PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าคุณมีเพื่อนที่เคยคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย คุณก็คงเป็นห่วง แต่ไม่รู้จะทำยังไงหรือพูดอะไรดี สิ่งที่คุณควรทำก็คือคอยดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ และอยู่เคียงข้างระหว่างเพื่อนพยายามปรับตัวในช่วงยากลำบาก สำคัญมากว่าคุณต้องคิดถึงใจเพื่อน คอยดูแลเอาใจใส่อย่างใจเย็น จะพูดจะทำอะไรก็คิดพิจารณาให้มากๆ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

ดูแลให้กำลังใจกัน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. สิ่งที่คุณจะทำให้เพื่อนที่เคยคิดสั้นได้ดีที่สุด ก็คือคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจ แค่กอดปลอบเพื่อนเวลาร้องไห้ รับฟังเพื่อนระบายความในใจ เพื่อนก็น่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้ว บอกให้เพื่อนรู้ว่าโทรหาคุณได้ทุกเมื่อ อยากเจอกันเมื่อไหร่ให้บอก ถึงเพื่อนจะไม่อยากพูดถึงเรื่องที่เคยคิดสั้นก็ไม่เป็นไร ในเวลาแบบนี้เพื่อนอาจไม่เปิดใจเหมือนเคย หรืออาจไม่ค่อยพูดคุย ก็อย่าเพิ่งถอดใจ คอยอยู่ใกล้ๆ ไปก่อน เท่านี้เพื่อนก็น่าจะรู้สึกดีขึ้นบ้างแล้ว
    • ไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้าเพื่อนอยากเล่าอยากคุยขึ้นมาก็ให้คอยรับฟัง
    • ถ้าเหตุการณ์เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ ให้คุณเลียบๆ เคียงๆ ถามว่าอยากให้คุณช่วยอะไรไหม และบอกให้เพื่อนรู้ว่าดีใจแค่ไหนที่เพื่อนยังมีชีวิตอยู่ [1]
  2. บางทีเราก็ไม่เข้าใจหรอก ว่าทำไมเพื่อนถึงคิดหรือลงมือทำอะไรแบบนั้นไป คุณอาจเกิดความรู้สึกหลายๆ อย่างต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น โกรธ อาย หรือรู้สึกผิด [2] ที่คุณทำได้คือเห็นใจเพื่อนหน่อย ลองคิดดูว่าเพื่อนคงจะเจ็บปวดหรือเศร้าไม่น้อย ถึงได้ตัดสินใจทำอะไรแบบนั้นลงไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะซึมเศร้า เคยเจอเรื่องกระทบใจ สิ้นหวัง เพิ่งเจอเรื่องสูญเสีย หรือเครียดจัด รวมถึงอาการเจ็บป่วย และภาระล้นตัว [3] การเสพติดและความรู้สึกแปลกแยกก็มีผลเหมือนกัน [4] [5] ถึงคุณจะไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเพื่อนทำไปเพราะกระทบกระเทือนใจเรื่องอะไรแน่นอน
    • บางทีคุณก็ไม่มีทางเข้าใจชัดเจนว่าเพื่อนต้องเจออะไรมาบ้าง คิดอะไรอยู่ ถึงได้ทำแบบนั้น แต่ถ้าคุณเป็นห่วงเพื่อนจริงๆ และเรื่องเพิ่งเกิดไป แค่คุณรับรู้ว่าเพื่อนเพิ่งเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมาก็พอแล้ว
  3. บางทีสิ่งที่คุณทำได้ก็คือนั่งลงแล้วรับฟังเท่านั้น ให้เพื่อนได้เป็นฝ่ายเปิดใจเองเมื่อพร้อม ฟังเฉยๆ อย่าไปขัดหรือพยายาม "แก้" ปัญหา อย่าคิดเอาเรื่องเพื่อนไปเปรียบกับตัวเอง หรือยกเรื่องใครขึ้นมาพูด เพราะมีแค่คนที่เคยคิดสั้นเองเท่านั้นถึงจะเข้าใจ ให้คุณรับฟังอย่างจริงจังเต็มที่ อย่าวอกแวก เพื่อนจะได้รู้ว่าคุณแคร์ ถึงได้ใส่ใจ [6]
    • บางทีไม่ต้องสรรหาคำพูดสวยหรูมาปลอบโยน แค่รับฟังเฉยๆ ก็พอแล้ว
    • ตอนคุณฟังเพื่อนเปิดใจ อย่าไปแนะนำสั่งสอนหรือพยายามคิดหาเหตุผล แต่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเพื่อน และว่าคุณจะทำอะไรให้เพื่อนได้บ้าง
    • บางทีคุณอาจรู้สึกเหมือนเพื่อนอยากจะคุยแต่เรื่องนี้ตลอด ก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเพื่อนกำลังทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เห็นใจเพื่อนหน่อย ปล่อยให้เขาระบายเต็มที่เลย
  4. ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ถ้าเพื่อนต้องการอะไรแล้วคุณช่วยได้ก็ช่วยเลย เอาความต้องการของเพื่อนเป็นหลัก ถามเลยว่าเพื่อนอยากได้อะไรหรืออยากให้คุณทำอะไรแล้วก็จัดไปตามนั้น แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่าเพื่อนไม่ชอบอะไร จะได้ไม่ทำอีก [7]
    • เช่น ถ้าเพื่อนต้องไปบำบัดแต่กลัว คุณอาจเสนอตัวไปเป็นเพื่อน หรือถ้าทุกเรื่องมันประดังประเดเข้ามาหาเพื่อนเต็มไปหมด ก็ให้คุณอาสาทำกับข้าว ดูแลลูก ช่วยทำการบ้าน หรืออะไรก็ได้ที่แบ่งเบาภาระให้เพื่อน
    • แค่เรื่องเล็กๆ ก็ถือว่าช่วยเพื่อนได้มากแล้ว อย่าไปมองว่าบางเรื่องมันดูเล็กน้อยเกินกว่าจะช่วย
    • ทำให้เพื่อนสบายใจลืมเรื่องกังวล ก็ถือว่าเป็นการช่วยอีกแบบหนึ่ง ถ้าเพื่อนไม่อยากพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ลองชวนเพื่อนไปกินข้าวดูหนังแทน
  5. ถ้าเพื่อนเพิ่งพยายามฆ่าตัวตายไปไม่นานนี้แล้วคุณกลัวเพื่อนจะทำอีก ก็ต้องทำทุกวิถีทางให้เพื่อนปลอดภัย รู้ว่าควรโทรหาหรือขอความช่วยเหลือจากใคร เช่น ครูที่ปรึกษา พ่อแม่ หรือกระทั่งโทรแจ้งตำรวจ ในกรณีที่เพื่อนดูแลตัวเองให้ปลอดภัยไม่ได้ พวกสายด่วนไว้โทรไปปรึกษาปัญหาชีวิตก็เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1667 หรือ 1323
    • หรือจะแวะไปที่ห้อง "สวนลุมพินี" ของเว็บ Pantip เพื่อพูดคุยขอคำปรึกษาก็ได้ รวมถึงเว็บไซต์สุขภาพจิตอื่นๆ ด้วย [8] [9] [10]
    • แต่แค่คุณคนเดียวไม่พอหรอก ต้องระดมความช่วยเหลือจากพ่อแม่พี่น้องของเพื่อนรวมถึงเพื่อนของคุณสองคนด้วย ให้แน่ใจว่าเพื่อนจะไม่กลับไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่อาจทำให้คิดสั้นอีก
  6. ถามเพื่อนว่าจะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยได้ยังไง. ถ้าหลังจากเกิดเรื่องแล้วเพื่อนเข้าโรงพยาบาลหรือรับการบำบัด ก็น่าจะเริ่มมีแผนรับมือกับชีวิตตัวเองแล้ว ให้คุณลองถามว่าเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม เผื่อจะมีอะไรที่คุณช่วยได้ แต่ถ้าเพื่อนไม่ได้คิดวางแผนอะไรไว้ ให้คุณลองศึกษาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหรือทางออนไลน์ แล้วแนะนำเพื่อนไป [11] เลียบๆ เคียงๆ ถามว่าเวลาเพื่อนซึมเศร้าหรือสติแตกแล้วเป็นยังไง จะให้คุณช่วยยังไง [12] ถามเพื่อนว่ารู้สึกปลอดภัยสบายใจหรือยัง ถ้าเพื่อนมีปัญหาขึ้นมาอยากให้คุณทำยังไง
    • เช่น เพื่อนอาจบอกว่าถ้าเห็นเขานอนทั้งวันแถมไม่โทรหาไม่รับสาย แปลว่าเขาอาจจะจิตตกขึ้นมาอีก ให้คุณรีบโทรขอความช่วยเหลือ
  7. เพื่อนควรเข้ารับการบำบัดจากคุณหมอหรือนักจิตบำบัด และอาจกินยาร่วมด้วย นอกจากการดูแลให้กำลังใจให้เพื่อนฟื้นตัวแล้ว คุณยังสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อพัฒนาชีวิตของเพื่อนได้ด้วย อย่าไปเร่งให้เพื่อนเปลี่ยนอะไรแบบปุบปับ ค่อยๆ ทำไปทีละอย่างดีกว่า [13]
    • เช่น ถ้าเพื่อนหดหู่เพราะรักล่ม คุณช่วยดึงความสนใจไปเรื่องอื่นได้โดยหากิจกรรมสนุกๆ ให้เพื่อนทำ แล้วค่อยแนะนำคนดีๆ ให้เมื่อถึงเวลา
    • หรือถ้าเพื่อนเศร้าเอามากๆ เพราะทำยังไงก็ไม่โตในสายงานที่ทำ ให้คุณลองปรับปรุง resume ของเพื่อนให้ดีขึ้น หรือแนะนำให้เพื่อนลงเรียนเพิ่มเติมดู
  8. อย่าคิดว่าการขอให้คนอื่น (อย่างเพื่อนๆ ครอบครัว หรือหมอและผู้เชี่ยวชาญ) ช่วยเพื่อนร่วมกับคุณนั้นเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว แบบนี้งานจะได้ไม่ล้นมือคุณไงล่ะ ถ้าคุณเริ่มรับไม่ไหว บอกเพื่อนไปตามตรงว่าขอพักหน่อย ขอเวลาส่วนตัวบ้าง หรือใช้เวลากับเพื่อนๆ และครอบครัวเพื่อดูแลตัวคุณเอง บอกเพื่อนว่าขอเติมพลังแล้วจะกลับมาดูแลเพื่อนอีกรอบ ถ้าอยากให้ชัดเจนไปกว่านั้นก็ต้องบอกกันแต่แรกเลยว่าอะไรที่คุณทำได้ และอะไรที่คุณคงไม่ทำ [14]
    • เช่น บอกเพื่อนว่าอยากไปกินข้าวด้วยอาทิตย์ละครั้ง แต่ห้ามเก็บอาการจิตตกเป็นความลับ แล้วคุณจะช่วยดูแลให้เพื่อนปลอดภัยเอง
    • ห้ามปล่อยให้เพื่อนบังคับคุณไม่ให้ปรึกษาเรื่องเพื่อนจิตตกกับคนอื่น สำคัญมากว่าพอถึงเวลาจำเป็นแล้วคุณมีคนที่ไว้ใจให้ปรึกษาเรื่องเพื่อน
  9. หรือก็คือทำให้เพื่อนรู้สึกว่ามีอะไรดีๆ รออยู่ในอนาคต เป็นเหมือนการป้องกันกลายๆ ไม่ให้เพื่อนคิดสั้นอีก ชวนเพื่อนคิดและคุยเรื่องความหวังและความฝันหน่อย ถามด้วยว่าพอมีความหวังแบบนี้แล้วรู้สึกยังไงบ้าง อาจจะถามทำนองว่า [15] [16]
    • เพื่อนอยากคุยกับใครที่จะทำให้รู้สึกดีมีความหวังในเวลาแบบนี้?
    • อะไรทำให้เพื่อนเกิดความหวัง - ความรู้สึก รูปภาพ เสียงเพลง สีสัน หรือสิ่งของ?
    • แล้วเพื่อนจะทำให้ความหวังนั้นเข้าใกล้ความจริงหรือรักษาความหวังนั้นไว้ได้ยังไง?
    • อะไรที่บั่นทอนกำลังใจเพื่อน?
    • ถ้าให้ลองจินตนาการถึงความหวัง ภาพที่เพื่อนเห็นเป็นยังไง?
    • ถ้าสิ้นหวังมากๆ เพื่อนจะทำยังไงให้มีความหวัง?
  10. พยายามย้ำให้เพื่อนรู้ ว่าถึงไม่ได้เจอกันหรือตัวติดกันตลอดเวลา คุณก็ยังคิดถึงและห่วงใยเพื่อน ถามเพื่อนว่าอยากคุยกันไหม แล้วอยากคุยกันบ่อยแค่ไหน [17] จะถามละเอียดกว่านั้นก็ได้ ว่าเพื่อนอยากคุยทางไหน โทรไป ไลน์คุยกัน หรืออยากเจอกันตัวเป็นๆ
    • เวลาคุยกันก็อย่าไปสะกิดแผลเก่า เว้นแต่เพื่อนมีท่าทีสุ่มเสี่ยงจริงๆ ถ้าไม่ ก็แค่ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ และถามว่าเพื่อนอยากให้ช่วยอะไรไหม
  11. ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด ว่าแค่เคยทำแล้วไม่สำเร็จเพื่อนจะไม่คิดสั้นอีก เพราะมีคนเยอะถึง 10% เลยที่เคยขู่หรือพยายามจะฆ่าตัวตาย แล้วสุดท้ายทำสำเร็จจริงๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณจับตาเพื่อนทุกฝีก้าว แค่ให้ระวังเผื่อไว้หรือก็คือคอยสังเกตสัญญาณอันตรายต่างๆ ของคนคิดสั้น ถ้าเพื่อนคุณมีความเสี่ยงสูง ให้คุณลองปรึกษาขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ โดยเฉพาะตอนที่เพื่อนขู่จะทำร้ายหรือคิดสั้น จริงๆ แค่พูดถึงขึ้นมาก็เสี่ยงแล้ว รวมถึงอยู่ๆ ก็พูดหรือเขียนเรื่องความตายขึ้นมาทั้งที่ปกติไม่เคย หรือพูดทำนองว่า "ไม่อยากอยู่แล้ว" คุณจดจำสัญญาณอันตรายได้ด้วยคำว่า IS PATH WARM [18]
    • I (Ideation) - พูดเรื่องความตาย
    • S (Substance Abuse) - ใช้สารเสพติด
    • P (Purposelessness) - เลื่อนลอย
    • A (Anxiety) - วิตกจริต
    • T (Trapped) - หมกมุ่น
    • H (Hopelessness) - สิ้นหวัง
    • W (Withdrawal) - ปลีกตัว
    • A (Anger) - ขี้โมโห
    • R (Recklessness) - ไม่ยั้งคิด
    • M (Mood change) - อารมณ์แปรปรวน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

พฤติกรรมต้องห้าม

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เพื่อนต้องการความรักและกำลังใจ ไม่ได้อยากให้ใครมาสั่งสอนเรื่องผิดชอบชั่วดี แค่นี้เพื่อนก็อาย รู้สึกผิด และเจ็บปวดมากพออยู่แล้ว สอนเพื่อนไปก็ไม่ได้ทำให้เพื่อนสนิทหรือรักคุณไปกว่าเดิม ดีไม่ดีอาจขาดกันก็คราวนี้ [19]
    • คุณอาจโกรธหรือรู้สึกผิดที่เพื่อนพยายามฆ่าตัวตาย และอยากรู้ว่าทำไมเพื่อนถึงไม่ขอให้คุณช่วย [20] แต่ตอนนี้ถามไปก็ไม่มีประโยชน์ทั้งกับเพื่อนและกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะถ้าเพิ่งเกิดเรื่องไปหยกๆ
  2. อย่าทำเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นหรือทำลืมแล้วคิดว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ถึงเพื่อนไม่เคยพูดถึง คุณก็ห้ามลืมเรื่องที่เกิดขึ้นเด็ดขาด [21] พยายามพูดแต่เรื่องดีๆ ที่ให้กำลังใจ ถึงพูดผิดพูดถูกก็ไม่เป็นไร พูดออกมายังดีกว่านิ่งไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
    • เช่น คุณบอกได้ว่าคุณเสียใจที่เพื่อนต้องรู้สึกแย่ขนาดนั้น แล้วถามว่ามีอะไรที่คุณพอช่วยได้ไหม [22] ไม่ว่าคุณจะพูดอะไร แค่พูดออกไปก็ทำให้เพื่อนได้รับรู้ว่าคุณก็แคร์
    • อย่าลืมว่าตอนนี้คุณอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่มีใครรู้แน่หรอกว่าควรพูดหรือทำอะไรเวลาคนใกล้ตัวพยายามฆ่าตัวตาย
  3. ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ยังมีคนที่คิดว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายก็แค่เรียกร้องความสนใจ เอาเข้าจริงก็ไม่กล้าหรือไม่อยากตายหรอก รู้ไว้เลยว่าการพยายามฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นสัญญาณบอกว่ามีปัญหาที่ซับซ้อนกว่าซ่อนอยู่ รวมถึงความเจ็บปวดหรือกระทบกระเทือนจิตใจด้วย ห้ามกล่าวหาเพื่อนว่าทำไปเพราะเรียกร้องความสนใจเด็ดขาด เพราะเหมือนดูถูกเรื่องร้ายแรงในชีวิตของเพื่อน จนเพื่อนอาจมองว่าตัวเองเลวร้ายหรือไม่สำคัญได้
    • คิดถึงใจเพื่อนให้มากๆ เพราะนี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไปโพล่งบอกเพื่อนว่าที่เขาทำไปก็แค่เรียกร้องความสนใจ แสดงว่าคุณไม่พยายามทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นเลย
    • บางทีคนเราก็เผลอมองปัญหาคนอื่นเป็นเรื่องเล็กได้ง่ายๆ แต่คิดแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นตรงไหนเลย
  4. ถ้าทำให้เพื่อนรู้สึกผิดแสดงว่าคุณเป็นพวกจิตใจหยาบกระด้าง แต่จะอ้างว่าคุณก็เสียใจ รู้สึกเหมือนถูกทรยศที่เพื่อนทำเรื่องแบบนี้ลงไปก็ไม่ได้ แค่นี้เพื่อนก็รู้สึกผิดหรืออายมากพอแล้ว ที่ทำให้คนรอบตัวเขาเดือดเนื้อร้อนใจกันไปหมด แทนที่จะพูดอะไรแบบ "ทำแบบนี้ไม่คิดถึงพ่อแม่หรือเพื่อนมั่งเลยเหรอ?" ให้เปลี่ยนไปพูดอะไรที่เน้นประโยชน์ของเพื่อนแทน [23]
    • ตอนนี้เพื่อนคงจะยังรู้สึกหดหู่หรือไม่มั่นคงอยู่ เพราะฉะนั้นเพื่อนต้องการความรักและกำลังใจจากคุณมากที่สุด
  5. ไม่มีวิธีไหนที่คุณทำให้เพื่อนหายได้ง่ายๆ หรืออย่างรวดเร็วหรอก และก็อย่าคิดว่า "ยา" ที่คุณหมอจ่ายให้จะรักษาเพื่อนหายเป็นปลิดทิ้ง วิธีคิดที่นำเพื่อนไปสู่การกระทำแบบนั้นมันยากแท้หยั่งถึง เพราะฉะนั้นเวลารักษาให้หายก็ยากพอกัน ถึงการช่วยเพื่อนจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อย่าคิดว่าปัญหาของเพื่อนคุณจะแก้ได้ง่ายๆ แค่พลิกฝ่ามือ [24]
    • เรารู้คุณอยากเร่งให้เพื่อนหาย เพราะเพื่อนจะได้เลิกเจ็บปวดและทุกอย่างจะได้กลับเป็นเหมือนเดิม แต่บอกเลยว่าความเจ็บปวดขนาดนั้นต้องใช้เวลา ที่คุณทำได้ดีที่สุดคือคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ และช่วยเหลือเพื่อนเท่าที่จะทำได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ทำให้เพื่อนมีความหวัง โดยทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน เช่น วิ่งหรือออกกำลังกาย ไม่ก็ไปทะเล
  • บอกให้เพื่อนรู้ว่าร้องไห้ได้ไม่เป็นไร หรือบางทีเพื่อนรู้สึกแปลกๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แค่อย่าจมอยู่กับความรู้สึกให้มาก ชวนเพื่อนทำอะไรสร้างสรรค์หน่อย
  • ช่วยเพื่อนเรื่องเล็กๆ ก็ได้ แค่คุณคอยอยู่ข้างๆ ก็พอแล้ว อย่างการนั่งเล่นในสวนสาธารณะด้วยกัน หรือนั่งดูหนังอยู่ที่บ้าน
  • อย่าสงสารเพื่อนจนเข้าขั้นสมเพช (ในสายตาเพื่อน) เพราะเพื่อนจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ จะทำให้เพื่อนเศร้ากว่าเดิม
โฆษณา

คำเตือน

  • สำหรับคุณแล้ว การขลุกอยู่กับคนที่ซึมเศร้าหรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายนานๆ บางทีก็พลอยทำให้คุณเศร้าหรือเครียดไปด้วย
  • สำหรับเพื่อนที่เคยคิดสั้นบางคน ถึงคุณจะจริงใจอยากช่วยเขามากแค่ไหน เขาอาจจะปฏิเสธความหวังดีของคุณก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็อย่าเสียใจไป เพราะคนที่เขาหดหู่หรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายบางทีก็ไม่เปิดใจรับใครง่ายๆ หรอก
  • ห้าม ต้อนเพื่อนที่คิดสั้นให้จนมุมตั้งแต่ตอนชวนคุยครั้งแรก
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 11,533 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา