ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บางคนก็เป็นคนเข้าสังคมเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่บางคนก็ต้องผ่านการฝึกฝนถึงจะเป็นคนเข้าสังคมกับคนอื่นได้ง่าย ถ้าคุณอยากเป็นคนเข้าสังคมเก่ง บทความนี้มีเทคนิคมากมายให้คุณเลือกนำไปใช้ การเป็นคน “เข้าสังคมเก่ง” นั้นเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะแสดงท่าทางต่อหน้าคนอื่น เริ่มต้นบทสนทนาก่อน และเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้น

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจจะเจอคนเดิมๆ ทุกวันแต่ไม่เคยทักทายเขาเลย การจะเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นสำคัญมากว่าคุณจะต้องเริ่มต้นจากการทักคนรอบตัวคุณให้บ่อยขึ้น ครั้งหน้าเวลาสั่งกาแฟหรือจ่ายเงินที่ร้านขายของชำ อย่าลืมยิ้มให้กับคนที่เขาช่วยเหลือคุณ สบตาเขาแล้วพูดว่า "ขอบคุณครับ/ค่ะ" แค่ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยให้คุณสบายใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้นแล้ว และมันก็อาจจะทำให้วันนั้นของเขาสดใสขึ้นอีกด้วยนะ [1]
    • แค่คำชมเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยได้มากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องของการให้บริการ คุณต้องนึกด้วยว่าพนักงานคิดเงินที่ร้านค้าหรือบาริสต้าเขาให้บริการคนหลายร้อยคนต่อวัน ลูกค้าหลายคนก็อาจจะเฉยชาหรือหยาบคายใส่ ลองพูดว่า "โอ้โห ขอบคุณนะคะที่เอามาให้เร็วเลย" เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณประทับใจในการทำงานของเขา
  2. ถ้าคุณกำลังอยู่ในงานสังคมเช่นงานปาร์ตี้ พยายามสบตากับคนอื่นๆ ในงาน พอคุณสบตากับเขาแล้วก็ให้ยิ้มอย่างเป็นมิตรให้เขา ถ้าเขามองคุณตอบ ก็ให้เดินไปหาเขาแล้วแนะนำตัวเอง ถ้าเขายิ้มตอบให้ นั่นก็เป็นสัญญาณที่ดีแล้ว
    • ถ้าเขาทำเฉยๆ ก็ปล่อยเขาไป การเป็นคน "เข้าสังคมเก่ง" กับการเป็น "จอมตื้อ" นั้นไม่เหมือนกัน คุณคงไม่อยากบังคับใจใครให้มาคุยกับคุณหรอกใช่ไหม
    • จำไว้ว่า การเข้าหาคนอื่นแบบนี้ใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ที่ผู้คนไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะมีคนเข้ามาทำความรู้จัก เช่น ขณะกำลังโดยสารในระบบขนส่งมวลชน การเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นส่วนหนึ่งคือต้องรู้ว่าที่ไหนและเมื่อไหร่เราถึงจะเข้าหาคนอื่นได้ และเมื่อไหร่ที่เราต้องอยู่กับตัวเอง
  3. ถึงคุณจะไม่หล่อขั้นเทพ แต่คุณก็เป็นคนเข้าสังคมเก่งและอัธยาศัยดีได้เช่นกัน บางทีคุณอาจจะลองแนะนำตัวเองด้วยการบอกว่าผมเพิ่งย้ายมาอยู่แถวนี้ หรือกล่าวชมผู้อื่น
    • มองหา “คนขี้อาย” เหมือนกัน การก้าวข้ามจากการเป็นคน “ขี้อาย” ไปเป็น “หนุ่มสาวสังคมหน้าใหม่” อาจสร้างความอึดอัดใจให้คุณไม่น้อย ถ้าคุณอยู่ในงานสังคม ให้ลองมองหาคนที่ท่าทางเป็นคนขี้อายหรือไม่กล้าเข้ามาคุยกับใครก่อนเหมือนกัน เพราะเป็นไปได้มากว่าพวกเขาก็อาจจะเคอะเขินเหมือนกันกับคุณ และพวกเขาอาจจะดีใจมากที่คุณเข้าไปหาพวกเขาก่อนแล้วพูดว่า “สวัสดีค่ะ/ครับ”
    • อัธยาศัยดีได้ แต่อย่าตื้อ ถ้าคุณแนะนำตัวเองพร้อมกับถามคำถามไปข้อสองข้อแล้วเขามีท่าทีไม่สนใจ ก็ให้เปลี่ยนไปหาคนอื่น
  4. วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณเข้าสังคมเก่งขึ้นเวลาสนทนากันก็คือ การถามคำถามปลายเปิด คำถามเหล่านี้คือคำถามที่เชิญชวนให้อีกฝ่ายตอบมากกว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” การเชิญชวนให้อีกฝ่ายเล่าเรื่องของตัวเองจะช่วยให้คุณเริ่มบทสนทนากับที่คุณไม่รู้จักได้ง่ายขึ้น [2] ถ้าคุณสบตาและยิ้มให้เขาแล้ว ก็เท่ากับว่าคุณเริ่มเข้าใกล้การเริ่มบทสนทนาเข้าไปทุกที ตัวอย่างการถามคำถามปลายเปิดก็เช่น:
    • คุณว่าหนังสือเล่มนั้น/นิตยสารฉบับนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ/ครับ
    • เวลามาแถวนี้คุณชอบทำอะไรคะ/ครับ
    • คุณไปได้เสื้อยืดเก๋ๆ แบบนี้จากที่ไหน
  5. ถ้าคุณสนใจใครสักคน คุณก็ต้องสังเกตเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในตัวเขาที่คุณชอบหรือซาบซึ้ง คุณสามารถกล่าวชมเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ตัวได้ แต่ต้องเป็นคำชมที่ออกมาจากใจ เพราะคนเรารู้ได้ว่าคำชมไหนจริงใจไม่จริงใจ ตัวอย่างคำชมก็เช่น:
    • ฉันเคยอ่านหนังสือเล่มนั้น มันดีมากเลยนะ!
    • ฉันชอบรองเท้าคู่นั้นจัง มันเข้ากับกระโปรงตัวนั้นมากๆ
    • นั่นมันเฮเซลนัทลาเต้ใช่ไหม ดีเลย เช้าวันจันทร์ทีไรฉันก็ต้องสั่งเมนูนี้เหมือนกัน
  6. บทสนทนาแรกๆ ระหว่างคนสองคนก็คือการหาว่า ทั้งคู่มีอะไรเหมือนกันบ้าง และในการที่จะหาว่าคุณทั้งคู่จะคุยเรื่องอะไรกันได้บ้างนั้น คุณก็อาจจะต้องสำรวจหาสิ่งที่คุณทั้งคู่มีเหมือนกัน ถ้าคุณทำงานด้วยกัน มีเพื่อนร่วมกัน หรือมีอะไร ก็แล้วแต่ ที่เชื่อมคุณสองคนเข้าด้วยกัน นั่นก็จะทำให้การสนทนาลื่นไหลได้มากขึ้นเล็กน้อย การพูดคุยเกี่ยวกับงาน เพื่อนที่คุณมีร่วมกัน หรือความสนใจร่วมกันเป็นการเปิดบทสนทนาที่จะพาคุณไปสู่หัวข้ออื่นๆ ต่อไป
    • ในกรณีที่เป็นคนแปลกหน้า คุณก็สามารถใช้สถานการณ์มาช่วยหาเรื่องคุยได้ เช่น ถ้าคุณอยู่ในร้านหนังสือ คุณอาจจะถามเขาว่ามีหนังสือเล่มโปรดเล่มไหนแนะนำไหม ถ้าคุณติดแหง็กอยู่ในแถวยาวเฟื้อย คุณก็อาจจะเล่นมุกตลกขำๆ ไป
    • ระวังอย่าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ฟังดูเหมือนเป็นการตัดสินกลายๆ เช่น คุณอาจจะบอกว่าคุณชอบผมทรงใหม่ของเขาแล้วถามว่า เขา/เธอไปตัดผมที่ไหนมา หรือคุณอาจจะบอกว่าคุณกำลังหารองเท้าผ้าใบแบบเดียวกันเป๊ะกับที่อีกฝ่ายกำลังใส่และถามเขา/เธอว่าซื้อที่ไหนมา แต่ระหว่างนั้นอย่าพูดเรื่องที่อาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เช่น ความคิดเห็นเรื่องหุ่น สีผิว หรือเสน่ห์ทางเรือนร่างของอีกฝ่าย
  7. ถ้านาย ก ไม่มีความสนใจเรื่องเทอร์โมไดนามิกส์เลย และนาย ข ก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกาแฟอิตาเลียนเลย บทสนทนาก็จะไม่ไปไหน ใครคนใดคนหนึ่งต้องเปลี่ยนบทสนทนาให้เข้ากับอีกฝ่าย คุณต้องกล้าที่จะเป็นคนๆ นั้นและเปลี่ยนเรื่องสนทนา
    • เวลาที่คุณกำลังชวนคุย พยายามสังเกตว่าอีกฝ่ายกระตือรือร้นเวลาพูดถึงเรื่องอะไร คุณจะได้ยิน และ ได้เห็นเวลาที่อีกฝ่ายกระตือรือร้น พวกเขาจะแสดงสีหน้ามากขึ้น (รวมทั้งน้ำเสียง) และคุณก็อาจจะเห็นการเคลื่อนไหวของร่างกายพวกเขาด้วย
  8. ถ้าคุณทำงาน ก็เท่ากับว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุณมีโอกาสที่จะได้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่แล้วถ้าคุณพยายามสักหน่อย หาที่ที่คนเขาชอบไปจับกลุ่มกัน เช่น ห้องพักหรือมุมพักผ่อนของพนักงาน
    • ตู้กดน้ำไม่ใช่สถานที่ที่คุณจะไปถกกันในเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนอย่างศาสนาหรือการเมือง ลองเริ่มบทสนทนากับคนอื่นด้วยการคุยเรื่องวัฒนธรรมกระแสนิยมหรือกีฬาแทน จริงอยู่ที่หลายคนมักจะมีความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้อย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกัน แต่มันก็ปลอดภัยพอที่จะทำให้บทสนทนาดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
    • การเป็นคนเข้าสังคมเก่งในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยิ่งคุณเข้ากับคนอื่นได้ง่ายมากเท่าไหร่ คนอื่นก็จะยิ่งมองว่าคุณเป็นคนอัธยาศัยดีและมองคุณในแง่บวกมากขึ้นเท่านั้น [3] นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์และการพูดคุยกับคนอื่นในที่ทำงานยังช่วยให้คุณได้รับความสนใจในที่ทำงานอย่างที่คุณควรได้รับด้วย
  9. ทำให้อีกฝ่ายอยากคุยกับคุณต่อ วิธีที่จะจบสนทนาแบบที่อีกฝ่ายอยากคุยกับคุณต่อก็คือ การเปิดประตูไว้สำหรับการคุยกันในอนาคต ค่อยๆ จบบทสนทนาอย่างนิ่มนวลเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ไม่รู้สึกว่าคุณทิ้งเขาไป [4]
    • เช่น ถ้าคุณกำลังคุยกันเรื่องน้องหมา ลองถามว่ามีสวนสาธารณะดีๆ ในละแวกนี้ที่พาน้องหมาเข้าได้บ้างไหม ถ้าอีกฝ่ายตอบอย่างกระตือรือร้น คุณก็อาจจะชวนเขาพาน้องหมาไปที่สวนสาธารณะด้วยกันก็ได้: “คุณว่าควรพาน้องหมาไปเดินเล่นที่สนามราชมังคลาฯเหรอคะ ดิฉันไม่เคยไปเลยค่ะ เสาร์หน้าไปด้วยกันไหมคะ” การชวนแบบเจาะจงนั้นได้ผลมากกว่าแค่พูดว่า “ไว้มีโอกาสเราไปด้วยกันนะคะ” เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้แค่พูดไปตามมารยาทเท่านั้น
    • พอบทสนทนาใกล้จะจบ ให้คุณจบบทสนทนาด้วยการย้อนกลับไปพูดถึงประเด็นหลักที่คุณคุยกัน วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณตั้งใจฟังเขาอยู่ตลอด เช่น: “วิ่งมาราธอนวันอาทิตย์นี้ให้สนุกนะ! แล้วสัปดาห์หน้ามาเล่าให้ฟังบ้างว่าเป็นยังไง”
    • จบบทสนทนาด้วยการบอกว่า คุณรู้สึกดีที่ได้คุยกัน การพูดว่า “คุยกับคุณนี่สนุกดีนะคะ” หรือ “ดีจังเลยค่ะที่ได้พบคุณ” จะช่วยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกมีคุณค่า
  10. หลังจากที่คุณเริ่มรู้สึกสบายใจกับการคุยกับคนรู้จักขึ้นมานิดหน่อย ลองคุยกับคนที่คุณไม่รู้จักระหว่างวันดู แรกๆ คุณอาจจะอึดอัดที่ต้องเข้าไปคุยกับคนที่คุณไม่รู้จักและคนที่ปกติคุณไม่ค่อยได้เข้าหา แต่ยิ่งคุณเข้าหาผู้คนและสบายใจที่ได้คุยกับคนอื่นมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งง่ายขึ้นมากเท่านั้น
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ออกไปค้นหา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นเป็นเป้าหมายที่ยากกว่าจะเอื้อมถึงเพราะมันประกอบด้วยพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่าง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรแบ่งเป้าหมายใหญ่นี้ออกเป็นเป้าหมายเล็กๆ แทนที่จะบอกตัวเองว่า เราต้องเป็นคนเข้าสังคมเก่งให้ได้นะ ลองเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายเล็กๆ อย่างเช่นคุยกับคนแปลกหน้าอย่างน้อย 1 คนต่อวันหรือยิ้มให้คนอื่นทุกวัน วันละ 5 คน [5]
    • พยายามชวนคนอื่นคุยเล็กน้อย (หรือถ้ายากเกินไปก็แค่ยิ้มให้ก็พอ) จะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักก็ได้ทุกวันวันละ 1 คน พูด "สวัสดี" ทักทายคนที่เดินผ่านไปมาบนถนนหรือถามชื่อพนักงานร้านกาแฟ ชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้คุณมีกำลังใจมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้คุณรู้สึกพร้อมที่จะไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายกว่าเดิม
  2. ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะเข้าหาคนอื่นอย่างไรในงานสังคม ลองเข้าร่วมชมรมที่มีความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่มีความสนใจร่วมกันกับคุณในระดับที่เล็กลงหน่อย [6]
    • มองหาชมรมที่สนับสนุนให้คุณได้คบหาสมาคมกับคนอื่น เช่น ชมรมหนังสือหรือชั้นเรียนทำอาหารที่คุณสามารถถามคำถามและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้ โดยที่จุดสนใจไม่ได้อยู่ที่คุณคนเดียว สถานการณ์ในลักษณะนี้เอื้อต่อคนขี้อายมาก
    • การมีประสบการณ์ร่วมกันเป็นเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์ที่ทรงพลังมาก การเข้าร่วมชมรมที่คุณได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นจะทำให้การสร้างความสัมพันธ์เป็นต่อมากขึ้น เพราะคุณมีพื้นฐานประสบการณ์ร่วมกันแล้ว [7]
  3. คุณสามารถเป็นคนเข้าสังคมเก่งได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ด้วยการเชิญคนอื่นมาค้างคืนดูหนังที่บ้านหรือจัดงานปาร์ตี้อาหารค่ำ ถ้าคุณต้อนรับพวกเขาและเชิญพวกเขามา พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณเห็นคุณค่าของพวกเขา (และพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะสนุกสนานมากขึ้นด้วย)
    • ลองจัดงานที่ให้คนในงานได้มีส่วนร่วมในการสนทนา คุณอาจจะจัดงานเลี้ยงชิมไวน์ที่ให้คนเอาไวน์มาในงาน แล้วทุกคนต้องจิบไวน์พร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือคุณอาจจะจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทุกคนนำอาหารจานโปรดฝีมือคุณย่า/คุณยายมาในงาน (พร้อมสูตรอาหาร) มาด้วย การหาเรื่องให้คนในงานได้พูดคุยกันจะทำให้งานเลี้ยงมีชีวิตชีวาและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น (และถ้าให้พูดกันจริงๆ ก็คือ ไม่ว่าใครก็ชอบอาหารกับไวน์กันทั้งนั้น)
  4. งานอดิเรกช่วยทำให้คุณรู้สึกว่าคุณควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ และก็อาจจะช่วยให้คุณเข้าสังคมเก่งขึ้น [8] ถ้าคุณมีงานอดิเรกที่คุณทำได้ดี คุณก็อาจจะภูมิใจและมั่นใจด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคมให้คุณมากยิ่งขึ้น [9]
    • งานอดิเรกยังช่วยให้คุณมีหัวข้อไว้พูดคุยกับคนรู้จักคนใหม่ๆ และยังเป็นหนทางที่ทำให้คุณได้พบปะคนใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ งานอดิเรกยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน เช่นลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
  5. การแต่งตัวมีผลต่อความรู้สึกที่คุณมีต่อตนเอง การแต่งตัวในแบบที่แสดงถึงบุคลิกภาพและคุณค่าของคุณจะทำให้คุณมั่นใจ ซึ่งจะทำให้คุณเข้าสังคมเก่งมากขึ้นด้วย
    • ถ้าคุณรู้สึกประหม่าเล็กน้อยเวลาเข้าสังคม ให้ใส่อะไรก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกมีพลังและมีเสน่ห์ วิธีนี้จะช่วยให้คุณพกพาความมั่นใจเวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น [10]
    • เสื้อผ้าก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่ดี การใส่เนคไทลวดลายเก๋ไก๋หรือกำไลข้อมือสะดุดตาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนอื่นเข้ามาทำความรู้จักกับคุณ นอกจากนี้คุณยังสามารถกล่าวชมสิ่งที่คนอื่นสวมใส่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความรู้จักกันได้อีกด้วย
    • ระวังอย่าเผลอแสดงความคิดเห็นที่เป็นการตัดสินเข้าไปในคำชม เช่น "ใส่ชุดนั้นแล้วคุณดูผอมจัง!" เพราะการแสดงความคิดเห็นแบบนั้นเป็นการเน้นไปที่มาตรฐานความงามตามสังคมมากกว่าจะเน้นไปที่ตัวบุคคลที่คุณกำลังคุยด้วย คุณควรเปลี่ยนมาแสดงความคิดเห็นในแง่บวกที่ไม่มีการตัดสินเจือปน เช่น "ผมชอบลายเนคไทเส้นนี้จัง งานประณีตมากเลย" หรือ "ฉันตามหารองเท้าแบบเดียวกันกับคู่นั้นมาตั้งนานแน่ะค่ะ คุณไปได้มาจากที่ไหนคะ"
  6. คุณต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนที่คุณมี และ ผู้คนที่คุณพบเจอ เพราะนอกจากจะทำให้คุณเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้นแล้ว คุณยังจะเติบโตและได้สั่งสมประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะได้แบ่งปันกับกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนี้ด้วย
    • เพื่อนเก่าคือแหล่งฝึกฝนเทคนิคชั้นดี พวกเขาอาจจะแนะนำให้คุณรู้จักผู้คนใหม่ๆ หรือพาคุณไปในสถานที่ที่คุณไม่มีทางจะไปคนเดียว อย่าละเลยเพื่อนเก่าเชียวละ! พวกเขาอาจจะกำลังพยายามเป็นคนเข้าสังคมเก่งเหมือนกันกับคุณก็ได้
  7. ส่วนหนึ่งของการเป็นคนเข้าสังคมเก่งก็คือการช่วยให้คนอื่นรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น พอคุณเริ่มผ่อนคลายเวลาแนะนำตัวเองแล้ว ก็ให้แผ่ขยายความสบายใจนั้นไปยังคนอื่นด้วย ด้วยการแนะนำคนสองคนให้รู้จักกัน [11]
    • การแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันช่วยลดความกระอักกระอ่วนเวลาเข้าสังคม ลองคิดดูว่าคุณรู้จักคนสองคนนี้ในแง่มุมไหนบ้าง พวกเขามีอะไรเหมือนกัน เช่น ถ้าคุณกำลังคุยกับหญิงที่มาจากร้านขายเส้นไหมพรม ก็ใช้เวลาสักครู่เรียกอีกคนหนึ่ง "เฮ้ย สันต์! นี่หญิง เรากำลังคุยกันเรื่องผ้าคาดแบบใหม่ที่เราเจอที่โรงงานเมื่อคนนี้พอดี นายคิดว่ายังไงบ้าง"
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

ใช้ร่างกายสื่อสาร

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด เช่นภาษากายและการสบตา สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับตัวคุณได้เท่ากับการใช้คำพูด วิธีที่คุณจัดวางท่าทางของร่างกายบ่งบอกบางอย่างเกี่ยวกับตัวคุณให้อีกฝ่ายได้รับรู้ [12] คนเราตัดสินคนอื่นว่าเป็นคนมีเสน่ห์ น่าคบหา มีความสามารถ ไว้ใจได้ หรือก้าวร้าวภายในเสี้ยววินาที เพราะฉะนั้นคุณอาจมีเวลาแค่ 1 ส่วน 10 ของวินาทีที่จะสร้างความประทับใจแรกพบได้ [13]
    • เช่น ถ้าคุณทำตัวเองให้ดู “เล็กลง” ด้วยการนั่งไขว่ห้าง หลังค่อม กอดอก เป็นต้น ท่าทางของคุณจะสื่อความว่าคุณรู้สึกอึดอัดในสถานการณ์นี้ ภาษากายจะสื่อความให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
    • ในทางกลับกัน คุณสามารถสื่อถึงความมั่นใจและอำนาจได้ด้วยท่าทางผึ่งผาย คุณไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากหรือกินที่คนอื่น แต่คุณต้องสร้างพื้นที่ให้ตัวเอง เวลายืนหรือนั่งเท้าของคุณจะต้องวางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง เวลายืนต้องอกผายไหล่ผึ่ง อย่าลุกลี้ลุกลน ชี้นิ้ว หรือโคลงตัวไปมา [14]
    • นอกจากนี้ภาษากายยังมีผลต่อความรู้สึกที่คุณมีต่อตนเองด้วย คนที่ใช้ภาษากายในโหมด “พลังงานต่ำ” เช่น การทำให้ตัวเองเล็กลงหรือการปิดกั้นร่างกายตัวเองด้วยการนั่งไขว่ห้างหรือกอดอกนั้นแท้จริงแล้วกำลังประสบกับภาวะการเพิ่มขึ้นของ คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียดที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกไม่มั่นคง [15]
  2. คุณสามารถเป็นคนเข้าสังคมเก่งได้ด้วยการสบตากับคนอื่น เช่น ถ้าคุณมองไปยังคนคนหนึ่งโดยตรง โดยทั่วไปอีกฝ่ายจะตีความว่านี่คือการเชิญชวน และการที่อีกฝ่ายจ้องคุณตอบก็คือการตอบรับคำเชิญนั่นเอง [16]
    • คนที่สบตากับคนอื่นขณะพูดมักถูกมองว่าเป็นคนอัธยาศัยดี เปิดเผย และเชื่อถือได้ คนที่ชอบเข้าสังคมและคนที่มั่นใจเวลาเข้าสังคมจะสบตาคนที่พูดด้วยหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยกว่าและนานกว่า
    • การสบสายตาช่วยสร้างความรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองคน แม้ว่าดวงตาคู่นั้นจะปรากฏอยู่ในภาพถ่ายหรือภาพสเก็ตช์ก็ตาม [17]
    • ขณะที่คุณกำลังพูด ตั้งเป้าสบตาอีกฝ่ายให้ได้ 50% ของระยะเวลาที่คุยกัน และถ้าคุณกำลังฟัง พยายามสบตาอีกฝ่ายให้ได้ 70% จากระยะเวลาทั้งหมด สบตาค้างไว้ประมาณ 4-5 วินาทีก่อนจะเริ่มสบตาใหม่อีกครั้ง [18]
  3. นอกจากท่าทางการยืนและการนั่งเวลาที่คุณอยู่ตามลำพังแล้ว คุณยังสามารถใช้ภาษากายสื่อสารขณะกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ด้วย ภาษากาย “แบบเปิด” สื่อความว่าคนอื่นสามารถเข้าไปคุยกับคุณได้และคุณก็มีความสนใจในตัวอีกฝ่ายด้วย [19]
    • ภาษากายแบบเปิดคือการไม่นั่งไขว่ห้างและกอดอก คุณต้องยิ้มแย้ม มองไปด้านบนและรอบๆ ห้อง [20]
    • พอคุณได้เริ่มพูดคุยกับใครแล้ว ให้สื่อความสนใจในตัวอีกฝ่าย เช่น การเอนตัวและศีรษะเข้าหาอีกฝ่ายเวลาที่อีกฝ่ายกำลังพูดคือวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายรู้ว่า ใจของคุณจดจ่ออยู่ที่การสนทนาและคุณก็สนใจในความคิดของอีกฝ่ายด้วย
    • สัญญาณทางภาษากายหลายอย่างใช้ในการสื่อความประทับใจแบบหนุ่มสาว แต่ก็สามารถสื่อถึงความสนใจที่ไม่ใช่แบบหนุ่มสาวได้ด้วยเช่นกัน [21]
  4. ขณะที่คุณกำลังฟังอีกฝ่ายพูด แสดงให้เขาเห็นว่าใจของคุณจดจ่ออยู่ที่การสนทนา สนใจว่าเขากำลังพูดเรื่องอะไร สบตาพวกเขาขณะที่พวกเขาพูด การพยักหน้าและตอบรับสั้นๆ เช่น “อ๋อ” หรือ “ใช่ๆ” และการยิ้มล้วนเป็นวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณกำลังฟังบทสนทนาอยู่ [22]
    • อย่ามองข้ามหัวคู่สนทนาหรือมองไปมุมอื่นของห้องเกิน 2-3 วินาที เพราะเป็นการแสดงออกว่าคุณเบื่อหรือไม่ได้สนใจฟัง
    • พูดย้ำใจความสำคัญ หรือใส่ใจความสำคัญเข้าไปเวลาที่คุณแสดงความคิดเห็นตอบกลับ เช่น ถ้าคุณกำลังคุยกับคนที่คุณเพิ่งรู้จักในบาร์ และเธอกำลังเล่าเรื่องการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมที่ทำเลียนแบบตัวแมลงที่เป็นงานอดิเรกของเธอให้คุณฟัง เวลาที่คุณแสดงความคิดเห็นตอบกลับ ก็ให้คุณใส่ไปด้วยว่า: “โอ้โห ฉันไม่เคยใช้เหยื่อปลอมที่ทำเลียนแบบตัวแมลงตกปลาเลยค่ะ แต่พอคุณเล่ามาฉันก็ว่ามันน่าสนุกดีนะ” วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณสนใจฟังจริงๆ ไม่ได้ทบทวนรายการของที่ต้องซื้อหรือคิดอย่างอื่นอยู่ในใจ
    • ให้อีกฝ่ายพูดให้จบก่อนแล้วค่อยพูดตอบ
    • ขณะที่ฟัง อย่าเตรียมว่าจะพูดว่าอะไรทันทีที่อีกฝ่ายพูดจบ ให้สนใจไปที่สิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด
  5. คนเราแยกออกว่ารอยยิ้มไหน “จริง” และรอยยิ้มไหนปลอม [23] รอยยิ้มที่แท้จริงจะกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบปาก และ รอบดวงตา รอยยิ้มแบบนี้เรียกว่า “ยิ้มจริงใจ” [24]
    • ยิ้มจริงใจสามารถลดความเครียดและสร้างความรู้สึกเป็นสุขให้แก่ผู้ที่ยิ้มได้ [25]
    • ลองฝึกยิ้มจริงใจ จินตนาการว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่คุณอยากจะแสดงอารมณ์ด้านบวกอย่างความปีติยินดีหรือความรัก ฝึกยิ้มเพื่อสื่อสารอารมณ์เหล่านั้นหน้ากระจก เช็คดูว่าหางตาของคุณมีรอยย่นไหม เพราะรอยยิ้ม “ที่แท้จริง” จะขาดรอยย่นที่หางตาไม่ได้ [26]
  6. คุณมีขอบเขต “ความวิตกกังวลในระดับพอดี” หรือ “ความอึดอัดใจเสริมแรง” ติดตัวมาอยู่แล้ว ซึ่งเป็น แค่ ส่วนที่อยู่ภายนอกพื้นที่ปลอดภัยตามปกติของคุณ เวลาที่คุณอยู่ในขอบเขตนี้ คุณจะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะคุณเต็มใจที่จะเสี่ยง แต่คุณก็ยังไม่ได้อยู่ไกลจาก “พื้นที่ปลอดภัย” มากนักจนถึงขั้นที่ความวิตกกังวลกัดกินใจคุณ [27]
    • เช่น เวลาที่คุณเริ่มงานใหม่ ไปเดตครั้งแรก หรือไปเรียนโรงเรียนใหม่วันแรก คุณอาจจะพยายามมากขึ้นในตอนแรกเพราะสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้ามันใหม่สำหรับคุณ ความตั้งใจและความพยายามที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ของคุณ [28]
    • ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ที่จริงแล้วการกดดันตัวเองให้ไปไกลมากเกินไปหรือไปเร็วเกินไปจะทำลายความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ของคุณ เพราะความวิตกกังวลจะก้าวข้ามผ่านจากระดับที่ “พอดี” ไปสู่ “โหมดสติแตก” ในช่วงแรกค่อยๆ ก้าวเดินออกไปจากพื้นที่ปลอดภัยทีละเล็กทีละน้อย พอคุณเริ่มสบายใจกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเป้าหมายที่จะเป็นคนเข้าสังคมเก่งมากขึ้นแล้ว คุณค่อยพาตัวเองไปสู่จุดหมายที่ใหญ่กว่า [29]
  7. ทำให้ "ความล้มเหลว" เป็นประสบการณ์การเรียนรู้. สิ่งที่มาพร้อมกับความเสี่ยงก็คือ ความเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงที่ว่านั้นอาจจะไม่ได้ผลสำหรับคุณอย่างที่คุณหวังเอาไว้ และมันก็มีโอกาสมากที่คุณจะมองสถานการณ์เหล่านี้ว่าเป็น "ความล้มเหลว" ปัญหาของวิธีคิดแบบนี้ก็คือมันเป็นความคิดแบบเหมารวม เพราะแม้แต่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะส่งผลเลวร้ายที่สุดก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่คุณได้เรียนรู้จากมันเพื่อนำไปปรับใช้ในครั้งต่อไป [30] [31]
    • ลองพิจารณาดูว่าคุณนำตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์นั้นได้อย่างไร คุณวางแผนว่าจะได้อะไร มีอะไรที่คุณไม่ได้วางแผนว่าจะได้รับหรือเปล่า เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนี้ คุณคิดว่าคุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันในครั้งต่อไป
    • คุณทำอะไรเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เช่น ถ้าเป้าหมายของคุณคือการได้ "เข้าสังคมมากขึ้น" ลองนึกว่าคุณทำอะไรบ้าง คุณได้ไปที่ที่มีคนรู้จักแค่ 2-3 คนไหม คุณเอาเพื่อนไปด้วยหรือเปล่า คุณได้ออกไปหาสถานที่ที่คุณอาจจะเจอคนที่มีความสนใจร่วมกันกับคุณหรือไม่ คุณคาดหวังว่าจะได้เป็นหนุ่มสาวสังคมหน้าใหม่ในทันที หรือว่าแรกๆ คุณตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่คุณพอทำได้ก่อน ใช้ความรู้ที่คุณมีอยู่ตอนนี้เตรียมความพร้อมเพื่อนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จในครั้งถัดไป
    • มุ่งหน้าไปยังสิ่งที่คุณ สามารถ ควบคุมได้ การประสบกับความล้มเหลวอาจทำให้คุณรู้สึกหมดเรี่ยวแรง ราวกับว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรคุณก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะอยู่เหนือการควบคุมของคุณจริงๆ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่คุณสามารถควบคุมได้ ลองคิดว่าสิ่งที่คุณทำนั้นมีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และลองคิดดูว่าคุณจะสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อได้เปรียบได้อย่างไรในครั้งถัดไป
    • คุณอาจจะผูกติดคุณค่าของตนเองเข้ากับความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ โดยตรง เรียนรู้ที่จะมุ่งความสนใจไปที่ความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ (ซึ่งคุณอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเวลา) ฝึกมีเมตตาต่อตัวเองในวันที่คุณสะดุดล้ม เทคนิคเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าเดิมในครั้งถัดไป [32]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

คิดบวก คิดอย่างมีประสิทธิภาพ และคิดอย่างมั่นใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่คุณกำลังพยายามทำอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตนของคุณจริงๆ คุณอาจจะได้ยินเสียงเล็กๆ ในหัวพูดกับคุณว่า “เธอไม่อยากเป็นเพื่อนกับฉันหรอก ฉันไม่มีอะไรจะพูดด้วยซ้ำ ฉันพูดอะไรไปก็ฟังดูโง่ทั้งนั้นแหละ” ความคิดเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกลัว ไม่ใช่ความจริง ท้าทายความคิดเหล่านี้ด้วยการเตือนตัวเองว่า คุณเองก็มีความคิดและไอเดียที่คนอื่นอยากจะได้ยินเหมือนกัน [33]
    • เวลาที่เสียงในหัวเหล่านี้แวบขึ้นมา ให้ลองหาดูว่าคุณมีหลักฐานอะไรมายืนยัน “บทพูด” เหล่านี้หรือเปล่า เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานเดินผ่านโต๊ะคุณแล้วไม่ทักไม่ทายสักคำ คุณก็อาจจะคิดไปเองโดยอัตโนมัติว่า “ว่าแล้ว เธอโกรธฉันจริงๆ ด้วย สงสัยจังว่าฉันไปทำอะไรให้ แต่ก็รู้อยู่แล้วแหละว่าเธอไม่อยากเป็นเพื่อนกับฉันหรอก”
    • ท้าทายความคิดนั้นด้วยการหาหลักฐานมายืนยันเสียงในหัว และคุณเองก็อาจจะไม่เจอหลักฐานมากนัก ถามตัวเองว่า: คนคนนั้นเขาเคยบอกให้คุณรู้ตัวเวลาที่เขาโกรธคุณหรือเปล่า ถ้าเคย ครั้งนี้ถ้าเขาโกรธคุณเขาก็น่าจะบอกคุณด้วยเหมือนกัน คุณได้ทำอะไรที่อาจจะทำให้เขาไม่พอใจคุณจริงๆ หรือเปล่า เป็นไปได้ไหมว่าเขาอาจจะเพิ่งผ่านวันแย่ๆ มา
    • คุณอาจจะเป็นคนขี้อายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณคิดไปเองว่า คนอื่นจะต้องมองว่าความผิดพลาดของคุณเป็นเรื่องใหญ่มากแน่ๆ จำไว้ว่า ตราบใดที่คุณเปิดเผย ซื่อสัตย์ และอัธยาศัยดี คนส่วนใหญ่ไม่มีทางที่จะปฏิเสธคุณเพียงเพราะว่าคุณทำผิดพลาดเป็นครั้งคราวแน่นอน การซ้ำเติมตัวเองหลังจากทำผิดพลาดอาจหมายความว่า ความวิตกกังวลคือสิ่งที่คอยปิดกั้นไม่ให้คุณได้เรียนรู้และเติบโต [34]
  2. การเป็นคนขี้อายและการไม่ชอบเข้าสังคมไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ตัดสินใจว่าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านไหนบ้าง แต่คุณต้องทำเพื่อตัวคุณเอง ไม่ใช่เพราะว่ามีใครแนะนำให้คุณทำ
    • คิดดูว่าทำไมการเป็นคนขี้อายถึงกวนใจคุณ บางทีมันอาจจะเป็นแค่สิ่งที่คุณมองว่ามันแก้ไขได้ หรือบางทีคุณอาจจะแค่อยากรู้สึกสบายใจมากขึ้นเวลาที่คุยกับคนรอบข้าง การเป็นคนเก็บตัวในแบบที่เป็นตัวคุณนั้นย่อมดีกว่าการไม่ได้เป็นตัวของตัวเองและต้องคอยบังคับตัวเองให้ชอบเข้าสังคมเป็นไหนๆ
    • ลองนึกถึงสถานการณ์ที่มักทำให้คุณเกิดอาการเขินอายขึ้นมา ร่างกายของคุณตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร คุณมีแนวโน้มที่จะทำอะไร การค้นหาว่าคุณจัดการกับมันอย่างไรคือขั้นแรกของการควบคุมปฏิกิริยาของตัวเอง
  3. ถ้าคุณรอจนกว่าคุณจะ อยาก ทำอะไรสักอย่าง มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากเห็น คุณสามารถเพิ่มความสามารถในตัวเองได้ด้วยการทำในสิ่งที่คุณอยากทำ ไม่ว่าตอนแรกคุณจะเชื่อในสิ่งที่คุณทำหรือไม่ก็ตาม [35] หลายครั้งแค่ความคาดหวังอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดบางสิ่งบางอย่างตามมา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการสร้างภาพจนกว่าคุณจะเป็นคนคนนั้นจริงๆ ถึงเป็นวิธีที่ได้ผลมาก [36]
  4. จำไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองต้องใช้เวลา ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองตามความเป็นจริง และอย่าซ้ำเติมตัวเองถ้าคุณสะดุดบ้างเป็นครั้งคราว เพราะมันเป็นเรื่องปกติ [37]
    • ตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายสำหรับคุณ การตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริงเรื่องการเป็นคนเข้าสังคมเก่งขึ้นสำหรับคุณแล้วมันอาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ เช่น แค่ได้สบตาคน 1 คนทุกวันก็ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แล้วสำหรับคุณ จงเลือกเป้าหมายตามความเป็นจริงของคุณเอง
  5. รู้ว่าการเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นเป็นทักษะอย่างหนึ่ง. แม้ว่าการเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับบางคน แต่พฤติกรรมเหล่านั้นคือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้มาสักระยะหนึ่ง และคุณก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน [38] การตั้งเป้าหมายและทำตามเป้าหมายที่จะเป็นคนเข้าสังคมเก่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์และคนอื่นๆ ได้
    • ถ้าคุณรู้จักคนที่เข้าสังคมเก่ง ลองถามพวกเขาดูว่า พวกเขาเป็นอย่างนั้นตลอดเวลาไหม เขาเคยรู้สึกว่าตัวเองต้อง พยายาม ที่จะเป็นคนเข้าสังคมเก่งบ้างหรือเปล่า พวกเขามีความกลัวการเข้าสังคมในแบบของตัวเองไหม คำตอบที่ได้อาจจะเป็นไม่ เคย มีตามลำดับ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่สิ่งที่พวกเขาตัดสินใจจะควบคุม
  6. เวลาที่คุณอยู่ในงานเลี้ยง เจ้าความวิตกกังวลที่คุณคุ้นเคยก็จะมาเล่นงานคุณขณะที่คุณคิดว่าคุณจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในงานเลี้ยงได้อย่างไร คุณอาจจะมีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในงานเลี้ยงได้อย่างประสบความสำเร็จ ในสถานการณ์เช่นนี้ให้ลองนึกถึงสถานการณ์ที่คุณประสบความสำเร็จในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและรู้สึกสบายใจด้วย คุณอาจจะเป็นคนเข้าสังคมเก่งเมื่อมีคนในครอบครัวและเพื่อนๆ รายล้อม อย่างน้อยก็เป็นบางครั้ง เพราะฉะนั้นจงพกพาความสำเร็จในตอนนั้นเข้ามาในสถานการณ์ตรงหน้าด้วย
    • การนึกถึงว่า ที่ผ่านมาเราก็ได้ทำในสิ่งที่เรากำลังหวาดกลัวอยู่ตลอดจะทำให้เราเห็นว่า เราเองก็มีความสามารถมากพอ และนั่นจะทำให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้น
    โฆษณา


เคล็ดลับ

  • ตระหนักในสิ่งรอบข้างและอยู่กับปัจจุบัน ถ้าคุณไม่มีความสุขกับตัวเอง แล้วใครจะมีความสุขเวลาได้อยู่กับคุณล่ะ!
  • ยิ้มให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนอื่น การยิ้มจะทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คุณเข้าสังคมเก่งขึ้นด้วย
  • พอคุณสบายใจที่จะเข้าหาคนอื่นแล้ว ให้เดินไปสู่ขั้นตอนถัดไป เรียนรู้วิธีการสร้างบทสนทนาที่ดีและ เป็นคนมีเสน่ห์
  • อย่ากดดันว่าจะต้องทำตัวเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณ เพราะการเป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นวิธีสร้างความมั่นใจที่ดีที่สุด
  • เวลาที่มีคนถามเรื่องชีวิตของคุณ อย่าลืมถามเรื่องราวในชีวิตของเขากลับด้วย มีโอกาสมากที่คุณจะลืม แต่มันก็ช่วยพาบทสนทนาไปได้ไกลขึ้นมาก

ข้อคิดเพื่อให้คุณเข้าสังคมเก่งยิ่งขึ้น

  • จำไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนขี้อายไม่ค่อยพูดค่อยจาไปเป็นคนเข้าสังคมเก่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่คุณจะทำได้ภายในชั่วข้ามคืน มันอาจจะใช้เวลาหลายวัน หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปีกว่าคุณจะมีความมั่นใจมากที่สุดเท่าที่คุณจะมีได้ ค่อยๆ เรียนรู้ไป หมั่นฝึกฝนการเข้าสังคมด้วยการพูดคุยกับคนอื่น อาจจะเป็นในห้องเรียนหรือห้องประชุมคณะกรรมการก็ได้ ผลที่ได้ไม่แตกต่างกันหรอก
  • เดินเข้าไปหาคนอื่นๆ ถ้าคุณเห็นใครที่คุณไม่รู้จักแต่คุณคิดว่าเขาดูเท่ดี ก็แค่เดินเข้าไปหาเขาแล้วพูดว่า "หวัดดี ชื่ออะไรเหรอ" แล้วพอเขาตอบกลับ คุณก็พูดว่า "เออ เราชื่อ (ชื่อของคุณ) นะ ยินดีที่ได้รู้จัก!" วิธีนี้จะทำให้พวกเขาเห็นว่า คุณเป็นคนอัธยาศัยดีและไม่รังเกียจที่จะพูดคุยกับคนอื่น
โฆษณา
  1. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0022103112000200
  2. http://www.personalitytutor.com/how-to-introduce-people.html
  3. https://www.ted.com/talks/amy_cuddy_your_body_language_shapes_who_you_are/transcript?language=en
  4. http://www.psychologicalscience.org/index.php/publications/observer/2006/july-06/how-many-seconds-to-a-first-impression.html
  5. http://changingminds.org/techniques/body/assertive_body.htm
  6. https://www.ted.com/talks/amy_cuddy_your_body_language_shapes_who_you_are#t-554799
  7. https://www.psychologytoday.com/blog/sideways-view/201412/the-secrets-eye-contact-revealed
  8. http://www.forbes.com/sites/carolkinseygoman/2014/08/21/facinating-facts-about-eye-contact/
  9. http://msue.anr.msu.edu/news/eye_contact_dont_make_these_mistakes
  10. http://www.scienceofpeople.com/2013/07/body-language-of-attraction/
  11. http://www.huffingtonpost.com/vanessa-van-edwards/the-body-language-of-attraction_b_3673055.html
  12. http://europeandcis.undp.org/files/uploads/Gender%20CoP%20Istanbul%20January2005/Process%20Management%20kit.pdf
  13. http://www.mindtools.com/CommSkll/ActiveListening.htm
  14. http://www.theguardian.com/science/2015/apr/10/psychology-empathy-distinguish-fake-genuine-smiles
  15. https://www.psychologytoday.com/blog/thriving101/201001/what-science-has-say-about-genuine-vs-fake-smiles
  16. http://www.psychologicalscience.org/index.php/news/releases/smiling-facilitates-stress-recovery.html
  17. http://nuweb9.neu.edu/socialinteractionlab/wp-content/uploads/gunnery.etal_.20121.pdf
  18. https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201207/can-anxiety-be-good-us
  19. http://www.wsj.com/articles/SB10001424052702303836404577474451463041994
  20. http://psychclassics.yorku.ca/Yerkes/Law/
  21. https://hbr.org/2011/04/strategies-for-learning-from-failure
  22. http://www.huffingtonpost.com/guy-winch-phd/learning-from-failure_b_4037147.html
  23. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_help_kids_overcome_fear_of_failure
  24. http://msue.anr.msu.edu/news/abcs_of_changing_your_thoughts_and_feelings_in_order_to_change_your_behavio
  25. http://www.improveyoursocialskills.com/be-more-outgoing-david-morin
  26. http://www.psychcongress.com/blogs/leslie-durr-phd-rn-pmhcns-bc/august-13-2013-915am/self-efficacy-albert-bandura-practice-changing-behavior
  27. https://www.psychologytoday.com/blog/the-empathic-misanthrope/201109/fake-it-til-you-make-it
  28. https://www.psychologytoday.com/blog/notes-self/201308/how-set-goals
  29. http://www.livescience.com/16216-outgoing-shy-personality-nature-nurture.html

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 79,883 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา