PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

หากคุณต้องการเป็นนักเขียนจริงๆ คุณอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ในการคิดสร้างสรรค์ไอเดียเฉพาะตัวที่น่าสนใจ คุณอาจต้องตื่นนอนก่อนรุ่งสาง ก่อนจะไปเริ่มงานที่คุณทำอยู่ คุณอาจต้องจดโน้ตความคิดดีๆ ที่แวบขึ้นมาขณะกำลังโหนรถเมล์ กิจวัตรที่เพิ่มเข้ามาอาจทำให้คุณรู้สึกคับข้องใจ แต่โดยทั่วไปแล้วมันก็มีส่วนดีและคุ้มค่าในท้ายที่สุด การเขียนหนังสือจนจบ และมีโอกาสนำมันออกไปสู่สายตาชาวโลก นับเป็นหนึ่งในความรู้สึกอันสุดยอด แต่หากคุณอยากรู้ว่าคุณพร้อมสำหรับการเป็นนักเขียนแล้วหรือยัง ลองมาอ่านบทความนี้เพื่อหาคำตอบ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

พัฒนาทักษะการเขียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจไม่อยากได้ยินข้อแนะนำแบบนี้ ในเวลาที่คุณกำลังฝันถึงการเป็นนักเขียนชื่อดัง แต่การอ่านก็เป็นหัวใจของการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ การอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาทักษะการเขียน ช่วยเสริมไอเดียเอกลักษณ์ในการเขียนให้กับคุณ และช่วยฝึกความอดทนก่อนที่คุณจะสามารถเขียนหนังสือของตัวเองสำเร็จเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้คุณมองออกว่า ตอนนี้หนังสือแนวไหนขายดีในท้องตลาด ดังนั้น พยายามหาเวลาขลุกอยู่กับหนังสือทุกวัน และเลือกอ่านหนังสือให้มากมายหลายประเภท [1]
    • หากคุณมีไอเดียอยู่แล้วว่า ตนเองต้องการเขียนแนวไหน เช่น นิยายวิทยาศาสตร์หรือแบบสารคดี คุณก็ควรโฟกัสไปที่การเขียนแนวนั้นอย่างเดียวก่อน แต่คุณต้องอ่านให้หลากหลายแนวเพื่อเสริมทักษะเช่นเดิม
    • ยิ่งอ่านมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งจับทางได้ถูกเท่านั้น ดังนั้น คุณควรจะหาหนังสือมาอ่านให้หลากหลายประเภท ไม่ใช่แนวซ้ำๆ กัน
    • หากคุณพบว่าตนเองชอบเล่มไหนเป็นพิเศษ คุณควรถามตัวเองว่า มันมีข้อดียังไงคุณถึงชอบ เกี่ยวกับถ้อยคำร้อยแก้วที่สวยงามหรือเปล่า หรือคุณชอบที่ตัวละครบางตัว หรืออาจจะชอบฉากหลังของเรื่องนั้นก็ได้ ยิ่งคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้มากเท่าไร คุณก็ยิ่งจะมีโอกาสเขียนหนังสือของตัวเองโดนใจผู้อ่านได้มากเท่านั้น
  2. หากคุณจะเป็นนักเขียนหน้าใหม่ อย่างมากคุณควรตั้งเป้าแค่ว่า จะเขียนนวนิยายหรือสารคดีเป็นเล่มๆ ไปก่อนเท่านั้นพอ มันยากที่จะออกเป็นคอลเล็กชั่นตั้งแต่ผลงานชิ้นแรก อย่างไรก็ดี แม้แต่หนังสือเล่มเดียวก็ยังถือว่ายากเลย ดังนั้น หากจะเขียนนิยาย คุณควรเริ่มจากการเขียนเรื่องสั้นสักหน่อยก่อน เพื่อให้คุณพอเห็นภาพกระบวนการเขียนทั้งหมด หรือหากคุณชอบเขียนสารคดี ก็ควรเริ่มจากการลองเขียนเรียงความดูเสียก่อน
    • ไม่ได้หมายความว่า เรื่องสั้นจะกระจอกกว่านิยาย อย่าง อลิซ มันโร (Alice Munro) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2013 ก็ไม่เคยตีพิมพ์นวนิยายเลย ตลอดช่วงอาชีพการงานอันรุ่งโรจน์ของเธอ ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบัน การเขียนเรื่องสั้นให้ได้รับการยอมรับนั้นยากกว่ากันมาก [2]
  3. หากคุณจริงจังกับการได้ออกหนังสือนวนิยายหรือสารคดี การมีวุฒิปริญญาสาขาอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเช่นกัน แต่หากคุณอยากเขียนแนวเอาใจตลาดอย่างนิยายวิทยาศาสตร์หรือโรแมนติก การเรียนปริญญาในสาขาดังกล่าวอาจไม่ค่อยจำเป็นนัก แม้ว่าจะมีประโยชน์ก็ตาม ส่วนการเรียนทางด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ก็จะช่วยให้คุณได้เริ่มชีวิตการเขียนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งอาจได้พบกับคนที่มีหัวทางด้านเดียวกัน คอยช่วยวิจารณ์ผลงานให้คุณได้ และยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้คุณขัดเกลาฝีมือไปอีกสองสามปีนับจากนี้ได้ด้วย [3]
    • นักเขียนที่ประสบความสำเร็จหลายคน เคยทำงานเป็นครูในคณะที่สอนด้านการเขียนมาก่อน ซึ่งหากคุณต้องการทำอาชีพดังกล่าวบ้าง คุณก็จำเป็นต้องได้ปริญญาทางด้านนี้มาครอบครองเสียก่อน
    • การสมัครเรียนทางด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ยังช่วยให้คุณได้มีโอกาสสร้างคอนเน็กชั่นกับคนในวงการด้วย บางคนในคณะดังกล่าวอาจช่วยให้คุณมีช่องทางในการตีพิมพ์ผลงานและพัฒนาทักษะของตัวเองได้อีกด้วย
    • แม้ว่าการเรียนปริญญาด้านการเขียนต่างๆ จะไม่ใช่หนทางรับประกันความสำเร็จ แต่มันก็จะช่วยให้คุณมีโอกาสฝึกฝีมือได้อย่างมาก
  4. หากคุณเลือกที่จะเรียนในคอร์สสอนการเขียนใดๆ คุณอาจต้องเข้าร่วมเวิร์คช็อปด้านการเขียนบ่อยๆ ซึ่งคุณจะได้รับฟังเสียงตอบรับมากมายจากคนในชั้นเรียน รวมถึงการเขียนและได้รับเสียงตอบรับจากทางคณะที่คุณเรียนด้วย แต่หากคุณไม่เลือกเส้นทางนี้ คุณก็สามารถเข้าร่วมชมรมนักเขียนในพื้นที่ของคุณ หรืออาจจะสมัครเรียนกับหน่วยงานที่เปิดสอนคอร์สระยะสั้นฟรีๆ รวมถึงยังสามารถขอคำวิจารณ์จากเพื่อนฝูงของคุณเองก็ได้
    • แม้ว่าคุณควรรับฟังเสียงตอบรับแบบฟังหูไว้หู แต่การใส่ใจกับมันก็จะช่วยให้คุณรู้ว่า ตนเองอยู่ในระดับไหนแล้ว
    • การฟังเสียงตอบรับ ยังช่วยให้คุณเห็นภาพว่า งานเขียนของคุณพร้อมตีพิมพ์ทันทีเลยหรือไม่ หรือยังต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรอีก แต่คุณก็ต้องเลือกผู้อ่านสักหน่อย พยายามขอเสียงตอบรับจากคนที่เข้าถึงผลงานและตัวตนของคุณ
  5. หากคุณมีงานเขียนเรื่องสั้นหรือเรียงความที่พร้อมในการประกาศสู่สายตาชาวโลกแล้ว คุณอาจเริ่มส่งผลงานดังกล่าวให้กับทางผู้จัดพิมพ์วารสารต่างๆ ที่มีการตีพิมพ์ผลงานประเภทเดียวกับคุณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนววิทยาศาสตร์ โรแมนติก หรือแนวใดก็ตาม โดยคุณสามารถค้นหารายชื่อดังกล่าวได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีผู้จัดพิมพ์มากมายกำลังเปิดรับพิจารณาผลงาน จากนั้นก็แค่ทำใบปะหน้าก่อนที่จะส่งไปทางไปรษณีย์ และแค่รอฟังผลเท่านั้นเอง [4]
    • นี่ถือเป็นก้าวแรกของคุณในวงการ ดังนั้น คุณต้องเจอกับการปฏิเสธมากมายรออยู่แน่นอน อย่าเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว มันจะช่วยให้คุณแข็งแกร่งขึ้นทีละนิด
    • ผู้จัดพิมพ์บางแห่งอาจเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ก่อนที่จะตีพิมพ์งานของคุณ ซึ่งฟังดูน่าเศร้า แต่พวกเขาไม่ได้เอากำไรอะไรหรอก เพียงแต่บางแห่งอาจมีงบประมาณจำกัด
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

การแต่งหนังสือ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ พยายามหาแนวคิดใหม่ๆ ที่จะให้ผู้อ่านตื่นเต้นและหันมาสนใจ แต่คุณก็อาจต้องเริ่มเขียนไปสักพัก ก่อนที่ความคิดดังกล่าวจะตกผลึก คุณอาจจะเขียนไปสามร้อยหน้าแล้วก็ได้ กว่าที่คุณจะนึกออกว่าจริงๆ แล้ว จุดขาย ที่แท้จริง ของมันคืออะไร ซึ่งคุณควรเริ่มจากการเขียนเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องของครูอาสาในชนบทหลังเขา หรือเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ ตามความสนใจของคุณ จากนั้น ก็ค่อยดูว่าคุณจะปิ๊งไอเดียดีๆ ตอนเขียนถึงช่วงไหน
    • บางครั้ง คุณอาจเขียนไปจนเสร็จหมดทั้งเล่มแล้ว ก่อนที่จะเริ่มค้นหาจุดขายของมันได้ แต่มันจะเป็นประโยชน์มาก หากคุณหาข้อมูลด้านการตลาดไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือเขียน เช่น คุณอาจพบว่ามีหนังสือเนื้อหาและแนวเดียวกับคุณเป๊ะ วางขายอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งถ้าคุณไม่เบี่ยงแนวออกไป คุณก็จำเป็นต้องเขียนให้ได้ดีกว่างานชิ้นนั้น
  2. แม้ว่าในปัจจุบัน การผสมผสานแนวหนังสือ จะได้รับความนิยมมาก เช่น นวนิยายของมาร์กาเร็ต แอ็ทวู้ด(Margaret Atwood) ที่เขียนแนวผสมระหว่างนิยายวรรณศิลป์กับนิยายวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน แต่คุณควรเริ่มจาการยึดตามแนวดั้งเดิมที่มีก่อน เพื่อช่วยให้ตัวตนในผลงานของคุณขัดเจนมากขึ้น จากนั้น เมื่อคุณอิ่มตัวแล้ว จึงค่อยหาวิธีประยุกต์เป็นแนวผสมผสานดังกล่าวก็ย่อมได้ ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างแนวดั้งเดิมของหนังสือในท้องตลาด:
    • สารคดี (Non-fiction)
    • นวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science fiction)
    • นวนิยายสั้น (Flash Fiction)
    • เรื่องบู๊/แอคชั่น (Action stories)
    • แนวสยองขวัญ (Horror)
    • แนวลึกลับ (Mystery)
    • แนวโรแมนติก (Romance)
    • แนวผจญภัย (Adventure)
    • แนวแฟนตาซี (Fantasy)
    • นวนิยายการเมือง (Political fiction)
    • นวนิยายห้าสิบห้าคำ (55 fiction)
    • วรรณกรรมเยาวชน (Young Adult Fiction)
    • วรรณกรรมเด็ก (Middle Grade Fiction)
  3. คุณอาจกำหนดโครงเรื่องในขณะที่เขียนไปด้วย หรือจะกำหนดไว้ล่วงหน้าเลยก็ได้ แต่หลักการเขียนควรจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน ต่อไปนี้ :
    • ใคร: ตัวละครหลัก/ ตัวละครรอง/ ตัวร้าย
    • มุมมอง: จะเขียนจากมุมมองของบุคคลที่ 1, 2 หรือ 3
    • ที่ไหน: ทั้งสถานที่และยุคสมัย ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
    • อะไร: แนวคิดหลักหรือพล็อตเรื่อง
    • ทำไม: อะไรคือเป้าหมายของตัวละคร
    • อย่างไร: วิธีการที่ตัวละครใช้บรรลุเป้าหมาย
  4. หนังสือเกี่ยวกับการเขียน ชื่อ Bird by Bird ของ แอนน์ ลามอทท์ เธอได้ย้ำความสำคัญของการเขียนฉบับร่างครั้งที่ 1 ให้ออกมาแย่ๆ ว่า " และนั่นคือรูปแบบที่คุณจำเป็นต้องเขียนออกมา: ฉบับร่างอันเละเทะ น่าอับอาย และยุ่งเหยิง ซึ่งมีแก่นแท้ของฉบับร่างสุดท้าย ที่คุณจะต้องเขียนออกมาในสักวัน คุณไม่จำเป็นต้องเอามันไปให้ใครดู สิ่งสำคัญคือการได้เห็นว่าตนเองทำอะไรบางอย่างลุล่วงไปแล้ว ดังนั้น เขียนไปโดยไม่ต้องกลัวความคิดเห็นใคร และไม่ต้องปิดบังอะไรตนเอง นี่เป็นแค่ขั้นตอนในพรั่งพรูความคิดออกมาเท่านั้น เอาไว้ค่อยขัดเกลาทีหลัง"
    • เขียนฉบับร่างที่ 1 เสร็จแล้ว ก็วนต่อไปเรื่อย หากคุณโชคดี คุณอาจได้ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันออกมาหลังจากฉบับร่างเสร็จไป 2 ฉบับ หรือคุณอาจจะต้องร่างถึง 5 ฉบับ กว่าที่จะเห็นภาพรวมชัดเจนก็ได้ ซึ่งกระบวนการนี้อาจกินเวลาเป็นเดือน ปี หรือ หลายปี ขึ้นอยู่กับเวลาที่คุณมีและขนาดของผลงาน
  5. การขอเสียงตอบรับเร็วเกินไป อาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์สะดุด หรืออาจทำให้คุณลังเลในทิศทางของงานเขียนดังกล่าว แต่หลังจากที่คุณเขียนฉบับร่างมาเยอะ และขัดเกลาจนพร้อมจะส่งพิมพ์แล้ว คุณควรเริ่มขอเสียงตอบรับจากผู้อื่นก่อน จะได้รู้ว่างานของคุณเป็นอย่างไรแล้ว โดยคุณอาจถามความเห็นจากเพื่อนที่ชอบวิจารณ์ หรือนักอ่านอาสา รวมถึงนำไปให้คนในชั้นเรียนด้านการเขียนต่างๆ และผู้คร่ำหวอดในวงการ ลองอ่านดูในกรณีที่งานของคุณเป็นสารคดี
    • หากคุณเขียนแนวนวนิยาย คุณอาจลองส่ง 2-3 บทแรกไปให้ทางสำนักพิมพ์บางแห่ง เพื่อรอฟังเสียงตอบรับ
    • หลังจากที่ได้ข้อคิดเห็นที่เชื่อถือได้มาแล้ว คุณควรปรับปรุงตามนั้น ซึ่งทำให้คุณอาจต้องเขียนฉบับร่างใหม่อีกสัก 1-2 ฉบับ กว่าที่จะลงตัว
  6. หากมีพวกคำพิมพ์ผิดตั้งแต่หน้าแรก ถือว่าคุณยังอ่อนมาก ดังนั้น หลังจากที่ปรับแก้เนื้อหาลงตัวแล้ว ควรจะพิมพ์ออกมาค้นหาคำผิด ไวยากรณ์ วลีหรือประโยคที่ซ้ำซ้อน รวมถึงข้อผิพลาดอื่นๆ ที่ต้องแก้ไข ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป คุณอาจลองอ่านออกเสียงออกมาให้ตัวเองฟัง เผื่อจะได้สะดุดหูหากมีคำที่ฟังดูแปลกๆ หรือมีการเว้นวรรคไม่เหมาะสม
    • การพิสูจน์อักษร ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำผลงานให้พร้อมส่งสำนักพิมพ์ ถึงแม้ว่าการตรวจพิสูจน์อักษรระหว่างเขียนจะเป็นประโยชน์ แต่อย่าไปตรวจละเอียดมาก เพราะยังไงก็ต้องมีการปรับแก้เนื้อหาหลายรอบ และคุณก็ต้องกลับมาพิสูจน์อักษรในขั้นตอนสุดท้ายอีกอยู่ดี
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

การตีพิมพ์หนังสือ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยทั่วไปแล้ว คุณมี 3 ทางเลือก หลังจากที่เขียนทุกอย่างเสร็จสิ้นพร้อมพิมพ์ ดังนี้:
    • ช่องทางดั้งเดิม นั่นคือการส่งผลงานผ่านนายหน้า เพื่อให้เขาหรือเธอส่งต่อไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ อีกทอดหนึ่ง หลายคนเชื่อว่า การส่งผลงานผ่านหน้าเป็นเรื่องจำเป็นในการได้รับการตีพิมพ์
    • ส่งผลงานถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วยตนเองโดยตรง ซึ่งจะช่วยประหยัดขั้นตอนผ่านนายหน้าไป โดยคุณอาจเลือกส่งสำนักพิมพ์ที่คุณเคยส่งไปขอรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ แต่หากไม่ผ่านนายหน้า โอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์อาจจะน้อยกว่า
    • ตีพิมพ์ด้วยตนเอง วิธีนี้ชัวร์ที่สุด ในการนำผลงานของคุณเผยแพร่ในท้องตลาด แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะโด่งดังเป็นพลุแตกเหมือนนักเขียนชื่อดังทั่วไป อย่างไรก็ดี หากเป้าหมายของคุณคือการได้เพียงเผยแพร่ผลงานสู่สังคม วิธีนี้ย่อมเหมาะสมดีแล้ว คุณสามารถใช้บริการสั่งหรือจ้างพิมพ์ได้ทั้งทางเว็บไซต์บางแห่ง รวมถึงจ้างโรงพิมพ์ทั่วไป หรือแม้กระทั่งทำออกมาเป็นรูปเล่มด้วยตนเองในทุกขั้นตอน
  2. ไม่ว่าคุณจะส่งผลงานด้วยตนเองหรือผ่านนายหน้า ก็มีขั้นตอนตามธรรมเนียมปฏิบัติที่คุณควรทำ เช่น คุณควรเลือกฟอร์แมทระยะห่างแบบปกติ และใช้ตัวอักษร Cordia New หรือ Angsana New ขนาด 14-16 แล้วแต่ความยาวของผลงาน (หากเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้อักษร Times New Roman ขนาด 12) และทำใบปะหน้าโดยมีชื่อเรื่อง จำนวนหน้า รวมถึงชื่อ-นามสกุล และอีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของคุณระบุไว้ด้วย [5]
    • โดยรวมแล้ว แต่ละสำนักพิมพ์จะมีข้อกำหนดไม่ต่างกันมาก ในเรื่องของฟอร์แมทต้นฉบับ หากคุณต้องการความแน่ใจ ก็สามารถโทรติดต่อสอบถามได้ที่แผนกตรวจรับต้นฉบับของสำนักพิมพ์หรือกองบรรณาธิการนั้นๆ
  3. พยายามตรวจเช็คประวัติของนายหน้าให้ดีก่อนที่จะส่ง ปกติแล้วในประเทศไทยไม่ค่อยมีนายหน้าให้เลือกมากนัก ดังนั้น คุณควรอาศัยคำแนะนำจากคนในวงการ หรือสอบถามผู้รู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้นายหน้าที่สามารถเชื่อถือได้ นอกจากนี้ หากคุณคิดว่าตนเองจะเขียนงานออกมาติดต่อกันจำนวนมาก ก็ควรเลือกนายหน้าที่สามารถรับงานได้ครั้งละมากๆ และมีคอนเน็กชั่นกับสำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อที่คุณจะได้ส่งผลงานให้สำนักพิมพ์ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรอคิวฟังผลของแต่ละต้นฉบับ [6] [7]
    • การส่งผลงานผ่านายหน้า คุณอาจต้องเขียนโครงเรื่อง หรือบทคัดย่อเพิ่มเติมด้วย ต่อจากใบปะหน้า โดยอาจระบุกลุ่มเป้าหมายที่คุณคาดหวังจากแนวงานเขียนของคุณ รวมถึงใส่ประวัติย่อๆ ของคุณไว้ด้านท้ายด้วยก็ได้
    • ตรวจสอบข้อกำหนดของนายหน้าแต่ละคนให้ดี บางคนอาจต้องการข้อมูลและรายละเอียดอื่นๆ ก่อน เช่น ตัวอย่าง 2-3 บทแรก จึงค่อยขอให้คุณส่งต้นฉบับทั้งหมดตามไปทีหลัง
    • อย่าส่งต้นฉบับเดียวกันไปให้นายหน้าหลายแห่งในคราวเดียว พยายามเว้นช่วงเพื่อนำคำวิจารณ์กลับมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิมก่อน แล้วจึงค่อยส่งไปใหม่อีกครั้ง อย่าส่งต้นฉบับที่ยังไม่ได้ปรับแก้ไป
    • กุญแจสำคัญของวงการนี้ คือ ความอดทน มันอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนกว่าที่นายหน้าจะติดต่อกลับมา ดังนั้น คุณควรเรียนรู้ที่จะรออย่างเหมาะสม อย่าเช็คอีเมลหรือคอยดูโทรศัพท์ทั้งวัน คุณอาจจะประสาทเสียได้
  4. เมื่อมีการนัดหมายจากทางนายหน้าให้ไปเซ็นสัญญา คุณควรใจเย็นๆ ถามคำถามเยอะๆ และประเมินดูก่อนว่ารายนั้น เหมาะสมกับการฝากฝังผลงานของคุณไว้หรือไม่ เพราะนอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว คุณยังต้องดูด้วยว่า นายหน้ารายดังกล่าวมีสปิริตเพียงพอ ในเรื่องการให้คุณค่าแก่ผลงานเขียนของคุณหรือไม่ นายหน้าที่ดีไม่ควรจะเก็บเงินใดๆ ล่วงหน้า แต่ต้องรอหักเปอร์เซ็นต์จากรายได้หรือค่าลิขสิทธิ์ ที่ทางสำนักพิมพ์เสนอให้คุณเท่านั้น และก็ควรจะพยายามช่วยทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยให้หนังสือของคุณขายได้มากที่สุด [8]
    • เป็นเรื่องปกติที่คุณจะตรวจเช็คกับนายหน้ารายอื่นก่อน เพื่อเลือกนายหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้คุณได้มากที่สุด ปกติแล้ว หากพวกเขารู้ว่ามีรายอื่นที่ต้องการคุณ ก็อาจจะยอมลดค่านายหน้าให้คุณอีก
    • พยายามพบปะตัวจริงหรือไปถึงที่ทำการของนายหน้าแต่ละคน นอกจากจะเป็นการป้องกันเหตุฉ้อฉลที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว คุณยังจะได้ประเมินบุคลิกภาพและนิสัยของพวกเขาไปในตัวด้วย
    • คุณและนายหน้าไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนสนิทกัน ขอแค่เขาหรือเธอเห็นคุณค่างานเขียนของคุณก็พอ
    • นายหน้าที่ดี ควรจะมีบุคลิกเชิงรุกสักนิด เพื่อประโยชน์ในการโปรโมทหนังสือของคุณ
    • นายหน้าที่ดีควรมีคอนเน็กชั่นหลากหลาย และมีตัวเลขผลการดำเนินงานในอดีตมายืนยันฝีมือด้วย
  5. ระหว่างที่คุณทำงานร่วมกับนายหน้าของคุณ คุณย่อมมีโอกาสในการปรับปรุงผลงานหลายครั้ง จนได้ผลงานที่ดีที่สุด และมีโอกาสขายได้อย่างสูง ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คือ ติดต่อกับทางสำนักพิมพ์ต่างๆ รวมถึงอาจต้องไปเจรจาต่อรองด้านผลประโยชน์ ในกรณีที่ผลงานของคุณผ่านการพิจารณาด้วย ซึ่งหลักๆ แล้ว ทางสำนักพิมพ์จะให้คุณเลือกว่า จะรับเงินค่าลิขสิทธิ์เป็นก้อนเดียว หรือจะรับเป็นส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายตามจริง หรือจะเอาทั้ง 2 แบบมาผสมกัน ก็แล้วแต่ตกลง
    • หากคุณได้รับข้อเสนอหลายแบบ คุณและนายหน้าผู้มีประสบการณ์ จะต้องเลือกแบบที่คิดว่าเหมาะสมมากที่สุดt.
  6. อย่าคิดว่าเมื่อเซ็นสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ หรือตกลงด้านผลประโยชน์กันไปแล้ว หนังสือของคุณจะวางขายวันนี้พรุ่งนี้ทันที ยังหรอก ยังอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก เพราะกองบรรณาธิการย่อมมีประสบการณ์มากกว่า พอที่จะชี้แนะให้คุณไปปรับแก้เพิ่มเติมได้อีก ซึ่งกว่าที่จะลงตัวสมบูรณ์พร้อมเข้าโรงพิมพ์ ก็ต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง กว่าที่จะวางแผงในร้านหนังสือ
    • ขั้นตอนที่ว่ามา รวมถึงการร่วมกันออกแบบปกหนังสือ คำโปรยด้านหลัง รวมถึง คุณอาจจะต้องเขียนขอบคุณบุคคลต่างๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติในหน้าแรกหรือหน้าสุดท้ายของหนังสือด้วย
  7. หลังจากผ่านขั้นตอนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักพิมพ์จะแจ้งให้คุณทราบว่า หนังสือจะวางแผงวันที่เท่าไร ทั้งทางร้านหนังสือทั่วไปและอาจรวมถึงทางเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ซึ่งคุณก็จะได้เห็นหนังสือตัวเองตั้งตระหง่านอย่างภาคภูมิใจ และไม่มีใครว่าหรอกนะ หากคุณจะไปหยิบมาแกล้งยืนเปิดอ่าน หรือจะหยิบไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์เลยก็ได้ แต่จำไว้ว่า การเดินทางบนเส้นทางนักเขียนนี้ มันเพิ่งจะเริ่มต้น!
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ใช้ชีวิตเยี่ยงนักเขียน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. นอกจากว่างานเขียนของคุณจะขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ รายได้จากการเขียนหนังสือ มันไม่พอซื้อคอนโดย่านสุขุมวิท หรือออกรถเฟอร์รารี่ให้คุณได้หรอก คุณอาจจะมีรายได้จากมันแค่พอใช้จ่ายทั่วไป และการมีทางเลือกในชีวิตการงานมากขึ้นเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม คุณควรรักษางานเดิมของคุณเอาไว้ให้ดี โดยอาจเตรียมหางานพาร์ทไทม์ไปพลางๆ ก่อน หรือหากคุณมีคุณวุฒิด้านการเขียนจากสถาบันการศึกษา รวมถึงมีชื่อเสียงจากการเป็นนักเขียนในระดับหนึ่ง คุณก็อาจลองสมัครเป็นอาจารย์สอนในคณะที่เกี่ยวกับการเขียนได้เช่นกัน [9]
    • หากคุณใฝ่ฝันอยากใช้ชีวิตเยี่ยงนักเขียนจริงๆ ก็สามารถไปสมัครหรือเปิดสอนเทคนิคการเขียนเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเริ่มต้นได้ง่ายๆ นอกจากว่าหนังสือของคุณจะโด่งดังและมีชื่อเสียงมากจริงๆ
    • คุณอาจเริ่มทดลองสอนตามเวิร์คช็อปภาคฤดูร้อนของสถาบันต่างๆ หรือหน่วยงานของรัฐดูก่อนก็ได้ พวกเขาอาจมีเพียงค่าเบี้ยเลี้ยงเล็กน้อยให้ แต่คุณอาจจะได้ท่องเที่ยวฟรี กรณีที่ต้องไปสอนในที่ห่างไกลจากที่พักปัจจุบัน
  2. ยุคนี้ คุณจำเป็นต้องโปรโมทตัวเองในโลกออนไลน์บ่อยๆ จึงจะถือว่าเป็นนักเขียนเต็มตัวและมีโอกาสขายงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคุณควรเรียนรู้หลักการตลาดและการโปรโมทตัวตนไว้บ้าง เช่น อาจทำแฟนเพจในเฟสบุ๊คขึ้นมา หรือเอารูปหนังสือขึ้นหน้าโปรไฟล์ส่วนตัว รวมถึงการใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารและนัดหมายการปรากฏตัวออกสื่อ นอกจากนี้ การจัดทำเว็บไซท์ส่วนตัว โดยมีทั้งช่องทางการขายและประวัติของคุณ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน
    • คุณอาจเริ่มจากการทำบล็อกส่วนตัว เพื่อแนะนำตัวเองและผลงานของคุณ รวมถึงใช้เขียนบทความสั้นๆ เป็นบางโอกาส เพื่อให้แฟนคลับได้อ่านกันอยู่เสมอ
    • อย่ารู้สึกผิดในการโปรโมทตัวเอง ต่อให้คุณมีประชาสัมพันธ์ส่วนตัว แต่นับจากนี้ไป หน้าที่ของคุณคือการเขียน 50% และโปรโมทตัวเองอีก 50%
  3. หากคุณมีประชาสัมพันธ์ คุณอาจต้องไปปรากฏตัวเพื่อพบปะ หรืออ่านหนังสือของตัวเองให้แฟนคลับฟัง หรือไปแจกลายเซ็นตามร้านชื่อดัง และในงานสัปดาห์หนังสือประจำปี ตามสถานที่หรือภูมิภาคต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมของนักเขียนทั่วโลก และนั่นเป็นโอกาสที่ดีในการพบปะผู้คน รวมถึงสร้างสายสัมพันธ์ในวงการ และขอบคุณแฟนหนังสือด้วย
    • พยายามประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่า คุณจะไปปรากฏตัวที่ไหนบ้าง ผู้อ่านจะได้ติดตามได้
  4. นักเขียนไม่จำเป็นต้องสันโดษ คุณควรหาโอกาสไปตามงานที่จัดโดยนักเขียนอื่นๆ หรืองานที่มีการสัมมนาทางความคิดในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับงานเขียน ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากได้รับการเชื้อเชิญ อย่าลืมแนะนำตัวเองในทุกที่ๆ คุณไป และพยายามพูดคุยกับนักเขียนทั้งในสังกัดเดียวกัน หรือต่างสังกัดก็ตาม
    • พยายามพบปะกับนักเขียนคนอื่นๆ ในแนวเดียวกันด้วย พวกเขาจะช่วยให้คุณพัฒนาขึ้น
  5. เริ่มลงมือสำหรับการออกหนังสือเล่มสอง…และเล่มต่อไป. คุณได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นแรกและไปปรากฏตัวตามที่ต่างๆ แล้ว ใช่ว่าคุณควรจะหยุดพักตามสบายและฉลองอีกสักสองสามเดือนได้ ตรงกันข้าม หากเล่มแรกของคุณขายดี คุณควรพูดคุยกับสำนักพิมพ์ถึงโอกาสในการออกเล่มสอง นอกจากนี้ คุณยังอาจต้องติดต่อกับนายหน้าคนเดิม (กรณีที่ใช้บริการนายหน้าในเล่มแรก) เพื่อวางแผนสำหรับออกหนังสือเล่มใหม่ทันที หน้าที่ของนักเขียนตัวจริงไม่มีวันจบสิ้น สิ่งที่คุณต้องทำ คือ การคิดถึงผลงานเล่มใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
    • หากคุณยังไม่มีไอเดียสำหรับผลงานเล่มสอง ก็อย่ากังวลใจไป ขอแค่หมั่นฝึกเขียนทุกวัน เดี๋ยวสักวันก็จะมีไอเดียดีๆ เกิดขึ้นเอง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • อย่ายอมแพ้กลางคันระหว่างที่เขียน สุดท้ายแล้ว มันอาจจะออกมาดีก็ได้!
  • คุณอาจลองวาดภาพตัวละคร รวมถึงสถานที่ในหนังสือตามจินตนาการของคุณ เผื่อจะช่วยให้เกิดไอเดียอะไรดีๆ ขึ้นมาได้บ้าง
  • หากคุณไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองอ่านหนังสือบางเล่ม และดูลักษณะการใช้คำ รวมถึงเทคนิคการเว้นวรรคตอน ย่อหน้า และการบรรยายในแบบที่พวกเขาใช้
  • เขียนเรื่องย่อของหนังสือที่คุณต้องการจะเขียน ออกมาไว้ก่อน
  • หากต้องการเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น อย่าเอาแต่อ่าน พยายามเขียนทุกอย่างเท่าที่จะนึกได้ เขียนให้บ่อยที่สุดในแต่ละวัน เขียนอะไรก็ได้ที่ผ่านเข้ามาในหัว พอปลายปากกาจรดกระดาษ เดี๋ยวตัวหนังสือก็โลดแล่นเอง
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 45,796 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา