ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การได้เป็นพ่อแม่อาจเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและอิ่มเอมมากที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะง่ายนะ งานของคุณจะไม่มีวันหมดหรอกไม่ว่าลูกหรือลูกๆ ของคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม การที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้นั้น คุณควรจะต้องรู้ว่าจะทำอะไรได้บ้างที่ทำให้ลูกๆ ของคุณรู้สึกมีค่าและรู้ว่ามีคนรักพวกเขาอยู่ในขณะที่ก็สอนพวกเขาว่าอะไรถูกอะไรผิดไปด้วย ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ลูกคุณอยู่แล้วรู้สึกว่าจะสามารถเติบโตและพัฒนาจนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจ โดดเดี่ยว และมีน้ำใจกับคนอื่นๆ ได้ เริ่มอ่านขั้นตอนแรกเพื่อเข้าสู่หนทางการเป็นพ่อแม่ที่ดีได้เลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

รักลูกของคุณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางทีแล้วสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้ก็คือการมอบความรักและความห่วงใยให้กับลูกๆ นั่นแหละ การจับตัวอย่างอ่อนโยน หรือกอดด้วยความเป็นห่วงเป็นใยจะทำให้ลูกของคุณรู้ว่าคุณใส่ใจพวกเขามากแค่ไหน อย่ามองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ด้านความใกล้ชิดทางร่างกายเป็นอันขาด ต่อไปนี้เป็นวิธีการที่จะแสดงออกถึงความรักได้
    • กอดเบาๆ ให้กำลังใจสักนิด เห็นคุณค่าของเด็กๆ อนุญาตให้ทำสิ่งต่างๆ หรือเพียงแค่ยิ้มให้ก็จะช่วยได้มากในการเพิ่มความมั่นใจและความสุขสบายให้กับพวกเขา
    • บอกรักพวกเขาทุกวันไม่ว่าจะโกรธในสิ่งที่เขาพลาดพลั้งไปมากแค่ไหนก็ตาม
    • กอดกับจุ๊บเยอะๆ จะทำให้ลูกๆ ของคุณรู้สึกสบายใจที่ได้รับความรักและความห่วงใยตั้งแต่เกิด
    • รักเด็กๆ อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ อย่าบังคับให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่คุณอยากให้เป็นเพื่อที่ว่าคุณจะได้รักพวกเขา บอกให้เด็กๆ รู้ว่ายังไงคุณก็รักพวกเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
  2. การชื่นชมเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับการเป็นพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ทุกคนก็ต้องอยากให้ลูกภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองและรู้สึกดีกับตัวเองใช่ไหมล่ะ ถ้าคุณไม่เริ่มให้ความมั่นใจที่พวกเขาต้องใช้เมื่อออกไปเผชิญโลกกว้างละก็ พวกเขาจะขาดพลังและไม่กล้าที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองหรือไม่กล้าเสี่ยง ดังนั้นเวลาที่พวกเขาทำอะไรดีๆ ก็ควรบอกให้รู้ไว้ว่าคุณเห็นความดีนั้นและภูมิใจมากนะ
    • ชื่นชมลูกบ่อยๆ อย่างน้อยให้มากกว่าการตักเตือนพวกเขา 3 เท่า มันสำคัญที่จะเตือนเวลาที่พวกเขาทำอะไรผิดพลาดไป แต่การช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างความมั่นใจดีๆ เกี่ยวกับตัวเองได้ก็สำคัญไม่แพ้กันเลย
    • ถ้าพวกเขาเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจทุกอย่าง คุณอาจจะชื่นชมด้วยการปรบมือและแสดงออกว่ารักมากๆ การสนับสนุนให้ลูกใช้โถส้วมไปจนถึงเรียนให้ได้เกรดดีๆ จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้
    • หลีกเลี่ยงคำพูดคลุมเครืออย่าง “ทำดีมาก!” แต่ควรชื่นชมโดยอธิบายรายละเอียดเพื่อบอกให้เด็กๆ รู้เลยว่าการกระทำดีๆ ที่ได้รับคำชมคืออะไร เช่น “ดีมากเลยที่ผลัดกันเล่นกับน้องสาว/พี่สาว” หรือ “ขอบใจนะที่เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จน่ะ!”
  3. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกของคุณกับเด็กคนอื่นโดยเฉพาะพี่น้อง. เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้นควรเลือกมองจุดเด่นของแต่ละคนและปลูกฝังให้เด็กทุกคนทำในสิ่งที่สนใจและไล่ตามความฝัน เพราะอาจทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย หรือความคิดที่ว่าพวกเขาจะไม่มีวันดีพอในสายตาคุณ ถ้าคุณอยากจะช่วยให้ลูกของคุณปรับตัวให้ดีขึ้นจากสถานการณ์นี้ละก็ ลองชวนคุยเรื่องเป้าหมายและการประสบความสำเร็จแบบที่ลูกต้องการดู แทนที่จะต้องให้เขาทำตามพี่หรือเพื่อนข้างบ้าน นี่จะช่วยให้พวกเขาสร้างความเป็นตัวของตัวเองได้
    • การเปรียบเทียบลูกคนหนึ่งกับอีกคนยังอาจทำให้หนึ่งในนั้นเกลียดชังพี่น้องของเขาหรือเธอได้ ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกๆ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ต้องชิงดีชิงเด่นกัน
    • หลีกเลี่ยงการโปรดปรานลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ การวิจัยแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะมีลูกคนโปรดในใจเสมอ และเด็กๆ ก็มักจะเชื่อว่าตัวเองคือเด็กคนนั้นด้วย ดังนั้นหากลูกของคุณทะเลาะกัน คุณก็ไม่ควรเลือกข้างแต่ควรตัดสินอย่างยุติธรรมและเป็นกลาง
    • ก้าวข้ามลำดับของการเกิดโดยการสอนให้ลูกๆ ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง การให้เด็กที่โตกว่าเป็นคนที่คอยคุมน้องอาจทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างพี่น้องได้ แต่ถ้ามอบหมายให้แต่ละคนดูแลตัวเองจะช่วยส่งเสริมบุคลิกเฉพาะตัวและความเชื่อมั่นในตัวเองได้
  4. มันสำคัญมากที่คุณจะสื่อสารกับลูกทั้งสองทาง ไม่ใช่แค่คอยย้ำเตือนกฎ แต่ควรรับฟังลูกๆ ของคุณเวลาที่พวกเขามีปัญหาด้วย คุณควรจะแสดงว่าคุณสนใจอีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กๆ ควรทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาคุณเมื่อเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
    • คุณอาจจะกำหนดเวลาเพื่อคุยกับลูกโดยเฉพาะในหนึ่งวัน อาจจะเป็นช่วงเวลาก่อนนอน ตอนกินอาหารเช้า หรือชวนไปเดินเล่นหลังเลิกเรียนก็ได้ ใส่ใจเวลาช่วงนี้มากๆ และพยายามอย่าเช็คมือถือหรือสมาธิหลุดไปกับสิ่งอื่น
    • ถ้าเด็กๆ มีอะไรบางอย่างจะบอกละก็ ควรตั้งใจฟังและหยุดทำอะไรก็ตามที่ทำอยู่ก่อน หรือไม่ก็จัดเวลาไว้สำหรับเพื่อคุยกันเลยเพื่อจะได้ตั้งใจฟังจริงๆ
    • อย่าประเมินสติปัญญาของลูกต่ำไป พวกเขามักมีความคิดภายในที่อยากจะแบ่งปันหรือรับรู้ได้หากมีบางอย่างผิดปกติ (หรือเป็นปกติ) ให้เวลาในการรับฟังมุมมองของพวกเขา
  5. แต่อย่าไปห้ามหรือปิดกั้นจนเกินไป การปกป้องใครสักคนนั้นแตกต่างอย่างมากกับการกักขังเขาด้วยการเรียกร้องที่เกินไปของคุณ เด็กๆ ควรจะรู้สึกดีที่ได้ใช้เวลาอันพิเศษนี้ด้วยกันมากกว่ารู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องทำ
    • ใช้เวลากับลูกแต่ละคน. พยายามแบ่งเวลาให้กับลูกแต่ละคนเท่าๆ กันถ้ามีลูกมากกว่าหนึ่งคน
    • รับฟังและเคารพลูกๆ กับสิ่งที่เขาอยากจะทำ แต่ก็ต้องจำไว้ล่ะว่าคุณเองก็เป็นพ่อแม่ซึ่งจะช่วยกำหนดขอบเขตให้กับลูกๆ ได้ เด็กที่พ่อแม่ตามใจให้ทำอะไรก็ได้และทำตามอำเภอใจมาตลอดนั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะลำบากเมื่อต้องทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม คุณ ไม่ใช่พ่อแม่ที่แย่หรอกนะถ้าจะห้ามบางสิ่งบางอย่างบ้าง จะพูดว่าไม่ให้ก็ได้แต่ก็ควรจะเตรียมเหตุผลว่าทำไมถึงปฏิเสธไว้ด้วย หรือไม่ก็เตรียมทางเลือกไว้เสนอก็ได้ เหตุผลอย่าง “เพราะฉันสั่งให้ทำ” ไม่สมเหตุสมผลเลยนะ!
    • จัดวันไปเดินเล่นที่สวนกัน หรือไปสวนสนุก พิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุด ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กแต่ละคน
    • เข้าร่วมงานโรงเรียนต่างๆ ทำการบ้านกับเด็กๆ พบปะคุณครูในงาน open house หรือประชุมผู้ปกครองเพื่อรับทราบว่าเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้างที่โรงเรียน
  6. คุณอาจจะมีตารางงานที่วุ่นวายสุดๆ แต่คุณก็ควรจะพยายามเพื่อให้ได้อยู่กับลูกในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของพวกเขา ตั้งแต่การแสดงบัลเล่ต์ไปจนถึงงานรับปริญญา จำไว้ว่าเด็กๆ โตเร็วมากและพวกเขาจะเริ่มออกไปเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเองเร็วกว่าที่คุณคิด หัวหน้าของคุณอาจจะจำได้หรือไม่ได้ก็ได้ว่าคุณขาดประชุม แต่ลูกของคุณจะจำได้แน่นอนถ้าคุณไม่ได้ไปดูละครที่เขาเล่น อาจจะไม่ต้องยกเลิกทุกอย่างขนาดนั้น แต่อย่างน้อยก็ควรจะพยายามอยู่กับลูกในช่วงเวลาสำคัญเสมอ
    • ถ้าคุณยุ่งเกินกว่าจะไปส่งลูกที่โรงเรียนวันแรกหรือวันสำคัญอื่นๆ คุณอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตเลยก็ได้นะ คุณเองก็คงไม่อยากให้ลูกจำภาพงานเรียนจบ ม.ปลาย ของตัวเองเป็นวันที่พ่อแม่ไม่มาหรอกใช่ไหมล่ะ
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เป็นคนรักษาวินัยที่ดี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. กฎที่ดีจะนำไปสู่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและสิ่งดีๆ แต่ไม่ควรเป็นกฎสำหรับคนที่สมบูรณ์แบบ สำคัญมากที่จะกำหนดกฎและแนวทางที่จะช่วยให้ลูกๆ พัฒนาและเติบโตโดยไม่เข้มงวดจนพวกเขารู้สึกกลัวที่จะทำอะไรผิดเวลาจะก้าวไปข้างหน้า ทางที่ดีที่สุดคือลูกๆ ควรจะรักคุณมากกว่ากลัวกฎของคุณนะ
    • สื่อสารกฎให้ชัดเจน เด็กๆ ควรที่จะรู้ดีว่าการกระทำแบบไหนจะส่งผลอย่างไรบ้าง ถ้าคุณจะลงโทษพวกเขาก็ต้องดูให้ดีว่าพวกเขาเข้าใจเหตุผลและความผิดที่ทำ ถ้าคุณเองยังไม่สามารถบอกเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงผิดละก็ การลงโทษนี้จะไม่ช่วยให้เด็กอยากปรับปรุงตัวเหมือนกับที่คุณคาดไว้
    • ต้องดูให้ดีด้วยว่ากฎที่ตั้งนั้นไม่เพียงแค่เป็นกฎที่มีเหตุผลอย่างเดียว คุณต้องใช้มันอย่างมีเหตุผลด้วย ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษแรงๆ โดยเฉพาะกับการฝ่าฝืนเล็กๆ น้อยๆ หรืออะไรก็ตามที่มีการทำร้ายร่างกายเด็ก
  2. มันสำคัญมากที่จะใจเย็นและใช้เหตุผลเข้ามาช่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เวลาอธิบายกฎหรือเวลาใช้กฎต่างๆ เพราะคุณอยากให้ลูกๆ ของคุณเชื่อถือในตัวคุณ ไม่ใช่เกรงกลัวหรือมองว่าคุณเป็นคนที่ไม่มั่นคง แน่นนอนว่ามันเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเวลาที่เด็กๆ ทำตัวไม่ดีหรือทำให้คุณหงุดหงิด แต่เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าใกล้จะขึ้นเสียงแล้ว ลองถอยหลังออกมาพักก่อนดีกว่า อาจจะขอตัวไปที่อื่นหรือบอกไปเลยว่าคุณเริ่มโมโหแล้ว
    • ใครๆ ก็เผลอโมโหหรือควบคุมตัวเองไม่อยู่ได้ทั้งนั้นในบางครั้ง ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณทำหรือพูดอะไรที่ไม่น่าทำออกไป ก็ควรที่จะบอกขอโทษลูกๆ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าคุณทำพลาดไปแล้ว ถ้าทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นละก็ ต่อไปเด็กๆ อาจจะเลียนแบบคุณก็เป็นได้
  3. มันสำคัญมากที่จะใช้กฎเดิมให้ได้ตลอด และไม่อ่อนไหวไปกับความพยายามของลูกที่จะโน้มน้าวให้คุณยอมยกเว้นเรื่องบางเรื่อง ถ้าคุณปล่อยให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่ควรเพียงเพราะว่าพวกเขาโวยวายละก็ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วล่ะว่ากฎของคุณแหกได้ ถ้าคุณพูดประโยคอย่าง “ก็ได้ แต่แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว...” มากกว่าหนึ่งครั้งแล้ว คุณต้องพยายามสร้างกฎที่คงที่มากกว่านี้แล้วล่ะ
    • ถ้าลูกของคุณรู้สึกว่าพวกเขาสามารถแหกกฎนี้เมื่อไหร่ก็ได้แล้ว เด็กๆ จะขาดแรงจูงใจในการทำตาม
  4. มันสำคัญมากที่ลูกๆ จะมองคุณและคู่ของคุณว่าเป็นทีมเดียวกัน หมายถึงคนสองคนที่จะ “ตอบตกลง” หรือ “ปฏิเสธ” สิ่งเดียวกัน เพราะถ้าหากว่าลูกของคุณเชื่อว่าแม่จะตอบตกลงเสมอในขณะที่พ่อจะปฏิเสธ พวกเขาจะคิดว่าใครคนใดคนหนึ่งนั้น “ดีกว่า” หรือโน้มน้าวได้ง่ายกว่าอีกคน ดังนั้นควรสามัคคีกับคู่คุณไว้เพื่อที่ว่าเด็กๆ จะได้อยู่ในระเบียบ อีกทั้งจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาอย่างการที่ความคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกของคุณกับคู่ไม่ตรงกันด้วย
    • ไม่ได้หมายความว่าคู่ของคุณจะต้องคิดเห็นเหมือนกันกับคุณ 100% ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับลูกนะ แต่หมายความว่าคุณทั้งสองควรจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะขัดกันต่างหาก
    • คุณไม่ควรเถียงกับคู่ของคุณต่อหน้าลูกๆ ถ้าพวกเขาหลับอยู่ก็ถกเถียงกันเบาๆ เพราะเด็กๆ อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและหวาดกลัวเวลาที่ได้ยินพ่อแม่ของตัวเองโต้เถียงกัน นอกจากนี้ พวกเขายังจะเริ่มทะเลาะกันแบบเดียวกับที่พ่อแม่ทำอีกด้วย ทางที่ดีควรแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเวลาที่คนมีความเห็นไม่ตรงกันก็สามารถเปิดอกพูดคุยถึงความแตกต่างอย่างสันติได้จะดีกว่า
  5. ทำให้ลูกๆ รู้สึกว่าทุกอย่างในบ้านรวมทั้งชีวิตครอบครัวนั้นล้วนมีระเบียบและเหตุผลทั้งนั้น เพราะมันจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย สงบสุข และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทั้งในและนอกบ้าน ต่อไปนี้เป็นวิธีการสองสามอย่างที่คุณจะกำหนดระเบียบให้ลูกของคุณได้
    • กำหนดขอบเขต เช่น เวลาเข้านอนหรือเคอร์ฟิวเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ควรพอ แล้วพวกเขายังจะได้รับรู้ถึงความรักและความห่วงใยที่พ่อแม่มีให้ด้วย พวกเขาอาจจะพยายามต่อต้านข้อกำหนดเหล่านั้นบ้าง แต่ลึกๆ แล้วเด็กๆ จะดีใจที่ได้รู้ว่าพ่อแม่คอยชี้แนะด้วยความรัก
    • ส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบโดยการมอบหมายงานหรือ “งานบ้าน”ให้ทำ ตามด้วยรางวัลพิเศษ (เช่น เงิน เคอร์ฟิวนานขึ้น เวลาเล่นนานขึ้น ฯลฯ) หลังจากทำงานเสร็จ ส่วน “การลงโทษ” ถ้าไม่ทำงานเหล่านี้ก็อาจจะเป็นสิ่งต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับรางวัลก็ได้ แม้แต่เด็กคนที่เล็กที่สุดก็สามารถเรียนรู้เรื่องรางวัลหรือผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเองได้นะ ยิ่งลูกของคุณโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรมอบหมายความรับผิดชอบมากขึ้นรวมทั้งรางวัลหรือผลที่จะได้จากการทำหรือไม่ทำงานเหล่านั้นด้วย
    • สอนพวกเขาว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าคุณเป็นคนที่เคร่งศาสนา ลองพาเด็กๆ ไปที่สถานที่ทางศาสนาดู หรือถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดเลย ลองสอนเกี่ยวกับศีลธรรมดู ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตามก็ไม่ควรเสแสร้งล่ะ ไม่อย่างนั้นก็เตรียมตัวโดนลูกย้อนกลับว่าคุณเองก็ไม่ได้ “ทำอย่างที่สอน” ได้เลย
  6. มันสำคัญมากที่จะตักเตือนสิ่งที่เด็กๆ ทำพลาดไม่ใช่ที่ตัวเขา เพราะคุณควรสอนให้เขารู้ว่าเขาจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จผ่านมือของเราเอง แทนที่จะต้องเป็นคนแบบเดียวไปตลอด ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะนำไปพัฒนาพฤติกรรมของตัวเองได้
    • ถ้าลูกของคุณแสดงท่าทางร้ายๆ หรือดูแล้วมีเจตนาร้ายละก็ บอกพวกเขาเลยว่า “การกระทำ” แบบเมื่อกี้นั้นไม่ดี ตามด้วยการแนะนำสิ่งที่ดีกว่า หลีกเลี่ยงคำพูดอย่าง “ลูกทำตัวไม่ดีเลย” ควรพูดคำพูดประมาณนี้ “ที่ลูกแกล้งน้องสาวเมื่อกี้ไม่ดีเลยนะ” เพราะคุณควรจะอธิบายว่าการกระทำเมื่อกี้มันไม่ดีอย่างไร
    • มั่นคงแต่ก็อ่อนโยนด้วยเวลาที่ต้องบอกตรงๆ ว่าพวกเขาทำอะไรผิด เข้มงวดและจริงจัง แต่ไม่ควรแสดงท่าทีโมโหหรือใจร้ายเวลาที่บอกเด็กๆ ว่าคุณคาดหวังอะไรกับพวกเขา
    • หลีกเลี่ยงการทำให้ลูกต้องอับอายในที่สาธารณะ ถ้าพวกเขาทำตัวแย่ๆ ในที่เปิด ควรดุเงียบๆ ในที่ๆ ไม่มีคนดีกว่า
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ช่วยลูกสร้างลักษณะนิสัยของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สอนลูกๆ ว่ามันไม่แปลกเลยที่จะเป็นหรือทำสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนคนอื่น และไม่จำเป็นด้วยที่จะต้องทำตามคนส่วนมาก เริ่มสอนว่าอะไรถูกอะไรผิดตั้งแต่พวกเขายังเด็ก เพราะมันจะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเองได้แทนที่จะไปฟังหรือทำตามคนอื่น (ส่วนใหญ่จะทำได้) จำไว้เลยว่าลูกๆ ไม่ใช่ส่วนเสริมของตัวคุณเองแต่พวกเขาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองโดยอยู่ภายใต้ความดูแลของคุณเท่านั้น ลูกๆ ไม่ใช่โอกาสให้คุณมาทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นนะ
    • เมื่อพวกเขาโตพอที่จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ เองได้แล้ว คุณควรสนับสนุนให้พวกเขาเลือกกิจกรรมนอกห้องเรียนที่อยากทำหรือเพื่อนที่อยากจะคบด้วย ให้พวกเขาตัดสินใจด้วยตัวเอง นอกเสียจากว่าคุณจะคิดว่ากิจกรรมนั้นอันตรายเกินไป หรือเพื่อนเล่นคนนั้นมีอิทธิพลที่ไม่ดี
    • เด็กบางคนอาจจะมีนิสัยที่ตรงกันข้ามกับคุณ เช่น เขาอาจจะเป็นคนชอบเก็บตัวในขณะที่คุณชอบพบปะผู้คน ทำให้ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบของคุณได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ เขาคงอยากตัดสินใจเองมากกว่า
    • พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการกระทำของตัวเองนั้นมีผลตามมาเสมอ (ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี) เพราะมันจะทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดี และพร้อมที่จะพึ่งพาตัวเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
    • อย่าทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกอยู่ตลอดถ้านั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ที่จะทำเองได้ เช่น แม้ว่าการเทน้ำแก้วหนึ่งให้ดื่มก่อนนอนจะช่วยให้เด็กๆ หลับเร็วขึ้น แต่อย่าทำบ่อยมากจนพวกเขาเริ่มติดและคาดหวังว่าต้องมีทุกวันล่ะ
  2. ถ้าคุณอยากให้ลูกทำตัวดีๆ แล้วก็ควรเริ่มจากตัวคุณเองโดยประพฤติตัวและทำนิสัยที่คุณหวังว่าลูกจะรับและทำตามกฎที่คุณตั้งขึ้น แสดงให้พวกเขาเห็นโดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลย แทนที่จะอธิบายเป็นคำพูด เพราะเด็กๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นและได้ยินอยู่แล้ว นอกจากว่าพวกเขาจะพยายามที่จะทำอะไรที่แตกต่างเองจริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีพร้อมทุกอย่าง แต่ควรพยายามทำในสิ่งที่อยากให้ลูกเป็น และไม่ควรเสแสร้ง อย่างเช่น เวลาที่คุณสอนลูกๆ ให้เป็นคนสุภาพ คุณก้ไม่ควรไปเถียงกับคนอื่นในซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ลูกเห็น
    • มันเป็นเรื่องปกติถ้าจะทำผิดพลาด แต่คุณควรจะขอโทษหรือบอกพวกเขาว่าการกระทำเมื่อกี้นั้นไม่ดี คุณอาจจะพูดว่า “แม่ไม่ได้ตั้งใจจะตะโกนใส่ลูกนะ เมื่อกี้เธอแค่อารมณ์เสียมากเท่านั้นเอง” พูดแบบนี้ดีกว่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่าคุณทำผิด เพราะเด็กๆ อาจจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกันก็ได้
    • อยากสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องการบริจาคไหมล่ะ ลองพาเด็กๆ ไปบ้านคนพิการหรือที่พักของคนไร้บ้านแล้วให้ไปช่วยดูแลคนเหล่านั้นดูสิ แล้วอธิบายให้พวกเขาฟังด้วยว่าทำไมถึงทำสิ่งนี้ให้เขาเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร
    • สอนลูกให้ทำงานบ้านโดยจัดตารางและให้พวกเขามาช่วยคุณบ้าง แต่อย่าใช้การสั่งเลย ควรเป็นขอให้ช่วยดีกว่า ยิ่งพวกเขาเรียนรู้ที่จะช่วยคุณเร็วเท่าไหร่ พวกเขาก็จะอยากช่วยไปอีกนานเลยล่ะ
    • ถ้าอยากให้ลูกรู้จักแบ่งปันก็ควรเริ่มจากทำตัวอย่างที่ดีโดยการแบ่งของๆ คุณให้พวกเขา
  3. ควรเคารพพวกเขาเหมือนที่พวกเขาเคารพคุณ เช่น ถ้าคุณสอนพวกเขาว่าไม่ให้เข้าห้องนอนของคุณ ก็ควรทำแบบเดียวกับห้องของเด็กๆ ด้วย ทำให้ลูกๆ รู้สึกว่าห้องของตัวเองเป็นที่ๆ ปลอดภัย จะไม่มีใครมาแอบดูของในลิ้นชัก หรือแอบอ่านไดอารี่ สิ่งนี้จะสอนให้พวกเขาเห็นคุณค่าของพื้นที่ของตัวเองพร้อมกับเคารพความเป็นส่วนตัวของคนรอบข้างไปด้วย
    • ถ้าลูกของคุณจับได้ว่าคุณแอบดูของๆ พวกเขา ต้องใช้เวลาอีกมากเลยล่ะกว่าที่พวกเขาจะกลับมาเชื่อใจคุณอีกครั้ง
  4. มันสำคัญมากที่ลูกๆ จะกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออกกำลังกายมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอทุกคืน คุณควรสนับสนุนพฤติกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์กับร่างกายโดยไม่ย้ำแล้วย้ำอีกหรือคะยั้นคะยอจนเหมือนเป็นการบังคับให้กินหรือทำอะไรสักอย่าง ควรเป็นคนให้คำปรึกษาไม่ใช่นักเผด็จการ จากนั้นจึงปล่อยให้พวกเขาหาข้อสรุปเอง อีกทั้งคอยสอนให้พวกเขารู้จักความหมายและความสำคัญของชีวิตดีๆ ของคนสุขภาพแข็งแรงด้วย
    • วิธีการหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ออกกำลังกายคือพาไปเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาจะได้ชอบทำกิจกรรมที่ช่วยให้สุขภาพดียังไงล่ะ
    • ถ้าคุณเริ่ม อธิบายเกินจำเป็น ให้ลูกฟังว่าอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพและไม่ควรกิน พวกเขาอาจจะเข้าใจผิดแล้วรู้สึกว่าคุณกำลังตำหนิพวกเขาอยู่ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้ว พวกเขาอาจจะไม่อยากกินข้าวร่วมกันคุณอีก หรือจะรู้สึกไม่ดีเวลาที่ต้องกินข้าวตอนที่มีคุณอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้เด็กๆ เหล่านี้พยายามแอบกินอาหารขยะหรือซ่อนไว้ไม่ให้คุณรู้ก็ได้
    • ในการที่จะเริ่มสอนการกินที่ดีนั้นควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็ก การให้รางวัลอย่างลูกกวาดอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้นไป บางคนอาจจะรู้สึกว่าต้องคอยให้รางวัลตัวเองตลอด ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ดังนั้น ในขณะที่พวกเขายังเป็นเด็กอยู่ก็ควรให้เริ่มกินขนมที่ดีต่อสุขภาพ แทนที่จะเป็นมันฝรั่งทอด ขนมที่ว่าได้แก่ แครกเกอร์ยี่ห้อ goldfish องุ่น หรือขนมที่ดีต่อร่างกายอื่นๆ แทน
    • นิสัยการกินที่พวกเขาเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กนั้นจะเป็นรูปแบบที่พวกเขาจะทำต่อไปในอนาคต ดังนั้นควรย้ำเรื่องการกินข้าวให้หมดจาน และสอนให้ตักน้อยๆ ก่อนด้วย เพราะจะตักเพิ่มอีกก็ได้ แต่จะเอาไปคืนหลังจากที่อาหารนั้นมาอยู่บนจานตัวเองแล้วไม่ได้
  5. ย้ำเรื่องความเหมาะสมและความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์. คุณอาจจะเริ่มสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่เด็กยังเล็กๆ เลยก็ได้ อธิบายว่าพวกเขาต้องรอจนกว่าจะโตระดับหนึ่งถึงจะดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อนๆ ได้ รวมทั้งเรื่องความสำคัญของคนที่ไม่ดื่มเพื่อขับรถอีกด้วย ถ้าไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ มันอาจจะเป็นเหตุให้ลูกแอบทดลองทำอะไรที่อันตรายได้ถ้าพวกเขายังไม่เข้าใจว่าอะไรควรไม่ควร
    • เมื่อลูกๆ ถึงวัยที่เพื่อนรอบตัวเริ่มดื่มแอลกอฮอล์กัน คุณควรผลักดันให้พวกเขาปรึกษาคุณ อย่าให้เด็กๆ กลัวว่าคุณจะคิดไม่ดีจนทำอะไรที่ไม่ควรลงไป เช่น ขับรถตอนเมาเพราะกลัวที่จะขอให้คุณไปรับ
  6. ปล่อยให้ลูกของคุณได้ลองใช้ชีวิตด้วยตัวเองบ้าง. อย่าตัดสินใจแทนลูกตลอดเวลา เพราะพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับผลที่เกิดจากการตัดสินใจของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วเด็กๆ ก็ต้องรู้จักที่จะคิดเองและช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการนี้คือตอนที่มีคุณอยู่ข้างๆ คอยช่วยลดผลกระทบแย่ๆ ให้เกิดน้อยที่สุดและผลักดันให้ลูกเจอแต่สิ่งดีๆ
    • พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการกระทำของตัวเองนั้นมีผลตามมาเสมอ (ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี) เพราะมันจะทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดี และพร้อมที่จะพึ่งพาตัวเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
  7. ชีวิตเป็นครูที่ดีมากเลยล่ะ อย่าเพิ่งรีบเข้าไปช่วยถ้าผลจากการกระทำนั้นไม่หนักหนาสาหัสเกินไป เช่น โดนของมีคมบาด (แผลเล็กๆ) นั้นเจ็บแต่อาจจะดีกว่าปล่อยให้พวกเขาไม่รู้ว่าทำไมต้องหลีกเลี่ยงของมีคมเหล่านี้ จำไว้ว่าคุณไม่สามารถจะปกป้องลูกๆ ไปได้ตลอดชีวิต และยังไงซะพวกเขาก็ต้องไปเรียนรู้วิชาชีวิตด้วยตัวเองไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ตาม มันเป็นเรื่องยากแน่นอนที่จะยืนดูลูกทำผิดพลาดอยู่ห่างๆ แต่มันจะดีต่อทั้งตัวคุณและลูกในระยะยาวนะ
    • ไม่ควรบอกลูกว่า “พ่อแม่บอกแล้วใช่ไหม” เวลาที่พวกเขากำลังจะได้บทเรียนชีวิตสักบท ลองปล่อยให้พวกเขาหาข้อสรุปเองว่าเกิดอะไรขึ้นดีกว่า
    • อยู่กับลูกตรงนั้นเวลาที่เขาทำผิด ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ โดยการไม่ป้องกันทุกประเด็นเล็กน้อยแต่พร้อมให้คำแนะนำให้เขาได้เรียนรู้จากผลลัพธ์นั้น คุณสามารถสอนเขาให้รู้จักแก้ไขปัญหาและรู้วิธีการรับมือ จงสนับสนุนให้กำลังใจตลอดกระบวนการ ไม่ใช่ทำแค่กับพวกเขาหรือแยกเขาออกจากโลกความเป็นจริง
  8. ไม่ว่าจะเป็นการพนัน การดื่มแอลกอฮอล์ และการเล่นยาล้วนเป็นอันตรายต่อลูกๆ ทั้งนั้น เช่น การสูบบุหรี่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กอย่างแน่นอน การดมควันบุหรี่อาจก่อให้เกิดโรคมากมายที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหัวใจและยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย แอลกอฮอล์และยาต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายด้านสุขภาพหรือความรุนแรงต่อเด็กเช่นกัน
    • แน่นอนว่าคุณจะดื่มไวน์หรือเบียร์บ้างเป็นครั้งคราวก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่คุณเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไม่ดื่มจนเสียสุขภาพและต้องประพฤติตัวดีๆ เวลาดื่มด้วย
  9. มันแตกต่างกันนะระหว่างการบังคับให้ลูกโตขึ้นเป็นคนที่มีความรับผิดและมีความเป็นผู้ใหญ่กับบังคับให้ลูกเป็นคนที่สมบูรณ์แบบหรือใช้ชีวิตตามแบบที่คุณนิยามคำๆ นี้เลย อย่ากดดันให้ลูกเรียนได้เกรด 4.00 หรือเป็นที่หนึ่งในทีมฟุตบอล แต่ควรสนับสนุนให้เขามีนิสัยรักการเรียนและมีน้ำใจนักกีฬาดีกว่า ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกคุณในการตั้งใจทำสิ่งเหล่านั้นให้เต็มที่ตามความสามารถแล้วล่ะ
    • ถ้าคุณแสดงท่าทีว่าคุณคาดหวังให้พวกเขาเป็นที่หนึ่งในทุกอย่าง ลูกของคุณจะรู้สึกว่าเขาหรือเธอจะไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ บางคนอาจถึงขั้นต่อต้านด้วยซ้ำ
    • อีกอย่าง อย่าทำให้ลูกกลัวเพราะก็รู้สึกแบบเดียวกันกับที่กล่าวไป ควรเป็นเหมือนเชียร์ลีดเดอร์ดีกว่าจ่าที่เอาแต่สั่งให้ฝึกซ้อมนะ
  10. คุณอาจจะคิดว่าได้เลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์แล้วเมื่อพวกเขาเรียนจบ ม.6 แต่ความคิดนี้ยังไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลย การเลี้ยงดูของคุณจะมีผลต่อลูกๆ ตลอดทั้งชีวิตเลยล่ะ ดังนั้นคุณควรจะให้ความรักและความห่วงใยที่พวกเขาต้องการ แม้ว่าจะอยู่ห่างกันหลายร้อยไมล์ก็ตาม และแม้ว่าจะไม่ได้เจอกันทุกวัน แต่ก็ควรบอกให้พวกเขารู้ว่าคุณใส่ใจและเป็นที่พึ่งให้ได้เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามนะ
    • ยังไงซะ ลูกๆ ก็จะมาขอคำปรึกษา และเวลาคุณพูดอะไรพวกเขาก็จะรู้สึกอยู่ดีไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากเทคนิคการเลี้ยงลูกต่างๆ แล้ว คุณก็ควรจะเริ่มหาวิธีที่จะเป็นปู่ย่าตายายที่ดีด้วยนะ!
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • รับฟังสิ่งที่ลูกๆ อยากจะบอก
  • ใส่ใจความต้องการความรักของตัวเอง แต่ก็ควรดูแลความต้องการของลูกก่อนหน้าของคนอื่นๆ นะ อย่าทิ้งลูกเพื่อไปหาคนรักของตัวเองล่ะ ควรให้ลูกเป็นที่หนึ่งถ้าคุณกำลังออกเดทกับใคร อีกทั้งอย่าพาคนที่ยังไม่รู้จักดีมาที่บ้านเพราะอาจะเป็นอันตรายต่อลูกได้ สำคัญมากที่เด็กๆ จะต้องรู้สึกปลอดภัย มั่นคง และรู้ว่ามีคนรักพวกเขา ถ้าจู่ๆ คุณตัดสินใจทิ้งและไม่สนใจพวกเขาอีกต่อไปเพราะต้องเอาเวลาไปใส่ใจแฟนใหม่ละก็ ลูกของคุณจะโตขึ้นไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงและรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ใครๆ ก็ต้องการความรักทั้งนั้น แต่ไม่ควรแลกกับสุขภาพจิตของเด็กนะ ที่กล่าวมานี้ใช้ได้กับเด็กที่โตแล้วเหมือนกัน
  • เล่าเรื่องตอนที่ตัวเองเป็นเด็กให้ลูกๆ ฟังบ่อยๆ ชี้ให้ลูกเห็นสิ่งที่พ่อแม่ “ของคุณ” ทำผิดพลาด พยายามอย่าให้ข้อผิดพลาดเหล่านั้นตกไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน พ่อแม่หรือเด็กๆ ทุกรุ่นจะมีความสำเร็จและ/หรือข้อผิดพลาดในแบบของตัวเองอยู่แล้วล่ะ
  • วัยรุ่นที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้ใหญ่ต้องการการสนับสนุนจากพ่อแม่มากกว่าสิ่งอื่นใด อย่าคิดว่าแค่ลูกๆ อายุเกือบจะ 18 หรือ 21 ปีแล้วคุณจะสามารถปล่อยให้พวกเขาแก้ไขปัญหาต่างๆ เองทั้งหมดได้นะ แต่ก็ "อย่า" ขัดขวางหรือเข้าไปยุ่งเวลาที่ไม่จำเป็นล่ะ ควรจะทำทุกอย่างให้สมดุลกัน
  • สนับสนุนให้เด็กรู้จักพิจารณาตนเองโดยการเล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับการประเมินสิ่งที่ตัวคุณเองทำ
  • ถ้าคุณพยายามที่จะเลิกพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองด้วย ลองหากลุ่มบำบัดที่จะช่วยให้คุณผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ดู ควรหาความช่วยเหลือเสมอ และหาคนที่คุณจะปรึกษาได้ถ้าเกิดรู้สึกอยากกลับไปทำพฤติกรรมที่ไม่ดีขึ้นมา จำไว้ว่าคุณไม่ได้ช่วยแค่ตัวเองนะ แต่กำลังช่วยลูกอยู่ด้วย
  • อย่าเล่าพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเองให้ลูกฟังเพราะพวกเขาอาจจะเปรียบเทียบการกระทำของตัวเองกับของคุณ แล้วอาจจะตั้งความหวังกับตัวเองน้อยลงก็ได้ ประมาณว่า “พ่อแม่ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันนี่นา!”
  • ใช้คำพูดด้านบวกเวลาที่พวกเขาทำสิ่งดีๆ แทนที่จะคอยจ้องแต่จะลงโทษอยู่ตลอดเวลา และห้ามทำร้ายร่างกายเด็ดขาด
  • อย่าตัดสินเพื่อนของลูก เพราะมันอาจจะทำให้เด็กรู้สึกแย่ว่าพ่อแม่ไม่ชอบเพื่อนของตน ทางที่ดีควรเปิดใจไว้ดีกว่า
  • ถ้าคุณโกรธลูก ทำให้ตัวเองใจเย็นลง แล้วจึงทำให้ลูกสงบลงด้วย
  • ซื่อสัตว์กับพวกเขา อย่าพยายามปิดบังอะไรเลยเพราะจะช้าหรือเร็วความจริงก็จะถูกเปิดเผยอยู่ดี
  • เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้แสดงนิสัยของตัวเองออกมา อีกทั้งคุณจะได้รู้ด้วยว่าพวกเขาชอบอะไรเพราะอะไรด้วย มันจะทำให้พวกเขามั่นใจเมื่อรู้ว่าคุณรับได้กับสิ่งที่พวกเขาเป็น
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าโอ๋ลูกจนเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมดื้อดึงและไม่มีความรับผิดชอบได้
  • การทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ไม่ได้จบลงเมื่อเด็กโตขึ้นนะ แต่การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตลอดชีวิต แต่จำไว้อย่างหนึ่งล่ะว่าเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การตัดสินใจของพวกเขาเป็นสิทธิ์ของพวกเขาทั้งหมดรวมถึงผลที่ตามมาด้วย
  • อย่ากลัวที่จะเป็น “พ่อแม่” เลย แค่ทำให้ดีที่สุด เป็นเพื่อนกับพวกเขา แต่อย่ามากเกินไปจนทำให้พวกเขาลืมว่าคุณเป็น “พ่อแม่” นะ ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน
  • ไม่ควรทำตามแนวทางการเป็นพ่อแม่ในแต่ละวัฒนธรรม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ครอบครัว ฯลฯ อย่างเคร่งครัดเกินไปล่ะ และอย่าเชื่อว่ามีวิธีการเลี้ยงลูกแค่แบบเดียว
  • เวลาที่ชื่นชมเด็กๆ ควรเน้นไปที่ความพยายามของพวกเขา ไม่ใช่ที่ผลลัพธ์เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขากลายเป็นคนบ้ายอ
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.blackwomenshealth.com/Being%20A%20Good%20Parent.htm
  2. More4kids Parenting and Family คำแนะนำเพิ่มเติมได้รับอนุญาตจาก More4kids.info แล้ว
  3. How to Praise Your Kids the Right Way Without Spoiling Them in the Process

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 66,340 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา