ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

มนุษย์มีความสามารถในการเล่าเรื่อง และเราทุกคนเองต่างก็เป็นนักเล่าเรื่อง แต่พอเป็นเรื่องของการเขียนเรื่องราวที่ดีแล้ว เราอาจจะรู้สึกไปไม่เป็นแม้ว่าเราจะมีจินตนาการล้ำเลิศและมีไอเดียดีๆ เป็นล้านๆ อย่างก็ตาม แต่คุณต้องคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เขียนอะไรซ้ำๆ ซากๆ! ในการเขียนเรื่องราวให้ออกมาดีนั้น คุณต้องหาแรงบันดาลใจ ปรับปรุงเนื้อหา และแก้ไขงานเขียนของคุณจนกว่าคุณจะได้เรื่องราวที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะเขียนได้ ถ้าคุณอยากเขียนเรื่องสั้นที่ดี ลองมาทำตามขั้นตอนง่ายๆ ในบทความนี้กันเลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

หาแรงบันดาลใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณอยากเขียนเรื่องสั้นหรือแม้แต่เรื่องยาวๆ ให้ออกมาดี คุณจะต้องเปิดหูเปิดตาตลอดเวลา รับฟังโลกและให้โลกสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ! ไม่ช้าคุณจะเจอสิ่งที่คุณสามารถนำมาใช้เขียนเรื่องที่ดีที่สุดของคุณได้! และเนื่องจากว่าคุณเขียนเรื่องให้คนหลายคนอ่าน คุณจึงต้องถามความคิดของคนอื่นที่มีต่อโลกรอบตัวพวกเขาด้วย เพราะฉะนั้นคุณจะเขียนเรื่องจากความคิดเห็นของคุณอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องของการเขียนเรื่องแล้ว ไม่มีคำว่าใช้เวลา ความพยายาม หรือการบรรยายมากเกินไป ตัวอย่างวิธีรวบรวมรายละเอียดที่อาจทำให้คุณได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องก็เช่น
    • อ่านหนังสือ ประสบการณ์ช่วยคุณได้ การอ่านนั้นดีต่อสมอง เพราะมันช่วยสอนให้คุณรู้ว่าหนังสือที่เขียนดีเป็นอย่างไร แน่นอนว่าในโลกนี้มาหนังสือหลายล้านเล่ม แต่ลองไปที่ห้องสมุดสาธารณะและหาหนังสือที่เหมาะกับความสนใจของคุณ หนังสือและคนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ไม่แน่ว่าหนังสือที่คุณเลือกมาอาจจะทำให้คุณได้ประโยคเริ่มต้นดีๆ ได้แรงบันดาลใจ และได้ประเภทของงานเขียนที่คุณอยากจะเขียน คุณต้องอ่านหนังสือให้หลากหลายเพื่อเพิ่มพูนคลังศัพท์ รู้ตัวอีกทีคุณก็อาจจะได้ไอเดียสำหรับเขียนเรื่องเล่าสุดหฤหรรษ์ของคุณแล้ว
    • สังเกตลักษณะนิสัยที่น่าสนใจ คุณอาจจะเห็นว่าเพื่อนบ้านชอบคุยกับต้นไม้หรือชอบพาแมวไปเดินเล่นทุกเช้า ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกรอบตัวคุณเช่นกัน พี่สาวของคุณเป็นพวกเด๋อด๋าหรือเปล่า คุณอาจจะสร้างตัวละครเด๋อด๋าจากบุคลิกของเธอ ลองคิดถึงชีวิตข้างในของคนประเภทนี้แล้วดูว่าเรื่องราวมันดำเนินต่อไปได้หรือเปล่า
    • สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ออกไปเดินเล่นหรือหาเวลานั่งในสวนสาธารณะ สังเกตและดูว่าคุณเห็นอะไรบ้าง คุณอาจจะเห็นช่อดอกกุหลาบข้างๆ รางน้ำ หรือเห็นรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่เอี่ยมบนเก้าอี้ม้านั่งในสวน มันมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงนะ ค่อยๆ นึกจินตนาการไป!
    • ฟังว่าเขาพูดอะไรกัน ประโยคที่น่าสนใจประโยคเดียวที่คุณได้ยินผ่านหูอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องได้ทั้งเรื่องก็ได้ คุณอาจจะได้ยินคนพูดว่า "ไม่มีใครเข้าใจฉัน......" หรือ "หมาของฉันมันทำร้ายผู้ชายทุกคนที่ฉันคบเลย..." ประโยคพวกนี้พอสำหรับการเขียนเรื่องไหม แน่นอนอยู่แล้ว!
  2. วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะกับการเริ่มเขียนเรื่องสั้น เวลาที่คุณสังเกตโลก คุณไม่ควรมองแค่ความจริงที่อยู่ในโลกเท่านั้น แต่ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของโลกด้วย เวลาที่คุณคิดถึงเรื่องราวที่คุณได้ยินหรือภาพที่คุณเห็น ให้ถามตัวเองว่า "แต่ถ้าเหตุการณ์มันเป็นแบบนี้แทนล่ะ" หรือ "คนๆ นี้จะทำอย่างไรถ้า..." การนึกตามไปเรื่อยๆ แบบนี้จะทำให้คุณได้สำรวจความลึกลับที่กำลังหลอกหลอนคุณอยู่
    • ตอนที่คุณเริ่มเขียนคุณไม่จำเป็นต้องรู้ตอนจบของเรื่องก็ได้ จริงๆ แล้วการที่คุณเริ่มเขียนโดยที่ตัวคุณเองก็ไม่ได้รู้อะไรไปเสียทุกอย่างจะทำให้คุณได้สำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ ที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นและทำให้เรื่องของคุณชัดเจนขึ้นด้วย
    • สถานการณ์ "แล้วถ้า" อาจอยู่บนพื้นฐานความจริงหรือเป็นเรื่องในจินตนาการล้วนๆ เลยก็ได้ คุณอาจจะถามตัวเองว่า "แล้วถ้าหมาของฉันมันเกิดเริ่มพูดกับฉันขึ้นมาล่ะ" หรือ "แล้วถ้าเพื่อนบ้านที่ชอบมาเล่นกับหมาของฉันบ่อยๆ วันนึงเขาเกิดลักพาตัวมันไปล่ะ"
  3. แม้ว่าเรื่องสั้นจะจัดอยู่ในงานเขียนประเภทบันเทิงคดี แต่ก็มีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่เน้นหนักไปทางอัตชีวประวัติ ถ้าคุณเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองหรือคนรู้จักก็อาจจะถือว่าเป็นงานเขียนเชิงสารคดีได้ แต่การได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับคุณแล้วเปลี่ยนมันให้เป็นงานเขียนบันเทิงคดีเรื่องใหม่นั้นถือว่าเป็นแผนการเขียนเรื่องสั้นที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่มีอะไรจะเขียน"
    • หลายคนบอกว่าคุณควร "เขียนเรื่องที่คุณรู้" ซึ่งหลักการคิดก็คือ ถ้าคุณเติบโตมาจากไร่นาในจังหวัดกาญจนบุรีหรือคุณพยายามจะเป็นจิตรกรที่เชียงใหม่มา 10 ปี คุณก็ควรเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้นแทนที่จะมานั่งเดาว่าคนที่เขาอยู่ในที่ๆ คุณไม่เคยไปนั้นเขาเติบโตมาอย่างไร
    • นักเขียนบางคนก็บอกว่าคุณควร "เขียนเรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้" หมายความว่าคุณอาจจะเริ่มเขียนในเรื่องที่คุณคุ้นเคยก่อน จากนั้นค่อยเริ่มสำรวจสิ่งที่คุณสงสัยหรือสิ่งที่คุณไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับมันเท่าไหร่
    • ถ้าคุณสบายใจที่จะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมากเกินไป คุณจะไม่มีที่ว่างให้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น คุณอาจจะมีเพื่อนสมัยเด็กที่วันหนึ่งก็ย้ายบ้านไปโดยที่ไม่บอกใคร หรือตอนเป็นเด็กคุณอาจจะหลงใหลคนบังคับชิงช้าสวรรค์และอยากรู้มาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา สำรวจโลกใบนั้นแล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมา
  4. สังเกตเรื่องที่เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวเคยเล่าให้ฟังที่คุณสามารถนำไปเขียนเป็นเรื่องแต่งดีๆ ได้ ถ้าแม่หรือคุณยายมักจะเล่าเรื่องสมัยที่ท่านเด็กๆ ให้คุณฟังเสมอ ให้เริ่มจดเรื่องราวเหล่านั้นลงไป พยายามจินตนาการว่าการเติบโตมาในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่ต่างออกไปนั้นมันเป็นอย่างไรและเริ่มเขียนความเป็นไปได้ต่างๆ อย่าผัดวันประกันพรุ่งด้วยเหตุผลว่าคุณไม่ได้รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลานั้น เพราะคุณสามารถมาค้นคว้าเพิ่มเติมได้เสมอ
    • เวลาที่เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า "เธอต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่าอาทิตย์ที่แล้วเกิดอะไรขึ้นกับฉัน..." ให้เงี่ยหูฟังให้ดี เพราะคุณสามารถเริ่มเรื่องสั้นจากประโยคนั้นได้
    • เรื่องราวอาจจะมาจากที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็ได้ ดีเจรายการวิทยุอาจจะรำลึกถึงความหลังในช่วงวัยเด็กออกมาไม่กี่ประโยค แล้วจู่ๆ คุณก็เกิดสนใจขึ้นมาว่าชีวิตเขาน่าจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง
    • เตือนไว้ก่อนว่า ถ้าคุณมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนที่ "ขโมย" เรื่องราวที่คนอื่นเล่าใช้เขียนเรื่องแต่ง คนก็อาจจะไม่อยากเปิดใจกับคุณสักเท่าไหร่
  5. เรื่องราวอาจจะมาจากความชัดเจนจากสถานที่นั้นๆ ถึงขั้นนี้คุณควรจะรู้แล้วว่าคุณจะเขียนเรื่องราวประเภทไหน อาจจะเป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในห้องทดลองใต้ดิน หรือเรื่องสยองขวัญที่เกิดขึ้นในกระท่อมผุพัง แรงบันดาลใจไม่ต้องมาจากชายหาดแสนสวยหรือจากทริปที่สนุกสุดเหวี่ยงที่เวนิส แต่แรงบันดาลใจอาจจะมีจากสถานที่ธรรมดาๆ ก็ได้ ลองคิดดูว่าตอนเด็กๆ ที่คุณต้องไปอยู่ที่ไร่ส้มกับคุณยายช่วงปิดเทอมใหญ่ทุกปีมันเป็นอย่างไร นึกดูว่าการขลุกอยู่ในห้องใต้หลังคาบ้านเพื่อนสนิทสมัยมัธยมปลาย/มัธยมต้น/ประถมมันเป็นอย่างไร
    • การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่อาจช่วยให้คุณสร้างตัวละครและปมขัดแย้งที่น่าสนใจขึ้นมาได้
  6. การฝึกเขียนช่วยให้นักเขียนหลายคนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พบแรงบันดาลใจในที่ๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ และบังคับตัวเองให้เขียนออกมาในตอนที่ "ไม่รู้จะว่าเขียนอะไร" คุณอาจจะเริ่มจากการฝึกเขียนอุ่นเครื่องทุกวันวันละ 10-15 นาทีเพื่อให้สมองลื่นไหล หรืออาจจะเขียนเป็นชั่วโมงเลยก็ได้แล้วแต่แบบฝึกหัดแม้ว่าคุณจะไม่มีแรงบันดาลใจเลยก็ตาม แบบฝึกหัดการเขียนดีๆ ที่ช่วยให้คุณเริ่มเขียนได้คือ [1]
    • เริ่มเรื่องด้วยประโยคเปิดเรื่องต่อไปนี้ "ฉันไม่เคยบอกเรื่องนี้กับใครมาก่อน" แต่ถ้าเรื่องของคุณไม่ได้เล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 คุณก็อาจจะเริ่มเรื่องว่า "เธอปิดประตู น้ำตาไหลอาบแก้ม นี่เขาหลอกเธอหรือ"
    • มองรูปภาพยุ้งฉางในทุ่งนา จากนั้นอธิบายยุ้งฉางจากมุมมองของคนที่เพิ่งฆ่าคนตาย แล้วเปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของเด็กผู้หญิงที่เพิ่งเสียแม่ไป ดูว่าความคิดของตัวละครมีผลต่อการมองโลกของเขาอย่างไร ลองสมมุติว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้นดู!
    • เขียนแค่ 10-15 นาทีพอ แล้วค่อยย้อนกลับมาดูทีหลังเพื่อแก้ไข
    • เลือกคนที่คุณไม่ชอบสุดๆ ในชีวิตมาหนึ่งคน จากนั้นลองเขียนเรื่องราวจากมุมมองของคนๆ นั้น พยายามทำให้คนอ่านเห็นใจเขาให้ได้มากที่สุด จำไว้ว่ามันเป็นเรื่องของคุณ
    • ปล่อยให้ตัวละครทำให้คุณประหลาดใจ เขียนเกี่ยวกับตัวละครที่คุณเหมือนจะรู้จักค่อนข้างดี แล้วให้คนๆ นี้ทำในสิ่งที่ทำให้คุณต้องถึงกับผงะ ดูว่าเรื่องราวมันจะพาคุณไปไหน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เรื่องราวของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
    • การโต้เถียง ให้ตัวละครสองตัวเถียงกันในเรื่องที่น่าเบื่อสุดๆ อย่างใครจะเป็นคนเอาขยะไปทิ้งหรือใครจะจ่ายค่าตั๋วหนัง เขียนให้ชัดเจนว่าการโต้เถียงในครั้งนี้จริงๆ แล้วบ่งบอกถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าและร้ายแรงกว่า เช่น ใครจะเป็นฝ่ายบอกเลิกหรือใครเป็นฝ่ายให้มากเกินไปแล้วไม่ได้อะไรกลับคืน พยายามให้บทสนทนาสื่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ออกมา แต่ก็อย่าเขียนให้มันน่าเบื่อล่ะ
    • ภาษาท่าทาง เขียนเรียงความ 500 คำบรรยายตัวละครสองตัวที่นั่งข้างกัน ทำให้คนอ่านเห็นว่าตัวละครสองตัวนี้รู้สึกต่อกันอย่างไรโดยไม่ใช่คำพูด
  7. ถ้าคุณอยากจะเขียนเรื่องสั้นได้เก่งๆ คุณก็ควรอ่านเรื่องสั้นให้ได้มากที่สุด คุณควรอ่านทั้งผลงานของนักเขียนคลาสสิกและนักเขียนร่วมสมัย และใช้การเขียนของคนอื่นมาสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องสั้นของตัวเอง เรื่องสั้นร่วมสมัยและเรื่องสั้นคลาสสิกที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องสั้นของตัวเองได้มากขึ้นคือ
    • "สตรีกับสุนัข" ของอันตอน เชคอฟ
    • "ก่อกองทราย" ของไพฑูรย์ ธัญญา
    • "สถานที่สะอาดและมีแสงสว่างพอเพียง" ของเออร์เนส แฮมมิ่งเวย์
    • "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง" ของอัศศิริ ธรรมโชติ
    • "ครอบครัวกลางถนน" ของศิลา โคมฉาย
    • "ความน่าจะเป็น" ของปราบดา หยุ่น
    • "เจ้าหงิญ" ของบินหลา สันกาลาคีรี
    • "ซอยเดียวกัน" ของวาณิช จรุงกิจอนันต์
    • "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
    • "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" ของวินทร์ เลียววาริณ
    • "หลายชีวิต" ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
    • "สวัสดี ฒ.ผู้เฒ่า รวมเรื่องสั้นชุดเฒ่าอันเกรียงไกร" ของมนัส จรรยงค์
    • "Bubble Gum และเรื่องสั้นอื่นๆ" ของโบนิตา อาดา
    • "สตรีในกระจก: ภาพสะท้อนห้วงคำนึง และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ" ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
    • "เมตามอร์โฟซิส" ของฟรันทซ์ คัฟคา
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

พัฒนาทักษะการเขียนเรื่อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การลงคอร์สการเขียนเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะการเขียนหนังสือและเรื่องที่ดี หาคอร์สที่เน้นการเขียนทั่วไปหรือในสาขาที่คุณสนใจ การเขียนเรื่องมีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่หนังสือเด็กไปจนถึงบทความในนิตยสาร
  2. ฝึกเขียนบรรยายผู้คน สัตว์ สิ่งของ และภูมิทัศน์. ฝึกถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาผ่านการเขียน นักเขียนที่ดีสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ที่สุด ลองฝึกบรรยายสิ่งรอบตัว
    • เช่น สมมุติว่าคุณมีผ้าม่านสีม่วง ผ้าม่านนั้นเป็นอย่างไร ทำให้คุณนึกถึงอะไร มันอยู่ตรงไหนในห้อง
    • แต่ก็อย่าบรรยายน้ำเยอะจนเกินไปเพราะมันจะดำเนินเรื่องได้ช้า แค่พยายามเขียนให้คนอ่านเห็นภาพตามความเป็นจริงก็พอ
  3. ไม่มีใครชอบอ่านอะไรที่มันไม่น่าสนใจหรือไม่ได้ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ ใช้คำที่เป็นเอกลักษณ์ เปิดพจนานุกรมผ่านๆ และหาคำที่สะดุดตา หรือไม่ก็ฟังรายการวิทยุที่คุณชอบ ทำให้มันสนุกเพื่อให้คนอ่านอยากอ่านต่อ เป้าหมายของคุณคือเขียนเรื่องให้สะดุดตาคนอ่านและทำให้เขาอยากอ่านงานของคุณต่อ
  4. คุณจะต้องทำให้คนอ่านเข้าใจสิ่งที่คุณเขียน การใช้คำว่า "หยั่งงี้" อาจจะทำให้คนอ่านสับสน และเวลาที่คุณเขียนหนังสือแบบเป็นเรื่องเป็นราว คุณก็ต้องใช้คำที่ยากสักหน่อยและเลี่ยงการพิมพ์ผิดอย่าง "นะค่ะ" แต่ถ้าตัวละครของคุณพูด "หยั่งงี้" จริงๆ ก็ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดและถ่ายทอดการพูดรวมถึงเสียงที่อยู่ในความคิดของตัวละครออกมาให้สมจริงที่สุด
  5. ถ้าการเขียนคือสิ่งที่คุณหลงใหล ก็ถ่ายทอดความหลงใหลออกมาในฐานะนักเล่าเรื่องที่อินกับเรื่องที่กำลังเล่าอย่างแท้จริง เขียนสิ่งที่คุณชอบและสิ่งที่คุณคิดว่ามันดีกับตัวเรื่อง เรียนรู้ที่จะเขียนจากหัวใจ
    • ฟังคำติเพื่อก่อ แยกให้ออกว่าคำติชมไหนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการเขียนของคุณและอันไหนที่เป็นแค่การติไปเรื่อยเปื่อยหรือเป็นความอิจฉา ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะค่อยๆ แยกแยะได้เอง
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

สร้างเรื่องราวของคุณขึ้นมา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะใช้มุมมองบุคคลที่ 1 2 หรือ 3 ถ้าคุณเพิ่งเริ่มเขียน คุณควรยึดแค่มุมมองใดมุมมองหนึ่งตลอดทั้งเรื่อง มุมมองทั้ง 3 แบบมีลักษณะและวิธีการใช้ดังนี้
    • มุมมองจากบุคคลที่ 1 บุคคลที่ 1 จะถูกถ่ายทอดโดยตรงผ่านมุมมองของตัวละครที่ใช้คำว่า "ฉัน" แทนตัวเอง "ฉันไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังมาก่อน" คือตัวอย่างของการเขียนโดยการใช้มุมมองของบุคคลที่ 1 มุมมองจากบุคคลที่ 1 เป็นมุมมองที่เหมาะกับการเขียนหากคุณอยากจะเล่าเรื่องโดยยึดความคิดและมุมมองของตัวละครอย่างใกล้ชิด แต่มันก็อาจจะค่อนข้างจำกัดถ้ามุมมองของตัวละครมีจำกัด บุคคลที่ 1 อาจจะเป็นมุมมองที่เขียนง่ายที่สุดหากคุณเพิ่งเริ่มเขียน
    • มุมมองจากบุคคลที่ 3 บุคคลที่ 3 คือการที่คุณเขียนถึงตัวละครโดยใช้คำว่า "เขา" หรือ "เธอ" จากมุมมองข้างนอก เช่น การเล่าว่า "เขาเหนื่อย" ในมุมมองบุคคลที่ 3 นักเขียนอาจจะเข้าถึงความคิดของตัวละครอย่างใกล้ชิดหรือเอาตัวเองออกห่างจากตัวละครก็ได้
    • มุมมองจากบุคคลที่ 2 บุคคลที่ 2 กล่าวถึงคนอ่านโดยการใช้คำว่า "คุณ" ออกมาตรงๆ เช่น "คุณกำลังเดินเข้าไปในออฟฟิศของคุณ" มุมมองนี้เป็นเทคนิคการจับใจคนอ่านที่ดี แต่มันอาจจะดูเกินจริงไปหน่อย
  2. เรื่องสั้นทุกเรื่องควรมีพล็อตเรื่องที่ดึงความสนใจของคนอ่านและทำให้คนอ่านตั้งคำถามว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรื่องเล่าของคุณจะต้องมีการไล่ล่าปานสายฟ้าแลบหรือการฆาตกรรม เพราะคนอ่านก็อาจจะอยากรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นแม้จะเป็นแค่เรื่องคนสองคนกำลังคุยกันระหว่างดื่มกาแฟ แม้ว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันไป แต่องค์ประกอบของเรื่องสั้นก็โดยทั่วไปก็คือ
    • การขมวดปม/บทเปิดเรื่อง: ส่วนนี้มักจะอยู่ตอนต้นเรื่องของเรื่องสั้น ซึ่งเป็นจุดที่ผู้อ่านจะได้รู้จักตัวละคร ฉากท้องเรื่อง และปมขัดแย้งหลัก แต่บางเรื่องก็จะเริ่มเรื่องท่ามกลางเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและค่อยให้ผู้อ่านย้อนกลับไปว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
    • ปมขัดแย้ง: การเดิมพันของเรื่อง เรื่องทุกเรื่องจะต้องมีการเดิมพันอะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้นคนอ่านจะไม่อยากอ่านต่อไม่ว่าภาษาจะสวยแค่ไหนก็ตาม เรื่องทุกเรื่องจะต้องมีปมขัดแย้งหรือจุดตึงเครียด ซึ่งอาจจะเป็นอะไรที่เร้าอารมณ์มากๆ อย่างการที่ผู้ชายสองคนกำลังแย่งผู้หญิงคนเดียวกัน หรือเด็กผู้หญิงที่รอดูว่าเพื่อนจะชวนเธอไปงานปาร์ตี้หรือเปล่า ลักษณะของปมขัดแย้งไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือคนอ่านจะต้องสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
    • ภาวะคลี่คลาย: การคลายปมของเรื่อง หลังจากปมขัดแย้งถูกคลี่คลายหรือพูดคุยไปแล้ว เรื่องก็ต้องคลายปมออก แต่เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะไม่ได้มีตอนจบที่มีความสุขสมบูรณ์แบบหรืออาจจะไม่ได้มีตอนจบที่สมบูรณ์แบบเลยก็ได้ หลายเรื่องจะจบลงด้วยคำพูดหรือภาพที่ทิ้งให้คนอ่านกลับไปคิด ถ้าเรื่องมัน "คลายปม" ในตอนท้ายแบบสมบูรณ์แบบ มันจะกลายเป็นว่าคุณทำลายความลึกลับและเสน่ห์ของเรื่องสั้นไป
  3. เรื่องของคุณจะต้องมีตัวละครอย่างน้อย 1 ตัวและเป็นตัวละครที่คนอ่านสนใจและอินกับมันแม้ว่าตัวละครตัวนั้นจะไม่ใช่คนจิตใจดีมีเมตตาก็ตาม คุณสามารถสร้างคุณสมบัติของตัวละครได้จากหลายๆ วิธีซึ่งแต่ละวิธีนั้นล้วนสมเหตุสมผล ตัวอย่างวิธีที่จะทำให้คนอ่านรู้สึกถึงตัวละครของคุณได้อย่างชัดเจนก็เช่น
    • บรรยายสิ่งที่ตัวละครพูด คำพูดที่สมบูรณ์แบบจะแสดงถึงเจตนาของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำพูดไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวละครคิด
    • บรรยายสิ่งที่ตัวละครทำ ตัวละครตัวนี้ตื่น 6 โมงเช้าทุกวันโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกหรือเปล่า หรือว่าเขากดปุ่ม "เลื่อนปลุก" หลายชั่วโมงกว่าจะตื่น การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ช่วยสร้างลักษณะของตัวละครขึ้นมาได้ แม้ว่าตอนแรกมันอาจจะดูไม่สำคัญก็ตาม
    • บรรยายว่าเขาแต่งตัวอย่างไร ตัวละครแต่งตัวจัดเต็มเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเปล่า หรือว่าเขายิ้มแบบบ้าคลั่งเวลาที่เขาด่ำดิ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เศร้าที่สุด รูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครสามารถบอกถึงสภาวะจิตใจของเขาได้
    • บรรยายว่าเขาปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร ตัวละครของคุณขี้อายสุดขีดหรือว่าเจ้ากี้เจ้าการเสียจนคนรอบข้างไม่กล้าเปิดปากพูดกับเขา เขาปฏิบัติกับพนักงานเสิร์ฟเป็นอย่างดีเพราะว่าแม่ของเขาเคยเป็นพนักงานเสิร์ฟมาก่อน หรือว่าเขาทำตัวแย่ใส่พนักงานเสิร์ฟทุกคนเพราะเขาเคยโดนสาวเสิร์ฟหักอก หรือเขาแค่ทำตัวแย่เพราะเขาอยากทำแบบนั้นเฉยๆ การได้เห็นตัวละครในโลกข้างนอกสามารถบอกหลายสิ่งเกี่ยวกับตัวละครได้
  4. บทสนทนาจะเป็นจุดที่บอกว่าตัวละครพูดอะไร ซึ่งมักจะอยู่ในเครื่องหมายคำพูด บทสนทนาบอกตัวตนของตัวละครได้มากมายทั้งจากสิ่งที่เขาพูดและสิ่งที่เขาเลือกจะไม่พูด คุณควรสร้างบทพูดที่เหมือนคนจริงๆ พูดกันแทนที่จะใช้ภาษาที่มันหรูหราหรือฟังดูประดิษฐ์ อ่านบทสนทนาออกเสียงเพื่อฟังว่ามันเหมือนคนจริงๆ เขาพูดกันหรือเปล่า
    • บทสนทนาระหว่างตัวละครสองตัวยังสามารถบ่งบอกถึงลักษณะความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ได้ด้วย
    • สนใจสิ่งที่ตัวละครไม่ได้พูดด้วย เช่น ถ้าเด็กผู้ชายไม่พอใจที่พ่อไม่ยอมไปดูการแข่งขันเบสบอล แต่พอได้เจอพ่อเขาก็ไม่พูดถึงการแข่งขันเลยแต่กลับถามว่า "งานเป็นยังไงบ้างครับ" แทน นั่นก็บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนนี้ได้มากเหมือนกัน
    • อย่าใช้คำบรรยายเยิ่นเย้อในบอกว่าใครเป็นคนพูด เช่นการบอกว่า "มินกล่าวว่า..." แทนที่จะเป็น "มินเอ่ย..."
  5. ฉากท้องเรื่องของเรื่องสั้นอาจจะสำคัญหรือไม่สำคัญกับเหตุการณ์ในเรื่องเลยก็ได้ ถ้าเรื่องของคุณเกิดขึ้นในบ้านทั่วไปที่ไม่ได้สำคัญกับเนื้อเรื่องเลย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมียน้อยของตัวละครบุกเข้ามาในบ้านที่เขาอยู่กับภรรยา รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างล้วนสำคัญกับเรื่องเพราะมันสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของตัวละครกับภรรยา และบอกได้ว่าเมียน้อยมองความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างไร พิจารณาว่าฉากท้องเรื่องสำคัญกับเนื้อเรื่องไหมแล้วสร้างฉากท้องเรื่องตามระดับความสำคัญ
    • ถึงฉากท้องเรื่องจะไม่ได้สำคัญกับเนื้อเรื่อง แต่ก็อย่าทำให้คนอ่านสับสนและบอกให้คนอ่านรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แม้ว่ามันจะเป็นแค่ทุ่งเลี้ยงวัวที่ลพบุรีหรือโรงเรียนมัธยมที่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าเป็นที่ไหนก็ตาม
    • ช่วงเวลาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของฉากท้องเรื่องเช่นเดียวกัน ถ้าเรื่องราวของคุณเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2500 ก็บอกใบ้ให้คนอ่านเดาได้ด้วยหรือไม่ก็บอกตรงๆ ไปเลย ไม่ใช่ว่าคนอ่านอ่านไปครึ่งเรื่องแล้วยังคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน
  6. ในงานเขียนเสียงของคุณคือวิธีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ คำที่เขียนลงไปจะบ่งบอกว่างานเขียนแบบนี้มีแต่คุณเท่านั้นที่เขียน คำพูดที่คุณเขียนลงไปควรจะมีความแปลก จังหวะ และน้ำเสียงสูงต่ำที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ ในช่วงแรกๆ มันเป็นเรื่องปกติที่นักเขียนเรื่องสั้นจะพยายามเลียนแบบนักเขียนเรื่องสั้นคนโปรดของตัวเอง แต่พอคุณเขียนเรื่องสั้นไปเรื่อยๆ คุณก็ควรหาวิธีถ่ายทอดความคิดและแนวคิดในแบบของคุณเอง
    • น้ำเสียง บ่งบอกว่าคำพูดของคนเขียนฟังดูเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ว่าคำพูดของตัวละครเป็นอย่างไร ทุกคำที่เขียนลงไปในเรื่องนั้นทำให้เกิด น้ำเสียง ของคนเขียน
  7. แม้ว่าจะพอมีแนวทางในการเขียนเรื่องสั้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีกฎตายตัวว่าเรื่องสั้นที่ดีเป็นอย่างไรและเรื่องสั้นที่แย่เป็นอย่างไร คุณสามารถเพิ่มโอกาสในการเขียนเรื่องสั้นให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดทั่วไปของนักเขียนเรื่องสั้น สิ่งที่คุณควรเก็บไปคิดขณะเขียนเรื่องสั้นก็คือ
    • เลี่ยง "ต้นเรื่องที่เยิ่นเย้อ" ไม่ต้องบอกคนอ่านทุกเรื่องที่คุณคิดว่าเขา ต้อง รู้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ถ้าคุณบรรยายตัวละครและเหตุการณ์เข้าไปสามหน้ากว่าจะเข้าเรื่องได้จริงๆ คนอ่านจะพาลไม่อยากอ่านเสียก่อน
    • เลี่ยงตอนจบแบบหักมุม ไม่มีใครชอบเวลาที่อุตส่าห์อ่านเรื่องมาตั้งนานแต่ตอนจบกลายเป็นว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นแค่ความฝันหรือทั้งหมดนี้เล่าจากมุมมองของมนุษย์ต่างดาว โอ เฮนรีชอบเขียนตอนจบแบบนี้ แต่ตอนนี้มันดูเชยไปแล้ว
    • ใช้คำธรรมดา คุณอาจจะคิดว่าการใช้ภาษาหรูหราสละสลวยในเรื่องสั้นเป็นวิธีที่ดี ถ้าคุณเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตสังคมชั้นสูงในปราสาทแสนสวย การใช้ภาษาแบบนี้ก็อาจจะเหมาะ แต่สำหรับแนวคิดของเรื่องส่วนใหญ่แล้ว เขียนให้กระชับและใช้คำธรรมดาๆ จะดีที่สุด
    • อย่าบรรยายเรื่องในบทสนทนา คำบรรยายที่ไม่ใช่บทสนทนาควรบอกให้คนอ่านรู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง บทสนทนาควรมีไว้เพื่อบอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร สิ่งที่เขากำลังฝ่าฟัน และความสัมพันธ์ของเขา แต่อย่าใส่ "ข้อเท็จจริง" ของเรื่องไว้ในบทสนทนา เช่น ตัวละครไม่ควรจะพูดว่า "ส้มโอ ถึงเธอจะอายุ 20 แล้วก็ขึ้นปีสองที่จุฬาฯ แล้ว..." เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ตัวละครทั้งสองคนรู้อยู่แล้ว
    • แสดงการเดิมพันของเรื่องให้ชัดเจน คนอ่านควรจะตอบได้ว่า "การเดิมพันของเรื่องคืออะไร" ขณะที่กำลังอ่านและตอนที่อ่านจบแล้ว แต่ถ้าเขาอ่านจบเรื่องแล้วแล้วยังไม่รู้อีกว่าการเดิมพันที่อยู่ในเรื่องนี้คืออะไร ก็แสดงว่าเรื่องนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

แก้ไขเรื่องที่เขียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พักเรื่องเอาไว้ก่อนแม้จะแค่ 1 วันก็ตาม จากนั้นค่อยกลับมาอ่านด้วยมุมมองใหม่และอ่านในฐานะคนอ่าน ไม่ใช่ในฐานะคนเขียน ในฐานะคนอ่านประโยคไหนที่คุณรู้สึกว่าไม่จำเป็นหรืองง ข้อเท็จจริงไหนที่ต้องการรายละเอียดมากกว่าเดิม ประเด็นในพล็อตเรื่องประเด็นไหนที่มันชัดเจนเกินไปหรือซับซ้อนเกินไป การอ่านเรื่องที่เขียนด้วยมุมมองใหม่จะทำให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ ว่าจุดไหนที่ต้องปรับ
    • บางครั้งแค่ปรินต์เรื่องที่เคยไว้ในไฟล์ Word ออกมาก็ช่วยให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ แล้ว
    • ถ้าคุณอยากจะแก้ไขเนื้อเรื่องจริงๆ แต่ไม่รู้เลยว่าจะแก้ตรงไหนดี ให้ทิ้งงานเขียนไว้สัก 1 หรือ 2 เดือน แล้วคุณจะประหลาดใจว่าคุณได้ความกระจ่างมากแค่ไหนในช่วงเวลานี้
    • การทิ้งงานไว้สักพักเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็อย่าทิ้งไว้นานเกินไปจนคุณเลิกสนใจมันไปเลย
  2. ถ้าคุณพร้อมนำงานเขียนออกสู่สายตาโลกแล้ว คุณก็อาจจะให้เพื่อนสนิท เพื่อนนักเขียน ครูสอนภาษาไทย หรือแม้กระทั่งกลุ่มเพื่อนนักเขียนอ่านเรื่องของคุณ แต่อย่าขอความคิดเห็นก่อนที่เรื่องจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างสมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นคำวิจารณ์จะทำให้คุณฝ่อ การเข้าร่วมเวิร์กช็อปการเขียนกับคนที่ตั้งใจจะเขียนงานให้ออกมาดีเหมือนกันจะช่วยให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ ในงานเขียนของคุณ
    • คุณต้องพร้อมรับฟังคำติชมจริงๆ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าคุณคิดว่าเรื่องที่คุณคิดมันดีที่สุดในโลกแล้ว คุณจะได้ไม่ได้ยินคำติชมของคนอื่นจริงๆ
    • คุณต้องเลือกคนอ่านที่เหมาะกับงานเขียนของคุณ ถ้าคุณเขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์แต่กลับให้เพื่อนนักเขียนที่ไม่เคยอ่านเรื่องแนววิทยาศาสตร์จริงๆ มาก่อน คุณก็อาจจะไม่ได้คำติชมที่ดีที่สุด
  3. การแก้ไขงานเขียนทำได้หลายวิธี และทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้นฉบับแรกของเรื่องที่คุณเคยเป็นอย่างไรและต้องเก็บงานอีกแค่ไหน หลายๆ เรื่องต้องเขียนเป็นสิบๆ ฉบับหรือมากกว่ากว่าจะได้ฉบับสุดท้าย เพราะฉะนั้นอย่าท้อถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองจะต้องแก้ ทุกอย่าง ในเรื่อง ขณะแก้ไขงานเขียน สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงก็คือ
    • ความจำเป็นในการเปลี่ยนมุมมองบุคคล ตอนแรกคุณอาจจะคิดว่าเรื่องของคุณเหมาะจะเล่าจากมุมมองบุคคลที่ 1 มากที่สุด แต่พอมาอ่านอีกรอบคุณอาจจะเห็นว่าเรื่องน่าจะเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 3 ได้ดีกว่า
    • ตัดการบรรยายเยิ่นเย้อออกไป กฎกำปั้นทุบดินคือให้ตัดออกไป 250 คำ (สำหรับงานเขียนอย่างน้อย 10 หน้า) หลังจากที่คุณคิดว่าน่าจะใช้ได้แล้ว แล้วคุณจะแปลกใจว่าคุณเจอคำบรรยายเยิ่นเย้อเยอะแค่ไหน
    • ตัดสิ่งที่ทำให้สับสัน ถามตัวเองว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นคนเขียนเรื่องนี้เองคุณจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้หรือเปล่า แนวคิดของเรื่องอาจจะชัดเจนสำหรับคุณ แต่สำหรับคนอ่านแล้วเขาอาจจะงงเป็นไก่ตาแตกก็ได้
    • คุณต้องใส่อารมณ์ เสียง และอื่นๆ ลงไปในเรื่องด้วย เพราะความรู้สึกทำให้เรื่องมีชีวิต เรื่องที่ไม่มีความรู้สึกจะถือเป็นเรื่องได้อย่างไร จริงไหม
    • ค้นคว้าเพิ่มเติมถ้าจำเป็น ถ้าคุณเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ยุคอันธพาลครองเมืองแต่คิดว่าตัวเองไม่ได้รู้จักช่วงเวลานี้มากอย่างที่เคยเข้าใจ ก็ต้องกลับไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรู้มากพอที่จะเขียนเรื่องในยุคนี้ให้ดูสมจริง
    • สู้ต่อไป เวลาที่คุณรู้สึกแย่ ให้บอกตัวเองว่าไม่มีงานเขียนฉบับแรกเรื่องไหนที่ดีมากๆ แต่ถ้าคุณเขียนฉบับที่สอง สาม และสี่ เรื่องสั้นที่คุณเขียนก็มีโอกาสจะกลายเป็นเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • รู้ว่าตัวเองอยากให้ตัวละครหลักดูเป็นอย่างไร อย่าให้เด็กคงแก่เรียนหน้าห้องพูดอะไรเท่ๆ ออกมาถ้าคุณรู้ว่าเขา/เธอจะไม่พูดแบบนั้น รู้จักตัวละครเหมือนที่คุณรู้จักตัวเอง ลองคิดแบบตัวละครตัวนั้นดูสักวัน
  • คนทั่วไปไม่พูดเต็มประโยค แต่จะตอบคำเดียวมากกว่า เพราะฉะนั้นให้ใส่คำพูดขี้เกียจๆ อย่าง “อืม ใช่” เป็นต้น ลงไปบ้าง แต่ก็อย่าใส่มากเกินไป! บทสนทนาที่ดีไม่ใช่บทสนทนาที่คนพูดกันจริงๆ แต่เป็นคำพูดจริงๆ ที่ตัดส่วนที่น่าเบื่อทั้งหมดออก
  • มองหาวิธีใช้คำที่ดีขึ้น หาคำที่ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ เช่น ตัวละครไม่พอใจหรือกระวนกระวายกันแน่ ค้นคว้าและนึกถึงความหมายโดยนัยของคำ ลองเปิดพจนานุกรมเพื่อเทียบคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันเพื่อเรียนรู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรถึงจะสื่อสิ่งที่คุณต้องการพูดออกมาได้อย่างชัดเจน ได้ผล และเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของคุณเอง
  • เข้าอินเทอร์เน็ตแล้วหาความหมายของชื่อเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะกับตัวละคร ซึ่งเป็นวิธีที่ดีถ้าคุณคิดชื่อที่เหมาะกับตัวละครไม่ออก เช่น ถ้าในเรื่องมีตัวละครชายหนุ่มที่เป็นที่รักของคนมากมาย ให้มองหาชื่อที่มี "ความหมาย" ของคำว่า "รัก" แล้วคุณจะได้รายชื่อที่ตรงกับความหมายที่คุณต้องการ ชื่อกานต์แปลว่า "เป็นที่รัก" เพราะฉะนั้นตัวละครในเรื่องนี้ก็อาจจะชื่อกานต์ก็ได้
  • แก้ไข แก้ไข และแก้ไข ตรวจเครื่องหมายวรรคตอน การสะกด หลักภาษา และความหมายของประโยค แต่ก็อย่าละเลยประเด็นที่ใหญ่กว่า เช่น การกระทำและการโต้ตอบของตัวละครมันมีความเป็นไปได้จริงๆ ไหม พล็อตเรื่องของคุณใช้ทางลัดที่ทำให้เรื่องมันน่าเบื่อหรือตื้นเขินหรือเปล่า
  • ถ้าคุณซึมซับงานเขียนของคนอื่นได้ง่าย ก็อย่าอ่านมากเกินไป ให้อ่านเฉพาะหนังสือที่คุณคุ้นเคยและศึกษาว่าผู้เขียนสร้างตัวละคร พล็อตเรื่อง และเป้าหมายของเรื่องอย่างไรสักระยะ แต่ก็อย่าจำกัดตัวเองว่าคุณต้องเขียนงานประเภทไหนด้วยเช่นกัน
  • พัฒนาตัวละครไปเรื่อยๆ และจำไว้ว่าตัวละครไม่ได้อายุเท่าเดิมตลอดกาล เพราะฉะนั้นขณะที่เขาโตขึ้น อารมณ์และบุคลิกของเขาบางครั้งก็เปลี่ยนไปด้วย เขาอาจจะอารมณ์เสียหรือประหม่าได้ง่ายๆ สร้างช่วงอายุที่เหมาะสมกับตัวละครที่ตัวคุณเองเข้าถึงได้
  • ใช้ประสบการณ์ในชีวิตเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง
  • ใช้คำบรรยายที่บอกว่าใครพูดอะไรให้น้อย (เช่น “อันดากล่าว” หรือ “มดกระซิบ”) ทีนี้สงสัยใช่ไหมว่าแล้วคุณจะบอกอย่างไรว่าใครกำลังพูดอยู่ คุณสามารถทำได้โดยการสร้างน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวขึ้นมาและยึดบทสนทนาไว้ในฉาก คนเราเวลาพูดจะขยับตัวไปด้วยและมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรอบตัวในขณะที่พูด ใช้คำบอกใบ้จากบริบทเพื่อบอกว่าใครกำลังพูด ถ้าคุณต้องใช้คำว่า “พูด” จริงๆ ก็ใช้ไป (ก็ดีกว่าทำให้คนอ่านสับสน) แต่ถ้าคุณให้ภาพที่เกิดขึ้นในฉากนั้นๆ ได้จริงๆ คุณจะพบว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้เลย ใช้การออกเสียงที่ไม่ค่อยชัด สำเนียง น้ำเสียงแสดงอำนาจ น้ำเสียงแสดงความอ่อนน้อม หรือการพูดชัดเจนแบบห้วนๆ และบอกว่าใครเป็นคนพูดผ่านการเลือกใช้คำ ระวังการใช้ภาษาถิ่น ถ้าต้องใช้จริงๆ ให้ใช้เป็นบางจุด ถ้าคุณรู้จักตัวละครดี คุณจะรู้ดีว่าเขาพูดจาแบบไหน สื่อสิ่งที่เขาต้องการจะพูดอย่างไร และอะไรที่เขาจะไม่มีวันพูดออกมา
  • อย่าให้พล็อตเรื่องมันชวนสับสนจนเกินไป ถ้าหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันมากเกินไป ให้หยุดก่อน ไปพักสักเดี๋ยวให้สมองโล่ง การย้อนกลับไปอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นเป็นวิธีที่ดีเสมอเพราะมันทำให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ และช่วยให้คุณคิดออกว่าจะไปทางไหนต่อ
  • อย่าลอกบางอย่างมาจากหนังสือเล่มอื่น ถ้าคุณเขียนไม่ออก ให้มองหาแรงบันดาลใจ
  • ใช้ภาษาที่สื่อประสาทสัมผัส สิ่งนี้เป็นหัวใจของการดึงให้คนอ่านเข้ามาอยู่ในโลกของเรื่องที่คุณเล่า คุณต้องทำให้คนอ่าน "เห็น ได้กลิ่น และได้ยิน" สิ่งที่อยู่รอบตัว ใช้คำบรรยายให้เห็นภาพ หนังสือของคุณต้องไม่น่าเบื่อหรือทื่อ แต่คนอ่านจะต้องจินตนาการออกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่ใช่มาร์เซล พรุสต์คนต่อไปแล้วล่ะก็ ไม่ต้องบรรยายใบไม้ทุกใบที่อยู่บนต้นไม้ทุกต้น ไม่อย่างนั้นพล็อตเรื่องมันอืดอาดยืดยาดเกินไป
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าเขียนไปแก้ไปเพราะจะทำให้เขียนได้ช้า แต่ให้พักบ่อยๆ แล้วกลับมาแก้ไขตอนที่มีเวลาดีกว่า
  • ถ้าจะเขียนเรื่องให้น่าสนใจ อย่าลอกงานเขียนของคนอื่นเด็ดขาด การเขียนเรื่องที่ดีต้องใช้เวลาเสมอ เพราะฉะนั้นอดทนไว้!
  • อย่ายืดเยื้อเรื่องยาวจนเกินไป อย่าขยายประเด็นให้มากความ แค่ให้รายละเอียดพอประมาณเพื่อให้คนอ่านเข้าใจและสนใจก็พอ
  • การบรรยายฉากยาวๆ อาจ กลายเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องได้
  • คุณต้องเขียนให้ระดับความยาวของประโยคคละกัน
  • การใช้คำบรรยายที่ใกล้เคียงกับคนที่คุณรู้จักดีอย่างครอบครัวก็เป็นเรื่องที่นักเขียนเขาทำกันและง่ายดี แต่คุณต้องปกปิดตัวละครให้มากพอเพื่อไม่ให้ครอบครัวไม่พอใจ หรือไม่ก็เตรียมใจไว้เลยว่าพวกเขาอาจจะไม่ชอบขี้หน้าคุณไปสักพัก
  • อย่าใช้คำใหญ่และหรูหรามากเกินไป มันจะฟังดูเหมือนไม่ใช่มืออาชีพมาเขียนเหมือนคุณให้คอมพิวเตอร์เขียนงานให้ แต่ก็อย่าใช้คำธรรมดาๆ น่าเบื่อๆ มากเกินไปเช่นกัน
  • ภาวะเขียนไม่ออกเป็นเรื่องปกติมากๆ คุณจะ หงุดหงิด แต่อย่ายอมแพ้ พักสักครู่แล้วทำใจให้สบาย จำไว้ว่าแค่นั่งลงแล้วเขียน ยึดคำพูดนี้ไว้แล้วบอกตัวเองในหัว ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือนั่งแล้วเขียน!
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,746 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา