ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การฝึกวิธีเขียนย่อหน้าประเภทต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งต่อทักษะการเขียนโดยรวม ย่อหน้าจะช่วยแตกย่อยเนื้อหาก้อนมหึมา ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านมากขึ้น มันยังนำผู้อ่านเข้าไปสู่ประเด็นโต้แย้งของคุณ โดยการโฟกัสไปที่แนวคิดหลักหรือจุดมุ่งหมายเดียว [1] อย่างไรก็ดี การจะรู้วิธีเขียนย่อหน้าให้ดีและมีสัดส่วนลงตัวนั้น ค่อนข้างซับซ้อน ลองอ่านบทความนี้ดูเพื่อที่จะได้รู้ว่า ต้องทำอย่างไรทักษะการเขียนย่อหน้าของคุณจึงจะพัฒนาจากระดับดี ไปสู่ความเป็นเลิศได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

วางแผนการเขียนย่อหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนย่อหน้า คุณต้องมีไอเดียค่อนข้างชัดเจนก่อนว่า ย่อหน้านั้นจะพูดเรื่องอะไร เพราะโดยแก่นแท้แล้ว ย่อหน้าเป็นเสมือนประโยคทั้งหลายที่มารวมกันเข้า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใจความหลักเดียวกัน [2] หากไม่มีไอเดียที่ชัดเจนว่า หัวข้อหลักคืออะไร ย่อหน้าที่คุณเขียนจะไม่มีจุดโฟกัสและความเป็นหนึ่งเดียวกัน หากจะระบุหัวข้อในการเขียนย่อหน้า คุณควรถามตัวเองดังนี้:
    • อะไรคือโจทย์ที่ฉันได้รับ หากคุณกำลังจะเขียนย่อหน้า เพื่อโต้หรือตอบโจทย์เฉพาะบางประเด็น เช่น "หากคุณตัดสินใจว่าจะบริจาคเงิน คุณจะบริจาคให้แก่องค์กรใด เพราะเหตุใด" หรือ "จงอธิบายเกี่ยวกับวันที่คุณชอบมากที่สุดในรอบสัปดาห์" คุณจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนเกี่ยวกับโจทย์ปัญหาดังกล่าว และแน่ใจว่าคุณได้กล่าวถึงมันแล้ว แทนที่จะข้ามมันไป
    • อะไรคือแนวคิดหลักและประเด็นที่ฉันต้องกล่าวถึง พยายามคิดถึงหัวข้อที่ถูกตั้งโจทย์เอาไว้ หรือหัวข้อที่คุณตั้งใจจะเขียน จากนั้น จึงพิจารณาว่า แนวคิดหรือประเด็นใดที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อดังกล่าวมากที่สุด ย่อหน้ามักจะเป็นส่วนสั้นๆ เมื่อเทียบกับส่วนอื่น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพยายามเขียนให้ตรงจุดมากที่สุด โดยไม่ออกนอกเรื่อง
    • ฉันกำลังเขียนให้ใครอ่าน ลองพิจารณาดูว่า ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของบทความหรือย่อหน้าที่คุณกำลังจะเขียน พวกเขามีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้เพียงใด พวกเขาคุ้นเคยกับหัวข้อนี้มากแค่ไหน หรือว่าต้องมีการเกริ่นนำสักสองสามประโยคก่อนเข้าเรื่อง
    • หากย่อหน้าที่คุณจะเขียน เป็นส่วนหนึ่งของบทความขนาดยาว การเขียนโครงเรื่องของบทความทั้งหมด จะช่วยให้คุณรู้แนวคิดหลักหรือจุดประสงค์ของแต่ละย่อหน้า
  2. เขียนเนื้อหาและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อดังกล่าว. หลังจากที่คุณมีแนวคิดที่ชัดเจนมากขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากจะกล่าวถึงในย่อหน้านั้นแล้ว คุณสามารถเริ่มเรียบเรียงความคิดด้วยการเขียนลงบนแผ่นกระดาษ หรือจะใช้โปรแกรมเวิร์ดก็ตาม ยังไม่จำเป็นต้องเขียนเต็มรูปประโยค ขอแค่จดคีย์เวิร์ดหรือวลีสำคัญๆ ลงไปก่อนหลังจากที่คุณเห็นภาพรวมทั้งหมดในกระดาษแล้ว คุณจะเริ่มมีไอเดียดีๆ แล้วว่า ประเด็นใดที่จำเป็นต้องมี และประเด็นใดที่ไม่จำเป็น
    • ถึงตรงนี้แล้ว คุณอาจจะเริ่มตระหนักว่า คุณจำเป็นต้องหาความรู้ที่ขาดไปเพิ่มเติม และต้องแก้ด้วยการหาตัวเลขและข้อเท็จจริงมาสนับสนุนประเด็นโต้แย้งของคุณ
    • ช่วงนี้คุณควรเตรียมหาข้อมูลทั้งหมดไว้ให้พร้อม เพื่อที่ว่าจะได้มีวัตถุดิบพร้อมใช้ได้เสมอเมื่อถึงขั้นตอนการเขียน
  3. ในเมื่อความคิด แนวคิด ข้อเท็จจริง และตัวเลขต่างๆ พร้อมหมดแล้ว คุณก็สามารถเริ่มคิดหารูปแบบของย่อหน้าที่จะเขียนได้เลย จงพิจารณาถึงแต่ละประเด็นที่คุณต้องการกล่าวถึง และเรียบเรียงมันออกมาตามลำดับตรรกะเหตุผล จะช่วยให้ย่อหน้าของคุณมีความลงตัวและต่อเนื่อง อ่านง่าย [3]
    • ลำดับที่คุณเรียบเรียงขึ้นมาใหม่นี้ อาจจะเรียงตามลำดับเวลา หรือเอาข้อมูลสำคัญที่สุดมาก่อน หรือจะเรียงแบบให้ย่อหน้าดูง่ายๆ น่าอ่านและน่าสนใจก็ได้ มันขึ้นอยู่กับหัวข้อและสไตล์การเขียนของคุณเท่านั้น [3]
    • หลังจากที่คุณตัดสินใจแล้วว่า คุณต้องการจะเขียนอย่างไร คุณสามารถเริ่มรีไรท์ประเด็นให้สอดคล้องกับรูปแบบโครงสร้างที่คิดขึ้นมาใหม่นี้ ซึ่งจะช่วยให้ขั้นตอนการเขียนเร็วและตรงประเด็นมากขึ้น
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

การเขียนย่อหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ประโยคแรกของย่อหน้า ต้องเป็นประโยคหัวเรื่อง ซึ่งก็คือ บรรทัดที่เขียนอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดหลักและสมมติฐานของย่อหน้าว่า จะเป็นเรื่องของอะไร มันควรจะมีการเขียนถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องและสำคัญมากที่สุด เกี่ยวกับหัวข้อที่คุณเตรียมมา สรุปรวมเอาไว้ในส่วนนี้ด้วย [2]
    อย่า: ใช้ประโยคข้อเท็จจริงที่เห็นชัดอยู่แล้วเป็นประโยคหัวเรื่อง
    ทำ: ถ้าคิดไม่ออก เริ่มด้วยแนวคิดอะไรก็ได้ แล้วค่อยพัฒนามันไปเมื่อคุณเขียนจนจบประโยค
    • ประโยคต่อๆ ไปที่คุณจะเขียนทั้งหมด ควรจะสนับสนุนประโยคหัวเรื่องดังกล่าว และเปิดประเด็นหรือแนวคิดให้มีการถกถียงเพิ่มเติมในรายละเอียด หากประโยคใดๆ ที่คุณจะเขียน ไม่ได้เชื่อมโยงกับประโยคหัวเรื่องโดยตรง ก็ไม่ควรนำมาเขียนไว้ในส่วนนี้
    • นักเขียนที่มีประสบการณ์มากหน่อย ย่อมสามารถนำเอาประโยคหัวเรื่องมาพูดถึงไว้ในส่วนใดของย่อหน้าก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยคแรกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักเขียนหน้าใหม่ หรือคนที่ยังไม่คุ้นกับการเขียนย่อหน้า ควรจะเริ่มจากการเขียนประโยคหัวเรื่องไว้ที่ประโยคแรกไว้ก่อน เพราะมันจะช่วยเป็นตัวนำทางไปยังส่วนอื่นๆ ของย่อหน้า [2]
    • ประโยคหัวเรื่องของคุณไม่ควรจะกว้างหรือแคบเกินไป หากมันกว้างเกินไป คุณจะไม่สามารถพูดถึงมันได้หมดในย่อหน้าเดียว แต่หากมันแคบเกินไป คุณก็จะไม่มีอะไรให้กล่าวถึงเลย [4]
  2. หลังจากที่คุณได้เขียนและพอใจกับประโยคหัวเรื่องแล้ว คุณสามารถเริ่มเขียนส่วนอื่นๆ ของย่อหน้าเพิ่มเติมได้เลย นี่คือขั้นตอนที่เนื้อหารายละเอียดที่คุณจดโน้ตเอาไว้อย่างดี มีส่วนช่วยได้มาก จงดูให้แน่ใจว่า ย่อหน้าของคุณมีความสอดคล้องลงตัว หรืออ่านและเข้าใจได้ง่าย รวมถึงมีความเชื่อมต่อกันระหว่างประโยคหน้าและหลังไปเรื่อยๆ เห็นภาพรวมได้อย่างไหลลื่น แต่การจะให้เป็นเช่นนั้นได้ ต้องเขียนแต่ละประโยคให้ชัดเจน เรียบง่าย และสื่อได้ตรงจุดอย่างที่คุณตั้งใจไว้ [3]
    • เชื่อมแต่ละประโยคด้วยคำเชื่อม ซึ่งเป็นเสมือนสะพานระหว่างประโยคหนึ่งไปสู่ประโยคหนึ่ง คำเชื่อมต่างๆ สามารถช่วยให้คุณเปรียบเทียบ แสดงผลลัพธ์ และความเป็นเหตุเป็นผล เน้นประเด็นสำคัญ และดำเนินเนื้อหาแนวคิดหนึ่งไปสู่อีกแนวคิดหนึ่งได้อย่างราบรื่น ตัวอย่างคำเชื่อม ก็มีอย่างเช่นคำว่า “นอกจากนี้” “ก่อนอื่น” “ลำดับต่อมา” และ “ในลำดับท้ายนี้” เป็นต้น [3]
    • ประโยคสนับสนุนต่างๆ ถือเป็นส่วนเนื้อๆ ของย่อหน้า ดังนั้น คุณควรระบุหลักฐานสนับสนุนแนวคิดให้มากที่สุดเท่าที่จะหามาได้ ในหัวข้อบางเรื่อง คุณสามารถใช้ข้อเท็จจริง ตัวเลขต่างๆ สถิติ และกรณีตัวอย่าง ส่วนบางหัวข้อ คุณสามารถใช้เรื่องราว เกร็ดประวัติ และคำกล่าวอ้างต่างๆ มาสนับสนุนได้ จะใช้อะไรก็ได้ตราบใดที่มันมีความเกี่ยวเนื่องกัน [2]
    • ในแง่ของความยาว ประมาณสามถึงห้าประโยคก็เพียงพอแล้วที่จะครอบคลุมประโยคหัวเรื่อง แต่มันยังต้องคำนึงถึงหัวข้อและขนาดของบทความที่คุณจะเขียนด้วย ความยาวมันควรจะขึ้นอยู่กับว่า จะเขียนได้ครอบคลุมแนวคิดหลักเมื่อใด [3] [5]
  3. ประโยคสรุปของย่อหน้าที่เขียน ควรผูกโยงทุกอย่างไว้ด้วยกัน ประโยคสรุปที่ดี ควรจะสนับสนุนแนวคิดที่เขียนเกริ่นเอาไว้ในประโยคหัวเรื่อง ต่างกันที่ตอนนี้มันมีประโยคอื่นๆ ที่แสดงหลักฐานและประเด็นโต้แย้ง มาสนับสนุนเอาไว้แล้ว ผู้อ่านควรจะหมดข้อสงสัยในความถูกต้องและความเชื่อมโยงกันของย่อหน้า หลังจากที่ได้อ่านประโยคสรุปแล้ว
    อย่า ไม่เห็นด้วยกับหลักฐานของตนเอง: ถึงจะมีคำแนะนำต่างๆ เหล่านั้น รายงานฉบับนี้ก็ล้มเหลวอยู่ดี
    ทำ ทำการสรุปถ้ามันจะต่อเนื่องไปยังย่อหน้าถัดไป: ข้ออ้างที่ยกมาพิสูจน์ว่ารายงานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลักได้
    • อย่าเอาแต่นำประโยคหัวเรื่องมาเปลี่ยนคำศัพท์ แต่ประโยคสรุปของคุณควรจะกล่าวถึงการถกเถียงที่นำมาสู่หัวเรื่องนั้นและย้ำเตือนให้ผู้อ่านเห็นความเกี่ยวเนื่องของการโต้แย้งครั้งนี้ [6]
    • ตัวอย่างเช่น กรณีเขียนย่อหน้าโดยมีโจทย์ว่า "ทำไมประเทศแคนาดาจึงน่าอยู่" ประโยคสรุปควรจะออกมาในลักษณะนี้ "จากหลักฐานที่ได้หยิบยกมานำเสนอข้างต้นทั้งหมด เช่น การที่แคนาดามีระบบประกันสุขภาพและระบบการศึกษาที่ดี รวมถึงมีสภาพบ้านเมืองที่สะอาดและปลอดภัย เราจึงสรุปได้ว่า ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่น่าอยู่อย่างแท้จริง"
  4. บางครั้ง มันอาจจะยากสักหน่อย ที่จะกำหนดว่าย่อหน้าแรกควรจบลงตรงไหน และจะเริ่มย่อหน้าต่อไปเมื่อไรดี โชคยังดีที่มีคำแนะนำจำนวนมาก ซึ่งคุณสามารถปฏิบัติตามอันจะทำให้การกำหนดว่าจะเริ่มย่อหน้าใหม่เมื่อไร ค่อนข้างชัดเจนตายตัว หลักพื้นฐานทั่วไปก็คือ คุณควรจะเริ่มย่อหน้าใหม่ ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงแนวคิดใหม่ แต่ละย่อหน้าไม่ควรมีแนวคิดหลักมากกว่าหนึ่ง หากแนวคิดใดมีหลายประเด็นและแง่มุม เมื่อนั้น แนวคิดดังกล่าวก็ควรได้สิทธิในการขึ้นย่อหน้าใหม่ [2] [7]
    • ย่อหน้าใหม่ยังสามารถเริ่มได้ หากมีการเปรียบเทียบให้เห็นความขัดแย้งของสองแนวคิด หรือนำเสนอมุมมองของแต่ละแนวคิด เช่น หากหัวข้อของคุณคือ "ข้าราชการควรได้เงินเดือนน้อยกว่าหรือไม่" ในกรณีนี้ ย่อหน้าแรกควรจะมีการนำเสนอในเชิงสนับสนุนให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนต่ำๆ ส่วนย่อหน้าถัดไป ก็จะเสนอมุมมองโต้แย้ง [2]
    • ย่อหน้าเป็นส่วนที่จะช่วยให้งานเขียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้อ่านมี "เวลานอก" ในการย่อยข้อมูลระหว่างแต่ละแนวคิด หากคุณรู้สึกว่า ย่อหน้าที่คุณเขียนเริ่มที่จะซับซ้อนมากไป หรือมีประเด็นหลากหลายมากเกินไปแล้ว คุณอาจจะพิจารณาถึงการแยกย่อหน้าออกมาต่างหากก็ได้ [2]
    • เวลาจะเขียนงานใดๆ ส่วนเกริ่นนำและส่วนสรุป ควรจะเป็นย่อหน้าของมันเองโดยเฉพาะ ส่วนเกริ่นนำควรจะระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานเขียน ในขณะที่มีการเปรยถึงโครงเรื่องของแนวคิดและปัญหาที่กำลังจะกล่าวถึงด้วย ส่วนสรุปนั้น ควรจะมีการกล่าวสรุปข้อมูลและประเด็นโต้แย้งไว้อย่างรวบรัด และระบุอย่างชัดเจนว่างานเขียนชิ้นนี้ได้พิสูจน์ประเด็นใดไว้แล้ว นอกจากนี้ คุณยังอาจเปรยหรือนำเสนอแนวคิดใหม่เพิ่มเติม ให้ผู้อ่านเอาไปขบคิดเล่นก็ได้ [2]
    • หากคุณเขียนนวนิยาย คุณต้องเริ่มย่อหน้าใหม่ในบทสนทนา เพื่อสื่อว่าตัวละครอีกตัวพูด [8]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

การรีวิวงานเขียนย่อหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลังจากที่คุณเขียนเสร็จแล้ว มันสำคัญมากที่ควรจะอ่านซ้ำอีกสองสามรอบ เพื่อเช็คคำที่สะกดผิดและประโยคที่เขียนผิดหลักไวยากรณ์ ความผิดพลาดในเรื่องดังกล่าวจะส่งผลลบอย่างมากต่องานเขียนของคุณ แม้ว่าการนำเสนอแนวคิดและประเด็นโต้แย้งจะทำได้ดีก็ตาม ในขณะที่กำลังเขียนนั้น มันง่ายที่จะมองข้ามความผิดพลาด ดังนั้น ห้ามละเลยขั้นตอนนี้เด็ดขาด ต่อให้รีบก็ตาม
    • จงดูให้แน่ใจว่า แต่ละประโยคมีประธานและคำนามเฉพาะ ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด (ภาษาอังกฤษ) รวมถึงตรวจดูด้วยว่า ประธานและกริยามีความเข้าคู่กันอย่างถูกต้อง และแต่ละประโยคในย่อหน้านั้นๆ ใช้รูปกาลเวลา (Tense) เดียวกันแล้วหรือไม่
    • ใช้ดิกชันนารี หรือพจนานุกรม ในการเช็คตัวสะกดอีกครั้ง หากคุณไม่แน่ใจ และอย่าคาดเดาความถูกต้องเอาเอง คุณอาจใช้พจนานุกรมหรือดิกชันนารีสำหรับคำที่ความหมายเหมือนกันมาเลือกคำทดแทนก็ได้ หากคุณเห็นว่าตนเองใช้คำไหนบ่อยเกินไป จำไว้ว่า ต้องเช็คกับแหล่งข้อมูลอื่นก่อนด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้รู้ความหมายที่แน่นอน เพราะบางครั้งดิกชันนารีดังกล่าวก็อาจเอาคำที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันเท่าไรนัก มาจัดไว้ในหมวดคำเหมือน เช่น คำว่า “ลิงโลด” “ปีติ” และ “หรรษา” ก็ถูกจัดไว้มีความหมายเดียวกับ “มีความสุข” ทั้งๆ ที่แต่ละคำเหล่านั้น มี บริบท หรือความหมายต่างระดับกันออกไป ซึ่งสามารถเปลี่ยนอารมณ์หรือแม้แต่ความหมายของประโยค หากใช้ไม่ระวัง
  2. ไม่ใช่แค่ตรวจในแง่ของเทคนิคการเขียนเท่านั้น แต่คุณควรเช็คในแง่ของความชัดเจนด้วย รวมถึงความไหลลื่นด้วย คุณควรเขียนให้แต่ละประโยคมีรูปแบบและความยาวหลากหลาย รวมถึงใช้คำเชื่อมและคำศัพท์ผสมผสานอย่างเหมาะสม [2]
    • มุมมองในงานเขียนของคุณ ควรคงเส้นคงวาไปตลอดทั้งย่อหน้า และทั้งบทความด้วย เช่น หากคุณใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (เช่น “ข้าพเจ้าเชื่อว่า…”) ก็ไม่ควรเปลี่ยนไปเป็นประโยคแบบถูกระทำ (เช่น “ประเด็นนี้ได้รับการเชื่อถือมานานแล้วว่า…”)
    • อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการขึ้นต้นทุกประโยคด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 เช่น “ข้าพเจ้าคิดว่า…” หรือ “ข้าพเจ้าเห็นว่า…” พยายามเปลี่ยนรูปแบบบ้าง เพื่อให้ย่อหน้าดูน่าสนใจและทำให้อ่านได้ไหลลื่นมากขึ้นด้วย
    • สำหรับนักเขียนมือใหม่ ควรจะยึดหลักการเขียนประโยคแบบสั้นและได้ใจความเอาไว้ก่อน ส่วนประโยคแบบซับซ้อนและยาวยืดนั้น อาจทำให้คุณเขียนออกนอกประเด็นจนกระทั่งผิดไวยากรณ์ได้ง่าย รอให้มีประสบการณ์มากกว่านี้ก่อน แล้วค่อยลองเขียนแบบนั้นก็ได้
  3. หลังจากที่คุณอ่านทวนและตรวจเช็คความผิดพลาดด้านไวยากรณ์และสไตล์การเขียนแล้ว ลองอ่านคร่าวๆ อีกรอบเพื่อสรุปว่ามันสมบูรณ์ดีแล้วหรือยัง พยายามอ่านย่อหน้าอย่างเป็นกลางและตัดสินใจดูว่า มันมีข้อมูลสนับสนุนและส่งเสริมประโยหัวเรื่องมากพอหรือยัง หรือมันยังอาจต้องการรายละเอียดและหลักฐานเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของคุณ [3]
    อย่า: อย่ามัวชะงักอยู่กับการตรวจแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่คุณจะเขียนบทความจนจบ
    ทำ: ให้แน่ใจว่าประเด็นนั้นชัดเจนก่อนที่จะเดินหน้าต่อ
    • หากคุณรู้สึกว่า ประเด็นหลักของประโยคหัวเรื่องได้รับการสนับสนุนและเชื่อมโยงกับเนื้อหาส่วนอื่นของย่อหน้าดีแล้ว ก็เป็นไปได้ว่ามันเสร็จเรียบร้อยแล้วจริงๆ อย่างไรก็ดี หากมีแง่มุมใดของหัวเรื่อง ที่ยังไม่มีการกล่าวหรืออธิบายถึง หรือดูแล้วย่อหน้ามันสั้นกว่าสามประโยค คุณอาจจะต้องเขียนเพิ่มอีกหน่อย [3]
    • ในทางกลับกัน คุณอาจเห็นว่าย่อหน้าของคุณยาวเกินไป และมีเนื้อหาฟุ่มเฟือยและอ้อมค้อม คุณควรปรับแก้ให้มันเหลือแต่ข้อมูลที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น
    • หากคุณรู้สึกว่า เนื้อหาทั้งหมดจำเป็นต่อการสนับสนุนประเด็นทั้งหมด แต่มันยังยาวเกินไป คุณก็อาจจะแตกย่อหน้าย่อยๆ ออกให้เล็กลงและเจาะจงมากขึ้น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ย่อหน้า ควรประกอบด้วย:
    • ประโยคหัวเรื่อง
    • ประโยคสนับสนุน
    • ประโยคสรุป
  • เวลาที่คุณกำลังอ่านย่อหน้า ลองสังเกตดูว่ามันมีการแบ่งส่วนอย่างไร หากคุณมีประสบการณ์การเขียนย่อหน้ามากพอแล้ว คุณอาจจะเริ่มแบ่งสัดส่วนของแต่ละย่อหน้าได้โดยใช้ความรู้สึก
  • ไม่มีกฎตายตัวว่า ย่อหน้าควรยาวขนาดไหน ดังนั้น คุณควรจบย่อหน้าให้ดูเป็นธรรมชาติ ด้วยการใส่แนวคิดหลักไว้แนวคิดเดียวและที่เหลือก็เป็นส่วนสนับสนุนทั้งหมด
  • จงจัดหน้าให้ย่อเข้ามา 0.5 นิ้วจากขอบซ้ายเสมอ สำหรับภาษาอังกฤษ และ 1 นิ้ว สำหรับภาษาไทย
  • ความผิดด้านตัวสะกดและไวยากรณ์ จะทำให้งานเขียนที่ดีที่สุด ด้อยคุณภาพลงได้มากมาย ดังนั้น พยายามใช้โปรแกรมช่วยตรวจคำและหาคนมาช่วยอ่านพิสูจน์อักษรอีกครั้ง หากไม่แน่ใจในเรื่องใด
  • หากคุณจะเขียนบทสนทนา ต้องย่อหน้าใหม่ทุกครั้งที่ตัวละครอีกตัวเป็นฝ่ายพูด
  • เคล็ดลับอยู่ที่:
    • ความเป็นเอกภาพ: จงมีแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวและต้องสื่อหัวเรื่องให้ชัดเจน
    • การเรียงลำดับ: วิธีเรียบเรียงประโยค จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
    • ความสอดคล้องเชื่อมโยง: คุณลักษณะที่ทำให้งานเขียนของคุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ละประโยคควรเชื่อมโยงกัน
    • ความสมบูรณ์: ทุกประโยคที่ใช้ในย่อหน้า ควรจะมีใจความสมบูรณ์ในตัวเอง
  • ปรับลักษณะการเขียนไปตามวัตถุประสงค์ เหมือนที่คุณใส่เสื้อผ้าแตกต่างไปตามกาลเทศะ และสภาพอากาศ คุณก็ควรใช้สไตล์การเขียนให้ตรงเป้าหมาย
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่ารอจนกระทั่งนาทีสุดท้ายในการเขียนให้เสร็จ หากมันเป็นการบ้านที่โรงเรียน จงเผื่อเวลาให้ตัวเองมากๆ หน่อย ในการวางแผนและเขียนแต่ละย่อหน้า เพื่อให้งานเขียนของคุณออกมามีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 32,355 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา