ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

คุณอาจจะตัดสินใจเป็นเชฟเพราะคุณชอบทำอาหารและชอบทดลองสิ่งต่างๆ ในครัว แม้ว่ามันจะเป็นอาชีพที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความสุขหากมันเป็นสิ่งที่คุณรัก เริ่มฝึกทักษะการทำอาหารที่คุณต้องใช้ในการเป็นเชฟด้วยการฝึกฝนเองที่บ้าน ทำงานที่ร้านอาหาร และรับคำติชมจากคนอื่น จากนั้นก็ไปเข้าฝึกอบรมเพื่อที่จะเป็นเชฟไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือภายใต้คำแนะนำของครูฝึก สุดท้ายก็ไปทำงานที่ร้านและพยายามไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งเชฟให้ได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

พัฒนาทักษะการทำอาหาร

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เลือกเมนูอาหารที่คุณคิดว่าน่ารับประทาน จากนั้นก็ลองทำด้วยตัวเอง พอคุณเริ่มทำอาหารเก่งขึ้นแล้ว ให้เลือกเมนูที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ ที่คุณยังไม่เคยลองทำ อย่ากลัวที่จะทดลองเมนูต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์เมนูของตัวเอง [1]
    • ลองทำอาหารชาติต่างๆ เพื่อดูว่าอาหารชาติไหนที่เหมาะกับสไตล์และรสนิยมของคุณ เช่น คุณอาจจะทำอาหารอิตาเลียนคืนนึง จากนั้นคืนถัดไปก็ทำอาหารเม็กซิกัน แล้วก็เปลี่ยนไปทำแฮมเบอร์เกอร์

    เคล็ดลับ: เวลาที่คุณได้งานที่ร้านอาหาร คุณจะต้องทำอาหารให้เสร็จเร็วๆ เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า แต่ถ้าคุณหมั่นฝึกฝน การทำอาหารเร็วๆ ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

  2. ส่วนที่สนุกของการเป็นเชฟก็คือการทำเมนูพิเศษของตัวเอง พอคุณคุ้นเคยกับวัตถุดิบทั่วไปแล้ว ให้ลองเล่นกับเมนูอาหารต่างๆ ดูเพื่อคิดสูตรของตัวเองขึ้นมา ลองเสี่ยงดูเพื่อให้ตัวเองได้คิดอะไรใหม่ๆ! [2]
    • เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเมนูที่มีอยู่แล้วเพื่อให้มันแตกต่าง จากนั้นก็ลองผสมวัตถุดิบต่างๆ โดยไม่ต้องทำตามสูตร
    • บางเมนูที่คุณคิดขึ้นมาอาจจะประสบความสำเร็จ แต่บางเมนูก็อาจจะรับประทานไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้!
  3. ทำอาหารให้คนอื่นรับประทานเพื่อขอคำติชมที่มีต่ออาหารของคุณ. แม้ว่าการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้วิพากษ์วิจารณ์อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่คำติชมจะทำให้คุณได้เติบโตในฐานะเชฟ ทำอาหารให้คนอื่นรับประทานให้บ่อยที่สุด จากนั้นก็ถามว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรเกี่ยวกับอาหารของคุณ รวบรวมคำติชมที่คุณคิดว่าสมเหตุสมผล [3]
    • ถ้าเป็นไปได้ให้ทำอาหารให้คนที่ชอบประเภทของอาหารที่คุณชอบทำ เพราะเขาจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ดีกว่า เช่น สมมุติว่าคุณชอบทำอาหารอินเดีย คุณก็จะได้รับคำติชมที่ดีกว่าจากคนที่ชอบรับประทานอาหารอินเดียด้วยเช่นกัน
  4. คุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการดูคนอื่น ดูรายการทำอาหารและการสาธิตการทำออนไลน์เพื่อดูว่าเชฟคนอื่นๆ ทำงานอย่างไร นอกจากนี้ก็ให้สังเกตเชฟหรือเชฟฝึกหัดที่คุณรู้จัก แล้วพยายามเรียนรู้จากการทำงานของเขา [4]
    • ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะไปลอกเลียนแบบการทำงานของคนอื่น คุณต้องมีสไตล์เป็นของตัวเอง! แต่การดูว่าคนอื่นใช้ทักษะต่างๆ อย่างไรและสร้างสรรค์เมนูจากวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นมาได้อย่างไรนั้นจะช่วยคุณได้มาก
  5. ทำงานที่ร้านอาหารเพื่อเสริมสร้างทักษะและสร้างเรซูเม่. แม้ว่าการเริ่มต้นจากการเป็นเชฟเลยจะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ แต่มันก็ใช้เวลากว่าคุณจะก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ เริ่มจากงานในร้านอาหารระดับล่างๆ ที่จะช่วยให้คุณได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นก่อน สมัครงานร้านอาหารใดก็ได้ที่คุณเห็นติดประกาศในละแวกบ้านของคุณ [5]
    • งานร้านอาหารงานแรกอาจจะไม่ใช่งานที่สูงส่งอะไรนัก แต่ทุกคนต้องเริ่มจากจุดที่ต่ำที่สุดก่อน คุณน่าจะได้ทำตำแหน่งหัวหน้าหน่วยในครัว ซึ่งจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะที่คุณต้องใช้เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและก้าวขึ้นไปเป็นเชฟในที่สุด

    เคล็ดลับ: การทำงานในร้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ได้วางแผนจะเข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหาร การทำงานในครัวจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะที่คุณต้องใช้ในการเป็นเชฟ และยังได้สร้างเรซูเม่ไปในตัวด้วย

    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ฝึกฝนเพื่อเป็นเชฟ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สมัครเรียนในโปรแกรมศิลปะการประกอบอาหารเพื่อการศึกษาที่ครอบคลุม. แม้ว่าการเป็นเชฟจะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องเข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารมาก่อน แต่มันก็อาจจะช่วยให้คุณได้งาน โปรแกรมสอนทำอาหารส่วนใหญ่จะมีหลักสูตรที่ครอบคลุมทั้งด้านโภชนาการ เทคนิคการเตรียมอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ การเตรียมเนื้อสัตว์ การทำขนมอบ และความรู้ในการทำอาหารขั้นพื้นฐานอื่นๆ ลองค้นหาโปรแกรมสอนทำอาหารแล้วสมัครเรียนใน 3-5 โปรแกรมแรกที่คุณเลือกไว้ [6]
    • โปรแกรมสอนทำอาหารเปิดสอนทั้งในโรงเรียนฝึกอาชีพหรือโรงเรียนอาชีวะ วิทยาลัย และสถาบันสอนทำอาหาร คุณอาจจะได้ประกาศนียบัตรสาขาศิลปะการประกอบอาหารจากโรงเรียนฝึกอาชีพหรือโรงเรียนอาชีวะภายใน 6-9 เดือน ถ้าคุณอยากเรียนในระดับอนุปริญญาในสาขาการประกอบอาหารจากวิทยาลัยชุมชน คุณก็อาจจะต้องเรียนประมาณ 2 ปี นอกจากนี้คุณก็สามารถเรียนในระดับปริญญาตรีเป็นเวลา 4 ปีในสาขาการประกอบอาหารได้ที่วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันสอนทำอาหาร
    • มองหาโปรแกรมที่มีสอนวิชาด้านธุรกิจ การจัดการ และทรัพยากรมนุษย์ถ้าคุณคิดว่าคุณจะเปิดร้านอาหารของตัวเองสักวัน
  2. ฝึกฝนเองที่บ้านถ้าคุณวางแผนจะฝึกเป็นเชฟด้วยตัวเอง. แม้ว่าการเข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะที่คุณจำเป็นต้องรู้ แต่คุณก็สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่คุณต้องรู้ด้วยตัวเองได้ ฝึกทำอาหารในครัวทุกวัน ทำอาหารให้คนในครอบครัวหรือจัดงานเลี้ยงในบ้านเพื่อให้คุณได้ฝึกฝนมากขึ้น ผลักตัวเองออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเรียนรู้ทักษะที่คุณต้องรู้ [7]
    • อาสาทำอาหารในงานปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงถ้าคนอื่นซื้อวัตถุดิบตามที่คุณบอก
    • เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากการสาธิตออนไลน์และคู่มือทำอาหาร

    เคล็ดลับ: ถ้าคุณเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณก็อาจจะหางานยาก แต่อาหารจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ฝีมือคุณ ถ้าคุณเป็นเชฟที่มีพรสวรรค์และมีความคิดสร้างสรรค์ คุณก็จะมีโอกาสได้งานมากขึ้น

  3. หาตำแหน่งฝึกงานที่ร้านอาหารเพื่อสร้างเรซูเม่. แม้ว่าการฝึกงานอาจจะไม่ใช่ตำแหน่งที่หรูหรา แต่ก็เป็นการเปิดประตูไปสู่งานที่คุณอยากทำ ติดต่อร้านอาหารใกล้บ้านเพื่อสอบถามว่าเขารับเด็กฝึกงานหรือเปล่า ถ้าคุณหาร้านอาหารฝึกงานไม่ได้ ให้สอบถามเชฟหรือเจ้าของร้านอาหารในพื้นที่ว่าเขาอยากรับคุณเป็นเด็กฝึกงานระยะสั้นไหม ในช่วงเวลานี้ให้สังเกตการทำงานของเชฟ รองเชฟ และหัวหน้าหน่วยในครัวเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และให้ทำตามคำสั่งที่ได้รับอย่างเคร่งครัด [8]
    • โรงเรียนศิลปะการประกอบอาหารบางแห่งจะมีเครือข่ายกับร้านอาหารท้องถิ่นที่มีโปรแกรมฝึกงานให้กับนักเรียน
    • การฝึกงานมักจะไม่ได้ค่าจ้าง แต่ให้ทุ่มเทกับงานเหมือนการทำงานปกติเพื่อที่คุณจะได้มีจดหมายอ้างอิงที่ดีเวลาไปสมัครงาน
  4. เข้าเรียนเพื่อรับใบประกาศนียบัตรถ้าคุณสนใจด้านในด้านหนึ่งเป็นพิเศษ. ตามปกติแล้วการเป็นเชฟไม่ต้องใช้ประกาศนียบัตร แต่คุณก็ควรมีประกาศนียบัตรติดตัวไว้หากคุณวางแผนจะทำงานในด้านไหนเป็นพิเศษ ถ้าคุณได้รับการฝึกอบรมในสาขาใดสาขาหนึ่ง ให้สอบเพื่อรับประกาศนียบัตรเพื่อให้เรซูเม่ของคุณดูมีน้ำหนักยิ่งขึ้น [9]
    • เช่น คุณอาจจะได้รับการรับรองในฐานะเชฟขนมหวาน นักตกแต่งอาหาร หรือรองเชฟ
    • คุณสามารถเข้าฝึกอบรมระยะสั้นและสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรได้จากสถาบันสอนทำอาหารต่างๆ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โรงเรียนสอนทำอาหารครัววันดี โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และโรงเรียนสอนทำอาหารกรุงเทพบริการ
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ไต่เต้าไปเป็นเชฟ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคุณเริ่มต้นอาชีพในร้านอาหาร ให้เปิดรับตำแหน่งอะไรก็ได้ที่เข้ามา มองหางานในร้านอาหารท้องถิ่น จากนั้นก็ส่งใบสมัคร จดหมายนำ และเรซูเม่ไป ส่งไปครั้งละหลายๆ ที่เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน [10]
    • คุณอาจจะได้เริ่มงานในตำแหน่งผู้ช่วยทำความสะอาดในครัวหรือเชฟครัวเย็น ซึ่งจะเป็นคนที่เตรียมอาหารเรียกน้ำย่อย ซุป และอาหารที่รับประทานโดยไม่อุ่น ขั้นต่อไปก็จะเป็นหัวหน้าหน่วยในครัว จากนั้นก็รองเชฟ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากหัวหน้าเชฟโดยตรง และสุดท้ายคุณก็อาจจะได้เป็นหัวหน้าเชฟของร้าน
    • ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ในครัวมาก่อน คุณอาจจะมีโอกาสได้งานดีกว่าคนที่เพิ่งเริ่ม
  2. ทำความรู้จักกับเชฟคนอื่นๆ และเจ้าของร้านอาหารอื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่าย. เครือข่ายคนรู้จักอาจช่วยให้คุณเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานได้เร็วขึ้น พูดคุยกับเชฟคนอื่นๆ พบปะเจ้าของร้านอาหาร และไปงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารเพื่อพบปะกับคนอื่นๆ ในสาขาอาชีพเดียวกัน วิธีนี้จะช่วยให้คุณได้สานสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่อาจจะช่วยเหลือเรื่องหน้าที่การงานของคุณได้ [11]
    • เวลาที่คุณไปงานที่มีการเสิร์ฟอาหาร ให้ขอพูดคุยกับเชฟ
    • พูดคุยกับคนที่คุณพบระหว่างการฝึกอบรม
  3. ย้ายร้านอาหารเพื่อสั่งสมทักษะและเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง. อย่าคิดว่าตัวเองจะทำงานที่ร้านอาหารเดียวไปตลอดชีวิต แต่คุณอาจจะต้องเปลี่ยนไปทำงานที่ร้านอาหารอื่นๆ เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าในอาชีพไปเรื่อยๆ มองหาโอกาสที่จะได้ทำงานในตำแหน่งใหม่เสมอ และสมัครงานที่คุณคิดว่าจะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายของการเป็นเชฟได้ [12]
    • เช่น ตอนนี้ถ้าคุณเป็นหัวหน้าหน่วยในครัว ให้สมัครตำแหน่งรองเชฟที่ร้านอาหารท้องถิ่นอื่นๆ

    ทางเลือกอื่น: คุณอาจจะตัดสินใจเปิดร้านอาหารของตัวเอง แต่ให้จำไว้ว่าการเปิดร้านอาหารต้องใช้ทักษะด้านธุรกิจด้วย

  4. มองหางานในตำแหน่งรองเชฟเพื่อเรียนรู้ทักษะสำหรับหัวหน้าเชฟ. รองเชฟทำงานใต้หัวหน้าเชฟโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะและนำไปเขียนในเรซูเม่ได้ หลังจากได้เป็นหัวหน้าหน่วยในครัวแล้วก็ให้มองหางานตำแหน่งรองเชฟ วางแผนทำงานในตำแหน่งนี้อย่างน้อย 1-3 ปีก่อนที่คุณจะขึ้นไปตำแหน่งหัวหน้าเชฟ [13]
    • โดยทั่วไปเมื่อคุณได้งานในตำแหน่งรองเชฟ คุณก็น่าจะมีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นเชฟแล้ว แต่คุณอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ด้านงานครัวและระดับความเชี่ยวชาญในระดับหัวหน้าเชฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณจะได้ระหว่างทำงานเป็นรองเชฟ
  5. เลื่อนขั้นไปเป็นหัวหน้าเชฟเมื่อมีการเปิดรับสมัคร. หลังจากที่คุณไปถึงตำแหน่งรองเชฟแล้ว ให้มองหาโอกาสที่จะได้เป็นหัวหน้าเชฟ คอยติดตามการเปิดรับสมัครงานในร้านอาหารและเส้นทางอาชีพของหัวหน้าเชฟในพื้นที่ของคุณ สร้างเครือข่ายเพื่อพบปะกับคนรู้จักในสายอาชีพที่อาจจะช่วยให้คุณได้ครอบครองงานครัวทั้งหมด เมื่อมีตำแหน่งเปิดรับสมัคร ให้ติดต่อเจ้าของร้านอาหารหรือผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากรและเสนอตัวแสดงทักษะของคุณให้เขาเห็น [14]
    • อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคุณจะได้เป็นหัวหน้าเชฟ
    • การทำความรู้จักกับคนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมร้านอาหารเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่คนอื่นจะได้เห็นผลงานของคุณ ทำดีกับทุกคนที่คุณพบปะ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าใครจะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายสูงสุดของการเป็นเชฟได้บ้าง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เช็กโปรแกรมสอนทำอาหารที่วิทยาลัยชุมชนในพื้นที่ของคุณ เพราะมีโรงเรียนต่างๆ มากมายที่เปิดสอนภาคค่ำ โปรแกรมประกาศนียบัตร และปริญญาด้านการทำอาหารเต็มรูปแบบ
  • ทำดีกับทุกคนที่อยู่ในครัว เพราะใครจะรู้ว่าคนล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ และแขกที่คุณเจอในวันนี้อาจจะเปิดร้านอาหารฟิวชั่นยอดฮิตแห่งใหม่ในวันพรุ่งนี้ก็ได้
  • อย่ากลัวที่จะทดลองสิ่งต่างๆ ในครัว! คุณอาจจะล้มเหลวบ้าง แต่คุณก็จะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
  • ให้หลายๆ คนชิมอาหารของคุณ เพราะรสชาติที่คุณคิดว่าดีแล้วอาจจะเผ็ดไปหรือเค็มไปสำหรับบางคนก็ได้
  • โรงเรียนสอนทำอาหารบางแห่งไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประสบการณ์ด้านการครัวมาก่อน เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าคุณคงมุ่งมั่นที่จะเป็นเชฟไม่ได้หากคุณไม่เคยทำงานในร้านอาหารมาก่อน [15]
โฆษณา

คำเตือน

  • ระมัดระวังเวลาใช้มีดเพราะมันอาจจะบาดคุณได้ง่ายๆ
  • การเป็นเชฟมีชั่วโมงการทำงานที่ยาว อาจรวมถึงในวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ถ้าคุณรักงานที่ทำ แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องยากหากคุณไม่ชอบทำงานเป็นเชฟ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 22,754 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา