ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่แค่อายุที่เพิ่มขึ้น คุณคงเคยพบเจอเด็ก 6 ขวบที่โตเกินวัย กับผู้ใหญ่อายุ 80 ที่กลับยังทำตัวเหมือนเด็กๆ การเป็นผู้ใหญ่นั้นสำคัญที่การกระทำของคุณที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นต่างหาก โดยดูได้ง่ายๆ จากวิธีคิดและพฤติกรรมของคุณ [1] ถ้าคุณคิดว่าพอกันทีกับไอ้การพูดคุยไร้สาระและการทะเลาะถกเถียงแบบเด็กๆ ไม่ก็อยากให้คนรอบข้างหันมาให้เกียรติคุณบ้าง ลองเอาวิธีการพวกนี้ไปใช้ดู หัดเรียนรู้หนทางสู่การเป็นผู้ใหญ่ ไม่สำคัญเลยว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เพราะการเป็นผู้ใหญ่หมายถึงการที่คุณควบคุมสถานการณ์ได้และคนอื่นๆ ให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับคุณต่างหากล่ะ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การเป็นผู้ใหญ่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากพบว่าตนเองปราศจากงานอดิเรกหรือความชอบความสนใจในเรื่องใดอย่างจริงจัง นั่นอาจทำให้คนอื่นมองว่าคุณไม่ค่อยจะเป็นผู้ใหญ่สักเท่าไหร่ ลองหาอะไรที่คุณทำแล้วสนุกไปกับมันดู แล้วฝึกฝนพัฒนาจน "รู้จริง" เกี่ยวกับเรื่องนั้น ก็จะทำให้คุณเป็นคนมีประสบการณ์และดูเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น แถมยังทำให้คุณมีหัวข้อไว้พูดคุยกับคนอื่นอีกต่างหาก ไม่สำคัญเลยว่าคู่สนทนาจะมีงานอดิเรกร่วมกันกับคุณหรือเปล่า
    • หางานอดิเรกที่ทำได้บ่อยๆ และเกิดประโยชน์ เรารู้ว่าไอ้การดูรายการทีวีแบบรวดเดียวจบมันสนุกขนาดไหน แต่มันก็ไม่เชิงเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สักเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความห้ามคุณดูหนัง ดูทีวี เล่นวิดีโอเกมหรอกนะ เราแค่อยากบอกว่าคุณไม่ควรใช้เวลากับเรื่องพวกนี้แค่อย่างเดียวน่ะ [2]
    • การมีงานอดิเรกต่างๆ สามารถเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นส่วนหนึ่งของสมองที่ส่งผลต่อความคิดในเชิงบวกและก่อให้เกิดความสุขอีกด้วย [3]
    • ในโลกนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้คุณลองทำดูอีกมากมาย! คว้ากล้องไปเรียนถ่ายรูปซะ หรือจะหัดเล่นดนตรี เริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ๆ หัดทำเสียงแบบบีทบ็อกซ์ หรือจะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เล่นละครกันดูก็ได้ [4] ขอแค่อย่างเดียว คุณต้องสนุกกับอะไรก็ตามที่คุณเลือกทำ ไม่งั้นก็เท่ากับหาภาระ มากกว่าจะหาความสุขใส่ตัว
  2. ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ใหญ่ก็คือการรู้จักประเมินศักยภาพของตนเอง รู้จุดอ่อนที่ต้องพัฒนาปรับปรุง และตั้งเป้าหมายสำหรับชีวิตในวันข้างหน้า การมองเห็นภาพอนาคตที่ชัดเจนอยู่เสมอจะทำให้คุณสามารถเลือกทางเดินในชีวิตได้อย่างถูกต้อง เมื่อคุณตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และจับต้องได้แล้วละก็ ขอให้ลงมือทำจนกว่าจะสำเร็จ [5]
    • การตั้งเป้าหมายสักอย่างในชีวิตอาจฟังดูแล้วใหญ่เกินตัว แต่อย่าด่วนเครียดไป! มันแค่ต้องใช้เวลาและการวางแผนนิดหน่อยก็เท่านั้น เริ่มง่ายๆ จากการหาจุดที่คุณอยากพัฒนาในตัวเองให้เจอ เช่น คุณอาจจะอยากเริ่มรวบรวมผลงานมาจัดทำสุดยอดพอร์ตโฟลิโอสำหรับยื่นสมัครสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย จำไว้ว่าเป้าหมายมักเริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัว
    • ลองเริ่มจากการแตกรายละเอียดออกมาว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม
    • ใคร - หมายถึงมีใครที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างในหนทางสู่ความสำเร็จของคุณ แหงล่ะว่าต้องมีคุณเป็นพระเอก/นางเอกของงาน แต่คนอื่นๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็อาจรวมถึงครูบาอาจารย์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานที่เข้ามาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ หรืออาจหมายถึงผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาก็ได้
    • อะไร - ก็อะไรล่ะที่คุณตั้งเป้าอยากจะได้มาหรือทำให้สำเร็จ? จุดนี้สำคัญมากว่าคุณต้องกำหนดออกมาให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย” นั้นกว้างไป มาก การตั้งเป้าหลวมๆ ที่ทำได้ยากแบบนั้นสุดท้ายจะทำให้คุณไม่ได้เริ่มต้นอะไรสักอย่าง กลับกัน ขอให้กำหนดมาเลยสองสามอย่างที่จะทำให้คุณก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายได้อีกขั้น อย่าง “เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร” หรือ “ร่วมกิจกรรมนอกเวลา”
    • เมื่อไหร่ - ข้อนี้จะช่วยกำหนดเส้นตายให้คุณว่าต้องทำแต่ละขั้นตอนของแผนการระยะยาวให้เสร็จภายในเมื่อไหร่ การรู้กำหนดเวลาที่ชัดเจนจะทำให้คุณเกิดความกระตือรือร้น ไม่เผลอออกนอกลู่นอกทาง เช่น ถ้าคุณอยากเป็นอาสาสมัคร ก็ต้องตรวจสอบดูให้ดีว่าสมัครเข้าร่วมได้ถึงวันที่เท่าไหร่ กิจกรรมที่จะเข้าร่วมจะจัดขึ้นวันไหน และคุณต้องเข้าร่วมในวันไหนบ้าง
    • ที่ไหน - ข้อนี้ช่วยได้มากเรื่องการกำหนดสถานที่ที่คุณจะทำตามเป้าหมายของคุณให้สำเร็จลุล่วง เช่น หากคุณอยากเป็นอาสาสมัคร ก็อาจเลือกไปช่วยงานที่ศูนย์พิทักษ์สัตว์เป็นต้น
    • อย่างไร - ข้อนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพแต่ละขั้นตอนไปสู่จุดหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น คุณต้องทำอะไรบ้างถึงจะติดต่อศูนย์พิทักษ์สัตว์ที่คุณอยากไปเป็นอาสาสมัครได้? แล้วจะเดินทางไปยังศูนย์พิทักษ์สัตว์ได้ยังไง? ต้องแบ่งเวลายังไงถึงจะเป็นอาสาสมัครได้โดยที่ยังรับผิดชอบหน้าที่อื่นๆ ของตัวเอง? เป็นคำถามที่คุณต้องหาคำตอบก่อนจะลงมือทำ
    • ทำไม - ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่านี่คือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าคุณรู้แน่ชัดว่าจะทำตามเป้าหมายนั้นไปทำไม เพื่ออะไร ก็จะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เห็น “ภาพรวม” ของแผนการทั้งหมดได้ชัดเจนอีกด้วย [6] หาให้เจอ เหตุผลที่ทำให้เป้าหมายนั้นสำคัญสำหรับคุณ เช่น “ฉันอยากเป็นอาสาสมัครช่วยงานในศูนย์พิทักษ์สัตว์ ก็เพราะจะได้เป็นผลงานในพอร์ตไว้ใช้สอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย”
  3. การเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หมายความว่าต้องตีหน้าขรึมจริงจังตลอดเวลา เพราะผู้ใหญ่จริงๆ น่ะ คือคนที่รู้จักแยกแยะ ว่าเวลาอยู่กับคนประเภทไหนและเวลาไหนถึงสมควรจะหยอกล้อตลกโปกฮาหรือควรจะจริงจัง ที่สำคัญคือควรรู้ว่าทำตัวติงต๊องไร้สาระได้แต่ต้องมีขอบเขต จะได้ไม่เกินเลยจนดูไม่เหมาะสม [7]
    • ลองหาเวลาผ่อนคลายทำอะไรไร้สาระดูบ้างในแต่ละวัน คนเราก็ต้องมีช่วงให้ออกนอกลู่นอกทางให้หายเครียดกันบ้าง หาเวลานิดๆ หน่อยๆ ในแต่ละวัน (เช่น หลังเลิกเรียน) ไว้ให้ตัวเองได้มันส์หลุดโลกบ้างก็ดี
    • แต่ก็ต้องรู้กาลเทศะว่าเป็นเรื่องไม่สมควรจะไปทำตัวไร้สาระในเวลาที่ต้องจริงจัง อย่างตอนอยู่ที่โรงเรียน ที่วัด ที่ทำงาน และโดยเฉพาะในงานศพ นั่นเป็นเวลาสำคัญที่ต้องจดจ่อเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ไปเที่ยวแกล้งคนเล่น ถ้าเผลอทำตัวติงต๊องในช่วงเวลาแบบนี้จะเป็นการส่อว่าคุณไม่เป็นผู้ใหญ่เอาซะเลย
    • อย่างไรก็ดี เวลาผ่อนคลายอย่างตอนไปเที่ยวกับเพื่อน หรือโดยเฉพาะตอนอยู่กับครอบครัว นี่แหละปลดปล่อยตัวตนได้เต็มที่เลย ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
    • ลองหาตัวชี้วัดที่เหมาะสมว่าสถานการณ์ไหนเล่นมุกหรือทำตัวติงต๊องได้ และสถานการณ์ไหนที่ไม่สมควร แต่จำไว้ว่าไม่มีใครชอบมุกเสียดสีเจ็บแสบหรือเรื่องแกล้งกันที่เลยเถิดเกินไปหรอกนะ
  4. โลกใบนี้คือสังคมขนาดใหญ่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ถ้าคุณจงใจทำอะไรที่ก่อความรำคาญให้คนอื่น หรือทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของคนรอบข้าง ก็ไม่แปลกถ้าใครจะมองว่าคุณนี่ช่างไร้เดียงสาเหลือเกิน การรู้จักสังเกตและจดจำความจำเป็นและความต้องการของคนอื่นๆ รอบตัว จะทำให้คนเหล่านั้นยอมรับและให้เกียรติคุณเช่นกัน
    • แต่การให้เกียรติคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำตัวต่ำต้อยด้อยค่านะ แต่คือการที่คุณรู้จักรับฟังความคิดความต้องการของคนอื่นเขาบ้าง และปฏิบัติต่อเขาในแบบที่คุณอยากให้เขาปฏิบัติต่อคุณ ถ้ามีใครมาพูดจาทำท่าทางหยาบคายหรือทำร้ายจิตใจคุณ อย่าได้โต้ตอบเขาไปด้วยการกระทำแบบเดียวกัน จงทำแบบที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน นั่นคือเป็นฝ่ายถอยห่างออกมาเองจะดีกว่า
  5. คบคนแบบไหนก็มักกลายเป็นคนแบบนั้น เพราะฉะนั้นขอให้แน่ใจว่าคุณได้เลือกคบแต่กับคนที่จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ดียิ่งขึ้น อย่าได้เสียเวลาไปสมาคมกับคนที่รังแต่จะทำให้คุณต่ำต้อยด้อยค่าลง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ยกระดับความเป็นผู้ใหญ่ทางอารมณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนที่ชอบระรานคนอื่น ลึกๆ แล้วมักเป็นเพราะขาดความมั่นใจ ไม่เห็นค่าของตัวเอง เป็นเหมือนหนทางให้เขาได้แสดงอำนาจข่มคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วการกลั่นแกล้งระรานนั้นส่งผลเสียทั้งกับผู้ถูกกระทำและกระทั่งกับคนที่เป็นผู้ลงมือ [8] หากพบว่าคุณเข้าไปพัวพันกับการข่มขู่กลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำก็ตาม ขอให้รีบปรึกษาพูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจ ไม่ว่าจะพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ก็ตาม เพื่อหาวิธีหยุดการกระทำนั้นโดยเร็ว
    • การข่มเหงระรานคนอื่นนั้นแยกออกได้เป็นสามประเภทหลักๆ ด้วยกัน คือ ทางคำพูด ทางสังคม และทางร่างกาย [9]
    • การระรานคนอื่นทางคำพูดนั้น เช่นการดูถูกเหยียดยามด้วยคำหยาบคายต่างๆ การใช้คำพูดข่มขู่ หรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง แม้หลายคนจะคิดว่ามันก็แค่คำพูด ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนการทำร้ายร่างกาย แต่จริงๆ แล้วเพียงคำพูดก็สามารถทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจได้ จงคิดให้ดีก่อนจะพูดอะไรออกไป และถ้าคิดว่าแม้แต่คุณเองก็คงไม่อยากได้ยินคำพูดเช่นนั้น ก็อย่าได้พูดออกไปกับใครเลย
    • การระรานคนอื่นทางสังคมนั้น คือการใส่ร้าย ทำลายชื่อเสียงหรือความสัมพันธ์ของคนคนนั้น การคว่ำบาตรไม่คบหา กระจายข่าวลือเสียๆ หายๆ ใส่ร้ายให้คนอื่นเกิดความอับอาย หรือกระทั่งการซุบซิบนินทา ล้วนแล้วแต่เป็นการกลั่นแกล้งทางสังคมด้วยกันทั้งนั้น
    • การระรานคนอื่นทางร่างกายนั้น ก็คือการลงมือทำร้ายให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย (หรือทำลายสิ่งของของคนคนนั้น) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงรูปแบบใดก็ตาม ไปจนถึงการทำลายหรือช่วงชิงสิ่งของของผู้อื่น หรือแม้แต่ทำท่าทำทางหยาบคายใส่ ก็นับเป็นการรังแกผู้อื่นทางร่างกายทั้งหมด
    • แต่ถึงคุณจะไม่ได้เป็นผู้กระทำและถูกกระทำ แต่ก็อย่าได้นิ่งเฉยหากพบเห็นคนที่กำลังถูกรังแก คุณไม่จำเป็นต้องเอาตัวเข้าไปขวางระหว่างกลางเพื่อช่วยเหลือ -- ซึ่งนั่นถือเป็นอันตรายต่อตัวคุณเอง -- ยังมีอีกมากมายหลายวิธีที่คุณทำได้เพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากการรังแกระรานซึ่งกันและกัน เช่น [10]
      • เป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการไม่เกะกะระรานคนอื่น
      • บอกคนที่ชอบรังแกคนอื่น ว่าการกระทำของเขามันไม่ใช่เรื่องตลกหรือน่าชื่นชมเลย
      • เห็นใจคนที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำ
      • ถ้ามีการรังแกกันเกิดขึ้น ขอให้รีบปรึกษาผู้ใหญ่
    • ถ้ารู้ตัวว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการระรานผู้อื่น ขอให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัด เพราะอาจมีสาเหตุที่ร้ายแรงกว่าซ่อนอยู่ สาเหตุที่ทำให้คุณจำเป็นต้องดูถูกหรือระรานคนอื่น ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพสามารถแนะแนวทางคุณไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่นในระยะยาวได้
  2. อย่านินทา กุข่าวลือ หรือพูดว่าร้ายลับหลังคนอื่นเขา. เพราะการนินทาว่าร้าย แพร่ข่าวลือที่ไม่มีมูล และการแอบแทงคนอื่นข้างหลังนั้นมันทำให้เขาเจ็บพอๆ กับการที่คุณไปต่อยหน้าเขายังไงอย่างงั้นเลย -- เผลอๆ จะเจ็บลึกกว่าด้วยซ้ำ [11] ถึงคุณจะบอกว่าที่ซุบซิบกันมันไม่ใช่เพราะเกลียดชังหรืออยากทำร้ายเขาสักหน่อย แต่นั่นก็ยังส่งผลเสียอยู่ดี จำไว้ว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา สนใจและใส่ใจความต้องการและความรู้สึกของคนอื่นเขา และไม่ทำอะไรที่จะทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นเป็นอันขาด
    • การนินทาคนอื่นไม่ได้ทำให้คุณดูเก๋าหรือเด่นดังขึ้นมาได้หรอก มีการวิจัยแล้วว่าการนินทาว่าร้ายนั้นอาจทำให้คุณดูเจ๋ง ถ้าคุณเป็นเด็กป.5 น่ะนะ แต่ถ้าอยู่ตั้งม.3 (ที่ควรจะเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว) ก็รู้ไว้เลยว่าพวกขี้นินทาน่ะไม่ค่อยมีใครชอบขี้หน้า เขาไม่คบคนแบบนี้กันหรอก [12]
    • อย่าร่วมด้วยช่วยนินทากับใครเขา ถ้าคนใกล้ตัวเกิดเอ่ยปากนินทาใครขึ้นมา อย่านิ่งดูดาย มีการวิจัยแล้วว่าแค่มีคนพูดขึ้นมาสักคนว่า “เฮ้ย เราไม่ชอบนินทาคนอื่น” เพื่อนก็จะฉุกคิดขึ้นมาในทันที [13]
    • บางที คุณอาจพูดถึงคนอื่นขึ้นมาในทางที่ดี แต่ก็ถูกคนเอาไปเข้าใจผิดๆ ได้ว่าเป็นการนินทา เช่น คุณอาจจะบอกเพื่อนว่า “เราชอบคุยกับศิณีมากเลยอะ เป็นคนฮามากเลย!” แต่ก็ดันมีคนเอาไปพูดต่อว่าคุณพูดไม่ดีถึงเพื่อนคนนั้น คุณควบคุมความคิดของคนอื่นที่มีต่อคำพูดของคุณ หรือห้ามไม่ให้เขาเอาไปใส่สีตีไข่เพิ่มเติมไม่ได้หรอกนะ สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือคิดก่อนพูดและทำ ขอให้แน่ใจว่าคำพูด ของคุณ ที่ออกไปนั้นมีแต่เรื่องดีๆ ก็พอ [14]
    • วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ว่าเรื่องไหนคือเรื่องนินทาหรือข่าวลือ ก็คือต้องถามใจตัวเอง ฉันอยากให้คนอื่นได้ยินหรือรู้เรื่องนี้ของฉันหรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือ ไม่ ก็อย่าไปเที่ยวเล่าให้ใครเขาฟังแต่แรก [15]
  3. ถ้ามีคนมาทำร้ายความรู้สึก ก็ขอให้รับมืออย่างที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน. ถ้าปล่อยได้ก็ปล่อยไป อย่าต่อล้อต่อเถียง แค่คุณเงียบก็เป็นการบอกทางอ้อมแล้วว่าคุณไม่พอใจกับสิ่งที่เขาพูด แต่ถ้าคุณทนนิ่งเฉยไม่ไหว ก็แค่บอกเขาไปตรงๆ ว่าคำพูดของเขามันหยาบคายไปหน่อยนะ ถ้าคนคนนั้นเขาขอโทษ ก็จบแค่นั้นซะ แต่ถ้าเขาไม่ยอมขอโทษ ก็เป็นฝ่ายเดินหนีไปจะดีกว่า
  4. ผู้ใหญ่คือคนที่รู้จักยอมรับและทำความเข้าใจ แค่เพราะคุณไม่เคยได้ยินได้ลองมาก่อน ก็ไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิจะตั้งป้อมใส่หรือตัดโอกาสตัวเองแต่แรก ขอให้มองว่าโอกาสดีๆ ที่จะได้ลองทำอะไร (หรือพบเจอใคร) ใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปมาถึงแล้ว [16] [17]
    • ถ้าพบเจอคนที่มีความเชื่อหรือนิสัยที่แตกต่างออกไปจากคุณ ขอได้อย่าด่วนตัดสินเขาแต่แรก แต่ให้ลองเปิดใจถามเขาดูก่อน เช่นว่า “คุณช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ/ครับ?” หรือ “ทำไมคุณถึงทำแบบนั้นคะ/ครับ?”
    • พยายามฟังให้มากกว่าพูด อย่างน้อยก็ในตอนแรก อย่ารีบขัดจังหวะคนอื่น หรือบอกว่า “แต่ฉันคือว่า---” ลองฟังเขาพูดดูก่อน แล้วคุณอาจจะแปลกใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ยิน
    • ไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามซะ ถ้ามีคนพูดหรือทำอะไรที่ดูแปลกๆ สำหรับคุณ ก็ลองฟังคำอธิบายจากเขาก่อนด่วนตัดสิน เช่น ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาดูถูกความเชื่อของคุณ อย่าเพิ่งโกรธ หายใจลึกๆ ก่อน แล้วลองบอกว่า “ฉันได้ยินคุณพูดว่า _______. คุณหมายความว่าอย่างนั้นหรือคะ?” ถ้าเขาบอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะพูดแบบนั้น ก็ถือว่าเราเข้าใจกันแล้ว
    • อย่าเพิ่งชิงมองใครเขาในแง่ร้าย ไม่ว่าต้องพบเจอเรื่องอะไร ก็ขอให้คิดไว้ก่อนว่าทุกคนก็เป็นคนธรรมดาสามัญเหมือนคุณ เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดจาโหดร้ายหรือทำร้ายจิตใจคุณก็ได้ แต่บางทีเขาก็ทำผิดพลาดไปบ้าง การหัดยอมรับคนอื่นในแบบที่เขาเป็น ก็ถือเป็นอีกก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน
    • เราเข้าใจ ว่าบางทีคุณก็เห็นต่างจากคนอื่นเขา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดตรงไหน บางทีเราก็แค่ต้องยอมรับว่าเราคิดเห็นไม่ตรงกัน -- ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งที่คนเป็นผู้ใหญ่เขาทำกัน
  5. คุณไม่จำเป็นต้องขอโทษในบางนิสัยที่ออกจะแปลกประหลาดหรือพิลึกพิลั่นของคุณ ถึงจะไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาก็เถอะ ตราบใดที่พฤติกรรมนั้นไม่ได้ส่งผลต่อการเข้าสังคมของคุณและไม่ได้ทำร้ายหรือทำให้ใครเขาเดือดร้อน คุณก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะแสดงออกถึงตัวตนอันมีเอกลักษณ์ของคุณ ก็คนที่เป็นผู้ใหญ่น่ะเขาไม่เคลือบแคลงสงสัยในตัวตนของตัวเอง หรือพยายามจะเป็นอะไรที่เขาไม่ได้เป็นหรอกนะ
    • การมุ่งมั่นตั้งใจกับงานอดิเรกและทักษะที่ตัวเองถนัดคือวิธีเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองได้เป็นอย่างดี คุณจะได้รู้ว่าคุณสามารถประสบความสำเร็จได้ขอเพียงตั้งใจจริง แถมยังเพิ่มพูนทักษะเจ๋งๆ เอาไว้ให้ได้แบ่งปันพูดคุยกับคนอื่นได้อีกด้วย
    • ระวังจิตใต้สำนึกที่คอยตัดกำลังใจ ถ้าเริ่มคิดแย่ๆ กับตัวเองเมื่อไหร่ ลองคิดดูว่าจะพูดอะไรแบบนั้นกับเพื่อนของตัวเองหรือเปล่า ถ้าแย่เกินกว่าจะเอาไปพูดกับเพื่อน ก็ไม่ควรเก็บมาบั่นทอนตัวเองเหมือนกัน ลองเปลี่ยนความคิดแง่ร้ายที่มีต่อตัวเองนั้นมาเป็นพลังทางบวกไว้พัฒนาตัวเองดีกว่า [18]
    • เช่น คุณอาจคิดว่า “ฉันมันไอ้ขี้แพ้! ห่วยเลขชนิดกู่ไม่กลับเลย” คิดแบบนี้ไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แถมไม่ใช่อะไรที่คุณจะเอาไปว่าเพื่อนแน่นอน
    • เอาความคิดแบบนั้นมาแปลงเป็นพลังงานทางบวกดูว่าคุณสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ “ฉันไม่ค่อยเก่งเลขเท่าไหร่ ต้องขยันมากกว่านี้อีก ถึงสุดท้ายจะไม่เก่งขนาดได้เกรด 4 แต่ก็จะได้ภูมิใจว่าทำดีที่สุดแล้ว”
  6. สิ่งหนึ่งที่บอกได้ถึงการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือยอมรับและกล้าแสดงตัวตนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้คุณเป็นคนมั่นใจในตัวเองโดยไม่ต้องวางท่าใหญ่โตหรือคุยโม้โอ้อวดอะไรเลย คนเป็นผู้ใหญ่ไม่ต้องยกตนข่มท่าน หรือแสร้งเป็นอะไรที่ทำให้ตัวเองต้องอึดอัดรู้สึกไม่ดี [19]
    • หยิบยกเรื่องที่คุณสนใจจริงๆ มาพูดคุย เพราะคนอื่นเขาดูออก ว่าคุณใส่ใจในเรื่องที่พูดออกมาหรือเปล่า
    • เวลาความคิดแง่ลบที่มีต่อตัวเองนั้นแวบขึ้นมา อาจทำให้คุณพยายามกลบเกลื่อนมันจนมากเกินไป เช่น คุณเกิดมีความคิดขึ้นมาว่า “กังวลเรื่องสอบอาทิตย์หน้าจะตายอยู่แล้ว” ปฏิกิริยาแรกของคุณอาจเป็นการแย้งว่า “สอบก็สอบไม่เห็นเป็นไรเลย!” นี่เป็นการหนีความจริง คนเป็นผู้ใหญ่เขาต้องกล้ายอมรับเวลาตัวเองรู้สึกกังวลหรือไม่มั่นใจ ไม่มีใครมั่นใจได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
    • บอกให้ชัด ว่าคุณรู้สึกยังไง มัวแต่ชักแม่น้ำทั้งห้าหรือโมโหกลบเกลื่อนไม่ใช่วิธีที่ผู้ใหญ่เขาใช้จัดการกับความรู้สึกของตัวเองกัน จริงอยู่ว่าควรสุภาพและให้เกียรติคนอื่นเสมอ แต่ก็ต้องกล้าเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองด้วยเหมือนกัน [20]
    • ถ้าคิดว่าดีก็ขอให้ทำต่อไป อาจจะมีใครวิพากษ์วิจารณ์หรือถากถางการกระทำคุณอยู่บ้าง แต่หากคุณยึดมั่นกับหลักประจำใจของตัวเอง คุณก็จะภูมิใจว่าได้ซื่อสัตย์ต่อตัวตนที่แท้จริง ถ้าจะมีใครที่ไม่เห็นความสำคัญ ความคิดเห็นของเขาก็ไม่จำเป็นสำหรับคุณเช่นกัน [21]
  7. อาจถือได้ว่าส่วนสำคัญที่สุดในการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก็คือการกล้ายืดอกยอมรับผลจากคำพูดและการกระทำของตน จำไว้ว่าไม่มีอะไรที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น กับ คุณซะเฉยๆ เป็นคุณเองนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ทั้งคำพูดและการกระทำของคุณต่างก็ส่งผลต่อตัวคุณเองและคนรอบข้างทั้งนั้น ถ้ารู้ว่าทำผิดก็จงยอมรับมันซะ ขอให้รู้ว่าคุณไม่สามารถไปบังคับให้ใครทำอะไรตามใจได้ แต่คุณเลือกได้ว่าคุณควรจะทำอะไรลงไป [22] [23]
    • รับผิดชอบข้อผิดพลาดของตัวเอง เช่น ถ้าเขียนเรียงความออกมาแย่มาก อย่าได้คิดโยนความผิดให้อาจารย์ผู้สอนเป็นอันขาด คิดพิจารณาให้ดีว่าตัวเราเองนั่นแหละทำอะไรลงไปบ้าง ถึงได้พาตัวเองมาถึงจุดนี้ แล้วจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไรในคราวหน้า?
    • ปล่อยวางบ้าง อย่าเอาแต่ทวงความยุติธรรม ชีวิตก็แบบนี้ ไม่มีอะไรเข้าข้างคุณได้ตลอดหรอกนะ บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะได้รับ ก็กลับไม่ได้ซะอย่างนั้น แต่คนโตๆ เขาไม่ปล่อยให้ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมมาขัดขวางทางสู่ความสำเร็จของเขาได้หรอกนะ
    • อะไรที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา ก็เอาให้เต็มที่ เรารู้ว่าบางครั้งคุณรู้สึกเหมือนกำหนดอะไรในชีวิตตัวเองไม่ได้ซะเลย แต่มันถูกแค่ครึ่งเดียว เป็นเรื่องจริงที่คุณบังคับให้ผู้จัดการร้านอาหารยอมรับคุณเข้าทำงานไม่ได้ และก็เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะบังคับใจให้คนที่คุณแอบชอบเขามายอมคบหากับคุณ แต่ก็มีหลายอย่างเหมือนกัน ที่คุณนั่นแหละต้องเป็นคนกำหนดด้วยตัวเอง เช่น
      • เรื่องงาน - คุณเลือกได้ที่จะอ่านทวนแล้วปรับปรุงใบสมัครงานให้ออกมาดีกว่าเดิม คุณสามารถซ้อมสัมภาษณ์งานให้มากเท่าที่จะทำได้ คุณเลือกได้ว่าจะแต่งตัวออกมาให้ดูน่าเชื่อถือที่สุด และคุณเองอีกนั่นแหละที่เลือกจะเดินทางไปสัมภาษณ์งานให้ตรงตามเวลา แม้สุดท้ายแล้วคุณจะยังไม่ได้งานที่ฝันอยู่ดี แต่ก็ขอให้ภูมิใจว่าคุณได้ทำทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบอย่างสุดความสามารถแล้ว
      • เรื่องหัวใจ - คุณเลือกได้ที่จะเป็นคนมีอารมณ์ขัน ใจดี ให้เกียรติเขา คุณเลือกได้ที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของคุณออกมาเวลาอยู่ด้วยกัน คุณเลือกเปิดใจได้ว่าคุณอยากเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเขา/เธอ เหล่านี้คือสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของคุณ และถึงสุดท้ายคุณกับเขาจะไม่ได้คบหากัน อย่างน้อยคุณก็โล่งใจว่าได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ และลองทำดีที่สุดแล้ว
    • อย่าถอดใจง่ายๆ คนส่วนใหญ่มักจะยอมแพ้เมื่อล้มเหลว เพราะมันง่ายกว่าเริ่มต้นใหม่เห็นๆ การบ่นว่า “ฉันมันไอ้ขี้แพ้” มันง่ายกว่าบอกตัวเองว่า “วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลสินะ งั้นลองวิธีอื่นดูดีกว่า!” ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมายอมรับกับผลอันเกิดจากการตัดสินใจของคุณเอง แล้วพยายามต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

พูดจาประสาผู้ใหญ่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. จริงอยู่ว่าความโกรธเป็นอารมณ์รุนแรง แต่รู้ไหมว่าคุณสามารถควบคุมมันได้ แค่อย่าเก็บเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมาใส่ใจ ถ้ารู้ตัวว่ากำลังไม่พอใจเมื่อไหร่ หยุดซะ แล้วตั้งสติสัก 10 วินาทีก่อนจะพูดหรือทำอะไรลงไป วิธีนี้จะทำให้คุณไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง และรู้จักสื่อสารกับคนอื่นอย่างเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น [24]
    • พอหยุดตั้งสติ ก็ให้ถามตัวเองว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ปัญหาจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน? ทำไมเราถึงได้ไม่พอใจ? คุณอาจจะคิดได้ตอนนั้น ว่าจริงๆ แล้วคุณกำลังโกรธเรื่องเมื่อสองวันที่แล้ว ไม่ได้หงุดหงิดเพราะต้องมานั่งทำความสะอาดห้องตัวเองซะหน่อย
    • คิดหาทางแก้ที่เป็นไปได้ ลองยกมาพิจารณาสักสองสามวิธี คุณอาจตีตนไปก่อนไข้ก็ได้ มองให้ออกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
    • มองการณ์ไกลถึงผลที่จะตามมา คนเรามักพลาดกันตรงจุดนี้นี่แหละ “ทำตามใจฉัน” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดเสมอ แต่มันช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ? หรือกลับทำให้ยิ่งเลวร้าย? ลองคิดพิจารณาดูว่าแต่ละทางเลือกจะส่งผลอะไรบ้าง
    • ตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหา พอคิดให้ดีถึงผลที่จะตามมาของแต่ละตัวเลือกแล้ว ก็ให้เลือกวิธีที่คิดว่าดีที่สุด บอกเลยว่าไม่ใช่วิธีที่ง่ายที่สุดหรือสนุกที่สุดเสมอไป! การยอมรับข้อนี้ได้นี่แหละอีกก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่
    • ถ้าคิดจะพูดอะไรออกไป ขอให้พูดอย่างสงบเยือกเย็น และโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เพื่อบอกให้คู่กรณีได้รับรู้ความรู้สึกของคุณ ถ้าเขาเอาแต่เถียงลูกเดียว ไม่คิดจะรับฟัง ขอให้เดินหนีไปซะ เพราะได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน
    • ถ้าเดือดเกินทน หรือกำลังคิดจะโต้ตอบ ขอให้หายใจเข้าลึกๆ แล้วนับ 1 ถึง 10 ต้องอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุดนะ อย่าปล่อยให้ความโกรธทำคุณหน้ามืดตามัว
    • ถ้าคุณเป็นคนโมโหง่าย ก็มีแนวโน้มว่าคนเขาจะยั่วโมโหคุณอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าคุณควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เมื่อไหร่ คนพวกนั้นก็จะเบื่อไปเอง แล้วหายหน้าไปในที่สุด
  2. คนเป็นผู้ใหญ่ เวลาเขาพูดคุยสื่อสารกัน มักนิยมใช้วิธีและพฤติกรรมแบบเชิงรุก เชิงรุกที่ว่าไม่ได้แปลว่าทำตัวยะโสโอหัง ยกตนข่มท่าน หรือก้าวร้าวแต่อย่างใด แต่คือคนที่กล้าแสดงออก บอกความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างชัดเจน ในขณะที่รับฟังความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของผู้อื่นเช่นกัน [25] ถ้าเป็นคนอวดดี เห็นแก่ตัว จะไม่ใส่ใจความต้องการของผู้อื่น และเอาแต่มุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนตน -- ไม่สนว่าจะทำให้ใครเขาเดือดร้อนหรือเปล่า คุณต้องหัดยืนหยัดเพื่อตัวเอง โดยที่ไม่ทำตัวเย่อหยิ่งหรือก้าวร้าว แล้วคุณจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในทันที ข้างล่างคือวิธีที่จะทำให้คุณสามารถสื่อสารได้ในแบบเชิงรุก [26] [27]
    • เมื่อเกิดปัญหา ขอให้ใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน/ผม” เพราะการกล่าวถึงแต่ “เธอ/คุณ” ทำให้คนอื่นเขารู้สึกเหมือนถูกกล่าวหาว่าร้าย ซึ่งพูดอะไรไปเขาก็ไม่มีทางฟังคุณแน่นอน ขอให้เน้นที่ความรู้สึกและสถานการณ์ของคุณ จะทำให้การโต้แย้งเป็นไปในทางบวก ได้ผลจริง และเป็นการสื่อสารแบบที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน
      • เช่น แทนที่จะบอกพ่อแม่ว่า “พ่อกับแม่ไม่เคยฟังหนู/ผมเลย!” ลองเปลี่ยนมาใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” แทน อย่าง “หนู/ผมอยากให้พ่อกับแม่ช่วยฟังเรื่องของหนู/ผมหน่อย” พอคุณบอกว่าคุณ “รู้สึก/อยาก” บางอย่าง คนฟังก็จะอยากรู้ถึงสาเหตุขึ้นมา
    • รับฟังความต้องการของคนอื่นด้วย เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวคุณ เป็นเรื่องดีที่คุณจะบอกความรู้สึกและความต้องการของคุณให้ชัดเจน แต่ก็อย่าลืมถามไถ่เรื่องของคนอื่นด้วย คนที่ยกประโยชน์ส่วนรวมอยู่เหนือประโยชน์ส่วนตนนี่แหละผู้ใหญ่ตัวจริง
    • อย่าด่วนสรุปอะไร ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับใคร ถามเลย! อย่าชิงตัดสินไปก่อน -- อย่าลืมว่าคุณยังไม่ได้ฟังรายละเอียดของเรื่องทั้งหมดเลย
      • เช่น ถ้าเพื่อนลืมว่านัดจะไปช้อปปิ้งด้วยกันกับคุณ อย่ารีบเหมาเอาว่าเพื่อนไม่แคร์คุณ หรือทำตัวแย่ซะจริง
      • กลับกัน ให้พูดกับเพื่อนด้วยประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” แล้วเปิดโอกาสให้เพื่อนได้เผยความรู้สึกของตัวเอง เช่น “ฉันเสียใจมากนะ ที่เธอมาช้อปปิ้งด้วยกันไม่ได้น่ะ เกิดอะไรขึ้นเหรอ?”
    • ให้ความร่วมมือกับคนอื่น แทนที่จะบอกว่า “ฉันอยากไปเล่นสเก็ตบอร์ด” ให้เปลี่ยนมาถามความต้องการของคนอื่นแทนว่า “ทุกคนอยากไปทำอะไรกันเหรอ?”
  3. เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรม ว่าคนโตๆ น่ะเขาไม่พูดจาสบถสาบานกัน คำสบถจะทำเอาคนอื่นช็อคไปตามๆ กัน ไม่ก็ทำให้เขารู้สึกว่าคุณกำลังดูถูกเขาอยู่ ที่สำคัญคือใครสบถสาบานจนติดปาก ระวังจะถูกคนเขามองว่าพูดจาไม่ดี พูดจาไม่รู้เรื่องเอาซะเลย [28] แทนที่จะพูดคำหยาบคาย ให้ลองเพิ่มพูนคำศัพท์ใหม่ๆ ดู จะได้เอาไว้ใช้อธิบายความรู้สึกและตัวตนของตัวเอง
    • ถ้าชอบสบถเวลาโมโหหรือเผลอทำตัวเองเจ็บ ลองคิดว่ามันเป็นเกมดู แล้วคิดค้นคำอุทานใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างแทนที่จะสบถตอนเดินเตะนู่นชนนี่ มันจะฮากว่าเยอะเลย (คนจะมองคุณดีกว่าด้วย) ถ้าลองอุทานอะไรสร้างสรรค์อย่าง “ไอ้ลิงติงต๊องเอ๊ย!”
  4. คนอื่นเขาไม่ชอบหรอกนะถ้าคุณขึ้นเสียง โดยเฉพาะตอนโกรธ ดีไม่ดีเขาจะพากันคว่ำบาตรคุณเอา [29] ส่วนไอ้การแผดเสียงแว๊ดๆ น่ะ มีแต่เด็กอมมือที่ทำ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่เขานิยมกันหรอก
    • ถึงจะโกรธแค่ไหน ก็ขอให้พูดด้วยเสียงราบเรียบ สงบเข้าไว้ [30]
  5. กิริยาท่าทางบอกตัวตนของคุณได้พอๆ กับคำพูดคำจา เช่น การกอดอกบอกให้คนอื่นรู้ว่าคุณไม่สนใจรับฟังสิ่งที่เขากำลังพูด ยืนห่อเหี่ยวทำท่าทางเซ็งๆ แปลว่าคุณไม่ได้ “มีกะจิตกะใจ” ฟังที่คนอื่นพูด หรืออยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า หัดสังเกตภาษากายตัวเองไว้ ให้แน่ใจว่ามันกำลังสื่อความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของคุณ [31] [32]
    • ทิ้งแขนสองข้างสบายๆ ข้างตัว ดีกว่ายืนกอดอก
    • ยืนตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง ใบหน้าตั้งตรงขนานกับพื้น
    • อย่าลืมรักษาสีหน้าด้วย อย่ากลอกตา หรือเอาแต่ก้มมองพื้น
  6. หัวข้อเหล่านั้นก็เช่น เรื่องโรงเรียน ข่าวสารบ้านเมือง ประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยพบเจอมาในชีวิต และบทเรียนสอนใจที่ได้เรียนรู้มา ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ห้ามคุณไปเที่ยวเล่นทำตัวติงต๊องกับเพื่อนฝูงนะ แค่ให้รู้จักกาลเทศะว่าคุณกำลังคุยกับใคร คุณคงไม่เอาเรื่องที่คุยเล่นกับเพื่อนซี้ไปเล่าให้ครูสอนเลขฟังด้วยใช่ไหมล่ะ
    • สงสัยอะไรก็ให้ถาม หนึ่งในลักษณะสำคัญของคนที่เป็นผู้ใหญ่ก็คือสนใจใคร่รู้ ถ้าเอาแต่เล่า เรื่องตัวเอง ให้คนอื่นฟัง ก็แปลว่าคุณไม่ใช่ผู้ใหญ่สักเท่าไหร่ ต้องหัดถามสารทุกข์สุกดิบของคนอื่นด้วย ถ้ามีคนพูดอะไรน่าสนใจขึ้นมา ก็บอกไปเลยว่า “เล่าให้ฟังอีกได้ไหม!”
    • ถ้าไม่รู้จริงอย่าอวดฉลาด บางครั้งการยอมรับว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรก็ตามมันออกจะน่าอาย โดยเฉพาะถ้าคุณอยากให้คนอื่นมองว่าเป็นผู้ใหญ่และรอบรู้ แต่การแสร้งทำเป็นรู้อะไรก็ตามที่สุดท้ายแล้วคนอื่นจับได้ว่าคุณน่ะมั่ว บอกเลยว่าจะทำให้คุณดู (และรู้สึก) โง่สุดๆ ไปเลย จะดีกว่าเยอะถ้าคุณบอกว่า “ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ต้องไปหาอ่านดูมั่งแล้ว!”
  7. ถ้าตอนนั้นหาคำพูดดีๆ มาพูดไม่ได้ ก็เงียบไว้ก่อนจะดีกว่า นิสัยหนึ่งของคนไม่รู้จักโต ก็คือชอบวิพากษ์วิจารณ์ไปซะทุกอย่าง แถมยังชอบจับผิดคนอื่นเขาด้วย ที่สำคัญคือไม่ลังเลที่จะพูดจาทำร้ายจิตใจในทุกเรื่อง ส่วนใหญ่คนพวกนี้มักอ้างว่าไม่ได้พูดจาโหดร้าย แต่แค่ "พูดตรงๆ" แต่สำหรับคนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะคิดหาคำพูดอย่างระมัดระวัง และจะไม่มีทางทำร้ายความรู้สึกคนอื่นเพราะตัวเอง "เป็นคนตรงไปตรงมา" เพราะฉะนั้นขอให้คุณระวังคำพูด และอย่าพูดอะไรที่มันทำร้ายจิตใจคนอื่น จำไว้ว่าจงปฏิบัติต่อคนอื่นให้เหมือนกับที่คุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตัวคุณเอง
  8. ถึงคุณจะระมัดระวังมากแค่ไหน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะพูดอะไรผิดไป หรือเผลอพูดอะไรไม่เข้าหูคนอื่นไปบ้าง ใครๆ ก็พลาดทำเรื่องโง่ๆ กันได้ เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่ดีไปซะทุกอย่าง เพียงแต่คุณเลือกได้ที่จะลืมเรื่องศักดิ์ศรีไปก่อน แล้วบอกว่า "ฉัน/ผมขอโทษ" ซะ เวลาที่ทำอะไรผิดแล้วรู้จักขอโทษอย่างจริงจังและจริงใจ นี่แหละที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน
  9. เรารู้ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่แค่ลองคิดดู ว่าคุณอยากให้คนอื่นเขาพูดกับคุณยังไง คุณก็จะรู้ว่าควรพูดกับคนอื่นว่าอะไร ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคิดจะพูด จงถามตัวเองว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ และนึกถึงใจผู้อื่นแล้วหรือเปล่า” จงคิดก่อนพูด แล้วคนเขาจะเห็นความจริงใจของคุณเอง แถมการรักษาน้ำใจยังแสดงให้เห็นว่าคุณแคร์คนอื่นอย่างแท้จริง [33]
    • เช่น ถ้าเพื่อนถามว่าใส่ชุดนี้แล้วอ้วนหรือเปล่า ให้ลองคิดดูว่าอะไรที่พูดแล้วเป็นผลดีกับเพื่อนที่สุด เรื่องความสวยความงามมันแล้วแต่คน เพราะฉะนั้นไปวิจารณ์หุ่นหรือชุดของเพื่อนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา กลับกัน ถ้าบอกเพื่อนว่าเพื่อนน่ารักอยู่แล้ว และชุดนี้ก็ใส่แล้วดูเป็นเธอดี ก็จะช่วยทำให้เพื่อนมั่นใจขึ้นได้อีกเยอะเลย
    • แต่ถ้าคิดว่าชุดนั้นของเพื่อนมันดูไม่ดีจริงๆ มันก็มีวิธีบอกที่แนบเนียนอยู่เหมือนกัน ถ้า คุณคิดว่ามันจะเป็นผลดีกับเพื่อนจริงๆ น่ะนะ เช่น “รู้เปล่า เราชอบชุดแดงมากกว่านะ” เป็นวิธีที่พูดแล้วไม่ไปติติงหุ่นของเพื่อนเขา -- ไม่มีใครชอบให้คนมาบอกว่าเราอ้วนหรอก -- นี่จะเป็นวิธีที่ตอบคำถามของเพื่อนได้ ว่าเธอดูดีไหมเวลาใส่ชุดนั้น
    • นักพฤติกรรมศาสตร์แนะนำว่า บางครั้งการไม่พูดความจริง ก็ถือเป็นการ “รักษาน้ำใจ” กัน โกหกบ้างก็ได้ ถ้าทำให้คนอื่นไม่ต้องอายหรือเสียใจ คุณเองต้องเป็นคนตัดสินใจว่าคุณอยากจะทำแบบนั้นหรือเปล่า แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทำอะไร ขอแค่คิดถึงใจคนอื่นเข้าไว้ก็แล้วกัน [34]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

สุภาพอ่อนน้อมเข้าไว้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าพบผู้ใหญ่ก็ยกมือไหว้ให้สวยงาม รับไหว้คนที่เด็กกว่าด้วยรอยยิ้ม และเอ่ยคำทักทายอย่างจริงใจกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หากต้องทักทายด้วยการจับมือ ขอให้จับมืออย่างมั่นคง มั่นใจ และสบตากับอีกฝ่าย แต่ไม่ว่าจะทักทายอย่างไรก็ตาม ขอให้เป็นไปอย่างสุภาพและเหมาะสม เมื่อพบเจอคนใหม่ๆ ขอให้พยายามจำชื่อเขาให้ได้ ด้วยการเรียกชื่อเขาบ่อยๆ “ยินดีที่ได้รู้จักนะ แหวน” มารยาทอันดีจะบอกให้รู้ว่าคุณรู้จักเคารพคนอื่น ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน [35]
    • ตลอดการสนทนา ขอให้ตั้งใจฟัง และสบตาอีกฝ่าย แต่ไม่ได้หมายความให้จ้องเขาตาไม่กระพริบนะ ใช้กฎ 50/70 ก็ได้ คือสบตาเขา 50% ของเวลาที่เราพูด และ 70% ของเวลาที่เขาพูด [36]
    • อย่าคุ้ยแคะแกะเกาหรือมืออยู่ไม่สุข ทำแบบนั้นแปลว่าคุณขาดความมั่นใจ ทำใจให้สบายแล้วผายมือเข้าไว้
    • อย่านั่งใจลอยไปถึงไหนต่อไหน คนส่วนใหญ่เขาก็ดูออกกันทั้งนั้น เวลาคุยกับใครแล้วเขาไม่ได้ฟังอยู่จริงๆ น่ะ นั่นทำให้เขาเสียใจนะรู้ไหม
    • ห้ามคุยโทรศัพท์หรือส่งข้อความหาคนอื่นตอนที่คุณควรจะตั้งใจฟังคนตรงหน้า ทำแบบนี้มันไม่ให้เกียรติคู่สนทนาเลย
    • เวลาเข้าไปเจอสถานการณ์ใหม่ๆ หรือคนกลุ่มใหม่ ขอให้ลองสังเกตการณ์ดูเงียบๆ ก่อนว่าคนอื่นเขาทำตัวยังไงกัน ไม่ใช่เรื่องของคุณเลยที่จะไปบอกให้คนอื่นเขาทำนั่นทำนี่ คุณควรจะคอยสังเกตไปก่อนอย่างมีมารยาท
  2. การพูดคุยสนทนาออนไลน์อย่างมีมารยาทแสดงให้เห็นว่าคุณให้เกียรติเพื่อนๆ ครอบครัว และคนอื่นๆ ที่คุณพูดคุยด้วยในโลกออนไลน์ นี่แหละผู้ใหญ่ตัวจริง ขอให้คิดอยู่เสมอว่าอะไรที่คุณพิมพ์คุณโพสต์ไปจะเผยแพร่สู่สายตาอีกหลายๆ คน โดยอาจรวมถึงเจ้านายในอนาคต ครูบาอาจารย์ และอื่นๆ อีกมากมาย อย่าโพสต์อะไรที่จะกลับมาทำให้ตัวเองต้องอายหรือเสียหายก็แล้วกัน [37] [38]
    • อย่าใช้ภาษารุนแรงหรือหยาบคาย อย่าใช้เครื่องหมายตกใจพร่ำเพรื่อ อย่าลืมว่าสื่อสารกันแบบไม่เห็นหน้า บางทีคนอ่านก็ไม่เข้าใจว่าคุณจะสื่ออะไร เพราะฉะนั้นอย่ายัดเยียดอะไรที่เยอะเกินไปให้คนอื่นดีกว่า
    • กด Shift หน่อยก็ดี ถ้าคิดจะพิมพ์ภาษาอังกฤษ แทนที่จะพิมพ์เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด ควรกด Shift ให้ตัวอักษรตัวแรกของประโยคและชื่อเฉพาะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ให้ถูกต้อง และอย่าพยายามพิมพ์ตัวเล็กตัวใหญ่สลับไปมาตามใจชอบ อย่าง cApitaliZaTion สงสารคนอ่านบ้างเถอะ
    • แต่ก็อย่าพิมพ์ด้วยตัวใหญ่ซะทั้งหมด ภาษาเน็ตแบบนี้ก็เหมือนการตะโกนคุยกันนั่นแหละ ถ้าสมมติบอลทีมโปรดของคุณเพิ่งแข่งชนะแล้วคุณทวีตด้วยความดีใจก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่อย่าใช้เป็นประจำเวลาเขียนอีเมลหรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียเลย [39]
    • เวลาเขียนอีเมล อย่าลืมคำขึ้นต้น (อย่าง “สวัสดีค่ะ/ครับ” หรือ “เรียน”) ถ้าไม่ใช้แล้วอาจทำให้ดูไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่ โดยเฉพาะถ้าส่งถึงคนที่ไม่สนิทชิดเชื้อหรือคนที่เคารพอย่างครูบาอาจารย์ และอย่าลืมคำลงท้าย อย่าง “ขอบคุณค่ะ/ครับ” หรือ “ด้วยความเคารพ”
    • ตรวจทานก่อนส่งอีเมลหรือโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้พิมพ์อะไรผิดพลาด พยายามเขียนเป็นประโยคครบถ้วนสมบูรณ์ และอย่าลืมเว้นวรรค หรือใส่เครื่องหมายวรรคตอนระหว่างประโยคให้ถูกต้อง
    • อย่าใช้คำย่อ ภาษาวัยรุ่น และอีโมติค่อนแบบเลอะเทอะ ถ้าจะส่งข้อความหาเพื่อนก็ใช้ไปเถอะ แต่อย่าเผลอใช้ตอนส่งอีเมลหาครูก็แล้วกัน โดยเฉพาะห้ามใช้เด็ดขาดในสถานการณ์ที่อยากให้คนอื่นมองว่าเป็นผู้ใหญ่น่ะ
    • คุยกับคนอื่นในชีวิตจริงยังไง ก็คุยในโลกออนไลน์แบบนั้น ปฏิบัติต่อคนอื่น ให้เหมือนกับที่อยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา ถ้าอยากให้คนอื่นเขาทำตัวดีๆ กับเรา เราก็ต้องดีกับเขาก่อน ถ้านึกหาคำพูดดีๆ น่าฟัง ไม่ออก ก็เงียบไว้จะดีกว่า
  3. เปิดประตูให้คนอื่น หยิบของให้ และช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน อย่าลืมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือคนอื่นๆ ในชุมชน อย่างการให้คำแนะนำกับเด็กรุ่นน้อง ช่วยติวหนังสือ หรือช่วยงานตามศูนย์พิทักษ์สัตว์ เวลาเราเห็นคนอื่นมีความสุข เราก็จะพลอยมีความสุขไปด้วย การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน นี่แหละผู้ใหญ่ขนานแท้
    • การช่วยเหลือคนอื่นช่วยให้คุณมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้น มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น เราจะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรสักอย่างสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจในการกระทำของตนเอง [40]
    • คุณอาจไม่ได้รับผลตอบแทนจากการช่วยเหลือคนอื่นเสมอไป ต้องมีบางล่ะ ที่ช่วยใครเขาแล้วไม่ได้รับ “คำขอบคุณ” หรือได้รับความช่วยเหลือกลับคืน ก็ช่างเขาเถอะ ขอแค่คุณรู้ว่าเราช่วยเขาเพราะเรา อยากช่วย ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ก็พอ
  4. ถ้าคุณเอาแต่แย่งพูด แล้วก็พูดแต่เรื่องตัวเองตลอด แทนที่จะให้โอกาสคนอื่นเขาได้พูดบ้าง มันแสดงให้เห็นเลยนะว่าคุณน่ะไม่ให้เกียรติคนอื่นแถมยังทำตัวเหมือนเด็กๆ การใส่ใจในความสนใจและเรื่องราวของคนอื่นอย่างจริงใจนั่นแหละที่ทำให้คุณดูเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง ดีไม่ดีคุณจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรืออาจเจอคนที่คุณถึงกับซูฮกกับเรื่องที่เขาเล่าก็ได้นะ
  5. ถ้ามีใครชมคุณ ก็แค่ "ขอบคุณ" เขา อย่าได้ต่อความยาวสาวความยืด แต่ถ้ามีคนติติงคุณ ขอให้ตอบกลับอย่างสุภาพว่า "ขอบคุณที่แนะนำค่ะ/ครับ" ถึงที่เขาติติงมาจะไม่เป็นความจริง แต่การรับมืออย่างสุภาพก็จะทำให้คุณดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นทันตา [41]
    • อย่าน้อยใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น บางทีเขาก็แค่อยากช่วยนั่นแหละ แต่ใช้คำพูดไม่เป็น ถ้าคุณคิดว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารละก็ ลองให้เขาอธิบายดู “อาจารย์บอกว่าอาจารย์ไม่ชอบเรียงความของหนู/ผม ถ้าอาจารย์จะกรุณาช่วยอธิบายได้ไหมคะ/ครับว่าต้องแก้ตรงไหนบ้าง คราวหน้าหนู/ผมจะได้เอาไปปรับปรุงให้ดีขึ้น”
    • แต่บางทีคำวิจารณ์ติติงนั้นก็สื่อให้เห็นถึงตัวตนของคนพูดได้ดีกว่าที่เขาตั้งใจจะสื่อถึงคุณซะอีก ถ้าคุณคิดว่าคำวิจารณ์นั้นออกจะไม่แฟร์หรือทำร้ายจิตใจกันไปหน่อย ก็ให้คิดซะว่าเขาคงกดคุณให้ตัวเองรู้สึกดีหรือสูงส่งขึ้นละมั้ง เพราะงั้นก็อย่าใส่ใจคนแบบนี้เลยจะดีกว่า
    • การยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบเยือกเย็นไม่ได้แปลว่าคุณจะลุกมาปกป้องตัวเองไม่ได้นะ ถ้าใครเขาทำให้คุณเสียใจละก็ ให้บอกเขาไปอย่างสงบและสุภาพว่า “ฉันรู้ว่าเธอคงไม่ได้ตั้งใจ แต่ที่เธอว่าชุดของฉันนั่นฉันเสียใจนะ คราวหน้า ถ้าเป็นไปได้อย่ามาวิจารณ์กันได้ไหม?”
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ใจดี คิดถึงใจคนอื่น และเป็นมิตรกับทุกคน! และอย่าทำแค่วันเดียวนะ เปลี่ยนตัวเองให้ได้ในระยะยาวเลย
  • การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่อะไรที่ทำได้ง่ายๆ แต่อย่างไรก็ดี การเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หมายความว่าต้องสูญเสียตัวตนที่แท้จริงของคุณไป กลับกันเลย ชอบอะไรก็ขอให้ทำต่อไป และทำให้ดีที่สุดด้วย ใครแก่ใครเด็กกว่าใครไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าอยากให้คนอื่นเขาให้เกียรติให้ความสำคัญละก็ ขอให้คิดพิจารณาและลงมือทำในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเขาจดจำเรา แต่ให้แน่ใจว่าพอเริ่มต้นแล้ว ขอให้มีความมั่นใจ แน่วแน่ในทางเลือกของตน และถ้าหากมีอะไรผิดพลาดไปละก็ - ขอให้สงบจิตสงบใจให้ได้มากที่สุด และคิดหาวิธีต่อไป ห้ามโทษคนอื่น เพราะคุณเองที่เลือกทำเช่นนั้น คุณก็ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำ สุขุมให้สมกับเป็นผู้ใหญ่และกล้ายอมรับมัน
  • ถ้าเกิดขัดแย้งกับคนอื่นเข้า อย่าพยายามโต้เถียงกัน ขอให้พยายามหาทางแก้ไขอย่างสงบด้วยเหตุผล แต่ถ้าเรื่องเริ่มลุกลามบานปลายละก็ ขอให้จบลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ปฏิบัติต่อคนอื่น ให้เหมือนที่อยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา นี่แหละหัวใจของการเป็นผู้ใหญ่
  • เขียนเป้าหมายสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และกำหนดแผนการที่ต้องทำให้สำเร็จ เช่น ตัดสินใจเริ่มจากการสงบปากสงบคำ แทนที่จะเอาแต่พูดเรื่องตัวเองตลอดเวลา ลองทำให้ได้สักอาทิตย์นึงเต็มๆ ว่าจะสำเร็จไหม ถึงครั้งแรกจะทำได้ไม่ครบที่กำหนดก็ไม่เป็นไร แค่พยายามต่อไปก็แล้วกัน
  • รู้จักอภัย ถึงบางคนจะไม่น่าให้โอกาสได้แก้ตัว แต่ก็อภัยให้เขาก็เถอะ เพราะจะทำให้คุณดูเป็นผู้ใหญ่ น่านับถือกว่าเขาเยอะเลย
  • แต่งตัวให้เข้ากับกาลเทศะ ผมสีส้มชี้โด่ชี้เด่อาจแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของคุณได้ดี แต่ถ้าคุณต้องทำงานในสถานที่ที่ค่อนข้างจะเป็นทางการ ใครเห็นเข้าก็อาจเหมาไปเองจากรูปกายภายนอกว่าคุณน่ะไม่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งที่อาจไม่เป็นความจริงเลย
  • อย่าลืมใส่ใจเรื่องของคนอื่นด้วย นี่แหละที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน
  • ตรงต่อเวลาให้เป็นนิจ!
โฆษณา
  1. http://www.stopbullying.gov/respond/be-more-than-a-bystander/index.html
  2. http://www.apa.org/research/action/blues.aspx
  3. http://www.apa.org/research/action/blues.aspx
  4. http://www.apa.org/research/action/blues.aspx
  5. http://kidshealth.org/kid/feeling/friend/gossip.html
  6. http://kidshealth.org/kid/feeling/friend/gossip.html#
  7. http://www.forbes.com/sites/davidkwilliams/2013/01/07/the-5-secret-tricks-of-great-people-how-to-become-open-minded-in-2013/
  8. http://www.mindtools.com/pages/article/tactful.htm
  9. http://kidshealth.org/teen/your_mind/mental_health/self_esteem.html
  10. http://kidshealth.org/teen/your_mind/mental_health/self_esteem.html
  11. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  12. http://www.mindtools.com/selfconf.html
  13. http://homepages.wmich.edu/~bensley/upe/self-respA.htm
  14. http://www.nicholls.edu/counseling/newsletters/taking-charge-of-your-life/
  15. http://kidshealth.org/teen/your_mind/emotions/deal_with_anger.html
  16. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  17. http://psychcentral.com/blog/archives/2010/02/25/building-assertiveness-in-4-steps/
  18. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  19. http://www.communicationcache.com/uploads/1/0/8/8/10887248/perceptions_of_swearing_in_the_work_setting-_an_expectancy_violations_theory_perspective.pdf
  20. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  21. http://www.kidshelp.com.au/teens/get-info/hot-topics/communication-skills.php
  22. http://www.kidshelp.com.au/teens/get-info/hot-topics/communication-skills.php
  23. http://www.helpguide.org/articles/relationships/nonverbal-communication.htm
  24. http://tinybuddha.com/blog/speaking-your-mind-without-being-hurtful/
  25. http://www.oprah.com/relationships/When-to-Tell-the-Truth-Tell-the-Truth-or-Lie
  26. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  27. http://msue.anr.msu.edu/news/eye_contact_dont_make_these_mistakes
  28. http://madisoncollege.edu/online-etiquette-guide
  29. http://online.uwc.edu/technology/etiquette
  30. http://www.emilypost.com/communication-and-technology/computers-and-communication/459-email-etiquette-dos-and-donts
  31. http://www.helpguide.org/articles/work-career/volunteering-and-its-surprising-benefits.htm
  32. http://www.wsj.com/articles/how-to-take-criticism-well-1403046866

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 142,298 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา