเพื่อนร่วมวงการจะช่วยให้บทความของคุณกลายเป็นฉบับร่างที่ทรงพลังที่สุดทั้งในด้านเนื้อหา ความลื่นไหล โครงสร้าง และน้ำเสียง [18]
    • นอกจากนี้คุณก็ควรมีสำเนาข้อมูลสไตล์หรือแนวทางการเขียนงานของนิตยสารและแน่ใจว่าบทความของคุณเป็นไปตามกฎและแนวทางดังกล่าว บทความของคุณควรเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดเพื่อให้คุณแน่ใจได้ว่าบทความของคุณจะพร้อมตีพิมพ์ทันกำหนดเวลา
  3. บทความนิตยสารที่ดีจะต้องลื่นไหล มีการเชื่อมต่อระหว่างย่อหน้า และมีโครงสร้างประโยคที่ดี ลองอ่านบทความออกเสียงให้ตัวเองหรือคนที่เต็มใจจะฟังฟัง ดูว่ามีโครงสร้างประโยคไหนที่ฟังดูประหลาดหรือยืดเยื้อเกินไปไหม ยินดีที่จะตัดหรือเขียนเนื้อความก้อนใหญ่ๆ ใหม่เพื่อให้บทความอ่านแล้วลื่นไหลและมีโครงสร้างประโยคที่ทรงพลังทั้งบทความ
  4. คุณต้องทำงานเสร็จตามเวลาที่กำหนดและส่งบทความตรงเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเพิ่งส่งบทความตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และถ้าเป็นไปได้ให้ส่งบทความก่อนกำหนดเพื่อให้บรรณาธิการประทับใจและแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถส่งบทความตีพิมพ์ในอนาคตได้ทันกำหนดส่งด้วย [19]
    • นิตยสารส่วนใหญ่รับส่งบทความทางอิเล็กทรอนิกส์ พูดคุยกับบรรณาธิการเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการส่งบทความที่แก้ไขแล้ว
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 11,317 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา