ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย คุณอาจจะวิตกกังวลเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณรู้สึกไม่ค่อยสบาย แม้ว่าโอกาสที่คุณจะติดเชื้อนั้นมีน้อยมากหากคุณไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ คุณสามารถเข้ารับการตรวจตามสิทธิ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [1] ถ้าคุณคิดว่าคุณอาจจะได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา ให้ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อสอบถามว่าคุณต้องเข้ารับการตรวจหรือไม่ และในระหว่างนี้ก็ให้อยู่บ้านเพื่อที่คุณจะได้ไม่เสี่ยงไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

สังเกตอาการเข้าข่ายที่ต้องเข้ารับการตรวจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีไข้ ซึ่งก็คือการที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าอุณหภูมิร่างกายตามปกติ อุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิร่างกายตามปกติของคุณก็อาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้เล็กน้อย ซึ่งวิธีที่แม่นยำที่สุดในการเช็กว่าคุณมีไข้หรือเปล่าก็คือการใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ แม้ว่าคุณจะสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก็ตาม เช่น เหงื่อแตก หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หรือภาวะขาดน้ำ [2]
    • ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่และอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 39 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า ให้ติดต่อแพทย์ทันที [3]
    • ติดต่อกุมารแพทย์หากเด็กทารกอายุไม่เกิน 3 เดือนมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า หรือเมื่อเด็กอายุ 6-24 เดือนมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
    • สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป หากมีไข้นานกว่า 3 วันหรือมีอาการรุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย ให้ติดต่อแพทย์
  2. อาการทั่วไปของไวรัสโคโรนาที่พบได้มากที่สุดคือไอและหายใจลำบาก ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ และอ่อนเพลีย แต่เนื่องจากว่าอาการเหล่านี้อาจจะมีที่มาจากสาเหตุอื่นๆ คุณจึงไม่ควรตื่นตระหนกเมื่อตัวเองมีอาการเหล่านี้ [4]

    รู้หรือไม่ ประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง คุณก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักมากขึ้น [5]

  3. ประเมินว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสูงหรือไม่. ปัจจุบันในประเทศไทยยังถือว่าคนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 น้อย ยกเว้นว่าเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจหากคุณมีอาการของโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจโรคอื่นแล้วมีผลเป็นลบ [6]
    • ในเดือนเมษายน 2563 พื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปข้อมูลก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ [7]
  4. ทบทวนดูว่าคุณอาจได้รับเชื้อจากโรคอื่นหรือไม่. แค่เพราะคุณป่วยไม่ได้หมายความว่าคุณติดเชื้อไวรัสโคโรนา ถ้าในพื้นที่ของคุณไม่มีผู้ติดเชื้อและคุณก็ไม่ได้เดินทางไปไหนในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปได้มากว่าอาการป่วยของคุณอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดมากกว่า [8]
    • เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานของคุณเพิ่งตรวจเจอว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นไปได้มากๆ ว่าคุณจะเป็นไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19
  5. โทรศัพท์ติดต่อไปที่โรงพยาบาลล่วงหน้าหากคุณคิดว่าคุณติดเชื้อโควิด-19. ถ้าคุณมีอาการของโรคทางเดินหายใจและมีไข้ พร้อมกับมีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าคุณอาจจะสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา ให้โทรศัพท์แจ้งทางโรงพยาบาลล่วงหน้าว่าคุณจะเข้าไปตรวจ การโทรศัพท์ไปแจ้งล่วงหน้าจะทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ตื่นตัวและเตรียมแผนรองรับเพื่อให้แน่ใจว่าคนอื่นจะไม่ติดเชื้อไปด้วย และพวกเขายังสามารถบอกคุณได้ด้วยว่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง [9]
    • คุณสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศไทย
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ตรวจหาเชื้อ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณเป็นผู้ป่วยเข้าข่าย คุณสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ทุกแห่งทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากคุณไม่เข้าข่ายผู้ที่มีความเสี่ยง คุณก็สามารถตรวจหาเชื้อได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย [10]
    • หากสงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนลงจากรถ
    • ตามปกติแล้วจะไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ยกเว้นว่าจะมีการแจ้งจากแพทย์

    เคล็ดลับ: โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีบริการตรวจหาเชื้อแบบไม่ต้องลงจากรถ เพราะฉะนั้นหากคุณมีความประสงค์ที่จะเข้ารับการตรวจ คุณก็อาจจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ของโรงพยาบาลก่อนเข้ารับการตรวจ และเมื่อถึงบริเวณที่ตรวจ คุณก็สามารถนั่งสบายๆ อยู่ในรถได้ขณะที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างที่โพรงจมูกและลำคอ

  2. การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาขั้นแรกคือการป้ายโพรงจมูก (nasopharyngeal) และลำคอ (oropharyngeal) ในระหว่างการตรวจพยายามอยู่นิ่งๆ ให้ได้มากที่สุดขณะที่เจ้าหน้าที่จิ้มเข้าไปในโพรงจมูกและลำคอเพื่อเก็บตัวอย่าง แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่ก็ไม่เจ็บเท่าไหร่ [11]
    • เจ้าหน้าที่จะต้องป้ายโพรงจมูกและลำคอ 5-10 วินาที ซึ่งอาจจะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อยได้
  3. ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเสมหะหากมีการร้องขอ. ถ้าคุณมีอาการไอรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็อาจจะขอตัวอย่างเสมหะ เพราะถ้าหากเชื้อลงปอดก็ต้องส่องกล้องเอาเสมหะในปอดออกมา ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงในเรื่องของเชื้อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน [12]
    • ในบางกรณีที่พบได้ยากมากๆ เช่น ถ้าคุณมีอาการของโรคทางเดินหายใจรุนแรง เจ้าหน้าที่อาจจะส่องกล้องเข้าไปในปอดเพื่อเก็บตัวอย่างเสมหะ แต่วิธีนี้มักไม่ค่อยใช้กับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย [13]
  4. หลังจากที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างไปแล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะส่งตัวอย่างไปที่ห้องปฏิบัติการในสังกัดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ห้องปฏิบัติการก็จะตรวจตัวอย่างที่ได้รับมา และคุณจะได้รับผลการตรวจทันทีที่ผลออกมา [14]
    • โรงพยาบาลอาจจะตรวจตัวอย่างเบื้องต้นก่อนเพื่อตัดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ออกไป ถ้าเขาตรวจพบว่าคุณเป็นโรคอื่น เขาก็อาจจะตัดไวรัสโคโรนาออกไปทันที แต่แนวทางนี้ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคมากขึ้น [15]
  5. ถ้าผลตรวจออกมาเป็นบวก ให้ปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์. ปัจจุบันยังไม่มียาหรือการรักษาไวรัสโคโรนาโดยตรง แต่แพทย์ก็อาจจะแนะนำวิธีการรักษาเพื่อลดอาการและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง เพราะฉะนั้นคุณต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด [16]
    • ถ้าคุณมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบากมาก คุณอาจจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใหญ่เพื่อเข้ารับการรักษาแบบใกล้ชิดยิ่งขึ้น
  6. ถ้าคุณติดเชื้อไวรัสโคโรนา คุณจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและแยกตัวจากผู้อื่น เมื่อไอหรือจามให้ใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกและนำไปทิ้งทันที [17]
    • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าบ่อยๆ และให้คนที่บ้านทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น
    • ถ้าคุณป่วย ให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น แต่ถ้าคุณแข็งแรงดี ก็อย่าพึ่งพาหน้ากากในการป้องกันตัวจากไวรัสเพียงอย่างเดียว

    คำเตือน: ถ้าคุณเข้าข่ายเป็นผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา อย่าเพิ่งเข้าใกล้สัตว์เลี้ยง เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเชื้อโรคสามารถแพร่จากคนสู่สัตว์ได้หรือไม่

    โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณคิดว่าคุณอาจจะป่วย ก่อนเข้ารับการตรวจให้อยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น
  • หากคุณสงสัยว่าคุณอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และหากคุณเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ คุณสามารถติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้รถพยาบาลไปรับที่บ้านได้
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 2,162 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา