ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเขียนประวัติส่วนตัว หรือประวัติย่อนั้น บอกเลยว่านี่แหละวิธีเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคุณแบบสนุกๆ แถมได้มีโอกาสอธิบายขยายความให้คนอื่นเข้าใจคุณอย่างที่เป็นด้วย ไม่ว่าคุณจะเขียนประวัติส่วนตัวเพื่อใช้กับเรื่องงาน หรือประวัติส่วนตัวสำหรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ก็เขียนได้ง่ายนิดเดียว

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เขียนประวัติสำหรับเรื่องงาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนคุณจะลงมือเขียน ต้องรู้ก่อนว่าใครคือผู้อ่าน ประวัติย่อจะเป็นเหมือนหน้าตาของคุณให้เขาได้ทำความรู้จักเป็นอย่างแรก เพราะฉะนั้นต้องกระชับฉับไว อธิบายความเป็นตัวตนและสิ่งที่คุณทำให้คนอ่านรับรู้ได้ทันที [1]
    • ประวัติย่อของคุณในเว็บส่วนตัว แน่นอนว่าต้องแตกต่างกับประวัติส่วนตัวที่ใช้ในใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ที่คุณต้องทำคือใช้โทนเสียงหรือก็คือภาษาในการเล่า ให้แตกต่างออกไปตามจุดประสงค์ เช่น เป็นทางการ ตลกโปกฮา เกี่ยวกับเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว
  2. ศึกษาจากตัวอย่างงานเขียนของคนอื่นที่เขียนเพื่อจุดประสงค์เดียวกับคุณ. วิธีนึงที่คุณจะรู้ได้ว่าคนอ่านเขาคาดหวังอะไรจากประวัติส่วนตัวของคุณ ก็คือลองศึกษาจากงานเขียนของคนอื่นที่เขาเขียนเพื่อจุดประสงค์เดียวกับคุณ เช่น ถ้าคุณจะเขียนประวัติย่อในเว็บเพื่อโฆษณาตัวเองและทักษะที่มี ให้ลองไปศึกษาจากเว็บของคนอื่นในสายงานเดียวกัน ว่าเขานำเสนอตัวเองยังไง จุดไหนที่ทำได้ดีจนน่าเอาเป็นแบบอย่าง
    • เว็บที่น่าแวะเวียนไปศึกษาวิธีการเขียนประวัติด้านหน้าที่การงานก็คือเว็บอย่าง Twitter หรือ LinkedIn
  3. แข็งใจตัดข้อมูลทิ้ง เพราะถึงจะเล่าเรื่องสนุกยังไงบางทียาวไปก็ไม่ค่อยดี เช่น ประวัติย่อของนักเขียนตรงหน้าปกหนังสือ มักกล่าวถึงผลงานที่ผ่านมา ส่วนประวัตินักกีฬาในเว็บของทีม ก็มักพูดถึงน้ำหนักกับส่วนสูงของนักกีฬาไว้ ถึงจะอนุโลมให้เพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปได้ แต่ก็อย่าให้เด่นเกินหน้าตัวประวัติที่จำเป็นล่ะ
    • ความน่าเชื่อถือสำคัญที่สุด ถึงปกติคุณจะชอบเที่ยวกลางคืนวันเสาร์-อาทิตย์กับเพื่อนฝูงแค่ไหน ก็ไม่ควรหยิบยกไปเล่าในประวัติของตัวเองเอาฮา เลือกเฉพาะรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและจำเป็นจะดีกว่า
  4. การเขียนด้วยมุมมองของบุคคลที่ 3 จะทำให้ประวัติของคุณดูไม่ลำเอียง เพราะเหมือนเขียนจากมุมมองของคนอื่น ซึ่งเหมาะมากสำหรับการเขียนแบบทางการ สรุปแล้วผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าถ้าคุณจะเขียนประวัติส่วนตัว ก็ต้องเขียนแบบมุมมองบุคคลที่ 3 นี่แหละดี
    • เช่น เริ่มประวัติของคุณด้วยประโยคอย่าง "สมศรี ดีพร้อม เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์แถวทองหล่อ" ไม่ใช่ "ฉันเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์แถวทองหล่อ"
  5. ชื่อของคุณต้องมาเป็นอันดับแรก ให้เหมารวมไปก่อนเลยว่าคนเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณเลยแม้แต่น้อย จะใช้ชื่อ หรือชื่อ-นามสกุลก็เขียนไปให้หมด แต่พยายามอย่าใช้ชื่อเล่น
    • เช่น สมศรี ดีพร้อม
  6. คุณเด่นดังเรื่องอะไร? คุณประกอบอาชีพอะไร? มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญมากแค่ไหน? อย่าไปอุบไว้ตอนท้าย หรือให้คนอ่านเขาเดากันไปเอง เพราะเขาไม่เดาหรอก แถมยังจะเบื่อเอาง่ายๆ ถ้าคุณมัวแต่อ้อมไปอ้อมมา บอกไว้ซะเลยตั้งแต่ประโยคสองประโยคแรก ถ้ารวมไว้ด้วยกันกับชื่อของคุณนั่นแหละสะดวกสุด
    • สมศรี ดีพร้อม คอลัมนิสต์สาวประจำกอง "ข่าวเช้าคนดี"
  7. เล่าไปเลย เรื่องความสำเร็จครั้งสำคัญของคุณ ถ้ามีน่ะ. ถ้าคุณเคยประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ในการเขียน ก็อย่าลืมพูดถึงด้วย แต่ก็ต้องดูดีๆ เพราะอาจไม่เหมาะสมหรือใช้ไม่ได้เสมอไป จำไว้ว่าประวัติย่อนั้นไม่ใช่ resume ไม่ใช่ว่าเอะอะก็ไล่ความสำเร็จมาเป็นข้อๆ ต้องอธิบายขยายความหน่อย เพราะคนอ่านจะไม่เข้าใจเลยจนกว่าคุณจะเล่าให้เขาฟังนั่นแหละว่าประสบความสำเร็จอะไรและเกี่ยวของยังไงกับจุดประสงค์ของคุณ
    • สมศรี ดีพร้อม คอลัมนิสต์สาวประจำกอง "ข่าวเช้าคนดี" ผลงานสร้างชื่อของเธอคือบทความชุด "ทำดีไปทำไม ใครแคร์?" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล “นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรง” จากข่าวเช้าคนดี
  8. ใส่เรื่องส่วนตัวไปบ้างก็ได้ คนอ่านจะได้เข้าถึง. เวลาเราได้อ่านเรื่องส่วนตัวของใคร เรามักอินไปกับเรื่องนั้นๆ ถือเป็นโอกาสให้คนอ่านได้ทำความรู้จักกับบุคลิกลักษณะของคุณ แต่ก็อย่าถ่อมตัวมากไปจนดูน่าสมเพช ที่สำคัญคือห้ามลงรายละเอียดลึกเกินไปหรือเล่าเรื่องอะไรที่ชวนน่าอายทั้งสำหรับคุณและคนอ่าน ถ้าทำได้ถูกวิธีจนเขาเรียกไปสัมภาษณ์ละก็ คนถามเขาอาจหยิบยกเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มาชวนคุยก็ได้ [2]
    • สมศรี ดีพร้อม คอลัมนิสต์สาวประจำกอง "ข่าวเช้าคนดี" ผลงานสร้างชื่อของเธอคือบทความชุด "ทำดีไปทำไม ใครแคร์?" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล “นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรง” จากข่าวเช้าคนดี ถ้าไม่ติดหนึบอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ คุณจะพบสมศรีได้ในสวนครัวหลังบ้านเธอ สมศรีฝันอยากพูดภาษาฝรั่งเศสให้คล่องปรื๋อ แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างฝึกปรือให้ปั่นจักรยานไล่ตามเพื่อนร่วมทีมทุกวันอาทิตย์ได้ทันซะก่อน
  9. ปิดท้ายด้วยข้อมูลของโปรเจ็คต์ที่คุณกำลังทำ. เช่น ถ้าคุณเป็นนักเขียน หยอดชื่อหนังสือใหม่ที่กำลังเขียนไปหน่อย อย่าให้เกิน 1 - 2 ประโยคล่ะ
    • สมศรี ดีพร้อม คอลัมนิสต์สาวประจำกอง "ข่าวเช้าคนดี" ผลงานสร้างชื่อของเธอคือบทความชุด "ทำดีไปทำไม ใครแคร์?" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล “นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรง” จากข่าวเช้าคนดี ถ้าไม่ติดหนึบอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ คุณจะพบสมศรีได้ในสวนครัวหลังบ้านเธอ สมศรีฝันอยากพูดภาษาฝรั่งเศสให้คล่องปรื๋อ แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างฝึกปรือให้ปั่นจักรยานไล่ตามเพื่อนร่วมทีมทุกวันอาทิตย์ได้ทันซะก่อน ปัจจุบันสมศรีกำลังง่วนอยู่กับการเขียนหนังสือเล่าชีวิตคนข่าวของตัวเอง
  10. นี่แหละประโยคปิดจ็อบของจริง ถ้าคุณเขียนไว้ใช้ออนไลน์ จะให้อีเมลไหนไประวังเรื่อง spam ด้วย หลายคนเขาก็เขียนว่า somsri (at) kaochaokondee (dot) com แทน ถ้าพอมีที่เหลือ ก็ให้รวมช่องทางติดต่ออื่นๆ ไว้ด้วย อย่างพวก Twitter หรือ LinkedIn ของคุณ
    • สมศรี ดีพร้อม คอลัมนิสต์สาวประจำกอง "ข่าวเช้าคนดี" ผลงานสร้างชื่อของเธอคือบทความชุด "ทำดีไปทำไม ใครแคร์?" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล “นักข่าวหน้าใหม่ไฟแรง” จากข่าวเช้าคนดี ถ้าไม่ติดหนึบอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ คุณจะพบสมศรีได้ในสวนครัวหลังบ้านเธอ สมศรีฝันอยากพูดภาษาฝรั่งเศสให้คล่องปรื๋อ แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างฝึกปรือให้ปั่นจักรยานไล่ตามเพื่อนร่วมทีมทุกวันอาทิตย์ได้ทันซะก่อน ปัจจุบันสมศรีกำลังง่วนอยู่กับการเขียนหนังสือเล่าชีวิตคนข่าวของตัวเอง คุณติดต่อสมศรีได้ที่ somsri (at) kaochaokondee (dot) com หรือ Twitter @SomsriKondee
  11. ถ้าเป็นประวัติย่อออนไลน์ แค่นี้ก็พอให้คนอ่านได้รับรู้ชีวิตและบุคลิกลักษณะของคุณโดยไม่เบื่อซะก่อน ห้ามเขียนยาวกว่า 500 คำเด็ดขาด
  12. ไม่มีใครเขียนได้เป๊ะตั้งแต่รอบแรกหรอก ที่สำคัญคือประวัติย่อนี้เป็นเหมือนภาพที่คุณแคปมาภาพเดียวจากชีวิตทั้งหมด พอได้มาอ่านทวนแล้ว คุณอาจพบว่าคุณหลงลืมข้อมูลไหนไปก็ได้
    • ให้เพื่อนช่วยอ่านแล้วขอ feedback สำคัญมากเลยเพราะเพื่อนจะบอกได้ว่าคุณเก็บรายละเอียดหรือข้อมูลเด่นๆ ของคุณได้ครบถ้วนหรือไม่
  13. หมั่นกลับไปอัพเดทประวัติของคุณบ่อยๆ เพราะคอยแก้นิดๆ หน่อยๆ ไปเรื่อยๆ จะง่ายกว่าทิ้งไปนานๆ แล้วมานั่งแก้ทั้งหมดตอนเกิดต้องใช้ขึ้นมา
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เขียนประวัติสำหรับสมัครมหาวิทยาลัย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แนวทางการเขียนที่แนะนำไปด้านบนอาจไม่เหมาะสมกับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเป็นการเขียนแบบเรียบกระชับฉับไว ในขณะที่คุณต้องโดดเด่นถึงจะเข้าตากรรมการสอบตรง เพราะฉะนั้นจะให้ดีที่สุดต้องวางโครงเอง เล่าเรื่องในแบบของคุณ ไม่ใช่เอะอะก็ยกข้อมูลมากล่าวอ้างเป็นข้อๆ ไป คุณเลือกใช้ได้หลายโครงด้วยกัน เช่น
    • เรียงลำดับเวลา : เริ่มเรื่องจากต้นไปจนจบ เป็นรูปแบบที่ตรงไปตรงมา จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อชีวิตของคุณน่าสนใจ มีเหตุการณ์จาก A ไป B ไป C ที่น่าติดตามและประทับใจ (เช่น การฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เป็นด่านๆ ไป)
    • วงกลม : โครงสร้างแบบนี้เริ่มที่เหตุการณ์สำคัญหรือจุดไคลแมกซ์ (D) แล้วกลับไปจุดเริ่มต้น (A) จากนั้นอธิบายขยายความตามท้องเรื่องจนกลับมาที่จุดเดิม (B, C) หรือก็คือนำผู้อ่านเดินทางเป็นวงกลมนั่นเอง วิธีนี้เหมาะสำหรับเวลาอยากให้คนอ่านสงสัยใคร่รู้จนต้องติดตาม โดยเฉพาะถ้าเหตุการณ์ตรงจุด D นั้นมันช่างแปลกประหลาดเหลือเชื่อ จนคนอ่านยอมติดตามไปเรื่อยๆ เพราะอยากรู้สาเหตุ
    • ซูมเจาะ : โครงสร้างนี้เน้นที่เหตุการณ์สำคัญ (เช่น เหตุการณ์ C) เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนเรื่องราวทั้งหมด อาจจะลงรายละเอียดบ้างเล็กๆ น้อยๆ (a, d) เพื่อให้คนอ่านพอเห็นภาพ แต่เหตุการณ์ C นั้นต้องเด่นที่สุด
  2. ทางมหาวิทยาลัยเขาอยากรู้เรื่องของคุณ จะได้พิจารณาถูกว่าคุณเหมาะจะเข้าศึกษาในสถาบันของเขาไหม หรือก็คือจะรู้ว่าคุณเหมาะได้ต้องรู้เรื่องคุณ ไม่ใช่เรื่องโรงเรียนที่คุณอธิบายมาซะยืดยาว
    • แบบที่ผิด : "มหาวิทยาลัย ก. มีหลักสูตรแพทย์ชั้นนำระดับโลก ที่เน้นการค้นคว้าวิจัย ซึ่งจะช่วยวางรากฐานที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในวิชาชีพแพทย์ อันเป็นความฝันอันสูงสุดในชีวิตของผม"

      มหาวิทยาลัยที่คุณไปสมัคร เขาก็ รู้อยู่แก่ใจ ว่าหลักสูตรกับสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของเขานั้นดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นตัดไปซะ อย่าเสียเวลา ที่แย่ไปกว่าคือเอาหน้ากระดาษที่ควรจะเล่าเรื่องตัวเองมาเปลืองไปกับการสรรเสริญเยินยอสถาบัน ฟังแล้วมันดูจริงใจน่าให้เข้าเรียนไหมล่ะ
    • แบบที่ถูก : "ผมไม่เคยลืมวินาทีที่ได้เฝ้าดูคุณหมอศัลยแพทย์อุบัติเหตุ พยายามยื้อชีวิตพี่ชายของผม ตอนผมอายุได้ 5 ขวบ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมก็ตั้งปณิธานไว้ว่าผมจะขออุทิศชีวิตเพื่อการรักษาเยียวยาผู้คน พี่ชายของผมโชคดีมากที่คุณหมอท่านนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนมาในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ ถ้าผมได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน ผมก็หวังว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับครอบครัวอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับที่ครอบครัวผมได้รับความกรุณาจากนายแพทย์สมชาย"

      การบรรยายเรื่องราวของคุณพร้อมรายละเอียดประกอบแบบนี้นั้นถือว่าตรงเป้าตรงประเด็น ทั้งยังน่าประทับใจเพราะมีความรู้สึกส่วนตัวของคุณผสมเข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือพออ่านดีๆ แล้วคนพิจารณาเขาก็รู้แหละว่าคุณชื่นชมสถาบันของเขา แต่ดูจริงใจน่าให้คะแนนกว่าเยอะเลย
  3. ยากมากเลยที่จะเขียนออกมาได้ดีๆ เพราะคุณต้องนั่งเทียนเอา แต่ถึงจะทำได้ ก็แล้วไง คุณจะไม่ต่างอะไรจากผู้สมัครคนอื่นๆ อีกเป็นร้อยเป็นพันคนเลย พยายามเขียนเรื่องจริงที่มีความหมายสำหรับคุณจะดีกว่า กลัวว่าตัวเองจะไม่มีเรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจมาเขียนเหรอ? ก็ช่างมันสิ อย่าไปหวังเทียบรุ่นคนอื่น เป็นตัวของตัวเองดีกว่า เพราะไอ้การยัดเยียดอภินิหารต่างๆ นานาเคล้าดราม่า มันรังแต่จะทำให้คุณดูเป็นตัวตลก ยิ่งถ้าเทียบกับเรื่องของคนอื่นที่เขาเจอมาจริงๆ จะยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่
    • แบบที่ผิด : "การได้อ่านนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของผมทีเดียว ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ระลึกถึงความยากลำบากของบรรพบุรุษที่มาตั้งรกรากในเมืองไทย ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ได้มอบหมายให้ผมอ่านหนังสือเรื่องนี้ในตอนนั้น ทำให้ผมประทับใจจนอยากศึกษาต่อในสาขาวิชาจีนศึกษา"
    • แบบที่ถูก : "ต้นตระกูลของผมก็ไม่ต่างอะไรจากชาวไทยเชื้อสายจีนสมัยบุกเบิก ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน อาเหล่ากงของผมไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไรติดตัวมาเลย เส้นสายในไทยก็ไม่มี กระทั่งชื่อ-นามสกุลแบบไทย ก็ให้เพื่อนคนไทยที่รู้จักกันในภายหลังเป็นคนตั้งให้ แต่ด้วยความบากบั่นมุมานะ บรรพบุรุษของผมก็ได้ก่อร่างสร้างตัวจนมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดใหญ่ให้ลูกหลานได้มีกินมีใช้ กว่าจะประสบความสำเร็จได้ดังทุกวันนี้ อาเหล่ากงและญาติผู้ใหญ่หลายท่านของผมต้องลองผิดลองถูกมากมาย แต่ด้วยความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ อันเป็นคุณลักษณะเด่นของชาวจีนโพ้นทะเล จึงได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงรุ่นลูกหลาน ผมจึงตั้งใจจะศึกษาเล่าเรียนต่อในสาขาวิชาจีนศึกษาด้วยความนับถือและประทับใจ"
  4. เรื่องนั้นเขาดูกันที่ GPA กับคะแนน Admission ถึงเราจะไม่แนะนำให้ใช้ศัพท์สแลงหรือเขียนผิดๆ ถูกๆ แต่เนื้อหาของคุณก็เปรียบเสมือนตัวแทนของคุณ อย่าใช้ศัพท์สูงจนไม่เป็นภาษามนุษย์จะดีกว่า ปีๆ นึงคณะกรรมการต้องนั่งอ่านเรียงความของเด็กสอบตรงกันจนตาแฉะ สิ่งสุดท้ายที่เขาอยากจะอ่านกันก็คือคำหรูหรา 5 พยางค์ ที่ใส่มาผิดที่ผิดทาง แถมใช้คำง่ายคำอื่นมาแทนก็ได้เหมือนกัน [3]
    • แบบที่ผิด : "เพราะได้เติบโตลืมตาอ้าปากมาได้ในถิ่นฐานอันเรียบง่ายไร้การประคบประหงม ผมจึงพบว่าตัวเองนั้นยกย่องชื่นชมการเหนื่อยยากตรากตรำทำงานหนัก ประกอบด้วยความมัธยัสถ์อดออมเหนือสิ่งอื่นใด"

      ถ้าไม่ได้บังเอิญเป็นญาติสุนทรภู่ หรือที่บ้านเปิดคณะลิเก ก็อย่าเสี่ยงใช้เลย อ่านแล้วเหนื่อยอย่างบอกไม่ถูก
    • แบบที่ถูก : "บ้านผมไม่มีเงินทองมากมาย ผมจึงรู้ซึ้งว่าคนเราต้องขยันและประหยัด จึงจะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง"

      แบบนี้ถึงจะสั้นกระชับและชัดเจน ไม่ต้องอาศัยศัพท์สูงอะไรเลย
  5. เป็นจุดสำคัญมากที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ประวัติของคุณโดดเด่นน่าเชื่อถือ หลายคนชอบเขียนประมาณว่า "ฉันได้รับบทเรียนอันล้ำค่าจากประสบการณ์นี้" ไม่ก็ "ฉันได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ..." งัดหลักฐานมา โชว์ กันเลยดีกว่า อย่าเอาแต่อธิบาย [4]
    • แบบที่ผิด : "ผมได้ความรู้มากมายจากประสบการณ์การเป็นพี่ประจำค่าย"

      สรุปแล้วคนอ่านก็ไม่รู้ว่าคุณได้อะไรกันแน่ รับรองว่ามีคนเขียนแนวนี้อีกประมาณ ล้านแปด
    • แบบที่ถูก : "เมื่อประสบการณ์การเป็นพี่ประจำค่ายของผมจบลง ผมได้เรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น ทั้งยังได้เพื่อนใหม่จากหลากหลายคณะ ตอนนี้พอน้องสาวของผมหงุดหงิดไม่พอใจ ผมก็สามารถอธิบายทำความเข้าใจกับน้องได้ โดยไม่ต้องใช้อารมณ์หรือจุกจิกจู้จี้ให้ต้องเสียความรู้สึกกันทั้งสองฝ่าย"
  6. ถ้าใช้กริยาแบบ "passive" หรือ "รูปถูกกระทำ" จะทำให้ประโยคของคุณเยิ่นเย้อและไม่ชัดเจน ถ้าใช้รูปกระทำในประโยคบอกเล่าธรรมดา คุณจะเขียนได้เห็นภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น
    • ลองอ่านแล้วพิจารณาประโยคต่อไปนี้ดู "กระจกถูกพวกซอมบี้ทุบแตก" กับ "พวกซอมบี้ทุบกระจกจนแตก" ประโยคแรกคุณจะเห็นภาพแค่ว่ากระจกแตกแล้ว แต่ประโยคที่สองคุณจะเห็นภาพตอนซอมบี้กำลังทุบกระจกด้วย น่าตื่นเต้นกว่าใช่ไหมล่ะ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เขียนประวัติส่วนตัว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เขียนเพื่อแนะนำตัวเองกับคนอ่านเฉพาะกลุ่ม หรือเขียนให้คนอ่านทั่วไปไม่จำกัด? แน่นอนว่าประวัติย่อใน Facebook ก็ต้องต่างจากประวัติของคุณบนเว็บไซต์อยู่แล้ว
  2. เว็บ social media บางเว็บ อย่าง Twitter จะจำกัดส่วนของประวัติย่อไว้แค่ไม่กี่คำหรือตัวอักษร ขอให้ใช้พื้นที่ที่จำกัดนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและโดดเด่นที่สุด
  3. ข้อมูลที่คุณเล่าจะต่างกันออกไปตามกลุ่มผู้อ่านของคุณ ถ้าเป็นประวัติส่วนตัว คุณจะเขียนถึงงานอดิเรก ความเชื่อ คำคม อะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นประวัติกึ่ง "ทางการ" กึ่ง "ส่วนตัว" ให้ลงรายละเอียดพอจับทางได้ว่าคุณเป็นคนยังไง แต่อย่าลึกเกินไปจนคนเขาอึดอัด
  4. ก็เหมือนตอนเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน ประวัติย่อที่เอามาใช้ส่วนตัวควรจะทำให้คนอ่านเห็นภาพชัดๆ ว่าคุณ เป็นใคร คุณ ทำอะไร และคุณทำสิ่งนั้นได้ ดีแค่ไหน แต่ให้เขียนออกมาเป็นกันเองกว่าตอนใช้สมัครงาน
    • สมชาย สายชม เป็นเซียนเกมส์ ที่บังเอิญสืบทอดกิจการร้านขายอาหารตามสั่งมาจากพ่อ เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการเกมส์ Arcade มาแล้วกว่า 25 ปี กวาดรางวัลมาทั้งในและนอกประเทศ (แต่ร้านอาหารยังไม่ได้ดาวมิชลินซะที) ว่างเมื่อไหร่เป็นจับจอย เล่นมันทั้งเกมส์ Arcade, Console และ Portable แต่ก็ยังทำข้าวผัดกะเพราอร่อยถูกใจคนในซอย
  5. คนอื่นเขาใช้กันเกร่อแล้วจนคนอ่านเขาไม่ฮาไม่อะไร แถมยังบอกตัวตนคุณได้ไม่ชัดเจนอีกต่างหาก อย่าง "มุ้งมิ้ง" "ปัง" "นก" และอื่นๆ เอาหลักฐานมาโชว์ให้เห็นภาพกันเลยดีกว่า อย่ามานั่งอธิบาย
  6. ประวัติส่วนตัวนี่แหละดึงความสนใจจากคนอ่านด้วยอารมณ์ขันเล็กๆ น้อยๆ ตามสบาย จะได้ไม่เคร่งขรึมเกินไป แถมรู้เลยว่าคุณเป็นคนยังไงในไม่กี่คำ
    • อย่างประวัติย่อใน FB ของ โน้ส อุดม แต้พานิช ก็สั้นกระชับแถมตลก สมเป็น stand-up comedian อันดับ 1 ของเมืองไทย "อุดม แต้พานิช มี Facebook เดี่ยว 9 เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น (ไม่ว่าจะเดี่ยว 10 หรือเดี่ยว 30 ก็ยังใช้ชื่อนี้) ไม่มี twitter หรือ Instagram อื่นใด โปรดระวังของเสินเจิ้น เลียนแบบ แอบอ้าง" [5]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ระหว่างเขียน พยายามเตือนตัวเองถึงจุดประสงค์ในการเขียนและกลุ่มผู้อ่านที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 จะได้ไม่ออกทะเล
  • ถ้าเขียนไว้ใช้ออนไลน์ พูดถึงอะไรให้ใส่ hyperlink ไว้ด้วย อย่างพวกโปรเจ็คต์ที่กำลังทำหรือ blog ส่วนตัว
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 34,891 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา